สวนโมกข์กรุงเทพฯ กับความซับซ้อนและย้อนแย้ง

เมื่อวานไปร่วมงานเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) มา ดูรูปทั้งหมดที่ผู้เขียนถ่ายได้จาก Flickr set หน้านี้)

ดาวน์โหลดไฟล์เสียงจากงานบางส่วนได้ที่นี่: พระไพศาล วิสาโล & ดร.ประเวศ วะสี [55MB], ศุ บุญเลี้ยง [26MB]

ดีใจที่เห็นคนหลายร้อยคนไปร่วมงานเปิด และดีใจที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ตัวอาคารเองก็ออกแบบมาสวยมากและให้บรรยากาศคล้ายกับโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่สวนโมกข์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะพื้นที่แห่งนี้หลังจากที่มีคนมาใช้แล้วจะสร้างบรรยากาศและแบบสวนโมกข์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ “สวนโมกข์” กับ “กรุงเทพฯ” มี “บุคลิกลักษณะ” ที่แตกต่างกันพอสมควรและกระทั่งตรงข้ามกันในหลายเรื่อง ดังนั้นในแง่หนึ่ง “สวนโมกข์กรุงเทพฯ” จึงย่อมให้บรรยากาศที่ซับซ้อนและย้อนแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (แต่ก็น่าจะบริหารจัดการไปในทางที่ดีได้ถ้าตั้งใจจริง)

ความรู้สึกนี้อธิบายด้วยคำพูดลำบาก ขอใช้ภาพบางภาพแทนคำพูดก็แล้วกัน

ขอเอาใจช่วยคณะทำงานอีกแรง 🙂

รูปหล่อสำริด อวโลกิเตศวร
รูปหล่อสำริดพระอวโลกิเตศวร สำนักงานใหญ่ ปตท. และร่มสีม่วงของธนาคารไทยพาณิชย์

มะพร้าวนาฬิเกร์?
มะพร้าวนาฬิเกร์ ที่กรุงเทพฯ ต้นยังเล็กอยู่ กลางสระของสวนรถไฟ มีคนพายเรือแคนูเช่าอยู่รายรอบ (ไม่อยู่ในรูป)

หนังสือในร้านหนังสือหอจดหมายเหตุ
หนังสือบางส่วนที่วางขายในร้าน “หนังสือและสื่อธรรมะ” ของสวนโมกข์กรุงเทพฯ : ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น, เดอะ ท็อป ซีเคร็ต, และ เดอะ ท็อป ซีเคร็ต II โดย ทพ. สม สุจีรา ทั้ง 3 เล่ม วางติดกับ ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ และ แผ่นดิบดับ โดย เขมานันทะ และ คันฉ่องส่องพุทธธรรม โดย ส.ศิวรักษ์