สามประโยคและสองพฤติกรรมอันตรายที่กัดกร่อนสังคมไทยที่สุด (1)

[This is part one of a two-part article titled “three sentences and two social norms that are most corrosive in Thai society.” The three sentences are “everybody’s doing it,” “forget it (don’t bother),” and “a good man shouldn’t waste time/energy with this.” The two norms are “double standard” and “negligence.” Here I talk about the three sentences first, particularly how they may have resulted from significantly lower moral expectations and standards compared to 50 years ago.]

ยิ่งดูพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ก็ยิ่งรู้สึกอึดอัดใจกับความไม่ยินดียินร้าย ไม่แยแสของชนชั้นกลาง (ก็ชนชั้นเดียวกับเรานั่นแหละ) ที่มีต่อฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยอีก 50 ล้านคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองหลวง และความชอบธรรมของรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็สนใจจนเกินเลยกับวงการบันเทิงต่างๆ วิญญาณถูกดูดหายไปในวังวนแห่งมหกรรมบริโภคนิยม

ทำไม “ตาชั่งสังคม” ของเราถึงได้เอียงกะเท่เร่ขนาดนี้?

…ครั้นจะโทษเด็กว่าเสื่อมศีลธรรมลงกว่าสมัยก่อน ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะ “ผู้ใหญ่” หลายคนที่ปลิ้นปล้อนตลบตะแลง หลอกลวงคนอื่นเป็นนิสัย ควงเมียน้อยไปออกงานสังคม ก็ยังอยู่ดีกินดี ไม่เห็นจะอนาทรร้อนใจอะไร

ในเมื่อผู้ใหญ่ยังทำตัวแบบนี้ได้ จะไปคาดคั้นอะไรกับเด็ก ซึ่งเห็นแต่ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง?

…ครั้นจะโทษนามธรรมคลุมเครือที่เรียกกันว่า “ตะวันตก” ว่ามาครอบงำสังคมเราด้วยลัทธิบริโภคนิยม ยั่วยุให้เปิดประเทศเป็นทุนนิยมเสรีเต็มรูปแบบ (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ “เสรี” ขึ้นเฉพาะสำหรับผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่ใช่ทุกคนทุกระดับ) ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะไม่มีใครเอาปืนมาบังคับให้เราซื้อของ

ในเมื่อเราควักเงินอย่างเต็มใจ จะโทษใครได้นอกจาก “ความอยาก” ของตัวเองที่สะกดกลั้นมันไม่อยู่?

ดูเหมือนสังคมเรากำลังถูกกัดกร่อนด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่ง (ซึ่งท่านพุทธทาสอาจบอกว่าเป็น “โรคทางวิญญาณ”) อาการที่สาหัสที่สุดของโรคนี้แสดงให้เราเห็นผ่านสามประโยคที่ได้ยินหนาหู และอีกสองพฤติกรรมที่เห็นบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยมีใครยอมรับ:

สามประโยคที่ว่าคือ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” “ช่าง(หัว)มัน” และ “คนดีไม่ควรเปลืองตัว”

สองพฤติกรรมอันตรายนั้นคือ นิสัยปากว่าตาขยิบ (double standard) และนิสัยมักง่าย


[This is part one of a two-part article titled “three sentences and two social norms that are most corrosive in Thai society.” The three sentences are “everybody’s doing it,” “forget it (don’t bother),” and “a good man shouldn’t waste time/energy with this.” The two norms are “double standard” and “negligence.” Here I talk about the three sentences first, particularly how they may have resulted from significantly lower moral expectations and standards compared to 50 years ago.]

ยิ่งดูพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ก็ยิ่งรู้สึกอึดอัดใจกับความไม่ยินดียินร้าย ไม่แยแสของชนชั้นกลาง (ก็ชนชั้นเดียวกับเรานั่นแหละ) ที่มีต่อฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยอีก 50 ล้านคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองหลวง และความชอบธรรมของรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็สนใจจนเกินเลยกับวงการบันเทิงต่างๆ วิญญาณถูกดูดหายไปในวังวนแห่งมหกรรมบริโภคนิยม

ทำไม “ตาชั่งสังคม” ของเราถึงได้เอียงกะเท่เร่ขนาดนี้?

…ครั้นจะโทษเด็กว่าเสื่อมศีลธรรมลงกว่าสมัยก่อน ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะ “ผู้ใหญ่” หลายคนที่ปลิ้นปล้อนตลบตะแลง หลอกลวงคนอื่นเป็นนิสัย ควงเมียน้อยไปออกงานสังคม ก็ยังอยู่ดีกินดี ไม่เห็นจะอนาทรร้อนใจอะไร

ในเมื่อผู้ใหญ่ยังทำตัวแบบนี้ได้ จะไปคาดคั้นอะไรกับเด็ก ซึ่งเห็นแต่ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง?

…ครั้นจะโทษนามธรรมคลุมเครือที่เรียกกันว่า “ตะวันตก” ว่ามาครอบงำสังคมเราด้วยลัทธิบริโภคนิยม ยั่วยุให้เปิดประเทศเป็นทุนนิยมเสรีเต็มรูปแบบ (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ “เสรี” ขึ้นเฉพาะสำหรับผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่ใช่ทุกคนทุกระดับ) ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะไม่มีใครเอาปืนมาบังคับให้เราซื้อของ

ในเมื่อเราควักเงินอย่างเต็มใจ จะโทษใครได้นอกจาก “ความอยาก” ของตัวเองที่สะกดกลั้นมันไม่อยู่?

ดูเหมือนสังคมเรากำลังถูกกัดกร่อนด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่ง (ซึ่งท่านพุทธทาสอาจบอกว่าเป็น “โรคทางวิญญาณ”) อาการที่สาหัสที่สุดของโรคนี้แสดงให้เราเห็นผ่านสามประโยคที่ได้ยินหนาหู และอีกสองพฤติกรรมที่เห็นบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยมีใครยอมรับ:

สามประโยคที่ว่าคือ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” “ช่าง(หัว)มัน” และ “คนดีไม่ควรเปลืองตัว”

สองพฤติกรรมอันตรายนั้นคือ นิสัยปากว่าตาขยิบ (double standard) และนิสัยมักง่าย

ว่าเรื่องสามประโยคก่อนก็แล้วกัน จะต่อเรื่องสองพฤติกรรมอันตรายในอีก 2-3 วันข้างหน้า

….

“ใครๆ เขาก็ทำกัน”

รู้สึกสะกิดใจทุกทีที่ได้ยินคำตอบนี้ เวลาถามคนว่าทำไมเขาทำสิ่งที่เขาทำ (ถ้าไม่รำคาญคนตอบไปเลย)

เพราะมันเป็นคำตอบที่ไม่เคยมีเหตุผลในตัวเอง

ถ้าเราไม่สามารถหาคำตอบให้การกระทำของตัวเอง ที่ดีกว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน” แล้วละก็ ในที่สุดสังคมเราก็คงไม่สามารถแยกแยะระหว่างความชอบธรรมและความไม่ชอบธรรม ระหว่างความดีและความเลว และระหว่างสาระและเปลือกนอก ได้อีกต่อไป

ตัวอย่างของความล้มเหลวทางศีลธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกิดจากพฤติกรรม “ว่าไง ว่าตามกัน” อันปราศจากเหตุผล (herd mentality) แบบนี้ มีให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์ (ไม่ต้องอะไรมาก ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ และหุ้นดิ่งลงเหวหลายครั้งในรอบยี่สิบที่ผ่านมา ก็เกิดจากอารมณ์นี้แหละ)

ลองหยุดคิดกันดีไหมว่า หลายๆ อย่างที่เราทำเพราะ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” นั้น จริงๆ แล้วมัน “น่าทำ” หรือเปล่า มีเหตุผลขนาดไหน

ถ้ามันเป็นเรื่องเล็ก เช่นดูหนังฟังเพลง ก็คงไม่เป็นไรที่จะทำเพราะ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า คน “กระแสหลัก” เขาคิดเขาทำอะไรกันอยู่

(อีกอย่าง “หนังตลาด” ไม่ได้แปลว่า “หนังห่วย” เสมอไป หนังจะห่วยหรือไม่ห่วยมันอยู่ที่หนัง ไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเป็นหนังในหรือนอกกระแส ขายดีหรือไม่ดี)

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การคดโกง โกหก หลอกลวง คอร์รัปชั่น การใช้ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” เป็นเหตุผลนั้น ฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป

นอกจากฟังไม่ขึ้นแล้วยังเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะคำตอบแบบนี้แปลว่า เราสามารถลดหย่อน “มาตรฐาน” ทางศีลธรรม ได้อย่างไม่มีทีสิ้นสุด เพราะไม่อยากหาเหตุผลที่ดีกว่านี้ตั้งแต่แรก

…ถ้านักการเมืองขี้โกงไม่เป็นไร เพราะ “ใครๆ เขาก็โกง” แล้วละก็ เมื่อไหร่ที่การโกงนั้นจะ “เป็นไร” กับเรา? เมื่อโกงคนเดียวห้าร้อยล้าน? หนึ่งพันล้าน? ห้าเปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินนักการเมืองคนนั้น?

…ถ้าผู้ชายมีเมียน้อยไม่เป็นไร เพราะ “ใครๆ เขาก็มี” แล้วละก็ เมื่อไหร่ที่พฤติกรรมนี้จะ “เป็นไร” กับสังคม? เมื่อผู้ชายคนเดียวมีเมียน้อยเกินหนึ่งคน? สองคน? เมื่อลูกโตพอที่จะรับรู้ความจริง?

….

“ช่าง(หัว)มัน”

ประโยคนี้ – หรือถ้าตรงกว่าคือเวอร์ชั่นสุภาพ คือ “ไม่เป็นไร” – เป็นหนึ่งในคำพูดที่แสดงถึงนิสัย “ดี” ของ “คนไทย” อยู่ในหนังสือนำเที่ยวเมืองไทยภาษาอังกฤษแทบทุกเล่ม

เป็นประโยคที่นักท่องเที่ยวบอกว่าแสดงนิสัยไม่ซีเรียส ให้อภัย ใจดี ฯลฯ ของคนไทย

แต่ก็เหมือนกับทุกอย่างในโลก นิสัยอะไรใช้มากไปจนไร้เหตุผล อาจกลายเป็นผลร้ายต่อสังคมส่วนรวมได้

สังคมเราอาจก้าวพ้นเส้นแบ่งระหว่าง “ความน่ารัก” กับ “ความนิ่งดูดาย” ของนิสัยนี้ไปนานแล้ว – เรายักไหล่บอกว่า “ช่างมัน” สำหรับเรื่องร้ายทุกระดับ นับตั้งแต่ความซวยเล็กน้อยประจำวัน ไปจนถึงความไม่ยุติธรรมในสังคม และคอร์รัปชั่นระดับประเทศ

…ตอนนี้เราใช้ “ช่างมัน” ไม่ใช่เพราะเรา “ไม่คิดมาก” แต่เพราะเรา “ไม่อยากคิด” เรื่องที่เราบอกว่า “ปวดหัว” ซึ่งก็คือทุกเรื่องที่สำคัญในสังคม

…ตอนนี้เราใช้ “ช่างมัน” อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดกับตัวเราเอง แต่เกิดกับคนอื่น

ประโยคนี้เวอร์ชั่นวัยรุ่นเรียกว่า “ชิลล์ ชิลล์” หรือ “ขำๆ” เช่น “เอาน่า อย่าคิดมาก ชิลล์ ชิลล์”

เนื้อหาของ “สาระบันเทิง” ที่เราเสพอยู่ในปัจจุบัน เป็นอีกหลักฐานที่แสดงให้เห็นอันตรายของนิสัย “ไม่อยากคิด” ที่สะท้อนในประโยคนี้ ดังคำอธิบายจากคอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง ของคุณนันทขว้าง สิรสุนทร ที่ลงในเสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 ม.ค. 49:

“จากที่เรารับรู้กันว่า สาระบันเทิงก็คือ การเอา entertainment มาอยู่ร่วม กัน education (ที่เรียกกันเท่ๆ ว่า edutainment นั้นแล) แต่ไปๆ มาๆ คำว่าสาระบันเทิงของปี 2005 (ซึ่งก็คงก่อคลื่นมาสักระยะแล้วก่อนหน้านั้น) ก็ทำให้สังคมไทย “เข้าใจกันไปว่า” สาระบันเทิงคืออะไรก็ตามที่ต้องไร้สาระ เฮๆ ฮาๆ ชิลล์ ชิลล์ เบาๆ ไม่ต้องคิดมาก

ทีวีบ้านเราถึงมีรายการจำพวกเอาตลกมาพูดอะไรก็ได้ ที่รอให้คนดูทางบ้านขำบ้างไม่ขำบ้าง, แวดวงวรรณกรรมจึงยกย่องกันอย่างดาษๆ ต่อหนังสือที่ใครก็ตามมาเขียนเรื่องชีวิตตัวเอง, ภาพยนตร์ไม่ต้องพูดถึง ตลกเข้าไว้อะไรก็ได้

ผู้ผลิตวัฒนธรรมบันเทิงเหล่านี้ มักจะอ้างความชอบธรรมประการหนึ่งว่า สังคมเราเครียดแล้ว ควรจะหนุกหนาน ชิลล์ ชิลล์ เข้าไว้ ผมยอมรับว่าสังคมเราหรือสังคมไหนล้วนเครียดทั้งนั้น แต่เขาไม่แสดงออกด้วยการเสพหรือบริโภควัฒนธรรมเน่าๆ ตลอดเวลา พร้อมกับโบ้ยความรับผิดชอบให้ความเครียด

คำถามคือ เราบันเทิงกันมากพอหรือยัง หรือเราตีความหมายของคำว่าบันเทิงกันผิดๆ หรือเปล่า

เราคิดว่าการอ่านวรรณกรรมของ มาร์เควซ หรือเจน ออสติน เป็นเรื่องหนักหนา และการอ่านหนังสือแฉเป็นเรื่องบันเทิงหรือเปล่า

เราคิดว่าการดูหนังสารคดีเพนกวินอย่าง The Emperor’s Journey หนักหัวเกินไป ต้องดูแต่หลวงพี่เท่ง ใช่หรือเปล่า

ผมว่าสังคมไทยอาจจะถึงเวลาที่จะต้องกลับมาทบทวนและตีความคำว่าสาระบันเทิงกันอีกรอบ และคงต้องเรียกร้องตัวเราเอง ถึงการเสพอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าจริงๆ ไม่ใช่เอะอะก็บันเทิงๆ เพราะเจอเงื่อนไขเรียกร้องให้ต้องคิดนิดๆ หน่อยๆ ก็บอกว่าซีเครียด”

……

“คนดีไม่ควรเปลืองตัว”

ถ้าสองประโยคก่อนหน้านี้ กำลังทำให้ “คนไม่ดี” ได้ดิบได้ดีในสังคมไทย ประโยคนี้ก็กำลังทำให้ “คนดี” ไม่ออกมาช่วยสังคม ปราบปรามคนไม่ดีเท่าที่ควร

ได้ยินประโยคนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลาคุยกับญาติสนิทมิตรสหายว่าคนโน้นคนนี้ควรไปเล่นการเมือง จะต้องมีใครซักคนพูดขึ้นทำนองว่า “การเมืองมันสกปรก คนดีอย่างเขาไม่ควรไปยุ่งหรอก” แล้ววงสนทนาก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเรื่อง ราวกับว่าคำตอบนี้เป็น “คำตอบสุดท้าย” เป็น “ธรรมชาติ” ของสังคมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

แต่จริงๆ แล้ว น่าคิดว่า มาตรฐานที่สังคมตั้งให้ “คนดี” นั้น ลดน้อยถอยลงจากอดีตมาเรื่อยๆ จนกระทั่งความหมายของ “คนดี” แปรเปลี่ยนจาก “คนที่บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่นช่วยเหลือผู้อื่น” เป็น “คนที่มีจิตใจดีงามบริสุทธิ์ ไม่ข้องแวะกับคนเลว” หรือไม่?

ถ้าจริง เราย่นย่อมาตรวัดความดี จาก “การกระทำ” เป็น “สภาพจิตใจ” ตั้งแต่ตอนไหน?

ความคิดแบบนี้คล้ายกับหลายคนที่บอกว่า พระสงฆ์ไม่ควรวิจารณ์เรื่อง “ทางโลก” เพราะไม่ใช่ “กิจของสงฆ์”

ถ้า “กิจของสงฆ์” ไม่ใช่การดูแลระดับศีลธรรมของสังคม ทักท้วงเมื่อเห็นคนทำผิดแล้วละก็ อะไรคือ “กิจของสงฆ์”?

ระหว่างพระนักปฏิบัติที่เสียสละเวลาส่วนตัวมาติดตามข่าวบ้านเมือง ประจานคนเลวให้สังคมเห็นผ่านสื่อต่างๆ กับพระธุดงค์ที่ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการบำเพ็ญพรตส่วนตัว พระรูปไหนน่าเคารพนับถือน้อยกว่ากัน อะไรเป็นเหตุผลให้เรา “ฟังธง” ได้อย่างนั้น?

ถ้า “คนดี” คือคนจิตใจบริสุทธิ์ที่ไม่เคยเกลือกกลั้วกับสิ่งสกปรกหรือคลุกคลีกับคนเลว – นั่นคือ กระทำสิ่งที่เราเรียกว่า “เปลืองตัว” – เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขา “ดี” จริง? เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เขา “ดีพอ” ที่จะไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจ เงิน หรือการชักจูงของคนเลว?

เหมือนซื้อสินค้าที่โฆษณาว่า “กันน้ำ 100%” – เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจริง จนกว่าเราจะเอาของนั้นไปลงน้ำ?

หรือเราต้องการเอา “คนดี” ขึ้นหิ้งไว้เคารพบูชา ชี้ให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างอย่างเดียว โดยไม่ส่งเสริมให้เขาทำอะไรที่เป็นการเสียสละเพื่อสังคม มากไปกว่านั้น?

หรือว่า “ความมั่งคงหนักแน่นในคุณธรรม” ที่ฝรั่งเรียกว่า integrity ไม่เป็นคุณธรรมที่สำคัญสำหรับสังคมเราอีกต่อไป?

คำถามเหล่านี้ใครตอบได้ หรือกล้าตอบ?

ในวรรณกรรมกรีกโบราณ วีรบุรุษทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอาคีลีส โอดีซุส เปอร์ซุส เฮกเตอร์ จะต้องผ่านวิบากกรรมมากมาย และทุกเรื่องจะต้องจบลงด้วยความตายของพวกเขา

เพราะชาวกรีกโบราณเชื่อว่า สังคมไม่ควรเรียกใครเป็น “วีรบุรุษ” (hero) จนกว่าจะเห็นเขาใช้ชีวิตทั้งชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องใช้พฤติกรรมชั่วชีวิตในการประเมินว่า เขาเป็น “วีรบุรุษ” หรือไม่

คนที่ทำความดีเพียงหนึ่งชั่วโมง หนึ่งปี แล้วใช้เวลาที่เหลือทำความเลว ย่อมไม่คู่ควรกับคำว่า “คนดี”

วรรณกรรมกรีกโบราณที่เล่าเรื่องวีรบุรุษ จึงเป็น “โศกนาฏกรรม” ทุกเรื่อง เพราะต้องจบลงด้วยความตายของวีรบุรุษเสมอ

ผิดกับสมัยนี้ ที่เราใช้คำว่า “วีรบุรุษ” กันอย่างง่ายดาย ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ที่ทำตามหน้าที่ หรือแม้แต่ ตาย ในหน้าที่ ก่อนที่จะได้ทำอะไร ก็เป็นวีรบุรุษได้แล้ว

ถ้าเราไม่เรียกร้องให้ “คนดี” ทั้งหลายของสังคม “ทำความดี” เพราะกลัวเขา “ลำบาก” หรือกลัวว่าเขาจะกลายเป็น “คนเลว” ละก็ เราจะไว้ใจให้ใครทำหน้าที่จัดการกับคนเลว?

เพราะการทำความดีนั้น โดยธรรมชาติก็เป็น “ความลำบาก” อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการไม่ทำอะไร – ลองนึกดู แค่เราล้วงกระเป๋าหาเศษสตางค์ให้ขอทาน ก็ “ลำบาก” กว่าอยู่เฉยๆ ตั้งไม่รู้กี่เท่า

“สิ่งเดียวที่จำเป็นต่อชัยชนะของอธรรมคือ เมื่อคนดีไม่ทำอะไร”

(The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.)

ใช่ ธรรมะย่อมชนะอธรรม – แต่ในภาวะที่อธรรมเถลิงอำนาจบาตรใหญ่ ธรรมะย่อมต้องสำแดงพลังออกมาปราบอธรรม มิใช่อุดอู้อยู่แต่ในใจคน.