เมื่อสองวันก่อนเพื่อนสองคนอุตส่าห์ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่มาให้ตามที่ฝากซื้อ เพราะผู้เขียนใช้มือถือเครื่องเก่าแบบไม่บันยะบันยังจนตัวอักษรหลายตัวลอกเลือนไปจากแป้น ตัวเครื่องมีรอยขีดข่วนเต็มไปหมด เวลาคุยจะสายหลุดเป็นระยะๆ (อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาของเครื่องหรือเปล่า) ล็อคแป้นใช้การไม่ได้ ส่ง SMS ที่มีแต่ความว่างเปล่าไปหาผู้คนทุกสัปดาห์โดยอัตโนมัติ (ผู้เขียนก็ชอบดีแทคมากอยู่ แต่ไม่ได้มากขนาดจะอยากแถมรายได้ให้เดือนละยี่สิบกว่าบาท) มิหนำซ้ำชื่อยี่ห้อ Sony Ericsson บนหัวเครื่องก็หายไปหมดจนไม่รู้แล้วว่ายี่ห้ออะไร (ที่จริง ก่อนที่ตัวอักษรจะหายหมด มันหายไปเหลือ –ny Ericss– ก็เลยเอามือขูด ny กับ ss ออก เพื่อจะได้เรียกโทรศัพท์ตัวเองเป็นชื่อฝรั่งว่า “Eric” ทำเอาคนรอบข้างหมั่นไส้ไปหลายวัน)
จริงๆ ไม่เคยคิดอยากจะเปลี่ยนโทรศัพท์ เพราะคิดว่ามันยัง “ใช้ได้” อยู่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาพกะรุ่งกะริ่งมาก แต่เห็นใจเพื่อนๆ ที่ต้องทนรำคาญกับ SMS ว่างเปล่าของผู้เขียนอยู่เรื่อย เลยบอกเพื่อนที่อุตส่าห์จะซื้อให้ว่า ขอเป็น Sony Ericsson (เพราะคุ้นกับหน้าตา ฯลฯ แล้ว) รุ่นไหนก็ได้ที่แพงไม่เกิน 2,000 บาท เพราะไม่ค่อยใช้ฟังก์ชั่นใหม่ๆ ของมือถือ กล้องก็ไม่ได้ใช้ แถมเจ้าเครื่องที่คนอื่นว่าพังแต่ผู้เขียนว่าใช้ได้นี้ก็ซื้อมาในราคาโปรโมชั่น 3,900 บาทเมื่อสองปีก่อน ตอนนี้น่าจะถูกกว่าเดิมเยอะแล้ว
เพื่อนก็เลยไปซื้อ Sony Ericsson รุ่น J210i มาให้ ราคา 1,990 บาท ใช้ง่าย ไม่เกินงบ แถมมีหูฟังพ่วงไมโครโฟนให้ด้วยหนึ่งอัน ฟังวิทยุได้ และกระจายสระภาษาไทยไปไว้ตามแป้น 1-9 (แทนที่จะกระจุกอยู่บนสามปุ่มสุดท้ายบนแป้น อย่างที่รุ่นก่อนเป็น ทำให้ส่ง SMS ภาษาไทยได้เร็วกว่าเดิมมาก) รวมเป็นประโยชน์สามอย่างที่โทรศัพท์อันเก่าไม่เคยมี เลยบอกเพื่อนไปว่า “ชอบ” หลังจากขอบคุณที่ซื้อมาให้
มือถือเครื่องนี้ “ดูดี” ไม่น้อยเมื่อเทียบกับราคา เจ้านายที่ทำงานถึงกับทายว่าราคา 8,000 บาท แต่ันั่นคงเป็นเพราะเขาคิดไม่ถึงว่าจะมีมือถือรุ่นไหนถูกขนาดนี้
เมื่อลองเอามือถือใหม่มาเทียบกับมือถือเก่าที่เคยใช้สองเครื่องก่อนหน้านี้ ก็รู้สึกฉงน แปลกใจ และดีใจไม่น้อยว่า พฤติกรรมการเปลี่ยนมือถือของเรา ช่างเหมือนกันกับพฤติกรรมการเปลี่ยนงานเสียนี่กระไร
มือถือ 3 เครื่องของผู้เขียนที่เปลี่ยนในช่วงเวลา 4 ปีครึ่งที่ผ่านมาหน้าตาเป็นแบบนี้ เรียงจากเก่าไปหาใหม่ (คลิ้กที่รูปเพื่ออ่านสเป็คของเครื่อง):
ถ้ามองอย่างผิวเผิน จะเห็นว่ามือถือสามเครื่องที่ผู้เขียนเลือกใช้นั้น “แย่ลง” ตามลำดับ เช่น จอภาพเล็กลง ถ่ายรูปไม่ได้ บันทึกเบอร์โทรศัพท์ได้น้อยลง ใส่เพลง MP3 ได้น้อยลง ฯลฯ
เมื่อสองวันก่อนเพื่อนสองคนอุตส่าห์ไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่มาให้ตามที่ฝากซื้อ เพราะผู้เขียนใช้มือถือเครื่องเก่าแบบไม่บันยะบันยังจนตัวอักษรหลายตัวลอกเลือนไปจากแป้น ตัวเครื่องมีรอยขีดข่วนเต็มไปหมด เวลาคุยจะสายหลุดเป็นระยะๆ (อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาของเครื่องหรือเปล่า) ล็อคแป้นใช้การไม่ได้ ส่ง SMS ที่มีแต่ความว่างเปล่าไปหาผู้คนทุกสัปดาห์โดยอัตโนมัติ (ผู้เขียนก็ชอบดีแทคมากอยู่ แต่ไม่ได้มากขนาดจะอยากแถมรายได้ให้เดือนละยี่สิบกว่าบาท) มิหนำซ้ำชื่อยี่ห้อ Sony Ericsson บนหัวเครื่องก็หายไปหมดจนไม่รู้แล้วว่ายี่ห้ออะไร (ที่จริง ก่อนที่ตัวอักษรจะหายหมด มันหายไปเหลือ –ny Ericss– ก็เลยเอามือขูด ny กับ ss ออก เพื่อจะได้เรียกโทรศัพท์ตัวเองเป็นชื่อฝรั่งว่า “Eric” ทำเอาคนรอบข้างหมั่นไส้ไปหลายวัน)
จริงๆ ไม่เคยคิดอยากจะเปลี่ยนโทรศัพท์ เพราะคิดว่ามันยัง “ใช้ได้” อยู่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาพกะรุ่งกะริ่งมาก แต่เห็นใจเพื่อนๆ ที่ต้องทนรำคาญกับ SMS ว่างเปล่าของผู้เขียนอยู่เรื่อย เลยบอกเพื่อนที่อุตส่าห์จะซื้อให้ว่า ขอเป็น Sony Ericsson (เพราะคุ้นกับหน้าตา ฯลฯ แล้ว) รุ่นไหนก็ได้ที่แพงไม่เกิน 2,000 บาท เพราะไม่ค่อยใช้ฟังก์ชั่นใหม่ๆ ของมือถือ กล้องก็ไม่ได้ใช้ แถมเจ้าเครื่องที่คนอื่นว่าพังแต่ผู้เขียนว่าใช้ได้นี้ก็ซื้อมาในราคาโปรโมชั่น 3,900 บาทเมื่อสองปีก่อน ตอนนี้น่าจะถูกกว่าเดิมเยอะแล้ว
เพื่อนก็เลยไปซื้อ Sony Ericsson รุ่น J210i มาให้ ราคา 1,990 บาท ใช้ง่าย ไม่เกินงบ แถมมีหูฟังพ่วงไมโครโฟนให้ด้วยหนึ่งอัน ฟังวิทยุได้ และกระจายสระภาษาไทยไปไว้ตามแป้น 1-9 (แทนที่จะกระจุกอยู่บนสามปุ่มสุดท้ายบนแป้น อย่างที่รุ่นก่อนเป็น ทำให้ส่ง SMS ภาษาไทยได้เร็วกว่าเดิมมาก) รวมเป็นประโยชน์สามอย่างที่โทรศัพท์อันเก่าไม่เคยมี เลยบอกเพื่อนไปว่า “ชอบ” หลังจากขอบคุณที่ซื้อมาให้
มือถือเครื่องนี้ “ดูดี” ไม่น้อยเมื่อเทียบกับราคา เจ้านายที่ทำงานถึงกับทายว่าราคา 8,000 บาท แต่ันั่นคงเป็นเพราะเขาคิดไม่ถึงว่าจะมีมือถือรุ่นไหนถูกขนาดนี้
เมื่อลองเอามือถือใหม่มาเทียบกับมือถือเก่าที่เคยใช้สองเครื่องก่อนหน้านี้ ก็รู้สึกฉงน แปลกใจ และดีใจไม่น้อยว่า พฤติกรรมการเปลี่ยนมือถือของเรา ช่างเหมือนกันกับพฤติกรรมการเปลี่ยนงานเสียนี่กระไร
มือถือ 3 เครื่องของผู้เขียนที่เปลี่ยนในช่วงเวลา 4 ปีครึ่งที่ผ่านมาหน้าตาเป็นแบบนี้ เรียงจากเก่าไปหาใหม่ (คลิ้กที่รูปเพื่ออ่านสเป็คของเครื่อง):
ถ้ามองอย่างผิวเผิน จะเห็นว่ามือถือสามเครื่องที่ผู้เขียนเลือกใช้นั้น “แย่ลง” ตามลำดับ เช่น จอภาพเล็กลง ถ่ายรูปไม่ได้ บันทึกเบอร์โทรศัพท์ได้น้อยลง ใส่เพลง MP3 ได้น้อยลง ฯลฯ
แต่เมื่อเปรียบเทียบ “ข้อด้อย” เหล่านี้กับนิสัยการใช้มือถือของที่ผ่านมา ผู้เขียนก็ระลึกได้ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ “ข้อด้อย” สำหรับผู้เขียน เพราะไม่เคยใช้มัน เช่น –
จอเล็กลง – ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะตัวหนังสือก็มองเห็นชัดดี ไม่เคยใช้มือถือถ่ายรูป ดูรูป ฯลฯ อยู่แล้ว จอใหญ่เท่าไหร่จึงไม่จำเป็น ขอให้เห็นชัดเป็นพอ
ถ่ายรูปไม่ได้ – นี่ก็เรื่องเล็กน้อย เพราะเครื่องเก่าก็ไม่เคยใช้ถ่ายรูปอยู่แล้ว (สาเหตุหนึ่งเพราะพกกล้องถ่ายรูปติดกระเป๋าไว้ตลอด) มีแต่ถ่ายเล่นๆ แล้วก็ลบทิ้งเท่านั้น
ฟังเพลง MP3 ไม่ได้ – ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่เคยใช้มือถือฟัง MP3 (ส่วนหนึ่งเพราะพก iPod Photo ติดกระเป๋าอีกเช่นกัน)
บันทึกเบอร์ได้ “แค่” 200 เลขหมาย – ก็ไม่ใช่ปัญหาอีก เพราะไม่เคยคิดว่าจะอยากโทรไปหาใครมากกว่า 200 คน และไม่ว่าจะมีกี่เบอร์ เวลาคุยก็คุยได้แค่ทีละคนอยู่ดี
ถ้าใครอยากคุยด้วยจริงๆ ก็คงจะขวนขวายโทรมาหาเอง
ผู้เขียนเพิ่งมารู้ว่ามือถือที่เพื่อนซื้อให้เครื่องนี้บันทึกเบอร์ได้น้อยกว่าเครื่องก่อนๆ (200 เทียบกับ 500) ก็ตอนที่พยายามก็อปปี้เบอร์เก่าๆ จาก SIM ใส่ลงเครื่องใหม่ แล้วมันบ่นว่า memory full แต่นั่นก็ทำให้ผู้เขียนมานั่งไล่เรียงรายชื่อใน address book ดู เพื่อลบบางรายการทิ้ง มาไล่ดูแล้วก็พบว่า มีชื่อของคนไม่รู้จักอยู่กว่า 50-60 ชื่อ หลังจากที่ลบชื่อเหล่านี้ไปหมดแล้วก็สามารถก็อปปี้ SIM ได้
ชื่อของคนที่ถูกลบไป คงเป็นคนที่ผู้เขียน “เคยรู้จัก” ในอดีต เนื่องจากมีเรื่องต้องติดต่อกัน อาจจะเป็นพนักงานของบริษัทที่เคยเป็นลูกค้า เจ้าของรถที่ถูกผู้เขียนเฉี่ยว ลูกของเพื่อนแม่ที่ผู้ใหญ่อยากให้รู้จักกันแต่ไม่เคยโทรหากัน (อีกฝ่ายเขาก็อาจเคยมีเบอร์มือถือของผู้เขียน แล้วก็ลบทิ้งเหมือนกัน) ฯลฯ
รู้จักกันเพียงผิวเผิน เรื่องจบก็ลืม ผ่านพบไม่ผูกพันเหมือนคนส่วนใหญ่ที่เวียนวนเข้ามาในชีวิต ไม่มีเหตุอันใดที่จะเก็บเบอร์โทรศัพท์ไว้ ในเมื่อจะนึกหน้าก็ยังนึกไม่ออก
ถ้ามือถือเครื่องนี้จุได้เท่ากับเครื่องก่อน ก็คงไม่มีวันระลึกได้ว่ามีเบอร์ “คนไม่รู้จัก” เยอะขนาดนี้ ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้เขียน ไม่ใช่โทษ
เช็คอีเมล์ไม่ได้ เข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้ – ฟังก์ชั่นนี้ยิ่งไม่จำเป็นใหญ่ เพราะผู้เขียนพกคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คคู่ใจตลอดเวลาอยู่แล้ว ตามประสา geek ที่ภูมิใจในความเป็น geek
ในเมื่อสิ่งที่คนอื่นอาจมองว่าด้อยกว่าเดิมไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้เขียน ที่บอกเพื่อนไปว่า “ชอบ” จึงมิใช่คำกล่าวเกินเลย หรือเป็นคำพูดกลบเกลื่อนเพื่อไม่ให้เสียใจ (เพราะพูดแบบนั้นไม่ค่อยเป็น)
ไม่ได้ชอบมือถือเครื่องนี้เพราะมัน “ใหม่ล่าสุด” หรือ “มีฟังก์ชั่นเท่ๆ เยอะ” แต่ชอบเพราะมัน “เหมาะสม” กำลังดีสำหรับคนซุ่มซ่ามอย่างผู้เขียนที่ใช้มือถือทำอยู่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น คือ 1) โทรหาคนอื่น (ไม่เกิน 200 คน) และให้คนอื่นโทรหา, 2) ส่ง SMS, 3) ดูเวลา (เพราะเลิกใส่นาฬิกาข้อมือมาเป็นปีแล้ว), และ 4) บันทึกนัดต่างๆ พร้อมสัญญาณเตือน (มือถือเครื่องใหม่ตั้งได้แต่เวลาเตือน ในขณะที่เครื่องเก่าตั้งทั้งเวลานัดและเวลาเตือนแยกกันได้ แต่ผู้เขียนชอบตั้งเวลาเตือนไว้ 1 ชั่วโมงก่อนนัดทุกครั้ง ไม่ว่าจะนัดใครเวลาไหน “ข้อจำกัด” ข้อนี้จึงไม่เป็นปัญหาอีกเหมือนกัน)
เป็นมือถือที่ตรงต่อความต้องการแล้ว ไม่อยากได้ฟังก์ชั่นอะไรมากไปกว่านี้อีก ยกเว้นถ้ามันเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำก็คงดี เพราะเป็นสีเดียวกันกับสีผ้าในกระเป๋าสะพาย ทำให้ต้องใช้เวลาควานหา แต่นั่นก็อาจเป็นประโยชน์กับผู้เขียนในที่สุดเหมือนกัน เพราะจะกดดันให้ลงมือจัดกระเป๋าเสียที หลังจากที่ปล่อยให้รกเป็นรังหนูมานานนับปี
ในเมื่อไม่มีบริษัทไหนกล้ารับประกันมือถือตลอดชีวิต และไม่มีทางผลิตมือถือที่ตกเท่าไหร่ก็ไม่พัง ผู้เขียนก็รู้สึกมีความสุขดีกับเจ้า J210i
……
พฤติกรรมการเปลี่ยนมือถือของผู้เขียนเหมือนกับพฤติกรรมการเปลี่ยนงาน เพราะเป็นพฤติกรรมที่ “สวนทาง” กับค่านิยมของสังคมทั้งคู่
มือถือยี่ห้อ Sony Ericsson เครื่องแรกที่ผู้เขียนซื้อ คือรุ่น T610 (รูปซ้ายสุดด้านบน) ตอนที่ซื้อเครื่องนั้นเมื่อปี 2546 ผู้เขียนเป็นคนแรกๆ ในที่ทำงานที่ซื้อรุ่นนี้ หลังจากที่มันเพิ่งออกได้ไม่นาน ตอนนั้นรุ่นนี้เป็นหนึ่งในมือถือที่ว่ากันว่า “ดีที่สุด” และแพงที่สุดด้วย
จำได้ว่าซื้อมาในราคา 12,900 บาท คนขายโฆษณาว่านี่ลดให้ 10% แล้ว สัปดาห์แรกที่ซื้อ เพื่อนๆ ในที่ทำงานมาขอทดลองใช้กันใหญ่ แล้วหลังจากนั้นหลายคนก็ไปซื้อรุ่นเดียวกันเพราะติดใจ
ปีนั้นผู้เขียนยังทำงานอยู่ฝ่ายวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก รับเงินเดือนดีโบนัสสูงไม่ต่างจากเพื่อนร่วมวงการอีกหลายร้อยคน
มือถือเครื่องถัดมา (รูปกลาง) คือรุ่น K300i ซื้อในราคาโปรโมชั่นคือ 3,900 บาท เมื่อประมาณปลายปี 2548 รุ่นนี้มีฟังก์ชั่นใกล้เคียงกับ T610 ที่เคยใช้ แต่ราคาถูกกว่ากันมากเพราะตอนที่ซื้อเครื่องนี้ ก็มีมือถืออื่นๆ อีกนับร้อยรุ่นที่มีฟังก์ชั่นเยอะกว่า จอคมชัดกว่า memory จุได้มากกว่า ฯลฯ และดังนั้นจึงมีราคาแพงกว่า
เทคโนโลยีไอทีเปลี่ยนเร็ว ทำให้สินค้าไอที “ตกรุ่น” เร็วเสียจนหลักการจำง่ายที่ใช้ได้กับสินค้าไอทีแทบทุกประเภทคือ เงินจำนวนเดียวกันสามารถซื้อของรุ่นใหม่ที่ “ดีกว่าเก่า” ได้ทุกๆ ครึ่งปี เดี๋ยวนี้อาจน้อยกว่านั้นแล้ว
ไม่กี่เดือนหลังจากที่ผู้เขียนซื้อมือถือ K300i ก็ลาออกมา “เตะฝุ่น” เล่นอยู่สิบเดือน ก่อนที่จะมาอยู่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่เล็กกว่าเดิม ได้เงินเดือนก็น้อยกว่าเดิม แต่มีความสุขมากกว่าเดิมเพราะมีเวลาเขียนหนังสือมากขึ้น มีเจ้านายใจดี และลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทตรงไปตรงมาที่ต้องการคำปรึกษาจริงๆ ไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่เคยตัวที่ชอบหลอกใช้ฟรีๆ หรือไม่ก็เป็นบริษัทของนักการเมืองหรือนักธุรกิจขี้โกงที่ชอบจ้างนักการเงินให้ช่วยคิดวิธีพลิกแพลงใหม่ๆ ไปหลอกรัฐบาล หนีภาษี หรือต้มตุ๋นนักลงทุนรายย่อย
เมื่อถึงเวลาที่ต้องจาก K300i อย่างเสียดาย แต่คุ้มกับเสียงอนุโมทนาสาธุจากเพื่อนๆ ก็ได้เจ้า J210i มาแทน ในสนนราคาที่ถูกกว่าเครื่องเก่าอีกสองเท่า ฟังก์ชั่นหลายอันหายไป แต่ไม่เป็นปัญหาเพราะไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่นพวกนั้นอยู่แล้ว
จะเดือดร้อนไปทำไม ในเมื่อของที่ “น้อยกว่า” หรือ “ถูกกว่า” ไม่ได้แปลว่า “ด้อยกว่า” เสมอไป
ข้าวของเครื่องใช้รุ่นใหม่อาจไม่ได้ “ดีกว่า” ของเก่าเพราะมันทำอะไรๆ ได้ “มากกว่า” แต่เป็นเพราะมัน “เหมาะสม” กับเรามากกว่า
แต่ก่อนที่เราจะรู้ว่าสิ่งใด “เหมาะสม” กับเรา เราก็ควรจะ “รู้จัก” ตัวเองให้ดีก่อน โดยเฉพาะสันดานที่ไม่มีทางปรับปรุงให้ “ดีขึ้น” ได้ ไม่อย่างนั้น สิ่งที่เราคิดว่า “เหมาะสม” ดีแล้ว อาจ “ดีเกิน” ศักยภาพของเรา ทำให้เกิดความเครียดหรือสูญเสียความมั่นใจโดยใช่เหตุ
นั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไม “เทคโนโลยีเหมาะสม” อาจยั่งยืนกว่า และทำให้ผู้ใช้มีความสุขมากกว่า “เทคโนโลยีล่าสุด” ที่ไม่เหมาะสมกับผู้ใช้
ในเมื่อมีเจ้าของมือถือมีรายได้น้อยลง ก็สมควรแล้วที่มือถือใหม่จะมีราคาถูกกว่าเครื่องเดิม
แต่ในเมื่อเจ้าของคนเดียวกันมีความสุขมากขึ้นกับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเงิน สวนทางกับรายได้ที่ลดลง และเริ่มรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต ก็เหมาะสมแล้วที่มือถือใหม่จะ “ดีพอ” สำหรับความต้องการอันจำกัด แต่รู้แน่ชัดกว่าเดิม
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า อย่างนี้จะเรียก “ความพอเพียง” ได้หรือเปล่า
แต่ที่แน่ๆ คือ ในเร็ววันนี้จะลองฟังวิทยุจากมือถือดูสักครั้ง ระหว่างทางเดินเล่นดูเมฆในชนบทที่ไหนสักแห่ง
นิ้วกลม นักเขียนหนุ่มขวัญใจใครต่อใครหลายคน เคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งว่า “เมฆสวย ฟ้าใส แต่ถ้าไม่มองออกไป ก็ไม่เห็น”
ฟังแล้วคงได้เวลาไปขอบคุณเพื่อนอีกครั้ง ที่ซื้อมือถือที่ทำให้อยากออกไปมองเมฆสวยมากกว่าเดิม.