สุดยอดบทวิจารณ์วรรณกรรม / อคติของ “คนกรุง” ที่มีต่อ “คนบ้านนอก”

อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง เพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” ของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิจารณ์วรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยจบเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากดองเปรี้ยวมานานจนจะกลายเป็นเค็มอยู่แล้ว ชอบมากจนต้องขึ้นบัญชี “หนังสือในดวงใจตลอดกาล” ไปเลย เพราะอ. ชูศักดิ์เขียนเก่งมาก อ่านสนุกทุกตอน ภาษาอ่านรู้เรื่อง ไม่ใช่ภาษาวิชาการหนักๆ อย่างที่คิดไว้ตอนแรก

หนังสือแต่ละเล่มที่อาจารย์ชูศักดิ์หยิบขึ้นมาวิจารณ์ ล้วนเป็นหนังสือดีที่มีความน่าสนใจในตัวมันเอง แต่จุดที่ทำให้ชอบ “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” ที่สุด คือการที่อาจารย์เชื่อมโยงวรรณกรรมทั้งไทยและเทศเข้ากับบริบททางสังคม วัฒนธรรม จิตวิทยา ฯลฯ ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อชี้ให้เห็นว่าวรรณกรรมนั้นสื่อสภาพสังคมแบบไหน และการอ่านระหว่างบรรทัดนั้นสอนอะไรเราได้บ้าง นับเป็นการสรุป “บทเรียนจากหนังสือ” ที่น่าประทับใจที่สุดตั้งแต่อ่านหนังสือมา (ใครอยากอ่านบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เต็มๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ขอแนะนำบทวิจารณ์ของคุณ Faylicity)

บทที่ผู้เขียนชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ คือบทวิจารณ์หนังสือเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา บทวิจารณ์ “คนนอก” (L’Etranger) ของอัลแบร์ กามูส์ และบทวิจารณ์เรื่องสั้นแนว “เพื่อชีวิต” สองเรื่อง คือ “เหมือนอย่างไม่เคย” และ “มีแต่พวกมัน” ซึ่งเรื่องหลังสุดนี้ทำให้นึกถึงประเด็นเกี่ยวกับ “การต่อสู้ระหว่างชนชั้น” ที่เคยเขียนถึงในบล็อกนี้นานแล้ว ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียนไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายได้ว่าเราต้องแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ กระบวนการมีส่วนร่วม การศึกษา ฯลฯ อย่างไรบ้าง เพื่อให้ประเทศไทยในอนาคต “ดีกว่า” ประเทศไทยในวันนี้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด การกำจัดอคติของชนชั้นกลางที่มีต่อคนจน น่าจะอยู่ในขั้นตอนแรกๆ ที่เราต้องทำ และไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้

เพราะตราบใดที่ในทัศนคติของคนไทย ประเทศไทยยังมีแค่สองจังหวัดเท่านั้น คือ “กรุงเทพฯ” กับ “บ้านนอก” และตราบใดที่คำว่า “บ้านนอก” ยังแฝงนัยยะในแง่ลบมากกว่าแง่บวก และเต็มไปด้วยอคติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ล้าหลัง เฉิ่ม ลาว โง่ ช้า ไม่เจริญ ฯลฯ แนวคิดเรื่อง “การกระจายความเจริญ” ก็ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น นอกจากโวหารสวยหรูที่รัฐบาลเอาไว้หลอกซื้อเสียงเท่านั้น


อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง เพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” ของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิจารณ์วรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยจบเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากดองเปรี้ยวมานานจนจะกลายเป็นเค็มอยู่แล้ว ชอบมากจนต้องขึ้นบัญชี “หนังสือในดวงใจตลอดกาล” ไปเลย เพราะอ. ชูศักดิ์เขียนเก่งมาก อ่านสนุกทุกตอน ภาษาอ่านรู้เรื่อง ไม่ใช่ภาษาวิชาการหนักๆ อย่างที่คิดไว้ตอนแรก

หนังสือแต่ละเล่มที่อาจารย์ชูศักดิ์หยิบขึ้นมาวิจารณ์ ล้วนเป็นหนังสือดีที่มีความน่าสนใจในตัวมันเอง แต่จุดที่ทำให้ชอบ “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” ที่สุด คือการที่อาจารย์เชื่อมโยงวรรณกรรมทั้งไทยและเทศเข้ากับบริบททางสังคม วัฒนธรรม จิตวิทยา ฯลฯ ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อชี้ให้เห็นว่าวรรณกรรมนั้นสื่อสภาพสังคมแบบไหน และการอ่านระหว่างบรรทัดนั้นสอนอะไรเราได้บ้าง นับเป็นการสรุป “บทเรียนจากหนังสือ” ที่น่าประทับใจที่สุดตั้งแต่อ่านหนังสือมา (ใครอยากอ่านบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เต็มๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ขอแนะนำบทวิจารณ์ของคุณ Faylicity)

บทที่ผู้เขียนชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ คือบทวิจารณ์หนังสือเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา บทวิจารณ์ “คนนอก” (L’Etranger) ของอัลแบร์ กามูส์ และบทวิจารณ์เรื่องสั้นแนว “เพื่อชีวิต” สองเรื่อง คือ “เหมือนอย่างไม่เคย” และ “มีแต่พวกมัน” ซึ่งเรื่องหลังสุดนี้ทำให้นึกถึงประเด็นเกี่ยวกับ “การต่อสู้ระหว่างชนชั้น” ที่เคยเขียนถึงในบล็อกนี้นานแล้ว ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียนไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายได้ว่าเราต้องแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ กระบวนการมีส่วนร่วม การศึกษา ฯลฯ อย่างไรบ้าง เพื่อให้ประเทศไทยในอนาคต “ดีกว่า” ประเทศไทยในวันนี้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด การกำจัดอคติของชนชั้นกลางที่มีต่อคนจน น่าจะอยู่ในขั้นตอนแรกๆ ที่เราต้องทำ และไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้

เพราะตราบใดที่ในทัศนคติของคนไทย ประเทศไทยยังมีแค่สองจังหวัดเท่านั้น คือ “กรุงเทพฯ” กับ “บ้านนอก” และตราบใดที่คำว่า “บ้านนอก” ยังแฝงนัยยะในแง่ลบมากกว่าแง่บวก และเต็มไปด้วยอคติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ล้าหลัง เฉิ่ม ลาว โง่ ช้า ไม่เจริญ ฯลฯ แนวคิดเรื่อง “การกระจายความเจริญ” ก็ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น นอกจากโวหารสวยหรูที่รัฐบาลเอาไว้หลอกซื้อเสียงเท่านั้น

ตราบใดที่ชนชั้นกลางจำนวนมากเรียกการชุมนุมประท้วงไล่นายกฯ ของตัวเองว่า “การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” แต่ไม่เคยสนใจการประท้วงของคนจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อน ที่ดินทำกิน ราคาพืชผล ฯลฯ แถมมองอย่างดูแคลนว่าการประท้วงของพวกเขา “น่ารำคาญ”, “กีดขวางทางจราจร” หรือที่แย่ที่สุดคือทัศนคติประเภท “พวกนี้ถูกจ้างใ้ห้มาประ้ท้วงแน่ๆ ไม่งั้นไม่มาหรอก”…

ตราบใดที่ชนชั้นกลางจำนวนมากดูถูกคนชนบทว่า “โง่” (ซึ่งโดยนัยเปรียบเทียบแปลว่าตัวเอง “ฉลาด”) เพราะคนชนบทไม่เข้าใจเรื่องคอร์รัปชั่น คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย และเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้คนกรุงลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาล ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านั้น “ไกลตัว” คนจนมากๆ และถ้าให้คนกรุงไปอยู่ชนบท คนกรุงส่วนใหญ่ก็คง “โง่” เหมือนกัน (มีคนกรุงเทพฯ กี่คนที่ทำนาเป็น?) …

ตราบใดที่ชนชั้นกลางไทยยังมีนิสัย “เลือกปฏิบัติ” และใช้ชุดหลักการของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของคนชนบท (แม้ว่าอาจ “หวังดี” ต่อพวกเขาจริงๆ เหมือนกับนักศึกษาในเรื่อง “เหมือนอย่างไม่เคย” ที่ไปสร้างศาลาประชาคมที่ชาวบ้านไม่เคยใช้) “ช่องว่างทางวัฒนธรรม” ระหว่างชนชั้นที่อ. ชูศักดิ์ชี้ให้เห็นว่ายังมีอยู่จริง ผ่านบทวิจารณ์เรื่องสั้นสองเรื่อง ก็จะยังคงเป็นเครื่องกีดขวางความเจริญที่เรามองไม่เห็น แต่มีอิทธิพลมหาศาล

เพราะ “ความเจริญ” ของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยอคติ พฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” และ “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ของคนกรุง เป็นความเจริญแบบ “หัวโตตัวลีบ” ที่เห็นชัดจากสัญญะและนัยยะของคำสองคำคือ “กรุงเทพฯ” และ “บ้านนอก” จะเรียกว่าเป็นความเจริญที่ยั่งยืน และเป็นธรรมกับคนไทยทั้งประเทศได้อย่างไร?

ขอเชิญอ่านบทวิจารณ์ชิ้นเอกของ อ.ชูศักดิ์ ที่ตีแผ่ประเด็นเหล่านี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง โดยไม่จำเป็นต้องอ่านตัวบทที่อาจารย์วิจารณ์มาก่อน (ขอขอบคุณ สายป่าน น้องที่ทำงานเก่าที่อุตส่าห์นั่งพิมพ์ให้จากหนังสือ)

ใครที่ยังเข้าใจผิดว่าวรรณกรรมไม่ทำประโยชน์ใดๆ ต่อสังคม อาจเปลี่ยนความคิดเมื่อได้อ่านข้อเขียนชิ้นนี้

……

เหมือนอย่างไม่เคย… มีแต่พวกมัน จากวิทยากร เชียงกูล ถึง วัน ณ จันทร์ธาร
จากหนังสือ “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

เธอสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงหญิงสาวคนหนึ่งอุทานกับเพื่อนของเธอว่า ‘แหมอากาศที่นี้ช่างดีจริงนะ’ เป็นประโยคที่นำความแปลกใจมาสู่เธอไม่น้อย เธอไม่เคยได้ยินใครเขาพูดกันด้วยประโยคนี้มาก่อนเลยในหมู่บ้านที่เธออาศัยเติบโตมาเป็นเวลา 12-13 ปี
– วิทยากร เชียงกูล, “เหมือนอย่างไม่เคย” (2511), รวมพิมพ์ใน ฉันจึงมาหาความหมาย

ดีจังที่ได้มาเข้าค่าย ได้เห็นดาวสว่างเต็มฟ้า ฟ้าเข้มเหลือเกิน มีดาวมากขนาดนี้เชียวหรือ รุ่นพี่ล้อมวงเล่นกีตาร์ร้องเพลงอยู่ข้างกองฟาง… เจ้าเคนตัวแสบนอนหลับอุตุอยู่ข้าง ๆ เขาว่าดาวก็เป็นแบบนี้ทุกวัน ไม่เห็นน่าตื่นเต้น
– วัน ณ จันทร์ธาร, “มีแต่พวกมัน” (2543) รวมพิมพ์ใน สนามหญ้า

แม้เวลาจะห่างกันถึง 30 กว่าปี แต่ทัศนคติของ “คนเมือง” ที่มีต่อชีวิตชนบทดังปรากฏในเรื่องสั้นทั้งสองข้างต้น แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ชนบทในสายตาคนเมืองคือดินแดนในอุดมคติ ผู้คนมีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความจริงใจต่อกันและกัน ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ ฟ้าสีฟ้า น้ำใสสะอาด อากาศปลอดมลพิษ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น คนเมืองผู้ถือว่าตัวเองเป็นผู้เจริญกว่ามักจะมองว่าชนบทคือดินแดนแห่งความยากจน อดอยาก ล้าหลัง อ่อนแอ และรอคอยให้พวกเขายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือโอบอุ้มค้ำชู ทัศนคติของคนเมืองที่มีต่อชนบทในสองลักษณะดังกล่าวคือประเด็นหลักที่นำเสนอใน “เหมือนอย่างไม่เคย” ของวิทยากร เชียงกูล และนำมาขานรับต่อใน “มีแต่พวกมัน” ของ วัน ณ จันทร์ธาร

“เหมือนอย่างไม่เคย” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ชัยพฤกษ์นักศึกษาประชาชน ปี 2511 ภายหลังได้นำมารวมพิมพ์ใน ฉันจึงมาหาความหมาย (2514) หนังสือรวมบทกวี เรื่องสั้น และบทละคร ที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ได้ดีที่สุด จนมีการนำชื่อหนังสือมาใช้เรียกยุคสมัยนี้ว่า “ยุคฉันจึงมาหาความหมาย”

เรื่องสั้นชิ้นนี้โดดเด่นจากบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มเดียวกันทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่อง กล่าวคือในขณะที่เรื่องสั้นชิ้นอื่น ๆ มุ่งถ่ายทอดความรู้สึกแปลกแยกของคนหนุ่มสาวที่มีต่อชีวิตและสังคมสมัยใหม่ แต่ “เหมือนอย่างไม่เคย” เลือกนำเสนอช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท ผ่านเรื่องราวของนักศึกษาจากกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปช่วยพัฒนาหมู่บ้านแร้นแค้นในต่างจังหวัด พวกเขาได้ช่วยกันสร้างศาลาประชาคมขึ้นมาหลังหนึ่งเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและจัดกิจกรรมสันทนาการในยามว่างเพราะเชื่อว่าศาลาประชาคมจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน โดยพวกเขาไม่เคยฉุกคิดว่านี่คือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่

ศาลาประชาคมที่ “ยืนตระหง่านอยู่กลางทุ่งเหมือนกับสัตว์ตัวมหึมา” (หน้า 143) โดยไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าเข้าไปใช้ ยกเว้นฝูงควายที่เข้ามาหลบแดดเป็นบางครั้ง จึงกลายเป็นประจักษ์พยานประจานความล้มเหลวของนักศึกษาที่ทำตัวเป็น “พระมาโปรดสัตว์ผู้ทุกข์ยากในชนบท” ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงช่องว่างทางวัฒนธรรมและความคิดระหว่างเมืองและชนบทที่จะไม่มีวันหายไปโดยง่าย

สิ่งที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้น่าจดจำเป็นพิเศษคือการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของทองม้วน เด็กหญิงในหมู่บ้าน การเล่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษาผ่านสายตาแบบไร้เดียงสา ช่วยทำให้เราตระหนักถึงช่องว่างวัฒนธรรมและวิถีชีวิตระหว่างนักศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของ “เมือง” และชาวบ้านซึ่งเป็นตัวแทนของ “ชนบท” ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเห็นถึงความน่าขบขัน (ที่บางครั้งขันไม่ออก) ของทัศนคติ “คนเมือง” ที่มีต่อชาวบ้านและวิถีชีวิตในชนบท

เป็นต้นว่า ทองม้วนเล่าถึงการแต่งตัวของพวกนักศึกษาที่ต้องการจะให้แลดูเหมือนชาวบ้านไว้ว่า “พวกผู้ชายใส่เสื้อคอกลม สีหม่น ๆ มีเชือกผูกแทนกระดุม เป็นเสื้อชนิดที่เธอไม่เคยเห็นใครในหมู่บ้านเขาใส่กัน บางคนก็เอาผ้าขาวม้ามาเคียนเอวซึ่งก็ทำให้ดูแปลกออกไปอีก พวกผู้หญิงใส่เสื้อกระบอก นุ่งซิ่นไหม เป็นเครื่องแต่งตัวชนิดที่ไม่มีใครในหมู่บ้านจะมีปัญญามีอีกเหมือนกัน พวกเขาพากันยิ้มย่อง แล้วร้องทักกันว่า เป็นไง ฉันเหมือนชาวบ้านเปี๊ยบเลยใช่ไหมล่ะ” (หน้า 140) จะเห็นว่าจนถึงทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ “เสื้อม่อฮ่อม ผ้าขาวม้า ซิ่นไหม” ที่คนกรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อสื่อความเป็นคนบ้านนอกยังคงปรากฏอยู่ทั่วไปเหมือนเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่จะเปลี่ยนไปบ้างก็คือในปัจจุบัน “ซิ่นไหม” ได้แปรสภาพมาเป็นภาพลักษณ์สื่อ “ความเป็นไทย” ไปแล้ว

(ผมต้องขออนุญาตสารภาพไว้ ณ ที่นี้ว่า ทุกครั้งที่เห็นสาวกรุงเทพฯ นุ่งซิ่นไหมถือกระเป๋าสาน ผมไม่เคยเห็นว่าเธอจะเป็น “ไทย” มากไปกว่าสาวนุ่งยีนส์สะพายเป้เท่าไหร่ และบ่อยครั้งที่ผมไพล่จะนึกไปว่าเธอเป็น “จปล – เจ๊กปนลาว” เสียด้วยซ้ำ แต่นี่อาจจะคือ “ความเป็นไทยแท้ ๆ” ยุครัตนโกสินทร์ ดังที่ สุจิตต์ วงศ์เทศ มักพูดถึงอยู่เนือง ๆ ก็เป็นได้)

มุมมองแบบเด็ก ๆ อย่างทองม้วนยังสะกิดให้ผู้อ่านเล็งเห็นถึงความว่างเปล่าของคำพูดอันสวยหรูที่พวกนักศึกษาจดจำมาจากคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล เมื่อเธอได้ยินนักศึกษาพูดถึงการเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทองม้วนบรรยายว่า “ถึงแม้ว่าครูจะพยายามชี้ให้เธอเห็นภาพของชาติสักเท่าไหร่ เธอก็นึกไม่ออก เพราะสิ่งที่เธอเห็นอยู่ก็มีแต่หมู่บ้าน ทุ่งนา ควายและเด็กเลี้ยงควายเท่านั้น ชาติจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรหนอ ถ้ามันใหญ่กว่าทั้งหมู่บ้านและทุ่งนารวมกัน” (หน้า 135) ในแง่นี้ “เหมือนอย่างไม่เคย” ได้แปรการนำเสนอช่องว่างระหว่าง “นักศึกษา” และ “ชาวชนบท” ไปสู่การเปิดประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นชาติได้อย่างน่าสนใจ และจนถึงทุกวันนี้ ความในใจของทองม้วนยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากผู้ที่ชอบพูดถึง “ชาติ” และ “ความเป็นไทย” ราวกับว่านี่คือความจริงสูงสุดที่ไม่ต้องตรวจสอบหรือไต่ถาม

หากอ่านเทียบกัน แล้ว เรื่องสั้น “มีแต่พวกมัน” ของ วัน ณ จันทร์ธาร ตีพิมพ์รวมเล่มใน สนามหญ้าหนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนรุ่นใหม่ (ล่าสุด) แทบจะเป็นเสมือนภาคสองของ “เหมือนอย่างไม่เคย” เมื่อ วัน ณ จันทร์ธารปัจจุบันเธอเป็นสาวแอร์โฮสเตส และกำลังถูกตามรังควานทางโทรศัพท์โดยเคน กรรมกรก่อสร้างหน้าปากซอย เคนคือเด็กบ้านนอกผู้ที่เธอรู้จักและสนิทสนมถึงขนาดให้รูปและเบอร์โทรศัพท์ไว้ดูต่างหน้าสมัยที่เธอไปออกค่าย ถ้า “มีแต่พวกมัน” เป็นภาคสองของ “เหมือนอย่างไม่เคย” เคนก็น่าจะเป็นเสมือนนองของทองม้วน ผู้ในท้ายที่สุดต้องทิ้งบ้านทิ้งนามารับจ้างเป็นกรรมกรขายแรงงานอยู่ในกรุงเทพฯ

การเปรียบเทียบดังกล่าวค่อนข้างจะคลาดเคลื่อนกับบริบททางประวัติศาสตร์ในความเป็นจริงการออกค่ายอาสาพัฒนาของนักศึกษาใน “เหมือนอย่างไม่เคย” นั้นต่างยุคต่างสมัยกับการออกค่ายชนบทของธิติมาใน “มีแต่พวกมัน” ในเรื่องสั้นของวิทยากร นักศึกษาอยู่ในยุคก่อน 14 ตุลาคมยังไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากนัก การออกค่ายอาสาพัฒนาจึงมุ่งสนองนโยบายรัฐบาลที่เน้นการสร้างถาวรวัตถุเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจที่จะไปคลุกคลีหรือเรียนรู้ชีวิตชาวบ้านแต่อย่างใด ส่วนค่ายชนบทในเรื่องสั้นของ วัน ณ จันทร์ธาร น่าจะเป็นค่ายนักศึกษาในยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดมาจากขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ที่เน้นให้นักศึกษาออกไปใช้ชีวิตอย่างสนิทสนมกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมชาวบ้านและฝึกฝนการใช้แรงงาน

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบริบททางประวัติศาสตร์ของการออกค่ายต่างจังหวัดในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมีหน้าที่เป็นเพียงฉากหลังให้กับเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้เท่านั้น สิ่งที่ทำให้เรื่องสั้น “เหมือนอย่างไม่เคย” และ “มีแต่พวกมัน” มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกันคือการนำเสนอปมประเด็นเกี่ยวกับช่องว่างระหว่าง “เมือง” และ “ชนบท” จะต่างกันก็ตรงที่ “เหมือนอย่างไม่เคย” โยงประเด็นช่องว่างดังกล่าวไปสู่การวิพากษ์นโยบายพัฒนาชนบทของรัฐบาลและตั้งคำถามปัญหาการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ส่วน “มีแต่พวกมัน” เจาะลึกปัญหาช่องว่างนี้ไปที่ปัญหาชนชั้นระหว่าง “พวกเรา” กับ “พวกมัน” และปัญหาอัตลักษณ์ของตัวตนระหว่าง “ความเป็นเรา” กับ “ความเป็นอื่น”

แม้ว่า “มีแต่พวกมัน” จะนำเสนอการเผชิญหน้ากันระหว่าง “คนเมือง” และ “คนบ้านนอก” เช่นเดียวกับ “เหมือนอย่างไม่เคย” แต่เรื่องทั้งสองมีวิธีการนำเสนอที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ “เหมือนอย่างไม่เคย” เลือกจะเล่าการมาเยือนของนักศึกษาจากมุมมองไร้เดียงสาของทองม้วนเด็กบ้านนอก เพื่อเสียดสีทัศนคติไร้เดียงสาของนักศึกษาที่มีต่อชนบท ส่วน “มีแต่พวกมัน” นำเสนอเรื่องราวส่วนใหญ่ผ่านสายตาของคนเมืองคือธิติมาเพื่อเผยสภาวะทางอารมณ์ของคนเมืองที่มีต่อคนบ้านนอก และที่สำคัญใน “มีแต่พวกมัน” การเผชิญหน้ากันระหว่างคนเมืองและคนบ้านนอกมิได้เกิดขึ้นในชนบท แต่เกิดขึ้นในถิ่นของคนเมืองนั่นคือกรุงเทพฯ ผิดกับ “เหมือนอย่างไม่เคย” ที่เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในชนบท

การพบกันอีกครั้งหนึ่งของคนเมืองและคนบ้านนอกที่กรุงเทพฯ นี่เอง เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธิติมามีปฏิกิริยาต่อเคนผิดแผกโดยสิ้นเชิงกับครั้งที่เธอไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของเคน ในครั้งเธอถึงกับยอมให้เด็กชายเคนเข้ามานอนในมุ้งเดียวกัน แต่ในครั้งนี้เธอไม่ต้องการจะพบและไม่เต็มใจนักที่จะต้องพูดคุยกับเคนทางโทรศัพท์

เราอาจอธิบายได้ว่าธิติมามีปฏิกิริยาดังกล่าวเพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เคนกลายเป็นเด็กหนุ่มมิใช่เด็กไร้เดียงสาเหมือนเก่า ส่วนธิติมาเองก็ได้สลัดคราบความเป็นนักศึกษาออกจนหมดสิ้น และกลายเป็นสาวสวยที่ชายมากหน้าหลายตาต่างหมายปอง จึงไม่น่าแปลกที่เธอจะต้องระแวงและไม่อยากจะข้องแวะกับเคน อีกทั้งพฤติกรรมของเคนก็ไม่เอื้อให้เธอไว้วางใจเขาสักเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อนขับมอเตอร์ไซค์ตระเวนหาบ้านของเธอหรือปล่อยให้เพื่อนชายมากมายพูดจาจาบจ้วงระหว่างที่คนทั้งสองคุยกันทางโทรศัพท์

อย่างไรก็ตาม ถ้าธิติมารังเกียจเคนเพราะเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจริง เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าก่อนหน้านี้ทำไมเธอจึงอัดอัดใจและถึงกับ “เครียดไปพักใหญ่” เมื่อเอื้อยคำพี่สาวเคนผู้ซึ่งธิติมาสนิทสนมยิ่งเสียกว่าเคนติดต่อขอมาอาศัยอยู่กับเธอในกรุงเทพฯ ธิติมาสรุปความแตกต่างระหว่างการที่คนเมืองออกไปอยู่กับชาวบ้าน และการที่ชาวบ้านมาอยู่กับคนเมืองไว้ว่า

ตอนนักศึกษาไปที่นั้น พ่อแม่ทุกคนคือพ่อแม่ของพวกเธอ หนุ่มสาวทุกคนเป็นเสี่ยวหรือเป็นเอื้อยอ้ายกัน เด็กน้อยทุกคนคือน้องรัก ผู้เฒ่าผู้แก่ถูกเรียกขานว่าพ่อใหญ่แม่ใหญ่ …แต่ถ้าพวกเขามาที่นี้วันใด ธิติมารู้ดี …พ่อแม่พี่น้องของเธอจะมองเขาอย่างหวาดระแวง บ้านของเธอจะไม่ยินยอมให้เขาเข้ามานั่งในห้องรับแขก บ้านของเธอจะไม่ยินยอมให้เขาเข้ามานั่งในห้องรับแขก หรือแม้แต่โรงรถ จะให้พวกเขาไปนอนในห้องเล็ก ๆ ของชมรมที่มหาวิทยาลัย ก็ดูแล้งน้ำใจเต็มที (หน้า 145)

ข้อความที่ยกมาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาพื้นฐานของช่องว่างระหว่างคนเมืองอย่างธิติมากับคนบ้านนอกอย่างคำและเคนเป็นปัญหาเรื่องสถานที่ไม่เท่าเทียมกัน เมื่ออยู่บ้านนอก ธิติมาเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่พลัดเข้าไปอยู่ในสังคมของชาวบ้าน เธอได้ละทิ้งสถานะทางสังคม เพื่อนฝูง และวิถีชีวิตปกติในกรุงเทพฯ ของเธอไว้เบื้องหลัง ที่บ้านนอกเธอจึงเป็นเสมือนคนตัวเปล่าเล่าเปลือย ไม่มีสถานะหรือตัวตนทางสังคมใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเธอจึงไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะนับญาติกับชาวบ้าน เธอไม่มีอะไรต้องสูญเสีย กลับรู้สึกดีด้วยซ้ำไป เพราะในแง่หนึ่งเธอรู้สึกเหมือนว่าเธอได้ “ลดตัว” ลงไปเป็นลูกเต้าเป็นพี่เป็นน้องของคนเหล่านั้น ในทำนองเดียวกับที่นักท่องเที่ยวฝรั่งในเมืองไทยรู้สึก “เอ็นดู” กับการที่คนไทยดูแลต้อนรับพวกเขาเป็นลูกเหมือนหลาน)

แต่เมื่ออยู่กรุงเทพฯ เธอมิใช่คนแปลกหน้าหรือคนตัวเปล่าเล่าเปลือย เธอมีสถานะทางสังคม เพื่อนฝูง และวิถีชีวิตที่จะต้องพิทักษ์รักษา การที่คำผู้ซึ่ง “พื้นเพของหล่อนเท่ากับคนรับใช้ในบ้านเธอเท่านั้นเอง” (หน้า 144-145) หรือเคนจะมาสนิทสนมชิดเชื้อกับเธอเช่นพี่และน้องนั้นถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเพราะนั่นเท่ากับการยอมให้คนบ้านนอกอาจเอื้อมมา “ตีเสมอ” กับเธอ ส่งผลให้ตัวตนทางสังคมของเธอ และโครงสร้างความสัมพันธ์กับสังคมในโลกของเธอปั่นป่วนไปหมด

ในแง่นี้ ข้อสรุปของธิติมาที่ว่า “สายใยผูกพันระหว่างชาวเมืองกับชาวบ้านก็ขาดสะบั้นลง ด้วยกรรไกรคมกริบในนามว่า…ลืม” (หน้า 145) จึงเป็นเพียงแค่ข้อแก้ตัวเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริง เพราะสิ่งที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมืองกับชาวล้านคือกำแพงแห่งชนชั้น ซึ่งดำรงอยู่ลึก ๆ ในใจครั้งที่เธอ “ลดตัว” ลงไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านในชนบท และเผยตัวให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งเมื่อเธอต้องเผชิญหน้ากับพวกเขาในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของคนบ้านนอกอย่างเคนในชีวิตธิติมา ไม่เพียงแต่จะคุกคามสถานะทางสังคมและตัวตนทางสังคมของเธอเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความมั่นใจและท้าทายอัตลักษณ์ของตัวเธออีกด้วย นั่นคือ การต้องเผชิญหน้ากับเคนอันเป็นตัวแทนของอดีตที่เธออยากจะลืมส่งผลให้ธิติมาต้องหันมาทบทวนและนิยามความเป็นตัวตนของเธอใหม่

การเผชิญหน้าระหว่างเคนกับธิติมา ซึ่งออกมาในรูปของการพูดคุยกันทางโทรศัพท์เกิดขึ้น 3 ครั้งในเรื่องนี้ คือในตอนเปิดเรื่อง กลางเรื่อง และท้ายเรื่อง ในเชิงโครงสร้างเหมาะเจาะลงตัวอย่างยิ่ง การสนทนาของทั้งสองทำหน้าที่เปิดประเด็นความขัดแย้ง ขมวดปม และสรุปรวบยอดปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของธิติมาในตอนจบได้อย่างเข้มข้น

ในบทสนทนาระหว่างธิติมากับเคนทั้ง 3 ครั้ง หลักใหญ่ใจความที่คนทั้งสองพูดกัน จะวนเวียนอยู่กับเรื่องการจำ/ การลืมเหตุการณ์ในอดีต ครั้งที่ธิติมาไปออกค่ายชนบทและรู้จักเคนเป็นครั้งแรก ดังจะเห็นได้จากประโยคเปิดเรื่องที่ว่า “เอื้อย จำผมได้ไหม” (หน้า 135)

ในการพูดคุยครั้งแรก เคนเป็นฝ่ายรุกและทวงถามความทรงจำจากธิติมาในขณะที่ธิติมาเป็นฝ่ายตั้งรับ เพราะเธอจำเขาไม่ได้ การสนทนาต้องสิ้นสุดลงเพราะทั้งสองฝ่ายมีชุดของความทรงจำคนละชนิด จึงตีความคำพูดกันไปคนละทาง เมื่อเคนพยายามแนะนำตัวเอง เขาบอกธิติมาว่า “เคน …เคนที่เคยนอนกับเอื้อยน่ะ” (หน้า 135) สำหรับเคนนี่คือข้อเท็จจริงซึ่งอิงอยู่กับอดีตที่เขาฝังใจเป็นพิเศษ แต่สำหรับธิติมา เธอตีความประโยคดังกล่าวด้วยข้อเท็จจริงที่อิงอยู่กับความรับรู้ในปัจจุบันของเธอ ผนวกเข้ากับวิถีชีวิตในสังคมเมือง ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปว่า นี่คือโทรศัพท์ลามกจากพวกโรคจิต

การพูดคนละเรื่องเดียวกันในที่นี้ นอกจากจะเรียกรอยยิ้มเล็ก ๆ บนมุมปากผู้อ่านแล้ว ยังมีนัยยะสำคัญต่อปมประเด็นเรื่องการจำ/ การลืมอีกด้วย กล่าวคือ การตีความคำพูดเดียวกันไปคนละทาง เผยให้เห็นช่องว่างระหว่างอดีต/ ปัจจุบันที่เคนและธิติมามีต่างกัน เพราะคนทั้งสองเลือกจดจำ/ ลืมเลือนต่างกัน

ในการสนทนาครั้งที่สอง เมื่อธิติมาจำได้แล้วว่า เคนคือลูกแม่คองน้องชายเอื้อยคำ ที่เธอเคยไปนอนด้วยจริง ช่องว่างระหว่างอดีต/ ปัจจุบัน แม้จะดูเหมือนว่าหมดไป แต่การสนทนายังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องความจำ/ การลืมอยู่เช่นเดิม โดยออกมาในรูปของช่องว่างระหว่างเมือง/ ชนบท ดังจะเห็นว่าธิติมาพยายามถามเคนถึงแต่ชีวิตบ้านนอก แต่เมื่อเคนเปลี่ยนเรื่อง หันมาพูดถึงชีวิตของเขาในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาบอกว่า ขณะนี้เขาทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง อยู่ที่ปากซอยบ้านเธอ และอยากจะไปหาที่บ้าน ธิติมาถึงกับ “สะดุ้ง ลมหายใจติดขัด” (หน้า 139)

เราจะเห็นว่าในสายตาของธิติมา ชนบทและกรุงเทพฯ คือเส้นแบ่งระหว่างอดีตและปัจจุบันของเธอ ชนบทเป็นตัวแทนของอดีตสมัยที่เธอเป็นนักศึกษา เป็นเอื้อยของเคน เป็นลูกของแม่คอง ฯลฯ ขณะที่กรุงเทพฯ คือปัจจุบัน ที่เธอคือ “ทีน่า” หรือ “มิสเหลง” สาวสวยผู้มีอาชีพเป็นแอร์โฮสเตส

ในบทสนทนาครั้งที่สอง ธิติมาพยายามสร้างกำแพงขวางกั้นอดีตจากปัจจุบันของเธอ เคนคือตัวแทนของอดีตที่เธออยากลืม และเมื่อถูกบังคับให้ต้องจำ เธออยากเลือกที่จะจำเขาในฐานะที่เป็นอดีต ซึ่งตัดขาดจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ดังที่เธอนึกรำพึงรำพันอยู่ในใจว่า “ถึงที่นั่นจะบริสุทธิ์สวยงาม ผู้คนอบอุ่นน่าประทับใจ แต่มันไกลมากจากที่นี่ นานมากจากวันนี้” (หน้า 139 การเน้นความเป็นของผู้เขียนบทความ) จะเห็นได้ชัดเจนในที่นี้ว่า ธิติมาใช้ทั้งมิติเรื่องสถานที่และเวลา มาเป็นตัวสร้างและกำหนดสิ่งที่เธอต้องการจำหรือลืม

ในทางตรงกันข้าม เคนต้องการจะรื้อฟื้นอดีตระหว่างเขากับเธอในการพูดคุยครั้งแรก และพยายามจะเชื่อมโยงอดีตที่ร่วมกันนั้นเข้ากับปัจจุบันในการสนทนาครั้งที่สอง เขาไม่อยากพูดถึงชีวิตบ้านนอกอีกต่อไป เขาต้องการพูดถึงขณะนี้ เวลานี้ ที่นี่ ที่กรุงเทพฯ ที่บ้านของธิติมา

ในบทสนทนาครั้งที่สาม สถานการณ์ได้พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในครั้งนี้ธิติมาเป็นฝ่ายรื้อฟื้นความหลัง และใช้อดีตเป็นเครื่องมือรุกเร้าจนเคนตั้งตัวไม่ติด

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ทั้งสองจะพูดถึงห้วงเวลาในอดีตเดียวกัน คือสมัยที่ธิติมาไปออกค่ายชนบท แต่ในครั้งนี้อดีตที่ธิติมาทวงถามเคนนั้น เป็นอดีตคนละชุดกับอดีตที่เคนทวงถามจากเธอ อดีตที่ธิติมาถามเคนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “จำได้ไหม” คือภาพชนบทที่สร้างขึ้นโดยคนเมือง ไม่ว่าจะเป็น “เคน ยังจำเพลงที่เอื้อยเคยสอนได้ไหม” (หน้า 146) หรือ “แล้วเพลง ‘คิดถึงกันบ้างนะ’ ล่ะ หากทะเลแล้งไป หากดวงไฟลับลง…แล้วไงต่อ” (หน้า 147)

แม้ว่าในท้ายที่สุดธิติมาจำต้องยอมรับอดีตครั้งไปออกค่ายชนบทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ แต่เธอเลือกจะจดจำเฉพาะแง่มุมของอดีต ที่เป็นภาพแทนความหวานหอม ซาบซึ้งตรึงใจเท่านั้น ซึ่งก็คือภาพของชนบทที่สร้างขึ้นตามจินตนาการของคนเมือง ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ธิติมาเลือกจำเฉพาะอดีตที่จะช่วยตอกย้ำตัวตน “ความเป็นคนเมืองชนชั้นกลาง” ในปัจจุบันของเธอ

ในขณะเดียวกัน เธอใช้อดีตในแบบที่เธอต้องการจำ เป็นเครื่องมือเพื่อปฏิเสธตัวตนของเคน พร้อมกับยัดเยียด “ความเป็นคนบ้านนอก” ให้เขา เราพบว่าธิติมาพยายามไล่ต้อนเคน เพื่อคาดคั้นให้เขาสำนึกว่าเขาคือคนบ้านนอก ที่ไม่ควรบังอาจจะเผยอหน้ามรตีสนิทหรือนับญาติกับเธอ เมื่อเคนอึ้งและยอมรับว่า “จำไม่ได้ ลืมไปหมดแล้ว ทำไม…ถามทำไมนัก” (หน้า 147) เคนได้สูญเสียสิทธิที่จะ “นับญาติ” กับธิติมาอีกต่อไป

จากจุดนี้เป็นต้นไป ธิติมาได้เปลี่ยนสรรพนามใช้เรียกตัวเธอและเคนใหม่หมด ก่อนหน้านี้ ธิติมาจะเรียกตัวเองว่า “เอื้อย” และเรียกเคนว่า “เคน” เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างเธอกับเคน แต่เมื่อเคนไม่สามารถจะจดจำอดีตในแบบที่เธอต้องการให้เขาจำ ธิติมาเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า “ฉัน” และเรียกเคนว่า “นาย” เมื่อเธอบอกเขาว่า “งั้นก็อย่าเจอกันเลย…มันไม่มีอะไรเหลือ…ต่อไปนี้ ถ้านายโทรมา…หรือเที่ยวได้มายุ่มย่ามหน้าบ้านฉันอีก…” (หน้า 147)

เมื่อเคนอึ้งเงียบ ลนลาน พูดจาตะกุกตะกัก เคนได้กลายเป็นแบบฉบับของ “คนบ้านนอก” ในสายตาของคนเมืองโดยสมบูรณ์ ในครั้งนี้ธิติมาได้เปลี่ยนการใช้สรรพนามใหม่อีก เป็นว่า “ถ้ามากวนฉันอีก พวกแกอยู่ไม่เป็นสุขแน่” (หน้า 147 การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียนบทความ)

เมื่อธิติมาเปลี่ยนมาเรียกเคนว่า “พวกแก” แทนคำว่า “นาย” เคนมิได้เป็นแม้แต่คนแปลกหน้าอีกต่อไป เขาได้กลายเป็นตัวแทนของ “พวกมัน” ซึ่งในสายตาของชนชั้นกลางชาวเมืองอย่างธิติมา คือภัยมืดที่คุกคามสถานะและตัวตนของเธอ

จะเห็นว่าในช่วงเวลาเพียงชั่วอึดใจ สถานะและความสัมพันธ์ของคนทั้งสองได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว จากความสัมพันธ์ฉันพี่-น้อง (เอื้อย-เคน) กลายมาเป็นคนแปลกหน้า (ฉัน-นาย) และท้ายที่สุดคือตัวแทนของศัตรู (ฉัน-พวกแก) ทั้งหมดนี้ วัน ณ จันทร์ธาร อาศัยการเปลี่ยนสรรพนามมาสื่อได้อย่างชาญฉลาด

แน่นอนว่ากระบวนการทำให้เคนกลายเป็น “พวกมัน” หรือ “ความเป็นอื่น” พร้อม ๆ กับสร้างอัตลักษณ์หรือ “ความเป็นเรา” ของธิติมานั้น มิได้เกิดจากการเปลี่ยนสรรพนามแต่ประการเดียว แต่เป็นผลมาจากการช่วงชิงที่จะนิยามอดีตที่ทั้งสองเคยมีร่วมกัน ดังได้วิเคราะห์ไว้แล้วในบทสนทนาทั้งสามครั้งระหว่างธิติมาและเคน

นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่าการนิยามอัตลักษณ์ของธิติมานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเธอสร้างและยัดเยียด “ความเป็นอื่น” ให้กับเคน นั่นคือ เมื่อธิติมาสามารถทำให้เคนกลายเป็น “พวกมัน” ได้สำเร็จ เธอจึงจะสามารถรู้สึกมั่นใจในตัวตนและความเป็นชนชั้นกลางของเธอได้ แต่ในการนี้เธอต้องแลกด้วยการสร้างความหวาดกลัวชนิดใหม่ขึ้นมาแทนที่

หากจะวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยา เคนคือตัวแทนของความทุกข์ทรมานของชนบท ที่ธิติมาต้องการลืม และพยายามไม่นึกถึง ความรู้สึกผิดที่เธอไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพี่สาวของเคน เมื่อครั้งที่คำขอมาอาศัยอยู่กับเธอในกรุงเทพฯ ยังคงฝังลึกอยู่ในใจของธิติมา การกล่าวอ้างว่าเธอเป็นเพียง “คนตัวเล็กๆ” ไม่สามารถช่วยใครได้ ไม่อาจจะลบล้างความรู้สึกผิดในใจให้หมดไปได้ สิ่งที่เธอทำได้มากที่สุดคือพยายาม “ลืม” มันเสีย (ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเธอจึงมองว่าสายสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคำและเคนได้สิ้นสุดลงด้วยกรรไกรที่เรียกว่า “ลืม”)

การปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งของเคน คือการหวนกลับมาใหม่ของความสำนึกผิด ที่ตามหลอกหลอนธิติมา เธอจะตกอยู่ในสภาวะหวาดผวา ขวัญเสีย หวั่นวิตกตลอดเวลา และมีอาการไม่ต่างไปจากคนโรคจิตหวาดระแวง การเลือกเล่าเรื่องผ่านมุมมองของธิติมาเป็นหลัก ยิ่งช่วยเพิ่มให้ความเข้มข้นให้กับความหวาดวิตกในใจและอาการคิดไปเองของธิติมามากยิ่งขึ้น

ธิติมามิอาจใช้การลืมมาขจัดปัดเป่าความรู้สึกผิดในใจของเธอได้อีกต่อไป เสียงร้องแห่งความทุกข์ทรมานของชนบทไม่ยอมหยุดหรือเงียบหายไปโดยง่าย เฉกเช่นเดียวกับเสียงกริ่งโทรศัพท์ของเคนที่ดังอยู่ไม่ขาดสาย สิ่งที่จะทำให้เธอสามารถหวนกลับไปสู่ชีวิตชนชั้นกลางที่เธอคุ้นเคยได้คือ เธอต้อง “ทำพิธีไล่ผี” (exorcism) ตัวนี้เสีย หรือที่เธอเรียกเองว่า “เธอลุกขึ้นมาฟาดฟันโค่นอดีต” (หน้า 148)

ธิติมากำจัดผีดังกล่าวนี้ในสองลักษณะ ด้านหนึ่งเธอหวนกลับไปตีความอดีตของเธอเสียใหม่ และในอีกด้านหนึ่งเธอทำให้เคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเธอกลายเป็น “พวกมัน” หรือ “ความเป็นอื่น” เสีย วิธีการหลังนี้คือการขับความรู้สึกผิดภายในใจออกสู่ภายนอก และถ่ายโอนไปสู่ผู้อื่น (externalization and transference of guilt)

วิธีการดังกล่าว แม้จะทำให้ธิติมาสามารถสร้างตัวตนใหม่ ซึ่งปลอดจากความรู้สึกผิดในใจที่คอยตามหลอกหลอนเธอ แต่ในเวลาเดียวกัน เธอก็ได้สร้างผีตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ “ความเป็นอื่น” หรือ “พวกมัน” ซึ่งน่ากลัวยิ่งกว่าเดิม ดังที่วัน ณ จันทร์ธารจบเรื่องสั้นเรื่องนี้ ด้วยภาพของธิติมาหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกตามรังควานจาก “พวกมัน” เพราะใน “ทุกซอกทุกมุมเหมือนมีแต่พวกมันอยู่เต็มไปหมด เพิงขายส้มตำ รถเข็นโรตี วงหมากรุกหน้าอู่ ป้ายรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ คิวรถสองแถว วงตะกร้อ สวนหย่อม วงเวียน ร้านขายผัก ทุกโค้งทุกแยกทุกแห่งทุกหน”

“พวกมัน” หรือ “ความเป็นอื่น” ในท้ายที่สุดแล้วคือปิศาจในใจที่ธิติมาสร้างขึ้นมาเอง

จากที่วิเคราะห์มาทั้งหมด แม้ว่า “มีแต่พวกมัน” จะเลือกหยิบยกประเด็นเก่า ๆ อย่างช่องว่างระหว่าง “เมือง” กับ “ชนบท” ทั้งยังใช้วิธีการนำเสนอตามแบบฉบับวรรณกรรมสัจนิยม ซึ่งหลายคนในวงการวรรณกรรมปัจจุบันมักส่ายหน้า แต่ด้วยมุมมองที่แหลมคม และกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่แพรวพราว เราอาจกล่าวได้ว่างานชิ้นนี้ของวัน ณ จันทร์ธารได้รับช่วงต่อจาก “เหมือนอย่างไม่เคย” ของวิทยากร เชียงกูล ได้อย่างสมศักดิ์ศรี และเป็นบทพิสูจน์ได้ดีว่าวรรณกรรมสัจนิยมยังมีอนาคต ถ้าผู้เขียนมีฝีมือและชั้นเชิงดีพอ

– ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 17-23 ก.ค. และ 24-30 ก.ค. 2543

หมายเหตุ
เลขหน้าอ้างอิงของ “เหมือนอย่างไม่เคย” อ้างจาก ฉันจึงมาหาความหมาย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4, 2521
เลขหน้าอ้างอิงของ “มีแต่พวกมัน” อ้างจาก สนามหญ้า ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1, 2543