เนื่องจากทุกเดือนจะมีคนเขียนอีเมลมาถามว่า ถ้าอยากเขียน/แปลหนังสือต้องทำอย่างไร เลยถามพลอยแสง บ.ก.ผู้น่ารักว่ามีไหม คนที่เขียน FAQ เรื่องนี้ไปแล้ว เพราะมันน่าจะมีสิ ว่าแล้วพลอยก็จัดแจงถามพี่พจจี้ นักแปลผู้น่ารัก และพี่พจจี้ก็ไปขุดจากกรุกระทู้เก่าๆ ในพันทิปมาให้ เลยเอามาแปะในนี้เพื่อใช้เป็นลิงก์สำหรับทุกคนที่สนใจจะเขียนหรือแปลหนังสือ เพราะคนตั้งกระทู้นี้คือคุณไอซ์เรียบเรียงได้ชัดเจนดีทีเดียว ขอขอบคุณพลอย พี่พจจี้ และคุณไอซ์ ไว้ ณ ที่นี้ 😀
เนื่องจากทุกเดือนจะมีคนเขียนอีเมลมาถามว่า ถ้าอยากเขียน/แปลหนังสือต้องทำอย่างไร เลยถามพลอยแสง บ.ก.ผู้น่ารักว่ามีไหม คนที่เขียน FAQ เรื่องนี้ไปแล้ว เพราะมันน่าจะมีสิ ว่าแล้วพลอยก็จัดแจงถามพี่พจจี้ นักแปลผู้น่ารัก และพี่พจจี้ก็ไปขุดจากกรุกระทู้เก่าๆ ในพันทิปมาให้ เลยเอามาแปะในนี้เพื่อใช้เป็นลิงก์สำหรับทุกคนที่สนใจจะเขียนหรือแปลหนังสือ เพราะคนตั้งกระทู้นี้คือคุณไอซ์เรียบเรียงได้ชัดเจนดีทีเดียว ขอขอบคุณพลอย พี่พจจี้ และคุณไอซ์ ไว้ ณ ที่นี้ 😀
นอกเหนือจากวิธีการเสนองาน ผู้เขียนมีข้อแนะนำเพิ่มเติมสั้นๆ สำหรับคนที่อยากแปลหนังสือดังต่อไปนี้ –
1. ไม่มีประโยชน์เท่าไร (นอกจากอยากทำให้เขาปลื้ม) ที่จะส่งอีเมลเกริ่นแนะนำตัวเองยาวเหยียด แนบ CV สวยหรูให้กับสำนักพิมพ์ พรรณนาโวหารว่าทำไมถึงอยากแปล เป็นแฟนสำนักพิมพ์มานานขนาดไหน ฯลฯ ถ้าคุณไม่แนบตัวอย่างงานแปลให้เขาดูด้วย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่สำนักพิมพ์อยากรู้คือ ฝีมือการแปลของคุณ ดังนั้นแทนที่จะใช้เวลาเรียบเรียงอีเมล ไปหาหนังสือที่เราอยากแปลมาแปลบทแรกๆ ส่งไปดีกว่า หรือถ้าไม่มีหนังสือในใจที่อยากแปล ก็ควรแปลบทความแนวที่คุณอยากแปล (แต่อย่างที่คุณไอซ์แนะนำด้านล่าง ว่าไม่ควรสั้นกว่า 10 หน้า)
2. ควรเลือกสำนักพิมพ์ที่ถนัดพิมพ์หนังสือแนวที่คุณอยากแปล เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่าย 3. การเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้แปลว่าคุณจะแปลหนังสือเรื่องนั้นๆ ได้ดี เพราะหนังสือแปลที่ดีต้องอาศัยทักษะด้านภาษาไม่น้อยไปกว่าความรู้ในสาขาใดสาขาหนึ่ง นักการเงินอาชีพอาจแปลหนังสือการเงินไม่รู้เรื่อง แพทย์อาชีพอาจแปลหนังสือแพทย์ไม่รู้เรื่อง ฯลฯ ดังนั้น นักแปลจึงควรเคารพในวิจารณญาณของบรรณาธิการ และถ่อมตนอยู่เสมอ พึงระลึกว่าคุณอาจเป็นมืออาชีพขั้นเทพในวงการของคุณ แต่ในวงการหนังสือคุณยังเป็นเด็กแบเบาะเดินเตาะแตะอยู่เลย 🙂
วิธีการเสนองานเขียน/แปลให้ สนพ.
โดยคุณ Clear Ice
เนื่องจากมีการตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการเสนองานเขียนให้สนพ. บ่อยครั้ง ก็เลยคิดว่า จะลองทำกระทู้ที่ตอบคำถามหลายๆ อย่าง ที่คนอยากส่งงานเขียนถามบ่อยๆ ดูนะคะ ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ที่เขียนต่อไปนี้ เก็บมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ของคนรอบข้าง และการศึกษาตามเว็บไซต์ สนพ. และกระทู้ต่างๆ ค่ะ ถ้าหากมีข้อผิดพลาด รบกวนผู้รู้ช่วยกรุณาท้วงติงด้วยนะคะ จะได้เป็นประโยชน์ต่อๆ ไปค่ะ
วิธีการเสนองานเขียน
เมื่อมีต้นฉบับที่เขียนเสร็จแล้วอยู่ในมือ โดยแน่ใจว่า เป็นต้นฉบับที่เขียนขึ้นเอง ไม่ได้ลอกเลียนคนอื่นมา ก็ดำเนินการดังต่อไปนี้ค่ะ
1. เลือก สนพ. มักมีคำถามบ่อยๆ ว่า ถ้าเขียนงานเขียนชนิดนี้ขึ้นมา จะต้องส่ง สนพ.ไหน อยากแนะนำให้ผู้มีต้นฉบับลองใช้เวลาเดินดูตามร้านหนังสือสักนิดค่ะว่า มีสนพ.ไหนบ้าง ที่ตีพิมพ์เรื่องแนวเดียวกับที่คุณเขียนอยู่ นั่นก็แปลว่า สนพ.มีแนวโน้มที่จะรับงานเขียนแนวนั้นมากกว่า สนพ.อื่น ควรเลือกส่งแนวเรื่องให้ตรงกับที่ สนพ. ต้องการ ไม่อย่างนั้น อาจจะทำให้เสียเวลาในการส่งต้นฉบับค่ะ
คำถามต่อมาที่มักจะพบบ่อยๆ คือ “ส่งต้นฉบับให้หลายๆ สนพ. ได้ไหม” คำตอบคือ “ไม่ควรค่ะ” นี่เป็นมารยาทในการส่งต้นฉบับ สิ่งที่ควรทำคือ เลือกสนพ.ที่คุณอยากพิมพ์งานด้วยมากที่สุดก่อน และส่งงานไป สอบถามไปว่า สนพ.ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาต้นฉบับนานแค่ไหน หลังจากนั้นก็รอค่ะ ถ้าครบกำหนดพิจารณาแล้ว ยังไม่ได้รับข่าวสาร ให้สอบถามไปยังสนพ.นั้น หากมีการเลื่อนการพิจารณา ก็สอบถามว่า จะเลื่อนนานแค่ไหน ถ้าหากคิดว่ารอได้ก็รอค่ะ แต่ถ้าคิดว่า ไม่อยากรอแล้ว ให้ถอนเรื่องออกจากสนพ.นั้น เพื่อส่งสนพ.อื่นต่อไป
เหตุผลที่ไม่สมควรส่งต้นฉบับ “หว่าน” ไปทุกสนพ.นั้น ก็เพราะว่า หากคุณได้รับการพิจารณาว่า “ผ่าน” พร้อมๆ กันทุกสนพ. จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ค่ะ ระยะเวลาในการพิจารณาผลงาน เมื่อก่อนนี้นานมากๆ โดยเฉพาะสนพ.ใหญ่ กินเวลาได้ถึง 6 เดือนหรือเกินหนึ่งปี ปัจจุบันนี้ สนพ.ส่วนใหญ่มีระยะเวลาการพิจารณางานที่สั้นลงมาก เท่าที่สังเกตดู ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3-6 เดือนค่ะ
2. การเตรียมส่งต้นฉบับ เมื่อเลือกสนพ.ได้แล้ว ก็เตรียมส่งต้นฉบับกันค่ะ สนพ. ส่วนใหญ่นิยมต้นฉบับที่เป็นต้นฉบับ “พิมพ์” ค่ะ มีบางที่ที่ยอมรับต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ ถ้าเขียนด้วยลายมือ ควรจะเป็นลายมือที่อ่านง่ายนะคะ สิ่งที่ควรแนบไปพร้อมกับต้นฉบับคือ 1. แนะนำตัวสักเล็กน้อย เพื่อให้ บก.ผู้พิจารณารู้จักคุณมากยิ่งขึ้น 2. เรื่องย่อของงานเขียน มาตรฐานต้นฉบับส่วนใหญ่แล้ว แต่ละสนพ.จะใกล้เคียงกัน
สำหรับกระทู้นี้ ไอซ์ขอยกมาตรฐานต้นฉบับของ สนพ.แจ่มใสมาให้ดูนะคะ เพราะว่าอิงจากเว็บไซต์ได้ง่ายค่ะ
มาตรฐานต้นฉบับ ((ของสนพ.แจ่มใส))
“1.จัดขอบบน ขอบล่าง ขอบซ้าย และขอบขวา ตามมาตรฐานที่โปรแกรม Word ตั้งไว้ คือ 2.54 ซม. สำหรับด้านบนและด้านล่าง และ 3.17 ซม. สำหรับด้านซ้าย และด้านขวา
2. ใช้ตัวอักษร Cordia New ขนาด 14 pt.
3. ไม่จำเป็นต้องเว้นบรรทัดทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้เว้นบรรทัดเฉพาะเวลาที่ต้องการขึ้นเรื่องราวใหม่หรือคั่นแต่ละฉาก แต่ละตอนของเรื่องสั้นเท่านั้น
4. เมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้ใช้ tab แทนการเคาะ space bar เว้นวรรค โดยระยะ tab ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่โปรแกรม Word ตั้งไว้ตั้งแต่แรก
5. หลังเครื่องหมายอัศเจรีย์, ปรัศนีย์, จุลภาค, ไม้ยมก, วงเล็บ และเครื่องหมายอัญประกาศ ให้เคาะเว้น 1 เคาะ
6. ทุกครั้งที่เว้นวรรคให้เคาะเว้นเพียงเคาะเดียวเท่านั้น
7. ตรวจเช็คคำ และตัวสะกดให้ถูกต้องที่สุด (โชว์ความรู้ภาษาไทยกันได้เต็มที่ค่ะ)”
การส่งงานให้นิตยสารพิจารณา ควรให้หมายเลขบัญชีลงในต้นฉบับด้วยค่ะ เพราะถ้าหากงานเขียนผ่าน จะง่ายต่อการจ่ายเงิน สิ่งที่อยากแนะนำเพิ่มเติมคือ ใช้ option ใน Microsoft Word ให้เป็นประโยชน์ เข้าไปตรง View -> Header and Footer … จะมีกล่องให้เติมข้อความด้านบน ซึ่งข้อความนี้จะปรากฎขึ้นทุกหน้าของไฟล์ ส่วนนี้สามารถใส่ – เลขที่หน้า – ชื่อเรื่อง – ชื่อผู้เขียน – e-mail และ/หรือ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ลงไปได้ ซึ่งจะมีประโยชน์มาก หากบก.ปริ้นท์ออกมาอ่านแล้ว ก็จะมีข้อมูลทุกอย่างพร้อมที่จะติดต่อกับนักเขียนได้ทันทีค่ะ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องต้นฉบับไปปนกับของคนอื่น หรือการสลับหน้าด้วย
3. การส่งต้นฉบับ เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ส่งต้นฉบับได้เลยค่ะ ปัจจุบันนี้ สนพ.ส่วนใหญ่รับพิจารณาผลงานทาง e-mail แล้ว แต่บางสนพ.ก็ยังอยากให้ส่งทางไปรษณีย์อยู่ ข้อมูล e-mail และ ที่อยู่ ของสนพ.ต่างๆ สามารถหาได้จากเว็บไซต์ของสนพ.นั้นๆ หรือในหนังสือที่สนพ.นั้นๆ ตีพิมพ์ออกมาค่ะ การส่ง e-mail ให้ cc ถึงตัวเองด้วย เพื่อเป็นหลักฐานว่า ได้ส่งเมล์นั้นจริงเมื่อวันที่เท่าไหร่ การส่งไปรษณีย์ ควรส่งเป็นสำเนาไปนะคะ เพราะสนพ.ส่วนใหญ่จะไม่คืนต้นฉบับ ก่อนส่งงานให้สนพ. ให้ส่งสำเนาปิดผนึกและเซ็นต์ลายเซ็นต์กลับมาตัวเองก่อน และไม่ควรแกะซองที่ส่งหาถือตัวเอง เผื่อถ้าเกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ขึ้นมา สิ่งนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานว่า คุณเป็นเจ้าของงานเขียนนั้นได้
4. การทำสัญญาและค่าตอบแทน เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ละสนพ.ก็จะมีการทำงานต่างๆ กันนะคะ ยังไงก็ควรจะสอบถามทางสนพ.ที่คุณส่งงานไปให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่องานเขียนผ่านการพิจารณา ก่อนตีพิมพ์ก็จะมีการเซ้นต์สัญญากันก่อน แต่ละสนพ.มีนโยบายแตกต่างกันออกไป อ่านสัญญาให้ละเอียด และทำความเข้าใจให้ดีๆ ค่ะ ถ้าคุณคิดว่ายอมรับได้ค่อยเซ็นต์ หรือถ้ามีข้อไหนสงสัย ให้สอบถามสนพ.ไปเลย อย่าเหนียมอายค่ะ
เรื่องค่าตอบแทนก็เช่นกัน แต่ละสนพ.มีมาตรฐานในการให้ค่าตอบแทนนักเขียนต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น สนพ.ใหญ่หรือเล็ก นักเขียนหน้าใหม่-เก่า มีชื่อเสียงไหม มีขั้นตอนการลงทุน จ่ายเงิน เก็บเงินอย่างไร ฯลฯ การจ่ายเงินก็เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้ว นักเขียนจะได้รับเงินหลังหนังสือออกวางขาย จะกี่เดือนกี่วันก็แล้วแต่สัญญาค่ะ มาตรฐานทั่วๆ ไปที่หลายๆ สนพ. จ่ายค่าตอบแทนให้นักเขียนคือ 10% * ราคาปก * จำนวนเล่มที่ตีพิมพ์ แต่ทั้งนี้เท่าที่เคยได้ยิน ราคาเปอร์เซ็นต์จะ vary ได้ตั้งแต่ 5-20% เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับ สนพ.และตัวนักเขียน ((เท่าที่ทราบนักเขียนดังๆ น้อยยยยคนมากๆ ค่ะที่จะได้เกิน 10%)) ซึ่งก่อนเซ็นต์สัญญา นักเขียนควรถามเรื่องค่าตอบแทนจากสนพ.ให้ชัดแจ้งก่อนนะคะ ^^
วิธีการเสนองานแปล
วิธีการเสนองานแปลก็คล้ายกับวิธีการเสนองานเขียนค่ะ
1. เลือกต้นฉบับ เลือกต้นฉบับเล่ม หรือแนว ที่คุณอยากแปล ควรเลือกต้นฉบับหนังสือที่ยังไม่เคยมีการแปลออกมาก่อนนะคะ * บางสนพ.จะมีการรับสมัครนักแปล โดยมีโจทย์ให้ลองแปลค่ะ ตรงนี้ต้องคอยติดตามจากเว็บไซต์สนพ.ต่างๆ นะคะ
2. การเตรียมต้นฉบับ คล้ายกับการส่งงานเขียนเหมือนกันค่ะ ฟอร์แม็ตต์ก็คล้ายๆ กัน ดังนั้นขอไม่เขียนซ้ำนะคะ ควรแนบประวัติของคุณ หน้าปก ((ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียน)) เรื่องย่อ – จุดเด่น ของเรื่องแปลที่เสนอไปด้วย แปลเป็นตัวอย่างบทแรกๆ ให้ บก.ผู้พิจารณาได้เห็นฝีมือและสำนวนการแปลของคุณค่ะ ส่วนใหญ่ไอซ์จะแนะนำที่ 1-3 บท แต่ก็ขึ้นอยู่กับความยาวของแต่ละบทด้วย … ส่วนตัวคิดว่าอย่างน้อยควรจะเกิน 10 หน้าน่ะค่ะ ส่ง copy ต้นฉบับภาษาอังกฤษในส่วนที่คุณแปลส่งไปด้วย เพื่อที่บก.จะได้เปรียบเทียบกับต้นฉบับแปลของคุณค่ะ
3. การส่งต้นฉบับ ก่อนอื่นเลยก็หาสนพ.ที่คุณอยากเสนองานแปลให้ หา e-mail หรือที่อยู่สำหรับส่งงาน ซึ่งคุณสามารถหาได้จากเว็บไซต์สนพ. หรือไม่ก็โทรศัพท์ไปถามได้ค่ะ การส่งงานก็มีทั้งการส่งงานทาง e-mail และไปรษณีย์ คล้ายกับงานเขียนเช่นเดียวกันค่ะ
4. การทำสัญญาและค่าตอบแทน เมื่อคุณผ่านการพิจารณาแล้ว คุณอาจจะได้แปลเรื่องที่คุณเสนอไป หรือได้แปลเรื่องอื่นๆ ที่สนพ.เสนอให้คุณแปลนะคะ อันนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการขอลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ และแผนงานของสนพ.ด้วย สำหรับสัญญาและค่าตอบแทนนั้น แต่ละสนพ.ก็มีมาตรฐานต่างๆ กันไปค่ะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างเช่นเดียวกัน เท่าที่เคยได้ยินมา ค่าตอบแทนของนักแปลจะอยู่ที่ 3-7% * ราคาปก * จำนวนเล่มที่ตีพิมพ์ ขึ้นอยู่กับ สนพ. ฝีมือ ((ความถูกต้องและสำนวน)) ชื่อเสียง ฯลฯ
นักแปลต้องขอลิขสิทธิ์เองหรือไม่?
ข้อสงสัยหนึ่งที่เกือบทุกคนที่สนใจงานแปลกังขากันมาก คือ “เรื่องของการขอลิขสิทธิ์” มีสารพัดคำถามว่า ต้องขอก่อนแปลมั้ย ค่าลิขสิทธิ์เป็นเท่าไหร่ ฯลฯ อยากจะบอกว่าจริงๆแล้วนักแปลไม่ต้องกังวลในส่วนนี้ แต่คงเพราะไม่ทราบขั้นตอนในการจัดทำหนังสือแปลก็เลยเกิดความสงสัย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติค่ะ
ขั้นตอนการทำหนังสือแปล มีอยู่ว่า เราต้องหาต้นฉบับมาแปลเสนอไปก่อน ไม่จำเป็นต้องวิตกเรื่องลิขสิทธิ์ตราบใดที่ยังไม่มีการตกลงตีพิมพ์ และถึงงานจะได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์แล้ว เราก็ไม่ต้องวิตกอยู่ดี เพราะหน้าที่ในการขอลิขสิทธิ์และการเจรจาตกลงตลอดจนชำระค่าลิขสิทธิ์เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ค่ะ ดังนั้น สรุปหน้าที่ตามขั้นตอนของนักแปล จึงเป็น
1. เสนองานให้สนพ.พิจารณา
2. แปลงานตามกำหนดที่สนพ.แจ้ง หลังผลงานผ่านการพิจารณา วิธีการส่งงานของแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน ทางสนพ.จะบอกเราเองเมื่อมีการว่าจ้างเกิดขึ้น
3. รอรับค่าตอบแทน
ง่ายๆ แค่นี้เองค่ะ ไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ให้ต้องกังวลเลย หน้าที่เรามีอย่างเดียวคือแปลให้ดีที่สุด
(ความเห็นเพิ่มเติมจากคุณ the grinning cheshire cat: จะมีบางสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่จะให้เป็นการเหมาตามแต่จะตกลงกันครั้งเดียว และบางที่อาจจะโหดไปกว่านั้นด้วยการนับตัวอักษร แล้วคำนวณราคาจ่ายเลยทีเดียว อยากให้รู้ไว้ก่อนค่ะ ถ้ายอมรับได้ก็รับ แต่ใจจริงอยากจะบอกว่าถ้ามีทางอื่นไป ก็จากเขามาเถอะค่ะ เพราะการจ่ายแบบนี้ลิขสิทธิ์บทแปลมักจะไม่ได้อยู่กับนักแปล ถ้าได้ตีพิมพ์ซ้ำก็จะไม่ได้เงินเพิ่ม ถ้านักแปลร่วมกันต่อสู้ไม่รับงานจากสำนักพิมพ์เหล่านี้ สักวัน (หวังว่าสักวัน) เขาคงจะเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากกว่านี้)