หนังสือจากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12

ไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 หลายเที่ยวในรอบสิบวันที่ผ่านมา ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะซื้อหนังสือไม่เกิน 30 เล่ม แต่พอไปเห็นหนังสือลดราคาเหลือเล่มละ 10-100 บาทที่บูธสำนักพิมพ์สุขภาพใจ กับหนังสือลด 50% ที่บูธเคล็ดไทยก็ตบะแตก(ไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่แล้ว) กลายเป็นว่าซื้อหนังสือมาทั้งหมด 52 เล่ม ไม่รู้ชาติไหนจะอ่านหมด หนังสือที่ซื้อในงานสัปดาห์ฯ ครึ่งปีก่อน ยังอ่านไม่จบเลย (จริงๆ แล้วเพิ่งทยอยอ่านหนังสือที่ซื้อในงาน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กับเมษาปีที่แล้วจบไปเมื่อต้นปีนี้เอง) T_T

หนังสือที่ซื้อในงานมหกรรมหนังสือ ต.ค. 2550

ระหว่างที่เรียงหนังสือเป็นกองเพื่อถ่ายรูปประจานกิเลสของตัวเองตามธรรมเนียมปฏิบัติของ geek หนังสือทั่วโลก (ผสมด้วยความอยากอวดหน่อยๆ) ผู้เขียนก็พยายามปลอบใจตัวเองว่า อย่างน้อยสสารก็ไม่หายไปจากโลก สักวันจะเอาหนังสือทั้งหมดนี้มาทำเป็นห้องสมุดให้คนอื่นยืมอ่าน (หลังจากที่ยัดเยียดให้คนรอบตัวอ่าน) เพราะห้องรกจนไม่รู้จะวางหนังสือตรงไหนแล้ว ตอนนี้อาการสาหัสถึงขั้นต้องยกตั้งหนังสือสองสามกองลงจากตู้แอร์ทุกคืนก่อนนอน เพื่อให้ไอเย็นออกมาได้ เสร็จแล้วก็ต้องยกมันกลับไปตั้งใหม่ทุกเช้า เพื่อให้ถูพื้นได้ กลายเป็นวิธีออกกำลังแขนแบบใหม่ที่ได้ผล แต่ไม่ค่อยคุ้มกับเสียงบ่นของพ่อแม่

ไหนๆ ก็จัดหนังสือถ่ายรูปประจานแล้ว ขอบันทึกไว้หน่อยว่าซื้อแต่ละเล่มมาทำไม เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอ่านบล็อกนี้ (คลิ้กที่รูปเพื่อขยาย):

นิยาย การ์ตูน


ไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 หลายเที่ยวในรอบสิบวันที่ผ่านมา ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะซื้อหนังสือไม่เกิน 30 เล่ม แต่พอไปเห็นหนังสือลดราคาเหลือเล่มละ 10-100 บาทที่บูธสำนักพิมพ์สุขภาพใจ กับหนังสือลด 50% ที่บูธเคล็ดไทยก็ตบะแตก(ไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่แล้ว) กลายเป็นว่าซื้อหนังสือมาทั้งหมด 52 เล่ม ไม่รู้ชาติไหนจะอ่านหมด หนังสือที่ซื้อในงานสัปดาห์ฯ ครึ่งปีก่อน ยังอ่านไม่จบเลย (จริงๆ แล้วเพิ่งทยอยอ่านหนังสือที่ซื้อในงาน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กับเมษาปีที่แล้วจบไปเมื่อต้นปีนี้เอง) T_T

หนังสือที่ซื้อในงานมหกรรมหนังสือ ต.ค. 2550

ระหว่างที่เรียงหนังสือเป็นกองเพื่อถ่ายรูปประจานกิเลสของตัวเองตามธรรมเนียมปฏิบัติของ geek หนังสือทั่วโลก (ผสมด้วยความอยากอวดหน่อยๆ) ผู้เขียนก็พยายามปลอบใจตัวเองว่า อย่างน้อยสสารก็ไม่หายไปจากโลก สักวันจะเอาหนังสือทั้งหมดนี้มาทำเป็นห้องสมุดให้คนอื่นยืมอ่าน (หลังจากที่ยัดเยียดให้คนรอบตัวอ่าน) เพราะห้องรกจนไม่รู้จะวางหนังสือตรงไหนแล้ว ตอนนี้อาการสาหัสถึงขั้นต้องยกตั้งหนังสือสองสามกองลงจากตู้แอร์ทุกคืนก่อนนอน เพื่อให้ไอเย็นออกมาได้ เสร็จแล้วก็ต้องยกมันกลับไปตั้งใหม่ทุกเช้า เพื่อให้ถูพื้นได้ กลายเป็นวิธีออกกำลังแขนแบบใหม่ที่ได้ผล แต่ไม่ค่อยคุ้มกับเสียงบ่นของพ่อแม่

ไหนๆ ก็จัดหนังสือถ่ายรูปประจานแล้ว ขอบันทึกไว้หน่อยว่าซื้อแต่ละเล่มมาทำไม เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอ่านบล็อกนี้ (คลิ้กที่รูปเพื่อขยาย):

นิยาย การ์ตูน

หนังสือนิยาย นิยายแปล การ์ตูน

  1. Nine Lives – การ์ตูนเรื่องใหม่ของคุณทรงศีล ทิวสมบุญ สุดยอดนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ วาดการ์ตูนสไตล์ “นัวร์” เก่งจนควรได้รับสมญานามว่า “Tim Burton เมืองไทย”
  2. นิตยสารรหัสคดี – อยู่เมืองไทยมาตั้งนาน ไม่รู้ว่าหนังสือแนวนักสืบมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “รหัสคดี” ไม่รู้ว่ามีนิตยสารรหัสคดี รายสามเดือน และก็ไม่รู้ด้วยว่าคุณเรืองเดช จันทรคีรี บ.ก. นิตยสารเล่มนี้เป็น “สุดยอด บ.ก.” ที่เคยทำ “ช่อการะเกด” สุดยอดนิตยสารเรื่องสั้นเมื่อหลายปีก่อน โง่ซื่อบื้อจริงๆ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ปกป้องที่แนะนำให้รู้จัก เลยซื้อมาก่อนสามเล่มเพราะมีเรื่องแปลของนักเขียนที่ตัวเองชอบ คือเอ็ดการ อัลเลน โป, เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ และกาเบรียล การ์เซีย มาร์เก๊ซ (เพิ่งรู้ว่าคนหลังนี้ก็เคยเขียนเรื่องแนวรหัสคดีด้วย)
  3. สืบคดีสีเลือด ฉบับสมบูรณ์แบบ – แปลจาก A Study in Scarlet นิยายเชอร์ล็อค โฮล์มส์ เรื่องแรกของโคนัน ดอยล์ ที่เรียกว่า “ฉบับสมบูรณ์แบบ” เพราะมีเชิงอรรถหนาเท่ากับเนื้อหา เพราะจัดหน้าให้นิยายอยู่หน้าซ้าย เชิงอรรถอยู่หน้าขวาไปจนจบเล่ม ฝีมือแปลและความละเอียดของเชิงอรรถดีมากๆ แฟนๆ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
  4. แกะรอยเชอร์ล็อค โฮล์มส์ – หนังสือแปลเรื่องสั้นจำลักษณ์เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (คือแต่งเรื่องใหม่เลียนแบบขนบการเขียนของโคนัน ดอยล์ โดยใช้ตัวละครของเขา) 8 เรื่อง เพิ่งอ่านจบไป สนุกดี บางเรื่องเคยอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้ว แต่สำนวนแปลดีจนอ่านใหม่ก็ยังสนุก
  5. ง้าวแผ่นดิน – นวนิยายขนาดยาวของ วิมล ไทรนิ่มนวล ชอบเรื่อง งู กับ คนทรงเจ้า มาก เลยซื้อเล่มนี้มาด้วย คิดว่าคุณวิมลเขียนเรื่องสะท้อนสังคมชนบทไทยได้ดีพอๆ กับที่คุณวัน ณ จันทร์ธาร เขียนสะท้อนสังคมชนชั้นกลาง และคุณชาติ กอบจิตติ เขียนสะท้อนสังคมเมือง
  6. บางกะโพ้ง – นวนิยายวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ ผลงานเล่มใหม่ของคุณวินทร์ เลียววาริณ งานนี้ออกสองเล่ม แต่อีกเล่มหนึ่งไม่ได้ซื้อมาเพราะเป็นหนังสือในชุด “เสริมกำลังใจ” ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีเกินพอแล้ว ที่ยังขาดอยู่ไม่ใช่กำลังใจหรือแรงบันดาลใจ แต่เป็นทักษะและเวลาที่จะทำทุกเรื่องที่อยากทำมากกว่า 🙂
  7. การิทัตผจญภัย – นิยายปรัชญาการเมือง แปลโดยอาจารย์เกษียร เตชะพีระ เล่มนี้อาจารย์แปลจากเรื่อง The Curious Enlightenment of Professor Caritat ของ Steven Lukes เคยได้ยินมานานแล้วว่าเป็นหนังสือที่สอนปรัชญาการเมืองให้เข้าใจง่าย (คงคล้ายๆ กับที่หนังสือเรื่อง โลกของโซฟี ย่อยปรัชญาตะวันตกให้เด็กอ่านสนุก) แต่ไม่เคยซื้อภาษาอังกฤษมาอ่าน เลยซื้อฉบับแปลเพราะบังเอิญไปเห็นพอดี และเชื่อในฝีมือการแปลของอาจารย์เกษียร

เรื่องสั้น บทกวี

หนังสือรวมเรื่องสั้น บทกวี

  1. หนังสือเรื่องสั้นวรรณกรรม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ – ซื้อมาเพราะมีเรื่องสั้น “อะไรกัน” ของศรีบูรพา (เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ศรีบูรพาแต่ง) เรื่องสั้นของฮิวเมอริสต์ที่ไม่เคยอ่าน และ “หนองหวาย” เรื่องสั้นของวิลาศ มณีวัต ดัดแปลงจากเรื่อง The Pearl ของจอห์น สไตน์เบ็ค ที่ชอบมากๆ ตั้งแต่สมัยที่ถูกครูบังคับให้อ่านในไฮสกูล
  2. ภาพร่างของความหลับ โดย สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ – ซื้อเพราะสะดุดคำนำที่จั่วหัวว่า “ตื่นขึ้นในความหลับ” และคำโปรยปกหลังว่า “ที่นี่มีการเกิด – มีการตาย แต่ไม่มีอาชญากร ไม่มีเหยื่อ ไม่มีอาชญากรรม” (จากเรื่อง คดีความที่หายไป)
  3. สนามหญ้า #1 – รวมเรื่องสั้น 23 นักเขียน ซื้อเพราะชอบสนามหญ้า #2, #3 และ #4 แต่ไม่เคยมีเล่มแรก
  4. นาฏกรรมเมืองหรรษา โดย ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ – ซื้อเพราะเคยอ่านเรื่องสั้นของเขาแล้วชอบ
  5. พญาอินทรี โดย จรัญ ยั่งยืน – เหตุผลเดียวกับเล่มข้างบน
  6. คณิตศาสตร์ รส. โดย 10 เดซิเบล – ซื้อเพราะอยากอุดหนุนคน “สมองซ้าย” (พวกช่างคิดเลข) ให้ออกมาเขียนหนังสือกันมากขึ้น โลกวรรณกรรมไทยจะได้มีความหลากหลาย ทำลายอคติว่าคนสมองซ้ายเขียนหนังสือไม่เป็น 🙂
  7. ช่อการะเกด – สุดยอดนิตยสารเรื่องสั้นรายสามเดือน กลับมาใหม่หลังจากห่างหายไปนาน มีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นบรรณาธิการเหมือนเดิม แถมพก “โลกหนังสือ” ที่หายไปนานเหมือนกันไว้ท้ายเล่ม ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว ถึงจะคิดว่าแพงไปหน่อย (280 บาท) และขนาดใหญ่ไปนิด พกพาไม่สะดวกเหมือนสมัยก่อน
  8. คนตัวเล็ก โดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ – รวมเรื่องสั้นล่าสุดของนักเขียนในดวงใจ “นักเขียนหนุ่มไม่มีวันตาย” ผู้ล่วงลับไปแล้วแต่ฝากผลงานอมตะไว้มากมาย
  9. Household Objects / เคหวัตถุ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ – ผลงานเล่มใหม่ของผู้เขียน 8 ½ ริกเตอร์ หนึ่งในนิยายสมัยใหม่ที่ชอบจนอ่านซ้ำได้ โชคดีได้เจอคุณอนุสรณ์ที่บูธวารสารหนังสือใต้ดิน เลยขอลายเซ็นแกมาด้วย
  10. โลกในดวงตาข้าพเจ้า และ The DuckDuck’s Manifesto! โดย มนตรี ศรียงค์ – รวมบทกวี (เล่มแรก) และเรื่องสั้น (เล่มหลัง) ของกวีซีไรท์ประจำปี 2550 ซื้อเล่มแรกมาแล้วก่อนงานหนังสือ เล่มนี้ซื้อแจกเพื่อนเพราะชอบมากๆ คุณมนตรีเป็นกวีรุ่นใหม่น่าจับตามอง แต่งกลอนแปดเสียดสีสังคมไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมแชทและเอ็มเอสเอ็นได้สุดยอดมาก
  11. ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด โดย จิตร ภูมิศักดิ์ – เล่มแรกในชุดรวมบทกวีของจิตรที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดทำ ได้ข่าวว่าอีกสองเล่มจะทยอยออกให้ทันปลายปี คอการเมืองหรือประวัติศาสตร์ที่เคยคิดว่าจิตร ภูมิศักดิ์มีอารมณ์ “นักปฏิวัติ” ตั้งแต่หนุ่มคงแปลกใจ (และดีใจ ถ้าใจกว้างพอ) ที่ได้ค้นพบอารมณ์อื่นๆ ในเล่มนี้ที่ “หยดย้อย” ได้ใกล้เคียงบรมครูสุนทรภู่ โดยเฉพาะ “นิราสรัก” 🙂
  12. สองทศวรรษ โดย ประกาย ปรัชญา – รวมบทกวีของกวีอีกคนที่จำได้ว่าชอบ แต่ไม่ค่อยได้ติดตามผลงาน เลยซื้อเล่มนี้มาเพราะรวบรวมไว้หนามาก
  13. “ผู้ถูกร้องที่ ๑” บันทึกกวี หมายเหตุ ๗๕ ปี ประชาธิปไตยไทย, วารีดุริยางค์, และ ไม่รู้เลยว่ารัก โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ – สามเล่มใหม่จากกวีชั้นครู ชอบเรื่อง “ผู้ถูกร้องที่ ๑” เป็นพิเศษเพราะรวบรวมกลอนการเมืองเจ๋งๆ ที่คุณเนาวรัตน์แต่งช่วงชุมนุม “กู้ชาติ” ไล่ทักษิณเมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนยังจำวันที่คุณเนาวรัตน์ขึ้นเวทีอ่านกลอนได้ไม่ลืม เล่มนี้นอกจากจะรวมบทกวีเหล่านั้นแล้วยังแทรกคำวินิจฉัยคดียุบพรรค ของศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล ก็คิดว่าคำตัดสินนั้นเป็น “เชิงอรรถ” ที่ดีของบทกลอนคุณเนาวรัตน์เมื่อเอามาจัดเรียงให้อยู่ในหน้าเดียวกัน อธิบายความกลมกลืนนี้ยาก เอาเป็นว่าขอแนะนำให้ทุกท่านซื้อหามาอ่าน 🙂

สารคดี ประวัติศาสตร์

หนังสือสารคดี ประวัติศาสตร์

  1. ไวโอลินของไอน์สไตน์ แปลโดย จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล – แปลจาก Einstein’s Violin โดย โจเซฟ อีเกอร์ (Joseph Eger) หนึ่งในหนังสือดีแนว “ข้ามพรมแดน” ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ ที่อยากเห็นคนไทยเขียนและแปลออกมาอีกเยอะๆ (โดยเฉพาะหนังสือของอลัน ไลท์แมน (Alan Lightman) นักฟิสิกส์-นักเขียนในดวงใจของผู้เขียน ผู้เข้าใจความสำคัญของวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพในความพิศวงที่อธิบายไม่ได้ และพรมแดนทางจิตวิญญาณ ไม่เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ใจแคบอย่าง ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) ผู้ไม่เคยพยายามเข้าใจหลักศาสนาอย่างถ่องแท้ก่อนจะเขียนประนามในหนังสือขายดีที่เต็มไปด้วยอคติเรื่อง The God Delusion)
  2. สยามกู้อิสรภาพตนเอง โดย ไกรฤกษ์ นานา – หนังสือประวัติศาสตร์อีกหนึ่งเล่มที่ดูน่าอ่าน แม้จะไม่คิดว่าเป็นหนังสือที่มีความหนักแน่นทางวิชาการเท่าไร ก็คิดว่าดูรูปประกอบหายากในเล่มก็คุ้มราคาแล้ว ต้องขอขอบคุณอาจารย์ปกป้องที่ให้คูปองลดราคา 100 มาสองใบ ผู้เขียนจึงซื้อเล่มนี้กับเล่มข้างบนได้ในราคาถูกมากๆ เมื่อเทียบกับความหนา (สองเล่มรวมกัน 270 บาท)
  3. ควายให้กำเนิดคน – เรื่องเล่าสนุกๆ เกี่ยวกับสัตว์คู่ชีพชาวนาที่เดี๋ยวนี้เด็กชาวกรุงไม่รู้จักอีกแล้ว (เพื่อนรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่า ลูกชาย 9 ขวบเอารูปตัวเองที่ถ่ายบนหลังควายในหมู่บ้านควายไทย จ.สุพรรณบุรี ไปอวดเพื่อนๆ ในชั้น เพื่อนถามว่า นั่นม้าเหรอ ฟังแล้วเศร้าแทน)
  4. โลกจิต โดย แทนไท ประเสริฐกุล – นักเขียนในดวงใจอีกหนึ่งคน เป็นคนไทยที่เขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ได้สนุกที่สุดที่ผู้เขียนรู้จัก หวังว่าจะมีแรงเขียนหนังสือดีอ่านสนุกแบบนี้ไปเรื่อยๆ
  5. เรื่องโม้ๆ นักเรียนนอก โดย เพี้ยน นักเรียนนอก – หนังสือรวมคอลัมน์ของอาจารย์พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ จากเนชั่นสุดสัปดาห์ ไม่เคยรู้เลยว่ามีรวมเล่ม หาเจอโดยบังเอิญที่บูธเคล็ดไทยในกองที่ลด 50% (แต่ถึงไม่ลดก็คงจะซื้ออยู่ดี)
  6. สิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นแรง โดย กระบี่ไม้ไผ่ – รวมเล่มของอีกหนึ่งคอลัมนิสต์ในดวงใจ เขียนเรื่องนามธรรม จิตใจ ฯลฯ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยภาษาเรียบง่ายแต่สละสลวยได้อย่างน่าทึ่งอีกคนหนึ่ง
  7. เขียนถึงญี่ปุ่น โดย ปราบดา หยุ่น – รวบรวมความเรียงเล่มล่าสุดของอีกหนึ่งคอลัมนิสต์ในดวงใจ เล่มนี้รวบรวมต้นฉบับภาษาไทยของคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น ผู้เขียนไม่ค่อยอ่านเรื่องสั้นของคุณปราบดาเพราะไม่ค่อย “เก็ต” แต่ชอบอ่านความเรียงของแกมากๆ โดยเฉพาะซีรี่ส์ ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน ที่เขียนโต้ตอบกับคุณวินทร์ เลียววาริณ
  8. โลกของเราขาวไม่เท่ากัน โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ – เกี่ยวกับอะไรไม่รู้ แต่เขียนโดยนักเขียน/นักถ่ายภาพสองคนที่ชื่นชอบมานาน ไม่ซื้อไม่ได้แน่
  9. 30 วัน เล่ม 3 โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา – หนังสือเล่มล่าสุดที่ถ่ายทอดประสบการณ์เดินทางไปอังกฤษ เล่มนี้เกี่ยวกับวงการสื่อสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือในอังกฤษล้วน สนุกมาก อ่านจบแล้ว 🙂
  10. คนกลางแจ้ง โดย หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง – เคยอ่าน คนในเงา ของนักเขียนคนเดียวกันแล้วชอบ เลยซื้อเล่มนี้มา

สารคดี วิชาการ ศาสนา

หนังสือสารคดี (ต่อ) วิชาการ ศาสนา

  1. เอกเขนกในสวนของคนขี้เกียจ โดย สุวิชานนท์ รัตนภิมล – ชื่อจริงของคนเขียนเล่มข้างบน ซื้อมาลองอ่านเพราะคำนิยมของคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิบนปกหลัง
  2. เรียนรู้ธรณีวิทยาจากฟอลซิลไดโนเสาร์ – หนังสือรุ่นใหม่ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สี่สีสวยงามน่าอ่านมาก เขียนโดยทีมนักโบราณคดีชีววิทยาแถวหน้าของประเทศ
  3. ข้อพิพาทและความขัดแย้งปัญหาที่ดินในประเทศไทย โดย ศยามล ไกรยูรวงศ์ และคณะ และ ความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนชนบท โดย สาโรช อังสุมาลิน และคณะ – งานวิจัยที่ได้ทุนจาก สกว. ซื้อมาประกอบการเขียนบทความ และด้วยความสนใจส่วนตัว 😉
  4. แม่โขงโพสต์ ฉบับ คิดถึงปลาบึก – วารสารเกี่ยวกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่โขง ซื้อเพราะอยากอ่านเรื่องปลาบึก และเพราะฉบับนี้แถมซีดีมาด้วยหนึ่งแผ่น
  5. พระเอกโง่: ทัศนะวิพากษ์ว่าด้วยสังคมและภูมิปัญญาไทย โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว – นักเขียนสารคดีในดวงใจอีกหนึ่งคน เล่มที่ชอบที่สุดตั้งแต่ติดตามผลงานของเธอมาคือ ไทบ้านดูดาว แต่เขียนอะไรก็อ่านสนุกทุกเรื่อง (ยกเว้นเรื่องไทใหญ่/รัฐฉาน ที่อ่านแล้วชวนหดหู่หรือไม่ก็ชวนให้โกรธรัฐบาลทหารพม่า)
  6. พุทธศาสนาในเมืองไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม โดย ส.ศิวรักษ์ – ชื่อนี้รับประกันคุณภาพอยู่แล้ว 🙂
  7. เพลงปราโมทย์ของเซ็น, ทางทรายใกล้ทะเลสาบ, เค้าขวัญวรรณกรรม, และ ภาพประพิมพ์ประพาย โดย เขมานันทะ – เคยอ่านแต่เรื่องสั้นบางเรื่องของท่านนานมากแล้วจนจำไม่ได้ เพิ่งมาระลึกได้อีกทีตอนอ่านข่าวท่านเขมานันทะได้รับรางวัลอมตะอวอร์ด เลยซื้อรวดเดียวหลายเล่ม (มีคนให้ ทางทรายฯ เป็นของขวัญวันเกิด เลยซื้ออีกเล่มให้เพื่อน) กำลังอ่าน เค้าขวัญวรรณกรรม อยู่ ประทับใจมากๆ จนต้องหาโอกาสมาเขียนเล่าต่างหากวันหลัง แต่ขอบอกว่าทุกคนที่ชอบวรรณกรรมไทย จีน และอินเดีย ไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ด้วยประการทั้งปวง

ศาสนา

หนังสือศาสนา (ต่อ)

  1. พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล – ซื้อเพราะเชื่อว่า “ชื่อคนเขียนรับประกันคุณภาพ” อีกเล่มหนึ่ง
  2. มีใจเป็นมิตร มีจิตเป็นเพื่อน, ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา, และ คืนสู่สามัญ โดย พระไพศาล วิสาโล – มีหมดแล้วสามเล่ม ซื้อชุดนี้มาให้เพื่อน ท่านไพศาลเขียนเรื่องธรรมะเก่งมาก คิดว่าอยู่กลางๆ ระหว่างท่าน ว.วชิรเมธี (คือไม่ทำให้ “ย่อยง่าย” เท่า) และท่านธรรมปิฎก (คือไม่ “วิชาการ” เท่า)
  3. ปฏิบัติการการุณย์รัก บทบันทึกความทรงจำของวีโนพา ภาเว แปลจากฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย จิรธัมม์ พระไพศาล วิสาโล เป็นบรรณาธิการแปล – อัตชีวประวัติวิโนพา ภาเว (Vinoba Bhave) สานุศิษย์เอกของท่านมหาตมะ คานธี หนึ่งใน “คนชายขอบ” ที่ตั้งใจจะเขียนถึงในอนาคต
  4. พระพุทธศาสนาสยาม: ฤาวิกฤตจะเป็นโอกาส – รวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตพุทธศาสนาในไทย ทั้งจากพระและฆราวาส น่าอ่านอย่างยิ่ง
  5. บางแง่มุมของศาสนาในทัศนะพุทธทาส – ท่านพุทธทาสเขียนอะไรก็ได้ข้อคิดทั้งนั้น ต้องค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ ละเลียดตัวหนังสือของท่าน เพราะเขียนเยอะเหลือเกิน ชีวิตนี้ทั้งชีวิตก็อ่านไม่หมด และก็คิดว่า้ต้องให้เวลากับการ “ปฏิบัติธรรม” มากกว่าการ “อ่านหนังสือธรรมะ” เสียที

งานหนังสือปีนี้คนไม่เยอะเท่ากับปีที่แล้ว คนทำสำนักพิมพ์หลายคนเล่าให้ฟังว่า ปกติคนจะมางาน “สัปดาห์หนังสือ” (ทุกเดือนเมษายน) มากกว่างาน “มหกรรมหนังสือ” (ทุกเดือนตุลาคม) แต่งานเดือนตุลาปีนี้คนน้อยกว่าตุลาปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่างานหนังสือฯ ก็ยังคงเป็นงานที่ไม่เหมาะสำหรับคนรักหนังสือจริงๆ ที่อยากมีเวลา “ละเลียด” หนังสือ ค่อยๆ พลิกหนังสืออ่านไปเรื่อยๆ ในร้าน เพื่อเสาะหาเล่มที่ถูกใจ งานนี้ดูจะเหมาะเฉพาะสำหรับคนที่รู้อยู่แล้วว่าอยากซื้อหนังสือเล่มไหนบ้าง จะได้รีบไปซื้อแล้วก็กลับ หรือไม่ก็สามารถทนเสียงโหวกเหวกโวยวายจากโทรโข่งนับสิบอันพร้อมกันได้ และทนฝ่าฝูงวัยรุ่นที่แห่กันไปบูธใยไหม แจ่มใส และบลิสพับลิชชิ่งได้เท่านั้น 😉