ภูฏาน: อารยธรรมแห่งสุดท้าย? (3)

“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

(หมายเหตุ: บางส่วนในตอนนี้ตัดต่อมาจากบทความเรื่อง GNH ที่เคยเขียนลงบล็อกนานแล้ว อ้อ อัพเดทโค้ดให้เว้นบรรทัดในคอมเม้นท์ได้ถูกต้อง อ่านง่ายขึ้นแล้วนะคะ กรุณากด CTRL+F5 ที่หน้านี้เพื่อ refresh เว็บ ถ้ายังเห็นเป็นอย่างเดิมอยู่)

ความพอเพียงและความสุข : เมื่อพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นรูปธรรม

ถ้าพ่อแม่คุณเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่คบค้าสมาคมกับเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่ง ที่มีฐานะและเชื้อชาติเดียวกัน คุณกับลูกชายเพื่อนบ้านไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเดียวกัน เล่นด้วยกัน ถูกคอจนคบกันเป็นเพื่อนสนิท ต่างจากเพื่อนบ้านทางทิศใต้ที่เป็นครอบครัวไทยเชื้อสายอินเดีย โพกหัวทั้งบ้าน นับถือศาสนาฮินดู ความที่พวกเขาแตกต่างจากคุณมากมายทำให้คุณไม่เคยกล้าคุยกับคนบ้านนั้นเลย

อยู่ดีๆ วันหนึ่งพ่อคุณก็มาบอกว่า ต่อไปนี้เราต้องเลิกคบกับบ้านคนจีนแล้วนะ เพราะพ่อแม่บ้านนั้นกลายเป็นคนเลวไปแล้ว เราทุกคนต้องหันไปคบกับบ้านคนอินเดียแทน ลูกต้องตัดใจ ปรับตัวให้เข้ากับลูกชายบ้านโน้นให้ได้ ห้ามกลับไปคุยกับเพื่อนเก่าเด็ดขาด

คุณจะรู้สึกอย่างไร?

ความรู้สึกของคุณ ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนภูฏาน ตอนที่พระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี กษัตริย์องค์ที่สามของราชวงศ์วังชุก ทรงประกาศปิดพรมแดนตอนเหนือของประเทศอย่างกะทันหันเมื่อปี พ.ศ. 2494 เมื่อกองทัพจีนบุกเข้ายึดครองทิเบต ภูฏานตัดขาดความสัมพันธ์กับประเทศจีน เพื่อนบ้านซึ่งมีประชากรเชื้อสายและศาสนาเดียวกันกับคนภูฏาน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระเจ้าจิ๊กมี่่ ดอร์จี วังชุก
พระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี วังชุก ผู้ประกาศ
ตัดความสัมพันธ์กับจีน และนำภูฏาน
เข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาสมัยใหม่

เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันยาวนานหลายร้อยปี (แม้จะสัมพันธ์กันแบบคู่แค้นมากกว่าคู่รัก คล้ายไทยกับพม่า) ตลอดจนความใกล้เคียงกันของเชื้อชาติและศาสนา การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวครั้งโน้นของพระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย

เพราะการปิดพรมแดนนับเป็นการ “ท้าทาย” มหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งสามารถบุกมาครอบครองประเทศเล็กๆ อย่างภูฏานได้ทุกเมื่อ ถ้าเกิดครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมา

ความที่เป็นประเทศเล็กนิดเดียวแต่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำและป่าไม้ ทำให้ภูฏานเป็นเป้าชั้นดี น่าดึงดูดกว่าทิเบตหลายเท่า

อันตรายข้อนี้แปลว่า ภูฏานไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวเช่นที่ผ่านมาในอดีตได้อีกต่อไป เมื่อไม่คบกับจีน ก็ต้องหันไปคบกับอินเดีย มหาอำนาจเพื่อนบ้านอีกประเทศที่ภูฏานเป็น “กันชนธรรมชาติ” ให้ และต้องเริ่มพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่ มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยตัวเองได้ เพื่อป้องกันการรุกรานทางเศรษฐกิจจากจีน


“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

(หมายเหตุ: บางส่วนในตอนนี้ตัดต่อมาจากบทความเรื่อง GNH ที่เคยเขียนลงบล็อกนานแล้ว อ้อ อัพเดทโค้ดให้เว้นบรรทัดในคอมเม้นท์ได้ถูกต้อง อ่านง่ายขึ้นแล้วนะคะ กรุณากด CTRL+F5 ที่หน้านี้เพื่อ refresh เว็บ ถ้ายังเห็นเป็นอย่างเดิมอยู่)

ความพอเพียงและความสุข : เมื่อพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นรูปธรรม

ถ้าพ่อแม่คุณเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่คบค้าสมาคมกับเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่ง ที่มีฐานะและเชื้อชาติเดียวกัน คุณกับลูกชายเพื่อนบ้านไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเดียวกัน เล่นด้วยกัน ถูกคอจนคบกันเป็นเพื่อนสนิท ต่างจากเพื่อนบ้านทางทิศใต้ที่เป็นครอบครัวไทยเชื้อสายอินเดีย โพกหัวทั้งบ้าน นับถือศาสนาฮินดู ความที่พวกเขาแตกต่างจากคุณมากมายทำให้คุณไม่เคยกล้าคุยกับคนบ้านนั้นเลย

อยู่ดีๆ วันหนึ่งพ่อคุณก็มาบอกว่า ต่อไปนี้เราต้องเลิกคบกับบ้านคนจีนแล้วนะ เพราะพ่อแม่บ้านนั้นกลายเป็นคนเลวไปแล้ว เราทุกคนต้องหันไปคบกับบ้านคนอินเดียแทน ลูกต้องตัดใจ ปรับตัวให้เข้ากับลูกชายบ้านโน้นให้ได้ ห้ามกลับไปคุยกับเพื่อนเก่าเด็ดขาด

คุณจะรู้สึกอย่างไร?

ความรู้สึกของคุณ ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนภูฏาน ตอนที่พระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี กษัตริย์องค์ที่สามของราชวงศ์วังชุก ทรงประกาศปิดพรมแดนตอนเหนือของประเทศอย่างกะทันหันเมื่อปี พ.ศ. 2494 เมื่อกองทัพจีนบุกเข้ายึดครองทิเบต ภูฏานตัดขาดความสัมพันธ์กับประเทศจีน เพื่อนบ้านซึ่งมีประชากรเชื้อสายและศาสนาเดียวกันกับคนภูฏาน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระเจ้าจิ๊กมี่่ ดอร์จี วังชุก
พระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี วังชุก ผู้ประกาศ
ตัดความสัมพันธ์กับจีน และนำภูฏาน
เข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาสมัยใหม่

เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์อันยาวนานหลายร้อยปี (แม้จะสัมพันธ์กันแบบคู่แค้นมากกว่าคู่รัก คล้ายไทยกับพม่า) ตลอดจนความใกล้เคียงกันของเชื้อชาติและศาสนา การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวครั้งโน้นของพระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย

เพราะการปิดพรมแดนนับเป็นการ “ท้าทาย” มหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งสามารถบุกมาครอบครองประเทศเล็กๆ อย่างภูฏานได้ทุกเมื่อ ถ้าเกิดครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมา

ความที่เป็นประเทศเล็กนิดเดียวแต่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำและป่าไม้ ทำให้ภูฏานเป็นเป้าชั้นดี น่าดึงดูดกว่าทิเบตหลายเท่า

อันตรายข้อนี้แปลว่า ภูฏานไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวเช่นที่ผ่านมาในอดีตได้อีกต่อไป เมื่อไม่คบกับจีน ก็ต้องหันไปคบกับอินเดีย มหาอำนาจเพื่อนบ้านอีกประเทศที่ภูฏานเป็น “กันชนธรรมชาติ” ให้ และต้องเริ่มพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่ มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยตัวเองได้ เพื่อป้องกันการรุกรานทางเศรษฐกิจจากจีน

นอกจากนั้น พระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี ก็ทรงเล็งเห็นว่าภูฏานควรสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อหาแนวร่วมจากประชาคมโลก ป้องกันในกรณีที่จีนเกิดลุกขึ้นมาบุกจริงๆ

การตัดสินใจของพระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี จึงถือได้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ภูฏาน

……

จากประเทศที่อยู่คนเดียวเงียบๆ อย่างสันโดษ ภูฏานเริ่มคบค้าสมาคมกับอินเดียในทศวรรษ 2500 และเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2514

ตอนที่ภูฏานตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาตินั้นก็มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนภูฏานชอบมาเล่าต่อให้นักท่องเที่ยวฟัง ความที่ประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงที่ยากแก่การไปมาหาสู่ระหว่างชุมชนต่างๆ ทำให้ภูฏานไม่เคยทำสำมะโนประชากรอย่างจริงจัง และไม่รู้ว่าประชากรทั้งประเทศมีกี่คนกันแน่ เลยบอกสหประชาชาติไปว่า “600,000” เพื่อให้ประเทศดูมีความหนาแน่นของประชากรที่สมน้ำสมเนื้อกับอาณาบริเวณ ปัจจุบันคนภูฏานส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเชื่อตัวเลขทางการที่ว่ามีประชากรกว่า 700,000 สักเท่าไหร่ แต่พวกเขาก็ดูจะไม่อนาทรร้อนใจอะไรกับความไม่แน่นอนข้อนี้ เพม่า เพื่อนคนภูฏานบอกว่า เอาเวลาไปเล่าโจ๊กสัปดนในวงเหล้าสนุกกว่าตั้งเยอะ

ทาคิน สัตว์ประจำชาติภูฏาน
ทาคิน สัตว์ประจำชาติภูฏาน รูปนี้ถ่ายในสถานอนุรักษ์
ทาคิน นอกเมืองพาโร สหประชาชาติให้เงินอุดหนุน
เลี้ยงทาคินประมาณสิบตัว กับเก้งสีทองอีกหลายตัว

นอกจากจะรายงานตัวเลขประชากรแล้ว ภูฏานยังต้องแจ้งต่อสหประชาชาติด้วยว่า สัตว์ประจำชาติคืออะไร ภูฏานตัดสินใจเลือกตัวทาคิน สัตว์ขนปุกปุยหน้าตาเหรอหรา ตำนานภูฏานเล่าว่า ทาคินตัวแรกกำเนิดมาจากอิทธิฤทธิ์ของดรุกปา คุนเลย์ พระในนิกายดรุกปา 600 ปีก่อน ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในการเผยแพร่ศาสนาพุทธแบบแปลกประหลาดและสัปดนจนชาวบ้านขนานนามว่า “พระบ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์” (the Divine Madman) วันหนึ่งสาวกของนักบวชรูปอื่น มาท้าให้ดรุกปา คุนเลย์ สำแดงปาฏิหาริย์ให้ดู คุนเลย์ก็บอกว่า ไปเอาวัวกับแพะมาให้ข้ากินเป็นอาหารเที่ยงก่อน คุนเลย์กินวัวกับแพะเข้าไปทั้งตัว เหลือไว้แต่กระดูก จากนั้นก็หยิบหัวแพะมาปักลงบนโครงกระดูกวัว ดีดนิ้วดังเปาะแล้วบอกว่า ข้าขอสั่งให้เจ้าลุกขึ้น ไปหากินอยู่บนเขาสูง ณ บัดนี้ เมื่อสิ้นเสียงพระคุนเลย์ โครงกระดูกพิสดารนั้นก็กลายร่างเป็นตัวทาคินตามสั่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนที่ท้าเหล่านั้นจะกลายเป็นสาวกของใครนับจากนั้น

ตอนนี้ทาคินทั้งหมดอาศัยอยู่ในสวนสัตว์เืมืองทิมพู ซึ่งกลายเป็นสถานอนุรักษ์ทาคินไปโดยปริยายเมื่อพระเจ้าจิ๊กมี่ ซิงยี ทรงสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหมดในสวนสัตว์กลับเข้าป่า แต่ฝูงทาคินไม่ยอมขึ้นเขาไปเหมือนสัตว์อื่นๆ กลับมาเดินกีดขวางทางจราจรกลางเมืองทิมพู รัฐบาลก็เลยจำใจต้อนทาคินทั้งหมดกลับเข้าไปอยู่ในสวนสัตว์ดังเดิม

เมืองใหญ่ ยอดเขา และทางหลวงภูฏาน
เมืองใหญ่ ยอดเขา และทางหลวงหลักของภูฏาน

เมื่อเอ่ยถึงอินเดีย ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมอังกฤษไม่เคยกรีฑาทัพไปยึดภูฏานมาเป็นเมืองขึ้นระหว่างที่อังกฤษปกครองอินเดียอยู่ อันที่จริง กองทัพอังกฤษรุกรานภูฏานบ่อยครั้งในสมัยนั้น แต่โชคดีที่อังกฤษมองภูฏานว่าเป็นเพียงรัฐกันชน (buffer state) ระหว่างจีนกับอินเดียเท่านั้น จึงไม่เคยตั้งใจรุกรานเพื่อปกครองอย่างจริงจัง ภูฏานตกลงประนีประนอมที่จะ “ยอมรับการชี้นำของรัฐบาลอังกฤษในนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ในขณะที่อังกฤษก็ยอมที่จะ “ไม่แทรกแซงการบริหารจัดการภายในของภูฏาน” ข้อตกลงนี้ช่วยทำให้ภูฏานไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครเลยตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา

หลังจากที่ภูฏานตัดสินใจผูกไมตรีกับอินเดียแล้ว อินเดียก็เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศภูฏานให้เป็นสมัยใหม่แทบจะทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณูปโภค แลกกับค่าจ้างและไฟฟ้า ปัจจุบันภูฏานมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้าส่งอินเดียหลายแห่ง เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

เหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์การพัฒนาอันแสนสั้นของภูฏานลำดับคร่าวๆ ได้ดังนี้

  1. ทศวรรษ 2500 – 2510: ประกาศใช้สกุลเงินนุลตรัม (ปัจจุบัน 1 บาท แลกได้ประมาณ 1.16 นุลตรัม) แทนระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ (barter economy) เริ่มสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งไฟฟ้าไปตามบ้านเรือน และวางเครือข่ายโทรคมนาคม
  2. ทศวรรษ 2510 – 2520: พัฒนาระบบการศึกษา สร้างโรงเรียนทั่วประเทศโดยจ้างครูชาวอินเดียมาสอน วิชาทั้งหมดปัจจุบันยังสอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาซองก้าซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ เป็นเหตุว่าทำไมชาวเมืองส่วนใหญ่ และเด็กเล็กๆ ทุกคนพูดภาษาอังกฤษคล่องกว่าเราเสียอีก
  3. ปี 2517: เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก
  4. ปี 2518: สร้างทางหลวงสายแรกในประเทศ โดยจ้างแรงงานชาวเบงกอลจากอินเดีย
  5. ทศวรรษ 2520 – 2530: ราดยางมะตอยบนถนน และสร้างโรงพยาบาลในชนบทจนครบทุกมณฑล
  6. ปี 2542: ยกเลิกการแบนโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต เปิดสถานีโทรทัศน์ และให้ประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก (เนื่องในโอกาสพระเจ้าจิ๊กมี่ ซิงยี กษัตริย์องค์ปัจจุบันผู้สืบทอดบัลลังก์จากพระเจ้าจิ๊กมี่ ดอร์จี ครองราชย์ครบ 25 ปี) ทำให้คนภูฏานเป็นประเทศท้ายๆ ของโลกที่มีโทรทัศน์ใช้
  7. ปี 2547: ดรุกแอร์ สายการบินแห่งชาติ ซื้อเครื่องบินแอร์บัส A319 ลำแรก ข่าวนี้นำความดีใจมาสู่นักท่องเที่ยวทุกคน เพราะภูฏานไม่อนุญาตให้สายการบินอื่นลงจอดในประเทศ สมัยก่อนดรุกแอร์ใช้เครื่องบินใบพัดของเยอรมัน เวลาบินพึ่บพั่บๆ เลียบเขาหิมาลัยทีไร คนนั่งต้องกลั้นหายใจทุกที

เพราะการพัฒนาประเทศเพิ่งเริ่มอย่างจริงจังหลังปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา และภูฏานก็ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวยที่จะมีเงินจ้างต่างชาติมาเนรมิตสาธารณูปโภคให้แบบรวดเร็วทันใจ ทำให้หลายๆ พื้นที่ในภูฏานยังล้าหลังอยู่มาก โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกลจากทิมพู เมืองหลวงของประเทศ ในมณฑลบุมทังทางภาคกลาง ซึ่งอยู่ห่างจากทิมพูประมาณ 7 ชั่วโมงรถ ชาวบ้านหลายคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยแสงไฟจากการเผาเปลือกไม้ ไม่ต่างจากบรรพบุรุษหลายร้อยปีก่อน และยังไม่คุ้นเคยกับระบบเงินตราดีเพราะใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของจนเคยชิน ผู้เขียนประสบกับตัวเองหลายครั้งระหว่างเยือนบุมทัง ได้ท็อฟฟี่แทนเงินทอนมาหลายเม็ดจนเอามาแปะในบันทึกการเดินทางเป็นที่ระลึก:

ท็อฟฟี่ที่ได้คืนแทนเงินทอน
ได้รับท็อฟฟี่แทนเงินทอนมาสองเม็ด ตอนไปซื้อหนังสือพิมพ์ควนเซล

……

แม้ว่าภูฏานจะได้รับความช่วยเหลือมากมายจากต่างชาติในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ (คนสวิสไปตั้งรกรากในภูฏานหลายสิบคน คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าชาวสวิสชอบภูฏานเพราะมีภูมิประเทศและอากาศดี คล้ายกับสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นประเทศเล็กๆ บนภูเขาเหมือนกัน แถมยังชอบกินชีสเหมือนกันอีกด้วย) ธนาคารโลก และองค์กรของสหประชาชาติ ภูฏานก็ยังคงรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และสามารถการเจรจาต่อรองกับมหาอำนาจ ให้ความร่วมมือต่างๆ เกิดผลประโยชน์สูงสุดโดยจำกัดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

คนงานก่อสร้างชาวอินเดีย
คนงานก่อสร้างชาวอินเดียกำลังใช้ค้อนทุบหินก้อนใหญ่
ให้เป็นก้อนเล็กๆ ภาพนี้เห็นบ่อยครั้ง ตลอดสองข้างถนน
ภูฏานจ้างแรงงานจากอินเดีย และเนปาลมาสร้างถนนให้
ไม่เคยเห็นคนภูฏานทำงานนี้

ยกตัวอย่างเช่น ภูฏานตกลงจ้างคนอินเดียมาสอนหนังสือ แต่ระบุว่าครูเหล่านั้นต้องมาจากมณฑลในอินเดียที่อยู่ห่างไกลจากภูฏาน ไม่ให้มาจากมณฑลที่อยู่ติดชายแดนภูฏานเช่น สิกขิม เนื่องจากกลัวว่าคนอินเดียจำนวนมากจะอพยพมาตั้งรกรากในภูฏานถ้าพวกเขามาจากพื้นที่ใกล้เคียง เพราะกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องได้สะดวก นอกจากนี้ ภูฏานก็ให้ใบอนุญาตคนอินเดีย (ทั้งที่เป็นครู และกรรมกรที่มาทำงานก่อสร้าง) มาทำงานได้คราวละ 1 ปีเท่านั้น รัฐบาลภูฏานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะมีปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายหลายกรณี เช่น ปัจจุบันมีชาวเนปาลอพยพเข้าไปอยู่ในภูฏานกว่า 100,000 คน และขบวนการก่อการร้ายบางองค์กรทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็ข้ามมาใช้ภูฏานเป็นที่ตั้งในการจู่โจม เพื่อเรียกร้องอิสรภาพคืนให้กับรัฐของตน

คงไม่มีอะไรที่จะสะท้อน “ความเป็นตัวของตัวเอง” และแนวคิดการพัฒนาอันเป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน ได้ดีกว่าแนวคิดเรื่อง “ความสุขประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness (GNH) ดังที่พระเจ้าจิ๊กมี่ ซิงยี กษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบัน ทรงประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515 ว่า:

“Gross National Happiness is more important than Gross National Product.”
(ความสุขประชาชาติสำคัญกว่าผลผลิตรวมประชาชาติ)

พระเจ้าจิ๊กมี่ ซิงยี วังชุก ในชุดประจำชาติ
พระเจ้าจิ๊กมี่ ซิงยี วังชุก กษัตริย์
ภูฏานองค์ปัจจุบัน กษัตริย์เท่านั้นที่
ใช้ผ้าพาดไหล่สีเหลืองได้

พระราชดำรัสของพระเจ้าจิ๊กมี่่ ซิงยี ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดเพราะๆ ธรรมดา แต่เป็นปรัชญาที่พระองค์และคณะรัฐมนตรี ใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศที่จัดทำทุกๆ 5 ปี GNH คือหัวใจหลักของวิธีการพัฒนาประเทศโดยใช้หลักศาสนาพุทธเป็นที่ตั้ง ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอันน่าติดตามอย่างยิ่ง

ปัจจุบันภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่วัดความเจริญของประเทศด้วยปรัชญา GNH แสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนาประเทศ นั่นคือ การสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุ กับความเจริญด้านจิตใจ

ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับแนวคิดเรื่อง GNH ของภูฏาน ควรเล่าตรงนี้ก่อนว่า พระเจ้าจิ๊กมี่่ ซิงยี เป็นกษัตริย์นักพัฒนาสมัยใหม่ที่เข้าพระทัยความหมายของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อย่างลึกซึ้งและในทุกมิติ พระองค์ไม่เพียงแต่สานต่อนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจจากพระบิดาเท่านั้น แต่ยังทรงสานต่อนโยบายปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้น โดยผ่องถ่ายอำนาจทางการปกครองของพระองค์ไปยังประชาชนทีละน้อย

ในปี พ.ศ. 2541 พระองค์ทรงสละอำนาจส่วนใหญ่ให้กับนายกรัฐมนตรีคนแรกของภูฏาน และออกกฎหมายที่ยอมให้รัฐสภาโหวตถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกจากอำนาจได้ ด้วยคะแนนสองในสาม (สองในสามของรัฐสภาภูฏานประกอบด้วย ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง อีกหนึ่งในสามเป็นตัวแทนของศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นผู้เสนอชื่อเจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่างๆ ให้รัฐสภาอนุมัติ) ต่อมา พระองค์ทรงริเริ่มการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ซึ่งกำลังผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์รอบสุดท้าย จะประกาศใช้ในปี 2551

เมื่อถึงวันนั้น ภูฏานจะใช้ระบอบประชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เช่นเดียวกับประเทศไทย และอังกฤษ พระเจ้าจิ๊กมี่่ ซิงยี จะทรงสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมารขึ้นครองราชย์แทน

ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่า กษัตริย์ภูฏานทุกพระองค์ต้องสละราชสมบัติเมื่อมีพระชนมายุครบ 65 พรรษา

นับเป็นเรื่องแปลกแต่น่าสรรเสริญ ที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจล้นเหลือในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะยอมมอบอำนาจในการปกครองประเทศของพระองค์ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

กลับมาเข้าเรื่อง GNH กันต่อ

ตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์และนักพัฒนาในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจโลกตะวันตกทั้งหลาย กำลังหันมาสนใจเรื่อง GNH เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างขึ้น และคุณภาพชีวิตตกต่ำ ล้วนทำให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า GNP หรือ GDP เป็นตัววัด “ความเจริญ” ที่แย่มากสำหรับโลกปัจจุบัน เพราะวัดการ “สะสมด้านวัตถุ” เพียงมิติเดียวเท่านั้น แถมเป็นด้านวัตถุที่ถูกครอบงำโดยบริษัทและภาครัฐอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะไม่รวมกิจกรรมของผู้ที่อยู่ใน “เศรษฐกิจชายขอบ” (informal economy) ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม และไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายใดๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น กรรมกรรายวัน ฯลฯ (เศรษฐกิจชายขอบของไทยมีมูลค่ากว่า 52% ของเศรษฐกิจรวม)

นอกจากนี้ GNP และ GDP ก็ไม่สามารถแยกแยะสินค้า “ดี” ออกจากสินค้า “เลว” (เช่น ปืน มีด เม็ดเงินที่นักการเมืองเลวๆ โกงชาติไป รวมทั้งค่าจ้างของที่ปรึกษาเฮงซวยทั้งหลาย เช่น ทนายที่หาช่องโหว่ของกฎหมายให้คนเลว หรือสถาบันการเงินที่หาวิธีต้มตุ๋นนักลงทุนให้ลูกค้า เช่นกรณีอื้อฉาวของ Enron) ออกจากกันได้ ดังนั้นปีไหนปืนขายดี (ซึ่งอาจทำให้สถิติการปล้นฆ่าสูงขึ้น) หรือปีไหนธุรกิจทนายรวยขึ้นเพราะมีลูกค้ามาจ้างทนายเลวๆ ให้แนะวิธีโกง ตัวเลข GDP ของประเทศก็ยังคงสูงขึ้น ทั้งๆ ที่สินค้า “เลว” เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม

เสียงสะท้อนของคนสมัยใหม่ให้ภาพไม่ต่างกัน เช่น ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รายได้ของชาวอเมริกันสูงขึ้นสามเท่า แต่คนไม่ได้รู้สึกมีความสุขมากกว่าเดิม ผลการวิจัยใน “เศรษฐศาสตร์ความสุข” (happiness economics) เศรษฐศาสตร์แขนงใหม่มากๆ ก็กำลังชี้ให้เห็นว่า เงินอย่างเดียวซื้อความสุขไม่ได้ มีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่ผลต่อความสุขของคนสมัยใหม่ เช่น ความรัก สุขภาพจิต ความรู้สึกปลอดภัย ระดับรถติด ระดับมลพิษ ฯลฯ

ในปี 2541 รัฐบาลภูฏานประกาศใช้แผนพัฒนาประเทศฉบับแรกที่ตั้งอยู่บนหลักการ GNH โดยมีสี่มิติที่เรียกว่า “Four Pillars of Happiness” (สี่เสาหลักแห่งความสุข) ได้แก่:

  • การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (sustainable economic development)
  • การรักษาสิ่งแวดล้อม (conservation of the environment)
  • การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ (promotion of national culture)
  • ธรรมาภิบาลที่ดี (good governance)

แม้ภูฏานจะใช้ GNH เป็น “ปรัชญา” ในการดำเนินนโยบาย ไม่เคยคิดจะวัดค่านี้ออกมาเป็นตัวเลข (เรื่องนี้ยังไงๆ ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกพยายามทำอยู่ดี) แต่นโยบายเศรษฐศาสตร์ “นอกกระแส” ของภูฏาน กำลังเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ภูฏานมีนโยบายปลูกป่าทดแทนอย่างเคร่งครัด ทำให้ยังมีป่ากว่า 70% ของประเทศ แม้จะมีการตัดถนนอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว นอกจากนี้ก็จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ด้วยโควต้าคนและภาษีท่องเที่ยวที่แพงลิบลิ่ว (US$200 ต่อคนต่อวัน) เพราะไม่ต้องการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเป็นแสนๆ เข้าไปทำลายความบริสุทธิ์ของป่าเขา หรือความเงียบสงบของวัด อีกตัวอย่างที่น่าคิดคือ เมื่อไม่นานมานี้หมู่บ้านหนึ่งติดตั้งไฟฟ้าให้ทุกบ้าน แต่ค้นพบว่านกกระเรียนหลายตัวบินไปติดสายไฟฟ้า ถูกไฟช็อตตาย ชาวบ้านก็พร้อมใจกันถอนเสาไฟฟ้าออกหมด แล้วหันมาใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทน

ยอมลดระดับเทคโนโลยีลงมา เพราะไม่ต้องการเห็นนกกระเรียนถูกฆ่า นี่เป็นตัวอย่างของการหาจุดสมดุลระหว่างหลักธรรมะ กับความสะดวกสบายสมัยใหม่ ที่น่าประทับใจและหายากยิ่งในโลกปัจจุบัน

ตอนนี้ภูฏาน หนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก กำลังเป็นผู้นำในการเสวนาระดับโลกเรื่อง GNH ภูฏานจัดสัมมนาเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 มีนักวิชาการ นักวิจัยและนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 82 คน จาก 20 ประเทศ บทความต่างๆ จากการสัมมนานี้ มีการรวมเล่มเป็นหนังสือ ที่ท่านสามารถ ดาวน์โหลด ได้ที่นี่ (PDF format, 233 หน้า) หรือจาก เว็บไซด์ Gross National Happiness ที่มีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแนวคิดและการค้นคว้า GNH ที่น่าสนใจอีกมากมาย

……

ปรัชญา GNH ของภูฏาน จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เท่าไรนัก

ผิดกันตรงที่รัฐบาลภูฏานนำปรัชญา GNH ไปวางแนวนโยบายจริงๆ ในขณะที่รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา “ดีแต่พูด” เท่านั้น

ตรงนี้อาจเห็นใจรัฐบาลไทยได้บ้าง เพราะการทำให้คน 700,000 คนมีความสุข คงง่ายกว่าการทำให้คน 60 ล้านคนมีความสุข

แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่เริ่มทำอะไรจริงจัง ก็ไม่มีวันที่จะเห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร และข้อจำกัดของปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้น มีอะไรบ้าง

การที่ภูฏานยังมีประชากรค่อนข้างน้อย ทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมได้อย่างค่อนข้างทั่วถึง เช่น ตอนนี้ชาวภูฏานไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และทุกคนได้เรียนฟรีถึงม. 4 (เกรด 10) นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้ที่ทำกินประมาณ 10 ไร่ฟรีจากรัฐบาล (แม้ว่าระยะหลังจะเริ่มมีปัญหา เพราะที่ดินเปล่าเริ่มเหลือน้อย รัฐบาลมักให้ที่ดินบริเวณภาคใต้ ซึ่งคนภูฏานไม่ชอบไปอยู่เพราะมีชาวเนปาลแปลกหน้าอาศัยอยู่เยอะ มีปัญหาความรุนแรงตามแนวชายแดนที่เคยเล่าไปแล้ว)

คนภูฏานส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัว ทุกคนช่วยกันทำมาหากิน ใครเข้าเมืองไปหางานทำ ไม่มีงานก็กลับมาทำนาที่บ้าน ยังไงๆ ก็ไม่อดตาย

ความที่ประชาชนทุกคนมีที่ดินทำกิน มีปัจจัยสี่ครบถ้วน และมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากมาย ทำให้คนภูฏานส่วนใหญ่ไม่คิดว่าเขา “ยากจน”

แต่ความ “พอเพียง” ของคนภูฏาน เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งไปกว่าความพอเพียงด้านวัตถุ (ปัจจัยสี่) เพราะประกอบด้วยความรู้สึกทางจิตวิญญาณอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นมิติที่ซับซ้อน เป็นนามธรรม สะท้อนอยู่ในภาษาและวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบมีเงื่อนงำ

ในซองก้า ภาษาประจำชาติภูฏาน คำว่า “อยากได้” (want) และคำว่า “จำเป็น” (need) เป็นคำๆ เดียวกัน คล้ายกับคำว่า “ต้องการ” ในภาษาไทย แต่ซองก้าไม่มีคำว่า “อยากได้” ที่ใช้สื่อเวลาต้องการของที่ไม่จำเป็น

ศาลพระภูมิเคลื่อนที่
ศาลพระภูมิเคลื่อนที่ ประกอบด้วยพระพุทธรูป และพระ
โพธิสัตว์ในนิกายวัชรยานนับร้อยองค์ แบกมาเปิดให้คน
บูชาเฉพาะในงานเทศกาลที่สำคัญๆ ภาพนี้ป้อถ่ายในงาน
เทศกาลเมืองพาโร เมษายน 2549

อีกตัวอย่างหนึ่ง คนภูฏานมีคำกล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่จะฝึกลูกชายคนจนให้ทำงาน และยากที่จะเลี้ยงดูลูกชายคนรวย”

สุภาษิตบทนี้มาจากความเชื่อของชาวภูฏานว่า คนจนมีฐานะยากจนเพราะมีนิสัยเกียจคร้าน จึงยากที่จะฝึกให้ทำงาน ในขณะที่ลูกคนรวยมีสมบัติทุกชนิดเท่าที่พ่อแม่จะซื้อหามาประเคนให้ จึงหมดความสนใจที่จะเรียกร้องอะไรอีกแล้ว

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในสุภาษิตบทนี้คือสมมุติฐานสองข้อ:

ข้อแรก สังคมเปิดโอกาสให้คนจนหายจนได้ ถ้าขยันทำงาน

ข้อสอง คนรวยนั้นเมื่อรวยถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะรู้จักพอ

ดังนั้น สุภาษิตนี้คงใช้กับสังคมไทยสมัยใหม่ไม่ได้ เพราะคนจนในไทยหลายรายไร้โอกาสเสียจนทำงานเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหายจน ในขณะที่คนรวยบางคน มีเงินถึงเจ็ดหมื่นล้านแล้วก็ยังอยากจะรวยกว่าเดิม

ความพอเพียงด้านจิตใจของคนภูฏานนั้น เป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าความพอเพียงด้านวัตถุหลายเท่า

เพราะถ้าใครไม่รู้จักคำว่า “พอ” ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้ปรัชญา GNH ขนาดไหนอย่างไร ประชาชนก็คงไม่มีความสุขอยู่นั่นเอง

ความพอเพียงด้านจิตใจนี้มาจากไหน?

บางที คำตอบอาจอยู่ในความผูกพันของคนภูฏาน ต่อศาสนาที่แสดงออกทางการเต้นรำหลากสีสัน เสียงสวดระงมของพระหลายร้อยรูป ตลอดจนรูปวาดอันน่าเกลียดน่ากลัว และสัปดนเกินกว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะยอมรับว่าสืบเนื่องมาจากปรัชญาเดียวกันกับเถรวาทในไทย

นั่นคือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ตันตระ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)