มาช้าดีกว่าไม่มา – ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งอายัดทรัพย์ทักษิณ

ขอบันทึกความเห็นสั้นๆ เกี่ยวกับคำสั่งของ คตส. ที่ให้อายัดทรัพย์ทักษิณและภรรยา เมื่อวานนี้ เพราะเรื่องนี้เป็น “ซีรี่ส์ยาว” ที่พูดอะไรมากไม่ได้ ต้องรอดูกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคดีต่างๆ เข้าสู่กระบวนการศาล และศาลมีคำวินิจฉัยในที่สุด (ทั้งหมดนี้คงกินเวลาหลายเดือน)

  1. คตส. น่าจะออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์ตั้งแต่ัวันแรกที่ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารแล้ว เพราะลำพังข้อมูลสาธารณะที่ปรากฎหลังจากการขายหุ้นชินคอร์ป ก็มีความชัดเจนมาก (อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้เขียนและนักการเงินอีกจำนวนมาก) ว่าทักษิณน่าจะทำผิดตามกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ. ป.ป.ง. และ ป.ป.ช. ที่มีอยู่เิดิม ซึ่งหลายความผิดเป็นเหตุให้อายัดได้ เช่น ข้อมูลมากมายบ่งชี้ว่า ทักษิณน่าจะ “ซุกหุ้น” ภาคสองแน่ๆ และกระบวนการซุกหุ้นที่ทักษิณใช้ ก็มีการทำนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงภาษี (เพราะใครจะอยากจ่ายภาษีถ้าไม่ได้ขายของให้ลูกจริงๆ แต่ “ฝาก” ของไว้เฉยๆ?) และส่่อให้เห็นว่าน่าจะมีส่วนหนึ่ง (อย่างน้อยก็ที่อยู่ในบริษัท Win Mark) เป็น “เงินสกปรก” ที่ได้จากการเก็งกำไรค่าเงินบาทตั้งแต่สมัยวิกฤติเศรษฐกิจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ คตส. ไม่สั่งอายัดตั้งแต่แรก อาจเป็นเพราะมองว่าข้อมูลสาธารณะอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่คำพิพากษาในชั้นศาล ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาหลายเดือนในการสืบพยานและรวบรวมหลักฐานต่างๆ ให้แน่นหนาก่อน (อ่านรายละเอียดเรื่องซุกหุ้นได้ในหนังสือ 25 คำถาม และ SHIN [กับเรื่อง] คาหนังคาเขา โดย ม้านอกและเด็กนอกกรอบ)
  2. ถ้ารัฐพิสูจน์ได้ว่าทักษิณยัง “ซุกหุ้น” ชินคอร์ปอยู่ ผ่านลูกๆ และญาติๆ ก็แปลว่ายังเป็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 49% ตลอดเวลาที่เป็นนายกฯ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายที่ห้ามนักการเมืองในอำนาจถือหุ้นเิกิน 5% แล้ว ก็ยังเป็นหลักฐานที่ส่อให้เห็นว่า เป็นผู้บงการพฤติกรรม “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” หลายกรณีที่ถูกกฎหมาย (เพราะออกเอง) แต่เือื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในเครืออย่าง “น่าเกลียด” และลำเอียงอย่างชัดเจน (เพราะคู่แข่งคนอื่นๆ ไม่ได้ประโยชน์ด้วย) ทำให้ชินคอร์ปทำกำไรมากกว่ากำไรที่เกิดจากการทำธุรกิจตามปกติ ทำให้มูลค่ากิจการสูงเกินควร ซึ่งต่อมาก็ทำให้ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปไปได้ในราคาสูงเกินเหตุไปมาก ตัวอย่าง “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ที่น่าเกลียดมากๆ เช่น การแก้สัญญาสัมปทานเพื่อลดส่วนแบ่งรายได้ของบัตรพรีเพด (บัตรเติมเงิน) ของเอไอเอส จาก 25% และ 30% เหลือ 20% ทั้งๆ ที่เอไอเอสไม่ได้ประสบปัญหาทางการเงินจนรัฐควรแก้สัญญาช่วย หากเป็นผู้ครองตลาดที่มีส่วนแบ่งกว่า 60% และทำกำไรสูงกว่าบริษัทอื่นๆ มากมาย, การให้ BOI ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับดาวเทียมไอพีสตาร์ของบริษัทชินแซทเป็นเวลา 8 ปี ทั้งๆ ที่ดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียม broadband ดวงแรกของโลกที่มีศักยภาพสูงกว่าคู่แข่งอื่นๆ มากมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้รัฐ “ส่งเสริมการลงทุน” แถมดาวเทียมดวงนี้ก็ประกอบขึ้นในต่างประเทศ ไม่ใช่ลงทุนในท้องถิ่นทุรกันดารของไทยซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติของสิทธิประโยชน์สูงสุดที่ BOI จะให้ได้ และชินแซทได้รับในกรณีนี้ อ่านรายละเอียดคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่โยงกับบริษัทในเครือชินคอร์ปได้ในรายงานเรื่อง ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ โดยอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
  3. ดังนั้นจะเห็นว่า ลำพังข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะก็ ‘น่าเชื่อถือ’ เพียงพอแล้วที่จะทำการอายัดทรัพย์ภายใต้กฎหมายเดิม ฉะนั้นถึงแม้จะไม่มี คตส. ป.ป.ง. ก็สามารถสั่งอายัดตามมาตรา 48 ในกฎหมาย ป.ป.ง. ด้วยเหตุผลเชื่อได้ว่าทักษิณทำผิดฐานฟอกเงิน หากหาหลักฐานเรื่องเงินสกปรกจากการเก็งกำไรค่าเงินได้ แต่ถึงหาหลักฐานไม่ได้ ป.ป.ช. ก็สามารถสั่งอายัดตามมาตรา 78 ในกฎหมาย ป.ป.ช. ด้วยเหตุผลเชื่อได้ว่าทักษิณทำผิดฐานร่ำรวยผิดปกติได้
  4. ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเหตุใด คตส. จึงต้องอ้างคดีกล้ายาง ซีทีเอ็กซ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นพฤติกรรมทุจริตของอดีตรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ใช่ทักษิณ ในแถลงการณ์เหตุผลที่สั่งอายัดในครั้งนี้ด้วย แต่การที่ คตส. อ้างถึงคดีเหล่านี้ ก็อาจหมายความว่า คตส. ได้ตรวจพบหลักฐานว่าทักษิณได้รับประโยชน์จากกรณีทุจริตเหล่านี้ ต้องรอดูกันต่อไป
  5. นอกจากนี้ ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลทุกข้อที่ คตส. ใช้ในการกล่าวหาว่าทักษิณ ‘เอื้อประโยชน์โดยมิชอบ’ ให้กับชินคอร์ป (หรือที่เรียกว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย) เช่น กรณีการเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม ชัดเจนว่าเอไอเอสไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ‘เพิ่มขึ้น’ เพราะยังจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐเท่าเดิม เพียงแต่แบ่งส่วนหนึ่งไปจ่ายให้กับกระทรวงการคลัง แทนที่จะเป็นทีโอทีเท่านั้น หากจะมี ‘ความผิด’ ในกรณีนี้ ก็เป็นความผิดในข้อหาบิดเบือนการแข่งขันให้ไม่เป็นธรรม (เช่น ลิดรอนความสามารถในการแข่งขันของทีโอที และผู้เล่นรายใหม่ๆ ดังที่อาจารย์สมเกียรติเขียนอธิบายในรายงานข้างต้น) แต่ไม่ใช่ความผิดที่ทำให้รัฐ ‘เสียประโยชน์’ ผู้เขียนคิดว่าแทนที่จะใช้กรณีนี้เป็นหนึ่งในเหตุผล มีเคสอื่นๆ ที่เป็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่ชัดเจน (ว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์และชินคอร์ปได้ประโยชน์) และน่าเกลียดกว่ากันเยอะ ที่ คตส. น่าจะใช้ในการฟ้องร้อง เช่นเรื่องที่ BOI ยกเว้นภาษีให้กับไอพีสตาร์ ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น
  6. การอายัดทรัพย์ไม่ใช่การยึดทรัพย์ เป็นเพียงการ ‘แช่แข็ง’ ทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการทุจริตไว้ชั่วคราว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมสำนวนเพื่อฟ้องศาลต่อไป หากทักษิณและภรรยาได้เงิน 50,000 กว่าล้านบาทที่ถูกอายัดไว้มาอย่างสุจริตจริงๆ ก็สามารถนำหลักฐานไปยืนยันต่อ คตส. ได้เลย (ตามกฎต้องภายใน 60 วัน) เพื่อขอยกเลิกการอายัดได้ แทนที่จะให้ทนายออกมากล่าวอ้างรายวันว่าจะสู้คดีจนถึงที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ในเมื่อเงินที่ถูกอายัดนั้นเกี่ยวโยงกับหลายคดีที่มีความซับซ้อนพอสมควร การ “แสดงความสุจริต” ของทักษิณ (ถ้าทำจริงๆ) จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการทำงานของ คตส. เพราะจะช่วยผลักดันให้เรื่องเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการศาลได้เร็วขึ้นอีก
  7. ถึงแม้ คตส. จะบอกว่าคำสั่งอายัดทรัพย์ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็เชื่อได้ยากเพราะช่วงเวลามัน ‘ประจวบเหมาะ’ กันเหลือเกิน (กลุ่มพีทีวีเพิ่งประกาศขีดเส้นตายให้ คมช. ลาออกภายใน 7 วัน ไปเมื่อสองวันก่อน คตส. จะออกคำสั่ง) แต่ถึงจะ ‘อิง’ กับกระแสการเมืองเพียงใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำสั่งนี้มีความชอบธรรม ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น.