ระวังหลุมพรางของคำว่า “เป็นกลาง…” ในยามนี้

จากคอลัมน์ “กาแฟดำ” โดย สุทธิชัย หยุ่น นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2549:

คำว่า “เป็นกลาง” ในภาวะการเมืองสับสนขณะนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีจุดยืน, ไม่สนใจว่าความดีความเลวอยู่ตรงไหน, ไม่ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ด้วยกับฝ่ายใด

เพราะนั่นไม่เรียกว่า “เป็นกลาง”…เขาเรียกว่า “เหลาะแหละ” หรือ “เอาตัวรอด”

ใครเรียกร้องให้คุณ “เป็นกลาง” ในยามที่บ้านเมืองต้องการจะหาทางออกจากทางตันเช่นนี้ ต้องถามว่าเขาแปลคำว่า “เป็นกลาง” อย่างไร?

เพราะถ้าเขาบอกคุณว่าไม่ว่าทั้งสองฝ่ายหรือสามฝ่ายหรือสี่ฝ่ายในการเผชิญหน้าจะมีจุดยืนอย่างไร คุณก็ไม่สนใจ และไม่ถามไถ่ให้แน่ใจว่าแต่ละฝ่ายเขามีแนวคิดและเหตุผลอย่างไร คุณก็เป็นพลเมืองที่ไม่รับผิดชอบ เพราะคุณไม่กล้าตัดสินใจ, ไม่กล้าวิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียดรอบคอบ และไม่กล้าตั้งคำถามตรงๆ ไปยังผู้คนที่เกี่ยวข้อง

“ความเป็นกลาง” อย่างนี้คือการยอมรับสภาพว่านี่คือความวุ่นวายสับสนที่คุณไม่ต้องการจะทำความเข้าใจ

“ความเป็นกลาง” เช่นนี้คือลักษณะของคนเบื่อง่าย, ต้องการให้มีสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติมาแก้ไขเพื่อตัวเองจะได้ “กลับไปสู่ภาวะปกติอย่างเดิม” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ไป, การเมืองไทยจะ “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไปแล้ว


จากคอลัมน์ “กาแฟดำ” โดย สุทธิชัย หยุ่น นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2549:

คำว่า “เป็นกลาง” ในภาวะการเมืองสับสนขณะนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีจุดยืน, ไม่สนใจว่าความดีความเลวอยู่ตรงไหน, ไม่ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ด้วยกับฝ่ายใด

เพราะนั่นไม่เรียกว่า “เป็นกลาง”…เขาเรียกว่า “เหลาะแหละ” หรือ “เอาตัวรอด”

ใครเรียกร้องให้คุณ “เป็นกลาง” ในยามที่บ้านเมืองต้องการจะหาทางออกจากทางตันเช่นนี้ ต้องถามว่าเขาแปลคำว่า “เป็นกลาง” อย่างไร?

เพราะถ้าเขาบอกคุณว่าไม่ว่าทั้งสองฝ่ายหรือสามฝ่ายหรือสี่ฝ่ายในการเผชิญหน้าจะมีจุดยืนอย่างไร คุณก็ไม่สนใจ และไม่ถามไถ่ให้แน่ใจว่าแต่ละฝ่ายเขามีแนวคิดและเหตุผลอย่างไร คุณก็เป็นพลเมืองที่ไม่รับผิดชอบ เพราะคุณไม่กล้าตัดสินใจ, ไม่กล้าวิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียดรอบคอบ และไม่กล้าตั้งคำถามตรงๆ ไปยังผู้คนที่เกี่ยวข้อง

“ความเป็นกลาง” อย่างนี้คือการยอมรับสภาพว่านี่คือความวุ่นวายสับสนที่คุณไม่ต้องการจะทำความเข้าใจ

“ความเป็นกลาง” เช่นนี้คือลักษณะของคนเบื่อง่าย, ต้องการให้มีสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติมาแก้ไขเพื่อตัวเองจะได้ “กลับไปสู่ภาวะปกติอย่างเดิม” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ไป, การเมืองไทยจะ “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไปแล้ว

บางคนตีความผิด, อ้างว่า “ความเป็นกลาง” กับการ “เดินสายกลาง” ของชาวพุทธเป็นเรื่องเดียวกัน

ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ “ทางสายกลาง” ของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้หมายถึงการไม่มีจุดยืนในชีวิต, ไม่ได้หมายถึงการอยู่ด้วยความกลัว, และไม่ได้หมายถึงการให้ตัวเองยอมยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความชั่วเป็นอันขาด

เนื้อแท้ๆ ของคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นบอกเราว่าเมื่อมีทุกข์, ต้องแสวงหาสาเหตุแห่งทุกข์ และต้องแก้ที่ต้นเหตุนั้นๆ นั่นคือจะต้องไม่หนีปัญหา, ต้องวิเคราะห์ทุกด้านของปัญหาอย่างลึกซึ้ง และทางออกของปัญหาที่ใคร่ครวญอย่างลุ่มลึกและกล้าหาญแล้วต้องไม่สุดขั้วไปทางใดทางหนึ่ง

คำสอนว่าด้วย “ทางสายกลาง” ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นการเดินหน้าอย่างคึกคัก และแสวงหาทางออกอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เป็นลักษณะของการหลบหนีความจริง ทางออกจะเป็นอย่างไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือหลักการแต่อย่างไรทั้งสิ้น

ฟังให้ดี, วิเคราะห์ให้ลึกจะเห็นว่าที่ทางทหารและตำรวจประกาศ “เป็นกลาง” ในการทำหน้าที่ขณะนี้เป็นการแสดง “จุดยืน” ที่มีความหมายยิ่ง เพราะเป็นจุดยืนที่อยู่ข้างประชาชน และแม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำชัดแจ้ง แต่ก็เป็นการบอกกล่าวไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ว่าหากออกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีเหตุผล, ทหาร และตำรวจ จะสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาไม่ปฏิบัติตาม

ดังนั้น คำว่า “ความเป็นกลาง” ที่ผู้นำเหล่าทัพประกาศออกมาในช่วงนี้ เป็นการเลือกอยู่ข้างความถูกต้องชอบธรรม ไม่ค้ำบัลลังก์ของทักษิณ และไม่ยอมเป็นเครื่องมือเพื่ออุ้มทักษิณ และพวกอยู่ในอำนาจ

และเพราะจุดยืน “เป็นกลาง” ของผู้นำเหล่าทัพและตำรวจครั้งนี้ ประชาชนอย่างเราย่อมจะสรุปได้ว่าหากต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของประชาชน กับผลประโยชน์ของทักษิณ, ท่านเหล่านั้นจะเลือกอยู่ข้างไหน

ดังนั้น, ใครมาบอกว่าขอให้คุณ “เป็นกลาง” ในยามนี้, ต้องนั่งลงคุยกันให้ละเอียดรอบคอบ และเข้าถึงซึ่งปัญหาอย่างจริงจัง

เพราะถ้าเรา “เป็นกลาง” ได้ระหว่างความถูกต้องชอบธรรมกับความไร้จริยธรรม บ้านเมืองก็ถึงแก่หายนะได้อย่างแน่นอน

…..

ขอขยายความ และติติงบทความนิดหน่อย

คนที่ไปชุมนุมหน้าทำเนียบฯ หลายคน (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ไม่ได้ไปเพราะอยาก “สนับสนุน” ข้อเสนอหรือ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” (ที่อาจยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ) ของ สนธิ ลิ้มทองกุล พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือแกนนำคนอื่นๆ เป็นหลัก หากไปเพราะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มพันธมิตรฯ คือใ้ห้นายกฯ ลาออก เป็นหลัก

การชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ไม่ได้แปลว่าผู้ชุมนุม “ยอมรับ” พรรคฝ่ายค้าน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้ขึ้นมากุมอำนาจแทนโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น นัยยะของ “ความดี” และ “ความชั่ว” ในบทความของคุณสุทธิชัย จึงไม่ได้หมายถึง “กลุ่มพันธมิตรฯ” และ “นายกฯ ทักษิณ”

คุณสิทธิชัยไม่ได้กำลังเสนอให้เราใช้วิจารณญาณตัดสินว่า ระหว่างนายกฯ กับแกนนำพันธมิตรฯ นั้น ใครเป็น “คนดี” กว่ากัน

หากเป็นการเรียกร้องให้ทุกคนชั่งน้ำหนัก ระหว่าง “ความดีของนายกฯ” และ “ความชั่วของนายกฯ” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเืท็จจริง ความชอบธรรม ประโยชน์ส่วนรวม และคุณธรรม เป็นหลัก ไม่ใช่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตัว อารมณ์ และกระแส เป็นหลัก

ถ้าดูแล้วตาชั่งเอียงไปข้างความดีมากกว่า ก็ควรออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนนายกฯ ไม่ว่าจะด้วยการพูดคุยกับคนรอบข้าง ส่งไปรษณียบัตรสนับสนุน ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้สนับสนุนนายกฯ ที่ตลาดนัดจตุจักร ไปกาเลือกพรรคไทยรักไทยในวันที่ 2 เมษายน ฯลฯ

ถ้าดูแล้วตาชั่งเอียงไปข้างความชั่วมากกว่า ก็ควรตรึกตรองดูก่อนว่า เราควรใช้ “วิธีการ” ใด หรือหลายๆ วิธีรวมกัน ในการผลักดันให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง (ไม่ว่าจะด้วยการไปชุมนุมเรียกร้องให้ลาออกร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ไปกาช่องไม่เลือกในวันเลือกตั้ง ลงชื่อถอดถอน สนับสนุนให้ใช้มาตรา 7 ฯลฯ) แล้วก็ออกมาแสดงจุดยืนว่า ไม่สนับสนุนนายกฯ พร้อมแสดงความเห็นเรื่องวิธีการด้วย

ไม่ใช่ใช้คำว่า “เป็นกลาง” เป็นข้ออ้างให้ตัวเองนิ่งดูดายเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่สนใจรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ยามบ้านเมืองถึง “ทางตัน” เช่น ณ เวลานี้.

แถมท้ายด้วยคำคมโปรดอีกสองประโยค:

The only thing necessary for the triumph of evil is for good people to do nothing.
(สิ่งเดียวที่จำเป็นต่อชัยชนะของอธรรมคือ เมื่อคนดีไม่ทำอะไร)
– Edmund Burke

To remain neutral in the face of injustice is to be on the side of oppression.
(การประกาศตนว่าเป็นกลางเมื่อเผชิญหน้ากับอยุติํธรรม คือการอยู่ข้างผู้กดขี่)
– Anonymous