เพิ่งกลับจากไปบรรยายเกี่ยวกับบล็อกเกอร์ในหัวข้อ “สื่อทางเลือกในโลกยุคใหม่” ให้กับนักข่าวพลเมืองด้านพลังงาน ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนชุมชนกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในหลายกรณี (มาบตาพุด แก่งคอย แม่เมาะ) ว่าไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของประชาชนผู้อยู่อาศัยในชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว รัฐไม่เคยสั่งให้บริษัทผู้ดำเนินโครงการจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและทางสุขภาพของประชาชน
ในเมื่อสื่อกระแสหลักหลายช่องและหลายฉบับ “ลดตัว” ลงไปเป็นเพียงพีอาร์ของบริษัทที่ทุ่มเงินซื้อโฆษณา (และซื้อตัวนักข่าวไปเขียนพีอาร์ให้) ผู้เขียนคิดว่าอีกไม่นาน “สื่อทางเลือก” อย่างอินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป หากเป็นสื่อที่ประชาชนผู้เดือดร้อนต้องสร้าง และประชาชนผู้สุขสบายต้องเสพ ถ้าอยากจะรู้เท่าทันความเป็นไปในโลกยุคโลกาภิวัตน์
ขอขอบคุณประชาไท และมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ที่จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้นเพื่อสอนคนให้หาปลาเป็น แทนที่จะแจกปลาให้เขากิน ผู้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ล้วนเป็นตัวแทนชุมชนผู้มีความกล้าหาญและ “รู้จริง” เกี่ยวกับปัญหาของชุมชน อีกไม่นานหวังว่าจะได้เห็นบล็อกใหม่ๆ ในโลกไซเบอร์ที่ไม่มีการนำเสนอประเด็นดัดจริตๆ ของคนกรุงเทพฯ ที่สบายเกินไป อย่างเช่นเจ้าของบล็อกนี้เป็นต้น 😀
ขอเชิญดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายที่ใช้ได้ที่นี่ (อยู่ในหน้า Writings ของบล็อกนี้แล้ว): สไลด์ประกอบการบรรยาย (PDF version) และ Powerpoint version เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้
ถ้าไม่อยากดาวน์โหลดสไลด์ ลองอ่านออนไลน์จาก Slideshare.net ข้างล่างก็ได้: