สิทธิ หน้าที่ และธรรมะ : “สาระ” ของประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

คำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึงหมู่คนคือปวงชน กับคำว่า “อธิปไตย” หมายถึงความเป็นใหญ่

คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน”

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”

ทั้งนี้ พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมิติได้ ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อยซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่งหรือ “อภิสิทธิ์ชน” แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวโดยไม่มีหน้าที่มนุษยชน แบบการปกครอง[แบบนั้น]ก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย

– จาก “ประชาธิปไตย” เบื้องต้นสำหรับสามัญชน โดย ปรีดี พนมยงค์

ประชาธิปไตย ถ้าว่าประชาชนหรือคนแต่ละคนมันไม่มีศีลธรรมแล้วมันก็วินาศแหละ วินาศในเวลาอันสั้น, ถ้าประชาชนทุกคนไม่มีศีลธรรมแล้วเอามาเป็นใหญ่สำหรับปกครองบ้านเมือง พักเดียวมันก็ทำวินาศหมด เราต้องมีประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม เรียกว่าธัมมิกประชาธิปไตย นี้เกี่ยวกับการปกครอง ธัมมิกสังคมนิยม นั้นมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ, ถ้าธัมมิกประชาธิปไตย นี้มันเกี่ยวกับการปกครอง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของคนเห็นแก่ตัว เอาคนที่เห็นแก่ตัว เต็มอัดทุกๆ คน มาเป็นระบบปกครองเป็นประชาธิปไตย มันก็ฆ่ากันตายหมดแหละ ด้วยความต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว. ฉะนั้นประชาธิปไตยต้องจำกัดความให้ดีๆ ว่าต้องของประชาชนที่มีศีลธรรม เลยต้องใช้คำว่า ธัมมิกประชาธิปไตย, มีธรรมเป็นหลัก มีความถูกต้องเป็นหลัก อย่าเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ธรรมะ, เห็นแก่ธรรมะ แล้วก็อย่าเห็นแก่ตัว นี่เรียกว่า มีธรรมะเป็นหลัก มีระบบการปกครองชนิดนี้ แล้วก็จะมีการปกครองสังคม หรือโลกให้มีสันติภาพได้โดยง่าย.

– จาก สัมภาษณ์พิเศษ ‘พุทธทาสภิกขุ’ : การเมืองเรื่องศีลธรรม