วัฒนธรรมความรุนแรงในสังคมไทย

[ขออภัยนักเรียน กธ.301 ที่อาจารย์ยังไม่ได้โพสเล่าความประทับใจจากการสอนที่เคยบอกว่าจะเขียนภายในปลายเดือนที่แล้ว ด้วยเหตุว่าตอนนี้ยังอยู่ในสภาพหดหู่กับบรรยากาศการเมือง/สังคม และสื่อกระแสหลักหลายค่ายที่แบ่งขั้วและปลุกปั่นอารมณ์เกลียดชังของคนอย่างไร้จรรยาบรรณ จะพยายามเขียนเล่าเรื่องวิชาเราให้อ่านในเร็ววันนี้]

สืบเนื่องจากโพสที่ “ร้อนแรง” ที่สุดตั้งแต่เปิดบล็อกนี้มา และคำถามของเพื่อน (tON) ที่น่าคิด (แต่น่าเศร้าที่ไม่ค่อยมีใครถาม ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ตอกย้ำปัญหาความ “ไร้วุฒิภาวะ” ของสังคมไทย) ว่า เหตุใดจึงไม่มีใครประณามคนที่ทำร้ายคุณโชติศักดิ์? ผู้เขียนอยากแบ่งปันบทความอีกชิ้นหนึ่งของ อจ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพราะคิดว่าทั้ง “ตรงประเด็น” และ “มองทะลุ” เป็นอย่างยิ่ง (และขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง โดย รศ. สายชล สัตยานุรักษ์ ประกอบ สำหรับมุมมองที่กว้างกว่าขอบเขตของบทความนี้)

เมื่ออ่านจบแล้ว อยากเชิญชวนให้ทุกท่านลองตอบคำถามของ อจ.นิธิ ท้ายบทความ – “ประชาชนมีพลังพอจะเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมได้หรือไม่ ถ้ามีไม่พอ ทำอย่างไรถึงจะมีพอ” ไว้ในคอมเม้นท์ท้ายโพสนี้ค่ะ

……

วัฒนธรรมความรุนแรง
นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมไทยด้วย

ในแง่หนึ่ง ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ คือใช้ความรุนแรง ไม่ใช่เพื่อความรุนแรง แต่ใช้เพื่อเป้าหมายอย่างอื่น เช่น ใช้เพื่อเอาชนะในความขัดแย้ง, ใช้เพื่อปราบปรามคนชั่วหรือคนดื้อ, ใช้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี, หรือแม้แต่ใช้เพื่อ “สันติภาพถาวร”

ในแง่นี้แหละครับที่สันติวิธีเสนอเครื่องมืออื่นเข้ามาแทนที่ พร้อมทั้งพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า, สูญเสียน้อยกว่า และได้ผลยั่งยืนกว่าความรุนแรง

(ผมควรวงเล็บข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สันติวิธีก็เป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน)

ความรุนแรงในแง่ของเครื่องมือนั้น ผมคิดว่ามีในทุกวัฒนธรรม และเพราะมันเป็นวัฒนธรรม จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่เงื่อนไขทางสังคมด้วย เช่น อาจใช้บ่อยขึ้นหรือใช้น้อยลง ตลอดจนให้ความหมายใหม่แก่วิธีการที่รุนแรงให้แรงขึ้นก็ได้ ให้มองไม่เห็นก็ได้ หรือให้ความหมายใหม่แก่ผู้กระทำความรุนแรงและเหยื่อก็ได้

คงไม่ต้องพูดกันยืดยาวก็มองเห็นอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมไทยนับแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยปฏิเสธความรุนแรงในฐานะเครื่องมือ พึงใช้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น


[ขออภัยนักเรียน กธ.301 ที่อาจารย์ยังไม่ได้โพสเล่าความประทับใจจากการสอนที่เคยบอกว่าจะเขียนภายในปลายเดือนที่แล้ว ด้วยเหตุว่าตอนนี้ยังอยู่ในสภาพหดหู่กับบรรยากาศการเมือง/สังคม และสื่อกระแสหลักหลายค่ายที่แบ่งขั้วและปลุกปั่นอารมณ์เกลียดชังของคนอย่างไร้จรรยาบรรณ จะพยายามเขียนเล่าเรื่องวิชาเราให้อ่านในเร็ววันนี้]

สืบเนื่องจากโพสที่ “ร้อนแรง” ที่สุดตั้งแต่เปิดบล็อกนี้มา และคำถามของเพื่อน (tON) ที่น่าคิด (แต่น่าเศร้าที่ไม่ค่อยมีใครถาม ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ตอกย้ำปัญหาความ “ไร้วุฒิภาวะ” ของสังคมไทย) ว่า เหตุใดจึงไม่มีใครประณามคนที่ทำร้ายคุณโชติศักดิ์? ผู้เขียนอยากแบ่งปันบทความอีกชิ้นหนึ่งของ อจ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพราะคิดว่าทั้ง “ตรงประเด็น” และ “มองทะลุ” เป็นอย่างยิ่ง (และขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง โดย รศ. สายชล สัตยานุรักษ์ ประกอบ สำหรับมุมมองที่กว้างกว่าขอบเขตของบทความนี้)

เมื่ออ่านจบแล้ว อยากเชิญชวนให้ทุกท่านลองตอบคำถามของ อจ.นิธิ ท้ายบทความ – “ประชาชนมีพลังพอจะเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมได้หรือไม่ ถ้ามีไม่พอ ทำอย่างไรถึงจะมีพอ” ไว้ในคอมเม้นท์ท้ายโพสนี้ค่ะ

……

วัฒนธรรมความรุนแรง
นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมไทยด้วย

ในแง่หนึ่ง ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ คือใช้ความรุนแรง ไม่ใช่เพื่อความรุนแรง แต่ใช้เพื่อเป้าหมายอย่างอื่น เช่น ใช้เพื่อเอาชนะในความขัดแย้ง, ใช้เพื่อปราบปรามคนชั่วหรือคนดื้อ, ใช้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี, หรือแม้แต่ใช้เพื่อ “สันติภาพถาวร”

ในแง่นี้แหละครับที่สันติวิธีเสนอเครื่องมืออื่นเข้ามาแทนที่ พร้อมทั้งพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า, สูญเสียน้อยกว่า และได้ผลยั่งยืนกว่าความรุนแรง

(ผมควรวงเล็บข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สันติวิธีก็เป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน)

ความรุนแรงในแง่ของเครื่องมือนั้น ผมคิดว่ามีในทุกวัฒนธรรม และเพราะมันเป็นวัฒนธรรม จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่เงื่อนไขทางสังคมด้วย เช่น อาจใช้บ่อยขึ้นหรือใช้น้อยลง ตลอดจนให้ความหมายใหม่แก่วิธีการที่รุนแรงให้แรงขึ้นก็ได้ ให้มองไม่เห็นก็ได้ หรือให้ความหมายใหม่แก่ผู้กระทำความรุนแรงและเหยื่อก็ได้

คงไม่ต้องพูดกันยืดยาวก็มองเห็นอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมไทยนับแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยปฏิเสธความรุนแรงในฐานะเครื่องมือ พึงใช้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น

แต่ยังมีความรุนแรงอีกแง่หนึ่ง ซึ่งผมก็อธิบายได้ไม่ชัดเหมือนกัน ผมขอเรียกว่าการให้คุณค่าแก่ความรุนแรงโดยตัวของมันเอง เพราะเอาความรุนแรงหรือศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงไปผูกกับอำนาจความรุนแรง ในแง่นี้ก็คงมีในทุกวัฒนธรรมเหมือนกันกระมังครับ เช่น รัฐโบราณมักใช้การลงโทษที่ทารุณโหดร้ายเพื่อแสดงพระราชอำนาจ (มากกว่ารักษาความสงบ)

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะ “รู้สึก” (คือไม่ได้ค้นคว้าอะไรมามากมาย) ว่า วัฒนธรรมไทยเน้นคุณค่าของความรุนแรงไม่สู้จะมากนัก เช่น ในขณะที่มีการลงโทษอย่างทารุณโหดร้าย แต่กลับไปเน้นพระราชอำนาจที่ธรรมะบ้าง “พระมหากรุณาธิคุณ” บ้าง บุญญาบารมีบ้าง เป็นต้น

พระเอกในวรรณคดีเก่าของไทยกล้ามลีบนะครับ อ้อนแอ้นอรชร รูปร่างของพระเอกไม่แสดงศักยภาพของการใช้ความรุนแรงเลย โจรไพร่ที่ไหนเห็นก็นึกว่าจะเตะเล่นได้ง่ายๆ แต่พอต่อสู้เข้าจริงก็มีฤทธิ์เดชเพราะบารมีแต่หนหลังบ้าง เพราะมีเวทมนตร์บ้าง จนสามารถใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือปราบปรามศัตรูได้เหมือนดีดนิ้ว

ต่างจากเฮอร์คิวลิสนะครับ กล้ามใหญ่และแสดงศักยภาพของการใช้ความรุนแรงได้ชัดเจนเลย ผมมีความรู้เกี่ยวกับกรีกไม่พอจะบอกได้หรอกครับว่า กล้ามใหญ่ในวัฒนธรรมกรีกหมายถึงศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง หรือเป็นความงามอันสมบูรณ์ของมนุษย์เพศชาย

แต่อย่างที่บอกแหละครับ คือ “รู้สึก” ว่าวัฒนธรรมไทยแต่ก่อนให้คุณค่าแก่ความรุนแรงในตัวของมันเองน้อย อย่างน้อยก็น้อยกว่าปัจจุบัน

ผมอยากจะเดาต่อด้วยว่า การให้คุณค่าแก่ความรุนแรงเช่นนี้มากับการสร้างชาติซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดของฝรั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างมาก

ชาติต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งมักมีความหมายถึงศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ “หากหวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” เกณฑ์อย่างหนึ่งซึ่งมักใช้สำหรับตัดสินความเป็นมหาราชของกษัตริย์คือ รบเก่งหรือไม่ ในรัชสมัยขยายพระราชอาณาเขตไปได้กว้างขวางหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดความคิดในหมู่ฝรั่งว่าชนชาติต่างๆ นั้นล้วนมีอุปนิสัยประจำชาติที่สืบทอดกันมาอย่างไม่เสื่อมคลาย จึงมีชาติขี้เล่น, ชาติเคร่งเครียด, ชาติทหาร (martial race), ชาติ “ตัวเมีย” (feminine race), ฯลฯ ตามแต่จะว่ากันไป

(ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดเจนในงานนิพนธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ)

แล้วเราอยากเป็นชาติอะไร ก็ต้อง “ชาตินักรบ” สิครับ (“ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด”) จึงทำให้ความเข้มแข็งของชาติมีความหมายที่เน้นศักยภาพของการใช้ความรุนแรงสูง

โชคดีที่ผู้นำไทยนับตั้งแต่ ร.5 สืบมาถึงสมัยหลัง ใช้ความเป็น “ชาตินักรบ” สำหรับปลุกใจประชาชนเท่านั้น แต่ไม่ได้เอาไปปลุกใจตัวเอง ต่างจึงมีสำนึกได้ดีว่า ในความเป็นจริงนั้น ศักยภาพของการใช้ความรุนแรงของไทยนั้นมีจำกัดมาก โดยเฉพาะกับอริราชศัตรู เราจึงประคองตัวมาได้ แม้อย่างทุลักทุเล แต่ก็ไม่ถึงกับย่อยยับอัปราในโลกแห่งความรุนแรงที่เราต้องเผชิญอยู่

แม้กระนั้น วัฒนธรรมทางราชการที่ปลูกฝังประชาชนให้ยกย่องคุณค่าของความรุนแรงในตัวของมันเองก็มีพลังอยู่ในสังคมไทยไม่น้อย คนไทยโดยเฉพาะที่ได้ผ่านการศึกษาในระบบและรับสื่อมากหน่อย เช่น คนชั้นกลาง จึงยกย่องศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง และมองเห็นการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่วิเศษอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ผมได้ความรู้สึกอย่างนี้จากการอ่านกระดานข่าวในเว็บไซต์ต่างๆ น่ะครับ

ฉะนั้น เราจึงมีวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงสองอย่าง คือ ชนชั้นนำถึงจะยกย่องเชิดชูความรุนแรงอย่างไร ก็มีสำนึกในความเป็นจริงถึงข้อจำกัดของศักยภาพนั้น หรือแม้แต่สำนึกถึงข้อจำกัดของตัวความรุนแรงในฐานะเครื่องมือ ในขณะที่เรามีวัฒนธรรมของประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งนิยมยกย่องความรุนแรงทั้งโดยตัวของมันเองและในฐานะเครื่องมืออย่างสุดลิ่มทุ่มประตู แต่ก็อยู่กันมาได้โดยดี เพราะประเพณีปกครองของไทยนั้น อนุญาตให้ชนชั้นนำพูดกับประชาชนอย่างหนึ่ง แต่ทำอะไรอีกอย่างหนึ่งข้างหลัง ฉะนั้น จอมเผด็จการผู้เหี้ยมหาญจึงอาจบอกประชาชนได้ว่า ระดมพลเผชิญหน้ากับขบวนการปะเทดลาวเลย ไม่ต้องไปกลัวมัน แต่เบื้องหลังคือได้เจรจากับวอชิงตันเรียบร้อยแล้ว มหามิตรของเราจึงส่งกองกำลังเข้ามาสมทบ

ผู้นำจึงเหี้ยมหาญในสายตาประชาชนต่อไป ในขณะที่เราไม่ต้องเผชิญกับอริราชศัตรูโดยลำพัง หรือโดยตรงด้วยซ้ำ เพราะสภาพการณ์ได้กลายเป็นแนวรบด้านหนึ่งของสงครามเย็นระดับโลกไปแล้ว

วัฒนธรรมความรุนแรงซึ่งมีสองมิติอย่างนี้เริ่มจะหายไปเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบอบเลือกตั้งธิปไตย คนที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำไม่ได้สืบเนื่องกับชนชั้นนำในอดีต (เช่น ผ่านระบบราชการ) แต่กลายเป็นคนชั้นกลางที่มีวัฒนธรรมความรุนแรงแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เชื่อทั้งในความรุนแรงและเชื่อทั้งในเครื่องมือความรุนแรง

วัฒนธรรมชนชั้นนำที่เปลี่ยนไปอย่างนี้ ผมคิดว่าค่อยๆ เริ่มขึ้นมานานแล้ว แต่เห็นได้ชัดในสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร นี้แหละครับ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงในฐานะเครื่องมือจนแทบจะกล่าวได้ว่า ตะแกใช้เครื่องมือชนิดนี้สำหรับแก้ปัญหาแทบทุกเรื่อง นับตั้งแต่ยาเสพติด, ชนกลุ่มน้อย, แรงงานอพยพ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ฯลฯ

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่า นโยบายใช้ความรุนแรงนี้ไม่ได้ทำโดดๆ นะครับ ทำท่ามกลางเสียงเชียร์มากบ้างน้อยบ้างของคนชั้นกลางที่ไปร่วมขับไล่แกในภายหลังนั่นแหละครับ

ความรุนแรงในฐานะวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ผมคิดเรื่องข้างต้นทั้งหมดนี้เมื่ออ่านรายงานของ กอส. ซึ่งเสนอให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้สามระดับ คือ ระดับบุคคล, ระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม

ส่วนที่ลึกสุดคือวัฒนธรรม ซึ่งจะพูดว่าสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะถ้าไม่แก้ถึงระดับนี้ก็ยากที่จะรักษาสันติสุขไว้อย่างยั่งยืนได้ ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้นะครับ แต่ในสังคมไทยโดยรวมทั้งหมดทีเดียว

และระดับนี้แหละครับที่ผมคิดว่ายากที่สุด เช่น จะส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญความขัดแย้ง ทำได้อย่างไรครับ

ผมไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้นะครับ ทำได้ แต่ทำยากเท่านั้น เพราะการใช้ความรุนแรงในฐานะเครื่องมือเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันไปเสียแล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมการ “จัดระเบียบสังคม” ต่างๆ (เช่น แก้ปัญหาอาชญากรรมทุกอย่างด้วยการออกกฎหมายเพิ่มโทษ)

ทัศนคติที่ให้คุณค่าแก่ความรุนแรงฝังอยู่ในระบบการศึกษา (ทั้งในและนอกโรงเรียน), ในสื่อ, ในระบบการเมือง, ในกฎหมาย, ในคำเทศน์, ในพิธีกรรม, ในวิถีชีวิตทั้งหมดของคนชั้นกลางไทยเลยก็ว่าได้

คนกลุ่มเดียวที่มีความตื่นตัวทางการเมือง และมีสมรรถภาพจะเข้าถึงอำนาจรัฐได้ คือคนที่อยู่ในวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงอย่างเหนียวแน่น ฉะนั้น ผมจึงไม่ค่อยมีความหวังว่ารัฐจะสามารถเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องนี้ได้มากนัก

สิ่งที่น่าคิดกว่าก็คือ ประชาชนมีพลังพอจะเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมได้หรือไม่ ถ้ามีไม่พอ ทำอย่างไรถึงจะมีพอ.