ภูฏาน: อารยธรรมแห่งสุดท้าย? (6)

(หากท่านใดไม่เคยอ่านบทความชุดนี้ ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 และ ตอนที่ 5 ก่อน)

ทิมพู: ชีวิตไม่รีบร้อนของคนเมืองภูฏาน

คิวรถติดยาวเป็นกิโล รอช่วงพักของช่างทำถนน
คิวรถติดยาวเป็นกิโล รอช่วงพัก
ของช่างทำถนน

แม้ว่าภูฏานจะยังไม่มีรถมากถึงขนาดติดเป็นตังเมทุกวัน ชาวกรุงเทพฯ ที่หวังว่าจะได้ “ซิ่ง” รับลมชมวิวแบบเต็มสปีดในภูฏานอาจต้องพกความผิดหวังกลับบ้าน

เพราะนอกจากถนนหนทางส่วนใหญ่จะคดเคี้ยวอันตรายจนต้องขับไม่เกิน 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว บางครั้งรัฐบาลภูฏานยังประกาศปิดถนนบางช่วง 3-5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อขยายเลนหรือซ่อมแซมผิวถนนที่เจอทั้งแดด ลม ฝน หิมะ ตลอดจนรถสิบล้อที่วิ่งส่งสินค้าระหว่างเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเครื่องอุปโภคบริโภคของคนเมือง ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่บรรทุกรถสิบล้อมาจากอินเดียทางชายแดนตอนใต้ ของที่แพงหน่อยนำเข้าจากเมืองไทยโดยเครื่องบินของสายการบิน ดรุ๊กแอร์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ขนมขบเคี้ยว เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ฯลฯ แม้กระทั่งวีซีดีและดีวีดีเถื่อนตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นแล้วในทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน ขายทั้งหนังเทศและหนังไทย

ร้านขายดีวีดีเถื่อน เมืองทิมพู
ร้านขายดีวีดีเถื่อน เมืองทิมพู มีเรื่องต้มยำกุ้ง และ
องค์บากขายด้วย ดูเหมือนของจากแม่สาย

เมื่อเทียบกับของอินเดียที่โดยมากยังมีคุณภาพต่ำ สินค้าไทยที่คนไทยเราดูถูกนักหนาจึงกลายเป็นสินค้า “เกรดดี” สำหรับคนภูฏาน ร้านไหนขายของจากไทยถือว่าเป็นร้าน “ไฮโซ” กว่าร้านอื่น

แม้แต่ของที่ใครว่าแย่ที่สุด ก็กลับกลายเป็นดีได้เมื่อเทียบกับของที่แย่กว่า ตราบใดที่ผู้บริโภคยังไม่มีทางเลือกมากนัก

ความดีความเลวจึงอาจเป็นได้เพียงคุณค่าเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น ในมิติของวัตถุ ไม่ใช่ลักษณะสัมบูรณ์ใดๆ ที่มีความหมายในตัวมันเอง

แต่ถ้าเราชอบเปรียบเทียบกับสิ่งที่ด้อยกว่าอยู่เสมอ เพื่อให้รู้สึกว่าของของเรา “ดี” เราก็อาจคิดว่าเรา “ดีแล้ว” จนไร้ซึ่งแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรๆ ให้ “ดีกว่าเดิม”


(หากท่านใดไม่เคยอ่านบทความชุดนี้ ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 และ ตอนที่ 5 ก่อน)

ทิมพู: ชีวิตไม่รีบร้อนของคนเมืองภูฏาน

คิวรถติดยาวเป็นกิโล รอช่วงพักของช่างทำถนน
คิวรถติดยาวเป็นกิโล รอช่วงพัก
ของช่างทำถนน

แม้ว่าภูฏานจะยังไม่มีรถมากถึงขนาดติดเป็นตังเมทุกวัน ชาวกรุงเทพฯ ที่หวังว่าจะได้ “ซิ่ง” รับลมชมวิวแบบเต็มสปีดในภูฏานอาจต้องพกความผิดหวังกลับบ้าน

เพราะนอกจากถนนหนทางส่วนใหญ่จะคดเคี้ยวอันตรายจนต้องขับไม่เกิน 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว บางครั้งรัฐบาลภูฏานยังประกาศปิดถนนบางช่วง 3-5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อขยายเลนหรือซ่อมแซมผิวถนนที่เจอทั้งแดด ลม ฝน หิมะ ตลอดจนรถสิบล้อที่วิ่งส่งสินค้าระหว่างเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเครื่องอุปโภคบริโภคของคนเมือง ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่บรรทุกรถสิบล้อมาจากอินเดียทางชายแดนตอนใต้ ของที่แพงหน่อยนำเข้าจากเมืองไทยโดยเครื่องบินของสายการบิน ดรุ๊กแอร์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ขนมขบเคี้ยว เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ฯลฯ แม้กระทั่งวีซีดีและดีวีดีเถื่อนตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นแล้วในทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน ขายทั้งหนังเทศและหนังไทย

ร้านขายดีวีดีเถื่อน เมืองทิมพู
ร้านขายดีวีดีเถื่อน เมืองทิมพู มีเรื่องต้มยำกุ้ง และ
องค์บากขายด้วย ดูเหมือนของจากแม่สาย

เมื่อเทียบกับของอินเดียที่โดยมากยังมีคุณภาพต่ำ สินค้าไทยที่คนไทยเราดูถูกนักหนาจึงกลายเป็นสินค้า “เกรดดี” สำหรับคนภูฏาน ร้านไหนขายของจากไทยถือว่าเป็นร้าน “ไฮโซ” กว่าร้านอื่น

แม้แต่ของที่ใครว่าแย่ที่สุด ก็กลับกลายเป็นดีได้เมื่อเทียบกับของที่แย่กว่า ตราบใดที่ผู้บริโภคยังไม่มีทางเลือกมากนัก

ความดีความเลวจึงอาจเป็นได้เพียงคุณค่าเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น ในมิติของวัตถุ ไม่ใช่ลักษณะสัมบูรณ์ใดๆ ที่มีความหมายในตัวมันเอง

แต่ถ้าเราชอบเปรียบเทียบกับสิ่งที่ด้อยกว่าอยู่เสมอ เพื่อให้รู้สึกว่าของของเรา “ดี” เราก็อาจคิดว่าเรา “ดีแล้ว” จนไร้ซึ่งแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรๆ ให้ “ดีกว่าเดิม”

การหาจุดสมดุลระหว่าง “ความพอเพียง” ในการดำรงชีวิต กับ “ความกระตือรือร้น”ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิมในแง่ความสะดวกสบายด้านวัตถุ อย่างน้อยก็เพื่อรุ่นลูกหลาน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมทุกแห่งในโลก

พอเพียงเกินไปก็อาจทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการบริโภคสินค้าและบริการสมัยใหม่ ที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม มีความสุขก็จริง แต่ขาดความสบาย

แต่กระตือรือร้นเกินไปก็กลายเป็นความโลภไม่รู้จักพอ หลงวนเวียนอยู่ในวังวนบริโภคนิยมจนถอนตัวไม่ขึ้น มีความสบายก็จริง แต่ขาดความสุข

เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อย ที่แม้เวลาจะล่วงเลยไปแล้วกว่า 2,500 ปี คำสอนเรื่อง “ทางสายกลาง” ของพระพุทธองค์ยังไม่เคยตกยุค ซ้ำยังทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ

……

เนื่องจากถนนสายหลักในภูฏานมีอยู่เส้นเดียว เวลารัฐสั่งปิดถนนทีไร รถก็จะติดยาวเหยียดอยู่บนถนนเป็นกิโลทุกครั้งไป ดังที่พวกเราเจอระหว่างทางกลับทิมพูจากพูนาคา โชคดีที่เราไปถึงตอนใกล้ถึงเวลาเปิดถนนประจำวันแล้ว เลยไม่ต้องรอนานมาก – แค่ 40 นาทีเท่านั้นเอง

ปกติช่วงเวลา 40 นาที ไม่ใช่ “แค่” สำหรับผู้เขียน คนรุ่น(กลางเก่ากลาง)ใหม่ที่รู้สึกรำคาญแทบทุกครั้งเวลาเห็นเว็บไซด์ใช้เวลาโหลดนานกว่าหนึ่งนาที เพื่อนไม่ตอบอีเมล์ภายในหนึ่งวัน และลิฟต์ไม่มาภายในสองนาทีหลังจากกดปุ่มเรียก

แต่ชะรอยภูฏานจะมีเวทมนตร์อะไรบางอย่าง ที่ถ่วงฟันเฟืองนาฬิกาธรรมชาติในร่างกายเอาไว้ ให้มันเดินช้าลงกว่าเดิมลงไปเรื่อยๆ จนพอถึงวันที่สองหรือสาม ก็เลิกคิดว่าเราจะไปที่ไหนเมื่อไหร่ และจะทันตามแผนการเดินทางที่ต้องส่งให้รัฐบาลภูฏานอนุมัติหรือไม่

ขอแค่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ของภูฏาน และเห็นภูเขาโอบล้อมทุกวันก็พอ

อาจเป็นอย่างที่นักคิดหลายคนกล่าวไว้ – เมื่อใดเรามีความสุขอยู่กับปัจจุบัน เมื่อนั้นเราจะไม่พะวงเรื่องเวลา

ไม่ว่าจะเจอฝนตกหนัก ถนนปิดซ่อมแซม ฝูงจามรีเดินข้ามถนน ทหารเช็คเอกสารเวลาข้ามเขตมณฑล ฯลฯ เราก็ไม่เคยรู้สึก “เสียเวลา” ตราบใดที่ฟ้ายังเปิดพอให้อิ่มเอมกับทิวทัศน์สองข้างทาง และเพม่ายังไม่รู้สึกเหนื่อยล้ากับการเล่านิทาน และร้องเพลงภาษาซองก้าให้ฟัง

เพม่าบอกว่า เพลงภูฏานส่วนใหญ่เป็นเพลงรักอารมณ์เศร้า ประมาณรักเธอแต่ไม่มีทาง คิดถึงเธอแต่ห่างกันเหลือเกิน ฯลฯ ท่วงทำนองคล้ายเพลงจีนคลาสสิกอย่าง “เถียนมีมี่”

อาจเป็นเพราะพวกเขาใช้ชีวิตในอ้อมกอดขุนเขา เดินขึ้นเขาลงห้วยทุกวันวันละหลายกิโล คนภูฏานส่วนใหญ่จึงดูเหมือนจะมีพลังงานเหลือเฟือ กินเหล้าเก่ง นอนน้อย คนภูฏานหลายคนบอกผู้เขียนว่าเขานอนแค่วันละ 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น

พูดถึงเหล้า ดูเหมือนว่าศีลข้อห้าจะเป็นข้อที่คนภูฏานเคารพน้อยที่สุด แม้แต่ในเมืองที่เคร่งพุทธศาสนาอย่างบุมทัง ชาวบ้านหลายรายก็บริโภคเหล้าขาวท้องถิ่นเป็นกิจวัตร ขนาดบนผนังห้องหมักเบียร์ที่เราแวะเยือนในบุมทัง ยังมีโปสเตอร์โพนทะนาประโยชน์ของเบียร์เป็นภาษาอังกฤษ เสียดายไม่มีเวลาจดเนื้อหากลับมา จำได้ลางๆ ทำนองว่า เบียร์ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนของเลือดทำงานดีขึ้น

ใครที่คออ่อนเหมือนผู้เขียน เคยกินเบียร์จนหน้าร้อนผ่าว หัวใจเต้นถี่จนแทบจะหลุดออกมาข้างนอก คงยืนยันได้ถึง “ประโยชน์” ข้อนี้ของเบียร์

บาร์ The Zone เมืองทิมพู
บาร์ The Zone เมืองทิมพู

ภูฏานมีบาร์เหล้าแบบตะวันตกมากกว่าหนึ่งบาร์ในเมืองทิมพู บาร์ที่เราไปชื่อ “The Zone” เปิดเพลงเสียงดังลั่น ตั้งโต๊ะชิดกันจนแทบไม่มีทางเดิน คนแน่นขนัด ดูเผินๆ ไม่ต่างจากบาร์ย่านอาร์ซีเอในกรุงเทพฯ ผิดกันแต่มีเหล้าและค็อคเทลน้อยชนิดกว่า เปิดเพลงป๊อปภาษาฮินดูและเพลงอเมริกันยุคซิกซ์ตี้แทนที่เพลงไทย และห้องไม่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นและควันบุหรี่

ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประกาศห้ามประชาชนสูบบุหรี่ กฎหมายนี้เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2546 นักท่องเที่ยวสามารถนำบุหรี่เข้าประเทศได้ แต่ต้องเสียภาษีในอัตราสูง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายห้ามสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในกฎหมายจำนวนน้อยของภูฏาน ที่เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว ไม่มีใครปราบปรามอย่างจริงจัง เพราะสมาชิกชนชั้นกลางเกิดใหม่จำนวนไม่น้อยในภูฏานยินดีจ่ายเงินซื้อบุหรี่ในราคาตลาดมืด

เช่นเดียวกับทุกหนแห่ง เมื่อมีผู้บริโภคต้องการซื้อ ก็ย่อมมีผู้ขาย และแน่นอน เมื่อผลประโยชน์มีมูลค่าสูง ผู้ขายก็ย่อมหว่านล้อมตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้แกล้ง “หลับตาข้างเดียว” อย่างไม่ยากเย็นอะไรนัก

ธุรกิจบุหรี่จึงเป็น “ธุรกิจใต้ดิน” อันดับต้นๆ ของภูฏาน ที่มีเครือข่ายคอร์รัปชั่นกว้างขวางและโยงใยข้าราชการหลายระดับชั้น

นี่เป็นเหตุให้การหาซื้อบุหรี่ในภูฏาน ไม่ว่าจะทีละมวนหรือทั้งห่อ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คนออกกฎหมายต้องการเห็น เมื่อผู้เขียนถามเจ้าของร้านชำผู้หนึ่งว่าเอาบุหรี่มาจากไหน เขาตอบยิ้มๆ ว่า พนักงานสายการบินดรุ๊กแอร์นั่นแหละเอามาขายต่อ

บางครั้ง การแกล้งหลับตาข้างเดียวอาจเป็น “วิธี” หนึ่งของรัฐ ในการต่อกรกับประเด็นซับซ้อน ที่ความต้องการของประชาชนส่วนหนึ่ง ขัดกับหลักศีลธรรมหรือหลักกฎหมาย

แต่วิธีนี้ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ในอนาคต หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของภูฏานมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2551 คนภูฏานรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีขึ้น ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกมากขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้น อาจรวมพลังกันเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลจากรัฐบาล ซึ่งตอนนี้เล่นบท “พ่อผู้เข้มงวดแต่หวังดี” เหมือนสมัยที่ประเทศยังอยู่ใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จนในที่สุด รัฐบาลภูฏานก็คงจะถูกสถานการณ์บังคับให้ตีเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” กับ “ประโยชน์ส่วนรวม” อย่างชัดเจนในทุกๆ เรื่อง

การตีเส้นไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะที่ไหนเวลาใด

……

ไฟในบาร์ภูฏานสลัวจนปวดตาจากการเพ่งอ่านเมนู เลยไม่ทันสังเกตว่ามีเบียร์สิงห์หรือเปล่า แต่เห็น ซาน มิเกล ของฟิลิปปินส์ นอกเหนือจากไฮเนเก้น หลายยี่ห้อคุ้นตาจากยุโรป และยี่ห้อแปลกๆ จากอินเดีย

ไม่มี 7-Eleven แ่่ต่มี 8-Eleven
ไม่มี 7-Eleven แ่่ต่มี 8-Eleven

เมื่อคิดถึงข้อเท็จจริงว่าภูฏานไม่มีสตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ เซเว่นอีเลฟเว่น มีเพียงป้ายโค้กและเป๊ปซี่ปิดหน้าร้านเป็นระยะๆ แล้ว เมนูเหล้าในบาร์แห่งนี้อาจเป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ของ “ทุนโลกาภิวัตน์” ที่แน่นขนัดที่สุดในภูฏาน

เหนือหัวพวกเรา ทีวีขนาดประมาณสิบหกนิ้วกำลังถ่ายทอดเกมฟุตบอลลีกอังกฤษ

แม้ว่าประเทศจะมีที่ราบน้อยเสียจนทำสนามฟุตบอลไม่ค่อยได้ และถึงแม้ทีมชาติภูฏานจะติดอันดับท้ายๆ ของโลก ภูฏานก็มีแฟนบอลจำนวนไม่น้อย

ในขณะที่สายตาหลายสิบล้านคู่กำลังเชียร์แมทช์ชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกประจำปี 2545 ระหว่างทีมบราซิลกับเยอรมัน วันเดียวกันนั้นในอีกฟากหนึ่งของโลก ทีมชาติภูฏานเป็นเจ้าบ้าน ลงสนามพบกับทีมชาติมอนเซอร์รัต สองประเทศที่ฟีฟ่าจัดอยู่อันดับโหล่สุดในโลกฟุตบอล เพื่อตัดสินให้รู้แล้วรู้รอดไปว่า ทีมไหนกันแน่คือทีมฟุตบอลที่ “ห่วยที่สุดในโลก”

ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม รัฐบาลภูฏานกลัวทีมมอนเซอร์รัตจะเสียใจที่ไม่มีคนเชียร์ เลยขอร้องให้กองเชียร์ชาวภูฏานแบ่งคนครึ่งหนึ่งไปนั่งเชียร์ทีมคู่แข่ง

ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศที่แฟนบอลมีเลือดรักชาติรุนแรง อย่างอังกฤษหรือบราซิล คงไม่มีใครยอม ดีไม่ดีรัฐบาลอาจจะถูกเดินขบวนขับไล่

แต่นี่เป็นภูฏาน แมทช์นั้นก็เลยผ่านพ้นไปอย่างสนุกสนาน อัฒจันทร์กระหึ่มเสียงเชียร์ของทั้งสองทีม ที่คนเชียร์เกือบทั้งหมดมีสัญชาติเดียวกัน

แมทช์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้จบลงด้วยภูฏานเป็นฝ่ายชนะ สกอร์ 4 ประตูต่อ 0

The Other Final

แม้จะไม่ค่อยมีใครรู้จัก โชคดีที่มีผู้บันทึกแมทช์นี้ลงบนแผ่นฟิล์ม ตัดต่อเป็นหนังสารคดีเรื่อง “The Other Final” ซึ่งได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากหลายสำนัก

ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้เป็นชาวดัทช์ เลือกทำเรื่องนี้เพราะแค้นใจที่ทีมชาติดัทช์โชว์ฟอร์มแบบเสียฟอร์มในศึกบอลโลก เลยอยากทำเรื่องเกี่ยวกับทีมที่ห่วยกว่าดัทช์แน่ๆ

ผู้เขียนเองไม่เคยได้ดู แต่ได้ยินมาว่าสารคดีเรื่องนี้มีวางขายเป็นดีวีดีแล้ว

……

กฎหมายภูฏานกำหนดให้บาร์ปิดตีสอง แต่ในความเป็นจริง บาร์จะปิดเมื่อไหร่ดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเจ้าของ และระดับความสนุกของแขกในบาร์เท่านั้น

คนที่มาเที่ยวบาร์ส่วนใหญ่อยู่ในชุดลำลองสไตล์ตะวันตก สวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ดูแปลกตากว่าที่เห็นตอนกลางวัน เพราะกฎหมายภูฏานบังคับให้พลเมืองทุกคนใส่ชุดประจำชาติทุกวัน ยกเว้นชาวภูฏานเชื้อสายฮินดูจากเนปาลหรืออินเดีย

นักเรียนในชุดโคห์ ชุดประจำชาติ นักเรียนในชุดโคห์ ชุดประจำชาติ

ชุดประจำชาติของผู้ชายเรียกว่า โคห์ ของผู้หญิงเรียกว่า คีร่า เป็นแบบกระโปรงทั้งคู่ กระโปรงโคห์ของผู้ชายมีลักษณะคล้ายกระโปรงชายชาวสก็อต แต่ไม่มีจีบ สั้นกว่าคีร่าของผู้หญิง มีกระเป๋าจิงโจ้หน้าท้อง เอาไว้ใส่เงินและของประจำตัว โดยเฉพาะมีดและถ้วยเหล้าของชาวบ้านที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้

ของอีกอย่างที่คนภูฏานนิยมพกติดตัว คือหมาก ใบพลู และอุปกรณ์ในการกินหมาก เป็นกิจกรรมยอดนิยม กินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สังเกตดูตามมุมกำแพงบ้านและเสาไฟฟ้าจะเห็นเศษหมากสีแดงที่คนบ้วนทิ้งติดแห้งเกรอะกรังไปหมด

นักวิชาการเชื่อว่าคนภูฏานติดนิสัยนี้มาจากการค้าขายกับคนอินเดีย แต่ตำนานท้องถิ่นของภูฏานมีคำอธิบายที่สนุกกว่าวิทยาศาสตร์

คนภูฏานเชื่อว่า ครูรินโปเช พระทิเบตที่นำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแผ่ เป็นคนสอนให้คนภูฏานกินหมาก เพราะในสมัยโบราณ ตอนที่คนภูฏานยังนับถือแต่ภูตผีเทวดาในความเชื่อพื้นเมืองที่เรียกว่า “บอน” และทำสงครามกับทิเบต และระหว่างเผ่าพื้นเมืองต่างๆ นั้น การกินคนถือเป็นเรื่องปกติ ครูรินโปเชอยากให้ชาวบ้านเลิกกินคน เลยสอนให้คนกินใบพลูแทนเนื้อคน ลูกหมากแทนกระดูกคน และมะนาวแทนสมองคน ส่วนผสมของสามอย่างนี้รวมกันมีสีแดง ก็ให้ถือว่านั่นคือเลือดคน

ตั้งแต่นั้นคนภูฏานเลยเลิกกินคน หันมากินหมากแทน

นอกจากจะพกข้าวของเครื่องใช้ในกระเป๋าหน้าท้อง คนพุทธที่เคร่งครัดมากๆ หลายคนก็ยังนิยมพกพระเครื่องติดตัว โดยเฉพาะเวลาเดินทางไกล เขาใส่พระเครื่องไว้ในกล่องบรอนซ์แกะสลัก บางอันใหญ่เท่าฝ่ามือ ไม่ค่อยเห็นใครห้อยพระที่คอเหมือนคนไทย (แต่เห็นเด็กตัวเล็กๆ บางคนก็ห้อยพระเหมือนกัน ไปถามเด็กอายุประมาณห้าหกขวบคนหนึ่งว่าเอามาจากไหน เขาบอกว่าคนไทยที่มาไหว้พระแถวนี้ยกให้)

ผู้เขียนไม่กล้านั่งฝั่งตรงข้ามกับใครก็ตามที่ใส่โคห์ จนกระทั่งมีคนกระซิบบอกว่า เขาใส่กางเกงขาสั้นไว้ข้างในอีกชั้นหนึ่ง

ทำให้ใจชื้นขึ้นมาก

คีร่าของผู้หญิงมีลวดลายและสีสันสวยงาม แต่ไม่ใช่จะหาซื้อได้ง่ายๆ เพราะภูฏานไม่มีอุตสาหกรรมทอผ้า มีแต่ผ้าที่เขาเย็บกันใช้เองในครัวเรือนแล้วนำมาขายนักท่องเที่ยว ผืนหนึ่งต้องใช้เวลาทอหลายเดือนหรือเป็นปี ฉะนั้นผ้าที่เอามาขายนักท่องเที่ยวจึงมีราคาแพง เป็นหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ผ้าที่มีลวดลายละเอียดสวยงามแบบโบราณหาไม่ค่อยได้แล้ว

นอกเหนือจากสนนราคา ใครอยากซื้อผ้าภูฏานก็กรุณาอย่าลืมว่า ผ้าภูฏานส่วนใหญ่เนื้อค่อนข้างหยาบ อันเป็นผลพวงจากความปรารถนาที่จะไม่ฆ่าหนอนไหม ตามที่เล่าในบทที่แล้ว

กฎหมายที่บังคับให้ทุกคนใส่ชุดประจำชาติเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้าน “การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ” – หนึ่งในสี่เสาหลักของปรัชญา GNH

กฎหมายอื่นๆ ที่สำคัญของนโยบายด้านนี้คือ ตึกรามบ้านช่องทุกหลังในประเทศจะต้องสร้างเป็นแบบภูฏานดั้งเดิม ห้ามสูงเกิน 4 ชั้น

เมืองทิมพู
เมืองทิมพู ถ่ายจากทางหลวงระหว่างมาจากพาโร

แม้จะฟังดูเหมือนเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลค่อนข้างมาก ก็โชคดีที่สถาปัตยกรรมดั้งเดิมของภูฏานมีความสวยงาม และกลมกลืนกับธรรมชาติรอบด้าน จนไม่น่าจะมีใครบ่นเรื่องนี้เท่าไหร่

ยังไงๆ ในสายตาอันเปี่ยมอคติของผู้เขียน ผลที่เกิดขึ้นก็ดูดีกว่าทิวทัศน์ประเภทตึกเสากรีก-ผนังสีฟ้า-หลังคาเก๋งจีน ที่เห็นอยู่ดาษดื่นในเมืองไทย ที่นอกจากจะไม่เข้ากับบรรยากาศอย่างแรงแล้วยังชวนให้แคลงใจในรสนิยมของเจ้าของตึก และหน่วยงานราชการที่อนุมัติให้สร้าง


“สี่แยกไฟแดง” เมืองทิมพู

ขนาดของสมัยใหม่อย่าง “สี่แยกไฟแดง” ในทิมพู (ซึ่งมีตำรวจจราจรประจำป้อม ทำหน้าที่แทนไฟเขียวไฟแดง) ยังทาสีสวยงามในสไตล์ดั้งเดิม ให้ดูกลมกลืนกับขุนเขาได้เลย

ไม่มีอะไรดู “แปลกที่” ในภูฏาน

กฎหมายหนึ่งที่แสดงชัดว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหนกับนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมคือ หนุ่มสาวชาวภูฏานที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมเรื่องวัฒนธรรมประจำชาติ เรียกว่า ดริกัม นัมซา ในคอร์สระยะสั้นที่รัฐบาลจัด เมื่อกลับถึงภูฏานแล้ว

……

จังหวะชีวิตของคนภูฏาน ดำเนินไปอย่างช้าๆ เหมือนธารน้ำที่ไหลลอดใต้กงล้อภาวนา ไม่เว้นแม้แต่ในทิมพู เมืองหลวงของประเทศ

คนที่นี่เขาเดินเนิบๆ แบบทอดหุ่ย ยกเว้นเด็กเล็กๆ ที่วิ่งเล่นกัน หรือเด็กนักเรียนที่เร่งฝีเท้ากลับบ้าน เพราะอาจต้องเดินหลายกิโล

จัตุรัสกลางเมืองทิมพู
จัตุรัสกลางเมืองทิมพู

ในจัตุรัสกลางเมืองมีหอนาฬิกาตั้งอยู่ แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจมองมัน ราวกับประโยชน์ของหอนาฬืกานี้มีแค่เป็น “หมุดหมาย” บอกตำแหน่งกันหลง เวลาใครหลงทางในเมืองก็เพียงแค่แหงนคอมองหาหอนาฬิกา ก็จะรู้ทันทีว่าตัวเองอยู่ทางทิศไหนของเมือง

ร้านขายของชำส่วนใหญ่ขายของผ่านหน้าต่างหน้าร้านที่เจ้าของร้านนั่งเฝ้าเหมือนคนขายตั๋ว คนซื้อไม่ต้องเดินเข้าไปข้างใน

ถามป้าเจ้าของร้านชำคนหนึ่งว่า ไม่กลัวใครล้วงมือเข้ามาขโมยของหรือคะ? ป้ายิ้มแล้วบอกว่า ไม่มีหรอกขโมย แล้วของแค่นี้ถ้าอยากได้ก็เชิญ ต้องถือว่าเป็นเคราะห์กรรมของป้าถ้าเกิดเรื่องอย่างนั้นขึ้น เธอตอบอย่างหนักแน่น แล้วก็ส่งสายตาแบบภูฏานตามมา

แถวร้านขายของชำ เมืองทิมพู
แถวร้านขายของชำ เมืองทิมพู

ความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างอารยธรรมมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งใน “เมืองใหญ่” อย่างทิมพู เป็นมนต์เสน่ห์หนึ่งของภูฏานอันยากจะลืมเลือน

เจมี่ เซ็ปป้า ครูสอนภาษาอังกฤษชาวแคนาดาที่เป็นอาสาสมัครไปสอนหนังสือในภูฏานตอนอายุ 22 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการในการดำรงชีวิต พบรักและแต่งงานกับคนภูฏาน เล่าเรื่องความกลมกลืนของภูฏานไว้อย่างไพเราะในหนังสือเรื่อง “Beyond The Sky And The Earth” (ยิ่งกว่าผืนฟ้าและแผ่นดิน):

“สิ่งที่ฉันรักที่สุดคือความกลมกลืนของทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาคุณเดินผ่านป่าทั้งป่าทะลุออกมาสู่หมู่บ้าน คุณจะมองไม่เห็นความแตกต่าง ไม่เห็นเส้นแบ่งใดๆ ไม่ใช่ว่าคุณอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในนาทีหนึ่ง และอยู่ในอารยธรรมมนุษย์ในนาทีต่อมา บ้านเรือนผู้คนทำจากโคลน หิน และไม้ ที่ดึงมาจากธรรมชาติใกล้ตัว ไม่มีอะไรดูผิดที่ ไม่มีอะไรดูขัดแย้งกัน เวลากลายเป็นการผสมผสานระหว่างนาทีและเดือนและความรู้สึกถึงฤดูต่างๆ ที่ผันผ่าน… ฉันจำวันที่ไม่ค่อยได้แล้ว… ที่นี่เวลาไม่ผ่านไปอย่างรวดเร็วดุเดือด การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นช้ามาก ยายแก่และหลานสาวของเธอใส่เสื้อผ้าชนิดเดียวกัน ทำงานเหมือนกัน ร้องเพลงเพลงเดียวกัน… ตอนนี้ฉันมีเวลาเหลือเฟือ ไม่มีใครที่ฉันต้องวิ่งกวดให้ทัน และไม่ต้องไปที่ไหนนอกจากที่นี่ ฉันทำนาฬิกาข้อมือหายในเมืองทราชิกัง และหน้าปัดดิจิตัลของนาฬิกาปลุกก็จางหายไปแล้วในความชื้นที่มากับลมมรสุม แต่ฉันกำลังเรียนรู้วิธีบอกเวลาจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และสรรพเสียงนอกบ้าน และฉันก็แทบไม่เคยไปสาย”

……

เรื่องราวของดินแดนแห่งมังกรคำรามยังไม่จบเพียงแค่นี้…

…คนภูฏานขายอะไรให้นักท่องเที่ยว ในตลาดเมืองพาโรและทิมพู?
…เหตุใดพระที่มาสวดในงานศพจึงกุเรื่องโกหกในงานศพ กล่าวโทษคนตายในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ?
…ความหมายของผ้าพาดไหล่ ธงภาวนา และกงล้อภาวนาคืออะไร?
…จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กตัวเล็กๆ คือลามะกลับชาติมาเกิดจริง?
…ภาษาซองก้าไม่มีคำว่า “ฉันรักเธอ” จริงหรือ?
…ทำไมคนภูฏานจึงชอบเมืองไทย และชอบเที่ยวเมืองไทย?
…คนภูฏานอยากได้รัฐธรรมนูญหรือไม่?
…ความท้าทายและปัญหาของการพัฒนาประเทศตอนนี้คืออะไร?
…ทำไมผู้เขียนจึงเรียกภูฏานว่า “อารยธรรมแห่งสุดท้าย” ?

โปรดติดตามหาคำตอบได้ในหนังสือ “ภูฏาน: อารยธรรมแห่งสุดท้าย?” รวบรวมบทความที่ลงในบล็อกนี้ไปแล้วหกตอน บวกอีกสี่ตอนใหม่ พร้อมภาพประกอบสี่สีสวยงาม 16 หน้าเต็ม ตามแผงหนังสือทั่วไป จัดพิมพ์โดยโอเพ่นบุ๊คเจ้าเก่า ราคา 190 บาท สามารถ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่