ราคาของการเซ็นเซอร์

censorship.gif

ราคาของการเซ็นเซอร์ (CENSORSHIP)

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Price to Pay นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนกรกฎาคม 2014

 

ในยุคที่คนไทยแตกแยกแบ่งสีอย่างไม่เคยมีมาก่อน ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องเสรีภาพและความยุติธรรมก่อนสิ่งใด ขณะที่อีกฝ่ายเรียกร้องความรับผิดชอบและจริยธรรมก่อนสิ่งใดเช่นกัน

ในเมื่อต่างฝ่ายต่างให้น้ำหนักกับคุณค่าต่างๆ ไม่เท่ากัน โลกทัศน์และอุดมการณ์จึงแตกต่างกันโดยปริยาย แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ หลายคนเอาชุดความเชื่อของตัวเองไปตราหน้าคนอื่นว่า “ชั่ว” และเห็นดีเห็นงามกับการเซ็นเซอร์ – ปิดกั้นไม่ให้คนเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างที่รัฐมองว่าอันตราย เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือเป็นภัยต่อ “ศีลธรรมอันดีงาม”

ก่อให้เกิดคำถามว่า ถ้าหาก “ราคาของอิสรภาพคือความระแวดระวังชั่วนิรันดร์” ดังคำกล่าวของ เวนเดล ฟิลลิปส์ นักเคลื่อนไหวในขบวนการเลิกทาสชาวอเมริกันแล้วไซร้ ราคาของการเซ็นเซอร์คืออะไร?

การเซ็นเซอร์มีหลากหลายรูปแบบนับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะการเซ็นเซอร์โดยรัฐเท่านั้น ไม่ใช่การเลือกเซ็นเซอร์โดยปัจเจกเอง (เช่น พ่อแม่ซื้อโปรแกรมมาเซ็นเซอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เพราะไม่อยากให้ลูกเข้าเว็บโป๊) เพราะการเซ็นเซอร์โดยรัฐส่งผลต่อประชาชนทั้งชาติ และจะเน้นเฉพาะการเซ็นเซอร์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ในฐานะเวทีสื่อสารของประชาชนที่ทรงพลังสูงสุดในประวัติศาสตร์

ลองมาดู “ราคาทางตรง” ของการเซ็นเซอร์กันก่อน

ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตโดยตรง มีสามระดับ ได้แก่ ระดับรัฐ (กระทรวงไอซีที) ระดับผู้ให้บริการ (ไอเอสพี) และระดับตัวกลางอื่น เช่น ผู้ดูแลเว็บ ในปี 2011 มีรายงานข่าวว่ากระทรวงไอซีทีใช้เงินงบประมาณเกือบ 1.5 ล้านบาทต่อวันในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต[1] ส่วนในระดับผู้ให้บริการยังไม่เคยมีการเปิดเผยตัวเลขที่แน่นอน แต่ประสบการณ์จากต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย บ่งชี้ว่าผู้ให้บริการมีแนวโน้มสูงมากที่จะส่งต่อค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมายังผู้ใช้เน็ต ในรูปของการขึ้นค่าบริการ ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการปิดกั้นโดยตรง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการต้องคอยตอบการร้องเรียนของลูกค้าว่าเข้าถึงเนื้อหาไม่ได้[2]

ด้วยเหตุนี้ ราคาทางตรงของการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตนั้นถึงที่สุดแล้วจึงเป็นภาระของประชาชนคนใช้เน็ต ทั้งในฐานะผู้เสียภาษี (เงินงบประมาณของกระทรวงไอซีที) และในฐานะผู้บริโภค (ค่าใช้จ่ายที่เสียให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต)

แล้ว “ราคาทางอ้อม” ของการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตมีอะไรบ้าง?  

เราอาจแบ่งราคาทางอ้อมได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือราคาทางเศรษฐกิจ กับราคาทางสังคม

ราคาทางอ้อมทางเศรษฐกิจหลักๆ อยู่ในรูปของผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลง จากการลดลงของความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงผลลบในระยะยาวต่อนวัตกรรมและการลงทุนด้านเทคโนโลยี

ในเมื่อโครงสร้างสถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ตถูกออกแบบมาให้ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบจึงมองการปิดกั้นต่างๆ ว่าเป็น “ปฏิปักษ์” ที่ต้องก้าวข้าม ด้วยเหตุนี้ การปิดกั้นไม่ว่าจะทำในรูปแบบใดก็ตามล้วนส่งผลให้ความเร็วของการเชื่อมต่อลดลงสำหรับผู้ใช้ ทุกราย ที่เป็นลูกค้าของผู้ให้บริการที่ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต มิใช่ช้าลงแต่เฉพาะสำหรับผู้ใช้เน็ตที่ประสงค์จะดูเนื้อหาที่ถูกปิดกั้นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ราคาทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ ประกอบกับมาตรการติดตามสอดส่องอย่างเข้มข้นของรัฐซึ่งมักจะดำเนินควบคู่ไปกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต บั่นทอนแรงจูงใจของนักนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และนักลงทุนในการลงทุนใหม่ๆ มองว่า “ไม่คุ้ม” ที่จะลงทุนและพัฒนานวัตกรรม อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างด้าวไม่อยากเสี่ยงกับการเข้ามาลงทุนในประเทศที่รัฐปิดกั้นอย่างเข้มงวด หันไปมองหาทางเลือกใหม่ในประเทศอื่นที่มีเสรีภาพอินเทอร์เน็ตสูงกว่า

ประเด็นนี้มีผู้เสนออย่างกว้างขวาง อาทิ ในปี 2011 นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าการลิดรอนเสรีภาพอินเทอร์เน็ตคือการ “ตีกรอบจำกัดอนาคตทางเศรษฐกิจ” ของประเทศ เนื่องจาก “มีต้นทุนระยะยาวซึ่งวันหนึ่งจะกลายเป็นบ่วงจำกัดการเติบโตและการพัฒนา” และตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้การจำกัดเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตจะทำได้ง่าย แต่ก็ยากที่จะรักษาให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น เพราะในโลกออนไลน์นั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตทางเศรษฐกิจ  อินเตอร์เน็ตทางสังคม หรืออินเตอร์เน็ตทางการเมือง มีเพียงพื้นที่ขนาดมหึมาที่เรียกว่า “อินเตอร์เน็ต” อันเป็นพื้นที่ของทุกสิ่งทุกอย่างผสมปนเปกันเท่านั้น[3]

 

ราคาทางเศรษฐกิจของการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตว่าสูงแล้ว ราคาทางสังคมอาจสูงยิ่งกว่า

การเซ็นเซอร์เน็ตมีราคาทางสังคมที่เราต้องจ่าย เพราะการได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นที่หลากหลายคือหัวใจของการอภิปรายสาธารณะ และปัจจุบันไม่มีพื้นที่ใดที่จะมอบความหลากหลายนี้ได้มากกว่าโลกออนไลน์

ยิ่งปิดกั้นอินเทอร์เน็ต โอกาสและคุณภาพของการอภิปรายสาธารณะยิ่งถดถอย

ความกังวลที่รัฐมีต่อประเด็นที่อ่อนไหวอย่างสถาบันกษัตริย์หรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การปิดกั้นแทนที่จะจัดการกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา รังแต่จะขัดขวางพัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกันในสังคม การสรุปเอาเองว่าประชาชนจะถูก “หลอก” โดยข้อมูลเท็จหรือข้อมูลอื่นๆ จนรัฐต้องยื่นมือเข้ามาปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง เท่ากับการไม่เปิดโอกาสให้สังคมคิดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งขัดกับมโนทัศน์เรื่องภูมิคุ้มกันในสังคมที่เชื่อว่า ในสังคม หรือชุมชนหนึ่งๆมีความสามารถในการแก้ไขตนเองได้ (self-correct) ผ่านความพยายามร่วมกัน (collective effort) ของสมาชิกในชุมชน หรือสังคมนั้นๆ

มองอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่รัฐทำอาจไม่ใช่แค่การขัดขวางพัฒนาการเท่านั้น แต่ยังเป็นการพยายามทำลายระบบภูมิคุ้มกันในสังคมที่ว่านี้ทางอ้อม การที่รัฐพร้อมตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของผู้คนในประเด็นอ่อนไหว ในระยะยาวจะทำให้สมาชิกในสังคมคุ้นเคยกับการร้องหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ เมื่อไรก็ตามที่พวกเขารู้สึกไม่สบายใจกับ “เนื้อหาไม่เหมาะสม” ต่างๆ[4]

การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ปัญหาที่แท้จริงซึ่งควรจะนำมาอภิปรายถกเถียงกัน มีแต่จะถูกกวาดเข้าใต้พรมและปกปิดจากสายตา อีกทั้งยังมิได้เป็นหลักประกันใดๆ ว่าผู้กระทำผิด (ในกรณีที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน) จะถูกจับกุมตัว ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การปิดกั้นนอกจากแสดงให้เห็นถึงการไม่เชื่อถือในวิจารณญาณของประชาชนแล้ว ยังก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐว่า ใช้มาตรการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเพื่อคุ้มครองประชาชนหรือพัฒนาสังคม หรือเพื่อปกป้องอำนาจเก่าจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์กันแน่[5]

ราคาของการเซ็นเซอร์ไม่ใช่เรื่องนามธรรมหรืออยู่แต่ในทฤษฎีเท่านั้น แต่เป็นราคาจริงที่ผู้ใช้เน็ตและผู้ให้บริการต้องจ่ายแพงขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่เกิดกับเวยโป๋ โซเชียลมีเดียชื่อดังจากจีนซึ่งใกล้เคียงกับทวิตเตอร์ เป็นกรณีศึกษาเรื่องนี้ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

เวยโป๋เปิดตัวในปี 2009 และภายในเวลาไม่ถึง 4 ปีก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ต้นปี 2013 เวยโป๋มีผู้ใช้มากถึง 300 กว่าล้านคน หรือหนึ่งในสี่ของประชากรจีน ด้วยความที่ให้อิสระเสรีแก่ผู้ใช้ จะเข้ามาโพสในภาษาอะไรก็ได้  

แต่ความนิยมของเวยโป๋จากการมอบเสรีภาพให้กับผู้ใช้ ก็ทำให้ถูกรัฐบาลจีนคุกคามและยกภาระในการเซ็นเซอร์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2011 รัฐบาลสั่งให้ผู้ใช้ลงทะเบียนด้วยชื่อและนามสกุลจริงก่อนโพสบนเวยโป๋ ต่อมาปี 2012 รัฐบาลออกกฎ “ห้าครั้งออก” – ระงับการเข้าถึงถ้าหากผู้ใช้คนไหนโพสเกี่ยวกับประเด็น “อ่อนไหว” ทางการเมืองครบห้าครั้ง และในปี 2013 รัฐบาลจีนก็จับผู้ใช้เวยโป๋ที่ “เผยแพร่ข่าวลืออันเป็นเท็จ” ออนไลน์อย่างจริงจัง

เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ผู้ใช้เวยโป๋ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหลังจากที่รัฐบาลจีนออกกฎหมายใหม่ มีบทลงโทษขั้นจำคุกสำหรับใครก็ตามที่โพสข้อความซึ่ง “ไม่ถูกต้องเที่ยงตรง” และถูกกระจาย (รีโพส) ต่อกันมากกว่า 500 ครั้ง จำนวนผู้ใช้เวยโป๋รายเดือนก็ลดลงอีก 28 ล้านคน ส่งผลให้วันนี้มีผู้ใช้รายเดือนเพียง 129 ล้านคนเท่านั้น ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทวิตเตอร์

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าความนิยมของวีแชท (WeChat) คู่แข่งของเวยโป๋ เป็นปัจจัยหนึ่งที่อธิบายว่าเหตุใดเวยโป๋จึงได้รับความนิยมน้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการเซ็นเซอร์ต่างๆ ของภาครัฐส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่านั้นมาก

ทุกวันนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกยุค “เศรษฐกิจฐานความรู้” คือ บรรยากาศ “เปิด” และ “ความร่วมมือ” อันตั้งอยู่บนฐานของการไหลเวียนความคิดอย่างเสรี เพราะความคิดทุกความคิด ไม่ว่าใครจะมองว่าดีหรือเลว เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ล้วนแต่มีโอกาสจุดประกายให้เกิดการคิดต่อยอดและสร้างนวัตกรรมได้ทั้งสิ้น

ไม่นับว่าการมองเห็นและยอมรับความหลากหลายทางความคิด เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ของการสร้างฉันทามติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในสังคมสมัยใหม่

ถึงที่สุดแล้ว สังคมที่ยอมรับสนับสนุนการเซ็นเซอร์โดยรัฐ จึงเป็นสังคมที่ไม่รู้จักโต ไม่อยากโต และไม่สามารถนำประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนไหลเวียนของความคิด ไปพัฒนาให้เกิดสังคมประชาธิปไตย และเศรษฐกิจฐานความรู้ได้อย่างแท้จริง.

 


[1] “Cyber surveillance vulnerable to abuse,” The Nation, 19 ธันวาคม 2011. http://www.nationmultimedia.com/opinion/Cyber-surveillance-vulnerable-to-abuse-30172137.html

[2] “The Economic Cost of Internet Censorship in Australia,” The Inquisitr, 5 กุมภาพันธ์ 2009. http://www.inquisitr.com/17448/the-economic-cost-of-internet-censorship-in-australia/

[3] Gross, Grant. “Clinton says Internet censorship harmful to governments,” IT News, 15 กุมภาพันธ์ 2011. http://www.itnews.com/regulation/28621/clinton-says-internet-censorship-harmful-governments

[4] Tan, Tarn How. 2008. “Internet censorship and Its Impact on Society”. Seminar series, “INTERACTIONS”, LASALLE College of Arts, 5 พฤศจิกายน 2008. http://www.spp.nus.edu.sg/ips/docs/pub/sp_TH_Lasalle_051108.pdf

[5] Clark, J.R. and Lee, Dwight R., “Censoring and Destroying Information in the Information Age,” Cato Journal, Vol. 28, No. 3 (Fall 2008). http://www.cato.org/pubs/journal/cj28n3/cj28n3-3.pdf