ภูฏาน: อารยธรรมแห่งสุดท้าย? (4)

“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

ความย้อนแย้งที่ไม่ขัดแย้ง : พุทธและไสยในชีวิตประจำวัน

เสียงระฆังภาวนาหมุนบนแกนไม้ดังครืดคราดๆ และแสงแวววาวของร่มกาสาวพัสตร์สีทองที่ประดับยอดหลังคา เป็นสัญญาณบอกว่าเราได้มาถึงวัดอีกแห่งแล้ว

ดูวัดมากๆ เข้าก็ชักเกิดอาการ “เบลอ” จำผิดจำถูก สงสัยสมองจะถูกฤทธิ์เหล้าขาวภูฏานที่เรียกว่า อะรา เล่นงานให้ฟั่นเฟือน แต่เจ้าอะรานี่ก็อร่อยไม่ใช่เล่น ทำจากข้าวสาลีหมัก ตอกไข่ใส่ก่อนกิน ทั้งฉุนทั้งคาวแต่รสชาติออกหวานอมเปรี้ยว ไกด์ชอบคะยั้นคะยอให้เราดื่ม บอกว่ามาภูฏานต้องปาร์ตี้ ถ้าไม่ปาร์ตี้ก็ยังไม่รู้จักภูฏานจริง

หยุดคิดเรื่องเหล้าได้แล้ว จิตใต้สำนึกเตือน นี่เขตวัดนะ สำรวมตัวหน่อย ดูซิ ขนาดพระตัวน้อยๆ ยังมีวินัย ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ทุกวัน มานั่งโยกตัวอ่านบทสวดมนต์งึมงำไม่ขาดสายไปจนกระทั่งอาทิตย์ตกดิน ยกเว้นเวลาหยุดฉันข้าวช่วงสั้นๆ ระหว่างวันเท่านั้น

พระตัวน้อยวิ่งเข้าอุโบสถวัดหลวง ซ้องพูนาคา
พระตัวน้อยวิ่งเข้าอุโบสถวัดหลวง ในซ้องเมืองพูนาคา

แต่พระพวกนี้ยังไงๆ ก็ยังเป็นเด็กนะ อีกเสียงแย้งขึ้นมาในหัว เป็นเด็กแต่กลับถูกบังคับให้ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้เล่นอย่างที่เด็กควรจะเล่น น่าสงสารจะตาย

เอาเถอะ เสียงแรกตัดบท อย่างน้อยพ่อแม่ที่ส่งเด็กพวกนี้เข้าวัดตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบก็คงรู้สึกปลื้มใจที่เห็นลูกอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แถมเด็กพวกนี้ก็จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับการศึกษา ไม่ต้องทำงานหนัก มีข้าวกินทุกมื้อจนตาย ดูเป็นชีวิตที่น่าอิจฉาออก

ก็อาจจะจริง เสียงแย้งไม่ลดราวาศอก แต่ถ้าเด็กไม่อยากเป็นพระล่ะ อย่าลืมว่าภูฏานไม่มีประเพณีประเภทผู้ชายบวชเรียนไม่กี่พรรษานะ ทุกคนที่บวชเป็นพระต้องทำใจว่าจะเป็นพระไปจนตาย พระที่ตัดสินใจสึกออกมาเป็นฆราวาสใหม่จะถูกเรียกว่า เก็ตเต้ ไปตลอดชีวิต ถูกสังคมดูแคลนว่าเป็นพวกใจเสาะ แม้ไม่ถึงขนาดแสดงความเหยียดหยามจนออกนอกหน้า เก็ตเต้ที่ตกเป็นเป้าสายตาก็สามารถรู้สึกได้ถึงชนักที่ปักหลังอยู่ ทั้งๆ ที่เขาอาจไม่เคยอยากเป็นพระเลย แต่ถูกพ่อแม่บังคับให้เป็น คนเราทุกคนเกิดมาก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิต มิใช่หรือ?


“ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย” หนังสือของผู้เขียนที่รวบรวมบทความที่เคยลงบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน (ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 และ ตอนที่ 6) บวกเนื้อหาเพิ่มเติม และอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่ีสีสวยงาม 16 หน้าเต็ม วางแผงแล้วนะคะ จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

ความย้อนแย้งที่ไม่ขัดแย้ง : พุทธและไสยในชีวิตประจำวัน

เสียงระฆังภาวนาหมุนบนแกนไม้ดังครืดคราดๆ และแสงแวววาวของร่มกาสาวพัสตร์สีทองที่ประดับยอดหลังคา เป็นสัญญาณบอกว่าเราได้มาถึงวัดอีกแห่งแล้ว

ดูวัดมากๆ เข้าก็ชักเกิดอาการ “เบลอ” จำผิดจำถูก สงสัยสมองจะถูกฤทธิ์เหล้าขาวภูฏานที่เรียกว่า อะรา เล่นงานให้ฟั่นเฟือน แต่เจ้าอะรานี่ก็อร่อยไม่ใช่เล่น ทำจากข้าวสาลีหมัก ตอกไข่ใส่ก่อนกิน ทั้งฉุนทั้งคาวแต่รสชาติออกหวานอมเปรี้ยว ไกด์ชอบคะยั้นคะยอให้เราดื่ม บอกว่ามาภูฏานต้องปาร์ตี้ ถ้าไม่ปาร์ตี้ก็ยังไม่รู้จักภูฏานจริง

หยุดคิดเรื่องเหล้าได้แล้ว จิตใต้สำนึกเตือน นี่เขตวัดนะ สำรวมตัวหน่อย ดูซิ ขนาดพระตัวน้อยๆ ยังมีวินัย ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ทุกวัน มานั่งโยกตัวอ่านบทสวดมนต์งึมงำไม่ขาดสายไปจนกระทั่งอาทิตย์ตกดิน ยกเว้นเวลาหยุดฉันข้าวช่วงสั้นๆ ระหว่างวันเท่านั้น

พระตัวน้อยวิ่งเข้าอุโบสถวัดหลวง ซ้องพูนาคา
พระตัวน้อยวิ่งเข้าอุโบสถวัดหลวง ในซ้องเมืองพูนาคา

แต่พระพวกนี้ยังไงๆ ก็ยังเป็นเด็กนะ อีกเสียงแย้งขึ้นมาในหัว เป็นเด็กแต่กลับถูกบังคับให้ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้เล่นอย่างที่เด็กควรจะเล่น น่าสงสารจะตาย

เอาเถอะ เสียงแรกตัดบท อย่างน้อยพ่อแม่ที่ส่งเด็กพวกนี้เข้าวัดตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบก็คงรู้สึกปลื้มใจที่เห็นลูกอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แถมเด็กพวกนี้ก็จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับการศึกษา ไม่ต้องทำงานหนัก มีข้าวกินทุกมื้อจนตาย ดูเป็นชีวิตที่น่าอิจฉาออก

ก็อาจจะจริง เสียงแย้งไม่ลดราวาศอก แต่ถ้าเด็กไม่อยากเป็นพระล่ะ อย่าลืมว่าภูฏานไม่มีประเพณีประเภทผู้ชายบวชเรียนไม่กี่พรรษานะ ทุกคนที่บวชเป็นพระต้องทำใจว่าจะเป็นพระไปจนตาย พระที่ตัดสินใจสึกออกมาเป็นฆราวาสใหม่จะถูกเรียกว่า เก็ตเต้ ไปตลอดชีวิต ถูกสังคมดูแคลนว่าเป็นพวกใจเสาะ แม้ไม่ถึงขนาดแสดงความเหยียดหยามจนออกนอกหน้า เก็ตเต้ที่ตกเป็นเป้าสายตาก็สามารถรู้สึกได้ถึงชนักที่ปักหลังอยู่ ทั้งๆ ที่เขาอาจไม่เคยอยากเป็นพระเลย แต่ถูกพ่อแม่บังคับให้เป็น คนเราทุกคนเกิดมาก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิต มิใช่หรือ?

“ทางนี้ครับ!” เสียงทาชิ ไกด์ชาวภูฏานฉุดให้ออกจากภวังค์ ทำให้ต้องระงับการโต้วาทีคนเดียวไว้เท่านี้ก่อน

วัดคิชู (Kyichu Lhakhang)
วัดคิชู (Kyichu Lhakhang) หนึ่งในสองวัดเก่าแก่ที่สุด

วันนี้เรามาเยือนวัดชื่อ คิชู ในหุบเขาพาโร คนภูฏานเรียกว่า คิชู ลาคัง (“ลาคัง” แปลว่า “วัด” ในภาษาซองก้า) เป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นที่เคารพสักการะที่สุดของประเทศ สร้างโดยกษัตริย์ทิเบตชื่อ ซองเซ็น กัมโป เมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้ว หรือนับร้อยปีก่อนครูรินโปเชจะมาเผยแผ่ศาสนาพุทธในภูฏาน ตำนานเล่าว่า เมื่อพระเจ้าซองเซ็นอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาวจีนชื่อเหวินเชนนั้น พระนางเหวินเชนได้อัญเชิญรูปปั้นเจ้าชายสิทธัตถะจากจีน เพื่อเป็นสินสอดไปถวายพระเจ้าซองเซ็นในเมืองลาซาของทิเบต แต่ระหว่างทาง เจอยักษีตนหนึ่งใช้ร่างกายใหญ่โตนอนทับส่วนหนึ่งของทิเบตและภูฏานทั้งประเทศ กดรูปปั้นให้จมหล่มโคลนยกไม่ขึ้น พระเจ้าซองเซ็นจึงสำแดงอิทธิฤทธิ์ ส่งรูปจำแลงของพระองค์ออกไปสร้างวัดพุทธ 108 แห่งในวันเดียว ตามจุดสำคัญต่างๆ ทั่วร่างยักษีเพื่อกำราบมันให้อยู่หมัด วัดคิชูนี้ตั้งอยู่บนเท้าซ้ายของยักษี (วัดที่สร้างบนหัวใจยักษีชื่อ โจคัง อยู่ที่เมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบต)

วัดที่พระเจ้าซองเซ็นสร้างในภูฏานมีสองวัดเท่านั้น คือคิชูและ จุมเป ในมณฑลบุมทัง ซึ่งเราจะไปเยือนในทริปนี้ด้วย

เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ในภูฏาน วัดคิชูไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปข้างในอุโบสถ จริงๆ แล้ววัดภูฏานหลายวัดไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วยซ้ำ และห้องชั้นในสุด ซึ่งใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นและภาพวาดพระโพธิสัตว์มหายานในปางชั้นสูงสุด ก็ไม่อนุญาตให้ชาวภูฏานธรรมดาเข้า เข้าได้แต่เฉพาะคนที่พระมองเห็นว่าบรรลุธรรมะชั้นสูงพอที่จะเพ่งสมาธิมองพุทธศิลปะได้อย่าง “เข้าถึง” โดยไม่เกิดความเข้าใจผิด

ทั้งนี้ เพราะนิกายตันตระใช้สัญลักษณ์อันสลับซับซ้อนมากมายหลายพันชนิดเป็น “เครื่องมือ” ในการปฏิบัติธรรม ผู้นับถือตันตระปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ธรรมะข้อต่างๆ ด้วยการเพ่งสมาธิมองจิตรกรรมและรูปปั้นทางศาสนา ชมการร่ายรำของพระสงฆ์ สวดมนต์ภาวนา ฝึกลมปราณด้วยท่าโยคะ และทำท่าพนมมือ (mudra) อันหลากหลายกว่าปางต่างๆ ของพระพุทธรูปแบบเถรวาท

หลักการที่สำคัญที่สุดในตันตระคือ “ใช้มรรคผลเป็นหนทาง” (use the result as the Path) ซึ่งหมายความว่า แทนที่จะตั้งนิพพานเป็นเป้าหมายโดยตรง พุทธศาสนิกควรพยายามฝึกฝนให้ กาย วาจา ใจ ของตน เข้าถึงสภาวะเดียวกันกับ กาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้ว สภาวะนี้เรียกว่า “ภาวะพุทธองค์” (Buddha-form)

หากเข้าถึง “ภาวะพุทธองค์” ได้ ก็แปลว่าเข้าถึงนิพพานได้โดยปริยายด้วย

เนื่องจาก “ภาวะพุทธองค์” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และการปฏิบัติธรรมผิดวิธีอาจเกิดอันตราย (เช่น บาดเจ็บจากการทำโยคะผิดท่า) ต่อร่างกายและจิตใจ ความลับจึงถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของตันตระ โดยเฉพาะความลับระหว่างพระกับลูกศิษย์ ปกติพระลามะชั้นผู้ใหญ่จะไม่อธิบายความหมายอันซับซ้อนของสัญลักษณ์และพิธีกรรมต่างๆ ให้ใครฟัง ยกเว้นคนที่ท่านเห็นว่ามีระดับสติปัญญาและจิตที่เข้มแข็งพอเท่านั้น

ข้อจำกัดของตันตระที่เน้นการสอนธรรมะแบบตัวต่อตัวแบบนี้ มักนำไปสู่ความสับสนงงงวยและความเข้าใจผิด โดยเฉพาะสำหรับคนนอกนิกายที่เห็นท่วงท่า “วิจิตรกามา” ที่คนภูฏานเรียกว่า “ยับ-ยัม” (yab-yam) เป็นครั้งแรกในชีวิต

ยับ-ยัมที่นิยมปั้นและวาดในภูฏานคือรูปเทวดาองค์หนึ่งในศาสนาพุทธ ชื่อ กาลจักร กำลังสมสู่กับพระมเหสีชื่อ วิศวมาต อย่างวิลิศมาหรา แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างในภาพล้วนมีความหมาย

เทพกาลจักร และมเหสีวิศวมาต

ชาวไทยพุทธบางคนอาจเอามือปิดตาเมื่อเห็นภาพที่สมองขึ้นป้ายทันทีว่า “อุจาด” ปฏิเสธที่จะยอมรับว่านี่คือศาสนาเดียวกันกับที่พวกเขานับถือ

ลองมาเปิดใจให้กว้างกันสักนิด เพราะอันที่จริง หากนิพพานเป็นเรื่อง “ทางใครทางมัน” จริง หนทางสู่นิพพานก็น่าจะมีหลากหลายเท่ากับจำนวนมนุษย์บนโลกนี้ มิใช่หรือ?

หากการลด-ละ-เลิกกิเลสทุกชนิด ตามวิถีแบบเถรวาท เป็นหนทางหนึ่งในเข้าถึงนิพพาน การเสพกิเลสทุกชนิดเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายจนคลายกิเลสในที่สุด ก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้ผล (จริงๆ แล้วนี่เป็นแนวทางที่พุทธมหายานหลายนิกายส่งเสริม ใครที่เคยลองเลิกกิเลสแล้วไม่สำเร็จ จะลองเปลี่ยนมาใช้วิธีตรงกันข้ามบ้างก็คงไม่มีอะไรเสียหาย ยกเว้นสุขภาพและเงินทองเท่านั้น)

เพศ และความหมายของการร่วมเพศ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของตันตระ โดยเฉพาะเมื่อตันตระเชื่อว่า เพศสัมพันธ์เป็นวิธี “ทำสมาธิ” ชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การบรรลุธรรมะขั้นสูง หรือแม้กระทั่งนิพพานได้ หากรู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

นอกจากจะแสดงถึงความสำคัญของการร่วมเพศในฐานะแนวทางหนึ่งของการ “ปฏิบัติธรรม” แล้ว ยับ-ยัม ยังหมายถึงการ “แต่งงาน” ระหว่างปัญญา (เพศชาย) และความเมตตา (เพศหญิง) ที่ต้องมีควบคู่กัน เพื่อให้บรรลุธรรมที่แท้

คนภูฏานเขาปั้นรูปพวกนี้ได้ละเอียดไม่แพ้คนฮินดูในอินเดียที่จำลองฉากจากกามสูตรเลย ใครที่ใจกล้าพอที่จะก้มลงมองจากข้างใต้ของ ยับ-ยัม อาจระทึกใจไม่น้อยเมื่อพบว่าช่างปั้นลงทุนแกะสลักทุกส่วนสัดของอวัยวะเพศชายและหญิงอย่างสมส่วนในทุกมิติ จนใครที่เคยคิดว่าเทพและเทพีกอดกันเฉยๆ ต้องสิ้นสงสัยอย่างแน่นอน (ถ้าไม่เพ่งนานจนเป็นตากุ้งยิงไปก่อน)

รูปองคชาติและครุฑกินงู บนกำแพงบ้าน
รูปองคชาติและครุฑกินงูบนกำแพงบ้าน เมืองบัมทุง
งูเป็นสัญลักษณ์ของความโกรธ

ความ “ปกติ” ของรูปวาดและรูปปั้นในวัดที่แสดงการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภูฏานเป็นประเทศที่ค่อนข้างเสรีเรื่องเพศ คนภูฏานไม่เคยรีรอที่จะเล่าโจ๊กสัปดนให้คนแปลกหน้าฟัง คุยกันเรื่องเซ็กซ์แบบหน้าตาเฉยต่อหน้านักท่องเที่ยว และวาดอวัยวะเพศชายบนกำแพงบ้าน นัยว่าเป็นการปกป้องครอบครัวจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

บางบ้านถึงขนาดสลักองคชาติเป็นรูปสามมิติ ห้อยลงมาจากมุมหลังคา แถมมีปีกบิน และคาดด้วยดาบเสียด้วย (นัยว่าดาบเอาไว้ฟาดฟันอวิชชาให้หมดสิ้นไปจากจิต)

ทาชิบอกว่า อวัยวะเพศชายที่วาดหรือแขวนตามบ้านนั้นเป็นสัญลักษณ์ของดรุกปา คุนเลย์ พระธุดงค์ในตำนานที่สอนชาวบ้านด้วยการเล่าเรื่องสัปดนที่สอดแทรกคติธรรม และกำราบอสูรร้ายให้กลายเป็นสาวกในพุทธศาสนาด้วยการตีหัวพวกมันด้วยจ้าวโลกของตัวเอง (!)

เรื่องคุนเลย์นี้มีให้เล่าอีกเยอะ เพราะเป็นพระที่เรียกได้ว่า “มีสีสัน” ที่สุด เป็นที่รักที่สุดของชาวภูฏาน เดี๋ยวพอไปเยือนวัดของดรุกปา คุนเลย์ จะเล่าให้ฟังอีก

พระลามะชั้นสูงอาจเป็น “ที่เคารพ” กราบไหว้ก็จริง แต่พระ “ติดดิน” อย่างคุนเลย์ที่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านต่างหากที่เป็น “ที่รัก” ของประชาชน

……

เรื่องเสรีภาพทางเพศของคนภูฏานนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก

กฎหมายภูฏานไม่มีข้อจำกัดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ผู้ชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ แต่ผู้หญิงจะมีสามีกี่คนก็ได้เช่นกัน กษัตริย์องค์ปัจจุบันก็มีพระมเหสีสี่คน เป็นพี่น้องกันหมด (อะไรจะโชคดีปานนั้น)

ก็นับว่ายุติธรรมดี

ผู้ชายภูฏานนิยมมีภรรยาสองคน แต่งคนแรกตอนอายุ 25 ปี คนที่สองตอนอายุประมาณ 40 แน่นอน เจ้าสาวโดยมากเป็นสาวรุ่นแรกแย้ม อายุระหว่าง 18-25 ทั้งคู่

ผู้หญิงภูฏานส่วนใหญ่มีสามีคนเดียว ยกเว้นในครอบครัวที่เลี้ยงจามรีเป็นอาชีพหลัก ผู้หญิงนิยมมีสามีสามคน คนแรกมีหน้าที่เลี้ยงฝูงจามรีในฤดูร้อนบนภูเขา (จามรีเป็นสัตว์เมืองหนาว จึงต้องอาศัยอยู่บนภูเขาสูงที่มีอุณหภูมิต่ำ เพื่อหนีร้อนจากข้างล่าง) พอถึงฤดูหนาวก็ต้อนจามรีลงมาจากเขาให้สามีคนที่สองเลี้ยง (เพราะอากาศในฤดูนี้หนาวเกินกว่าที่จามรีจะทนอยู่บนยอดเขาได้) ส่วนสามีคนที่สามมีหน้าที่เอาเนยที่ทำจากจามรีไปขายที่ตลาด

การหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาในภูฏาน เพราะทั้งชายและหญิงมีสิทธิหย่าขาดจากกันได้ และสังคมภูฏานก็ไม่มีอคติต่อแม่ม่ายเหมือนสังคมไทยสมัยก่อน ที่กดดันให้หญิงไทยยอมทนอยู่กับผู้ชายเลวๆ แทนที่จะหย่า (แต่จะว่าไป สังคมไทยสมัยนี้ก็ใจกว้างขึ้นเยอะ)

โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมายในภูฏาน (แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเท่าไหร่ พวกเธอทั้งหลายจึงอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ) แต่เสรีภาพเรื่องเซ็กซ์ของคนภูฏานน่าจะทำให้บริการของพวกเธอค่อนข้างเป็นสิ่งไม่จำเป็น

สามีหรือภรรยาที่ถูกจับได้ว่ามีชู้อาจถูกศาลตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยตั้งจำนวนค่าเสียหายตามจำนวนปีที่แต่งงานกัน

ชนบทภูฏานมีประเพณีหนึ่งเรียกว่า “การล่ายามวิกาล” (night-hunting) คือการที่ผู้ชายแอบปีนขึ้นห้องนอนของผู้หญิงที่ตน “ปิ๊ง” ยามดึก (หรือแม้แต่ไม่เคยเห็นหน้าผู้หญิงก็ไม่เป็นไร ขอแค่รู้ว่าบ้านนี้มีลูกสาวโสดเป็นใช้ได้)

ก่อนจะมีอะไรกัน ฝ่ายหญิงเองก็ต้องยินยอมด้วย ไม่อย่างนั้นฝ่ายชายก็ต้องรีบจ้ำอ้าวก่อนจะเจอข้อหาข่มขืน ซ้ำร้ายถ้าทำผู้หญิงท้องแล้วถูกจับได้ กฎหมายบังคับให้จ่ายค่าทำคลอด และ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทุกเดือนเป็นค่าเลี้ยงดูบุตร หากผู้หญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย

เรื่องนี้น่าสรรเสริญ เพราะเสรีภาพทางเพศคงไม่มีประโยชน์อันใด หากไร้ซึ่งความเท่าเทียมกันของสิทธิชายหญิงควบคู่ไปด้วย

เมื่อมีอะไรกันแล้ว หากชายหญิงชอบพอกัน ผู้ชายก็เพียงแต่รอเฉยๆ ในห้องผู้หญิง เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นผู้หญิงก็จะไปบอกพ่อแม่ ให้นิมนต์พระหรือ กอมเช็น (ฆราวาสที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็น) ประจำหมู่บ้านมาทำพิธีแต่งงานให้ เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนภูฏาน

ปัจจุบันนักล่ายามวิกาลยังมีอยู่มากมายตามชนบท แต่ไม่แน่ใจว่าสถิติความสำเร็จของพวกเขาจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

แต่ที่แน่นอนกว่าก็คือ การล่ายามวิกาลอาจเป็นวิธี “หาเมีย” โดยไม่ฝืนใจใคร ที่รวดเร็วที่สุดในโลก!

(ถามทาชิกับเพม่าว่าเคยไปล่ายามวิกาลหรือไม่ สองหนุ่มเงียบ แต่ยิ้มกริ่มแววตาเป็นประกาย เหมือนล้อเล่นแต่ฉายแววเอาจริง แววตาแบบนี้เห็นบ่อยในคนภูฏานจนผู้เขียนเรียกมันว่า “สายตาแบบภูฏาน”)

เล่าเรื่องตันตระอยู่ดีๆ ทำไมกลายเป็นเรื่องประเพณีพื้นบ้านไปได้แฮะ

รถบรรทุกยี่่ห้อ Tata ของอินเดีย
รถสิบล้อยี่่ห้อ Tata ของอินเดีย รถในภูฏานทั้งหมดต้อง
นำเข้า ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย สังเกตสัญลักษณ์มงคล
แปดอย่างเหนือหน้าต่างคนขับ

ก็คงไม่เป็นไร เพราะพุทธกับไสยในภูฏานมีความใกล้ชิดกลมกลืนจนแยกจากกันไม่ออก มิหนำซ้ำครูรินโปเช และพระองค์อื่นๆ ที่เผยแผ่ศาสนาพุทธในภูฏาน ยังใช้ความแยบยลตรงที่กำราบเทวดาและอสูรต่างๆ ในความเชื่อพื้นบ้านดั้งเดิม (ที่ไม่มีชื่อเรียก แต่นักมานุษยวิทยาขนานนามว่า “บอน”) ให้กลายมาเป็นเทวดาผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ แทนที่จะฆ่าฟันให้พินาศ

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมตันตระจึงมีเทวดาจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้

นับเป็น “เทคนิค” ในการเผยแพร่ศาสนาแบบโอนอ่อนผ่อนปรน บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในดินแดนแห่งมังกรคำราม

ใครที่นึกดูถูกไสยศาสตร์ว่าเป็นเรื่องงมงายของคนโง่ อาจกำลังงมงายกับพุทธแบบคนฉลาดที่ไร้ปัญญาอยู่ก็ได้ ผู้เขียนเองขอสารภาพว่าอาจเป็นหนึ่งในจำนวนนี้

แล้วถ้าไม่เห็นคนหลับในโลกนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตื่นแล้ว?

……

นอกเหนือจากเรื่องเพศแล้ว เอกลักษณ์เด่นของตันตระอีกประการหนึ่งเมื่อเทียบกับพุทธนิกายอื่นๆ คือความดุดันน่ากลัวของศิลปะ

มหากาฬ ปางดุร้ายของอวโลกิเตศวร
ปางดุร้ายของพระอวโลกิเตศวร ชื่อ
“มหากาฬ”

พระโพธิสัตว์ เทวดา และพระอรหันต์แทบทุกองค์ในตันตระ มีทั้งปางธรรมดา และปางดุร้าย ปางธรรมดาให้อารมณ์เงียบสงบ สันติ ในขณะที่ปางดุร้ายก็ดุร้ายสมชื่อ

บ่อยครั้งจะเห็นเทวดาตาถลนแยกเขี้ยว ทิ่มหอกแหวกอกคนจนเห็นตับไตไส้พุงข้างใน มีหัวกะโหลก งูพิษ ซากศพ และอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์เป็นรูปประกอบฉาก

แน่นอน ทุกอย่างย่อมมีความหมาย ลามะอาวุโสรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่าส่วนใหญ่รูปคนที่เทวดาเหยียบหรือแทงนั้น เป็นสัญลักษณ์ของอวิชชา กิเลส หรือนามธรรมที่ไม่พึงปรารถนาอื่นๆ

แล้วทำไมต้องดุขนาดนี้ด้วยล่ะ? ผู้เขียนถาม

เพราะพลังของความชั่วร้ายสามารถใช้ในทางดีได้นะโยม พระท่านตอบยิ้มๆ ความชั่วร้ายบางอย่างสยบได้ด้วยความชั่วร้ายด้วยกันเท่านั้น

แม้จะไม่ค่อยเข้าใจที่พระท่านพูด แต่ก็รู้สึกเข้าใจได้ลางๆ เมื่อมานั่งคิดว่า ในเมืองไทยเราเองดูเหมือนว่า “คนเลว” ทั้งหลายจะไม่เคยแพ้ “คนดี” ประเภทดีบริสุทธิ์เลย แพ้แต่ “คนเลว” ด้วยกันที่ “เลวน้อยกว่า” ก็เท่านั้น

ส่ง “คนดี” ของเรามาภูฏานให้ศึกษาวิธีใช้พลังชั่วร้ายปราบคนชั่ว แลกกับให้ภูฏานส่งคนมาศึกษาวิธี “เลวน้อยปราบเลวมาก” แบบไทยๆ น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ไม่เลว

……

พระพุทธเจ้า พระสารีบุตร และชับดรุง
จากซ้ายไปขวาคือ พระพุทธเจ้า พระสารีบุตร (องค์ยืน)
และชับดรุง ในอุโบสถใหญ่ของวัดหลวงในซ้องเมือง
พูนาคา สังเกตสีห้าสีแทนธาตุทั้งห้า ตรงขอบผ้าคลุมพระ

พระประธานในวัดคิชูเป็นพระโพธิสัตว์ชื่อ พระอวโลกิเตศวร หรือที่คนภูฏานเรียกว่า เชนเรสิก ปางนี้อยู่ในท่ายืน มี 11 เศียร สองมือตรงกลางอยู่ในท่าพนมมือ

ผ้าห่มพระพุทธรูปและรูปปั้นพระอาจารย์ทุกผืนในวัดทุกแห่งของภูฏานจะเป็นผ้าลายตาข่ายสีเหลือง-แดง ขลิบสีห้าสีแทนธาตุทั้งห้าในความเชื่อพื้นเมือง คือ ดิน (เหลือง) น้ำ (ฟ้า) ลม (ขาว) ไฟ (แดง) และ ไม้ (เขียว)

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราเติมธาตุไม้เข้าไปในคติไทยเป็นธาตุที่ห้า แทนที่จะมีแค่ “ดินน้ำลมไฟ” จะช่วยกระตุกต่อมสำนึกให้คนไทยหันมาปลูกป่ากันมากขึ้นหรือเปล่า?

บนโต๊ะบูชาหน้าพระประธานมีเครื่องไหว้หลากสีที่ทำจากเนยปั้น เรียกว่า ตอร์ม่า ข้างหน้ามีถ้วยโลหะเล็กๆ ใส่น้ำวางเรียงกันสองแถว

คนภูฏานใช้น้ำเป็นหลักในการบูชาพระ เพราะมองว่าน้ำเป็นของหาง่าย ไม่ว่าคนจนคนรวยก็มีน้ำใช้

ลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำในการทำบุญได้ดี

มุมห้องหนึ่งเป็นที่ตั้งตู้ไม้ที่เก็บพระสูตรโบราณ หลวงพี่ในวัดเล่าให้ฟังว่า พระสูตรหลักในนิกายดรุกปา คายุที่เป็นศาสนาประจำชาติภูฏานนั้นมีทั้งหมด 310 บท ถ้าจ่ายเงินคนดูแลวัดส่วนใหญ่ เขาจะอ่านให้ฟัง ใช้เวลา 3 วันกว่าจะอ่านจบทั้งหมด ผ้าห่อพระสูตรเป็นของถวายพระที่ฆราวาสนิยมใช้ในภูฏาน พระสูตรที่เรามายืนดูอยู่นี้ถูกหุ้มด้วยผ้าหนาถึง 16 ชั้น เพราะมีคนเอาผ้ามาถวายวัดอยู่เนืองๆ ในโอกาสมงคลต่างๆ

ภาพเขียนในวัดส่วนใหญ่ถูกคลุมด้วยผ้าสีเหลืองผืนใหญ่เพื่อกันฝุ่น ต้องค่อยๆ เลิกผ้าขึ้นมาดูเป็นระยะๆ ภาพพวกนี้ดูเปราะบางมาก เวลาเพ่งดูใกล้ๆ ต้องกลั้นหายใจด้วยความกลัวว่าภาพจะเสีย ลายเส้นทั้งหมดที่ใช้สีธรรมชาติแลดูละเอียดอ่อนช้อย งดงามสมกับเป็นพุทธตันตระ นิกายที่เชื่อว่าการรวบรวมสมาธิไปที่สัญลักษณ์ต่างๆ และใคร่ครวญถึงความหมายของสัญลักษณ์เหล่านั้น จะช่วยชี้หนทางสู่นิพพานได้

พระในท่าเต้นหมวกดำ เทศกาลประจำปีเมืองทิมพู
พระในท่าเต้นหมวกดำ เทศกาลประจำปีเมืองทิมพู

เนื่องจากศิลปะในตันตระไม่ได้ทำเพื่อสุนทรียะเป็นหลัก หากทำเพื่อช่วยมนุษย์ให้เข้าถึงนิพพาน ตันตระจึงให้ความสำคัญกับการใช้ศิลปะในการ “สื่อสาร” หลักธรรม เป็นที่มาของรูปวาดในกรอบวงกลมเรียกว่า มันดาลา ซึ่งแต่ละรูปสามารถสื่อได้ทั้งหลักธรรมะและความเกี่ยวโยงระหว่างกัน ได้อย่างสมบูรณ์ ลงตัว และสวยงาม (แม้คนนอกศาสนาอาจไม่มีวันเข้าใจสัญลักษณ์บนมันดาลารูปหนึ่งได้ในชาตินี้)

ศิลปะในตันตระไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะจิตรกรรมและรูปปั้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่ายรำอันงดงามของพระ ที่แสดงให้คนดูเฉพาะในเทศกาลสำคัญต่างๆ การร่ายรำที่ซับซ้อนที่สุดคือ ท่าเต้นหมวกดำ (black-hat dance) หากมองท่าเต้นนี้จากข้างบน จะเห็นว่าพระนักเต้นวาดเท้าเป็นรูปมันดาลา เต้นเสร็จก็เท่ากับวาดมันดาลาเสร็จไปหนึ่งวง น่าอัศจรรย์ใจมาก

เพราะศิลปะตันตระเป็นทั้งเครื่องมือในการสอนศาสนา และเครื่องมือในการปฏิบัติธรรม ศิลปินที่วาดรูปตามวัด หล่อพระประธาน และเต้นรำทางศาสนาจึงล้วนแล้วแต่เป็นพระสงฆ์ ไม่ใช่ฆราวาสแบบในเมืองไทย นิกายดรุกปา คายุในภูฏานแบ่งพระออกเป็นสามฝ่าย ฝ่ายแรกมีหน้าที่วาดและปั้นรูปทางศาสนา ฝ่ายที่สองมีหน้าที่เต้นรำในพิธีและเทศกาลทางศาสนาต่างๆ และฝ่ายที่สามมีหน้าที่เรียนรู้จากพระสูตรและเทศน์สั่งสอน

เพราะภาพทางศาสนาเป็น “เครื่องมือ” หนึ่งในการปฏิบัติธรรม ทุกรายละเอียดในศิลปะตันตระจึงมีความหมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งสีที่ใช้ สัตว์ป่าในฉากหลัง อาวุธและเครื่องใช้ชนิดต่างๆ ที่เทวดาหรือพระพุทธเจ้าถืออยู่ในมือ ตลอดจนจำนวนสิ่งของต่างๆ ในภาพ เช่น สาม หมายถึงพระรัตนตรัย แปด หมายถึงสัญลักษณ์มงคลแปดอย่างที่คนทิเบตและภูฏานเรียกว่า ทาชี่ ทักเย ทาชี่ ทักเย ประกอบด้วยสัญลักษณ์ดังต่อไปนี้:

ทาชี่ ทักเย สัญลักษณ์มงคลแปดชนิด

ความที่เป็น “ชุดสัญลักษณ์” ที่สรุปหัวใจหลักของศาสนาพุทธได้อย่างเข้าใจง่ายและครบถ้วน ทาชี่ ทักเยจึงเป็นสัญลักษณ์ “ยอดฮิต” ที่พบเห็นได้ทุกหนทุกแห่งในภูฏาน บนผนังวัด บนกรอบหน้าต่าง ในบ้านคน บนรถสิบล้อ ลายสลักบนกำไลกระดูกจามรีที่วางขายนักท่องเที่ยวตามตลาดในเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น คนภูฏานที่มีหัวศิลปินหน่อยอาจคิดค้นดีไซน์ใหม่ๆ ที่ผสมผสาน ทาชี่ ทักเย ทั้งแปดชนิดไว้ในสัญลักษณ์เดียวกัน

ทาชี่ ทักเย แบบรวมมิตร
สัญลักษณ์มงคลทั้งแปดแบบรวมมิตร ลอง
ดูสิว่าคุณหาทั้งแปดอย่างเจอหรือเปล่า?

……

หลังจากชื่นชมศิลปะในวัดคิชู และบริจาคเงินบำรุงวัดตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคนเสร็จแล้วก็ได้เวลากลับออกมาข้างนอก เห็นพระตัวน้อยนั่งกลางลานวัดเป็นแถว รอรับอาหารจากพระรุ่นพี่พอดี

พระภูฏานไม่ออกไปบิณฑบาตเหมือนพระไทย แต่นั่งรอผู้บริจาคในวัด (ซึ่งก็เข้าใจได้ เดินทางลำบากขนาดนี้ ถ้าพระออกไปข้างนอก กว่าจะได้อาหารพอกินอาจขาดใจตายเสียก่อน) พระในนิกายดรุกปา คายุ ซึ่งเป็นนิกายประจำชาติ ได้รับการเลี้ยงดูฟรีจากรัฐบาล ส่วนพระในนิกายอื่นๆ ต้องอาศัยเงินและของบริจาค

อีกมุมหนึ่งของวัดเห็นหญิงชราตัวเล็กหลังงุ้ม เดาว่าอายุไม่ต่ำกว่า 70 ค่อยๆ คุกเข่าลง คลี่ฝากล่องสีน้ำตาลซีดออกมาปูบนพื้น ก้มลงกราบไปทางพระอุโบสถซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับได้ไม่ต่ำกว่าเจ็ดสิบจบ จนพวกเราต้องขึ้นรถตู้ไปวัดต่อไปแล้ว ยายก็ยังอยู่ในท่าเดิม

ยายแก่คนนั้นจะต้องกราบพระกี่ครั้งคะ? ผู้เขียนหันไปถามเพม่าเมื่อรถออกวิ่ง

เณรน้อยฉันเพลกลางลานวัดคิชู
เณรน้อยฉันเพลกลางลานวัดคิชู อาหารที่พระหนุ่มกำลัง
เสิร์ฟคือข้าวต้มเละๆ ทำจากข้าวสาลี

ไม่รู้เหมือนกันครับ อาจเป็นร้อยหรือเป็นพันครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าเคยมาอธิษฐานหรือบนอะไรเอาไว้ ถ้าแกขอเรื่องยากๆ แล้วพระท่านให้ อาจต้องเทียวไปเทียวมาอีกหลายวัน เพม่ายิ้ม แล้วส่งสายตาแบบภูฏานมาอีกชุด

แรงศรัทธาของคนภูฏานนั้นน่านับถือมิใช่น้อย

ศาลาภาวนาหลังเล็กๆ สีขาว สำหรับให้คนไปปลีกวิเวกทำสมาธิ เห็นอยู่ทั่วไปตามชะง่อนเขาสูง

สิ่งแรกที่คนภูฏานทำทุกเช้าคือ จุดเทียนเนยบูชาพระ และเผากิ่งต้นสนชนิดมีกลิ่นหอมให้กับภูตผีเปรตในป่า เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมนี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยที่เป็นกรรมของเปรตได้ และยังช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดของคนอีกด้วย

ทุกเช้าตรู่ในชนบทจะเห็นควันสีเทาจางๆ พวยพุ่งออกจากปล่องเตาบ้านทุกบ้าน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร และหากใครเดินเล่นในหมู่บ้าน ก็อาจได้กลิ่นเทียนเนยโชยออกมา

พุทธและไสยที่นี่แยกจากกันไม่ได้จริงๆ

บ้านภูฏาน
บ้านภูฏาน ตามชนบทบางแห่งชั้นล่างสุดจะเปิดโล่งไว้เป็น
คอกเลี้ยงม้า วัว หรือแกะ

ห้องที่ใหญ่ที่สุด ประดับประดาด้วยสิ่งของราคาแพงที่สุดในบ้านของคนภูฏานคือห้องแขกควบห้องพระ ห้องนี้มีสามส่วนคือ ห้องใหญ่ มีอาสนะและเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ห้องนี้ใช้เป็นที่นอนของแขกที่มาเยือนเจ้าบ้าน รวมทั้งพระธุดงค์เวลาออกเยี่ยมชาวบ้าน กั้นห้องอีกสองส่วนเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และห้องน้ำสำหรับแขก

เวลาไม่มีแขก ก็จะไม่มีใครในบ้านใช้ห้องนี้ แต่จะดูแลทำความสะอาดอย่างดี รอวันที่จะมีแขกมาเยือน

ครอบครัวเจ้าบ้านเองนอนอุดอู้รวมกันในห้องเล็กๆ ข้างนอก ใช้ห้องน้ำนอกบ้านทุกวัน (คนภูฏานอาบน้ำในอ่างคอนกรีตหรืออ่างหิน ที่ถูกอุ่นให้ร้อนก่อนด้วยการเอาหินก้อนใหญ่ไปผิงไฟ แล้วโยนหินก้อนนั้นลงไปในอ่าง จึงเรียกการอาบน้ำแบบนี้ว่า “อาบน้ำหิน” หรือ stone bath)

บ้านภูฏานที่เห็นมีหลายชั้นนั้น จริงๆ แล้วใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงชั้นเดียว ชั้นล่างสุดเอาไว้เก็บข้าว และเครื่องมือทำการเกษตร ชั้นบนสุดใต้หลังคาเอาไว้เก็บพืชผล หญ้าฟางสำหรับเลี้ยงสัตว์ และเป็นที่หลับนอนในฤดูร้อน พอถึงฤดูหนาวทั้งครอบครัวจะย้ายไปนอนในห้องครัว เพราะเป็นห้องที่พื้นอุ่นที่สุดในบ้าน ในฤดูหนาวชาวภูฏานยังได้อาศัยไออุ่นจากสัตว์เลี้ยง ที่ต้อนเข้าคอกในชั้นล่างสุดของบ้านทุกคืน เป็นเครื่องทำความร้อนที่ไม่ต้องเสียเงินซื้ออีกด้วย

แ่ต่ไม่ว่าอย่างไรเจ้าของบ้านก็จะไม่เข้าไปนอนในห้องแขกเด็ดขาด

……

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบรอยเท้าที่บุ๋มลงไปในพื้นไม้กระดาน ลึก 3-4 เซนติเมตรหรือยิ่งกว่านั้น ตามวัดเก่าแก่ในภูฏาน รอยเท้าเหล่านี้เกิดจากการล้มลงกราบพระจากจุดเดิมหลายพันครั้ง เพราะการกราบพระแบบภูฏานนั้นเป็นแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” เหมือนกับในทิเบต คือต้องเหยียดตัวราบลงไปให้อวัยวะ 8 อย่างแตะพื้น คือ หน้าผาก แขน จมูก ฝ่ามือ ข้อศอก ลำตัว หัวเข่า และปลายเท้า แล้วลุกขึ้นมาใหม่โดยไม่ยกเท้าจากพื้น แบบที่แสดงในรูปนี้:

วิธีไหว้พระแบบภูฏาน

ในวัดเล็กๆ ใกล้กับซ้องเมืองพาโร ชื่อวัด จาง ซาบู เพม่าชี้ให้เห็นรอยเท้าแบบนี้หลายรอยตรงหน้าพระประธาน เพราะมีคนมากราบไหว้พระองค์นี้เยอะ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ตามตำนานเล่าว่าอัญเชิญมาจากทิเบตเพื่อมาประดิษฐานในซ้องใหญ่ แต่ระหว่างทางต้องผ่านช่องแคบ พระพุทธรูปกระแทกเข้ากับเขาจนเข่าของพระมีรอยบุ๋ม (ว่าแล้วเพม่าก็ชี้ให้ดูรอยบุ๋มที่องค์พระ) คนแบกปรึกษากันแล้วก็ลงความเห็นว่า ต้องแยกองค์พระออกเป็นชิ้นๆ ถึงจะผ่านช่องเขานี้ไปได้ ทันใดนั้นพระพุทธรูปก็สำแดงปาฏิหาริย์ พูดขึ้นมาว่า ไม่ต้องหรอก แค่หันตัวฉันไปข้างๆ จะผ่านไปได้ แล้วพระองค์ก็ทำตัวให้ลีบ คนก็ยกผ่านไปได้จริงๆ

พอใกล้จะถึงซ้อง คนแบกหยุดพักเหนื่อย พระพุทธรูปก็เปล่งเสียงขึ้นมาอีกว่า ฉันจะอยู่ตรงนี้

คนแบกเลยสร้างวัดครอบพระพุทธรูปขึ้นที่ตรงนั้น ไม่ยกต่อไปอีก

ทุกวัดในภูฏานมีตำนานไม่มากก็น้อย คล้ายกับทุกวัดในไทยที่คนเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์

อีกตำนานหนึ่งที่ชอบมากคือตำนานของวัด จุมเป วัดเก่าแก่รุ่นเดียวกับวัดคิชู สร้างโดยพระเจ้าซองเซ็นเหมือนกัน สร้างคร่อมหัวเข่าซ้ายของยักษีที่นอนทับภูฏานทั้งประเทศ

พระประธานในวัดนี้คือพระศรีอาริยเมตตรัย เรียกย่อๆ ว่า พระเมตตรัย (“จุมเป” คือชื่อของพระองค์นี้ในภาษาซองก้า) เป็น “พระพุทธเจ้าแห่งอนาคต” ที่ยังไม่เสด็จลงจากสวรรค์มาโปรดสัตว์ วัดนี้ทรุดลงเรื่อยๆ ตามเวลา คนภูฏานเขาตีความการทรุดตัวของวัดไว้อย่างนี้:

ความเชื่อเกี่ยวกับบันไดหิน ที่วัดจัมปา

……

ธงภาวนาแบบแขวนระหว่างต้นไม้
ธงภาวนาแบบแขวนระหว่างต้นไม้ ต้นถ่ายที่โดชูลา จุด
ชมวิวระหว่างเมืองพาโรกับทิมพู

หากสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นเครื่องวัด “แรงศรัทธา” อย่างหยาบแล้วไซร้ ก็ต้องนับว่าพุทธศาสนิกชนในภูฏานมีศรัทธาแก่กล้าไม่แพ้ใครในโลก เพราะสัญลักษณ์ทางศาสนาไม่ได้อยู่แต่ในวัด ศาล หรือบ้านคนเท่านั้น หากอยู่ท่ามกลางป่าเขา ละเมียดละไมกลมกลืนจนดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ

ศาลากงล้อภาวนาพลังน้ำหมุนเอื่อยเฉื่อยคร่อมธารน้ำทุกสาย ศาลากงล้อภาวนาพลังลมเฝ้าล้อลมบนยอดเขาทุกลูก ธงภาวนาหลากสีแบบแขวนห้อยระโยงระยางระหว่างต้นไม้ ธงแบบปักบนก้านไม้ไผ่ปลิวไสวตามลม ยิ่งสูงยิ่งแน่น เรียงติดกันนับร้อยนับพันจนตาลาย

ธงภาวนาแบบปัก
พระน้อยยืนครุ่นคิดใต้แถวธงภาวนาแบบปัก นอกวัดชิมมี่

แม้ระยะทางระหว่างวัดจะยาวไกลเพียงใด ผ่านหุบเหวน่าหวาดเสียวมากเพียงไหน สัญลักษณ์อันอ่อนโยนของพุทธศาสนาที่โอบล้อมตัวเราตลอดเวลา และความสวยงามของธรรมชาติสองข้างทางทำให้การเดินทางในภูฏานไม่เคยน่าเบื่อ (แม้จะเจ็บก้นจากการกระดอนขึ้นลงของรถบ้างในบางครั้ง) แถมไกด์ภูฏานทุกคนรักสนุก ชอบร้องเพลง เล่านิทานแฝงโจ๊กสัปดน ให้เฮฮาเป่าปากเปี๊ยวป๊าวกันไปตลอดทาง

ขอเชิญทุกท่านมานั่งรถจากทิมพูไปบุมทังด้วยกันกับผู้เขียน ผ่านตัวหนังสือกันบ้างเป็นไร…

(โปรดติดตามตอนต่อไป)