หนังสือจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36

ได้เวลาประจานกิเลสตัวเองอีกแล้ว T_T ปีนี้ผู้เขียนไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 บ่อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะตอนนี้(ดัน)ทำงานเป็นที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นตึกที่อยู่ใกล้ศูนย์สิริกิติ์ที่สุด เท่ากับว่าที่จอดรถก็ไม่ต้องหา เพราะเดินข้ามไปจากที่ทำงานได้เลย ซื้อหนังสือเสร็จก็ไม่ต้องแบกไกล เพราะแบกเอาไปใส่รถแล้วก็เดินมือเปล่ากลับมาซื้อหนังสือได้อีก(หลายรอบ) ดังนั้น ในเมื่อการต้องวนหาที่จอดรถ กับการต้องเดินแบกหนังสือหนักๆ – “ความไม่สะดวก” สองประการที่เคยช่วยทำหน้าที่เป็นปราการยับยั้งกิเลสของผู้เขียน – ไม่เป็นอุปสรรคในการซื้อหนังสืออีกต่อไป ก็เท่ากับว่าต้องอาศัย “ใจ” ของตัวเองเท่านั้นเป็นเครื่องฉุดกิเลส

รูปหนังสือที่ได้มาทั้งหมด (คลิ้กเพื่อขยาย) คงฟ้องได้ดีว่าผู้เขียนบังคับใจตัวเองได้แย่ขนาดไหน:

หนังสือที่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เม.ย. 2551 วารสารที่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เม.ย. 2551

(อย่างไรก็ตาม ขอแก้ตัวเล็กน้อยว่า หนังสือหลายเล่มไม่ได้ซื้อมาเพราะตั้งใจจะอ่านยามว่าง แต่เพราะคิดว่าใช้เป็น “แหล่งอ้างอิง” ได้ดีเวลาเขียนหนังสือ เช่น หนังสือชุดความคิดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น ฉะนั้น เงินส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ซื้อหนังสือรอบนี้จึงควรนับเป็น “ต้นทุน” หรือ “เงินลงทุน” ในการเขียนหนังสือ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบริโภคสาระและความเพลิดเพลินทั้งก้อน)

(ป.ล. ขอแก้ตัวอีกนิดว่า หนังสือของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ส่วนใหญ่ และหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกเล่ม ที่เห็นในรูปนั้นผู้เขียนไม่ได้ซื้อ แต่ได้รับแจกฟรีในฐานะเป็น “สวัสดิการนักเขียน” ของทั้งสองสำนักพิมพ์ ขอขอบคุณบอกอไว้ ณ ที่นี้ ^_^)

ตามธรรมเนียม geek หนังสือทั่วโลก และธรรมเนียมของบล็อกนี้ ขอบันทึกไว้ตรงนี้ว่าซื้อแต่ละเล่มมาทำไม แบ่งตามประเภทหนังสือ:


ได้เวลาประจานกิเลสตัวเองอีกแล้ว T_T ปีนี้ผู้เขียนไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 บ่อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะตอนนี้(ดัน)ทำงานเป็นที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นตึกที่อยู่ใกล้ศูนย์สิริกิติ์ที่สุด เท่ากับว่าที่จอดรถก็ไม่ต้องหา เพราะเดินข้ามไปจากที่ทำงานได้เลย ซื้อหนังสือเสร็จก็ไม่ต้องแบกไกล เพราะแบกเอาไปใส่รถแล้วก็เดินมือเปล่ากลับมาซื้อหนังสือได้อีก(หลายรอบ) ดังนั้น ในเมื่อการต้องวนหาที่จอดรถ กับการต้องเดินแบกหนังสือหนักๆ – “ความไม่สะดวก” สองประการที่เคยช่วยทำหน้าที่เป็นปราการยับยั้งกิเลสของผู้เขียน – ไม่เป็นอุปสรรคในการซื้อหนังสืออีกต่อไป ก็เท่ากับว่าต้องอาศัย “ใจ” ของตัวเองเท่านั้นเป็นเครื่องฉุดกิเลส

รูปหนังสือที่ได้มาทั้งหมด (คลิ้กเพื่อขยาย) คงฟ้องได้ดีว่าผู้เขียนบังคับใจตัวเองได้แย่ขนาดไหน:

หนังสือที่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เม.ย. 2551 วารสารที่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เม.ย. 2551

(อย่างไรก็ตาม ขอแก้ตัวเล็กน้อยว่า หนังสือหลายเล่มไม่ได้ซื้อมาเพราะตั้งใจจะอ่านยามว่าง แต่เพราะคิดว่าใช้เป็น “แหล่งอ้างอิง” ได้ดีเวลาเขียนหนังสือ เช่น หนังสือชุดความคิดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น ฉะนั้น เงินส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ซื้อหนังสือรอบนี้จึงควรนับเป็น “ต้นทุน” หรือ “เงินลงทุน” ในการเขียนหนังสือ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบริโภคสาระและความเพลิดเพลินทั้งก้อน)

(ป.ล. ขอแก้ตัวอีกนิดว่า หนังสือของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ส่วนใหญ่ และหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกเล่ม ที่เห็นในรูปนั้นผู้เขียนไม่ได้ซื้อ แต่ได้รับแจกฟรีในฐานะเป็น “สวัสดิการนักเขียน” ของทั้งสองสำนักพิมพ์ ขอขอบคุณบอกอไว้ ณ ที่นี้ ^_^)

ตามธรรมเนียม geek หนังสือทั่วโลก และธรรมเนียมของบล็อกนี้ ขอบันทึกไว้ตรงนี้ว่าซื้อแต่ละเล่มมาทำไม แบ่งตามประเภทหนังสือ:


การ์ตูน นิยายแปล เรื่องสั้นแปล

  1. PLUTO #5 – เล่มล่าสุดของสุดยอดการ์ตูนญี่ปุ่น โดยนาโอกิ อุราซาวา (คนเขียน 20th Century Boys การ์ตูนญี่ปุ่นที่ “เจ๋ง” ที่สุดที่รู้จัก) เอาการ์ตูนคลาสสิกเรื่อง เจ้าหนูอะตอม ของโอซามุ เท็ตสึกะ มาเขียนใหม่ได้อย่างทันสมัยและสนุกสนานอย่างยิ่ง
  2. โดราเอมอนผจญภัยประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น – ซื้อมาเพราะชอบทั้งโดราเอมอนและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น 🙂
  3. อุดมสุข #2 ตอน “ศาลาคนสุข” – โดย อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ นักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นใหม่ในดวงใจคนหนึ่ง ซื้อมาเพราะชอบ อุดมสุข เล่มแรก (ผลงานของคุณอิทธิวัฐก์อีกสองเล่มคือ ลิ้นชักแห่งความทรงจำ และ โรงเรียนเม็ดกวยจี๊ ก็เป็น “การ์ตูนเด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี” ที่ดีมากๆ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเด็กเหมือนกัน)
  4. 7 (Seven) – หนังสือรวมการ์ตูนฝีมือคนไทย ถ่ายทอด “บาปเจ็ดประการ” ในคติคริสต์ออกมาเป็นการ์ตูน ซื้อมาเพราะมีการ์ตูน “นัวร์” ฝีมือคุณทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนการ์ตูนคนโปรดของผู้เขียน
  5. บาร์เทิลบี – โดย เฮอร์แมน เมลวิลล์ แปลโดย พัจนภา เปี่ยมศิลปกุญชร บทกล่าวตามโดย ปราบดา หยุ่น หนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของฝรั่ง ดีใจที่ได้เห็นฉบับแปลไทยเสียที เคยอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้วแต่ซื้อมาเพราะอยากอุดหนุนสำนักพิมพ์สมมติ เจ้าของโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือให้โอเพ่นบุ๊คส์มาตลอด รวมทั้งหนังสือของผู้เขียนด้วย 🙂
  6. รักแรก และเรื่องสั้นอื่นๆ – โดย ซามูเอล เบคเกตต์ แปลโดย จิตติ พัวพิสุทธิ บทกล่าวตามโดย มุกหอม วงษ์เทศ ซื้อมาด้วยเหตุผลเดียวกันกับเล่มข้างบน
  7. ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ – โดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ผู้แปลหลายคน บทกล่าวตามโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ ซื้อมาด้วยเหตุผลเดียวกันกับเล่มข้างบน
  8. เพชฌฆาตข้างถนน – รวมเรื่องสั้นของ ฆอร์เก ลูอิส บอร์เจส แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง ซื้อมาเพราะชอบทั้งคนเขียนและคนแปล
  9. เอลเลอรี่ ควีน ยอดนักสืบ – รวมเรื่องสั้น 6 คดีปริศนา อาทิ “สุภาพสตรีมีเครา” ฯลฯ แปลโดย แดง ชารี ซื้อมาเพราะไม่เคยอ่าน Ellery Queen ตอนเด็ก มัวแต่อ่านเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ตอนนี้อยากลองอ่าน ไม่รู้จักคนแปลแต่เชื่อฝีมือบอกอของคุณเรืองเดช จันทรคีรี เจ้าของสำนักพิมพ์รหัสคดี
  10. ใต้เงาเชอร์ล็อค โฮล์มส์ – รวมเรื่องสั้น “จำลักษณ์” (เลียนแบบ) ยอดนักสืบ คุณเรืองเดช จันทรคีรี เป็นบรรณาธิการ ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว 😀

บทกวี รวมเรื่องสั้น นิยาย ดีวีดี

  1. ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ – รวมบทกวีของ อุเทน มหามิตร ซื้อมาเพราะเปิดผ่านๆ แล้วสะดุดใจกับวลี “รองเท้าของผมคือแสงหักเห”
  2. ป่าน้ำค้าง – กวีนิพนธ์โดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซื้อมาเพราะชื่อ “กนกพงศ์”
  3. ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง – รวมบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ เล่มที่สอง ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่เอื้อเฟื้อให้ฟรี
  4. หุบเขาฝนโปรยไพร – ดีวีดี + หนังสือความเป็นมาและเบื้องหลัง งานแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมรำลึก กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ครั้งที่ 1 24-25 ก.พ. 2550 ซื้อมาเพราะมีวงดนตรีที่ชอบหลายวง เช่น อัสลีมาลา, Job2Do, และรังสรรค์ ราศี-ดิบ
  5. พายุรัก มรสุมชีวิต – โดย ประชาคม ลุนาชัย ซื้อเพราะคุณประชาคมเป็นหนึ่งในนักเขียนในดวงใจ ระดับ “ชื่อรับประกันคุณภาพ” 🙂
  6. บุรุษในม่านพราง – โดย ประชาคม ลุนาชัย เหตุผลเดียวกับเล่มข้างบน
  7. หนาวผู้หญิง – โดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ หนังสือเล่มแรกของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้หยุดตัวเลขอายุไว้ที่ “28” ก่อนหนังสือเล่มนี้วางแผงครั้งแรกไม่กี่เดือน ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว
  8. พุ่มรัก พานสิงห์ #3 – โดย วินทร์ เลียววาริณ เล่มล่าสุดในชุด “เสี่ยวนักสืบ” หลังๆ มานี้ไม่ค่อยซื้องานของคุณวินทร์ เพราะดูจะเน้นการ “ให้กำลังใจ” ไปหน่อย ไม่เหมาะกับคนชอบหนังสือนัวร์เลือดสาดอย่างผู้เขียน แต่ชอบหนังสือชุด “เสี่ยวนักสืบ” มาก เรื่องนี้น่าจะมีคนเอาไปทำเป็นหนังโรง
  9. เณรน้อยเที่ยวธุดงค์ – โดย ณ เณร ซื้อมาเพราะโฆษณาว่าเป็น “นิยายธรรมะแนวแฟนตาซี” เล่มแรก ดูน่าสนใจ ข้อมูลในเว็บสำนักพิมพ์บอกว่าเคยเป็น “หนังสือแจกยอดนิยม” มาแล้ว
  10. เด็กหญิงมุกประดับ – โดย 10 เดซิเบล ซื้อเพราะชอบ คณิตศาสตร์ รส. เล่มก่อนหน้าของนักเขียนคนเดียวกัน
  11. โลกของหนูแหวน (วัยซน) – โดย ศราวก หนึ่งในหนังสือที่ผู้เขียนคิดว่าเป็น หนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่ควรอ่าน มติชนเอามาพิมพ์ใหม่พร้อมรูปประกอบสวยงาม สมควรซื้อไปเก็บอย่างยิ่ง
  12. โลกของหนูแหวน (วัยก่อนวัยรุ่น) – โดย ศราวก เหตุผลเดียวกันกับเล่มข้างบน เล่มนี้เล่าเรื่องหนูแหวนตอนโตขึ้นมาหน่อย สภาพแวดล้อมในชนบทเริ่มถูก “การพัฒนา” เปลี่ยนโฉมหน้าไป
  13. The DuckDuck’s Manifesto! โดย มนตรี ศรียงค์ – รวมเรื่องสั้นของกวีซีไรท์ประจำปี 2550 เคยซื้อในงานหนังสือครั้งที่แล้วแต่ให้เพื่อนไปแล้ว เลยไปซื้อใหม่มาเก็บขึ้นหิ้ง คุณมนตรีเป็นกวีรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากๆ
  14. Lonesome Cities / คนหนุ่มในเมืองหนึ่ง – รวมเรื่องสั้นของสี่หนุ่ม วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ อนุกูล เหมาลา วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา และ นฆ ปักษนาวิน รวบรวมจากบล็อก Lonesome Cities ซื้อมาเพราะชอบงานของคุณวุฒิชัย และคุณวิวัฒน์ (ผู้อาจเป็นที่รู้จักมากกว่าในโลกอินเทอร์เน็ต ในนามแฝงคือ FILMSICK)
  15. ไปหาใครบางคน – “35 เรื่องสั้นสั้นร่วมสมัย” โดย นราวุธ ไชยชมภู นักเขียนโปรดอีกคนหนึ่ง
  16. UNDERGROUND BULETEEN #13 – วารสารวรรณกรรมรายสองเดือน (ซึ่งอาจกลายเป็นรายสะดวกไปแล้ว?) ที่อยากให้อยู่ไปนานๆ
  17. abc : Happy Ending – bookgazine ฉบับปฐมฤกษ์จากสำนักพิมพ์ a book ซื้อมาเพราะนักเขียนโปรดสองคนคือ นิ้วกลม กับ ทรงกลด บางยี่ขัน เขียนเรื่องสั้นลงในนี้ด้วย

หนังสือท่องเที่ยว ธรรมะ ความเรียง วารสาร

  1. นั่งรถไฟไปตู้เย็น – โดย นิ้วกลม ซื้อเพราะเป็นแฟนหนังสือ
  2. Woman Traveller : ตามหา – โดย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ซื้อเพราะอ่านรีวิวในบล็อกคุณเฟย์แล้วอยากอ่านระดับ “ต้องไปหาซื้อแล้ว”
  3. Woman Traveller : สะดุด – โดย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ดูเหตุผลข้างบน
  4. Stories in Stones I & II – โดย ศิลาเล่า (อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย) ซื้อเพราะอ่านสองเล่มข้างบนจบภายในวันที่สามของงานหนังสือแล้วชอบมาก เลยต้องกลับไปหาเล่มอื่นๆ ของคนเขียนคนเดียวกัน สองเล่มนี้ขายเป็นชุด ชุดละ 500 บาท แต่คิดว่าคุ้มเพราะคนเขียนถ่ายรูปปราสาทหินได้สวยมาก
  5. เมืองเล็กที่เปลี่ยนโลก – โดย นักเดิน(สวน)ทาง หนังสือเล่มสวยเขียนดีที่เล่าเรื่องราวของเมืองเล็ก 6 เมืองในยุโรป ที่กำลัง “เปลี่ยนโลก” อย่างช้าๆ ด้วยวิถีทางของตนเอง
  6. แอมะซอนบำบัด – โดย อาทิตย์ ประสาทกุล ซื้อเพราะชอบตั้งแต่อ่านเรื่อง การเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดา แล้ว
  7. ปักกิ่งในความทรงจำ – โดย ศรีกานดา ภูมิบริรักษ์ ซื้อเพราะติดใจคำโปรย “ประสบการณ์ที่ไม่เคยเปิดเผย ครึ่งศตวรรษในจีน” คำนิยมของ ลาว คำหอม และอยากอ่านตอนที่คนเขียนพบกับ ‘ศรีบูรพา’ ในปักกิ่ง
  8. บันทึกอียิปต์ – โดย วันชัย ตัน เจ้าของนิตยสาร สารคดี ซื้อเพราะเป็นแฟนหนังสือ เสียดายที่ชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้สะกดชื่อประเทศผิดอย่างไม่น่าให้อภัย จาก Egypt กลายเป็น Egyte …เลยอ่านว่า “อีจี๊ดส์ ไดอารี่” แทน -_-“
  9. อินเดียใต้ต้นไม้ – โดย ‘ศราดีดี้ ซื้อเพราะเพื่อนบอกว่าสนุก ถ่ายทอดประสบการณ์ในศานตินิเกตัน (“มหาวิทยาลัยใต้ต้นไม้” ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร) ของคนไทยที่ไปร่ำเรียนที่นั่น (ตอนนี้อ่านจบแล้ว สนุกจริงๆ ด้วย)
  10. เรื่องเล่ารอบทะเลสาบ – โดย ขมิ้นศรี เล่าเรื่องราว ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ รอบทะเลสาบสงขลา อ่านง่าย รูปประกอบก็สวย (หนังสือยุคแรกๆ ของสำนักพิมพ์วงกลมที่ทำเป็นเล่มใหญ่ๆ เนื้อหาดีและสวยน่าซื้อเก็บทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็น บันทึกชาวทุ่ง, การเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดา ฯลฯ)
  11. อยู่กับปัจจุบัน – โดย เปลว สีเงิน รวมข้อเขียนแนวธรรมะจากคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์มือหนึ่ง
  12. ผ่านพ้นจึงค้นพบ – โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผลงานเล่มล่าสุดของนักเขียนที่ยิ่งเขียนยิ่งลุ่มลึก สื่อสภาวะที่ “ถึงพร้อม” และอยู่เหนือกาลเวลา
  13. เปลี่ยนคนเป็นมนุษย์ – รวมข้อเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุ เล่มล่าสุดของสำนักพิมพ์อมรินทร์ เสียดายที่เล่มนี้ไม่มีภาพประกอบสวยๆ แล้ว ไม่เหมือนเล่มก่อนๆ
  14. ธรรมะคลายใจ – ผลงานเล่มล่าสุดของท่าน ว.วชิรเมธี ตอนแรกว่าจะไม่ซื้อแล้วเพราะดูท่านเริ่มจะออกแนว “ทำเรื่องยากให้ง่ายเกินไป” แต่พอเห็นภาพประกอบสวยๆ ก็อดใจไม่ได้อีกแล้ว
  15. เปลี่ยนใจ – โดย พระไพศาล วิสาโล ซื้อเพราะเป็นแฟนหนังสือของท่านไพศาล
  16. ห้าวันที่ฉันตื่น – โดย สหรัฐ เจตมโนรมย์ ประสบการณ์ของผู้ที่ได้ไปร่วมงานภาวนากับท่านติช นัท ฮันห์ และนักบวชจากหมู่บ้านพลัม ซื้อมาเพราะสนใจอยากร่วมงานภาวนาในครั้งต่อๆ ไป
  17. ใบไม้สีแดง – โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล รวมเล่มคอลัมน์ในแพรวสุดสัปดาห์ ซื้อมาเพราะอยากอุดหนุนงานของหนุ่มน้อยไฟแรง ผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ 🙂
  18. ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน #6 – โดย วินทร์ เลียววาริณ และ ปราบดา หยุ่น รวมเล่มล่าสุดของจดหมายโต้ตอบระหว่างสองนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ เล่มนี้มีวรพจน์ พันธุ์พงศ์ มาร่วมแจมด้วย
  19. เสียงแห่งทศวรรษ – รวมบทสัมภาษณ์สิบชิ้นในรอบทศวรรษ โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักสัมภาษณ์มือหนึ่งของประเทศ ไม่ซื้อไม่ได้ 🙂
  20. กระทบไหล่เขา – โดย ปราบดา หยุ่น เขียนถึงบุคคลสำคัญ 19 คนที่มีอิทธิพลต่อเขา แต่ในรูปเรื่องสั้นล้นจินตนาการ หาซื้อไม่ได้มานาน ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดที่เอามาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง
  21. จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม – รวมจดหมายที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เขียนถึงเพื่อนนักเขียน ซื้อเพราะเชื่อมั่นในชื่อ “กนกพงศ์” หนึ่งในนักเขียนรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่ผู้เขียนคิดว่าเข้าขั้น “อัจฉริยะ” เสียดายที่ลาโลกไปแล้วตั้งแต่อายุยังน้อย
  22. มนต์รักแม่กลอง – เล่ม 1 & 2 วารสารรายสองเดือน กองบรรณาธิการมีพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ด้วย เล่าเรื่องราวต่างๆ ในแถบแม่กลองอย่างน่าัรักน่าอ่าน โดยเฉพาะเรื่องเมืองอัมพวาในเล่มสอง
  23. วารสารพลัม – เล่มแรก ตีพิมพ์โดยมูลนิธิหมู่บ้านพลัม น่าอ่านน่าเก็บอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่สนใจคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ และกิจกรรมแผยแผ่ศาสนาพุทธของหมู่บ้านพลัม

หนังสือศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิชาการ

  1. ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป – โดย ศิลป์ พีระศรี แค่พลิกดูภาพสเก็ตช์ของอาจารย์ก็คุ้มแล้ว
  2. ดีไซน์+คัลเจอร์ – รวมคอลัมน์ของประชา สุวีรานนท์ ในมติชนสุดสัปดาห์ คุ้มค่าควรแก่การซื้อเก็บอย่างยิ่ง (ขอขอบคุณฟ้าเดียวกันที่ให้ฟรี)
  3. What Is Art? – โดย ลีโอ ตอลสตอย สำนวนแปล สิทธิชัย แสงกระจ่าง หนังสือ “ต้องซื้อเก็บ” อีกหนึ่งเล่ม (ขอขอบคุณโอเพ่นที่ให้ฟรี)
  4. film Japan ซามูไรตกดิน – โดย ‘นรา เรื่องราวเกี่ยวกับหนังญี่ปุ่นน่าดูที่น่าอ่านอย่างยิ่ง
  5. สารคดีข้างบ้าน ปีที่สอง – ดีวีดีรวมหนังสารคดีในโครงการ “สารคดีข้างบ้าน” ปีที่สอง (2550) จัดโดยนิตยสาร BIOSCOPE นิตยสารสำหรับคนรักหนังที่ดีที่สุดในประเทศ
  6. สะดุดโลกแอนิเมชั่น – โดย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ซื้อมาเพราะอยากรู้ว่าแอนิเมชั่นดีๆ นั้นเขาทำกันยังไง
  7. สิทธิ (ชีวิต) เหนือสิทธิบัตรยา : ซีแอลของคนไทย – โดย มุทิตา เชื้อชั่ง เล่มนี้ไม่ได้ซื้อ แถมฟรีจากบูธวารสารหนังสือใต้ดิน ขอบคุณมากๆ 🙂
  8. ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง – ประจำปี 2537 (พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ), 2538 (แม่หญิงทองดี โพธิยอง), 2541 (วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ) ลดเหลือเล่มละ 10 บาท ปาฐกถาโกมลคีมทองดีๆ ทั้งนั้น เสียดายที่ไม่เคยมีการรวมเล่มขาย ต้องตามหาทีละปี
  9. คู่มือการรายงานข่าวตลาดหุ้น – โดย พัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์ หนังสือเล่มบางที่เขียนดีและยังทันสมัยถึงแม้จะพิมพ์ตั้งแต่ปี 2536 โน่น ลดเหลือ 10 บาท เห็นโดยบังเอิญในกอง 10 บาทที่ไปยืนคุ้ยอยู่นานสองนาน
  10. Pre-Modern – โดย ไชยันต์ ไชยพร ซื้อในฐานะแฟนหนังสือของอาจารย์
  11. Post-Modern Japan – โดย ไชยันต์ ไชยพร โอเพ่นใจดีแจกฟรี แต่ถึงไม่ให้ก็ซื้ออยู่แล้ว ^_^
  12. รับมือกับสารพัดตัวแสบ – โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ซื้อเพราะเป็นแฟนหนังสือ
  13. ทางแพร่งและพงหนาม ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย – โดย เกษียร เตชะพีระ รวมคอลัมน์ที่อาจารย์เขียนลงมติชน ชื่อนี้รับประกันคุณภาพอยู่แล้ว 🙂
  14. สุนทรภู่ในประวัติศาสตร์สังคมรัตนโกสินทร์ มุมมองใหม่ : ชีวิตและผลงาน – โดย ศานติ ภักดีคำ ซื้อเพราะชื่อ “สุนทรภู่” หนึ่งในกวีที่ผู้เขียนชอบที่สุด (รองจาก “นายผี” เล็กน้อย)
  15. โลกร้อน มหันตภัยหรือเข้าใจผิด!? – โดย ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนที่เก่งที่สุดในไทย คิดว่าเล่มนี้เป็นหนังสือ “ต้องอ่าน” สำหรับทุกคนที่สนใจเรื่องนี้
  16. แผนบี ปฏิบัติการกอบกู้โลกจากมหันตภัยด้านสิ่งแวดล้อม – โดย เลสเตอร์ บราวน์ แปลโดย อรวรรณ คูหาเจริญ นาวายุทธ ซื้อเพราะดีใจที่เห็นมีคนไทยแปลหนังสือดีเล่มนี้ (อ่านรายละเอียดได้ในคอลัมน์คนชายขอบ) อยากเก็บไว้ใช้อ้างอิง จะได้รู้ศัพท์ภาษาไทยของคำต่างๆ 🙂
  17. ก่อนภาคประชาชนล่มสลาย – โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง หนังสือน่าอ่านสำหรับชนชั้นกลางทุกคน จะได้รับรู้ความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมชาติ ผู้เป็นคนหมู่มากของประเทศ
  18. ก่อนจะถึงเชิงตะกอน, คำให้การ กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, ทัศนะว่าด้วยการศึกษา, ทัศนะว่าด้วยการเมืองและจริยธรรม, ทัศนะว่าด้วยเศรษฐกิจ – ทั้งหมดนี้โดย ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซื้อมาเก็บเป็นชุด มั่นใจว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องได้อ้างอิงอาจารย์ในหนังสือของตัวเองแน่นอน
  19. ลิ้นชักภาพเก่า – โดย เอนก นาวิกมูล รวมภาพเก่าน่าเก็บจากสมัย 50-100 ปีที่แล้ว

เฮ่อ! (ถอนหายใจอย่างโล่งอก) ไม่น่าเชื่อว่าแค่เขียนไล่รายชื่อหนังสืออย่างเดียวก็ปาเข้าไปสองชั่วโมงแล้ว …สงสัยจะต้องคิดโครงการเปิดห้องสมุดให้เช่าอย่างจริงจังภายในสิ้นปีนี้ เพราะไม่คิดว่าห้องตัวเองจะรองรับหนังสือได้อีกมากกว่า 2 งานหนังสือ T_T