[UPDATE 8/2011: สุนทรพจน์ชิ้นนี้และของอีก 9 คน รวมเล่มในหนังสือชื่อ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน พิมพ์โดย สนพ.โอเพ่นบุ๊คส์ :)]
ช่วงนี้รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ กับการเมืองแสนน้ำเน่าของไทย (ที่ข้าพเจ้าพยายามทำตัวเป็นพลเมืองดี ด้วยการด่ารัฐบาลเป็นภาษาอังกฤษให้ชาวโลกเข้าใจ ติดต่อกันมาหลายวันแล้ว 😛 ) ก็เลยอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ว่าแล้วก็ขอเชิญทุกท่านอ่านสุนทรพจน์อันยอดเยี่ยมของ สตีฟ จ็อบส์ ที่ไปพูดให้บัณฑิตสแตนฟอร์ดฟังเมื่อ 2 เดือนก่อน ข้าพเจ้าแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ผิดถูกอย่างไรก็ขออภัยด้วย ในฐานะนักแปลมือใหม่ 😉
สุนทรพจน์ของ สตีฟ จ็อบส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ และพิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วันที่ 12 มิถุนายน 2548
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาคุยกับน้องๆ ทั้งหลาย ในวันจบการศึกษา จากหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ผมเองไม่เคยเรียนจบปริญญา – ตรงนี้เป็นก้าวที่ใกล้ที่สุดแล้วของผม วันนี้ผมอยากเล่าเรื่องจากชีวิตจริงของผมให้น้องๆ ฟัง 3 เรื่อง ไม่มีอะไรมากครับ แค่ 3 เรื่อง
เรื่องแรกเป็นเรื่องของการเชื่อมจุดครับ
ผมลาออกจากมหาวิทยาลัยรีด หลัง 6 เดือนแรก แต่ก็ไปนั่งเรียนต่ออีกประมาณ 18 เดือนก่อนที่ผมจะออกจริงๆ แล้วทำไมผมถึงลาออก?
เหตุมันเกิดก่อนผมเกิด แม่แท้ๆ ของผมเป็นนักเรียนสาวที่จบมหาวิทยาลัยแต่ไม่ได้แต่งงาน แม่อยากยกผมให้เป็นลูกบุญธรรมของคนที่จบปริญญา ก็เลยจัดการให้ทนายคนหนึ่งกับภรรยา รับอุปการะผมตั้งแต่เกิด ทีนี้คู่นี้เกิดเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายขึ้นมา คิดว่าเขาอยากอุปการะเด็กผู้หญิงมากกว่า พ่อแม่ผมก็เลยต้องรับโทรศัพท์กลางดึก หมอถามว่า “ทารกเป็นเด็กชาย คุณยังอยากเลี้ยงเขาอยู่รึเปล่า?” พ่อแม่ผมตอบว่า “แน่นอน” ตอนหลังแม่แท้ๆ ของผมค้นพบว่าแม่บุญธรรมผมไม่เคยจบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมของผมไม่เคยจบม. 6 แม่ก็เลยไม่ยอมเซ็นเอกสารส่งตัวผม มายอมหลายเดือนหลังจากนั้นก็ตอนที่พ่อแม่ผมสัญญากับเธอว่า วันหนึ่งผมจะได้เรียนมหาวิทยาลัย
[UPDATE 8/2011: สุนทรพจน์ชิ้นนี้และของอีก 9 คน รวมเล่มในหนังสือชื่อ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน พิมพ์โดย สนพ.โอเพ่นบุ๊คส์ :)]
ช่วงนี้รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ กับการเมืองแสนน้ำเน่าของไทย (ที่ข้าพเจ้าพยายามทำตัวเป็นพลเมืองดี ด้วยการด่ารัฐบาลเป็นภาษาอังกฤษให้ชาวโลกเข้าใจ ติดต่อกันมาหลายวันแล้ว 😛 ) ก็เลยอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ว่าแล้วก็ขอเชิญทุกท่านอ่านสุนทรพจน์อันยอดเยี่ยมของ สตีฟ จ็อบส์ ที่ไปพูดให้บัณฑิตสแตนฟอร์ดฟังเมื่อ 2 เดือนก่อน ข้าพเจ้าแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ผิดถูกอย่างไรก็ขออภัยด้วย ในฐานะนักแปลมือใหม่ 😉
สุนทรพจน์ของ สตีฟ จ็อบส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ และพิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วันที่ 12 มิถุนายน 2548
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาคุยกับน้องๆ ทั้งหลาย ในวันจบการศึกษา จากหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ผมเองไม่เคยเรียนจบปริญญา – ตรงนี้เป็นก้าวที่ใกล้ที่สุดแล้วของผม วันนี้ผมอยากเล่าเรื่องจากชีวิตจริงของผมให้น้องๆ ฟัง 3 เรื่อง ไม่มีอะไรมากครับ แค่ 3 เรื่อง
เรื่องแรกเป็นเรื่องของการเชื่อมจุดครับ
ผมลาออกจากมหาวิทยาลัยรีด หลัง 6 เดือนแรก แต่ก็ไปนั่งเรียนต่ออีกประมาณ 18 เดือนก่อนที่ผมจะออกจริงๆ แล้วทำไมผมถึงลาออก?
เหตุมันเกิดก่อนผมเกิด แม่แท้ๆ ของผมเป็นนักเรียนสาวที่จบมหาวิทยาลัยแต่ไม่ได้แต่งงาน แม่อยากยกผมให้เป็นลูกบุญธรรมของคนที่จบปริญญา ก็เลยจัดการให้ทนายคนหนึ่งกับภรรยา รับอุปการะผมตั้งแต่เกิด ทีนี้คู่นี้เกิดเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายขึ้นมา คิดว่าเขาอยากอุปการะเด็กผู้หญิงมากกว่า พ่อแม่ผมก็เลยต้องรับโทรศัพท์กลางดึก หมอถามว่า “ทารกเป็นเด็กชาย คุณยังอยากเลี้ยงเขาอยู่รึเปล่า?” พ่อแม่ผมตอบว่า “แน่นอน” ตอนหลังแม่แท้ๆ ของผมค้นพบว่าแม่บุญธรรมผมไม่เคยจบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมของผมไม่เคยจบม. 6 แม่ก็เลยไม่ยอมเซ็นเอกสารส่งตัวผม มายอมหลายเดือนหลังจากนั้นก็ตอนที่พ่อแม่ผมสัญญากับเธอว่า วันหนึ่งผมจะได้เรียนมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้น 17 ปีต่อมา ผมก็ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยจริงๆ แต่ด้วยความไร้เดียงสา ผมเลือกมหาวิทยาลัยที่แพงเกือบเท่าสแตนฟอร์ด ทำให้พ่อแม่ผู้ใช้แรงงานของผม ต้องใช้เงินเก็บเกือบทั้งหมดเพื่อส่งผมเรียน หลังจากเรียนได้ 6 เดือน ผมก็ไม่เห็นประโยชน์มันอีก ผมไม่รู้ว่าผมต้องการอะไรจากชีวิต และผมก็ไม่รู้ว่าปริญญาจะช่วยหาคำตอบให้ผมได้ยังไง ในขณะที่ผมกำลังถลุงเงินที่พ่อแม่ผมเก็บหอมรอมริบมาชั่วชีวิต ผมก็เลยตัดสินใจลาออกด้วยความเชื่อว่า ทุกอย่างคงโอเคในที่สุด ตอนนั้นน่ากลัวเหมือนกันนะครับ แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่า นั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตผม นาทีที่ผมลาออกแปลว่า ผมไม่ต้องไปเรียนวิชาที่ผมไม่สนใจอีกต่อไป และไปนั่งเรียนแบบ sit-in ในวิชาที่น่าสนใจแทน
ชีวิตผมช่วงนั้นไม่ได้โรแมนติกตลอดนะครับ ผมไม่มีหอพักแล้ว ก็เลยต้องไปนอนพื้นในห้องเพื่อนๆ ผมเก็บขวดโค้กใช้แล้วไปแลกเงินค่าขวด 5 เซ็นต์คืน เก็บไปซื้อข้าวกิน และทุกๆ วันอาทิตย์ ผมจะเดิน 7 ไมล์จากฟากหนึ่งของเมืองไปอีกฟากหนึ่ง เพื่อไปกินข้าวดีๆ ซักมื้อที่วัดพระกฤษณะ (Hare Krishna Temple) ผมรักมันมาก การที่ผมปล่อยชีวิตไปตามความอยากรู้อยากเห็นและสัญชาตญาณ ทำให้ผมได้เจอหลายสิ่งโดยบังเอิญ ผมจะยกตัวอย่างซักเรื่องนะครับ
มหาวิทยาลัยรีดสมัยนั้นมีคอร์สสอนการคัดลายมือ (calligraphy) ที่น่าจะดีที่สุดในประเทศ ในบริเวณมหาวิทยาลัย โปสเตอร์ทุกแผ่น ป้ายติดลิ้นชักทุกอัน ล้วนเขียนด้วยลายมือที่สวยมากๆ เพราะผมไม่ต้องไปเรียนวิชาบังคับหลังจากลาออกแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไปเรียนคอร์สนี้ เพราะอยากรู้ว่าเขาเขียนกันยังไง ผมเรียนวิธีเขียนตัวอักษรแบบเซรีฟ (serif) แบบซาน เซรีฟ (sans serif) เรียนวิธีเว้นช่องไฟระหว่างตัวอักษร เรียนรู้เทคนิคการเรียงพิมพ์อันยอดเยี่ยม ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม ประวัติศาสตร์ และศิลปะที่มีความลึกล้ำ ในแง่มุมที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายได้ ผมรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าทึ่งมาก
วิชานี้ดูเหมือนไม่มีอะไรที่จะเอามาใช้ปฏิบัติในชีวิตจริงของผมได้เลย แต่ 10 ปีต่อมา ตอนที่เรากำลังออกแบบคอมพิวเตอร์แมคอินทอชรุ่นแรก ความรู้เหล่านี้ก็ย้อนกลับมาใหม่ เราใส่มันลงไปในเจ้าแมคนี้หมดเลยครับ ทำให้แมคเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในโลก ที่มีตัวพิมพ์ที่สวยงาม ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนวิชานั้น ป่านนี้แมคก็คงไม่มีตัวพิมพ์หลากหลายรูปแบบ หรือตัวพิมพ์ที่เว้นช่องไฟในสัดส่วนที่เหมาะสม และเพราะวินโดวส์ใช้วิธีก็อปปี้แมคเป็นหลัก นั่นก็หมายความว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไปก็คงไม่มีด้วย ถ้าผมไม่ลาออก ผมก็คงไม่ได้ไปนั่ง sit-in ในวิชาคัดลายมือนี้ และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็คงไม่มีตัวพิมพ์ที่สวยงาม แน่นอนครับ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ตอนผมเป็นนักเรียน แต่การเชื่อมจุดเป็นเรื่องง่ายดาย 10 ปีให้หลัง เมื่อผมมองย้อนกลับไปในอดีต
ไม่มีใครสามารถเชื่อมจุดจากปัจจุบันไปยังอนาคตได้ – เราทำได้เพียงเชื่อมจากปัจจุบันไปหาอดีตเท่านั้น เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องมั่นใจว่าอะไรที่ทำอยู่ตอนนี้จะเชื่อมไปเองในอนาคต น้องๆ ต้องเชื่อมั่นในอะไรซักอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ โชคชะตา ชีวิต กฎแห่งกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ความเชื่อมั่นแบบนี้ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง และมันทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปมาก
เรื่องที่สองของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและการสูญเสีย
ผมเป็นคนโชคดี ที่ค้นพบงานที่ผมรักตั้งแต่อายุยังน้อย ผมกับวอซ ก่อตั้งแอปเปิลในโรงรถของพ่อแม่ผม ตอนผมอายุ 20 เราทำงานกันหนักมากครับ ภายใน 10 ปี แอปเปิลขยายจากแค่เราสองคนในโรงรถ เป็นบริษัทมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญที่มีพนักงานกว่า 4,000 คน ตอนนั้นเราเพิ่งเปิดตัวผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเรา – เครื่องแมคอินทอช – หนึ่งปีก่อนหน้าที่ผมจะอายุครบ 30 แล้วผมก็ถูกไล่ออก ทำยังไงคนเราถึงถูกไล่ออกจากบริษัทที่เราก่อตั้งน่ะหรือครับ? คือว่า เมื่อแอปเปิลโตขึ้น เราก็จ้างคนที่เราคิดว่าเก่งมากๆ มาช่วยผมบริหารบริษัท ปีแรกเหตุการณ์ก็ราบรื่นดี แต่หลังจากนั้นวิสัยทัศน์ของเราก็เริ่มแยกทางกัน จนในที่สุดเราก็ไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อถึงจุดนั้น คณะกรรมการบริษัทเลือกอยู่ข้างเขา ผมก็เลยถูกไล่ออกตอนอายุ 30 แล้วก็ออกแบบเป็นข่าวดังมากด้วย ในพริบตาเท่านั้น สิ่งที่ผมทุ่มเทให้ทั้งชีวิตผู้ใหญ่ของผมก็สลายไป มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจผมมาก
ผมไม่รู้จะทำอะไรเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากนั้น ผมรู้สึกว่าผมทำให้เจ้าของธุรกิจรุ่นก่อนผิดหวัง รู้สึกว่าผมทำไม้ผลัดตก ตอนที่เขากำลังหยิบยื่นมันมาให้ผม ผมเจอเดวิด แพ็คการ์ด กับบ็อบ นอยซ์ เพื่อขอโทษพวกเขาที่ทำทุกอย่างพังพินาศ ผมเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่โด่งดัง ช่วงหนึ่งผมคิดขนาดจะหนีไปจากวงการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มคิดได้อย่างช้าๆ ว่าผมยังรักในสิ่งที่ผมทำอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นที่แอปเปิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนี้เลย ผมถูกไล่ออก แต่ผมยังมีความรักอยู่ นั่นทำให้ผมตัดสินใจเริ่มต้นใหม่
ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่ปรากฎว่าการถูกไล่ออกจากแอปเปิลกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดกับผมได้ ภาระอันหนักอึ้งจากความสำเร็จ แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเบาสบาย เมื่อผมกลับกลายเป็นมือใหม่ที่มีความเชื่อมั่นน้อยลง มันทำให้ผมมีอิสรภาพ ที่จะเข้าสู่ช่วงที่ผมมีความสร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต
ในช่วงห้าปีหลังจากนั้น ผมก่อตั้งบริษัทชื่อ เน็คสท์ อีกบริษัทชื่อ พิกซาร์ และตกหลุมรักผู้หญิงมหัศจรรย์คนหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นภรรยาผม พิกซาร์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวที่เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นล้วนๆ เรื่องแรกของโลกคือ ทอย สตอรี่ (Toy Story) และตอนนี้เป็นสตูดิโอแอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก หนึ่งในเหตุการณ์พลิกผันอันน่าพิศวงคือ เมื่อแอปเปิลซื้อกิจการของเน็คสท์ ผมกลับคืนสู่แอปเปิล และเทคโนโลยีที่เราพัฒนาที่เน็คสท์ ก็กลายเป็นหัวใจของแอปเปิลยุครุ่งเรืองในปัจจุบัน ตอนนี้ลอรีนและผมมีครอบครัวที่อบอุ่นร่วมกัน
ผมเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าแอปเปิลไม่ไล่ผมออก แม้มันจะเป็นยาที่ขมมาก แต่ผมก็คิดว่าเป็นยาที่คนป่วยต้องการพอดี บางครั้งชีวิตก็กระแทกเราเหมือนอิฐ อย่าเสื่อมศรัทธานะครับ ผมเชื่อว่าสิ่งเดียวที่ทำให้ผมผ่านพ้นช่วงนั้นมาได้คือ ความรักในสิ่งที่ผมทำ น้องๆ ต้องหาสิ่งที่ตัวเองรัก ผมหมายถึงทั้งงานและคนรัก เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเราจะหมดไปกับงาน วิธีเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขกับการทำงานคือ เมื่อเราทำงานที่ยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่จะทำให้งานออกมายอดเยี่ยมคือ เมื่อเรารักงานที่เราทำ ถ้าน้องๆ ยังหางานนั้นไม่เจอ จงหาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง งานก็เหมือนเรื่องของหัวใจเรื่องอื่นๆ – น้องจะรู้ว่ามัน “ใช่” เมื่อเจอกับมัน และการทำงานก็เหมือนความสัมพันธ์ที่ดีแบบอื่น คือมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นผมอยากย้ำให้น้องๆ ตามหางานที่รักจนกว่าจะเจอ อย่ายอมท้อถอย
เรื่องที่สามของผมเกี่ยวกับความตายครับ
ตอนผมอายุ 17 ผมอ่านคำคมประโยคหนึ่งที่ว่าไว้ทำนองนี้: “ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวัน เหมือนมันเป็นวันสุดท้ายของคุณแล้วละก็ วันหนึ่งคุณจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง” ผมรู้สึกประทับใจกับประโยคนี้มาก ตั้งแต่นั้นมากว่า 33 ปี ผมมองหน้าตัวเองในกระจกทุกวัน แล้วถามตัวเองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม ผมจะอยากทำสิ่งที่ผมกำลังจะทำวันนี้หรือเปล่า?” แล้วเมื่อไหร่ที่คำตอบคือ “ไม่” ติดกันหลายวัน ผมจะรู้ตัวว่าผมต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างแล้ว
ความสำนึกว่าผมจะต้องตายในไม่ช้า เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมรู้จัก ที่ผมใช้ในการตัดสินใจสำคัญๆ ของชีวิต เพราะเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง ความภูมิใจ ความกลัวการหน้าแตกและความผิดพลาดทั้งหลาย ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น มรณานุสติเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ผมรู้ ที่จะหลุดพ้นจากบ่วงความคิดว่า เรามีอะไรต้องเสีย เราทุกคนเปล่าเปลือยอยู่แล้วครับ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่ทำตามสิ่งที่ใจเราต้องการ
ประมาณปีหนึ่งมาแล้ว หมอบอกว่าผมเป็นมะเร็ง ผมไปเข้าเครื่องสแกนเวลา 7:30 ตอนเช้า ผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตับอ่อนคืออะไร หมอบอกว่าเขาค่อนข้างแน่ใจว่าผมเป็นมะเร็งแบบที่รักษาไม่หาย และผมไม่น่าจะอยู่ได้นานเกิน 3 ถึง 6 เดือน หมอบอกให้ผมกลับบ้านไปสะสางเรื่องต่างๆ ที่คั่งค้างอยู่ ก็เป็นโค้ดของหมอที่แปลว่าให้ไปเตรียมตัวตายนั่นแหละครับ แปลว่าให้พยายามบอกลูกๆ ถึงสิ่งต่างๆ ที่คนปกติมีเวลา 10 ปีจะบอก ให้บอกภายในไม่กี่เดือน แปลว่าให้เก็บความรู้สึกทุกอย่างให้เรียบร้อย ให้ครอบครัวไม่ยุ่งยากใจเมื่อถึงเวลา แปลว่าให้เอ่ยคำลา
ผมหมกมุ่นอยู่กับคำวินิจฉัยนั้นทั้งวัน เย็นวันนั้นผมไปเข้ากระบวนการไบอ็อพซี่ (biopsy) คือหมอต้องหย่อนกล้องเอ็นโดสโคป (endoscope) ลงไปในคอผม ผ่านกระเพาะไปยังลำไส้ เอาเข็มฉีดยาแทงเข้าตับอ่อน ดูดเอาเซลล์มะเร็งบางเซลล์ออกมา ตอนนั้นผมอยู่ใต้ฤทธิ์ยาชา ภรรยาผมซึ่งอยู่ในห้องด้วย เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเซลล์มะเร็ง หมอหลายคนถึงกับร้องไห้ เพราะปรากฏว่ามันเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดหายาก ที่สามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดได้ หลังจากนั้นผมก็เข้ารับการผ่าตัด ตอนนี้ผมสบายดีแล้วครับ
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่นำให้ผมใกล้ชิดกับความตายมากที่สุดในชีวิต ผมหวังว่ามันจะไม่มาใกล้กว่านี้แล้วในอีกหลายศตวรรษข้างหน้า เพราะผมได้ประสบด้วยตัวเอง ผมเลยสามารถเล่าสิ่งต่อไปนี้ให้น้องๆ ฟังด้วยความมั่นใจกว่าตอนที่ความตายเป็นแค่นามธรรมสำหรับผม
ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ ขนาดคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนไปถึง ถึงกระนั้นเราทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้น ไม่มีใครเคยรอดพ้นจากมันได้ แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมที่ควรจะเป็น เพราะความตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติให้เรามา เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กำจัดของเก่าเพื่อสละพื้นที่ให้กับของใหม่ ตอนนี้น้องๆ ทุกคนเป็นของใหม่ แต่ในอีกไม่นานนับจากนี้ น้องๆ จะกลายเป็นของเก่าที่ธรรมชาติต้องกำจัด ขอโทษที่อาจฟังดูเว่อร์นะครับ แต่มันเป็นความจริง
เวลาของน้องๆ มีจำกัด ดังนั้นอย่าทำให้มันเปล่าประโยชน์ด้วยการใช้ชีวิตของคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์ – นั่นคือการใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงของทัศนคติคนอื่น ดังกลบเสียงของหัวใจของเราเอง และที่สำคัญที่สุดคือ จงมีความกล้าที่จะเดินตามสิ่งที่หัวใจและสัญชาตญาณเรียกร้อง เพราะสองสิ่งนี้รู้อยู่แล้วว่าน้องๆ อยากเป็นอะไร ทุกอย่างที่เหลือเป็นเรื่องรองลงมาทั้งนั้น
ตอนผมเป็นเด็ก มีหนังสือที่น่าอัศจรรย์มากเล่มหนึ่งชื่อ แคตาล็อคของโลก (The Whole Earth Catalog) ซึ่งนับเป็นคัมภีร์ไบเบิลของคนรุ่นผม คนคิดแคตาล็อคนี้ชื่อ สจ๊วต แบรนด์ เป็นคนเมืองเม็นโล ปาร์ค ไม่ไกลจากนี้เลยครับ เขาทำให้หนังสือนี้มีชีวิตขึ้นมาด้วยอารมณ์กวี เรากำลังพูดถึงช่วงปี 1960 ก่อนยุคคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโปรแกรมเวิร์ด แปลว่าแคตาล็อคนี้ผลิตขึ้นจากเครื่องพิมพ์ดีด กรรไกร และกล้องโพลารอยด์ คล้ายๆ กับ กูเกิ้ล ในรูปกระดาษ 35 ปีก่อนกูเกิ้ลเกิด มันเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ และเต็มเปี่ยมด้วยเครื่องมือและไอเดียดีๆ มากมาย
สจ๊วตและทีมของเขาผลิตแคตาล็อคออกมาได้ไม่กี่เล่ม ก่อนที่มันจะม้วนเสื่อไป เขาเข็นเล่มสุดท้ายออกมาประมาณกลางศตวรรษที่ 1970 ตอนนั้นผมมีอายุเท่าน้องๆ ตอนนี้ ปกหลังของเล่มนี้เป็นรูปถนนแถวชนบทยามเช้า แบบที่น้องๆ นักผจญภัยชอบไปโบกรถกันนั่นแหละครับ ใต้รูปเขียนว่า “อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความซื่อ” (Stay Hungry. Stay Foolish) แล้วผมก็ใช้ประโยคนี้เป็นคติประจำใจมาตลอด และในวันนี้ วันที่น้องๆ ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปเริ่มชีวิตใหม่ ผมขออวยพรให้น้องๆ ด้วยประโยคนี้ครับ
“อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความซื่อ”
ขอบคุณมากครับ.