สู้กับประชานิยมจอมปลอม

ยังไม่มี “แรง” เขียนอะไรใหม่ๆ ขึ้นบล็อก เพราะปั่นรายงานอยู่ เลยขอแปะบทความน่าอ่านชิ้นใหม่ของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ลงมติชน มาให้ทุกท่านอ่าน เป็นการขัดตาทัพไปก่อนนะคะ (ตัวหนาเน้นโดยผู้เขียน) จะโพสต์บทความใหม่เร็วๆ นี้ พร้อมทั้งแจ้งแผนการไปเที่ยวงานหนังสือในสัปดาห์หน้าของผู้เขียน เผื่อผู้ือ่านท่านใดอยากแวะเวียนมาพูดคุย (หรือเมตตาเอาหนังสือมาให้นักเขียนที่กำลังเห่อหนังสือตัวเองเซ็น) 🙂 สู้กับประชานิยมจอมปลอม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นโยบายของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เรียกกันว่า “ประชานิยม” นั้น ประกอบด้วยด้านต่างๆ คือ ก.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เด่นที่สุดของด้านนี้คือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าถือความพอใจของผู้รับบริการเป็นตัววัด ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซ่อนปัญหาไว้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นอันมาก ด้วยเหตุผลสองประการที่สำคัญ คือ 1.การบริหารจัดการที่ปรับปรุงไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ปัญหาด้านบุคลากร, การส่งต่อ, งบประมาณ, ฯลฯ 2.ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ฐานคือสังคมที่มีสุขภาพ แม้ว่ารัฐบาลไทยรักไทยเข้าใจประเด็นนี้ในภายหลัง แต่ก็สร้างสังคมสุขภาพได้เพียงการรำไม้พลองในหมู่บ้าน เพราะสังคมสุขภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางบริโภคนิยมที่รัฐบาลช่วยเร่งเร้า ในทางอ้อม, ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เปิดให้สร้างมลภาวะและวางระบบที่เอื้อต่อการสร้างมลภาวะ, ในสังคมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้, ในสังคมที่อำนาจมีแหล่งกำเนิดที่มาจากเส้นสาย ไม่ใช่ความชอบธรรม ฯลฯ หมายความว่าสุขภาพจะได้รับการประกันถ้วนหน้าจริงในทางปฏิบัติ มีความหมายกว้างกว่าโรงพยาบาล แต่รวมไปถึงการเข้าไปจัดการกับตัวระบบสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานของระบบซึ่งคุณทักษิณไม่เคยแตะเลย

ยังไม่มี “แรง” เขียนอะไรใหม่ๆ ขึ้นบล็อก เพราะปั่นรายงานอยู่ เลยขอแปะบทความน่าอ่านชิ้นใหม่ของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ลงมติชน มาให้ทุกท่านอ่าน เป็นการขัดตาทัพไปก่อนนะคะ (ตัวหนาเน้นโดยผู้เขียน) จะโพสต์บทความใหม่เร็วๆ นี้ พร้อมทั้งแจ้งแผนการไปเที่ยวงานหนังสือในสัปดาห์หน้าของผู้เขียน เผื่อผู้ือ่านท่านใดอยากแวะเวียนมาพูดคุย (หรือเมตตาเอาหนังสือมาให้นักเขียนที่กำลังเห่อหนังสือตัวเองเซ็น) 🙂 สู้กับประชานิยมจอมปลอม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นโยบายของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เรียกกันว่า “ประชานิยม” นั้น ประกอบด้วยด้านต่างๆ คือ ก.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เด่นที่สุดของด้านนี้คือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าถือความพอใจของผู้รับบริการเป็นตัววัด ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซ่อนปัญหาไว้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นอันมาก ด้วยเหตุผลสองประการที่สำคัญ คือ 1.การบริหารจัดการที่ปรับปรุงไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ปัญหาด้านบุคลากร, การส่งต่อ, งบประมาณ, ฯลฯ 2.ความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ฐานคือสังคมที่มีสุขภาพ แม้ว่ารัฐบาลไทยรักไทยเข้าใจประเด็นนี้ในภายหลัง แต่ก็สร้างสังคมสุขภาพได้เพียงการรำไม้พลองในหมู่บ้าน เพราะสังคมสุขภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางบริโภคนิยมที่รัฐบาลช่วยเร่งเร้า ในทางอ้อม, ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เปิดให้สร้างมลภาวะและวางระบบที่เอื้อต่อการสร้างมลภาวะ, ในสังคมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้, ในสังคมที่อำนาจมีแหล่งกำเนิดที่มาจากเส้นสาย ไม่ใช่ความชอบธรรม ฯลฯ หมายความว่าสุขภาพจะได้รับการประกันถ้วนหน้าจริงในทางปฏิบัติ มีความหมายกว้างกว่าโรงพยาบาล แต่รวมไปถึงการเข้าไปจัดการกับตัวระบบสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานของระบบซึ่งคุณทักษิณไม่เคยแตะเลย ข.การเข้าถึงทุน เช่นโครงการเอสเอมอี, เอสเอมแอล, กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารประชาชน, การพักชำระหนี้, รวมทั้งการให้กู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องมือการผลิตเช่นแท็กซี่ หรือโครงการเอื้ออาทรต่างๆ (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รับไม่สามารถเอาไป “ผลิต” อะไรได้) เป็นความเชื่อมานานในสังคมไทยแล้วว่า ที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้ก็เพราะเข้าไม่ถึงทุน จึงไม่อาจก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ได้มากไปกว่าแรงงานไร้ฝีมือ แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ทุน” ที่คุณทักษิณวางเป็นแนวของนโยบายออกจะแคบเกินไป เพราะเน้นหนักที่เงินเพียงด้านเดียว ผลก็คือจำนวนมากจนถึงส่วนใหญ่ของกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีความสามารถจะพัฒนาทุนประเภทนี้ได้ เนื่องจากขาดทักษะ ส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะเข้าไปใช้บริการเพราะไม่ต้องการภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกไม่น้อยรับบริการแล้วไม่สามารถส่งคืนได้ โดยเฉพาะในกองทุนหมู่บ้าน ที่เป็นปัญหายิ่งกว่านั้นก็คือ รัฐบาล ทรท.ไม่ได้คิดถึงเรื่องการกระจายแหล่งทุนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลก็คือทุนที่อัดลงไปจำนวนมากกระจุกอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำในชนบทและเครือญาติ บริวาร หรือมิฉะนั้นก็กระจุกอยู่กับกลุ่มที่เข้าถึงทุนอยู่แล้ว มากกว่าคนที่มีศักยภาพจะใช้ทุนที่เป็นเงิน แต่ไร้อำนาจ อันที่จริง ทุนมีความหมายกว้างกว่าเงิน ทุนเคยกระจายในชนบทกว้างขวางกว่านี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของที่ดิน, ทักษะ, ทรัพยากรสาธารณะ, เครือข่ายทางสังคมซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ, ฯลฯ แต่ทุนเหล่านี้หลุดไปจากมือของประชาชนส่วนใหญ่ เนื่องจากนโยบายพัฒนาที่เร่งรัดก้าวเข้าสู่ทุนนิยมอย่างบ้าคลั่งโดยไม่คำนึง ถึงความเป็นธรรมเลย การเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงทุน จึงไม่จำกัดอยู่แต่เรื่องเงินอย่างเดียว หากที่สำคัญกว่าคือปกป้องและฟื้นฟูทุนที่เขามีทักษะจะพัฒนาได้ประเภทนี้มากกว่า แต่การกระทำเช่นนี้ทำได้ยากกว่ากันมาก และเสี่ยงกับการขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มที่แย่งยื้อเอาทุนของชาวบ้านไปครอบครอง อันประกอบขึ้นเป็นหัวคะแนนของพรรค ทรท.ไปจนถึงแกนนำพรรคทั้งหมด ค.การสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ชาวบ้าน ที่แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ก็คือโครงการโอท็อป มีผลิตภัณฑ์ชาวบ้านที่อาจถือได้ว่าประสบความสำเร็จจำนวนหนึ่ง แต่ไม่แน่ชัดนักว่าที่สามารถสร้างตลาดของตนได้นั้น เป็นเพราะนโยบายหรือเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับนโยบาย (คือถึงไม่มีนโยบายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็จะประสบความสำเร็จอยู่แล้ว) ยิ่งไปกว่านั้น หากดูว่าโครงการโอท็อป ได้ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อแปรรูปมากน้อยเพียงใด จะพบว่ามีน้อยมากอย่างน่าอัศจรรย์ แม้แต่นับรวมผลิตภัณฑ์ที่มีชื่ออยู่แล้ว และโอท็อปไปขอปะชื่อในภายหลังด้วย ตลาดของผลิตภัณฑ์โอท็อปจะขยายตัวได้ หลีกไม่พ้นที่ต้องเชื่อมต่อกับธุรกิจค้าปลีก แต่ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะในเมืองไทยมีลักษณะรวมศูนย์มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเอารัดเอาเปรียบผู้ผลิต แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ ปราศจากการจัดการและการควบคุมในระดับหนึ่ง สินค้าโอท็อปไม่มีทางเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ไปกว่าตลาดท่องเที่ยวและสินค้าที่ระลึก หากคิดว่าผลิตภัณฑ์โอท็อปมุ่งตลาดเฉพาะ (niche market) คำถามคือชาวบ้านจะเข้าถึงตลาดเฉพาะได้อย่างไร โดยสรุปก็คือ โครงการโอท็อปไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเงินลงทุนจำนวนมหาศาล นอกจากเปิดให้นักธุรกิจในชนบทให้เข้าสู่วงจรธุรกิจเป็นบางราย แต่ไม่ได้สร้างเถ้าแก่, ไม่ได้สร้างการกระจายงานในชนบท, และไม่ได้สร้างการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เหตุผลก็เพราะรัฐบาล ทรท.ไม่กล้าเข้าไปแตะถึงด้านโครงสร้าง ง.การศึกษา จะพูดว่านี่เป็นด้านที่คุณทักษิณล้มเหลวที่สุดก็ได้ เพราะนโยบายด้านการศึกษาไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษากว้างขวางขึ้น (ไปกว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและกฎหมายซึ่งเร่งรัดให้การศึกษาขยายตัวอยู่แล้ว) แต่กลับสร้างความใฝ่ฝันสำหรับคนส่วนน้อยยัดเข้าไปในระบบการศึกษา ซึ่งถูกหล่อเลี้ยงให้มีความไม่เป็นธรรมอยู่ได้ด้วยการแข่งขันทะยานไปสู่ความใฝ่ฝันสำหรับคนส่วนน้อยอยู่แล้ว โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งนักเรียนนอกก็ตาม โครงการโรงเรียนในฝันก็ตาม หรือแม้แต่โครงการสมิธโซเนียนก็ตาม ล้วนไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มขึ้นในชีวิตของผู้คน มาตรฐานคุณภาพของการศึกษาในระบบต่ำลงทุกระดับ สื่อสำคัญในชีวิตคนคือทีวีก็ยังน้ำเน่าเหมือนเดิม ศูนย์การเรียนรู้ของชาวบ้านไม่ได้รับการส่งเสริม ฯลฯ ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นโยบาย “ประชานิยม” ของคุณทักษิณ ไม่ได้มีผลประโยชน์ของ “ประชา” เป็นเป้าหมาย เท่ากับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แม้กระนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คุณทักษิณได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น และกลายเป็นความระแวงของคณะทหารที่ทำการรัฐประหารในทุกวันนี้ เพราะพลัง “มวลชน” ที่อาจหนุนหลังผู้ที่ต้องการทำรัฐประหารซ้อน รัฐบาลชั่วคราว (รวมไปถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในภายหน้าด้วย) จะสู้กับ “ประชานิยม” แบบของคุณทักษิณอย่างไร อันจะเป็นการ “ปลดอาวุธ” คุณทักษิณและบริวารอย่างถาวร ประการแรก ต้องไม่ด่วนสรุปก่อนว่า ผู้ที่สนับสนุน “ประชานิยม” ของคุณทักษิณคือคนโง่-จน-เจ็บ แม้ว่าส่วนใหญ่อยู่ในชนบท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนประเภทเดียวกัน แท้จริงแล้ว อาจแบ่งออกได้หยาบๆ เป็นสองกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายของนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ไม่ใช่คนจนของหมู่บ้าน ตรงกันข้ามกลับเป็นผู้ได้เปรียบด้วยซ้ำ เพราะร่วมอยู่ในเครือข่ายทั้งทางธุรกิจและการเมืองกับผู้มีอำนาจระดับต่างๆ เขาทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมานานก่อนจะมีพรรค ทรท.เสียอีก และเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโครงการ “ประชานิยม” ของคุณทักษิณมากที่สุด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง แม้เป็นคนจนและไร้กำลังทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ “ประชานิยม” นัก หากทะว่ามีชีวิตในเครือข่ายอุปถัมภ์ของกลุ่มแรก หรือมิฉะนั้นก็มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับกลุ่มแรกซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน จึงอาจ “ขอกันกิน” ได้บ้าง เช่น หากให้ค่าตอบแทนที่ไม่ทำให้สูญเสียเกินไป ก็พร้อมจะร่วมชุมนุมทางการเมืองตามที่กลุ่มแรกร้องขอ และนี่คือพลัง “มวลชน” ที่แท้จริงของผู้ที่สนับสนุนคุณทักษิณ แต่เขาไม่ใช่คนโง่ เขารู้ว่าโครงการ “ประชานิยม” ทั้งหลายนั้น ไม่ได้มุ่งจะถ่ายโอนทรัพยากรกลางมาแบ่งปันให้เขา หากเอามาหล่อเลี้ยงบริษัทบริวารซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ได้เปรียบอยู่แล้วในชนบทต่างหาก แต่เขาก็ไม่ได้สูญเสียอะไรเช่นกัน เพราะรัฐบาลอื่นก็ไม่เคยถ่ายโอนทรัพยากรกลางมาแบ่งปันให้เขาอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของนักการเมืองต้องทุจริตคดโกงงบประมาณมาปรนเปรอหัวคะแนนเองต่าง หาก และด้วยเหตุดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลชั่วคราวจะต้องทำในประการที่สองก็คือ การทำโครงการประชานิยมที่ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับส่วนแบ่งอย่างเท่าเทียมหรือดีกว่ากลุ่มคนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ประชานิยมที่แท้จริงเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มุ่งหมายเพียงกวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายใหญ่คือทำให้คนระดับล่างมีกำลังจะพัฒนาตนเอง โดยการเพิ่มขีดความสามารถของเขาในการพัฒนา นโยบายประชานิยมที่แท้จริงสำหรับเมืองไทย จึงต้องประกอบด้วย 1.การปฏิรูปที่ดิน เพื่อกระจายทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนี้ให้ถึงมือผู้ที่มีความสามารถจะใช้ประโยชน์ การเก็งกำไรที่ดินจะไม่มีวันได้ผลตอบแทนคุ้ม เพราะจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และเสียภาษีรายได้ในรูปกำไรจากที่ดินในการซื้อขายอย่างหนัก 2.การกระจายอำนาจต้องหมายถึงการให้อำนาจแก่ประชาชนหรือองค์กรประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจอนุรักษ์, ใช้ประโยชน์ และจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น 3.การเปิดโอกาสทางการศึกษาที่ฟรีจริงๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรียกว่าบำรุงการศึกษา, ห้องสมุด, สมาคมศิษย์เก่า, วัสดุอุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น 4.ทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครบวงจร มีการบริหารจัดการเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการที่ดีและเท่าเทียมกันได้จริง ในขณะที่ทำให้ในโรงงาน, ชุมชน, เมือง, และประเทศของเราทั้งประเทศเป็นทำเลที่มีสุขภาพอย่างแท้จริง หรือประกาศและบังคับใช้นโยบายสังคมสุขภาพแก่ทุกฝ่ายในประเทศไทย 5.ต้องให้ความคุ้มครองแรงงานแก่แรงงานทุกประเภท เพราะงานจ้างกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของประชาชนทั่วไปเสียแล้ว ฯลฯ สรุปก็คือ “ประชานิยม” จอมปลอมของคุณทักษิณต้องถูกตอบโต้ด้วยประชานิยมแท้จริง นั่นคือมาตรการทางกฎหมาย, ทางสังคม และทางการเมืองที่จะสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม เพื่อให้คนเสียเปรียบซึ่งเป็นเหยื่อของ “ประชานิยม” จอมปลอมได้มีโอกาสเงยหน้าอ้าปากในสังคมนี้ การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยความระแวงต่อการท้าทายอำนาจ เป็นมาตรการที่ให้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากความอึดอัดปะทุขึ้นมาเมื่อไร จะกลายเป็นเหตุนองเลือดที่น่าเศร้าสลด และเปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบคุณทักษิณกลับเข้ามารวบอำนาจใหม่ เพราะประชาชนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และร่วมกำกับนโยบาย “ประชานิยม” ที่จะมีผลดีต่อตนโดยตรง จึงง่ายที่จะหลงไปกับการโป้ปดมดเท็จของนักการเมืองแบบนั้น