ราคาของศีลธรรม

pricetopay-morality.jpg

ราคาของศีลธรรม

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “Price to Pay” นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมีนาคม 2557

(ภาพประกอบโดย wrongdesign)

นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เพราะถึงแม้เราจะได้บางสิ่งมาโดยไม่เสียเงิน เราก็จะต้องเสียอย่างอื่นแทน ไม่ว่าเวลา มันสมอง สุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต

ในบรรดาสิ่งที่มองเห็น “ราคา” ยากที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่เราคิดว่า “ดี” โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นความรัก สันติภาพ หรือแม้แต่ศีลธรรมก็ตาม

หลายคนอ่านแล้วคงนึกสงสัยว่า ศีลธรรมเป็นสิ่งดีงามมิใช่หรือ จะมี “ราคา” อะไรอีกเล่า?

ตอบอย่างพุทธก็ต้องบอกว่า การยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย ไม่ว่าจะในความดีหรือความเลว ล้วนแต่ไม่ดีทั้งนั้น ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุสรุปใน คู่มือมนุษย์ อย่างเรียบง่ายได้ใจความว่า

“แม้ที่สุด “ความดี” ที่ใครๆ บูชากัน ถ้าหากว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับความดีในอาการที่ผิดทาง และยึดถือมากเกินไป ก็จะได้รับความทุกข์จากความดีนั้นๆ เช่นเดียวกัน”

ตอบอย่างวิทยาศาสตร์ ศีลธรรมและจริยธรรมทั้งมวลมีราคา เพราะชุดคุณค่าที่เราเชื่อมั่น อาจขัดแย้งกับชุดคุณค่าที่คนอื่นเชื่อมั่นก็เป็นได้

พูดง่ายๆ คือ ศีลธรรมของเราและของเขาอาจ “ดี” ทั้งคู่ เพียงแต่คิดและเชื่อต่างกัน เมื่อใดก็ตามที่ความไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นจึงคิดไม่เหมือนเรา แปรเปลี่ยนเป็นความกลัวและความเกลียด มองอีกฝ่ายเป็น “อธรรม” ที่ต้อง “กำจัด” เมื่อนั้นประวัติศาสตร์โลกก็ได้จารึกเลือดอีกหนึ่งหน้า บันทึกบทตอนที่คนนับพันหมื่นแสนล้านต้องล้มตายในนามของศีลธรรม

แต่คนเรามายึดถือชุดศีลธรรมที่แตกต่างกันได้อย่างไร ทำไมบางคนถึงเป็นนักเสรีนิยม บางคนเป็นนักอนุรักษ์นิยม บางคนยึดถือคุณธรรมแบบจอมยุทธ บางคนเป็นนักเลง บางคนเชิดชูครอบครัวเหนืออื่นใด? หลายคนอาจตอบว่า น่าจะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ผสมกับสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ตอนโต แต่ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าความจริงซับซ้อนกว่านั้น ชี้ให้เราเห็น “ราคา” ของศีลธรรมได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

นักจิตวิทยาศีลธรรม (moral psychologists) พยายามตอบคำถามว่า สำนึกทางศีลธรรมของคนเรามาจากไหน ด้วยการค้นคว้าวิจัยทางจิตวิทยา โดยใช้ข้อค้นพบจากสาขาชีววิทยาวิวัฒนาการ ประสาทวิทยา มานุษยวิทยา และศาสตร์อื่นๆ มาผนวกรวมเข้าเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับศีลธรรมและจริยธรรมของมนุษย์

นักจิตวิทยาศีลธรรมค้นพบอะไรบ้าง? โจนาฮาน เฮดท์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาศีลธรรมชื่อดัง สรุปในหนังสือเรื่อง The Righteous Mind (จิตดี) ว่า สำนึกทางศีลธรรมของคนเราขึ้นรูปจากประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ พูดง่ายๆ คือ ธรรมชาติมอบ “ร่างแรก” ของพิมพ์เขียวสำนึกทางศีลธรรมให้กับเราตั้งแต่แรกเกิด หลังจากนั้นวัฒนธรรมและประสบการณ์ส่วนตัวก็ค่อยๆ หล่อหลอมสำนึกนั้นออกมาเป็นปัจเจกที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

เฮดท์ขยายความต่อไปว่า โดยพื้นฐานแล้วเราทุกคนคือกลอคอน (Glaucon) ตัวละครใน The Republic ของเพลโต ผู้เสนอว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้อยาก เป็น คนดี แต่เราอยาก ดูเหมือน คนดีเพื่อรักษาชื่อเสียงในชุมชน อยากให้คนอื่นมองเราดีมากกว่าร้าย เฮดท์ย้ำว่า “การคัดสรรแบบกลุ่ม” (group selection) สำคัญมาก ธรรมชาติมนุษย์ที่ผ่านมาปรับตัวในทางที่ส่งเสริมความสามัคคีกันในกลุ่มและความเข้มแข็งของกลุ่ม ไม่ใช่ความสำเร็จของปัจเจก รหัสพันธุกรรมของมนุษย์เราทุกวันนี้ไม่ได้ตกทอดมาถึงเราเพราะบรรพบุรุษของเรา “บางคน” เอาชนะคนร่วมเผ่าได้ แต่เป็นเพราะเผ่าบรรพบุรุษของเรา “บางเผ่า” เอาชนะเผ่าอื่นได้ (ร่วมมือกันเวลาถูกโจมตีได้ดีกว่า ขับไล่คนทรยศออกนอกกลุ่มได้เข้มกว่า สมัครสมานสามัคคีกันมากกว่า) โดยเผ่าที่พ่ายแพ้ก็ถูกลบเลือนออกไปจากประวัติศาสตร์ เหลือดีเอ็นเอไว้ให้เราดูต่างหน้าน้อยมาก

โดยเหตุที่รหัสพันธุกรรมของเราตกทอดมาจากเผ่าที่ชนะ มนุษย์เราจึงวิวัฒนาการมาเป็น “สัตว์สังคม” และชุดคุณค่าต่างๆ ที่เราให้ความหมายในนามของคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม จึงมักจะถูกขีดวางขอบเขตอยู่ใน “กลุ่มของเรา” เท่านั้น กลุ่มอื่นไม่นับ ระดับของกลุ่มมีตั้งแต่กลุ่มที่ย่อยที่สุดอย่างครอบครัว ไปจนถึงกลุ่มญาติ เพื่อน หมู่บ้าน ภูมิภาค หรือประเทศ รวมถึงอาจเป็นกลุ่มที่แบ่งตามเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ภาษา และเส้นสมมติอื่นๆ อีกมากมาย

(ด้วยเหตุนี้ การรณรงค์เรียกร้องให้คนไทยบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยร้ายในดินแดนห่างไกล อาทิ ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติ จึงยากเย็นกว่าการระดมความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุร้ายในไทย เพราะความมีน้ำใจต่อคนต่างกลุ่มเป็น “ทักษะ” ที่ต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ต่างจากความมีน้ำใจต่อคนในกลุ่มซึ่งมีโดยสำนึก)

เหตุที่เราวิวัฒน์มาเป็นสัตว์สังคม กฏทางศีลธรรมที่เราพัฒนาจึงถูกประยุกต์ใช้กับ “คนในกลุ่ม” (in-group) คือคนที่เราเชื่อว่าสังกัดวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ “เดียวกัน” กับเรา ไม่ใช่ “คนนอกกลุ่ม” (out-group) แบบจำลองวิวัฒนาการในคอมพิวเตอร์แสดงผลว่า การแบ่งแยก “คนในกลุ่ม” กับ “คนนอกกลุ่ม” เช่นนี้เป็นผลดีต่อการเอาตัวรอดของเผ่า แต่ก็อาจทำให้คนในกลุ่มสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นเกินคาด และเป็นปฏิปักษ์ต่อคนนอกกลุ่มอย่างก้าวร้าวเกินคาดเช่นเดียวกัน นักจิตวิทยาศีลธรรมบางคน อาทิ แกรี จอห์นสัน (Gary Johnson) และ วี.เอส. ฟัลเกอร์ (V.S. Falger) เสนอว่า ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียกว่า “ชาตินิยม” และ “ความรักชาติ” แท้จริงก็คือรูปแบบหนึ่งของการแบ่งคนออกเป็นในกลุ่มและนอกกลุ่มเช่นนี้

งานวิจัยของนักจิตวิทยาศีลธรรมอย่างเฮดท์ช่วยเผยความเร้นลับของศีลธรรมให้เราเห็นอีกหลายชั้น โดยเฉพาะในระดับของการเมือง ซึ่งมีศีลธรรมเข้ามาข้องเกี่ยวอย่างหนีไม่พ้น เพราะถ้าหากศีลธรรมช่วยเราตอบคำถามว่า “เราควรใช้ชีวิตอย่างไร” ในระดับปัจเจก การเมืองก็พยายามตอบคำถามเดียวกันในระดับที่ใหญ่กว่า คือสังคมทั้งสังคม

เฮดท์กับเพื่อนร่วมงานของเขาศึกษาความแตกต่างระหว่างคนที่เรียกตัวเองว่า “เสรีนิยม” (liberal) กับคนที่เรียกตัวเองว่า “อนุรักษ์นิยม” (conservative) ในอเมริกา ผ่านการใช้แบบสอบถาม สัมภาษณ์ และการสังเกตพฤติกรรม ทีมวิจัยพบว่านักอนุรักษ์นิยมใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับคนในกลุ่มเป็นรากฐานของชุดศีลธรรมที่พวกเขายึดถือ มากกว่านักเสรีนิยมมาก ชาวอเมริกันที่ระบุว่าตัวเองเป็น “เสรีนิยม” มักจะให้น้ำหนักกับคุณค่า “ความมีน้ำใจ” กับ “ความเป็นธรรม” มากกว่า “ความภักดี” (ต่อกลุ่ม) “ความเคารพนับถือ” และ “ความบริสุทธิ์/ศักดิ์สิทธิ์” (เช่น ความศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ของร่างกายมนุษย์ เป็นต้น) ในทางกลับกัน คนที่บอกว่าตัวเองเป็น “อนุรักษ์นิยม” โดยรวมให้น้ำหนักกับคุณค่าสามอย่างหลัง มากกว่าความมีน้ำใจกับความเป็นธรรม ในบรรดาคุณค่าพื้นฐานทั้งห้าอย่าง ทั้งสองกลุ่มให้น้ำหนักกับ “ความมีน้ำใจ” สูงสุด แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมให้น้ำหนักกับความเป็นธรรมน้อยที่สุด ขณะที่กลุ่มเสรีนิยมให้น้ำหนักกับความบริสุทธิ์/ศักดิ์สิทธิ์น้อยที่สุด

รากฐานของความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้มาจากไหนในวิวัฒนาการของมนุษย์? เฮดท์เสนอว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์น่าจะมีส่วนสำคัญ จากการที่เขาสังเกตว่าชุมชนที่สมาชิกมีความใกล้ชิดกันสูง ทั้งกลุ่มมีเชื้อชาติและชาติพันธุ์เดียวกัน มีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้นที่สุด ในขณะที่คนในชุมชนชายฝั่งอย่างเมืองท่า ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงกว่า (มีคนอพยพจากต่างแดนขึ้นฝั่งมาอาศัยอยู่มากกว่า) มักจะเป็นเสรีนิยมมากกว่า เพราะการต้องพบปะสังสันทน์ ค้าขายและอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม “จำเป็น” ต้องใช้แนวคิดแบบเสรีนิยมมากกว่าอนุรักษ์นิยม ให้น้ำหนักกับความมีน้ำใจ (ต่อคนแปลกหน้า) และความเป็นธรรม (ระหว่างคนต่างกลุ่ม) มากกว่าความภักดี (ต่อกลุ่มของตัวเอง) และความบริสุทธิ์ (ของเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์)

จิตวิทยาศีลธรรมมีข้อค้นพบอื่นที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “ความยืดหยุ่นทางศีลธรรม” (moral flexibility) ที่เรามักจะดูแคลนกันว่าเป็นเครื่องหมายของคนเหลาะแหละไร้หลักการนั้น (เพราะเราเชื่อว่า “คนดี” คือคนที่ยึดมั่นชุดศีลธรรมชุดใดชุดหนึ่งอย่างแน่วแน่มั่นคง)  แท้จริงแล้วก็เป็น “ทักษะ” สำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะงานที่เผชิญหน้ากับความท้าทายทางศีลธรรมเป็นประจำ อาทิ คนแล่เนื้อสัตว์ เพชฌฆาต และทหาร ซึ่งต้องปลิดชีวิตอื่นโดยหน้าที่ นักวิจัยพบว่า ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ “ปรับ” การตัดสินใจทางศีลธรรมของพวกในกระบวนการ “เข้าข้างตัวเอง” ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การถอยห่างทางศีลธรรม” (moral distancing) เพื่อทำให้จิตใจของพวกเขารับได้กับการกระทำของตัวเอง เช่น เพชฌฆาตมีแนวโน้มมากกว่าคนอื่นที่จะตอบว่า นักโทษประหารได้ “สูญเสียคุณสมบัติสำคัญของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว” และ “ถ้าไม่ประหาร นักโทษอาจหนีคุกออกไปฆ่าคนอีก”

งานของนักจิตวิทยาศีลธรรมเผยให้เราเห็นว่า เราทุกคนมีแนวโน้มที่จะถอยห่างทางศีลธรรมทั้งนั้น และคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน แท้จริงต่างก็มี “ศีลธรรม” ที่ตนเองยึดถือ ให้คุณค่ากับคุณธรรมพื้นฐานคล้ายๆ กัน เพียงแต่ให้น้ำหนักแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน แต่ความแตกต่างของน้ำหนักก็เพียงพอที่จะทำให้มองโลกไม่เหมือนกัน  

ศีลธรรมมีราคาแพงลิ่วทุกเมื่อที่เรามองไม่เห็นความจริงข้างต้น เข้าใจผิดไปว่า มีแต่ “พวกของเรา” เท่านั้นที่ “มี” ศีลธรรม อีกฝ่ายเป็น “คนเลว” ที่สมควรถูก “กำจัด” ด้วยประการทั้งปวง