วัฒนธรรมการประท้วง ประชาธิปไตย และเสรีภาพ

1-2 เดือนที่ผ่านมา ต้องนับว่าเป็นสองเดือนแห่งการชุมนุมก็ว่าได้

ผู้เขียนไปร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และท้องสนามหลวง ในวันที่ 4, 26, 28 กุมภาพันธ์ และ 5 มีนาคม หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปอีก แต่กะว่าจะไปอีกทีเย็นวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ที่จะถึงนี้

วันที่ 26 ไปนั่งนานเสียจนหลับไปกลางท้องสนามหลวง หลับไปประมาณตีสี่กว่า ตื่นมาด้วยเสียงสนธิ ลิ้มทองกุล ตอนหกโมงเช้าพอดี

“ตื่นได้แล้วครับพี่น้อง มาออกกำลังกายกันครับ”

สังเกตเห็นคนเหลืออยู่ประมาณ 2,000 พันคน ส่วนใหญ่เป็นพลพรรค “กองทัพธรรม” ของจำลอง ศรีเมือง กับคนจากต่างจังหวัดที่ตั้งใจมานอนค้างที่สนามหลวงอยู่แล้ว สมาชิกกองทัพธรรมช่วยกันเก็บกวาดสนามหลวง เก็บขยะใส่ถุงดำที่เตรียมมา

แม้ไม่ศรัทธาพลตรีจำลอง เพราะเชื่อว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เยอะในการออกมาร่วมต่อต้านนายกฯ ในครั้งนี้ (เยอะกว่าสนธิแน่นอน) แต่ก็อดชื่นชมพลพรรคกองทัพธรรมไม่ได้ที่ช่วยกันคนละไม้ละมือ อยู่ประท้วงกันแบบ “ถึงไหนถึงกัน” จริงๆ

ผิดกับสมาชิกชนชั้นกลางอย่างเรา ที่ดูเหมือนมาชุมนุมเพื่อเฮฮาปาร์ตี้ สังสรรค์กับเพื่อนๆ ปิคนิคกันซะมากกว่าที่จะมาประท้วง เห็นมีหลายคนผลัดกันถ่ายรูปตัวเองกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน

แต่ก็ว่าไม่ได้หรอก เพราะแม้จะมาพร้อมอุปกรณ์สารพัดชนิด ขนมนมเนย เก้าอี้นั่ง ฯลฯ เวลาตะโกน “ท้ากสิน…. ออกไป!!!” ก็ตะโกนดังไม่แพ้คนอื่นที่มาชุมนุมแบบจริงจังกว่า

อาจไม่จริงจังเท่า แต่จริงใจในจุดมุ่งหมายเท่ากันแน่นอน


1-2 เดือนที่ผ่านมา ต้องนับว่าเป็นสองเดือนแห่งการชุมนุมก็ว่าได้

ผู้เขียนไปร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และท้องสนามหลวง ในวันที่ 4, 26, 28 กุมภาพันธ์ และ 5 มีนาคม หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปอีก แต่กะว่าจะไปอีกทีเย็นวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ที่จะถึงนี้

วันที่ 26 ไปนั่งนานเสียจนหลับไปกลางท้องสนามหลวง หลับไปประมาณตีสี่กว่า ตื่นมาด้วยเสียงสนธิ ลิ้มทองกุล ตอนหกโมงเช้าพอดี

“ตื่นได้แล้วครับพี่น้อง มาออกกำลังกายกันครับ”

สังเกตเห็นคนเหลืออยู่ประมาณ 2,000 พันคน ส่วนใหญ่เป็นพลพรรค “กองทัพธรรม” ของจำลอง ศรีเมือง กับคนจากต่างจังหวัดที่ตั้งใจมานอนค้างที่สนามหลวงอยู่แล้ว สมาชิกกองทัพธรรมช่วยกันเก็บกวาดสนามหลวง เก็บขยะใส่ถุงดำที่เตรียมมา

แม้ไม่ศรัทธาพลตรีจำลอง เพราะเชื่อว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เยอะในการออกมาร่วมต่อต้านนายกฯ ในครั้งนี้ (เยอะกว่าสนธิแน่นอน) แต่ก็อดชื่นชมพลพรรคกองทัพธรรมไม่ได้ที่ช่วยกันคนละไม้ละมือ อยู่ประท้วงกันแบบ “ถึงไหนถึงกัน” จริงๆ

ผิดกับสมาชิกชนชั้นกลางอย่างเรา ที่ดูเหมือนมาชุมนุมเพื่อเฮฮาปาร์ตี้ สังสรรค์กับเพื่อนๆ ปิคนิคกันซะมากกว่าที่จะมาประท้วง เห็นมีหลายคนผลัดกันถ่ายรูปตัวเองกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน

แต่ก็ว่าไม่ได้หรอก เพราะแม้จะมาพร้อมอุปกรณ์สารพัดชนิด ขนมนมเนย เก้าอี้นั่ง ฯลฯ เวลาตะโกน “ท้ากสิน…. ออกไป!!!” ก็ตะโกนดังไม่แพ้คนอื่นที่มาชุมนุมแบบจริงจังกว่า

อาจไม่จริงจังเท่า แต่จริงใจในจุดมุ่งหมายเท่ากันแน่นอน

ใครที่ไปสังเกตการณ์ที่สนามหลวง ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ชุมนุมไม่ใช่ “ม็อบจัดตั้ง” แน่นอน เพราะการชุมนุมเหล่านี้มีผู้คนหลากหลายจริงๆ จากทุกเพศทุกวัย ทุกฐานะ และทุกสาขาอาชีพ

มานั่งบนพื้นร่วมกันด้วยเหตุผลหลักอันเดียวเท่านั้น คือไม่ยอมรับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

เหตุผลรองลงมาเช่น มารับฟังข้อมูลที่ทีวีไม่ยอมเผยแพร่ มาดูบรรยากาศ มาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ไทย

เห็นกลุ่มสาวใหญ่ไฮโซ แบ่งปลาแซลมอนรมควันที่แพ็คมาในกล่องอย่างดี นั่งติดกับพ่อแม่ลูกชาวขอนแก่นที่แบ่งข้าวเหนียวหมูปิ้งกันกิน ถัดไปเป็นกลุ่มอาจารย์เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเดือด ก็อดอมยิ้มไม่ได้

ถ้าการชุมนุมนี้ไม่เรียกว่าเป็นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย คำว่า “ประชาธิปไตย” ก็คงไร้ความหมายแล้วละ

ตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะหลับกลางสนามหลวงได้ เพราะพื้นเป็นรู ถึงเอาที่รองก้นพลาสติก (แผ่นถุงขนมที่ยังไม่ได้ตัดเป็นถุงๆ ขายแผ่นละ 10 บาท) รองแล้วก็ยังเจ็บก้นอยู่ดี

สงสัยเพราะอากาศดี ลมเย็นตลอดทั้งคืน ทำให้หลับง่าย

…..

ปัญหาอย่างหนึ่งของการไปชุมนุม คือ คนฟังเลือกคนพูดไม่ได้ และไม่ง่ายที่คนฟังจะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับคนพูด เพราะ “บรรยากาศพาไป” ทำให้คนฟังส่วนใหญ่รู้สึกฮึกเหิม มีแนวโน้มที่จะเฮ โบกธงชาติ และปรบมือให้คนพูด มากกว่าในสถานการณ์อื่นๆ

(ตรงนี้ควรเสริมด้วยว่า ผู้ปราศรัยบนเวทีหลายคนใช้ภาษาหยาบคาย รุนแรง และบ่อยจนเกินเหตุ จริงๆ แล้วจะหลุดคำหยาบออกมาบ้างคงไม่เป็นไรหรอก ถ้าพูดให้ข้อมูลที่มีสาระและเป็นประโยชน์กับคนฟัง แต่ไม่ใช่หมดเรื่องจะพูด หมดข้อมูลจะรายงาน แล้วฉวยโอกาสใช้เวทีเป็นที่ระบายอารมณ์อย่างเดียว ไม่เหมาะสมแ่่น่ๆ และเสียเวลาคนฟังด้วย)

ทำให้หลายๆ คนสรุปเอาเองว่า คนที่ไปชุมนุมที่สนามหลวงนั้น ต้องการอะไรเหมือนๆ กัน ราวกับเลือกอาหารเซ็ต คือ ไม่เอาทักษิณ ไม่เอาสิงคโปร์ ไม่เอา FTA ฯลฯ

ทั้งๆ ที่ในประเด็นทุกประเด็น ที่นอกเหนือจากจุดยืน “ไม่เอาทักษิณ” ผู้ชุมนุมหลายคน คิดไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนมีจุดยืนที่ “ไม่ตรง” กับผู้ปราศรัยบทเวที สรุปรวมได้ดังนี้

1.ไม่ชอบสนธิ (แต่ไม่ชอบทักษิณมากกว่าหลายเท่า) แต่ถึงจะไ่ม่ชอบอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่า คุณสนธิเป็นคน “จุดเทียน” แห่งปัญญา ให้ติดไปทั่วประเทศจริงๆ ถ้าไม่มีรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังจะไม่ไ้ด้รับข้อมูลคอร์รัปชั่นที่สำคัญ และถูกรัฐบาลปิดหูปิดตาต่อไป

2.ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง “ถวายคืนพระราชอำนาจ” คือนายกฯ พระราชทาน เพราะคิดว่าเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง” และทำให้ประชาธิปไตยภาคประชาชนของเรา “ไม่โต” เสียที (แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่ไม่ใช่แนวทางที่กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสนับสนุน เป็นแนวทางที่เคลื่อนไหวโดยคนบางกลุ่มในสังคมมากกว่า)

3.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบ “ชาตินิยม” เช่น บอยคอตสินค้าและบริการของบริษัทสิงคโปร์ ฯลฯ เพราะจริงๆ แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า การที่ AIS เป็นของสิงคโปร์นั้น จะให้บริการที่ดีกว่าเดิม และเลิกเล่น “ตุกติก” ทั้งหลายที่คนในวงการรู้กันดี (เช่น แกล้งตัดสัญญาณบริษัทคู่แข่ง ฯลฯ) ถ้าใครจะต่อต้านดีลการขายหุ้นชิน ควรต่อต้านด้วยการโจมตี วิธีไม่ชอบมาพากล ที่ครอบครัวชินวัตรใช้ในการขายหุ้นดีกว่า ไม่ใช่โจมตีตัวดีลทั้งดีล ว่าเป็นการ “ขายชาติ”

และในรายละเอียด แม้การขาย AIS ซึ่งทำธุรกิจมือถือ อาจนับเป็นการตัดสินใจปกติในแง่ธุรกิจ การขายสัมปทานดาวเทียมและสื่อโทรทัศน์ คือ SHINSAT และ ITV ไปเป็นส่วนหนึ่งของ “แพ็คเกจ” ดีลชิน อาจนับเป็นการ “ขายชาติ” ได้ เพราะเป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ

4.ไม่เห็นด้วยกับผู้ปราศรัยที่ประกาศว่า “ไม่เอา FTA” และเรียกร้องให้ไทยเลิกเจรจา เพราะจริงๆ แล้วในหลักการ ข้อตกลง FTA เป็นข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้ไทยได้มหาศาล เพียงแต่เราต้อง “ไม่หลงกล” คู่เจรจา หรือปล่อยให้ผลประโยชน์ตกเป็นของนักธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ที่มีเส้นสายในรัฐบาล (เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ หรือยา) แต่ทำความเดือดร้อนให้กับคนหมู่มาก

ฉะนั้นเวลาเห็นป้ายต่อต้าน “ขายชาติ” “ไม่เอา FTA” ฯลฯ เลยรู้สึกแปลกๆ เพราะป้ายเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนความคิดของเรา หรือถ้าสะท้อนก็ไม่ตรงจุดทีเดียว

แต่ก็ไม่เป็นไร ต้องยอมรับว่าผู้ชุมนุมทุกคนย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และถ้าใครจะ “เหมาโหล” สรุปรวมความคิดเห็นเหล่านั้นว่าเป็นของผู้ชุมนุม “ทุกคน” ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

นั่นคือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่หรือ?

…..

เห็นหลายฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้ “ทั้งสองฝ่าย” หันหน้ามา “เจรจา” กัน เพื่อหยุด “สร้างความแตกแยก” ในบ้านเมือง ก็อดรู้สึกขำไม่ได้

เพราะ “ความขัดแย้ง” ครั้งนี้ ไม่ใช่เด็กสองคนแย่งของเล่นกัน ถึงจะพยายามหาทาง “ประนีประนอม” กันได้ (เช่น ให้เด็กผลัดกันเล่น คนละสิบนาที)

หากเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากพฤติกรรมของคนเพียงคนเดียว ซึ่งทำให้ผู้ต่อต้าน รวมทั้งผู้เขียนเองด้วย มองว่าเขาขาดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป

เมื่อไม่มีความชอบธรรม ก็สมควรต้องลาออกสถานเดียวเท่านั้น

ไม่มี “การประนีประนอม” หรือ “การเจรจา” ใดๆ ที่เป็นไปได้ เพราะการลาออก เป็นข้อเรียกร้องเพียงหนึ่งเดียวของผู้ประท้วง

และถ้ายอมเจรจา ในมุมมองของผู้เขียน ก็ไม่ต่างจากคนที่ถูกขโมยขึ้นบ้าน “ลดตัว” ลงไปเจรจาต่อรองกับขโมยที่เพิ่งขโมยข้าวของของเราไปหยกๆ

ผู้เขียนคิดว่า สาเหตุพื้นฐานจริงๆ ที่ทักษิณยังไม่ลาออก ไม่ใช่เป็นเพราะหน้าด้าน หวงเก้าอี้ กลัวถูกยึดทรัพย์ ไม่อยากทำตามข้อเรียกร้องของ “กฎหมู่” ฯลฯ

ไม่ใช่ว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่เป็นจริง แต่มันไม่ใช่สาเหตุหลัก

สาเหตุหลักจริงๆ อยู่ที่ว่า ทักษิณเองยังไม่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิด หรือที่ผู้ต่อต้านมองว่า ยังไม่สำนึกในความผิด

ใครที่ดูนายกฯ ปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา คงรู้สึกเหมือนกัน

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อคำนึงว่า นี่คือคนที่มองว่า ประเทศนั้นไม่ต่างจากบริษัท และการบริหารประเทศ ก็ไม่ต่างจากการบริหารบริษัท (ทบทวนความจำจากบล็อกตอน สมการที่ขาดหาย ได้)

เมื่อมองประเทศเป็นบริษัท คำว่า “ศีลธรรม” “ประโยชน์ส่วนรวม” “คนหมู่มาก” ย่อมไม่มีความหมาย

อาจมีคนแย้งว่า “ความชอบธรรมในแง่ศีลธรรม” นั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการบริหารประเทศ เพราะเป็นหลักการที่คลุมเครือ วัดยาก ดังนั้นเราใช้ได้เพียง “ความชอบธรรมในแง่กฎหมาย” เช่น คะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง เป็นตัววัดระดับ “ความชอบธรรม” ของผู้นำประเทศเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง ความชอบธรรมในแง่ศีลธรรม เป็นความชอบธรรมประเภทเดียวเท่านั้น ที่สำคัญต่อการบริหารบ้านเมือง

สำคัญกว่ากฎหมายหลายเท่า เพราะกฎหมายอาจเขียนโดยกลุ่มผู้ต้องการรวบอำนาจ หรือไม่ก็อาจถูกบิดเบือนในลักษณะเล่นลิ้น เป็นศรีธนญชัย เหมือนที่ “เนติบริกร” ผู้รับใช้รัฐบาลทั้งหลายทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายหลายครั้งหลายครา

คนที่เรียกร้องให้ทุกฝ่าย “หันหน้าคุยกัน” หรือ “ถอยคนละก้าว” จึงไม่มีเหตุผล หรือไม่ก็ไม่เข้าใจประเด็นขัดแย้งในครั้งนี้อย่างถ่องแท้

ใช่ คนไทยควรสามัคคีกัน แต่สามัคคีด้วยการรวมพลังกันต่อสู้กับโจร

ไม่ใช่ไปสามัคคีกับโจร หรือยกโทษให้โจรไปง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

ผิดประเด็นอย่างแรง

…..

การชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย คือการชุมนุมของคนเรือนแสน ที่ผ่านไปโดยปราศจากเหตุรุนแรงใดๆ

เป็นสัญญาณอันดีของการพัฒนาระบอบการปกครองในเมืองไทย ให้เปลี่ยนผ่านจาก “ประชาธิปไตยทางอ้อม” (คือประชาธิปไตยที่ใช้ตัวแทน เช่น รัฐสภา เป็นกลไกหลัก) ไปสู่ “ประชาธิปไตยทางตรง” คือประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง มากขึ้น

โดยหลักการ ประชาธิปไตยทางตรง เป็นระบอบที่มีความ “ก้าวหน้า” มากกว่าประชาธิปไตยตัวแทน เพราะต้องอาศัยประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และมีส่วนร่วมโดยตรงในการบริหารประเทศ

การชุมนุมหรือเดินขบวนโดยสันติ เป็นกลไกแสดงออกซึ่งสิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ ที่มีชื่อเสียงมากเช่น การเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกาถอนทหารจากสงครามเวียดนาม ระหว่างปี 2512-2514 (อ่านประวัติการเดินขบวนครั้งสำคัญๆ ในอเมริกาได้ที่ หน้านี้ของวิกิพีเดีย)

คนที่มองว่า วิธีการของประชาธิปไตยทางตรง เช่น การทำประชาพิจารณ์ ฯลฯ ไม่เหมาะกับเมืองไทยเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยัง “โง่” อยู่ จึงเป็นคนที่ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยัง “ดูถูก” คนไทยด้วยกันอย่างร้ายกาจด้วย

คน “โง่” จะไม่มีวัน “ฉลาดขึ้น” เลยหรือ?

จริงๆ แล้ว ก็ไม่มีใคร “โง่” หรอก มีแต่คนที่ “รู้” กับ “ไม่รู้” ต่างหาก

เลิกคิดว่าคนอื่น “โง่” แล้วหันมาช่วยกันคิดวิธีขจัดความ “ไม่รู้” จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติกว่าไหม?

มาหาวิธีสอนเพื่อนร่วมชาติของเราทุกคน ให้ตระหนักว่า “การเมือง” ไม่ใช่เรื่องของ “นักการเมือง” เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน

หมดยุคของ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” แล้ว

คนกลุ่มหนึ่งกำลังร่วมกันสร้างยุค “เชื่อตัวเอง ไม่เกรงผู้นำ ชาติพ้นภัย” กันอย่างช้าๆ แต่ทว่ามั่นคง

ถ้าไม่เชื่อ ลองมาดูด้วยตาคุณเองที่สนามหลวงสิ

บรรยากาศการชุมนุม อาจทำให้คุณนึกถึงวลีอมตะของ Thomas Jefferson:

When the people fear their government, there is tyranny;
when the government fears the people, there is liberty.