สังคม การเมือง และเศรษฐกิจไทยในอุดมคติของอาจารย์ป๋วย

คัดจาก เหลียวหลัง แลหน้า
โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2519

…ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์ป๋วยเขียนบทความนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว 🙁

แลดูสังคมไทยและอนาคตของไทย

ผมได้เคยพูดเคยเขียนไว้ที่อื่นว่า สังคมที่พึงปรารถนานั้นจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ คือ มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความชอบธรรม และ มีความเมตตากรุณา สมควรที่จะนำมากล่าวโดยย่อที่นี้ และประยุกต์กับสภาวะปัจจุบันของไทยเพื่อเป็นการชี้ช่องทางว่า เพื่ออนาคต เราทุกคนควรร่วมมือร่วมใจกันทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งสังคมในอุดมคติ

ในสังคมที่มีสมรรถภาพนั้น ผู้ปกครองสังคมนั้นจะต้องใช้หลักวิชาดำเนินการของรัฐในทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้สังคมนั้นดำเนินชีวิตไปโดยลงทุนน้อยที่สุด ได้ผลมากที่สุดตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใด วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ การแพทย์อนามัย วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ทั้งมวล และมนุษย์ศาสตร์ทั้งมวล ในการนี้ไม่เฉพาะข้าราชการหรือนักการเมืองชั้นปกครองเท่านั้นที่จะต้องมีความรู้ความสามารถ แต่ประชาราษฎรทั้งหลายไม่ว่าต่ำหรือสูงก็ต้องมีการศึกษาพอสมควร เพื่อจะได้มีความรู้ความสามารถคิดแก้ปัญหาของตน รู้จักให้ความคิดชั่งใจได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นการศึกษาและอนามัยของประชาราษฎรจึงมีความสำคัญอยู่มาก

สังคมจะมีสมรรถภาพได้ก็ต้องอาศัยไม่มีคมรั่วไหลและเหลวไหล ราษฎร พ่อค้า ข้าราชการเสียภาษีอากรกันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการรั่วไหล ข้าราชการไม่มีที่จะเบียดเบียนราษฎร ทำหน้าที่ตามกำลัง คือ ตำรวจก็จับผู้ร้าย ครูก็สอนนักเรียน นายอำเภอก็ดูแลทุกข์สุขของราษฎร เป็นขั้นๆ ไป เป็นต้น และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีการทุจริตล้างผลาญเงินหลวง หรือข่มขู่เอาเงินสินบนรางวัลจากพ่อค้าพาณิชย์ ในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้บัญญัติไว้ให้มีผู้ตรวจบัญชีของรัฐสภา ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันปราบปรามความทุจริตของข้าราชการ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ไม่มีการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกันนั้น มีผู้เสนอให้มีผู้ตรวจราชการของรัฐสภา เมื่อพิจารณากันก็ตกไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก เพราะถ้าหากมีผู้ตรวจบัญชีของรัฐสภาและผู้ตรวจราชการของรัฐสภาขึ้นจริงๆ ก็จะทำให้ความรั่วไหลและเหลวไหลที่มีอยู่ในวงราชการของไทยในปัจจุบันนี้ลดน้อยถอยลง ทำให้ประเทศไทยมีสมรรถภาพสูงขึ้น


คัดจาก เหลียวหลัง แลหน้า
โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2519

…ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์ป๋วยเขียนบทความนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว 🙁

แลดูสังคมไทยและอนาคตของไทย

ผมได้เคยพูดเคยเขียนไว้ที่อื่นว่า สังคมที่พึงปรารถนานั้นจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ คือ มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความชอบธรรม และ มีความเมตตากรุณา สมควรที่จะนำมากล่าวโดยย่อที่นี้ และประยุกต์กับสภาวะปัจจุบันของไทยเพื่อเป็นการชี้ช่องทางว่า เพื่ออนาคต เราทุกคนควรร่วมมือร่วมใจกันทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งสังคมในอุดมคติ

ในสังคมที่มีสมรรถภาพนั้น ผู้ปกครองสังคมนั้นจะต้องใช้หลักวิชาดำเนินการของรัฐในทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้สังคมนั้นดำเนินชีวิตไปโดยลงทุนน้อยที่สุด ได้ผลมากที่สุดตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใด วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ การแพทย์อนามัย วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ทั้งมวล และมนุษย์ศาสตร์ทั้งมวล ในการนี้ไม่เฉพาะข้าราชการหรือนักการเมืองชั้นปกครองเท่านั้นที่จะต้องมีความรู้ความสามารถ แต่ประชาราษฎรทั้งหลายไม่ว่าต่ำหรือสูงก็ต้องมีการศึกษาพอสมควร เพื่อจะได้มีความรู้ความสามารถคิดแก้ปัญหาของตน รู้จักให้ความคิดชั่งใจได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นการศึกษาและอนามัยของประชาราษฎรจึงมีความสำคัญอยู่มาก

สังคมจะมีสมรรถภาพได้ก็ต้องอาศัยไม่มีคมรั่วไหลและเหลวไหล ราษฎร พ่อค้า ข้าราชการเสียภาษีอากรกันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการรั่วไหล ข้าราชการไม่มีที่จะเบียดเบียนราษฎร ทำหน้าที่ตามกำลัง คือ ตำรวจก็จับผู้ร้าย ครูก็สอนนักเรียน นายอำเภอก็ดูแลทุกข์สุขของราษฎร เป็นขั้นๆ ไป เป็นต้น และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีการทุจริตล้างผลาญเงินหลวง หรือข่มขู่เอาเงินสินบนรางวัลจากพ่อค้าพาณิชย์ ในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้บัญญัติไว้ให้มีผู้ตรวจบัญชีของรัฐสภา ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันปราบปรามความทุจริตของข้าราชการ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ไม่มีการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกันนั้น มีผู้เสนอให้มีผู้ตรวจราชการของรัฐสภา เมื่อพิจารณากันก็ตกไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก เพราะถ้าหากมีผู้ตรวจบัญชีของรัฐสภาและผู้ตรวจราชการของรัฐสภาขึ้นจริงๆ ก็จะทำให้ความรั่วไหลและเหลวไหลที่มีอยู่ในวงราชการของไทยในปัจจุบันนี้ลดน้อยถอยลง ทำให้ประเทศไทยมีสมรรถภาพสูงขึ้น

อนึ่ง ใครๆ ก็พูดกันในสังคมไทยว่า ราชการปัจจุบันนี้ไม่มีสมรรถภาพเพราะระบบราชการไม่ดีอย่างหนึ่ง และมีการรวมอำนาจไว้ในเมืองหลวงจนเกินไปอีกอย่างหนึ่ง ระบบราชการไม่ดีเพราะมีการทำงานซ้ำซ้อนกัน เกี่ยงกันบ้าง แย่งกันบ้าง และหานโยบายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมิได้ การรวมอำนาจไว้ในเมืองหลวงแทนที่จะกระจายไปสู่ท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการในการที่จะพัฒนาประเทศให้ทั่วถึงกัน เรื่องทั้งสองนี้จะทิ้งช้าไว้ไม่ได้เพราะคล้ายกับสนิมนับวันจะกินระบบราชการ ให้กร่อนหย่อนสมรรถภาพขึ้นทุกที จึงควรที่พวกเราราษฎรทั้งหลาย มหาวิทยาลัย และรัฐบาล จะร่วมมือกันหาวิธีแก้ปัญหานี้ให้จงได้โดยรวดเร็ว

เสรีภาพในสังคม หมายความถึงเสรีภาพในการพูด การเขียน การคิด การชุมนุมกันโดยสันติและปราศจากอาวุธ เป็นต้น เสรีภาพเช่นว่านี้ไม่ใช่เสรีภาพในอันที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสื่อมเสียไป และข้อจำกัดเสรีภาพอีกข้อหนึ่งคือประโยชน์ส่วนรวม โดยความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่หรือโดยรัฐบาล ผู้เผด็จการย่อมอ้างถึงประโยชน์ส่วนรวมเสมอ แต่เป็นเรื่องประโยชน์ส่วนรวมที่ผู้เผด็จการวินิจฉัยว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย การเสียภาษีที่รัฐสภาซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาลงมติให้เสีย เป็นการจำกัดเสรีภาพที่ชอบธรรม

เสรีภาพมีคุณแก่สังคม เพราะในสังคมนั้นมีคนจำนวนมากความคิดความอ่านย่อมแตกแยกกันไป มนุษย์เรามีสมองด้วยกันทุกคน และความคิดอันประเสริฐของมนุษย์แต่ละคนไม่เลือกชั้นวรรณะหรือทรัพย์สมบัติ ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งนั้น เหตุไฉนเล่าเราจึงจะจำกัดเฉพาะความคิดเห็นของบุคคลส่วนน้อย ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลทั้งหลายแสดงความคิดเห็นตามทัศนนิยมของเขา จะได้มีโอกาสเลือกได้ว่าวิถีทางใดจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุดแก่ส่วนรวม

บางอาจารย์กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ว่าเป็นของคู่กับชีวิต คือ มนุษย์เราเกิดมาทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพมาตรฐาน ซึ่งเป็นของควบคู่มาโดยกำเนิด ใครทำลายล้างเสรีภาพย่อมเป็นผู้ที่เบียดเบียนรอนสิทธิของเพื่อนมนุษย์โดยไม่ชอบธรรม

สิทธิเสรีภาพนี้จะมีได้ก็แต่ในสังคมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เผด็จการไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวา (ฟาสซิสต์) หรือฝ่ายซ้าย (คอมมูนิสต์) ย่อมจำกัดเสรีภาพโดยอำเภอใจ เผด็จการฝ่ายขวามักจะห้ามไม่ให้คนของเขาทำการหนึ่งการใด เผด็จการฝ่ายซ้ายนอกจากจะห้ามมิให้ทำการหนึ่งการใด เช่น ตั้งพรรคการเมืองแล้ว ยังห้ามมิให้ไม่ทำการหนึ่งการใดด้วย เช่น จะเกียจคร้านก็ไม่ได้ต้องทำงานตามกำหนด คอมมูนิสต์มักจะอ้างว่า เขาเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม คือมีความเสมอภาคในหมู่ราษฎร แต่หาได้เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองและวัฒนธรรมไม่ ส่วนฟาสซิสต์นั้นไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม เราจึงไม่ควรรับเผด็จการทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย

ความชอบธรรมหรือที่มีผู้เรียกว่าความยุติธรรมนั้น หมายถึงว่าภายในสังคมนั้นมนุษย์ทุกคนเสมอกันในกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นลูกเศรษฐี ขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ประการใด ถ้าทำผิดกฏหมายต้องได้รับโทษ เช่น กระยาจก คนยากไร้ หรือถ้าทำดีก็มีรางวัลตอบแทนเสมอกัน ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง

ในสังคมที่มีความยุติธรรมนั้น เรื่องความสงบเรียบร้อยเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ทหาร ตำรวจ อัยการ ตุลาการ ต้องมีสมรรถภาพและทำงานด้วยความเอาใจใส่และเที่ยงธรรม ไม่มีการยัดเยียดความผิดให้แก่ราษฎร ไม่มีการจับยัดถังแดงและเผา ไม่มีการยิงทิ้ง ไม่มีการกล่าวหาใครๆ ว่าเป็นอะไรโดยปราศจากหลักฐานอันสัจจริง เช่น กล่าวหาว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ทหารต้องป้องกันประเทศอย่างซื่อสัตย์สุจริตไม่ใช่สร้างความแตกแยกในชาติ โดยพยายามใช้เงินภาษีอากรมาปราบราษฎรผู้เสียภาษีอากร ตำรวจต้องทำหน้าที่โดยปราศจากความหวาดเกรงต่ออิทธิพลทั้งหลายและไม่ลำเอียง ใครพกลูกระเบิดโดยผิดกฏหมายต้องจับกุมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอะไร ใครคิดปฏิวัติโดยใช้กำลังเป็นการกระทำผิดกฏหมายอาญาฐานเป็นกบฏ ก็ต้องจับกุม เพราะทหารและตำรวจเป็นที่พึ่งของราษฎร ไม่ใช่เป็นนายของราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาย่อมไม่มีความผิดจนกว่าจะหาหลักฐานได้ว่าผิดจริง ใครแจกใบปลิวชักจูงให้ใช้อาวุธหรือกล่าวหาคนอื่นว่าใช้อาวุธ ควรจะจับเพื่อจะให้ได้ต้นตอแห่งใบปลิวนั้น อัยการและตุลาการต้องทรงไว้ซึ่งเกียรติ อยู่เหนืออิทธิพลของเงิน ของการขู่เข็ญ และของอำนาจ

ในสังคมที่มีความชอบธรรมนั้น ใครทำดีจะได้ดี ใครทำชั่วจะได้ชั่ว นรกหรือสวรรค์อยู่ในชาตินี้เอง ไม่ต้องไปรอในชาติหน้า ผู้ที่ปลอมตัวว่าเป็นคนดีย่อมจะอยู่ในฐานคนดีอยู่ไม่นาน จะมีผู้ค้นพบในไม่ช้า

สังคมที่มีสมรรถภาพ เสรีภาพ และความชอบธรรม แต่ปราศจากความเมตตากรุณาย่อมเป็นสังคมที่ไม่สมบูรณ์ เพราะบุคคลในสังคมนั้นก็ยังแตกต่างกันไปโดยกำเนิด โดยกรรมพันธ์ และโดยสิ่งแวดล้อม คนเราบางคนเกิดมาง่อยเปลี้ยเสียขา ตาบอด หูหนวก หรือพิการอย่างอื่น ไม่ใช่ความผิดของเขา คนที่เกิดมาดีต้องช่วยเหลือเขา จะนึกผิดๆ ว่าเพราะ “ชาติก่อน” เขาทำมาไม่ดีจึงได้รับความทุกข์ในชาตินี้หาควรไม่ ความฉลาดหรือความโง่บางทีก็เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ซึ่งไม่แน่นอน คือพ่อฉลาด ลูกโง่ก็ได้ หรือกลับกัน เลือกไม่ได้ เด็กที่มีของเล่นย่อมได้เปรียบเด็กจนที่ไม่มีของเล่น เด็กที่เกิดมาในชนบทแร้นแค้น โรงเรียนไม่ดี ครูไม่ดี อุปกรณ์การเรียนไม่ดี ย่อมจะแข่งขันกับเด็กในเมืองที่มีโชควาสนาดีกว่ามิได้ เพราะฉะนั้นจะถือลัทธิสมรรถภาพและเสรีว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอาหาชอบไม่ คนที่มีวาสนาดีกว่าจึงควรเกื้อกูล ควรทำประโยชน์ และควรเฉลี่ยสุขให้แก่คนที่ไม่มีวาสนา

ที่กล่าวมานี้เป็นที่เรื่องที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ความยุติธรรมในสังคม มีความหมายกว้างกว่าการกระจายรายได้หรือการกระจายทรัพย์สิน เพราะความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินอย่างเดียว ในระบบสังคมที่ผู้หญิงแพ้เปรียบผู้ชาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมก็ต้องแก้ไขระบบ เครื่องมือหากินถ้าใครมิมีก็ต้องหยิบยื่นให้ การศึกษา การอนามัย และอาชีพเป็นเรื่องที่จะต้องให้แก่มนุษย์ทุกคน ความยากจนทำให้มนุษย์เสื่อมค่าของความเป็นมนุษย์ เรามีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งนั้น

ตรงกันข้ามกับความเมตตากรุณา คือการพิฆาตเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นซ้ายพิฆาตขวา หรือขวาพิฆาตซ้าย ย่อมเลวด้วยกันทั้งนั้น ในสภาพปัจจุบันในเมืองไทย ข้อที่น่าสังเกตก็คือฝ่ายที่เราเรียกกันว่าซ้าย คือ นิสิตนักศึกษา กรรมกร ชาวไร่ชาวนานั้น ไม่มีอาวุธ จะมีก็บางคนมีปืนไว้ป้องกันตัว แต่กระนั้นก็ยังมีบางโอกาสที่พวกฝ่ายนี้ขู่เข็ญว่าจะเผาตึกหรือทำลายทรัพย์สิน นี่ก็เป็นการกระทำอันมิชอบ แต่ฝ่ายที่เราเรียกว่าขวา คือ กระทิงแดง นวพล และกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายนั้น มักใช้อาวุธเป็นเครื่องขู่ขวัญฝ่ายตรงกันข้าม นั่นก็เป็นการกระทำอันมิชอบ และผิดกฏหมายอย่างชัดแจ้ง ถ้าใช้ความเมตตากรุณาเป็นหลัก ถึงจะแตกแยกกันอย่างไรก็จะเจรจาตกลงกันได้ด้วยสันติวิธี อาวุธไม่เคยแก้ปัญหาอะไรได้ในโลกนี้ มีแต่จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ความเมตตาเป็นสิ่งที่ค้ำจุนโลกอหิงสาและสันติทำให้สังคมมีความสุขได้

การใช้อาวุธประกอบกับความเท็จเป็นเครื่องมือนั้น แทนที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ กลับจะเป็นการเสริมสร้างพลังให้ศัตรูอย่างมาก เช่น คนที่ไม่เป็นคอมมูนิสต์แล้วเราเรียกเขาว่าเป็นคอมมูนิสต์ และขู่เข็ญว่าจะสังหารเขาด้วยอาวุธเพราะเป็นคอมมูนิสต์ ผู้ที่ถูกขู่เข็ญเกิดความหวาดกลัวหนีเข้าป่าไป ในป่าก็ต้องรับความช่วยเหลือทางอาวุธ อาหารและอื่นๆ จากคอมมูนิสต์ ในไม่ช้าก็ต้องเป็นพวกของคอมมูนิสต์ไปเป็นการเพิ่มกำลังให้คอมมูนิสต์ เราต้องการหรือไม่ กอ.รมน. คิดให้ดี ตัวอย่างในลาวและเขมรและญวนก็มีอยู่เป็นอันมาก ถ้ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จริง ก็ต้องคิดให้ดี ให้รอบคอบ

แลดูการเมืองและเศรษฐกิจของไทย

…ผมคิดว่าในระยะนี้ ใครจะเป็นรัฐบาล จะเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาไม่สำคัญ สำคัญอยู่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือจะคิดล้างประชาธิปไตย นักการเมืองทั้งหลายที่เลื่อมใสในระบบประชาธิปไตยควรจะหาวิธีให้โอกาสประชาธิปไตยหยั่งรากแก้วลง ให้ลึกให้มั่นคง แล้วจึงคิดเรื่องจะเป็นขวาหรือจะเป็นซ้าย จึงจะชอบ ควรจะละซึ่งทิฏฐิมานะหันหน้าเข้าหากันเป็นปึกเป็นแผ่นป้องกันลัทธิเผด็จการทั้งซ้ายและขวาให้ได้

วิธีหนึ่งที่จะให้รัฐบาลมีสถียรภาพในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้เห็นจะเป็นวิธีที่ให้พรรคที่ได้รับเลือกเข้าไปในสภาผู้แทนมากที่สุด สามหรือสี่พรรครวมกันเป็น รัฐบาลแห่งชาติ โดยมีเสียงในสภาเกินกว่าครึ่งมากพอสมควร ถ้าสี่พรรคไม่พอก็ห้าพรรค พรรคใดมีสมาชิกมากที่สุดให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคที่สมาชิกมากที่สองให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานสภา แล้วแบ่งหน้าที่ตำแหน่งรัฐมนตรีตามส่วนของจำนวนสมาชิกพรรค ไม่เลือกว่าพรรคใดเป็นขวาหรือซ้าย นโยบายร่วมของรัฐบาลผสมมีสามข้อ คือ (๑) เอกราชของประเทศ (๒) ความสงบเรียบร้อยของประชาชน (๓) การจัดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจน เรื่องอื่นไม่เป็นเรื่องสำคัญ และหลักสามประการนี้ก็เป็นที่รับรองในนโยบายของพรรคทั้งหลายอยู่ การที่ให้พรรคใหญ่ๆ เป็นรัฐบาลก็ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย และส.ส.ทั้งหลายก็จะหาวิธีขายตัวได้ยากขึ้น รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพพอสมควร ส่วนกลุ่มผลประโยชน์นอกสภาฯ เช่น กรรมกร นายจ้าง นิสิตนักศึกษา นวพล เหล่านี้ก็ยังดำเนินการอยู่ แต่ต้องเป็นไปโดยสันติปราศจากอาวุธ เรื่องโต้แย้งกันทั้งหลายให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสิน เมื่อตัดสินไปอย่างไรแล้วยอมรับมติของสภา ฯ ถ้าไม่ชอบใจก็ยกขึ้นว่ากันใหม่ในการประชุมสภาสมัยต่อไป อย่างนี้พรรคการเมืองทั้งหลายจะยอมตกลงไหม จะยอมเสียสละไหมเพื่อความมั่นคงผลประโยชน์ของชาติและของประชาธิปไตย

ผมได้เขียนไว้ตอนต้นว่า ผมเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือ ดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง ในระหว่างที่การลงทุนอุตสาหกรรมยังซบเซาอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นโอกาสแล้วที่รัฐบาลจะหาวิธีลงทุนทางเกษตรและทางสังคมสงเคราะห์ในชนบทให้มากขึ้น โดยไม่ต้องเกรงเงินจะเฟ้อ ปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันนี้ ได้แก่ การหาอาชีพให้แก่ราษฎรที่ไม่งานทำ กล่าวโดยย่อ ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้คนมีงานทำมากขึ้นในชนบท โจรผู้ร้ายก็จะลดน้อยลง คือ (๑) ปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง (๒) จัดรูปที่ดิน (๓) สนับสนุนราษฎรให้ปลูกพืชหลายฤดูด้วยการหาน้ำมาใช้และจัดงานตลาด (๔) จัดทำอุตสาหกรรมที่คาบเกี่ยวกับการเกษตรทั้งทางเครื่องมือการเกษตรและเอาผลิตผลทางเกษตรไปเป็นวัตถุดิบ (๕) ทำงานสังคมสงเคราะห์หนักมือขึ้นในชนบททั้งทางอุปโภคบริโภค บริการอนามัย การศึกษา วางแผนครอบครัว เป็นต้น (๖) ฝึกและอบรมคนให้ทำงานประเภทต่างๆ ข้างต้น

อาจารย์บางท่านบอกว่า ถ้าเรามัวแต่เอาใจใส่เรื่องความยุติธรรมทางสังคม จะทำให้ประเทศในส่วนรวมเจริญช้าลง ฉะนั้นจึงควรพัฒนาเศรษฐกิจเสียก่อน ถึงคนมีจะมีมากขึ้นคนจนจะจนลงก็ตาม ในไม่ช้าความเจริญก็จะลงมาถึงคนจนเอง เราได้ใช้วิธีนี้ ๒๐ – ๓๐ ปีแล้วปรากฏว่าไม่ได้ผล อาจารย์บางท่านอ้างว่า ความยุติธรรมในสังคมนั้นไม่ขัดกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเรามุ่งช่วยคนจน ปล่อยให้คนมั่งมีเขาช่วยตัวเอง ประเทศทั้งประเทศก็จะเจริญ บางประเทศได้เคยใช้วิธีนี้มาแล้ว แต่ประสบความล้มเหลว ผมเองเชื่ออย่างตำราหลังนี้ แต่เห็นว่าต้องใช้วิธีการให้ถูก วิธีการที่ถูกนั้น คือ วิธีหกประการที่ได้กล่าวมาข้างต้น.