มลพิษแสงกับเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรี

church-of-the-good-shepherd-from-aoraki-mackenzie-international-dark-sky-reserve-new-zealand.-credit-fraser-gunn-of-www.astrophotography.co_.nz-4_3_rx1443_c1920x1440.jpg

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Stardust” นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมิถุนายน 2556

เวลาได้ยินคำว่า “มลพิษ” ชาวเมืองหลายคนคงเห็นภาพควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ผุดขึ้นมาในหัว ชาวชนบทที่โชคร้ายอยู่ใกล้แหล่งมลพิษอาจนึกภาพควันดำขโมงจากปล่องโรงงานที่ตั้งติดกับป้ายโครงการซีเอสอาร์สารพัน

มีใครคิดบ้างว่า แสงไฟก็เป็นมลพิษได้เหมือนกัน และวันนี้เรากำลังสูญเสียอะไรๆ ไปมากกว่าความงดงามของท้องฟ้ายามค่ำคืน

เนิ่นนานหลายศตวรรษแล้วที่ความเจริญทางวัตถุมาพร้อมกับแสงสีแสบตา เมืองไหนยิ่งเจริญยิ่งเปิดไฟสว่างโร่ทั้งคืน ประชันขันแข่งกันเป็น “เมืองที่ไม่เคยหลับ” แม้แต่ดินแดนปลีกวิเวกห่างไกล แสงไฟจากเมืองก็ยังรุกรานไปถึง ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าวันนี้เราสามารถมองเห็นความสิ้นเปลืองพลังงานมโหฬารของมนุษย์ได้จากอวกาศ ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ชัดว่าชั้นบรรยากาศโลกเกลี่ยแสงจ้าจากเมืองเป็นแสงแวววาวปกคลุมโลกจนดูเหมือนลูกแก้วสีดำมะเมื่อม นักดาราศาสตร์ส่งเสียงเตือนดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า เรากำลังสูญเสียความมืดมิดของราตรีไปแล้ว

บางคนอาจคิดว่าการสูญเสียความมืดนั้นเป็นเพียงความสูญเสียของดาราศาสตร์ ศาสตร์ที่พึ่งพาความสว่างของดวงดาว เกลียดกลัวความสว่างจากไฟประดิษฐ์ แต่ในความเป็นจริง แสงไฟที่สว่างมากๆ นั้นเป็น “มลพิษ” ที่อันตรายไม่แพ้มลพิษชนิดอื่น แสงไฟกลางคืนรบกวนการเติบโตของพืช ไฟสว่างจ้าส่งผลโดยตรงให้สัตว์น้ำและสัตว์บกล้มตายจำนวนนับไม่ถ้วนทุกปี นกที่อพยพบินกระแทกอาคารสว่างไสว ลูกเต่าทะเลตัวน้อยเข้าใจผิดคิดว่าแสงแวววาวจากเสาไฟฟ้าคือพรายระยับของท้องทะเล คลานผิดทิศไปสู่ความตายแทนที่จะได้หวนคืนสู่ผืนน้ำ ไม่นับอุบัติเหตุทางถนนมากมายที่เกิดจากแสงจ้าแยงตาผู้ขับขี่รถยนต์และคนเดินถนน ชั่วพริบตาเท่านั้นชีวาก็ดับวูบ

นอกจากจะคุกคามชีวิตของมนุษย์และสัตว์อย่างโจ่งแจ้ง มลพิษแสงยังคุกคามสุขภาพของเราอย่างเงียบเชียบ แสงไฟกลางคืนรบกวนนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) ซึ่งกำกับวัฏจักรการนอนของเรา คนที่ทำงานยามกลางคืนภายใต้แสงไฟสว่างโร่ หรือใช้ชีวิตในเมืองที่มีมลพิษแสง มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก

ยังไม่นับว่ามลพิษแสงเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานมหาศาล การเปิดหลอดไฟขาวขนาด 100 วัตต์ ทุกคืนติดกันเป็นเวลาหนึ่งปี จะต้องใช้พลังงานเท่ากับการเผาถ่านหินครึ่งตัน ลองคิดดูว่าเราจะไม่ต้องทะเลาะกันว่าจะสร้างโรงไฟฟ้ากี่โรงและเขื่อนกี่เขื่อน ถ้าเพียงแต่เราเปลี่ยนหลอดไฟขาวทั้งประเทศเป็นหลอดประหยัดไฟ เปิดไฟส่องเฉพาะบริเวณที่จำเป็น และเลิกเปิดไฟพร่ำเพรื่อตลอดทั้งคืน ไม่ว่าจะอยากอวดรวยหรือมักง่ายก็ตาม

Lightings

โคมไฟและอุปกรณ์แสงสว่างแบบที่ก่อให้เกิดมลพิษแสง (ด้านซ้าย) และแบบที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษแสง (ภาพขวา) (ภาพจาก http://changeobserver.designobserver.com/media/images/fixtures_lg.jpg

ในเมื่อมลพิษแสงทั้งสิ้นเปลืองและเป็นภัยต่อนักดาราศาสตร์ ทุกคนที่รักดวงดาว ตลอดจนสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ปัจจุบันจึงมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อลดมลพิษชนิดนี้มากมายหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ใช้ “การพร้อมใจกันปิดไฟหนึ่งชั่วโมง” เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความตระหนักในสิ่งแวดล้อมของแคมเปญ “Earth Hour” (http://www.earthhour.org/) โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund) ปัจจุบันเป็นแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกปีมีผู้เข้าร่วมหลายล้านคนจากกว่าเจ็ดพันเมืองทั่วโลก ไปจนถึงโครงการระยะยาวกว่านั้น อาทิ GLOBE at Night (http://www.globeatnight.org/) โครงการอาสาสมัครภาคพลเรือนซึ่งก่อตั้งมากว่า 7 ปีแล้ว

“ลูกแก้วสีดำ” – ภาพถ่ายโลกยามวิกาลจากดาวเทียม (ภาพจาก http://www.nasa.gov/multimedia/imagegallery/image_feature_2403.html)

“ลูกแก้วสีดำ” – ภาพถ่ายโลกยามวิกาลจากดาวเทียม (ภาพจาก http://www.nasa.gov/multimedia/imagegallery/image_feature_2403.html

GLOBE at Night รณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักในสภาพปัญหาและผลกระทบจากมลพิษแสง ด้วยการเชิญชวนให้คนรักดาวทั่วโลกวัดความสว่างของท้องฟ้ากลางคืนในเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ด้วยเครื่องมือสุดแสนง่าย คือดูด้วยตาเปล่าเทียบกับตารางความสว่างของกลุ่มดาวนายพราน (กลุ่มดาวเต่าและดาวไถในคติไทย) กลุ่มดาวสิงห์ หรือกลุ่มดาวกางเขน ที่ระดับมลพิษแสงต่างๆ แล้วรายงานผลการสังเกตไปยังเว็บไซต์ของ GLOBE at Night ผ่านแอพมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ผลที่ได้นำมาแสดงบนแผนที่โลก ให้เปรียบเทียบข้ามเมืองและข้ามปีได้

ผู้เขียนลองใช้เกณฑ์วัดตามตาราง ปรากฏว่ากรุงเทพฯ มีมลพิษแสงระดับ 1 คือแย่กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

Night sky ratings

สภาพท้องฟ้ายามวิกาลในสถานที่ต่างๆ ที่มีระดับมลพิษแสงไม่เท่ากัน (ภาพจาก http://stellarium.org/img/screenshots/0.10-bortle.jpg

หนึ่งในโครงการที่พยายามแก้ปัญหามลพิษแสงอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด คือการประกาศ “เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรี” (dark sky reserve) โดยสมัครใจ แนวคิดเบื้องหลังคล้ายเขตสงวนบนบกหรือในทะเลที่เรารู้จักดี แต่เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีมุ่งพิทักษ์ท้องฟ้าสุกสกาวยามค่ำคืนจากมลพิษแสง มิใช่พิทักษ์ระบบนิเวศจากการทำลายล้างของมนุษย์

ทั่วโลกวันนี้มีเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีหลายแห่ง แต่ที่ได้รับการยอมรับที่สุดในแง่ของมาตรฐานคือ “เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีนานาชาติ” (International Dark Sky Reserve) ดำเนินการโดยสมาคมท้องฟ้ายามราตรีนานาชาติ (International Dark Sky Association: http://www.darksky.org/) ซึ่งมีเกณฑ์การสมัครที่ชัดเจน รางวัลแบ่งออกเป็นสามขั้นคือ ทอง เงิน และทองแดง เหมือนรางวัลที่หนึ่งถึงสามของเกมกีฬา นอกจากระดับนานาชาติ แล้วสมาคมนี้ยังให้รางวัลอีกสองระดับ คือ เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีระดับชุมชน (community) และเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีระดับอุทยาน (park) เพื่อสนับสนุนความพยายามที่จะสงวนท้องฟ้ายามวิกาลในระดับย่อยลงมา

เขตสงวนระดับ “ทอง” จากสมาคมฯ ต้องมีสภาพกลางคืนใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ถ้ามีแสงไฟประดิษฐ์ ไฟส่วนใหญ่ก็จะต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ไม่ส่องขึ้นฟ้าถ้าไม่จำเป็น เช่น เสาไฟฟ้าริมถนนจะต้องใช้โคมไฟหรุบต่ำเพื่อจำกัดแสงไฟให้ส่องเฉพาะบริเวณที่ต้องการจริงๆ เท่านั้น คือถนน แม้แต่เขตสงวนระดับต่ำสุดคือ “ทองแดง” ก็จะต้องสามารถมองเห็นทางช้างเผือกตอนกลางคืนอย่างชัดเจน จึงจะเข้าข่ายได้รางวัล

เงื่อนไขที่สำคัญข้อหนึ่งของเขตสงวนตั้งแต่ระดับชุมชน อุทยาน ไปจนถึงระดับนานาชาติ คือจะต้องเปิดให้ผู้มาเยือนได้ซึมซับความงดงามของท้องฟ้ายามราตรีอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่กีดกันให้คนกลุ่มเดียวได้ประโยชน์ นอกจากนั้นก็จะต้องระบุ “ท้องฟ้ายามราตรี” ว่าเป็น “ทรัพยากร” สำคัญ ในแผนงานของเมืองหรือองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลบริเวณนั้นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าท้องฟ้ายามราตรีจะได้รับการปกป้องสืบไป และผู้มีอำนาจที่ดูแลเมืองจะมีความรับผิดต่อแผนงานรักษาท้องฟ้าที่วางไว้  ไม่ใช่พอได้รางวัลแล้วก็เลิกสนใจ ปล่อยให้ไฟประดิษฐ์คุกคามตามเดิม

ปัจจุบันมีเขตสงวนทุกระดับที่สมาคมท้องฟ้ายามราตรีนานาชาติให้การรับรองกว่า 40 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี่มีเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีระดับนานาชาติที่ได้ “ทอง” เพียงสองแห่งเท่านั้น ได้แก่ เขตสงวนธรรมชาตินามิแบรนด์ (NamibRand Nature Reserve) ในประเทศนามิเบีย และเขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีอาโอรากิ แม็คเคนซี (Aoraki Mackenzie Dark Sky Reserve) ในนิวซีแลนด์ กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักดาราศาสตร์และพลพรรคคนรักดวงดาวทั่วโลก แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือ ความสำเร็จของหลายเมืองในการก่อตั้ง “โอเอซิสฟ้าราตรี” (dark sky oasis) ในเมืองที่เคยเต็มไปด้วยมลพิษแสง ด้วยการเขียนกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าเสียใหม่ในทางที่เอื้อต่อท้องฟ้ายามราตรี และบังคับใช้อย่างเคร่งครัด นอกจากจะได้ท้องฟ้าสุกสว่างกลับคืนมาแล้ว เมืองเหล่านี้ยังพบว่าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละหลายสิบหรือร้อยล้านบาท อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนยามวิกาล

Dark Sky Reserve

เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรีอาโอรากิ แม็คเคนซี ในประเทศนิวซีแลนด์ (ภาพจาก http://www.ouramazingplanet.com/3015-zealand-dark-sky-reserve.html

 

ไม่ว่าจะอยากรักษาดินแดนวิเวกปราศจากคนให้คงความเป็นธรรมชาติต่อไป หรืออยากจะฟื้นฟูชุมชนและอุทยานให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยอาศัยท้องฟ้ายามราตรีเป็นทั้งหมุดหมายและเครื่องมือหล่อหลอมความสามัคคีของคนในชุมชน โครงการ “เขตสงวนท้องฟ้ายามราตรี” ก็กำลังยึดพื้นที่คืนจากมลพิษแสงอย่างช้าๆ แต่ทว่ามั่นคง

การตั้งใจสงวนท้องฟ้ายามราตรีช่วยสร้างศักยภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อม ฟื้นคืนความพิศวงในธรรมชาติ และตอกย้ำคำพูดของคาลวิน ตัวละครเอกใน คาลวิน แอนด์ ฮ็อบส์ การ์ตูนโปรดของผู้เขียน ที่ว่า

“ถ้าคนเราออกมานั่งดูดาวทุกคืนนะ ฉันพนันได้เลยว่าพวกเขาจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต”

Calvin & Hobbes