อันตรายของมายาคติ “ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น”

(ดัดแปลงชื่อบทความนี้จากวาทะของ Edward Said ด้วยความเคารพนับถือ)

ตอนนี้มีนักวิชาการ นักคิด และผู้สังเกตการณ์มากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งสื่อต่างๆ มองว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ต่อต้านนายกฯ ทักษิณ และกลุ่มผู้สนับสนุน (ซึ่งถูกอุปโลกน์ให้เป็น “ม็อบกู้ชาติ” และ “ม็อบจตุจักร” ไปแล้ว เนื่องจากฝ่ายหนึ่งประกาศกู้ชาติอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งประกาศปักหลักสนับสนุนนายกฯ อยู่ที่สวนจตุจักร ทั้งๆ ที่ลักษณะสงบสันติของทั้งสองฝ่ายนั้น คือลักษณะของ “ผู้ชุมนุม” หรือ “ผู้ประท้วง” (protesters) มากกว่า ไม่ใช่ “ม็อบ”) นั้น ลึกๆ แล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลาง กับชนชั้นล่างผู้ยากไร้ และความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนี้เป็น “บทพิสูจน์” อีกหนึ่งบท ว่าทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” (คนชนบทเลือกรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล) เป็น “ความจริง” ของสังคมการเมืองไทย

ในฐานะสมาชิกชนชั้นกลางคนหนึ่งที่มีโอกาสพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก มาไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง และทำงานในวงการที่มีผลประโยชน์ไปในทางเดียวกับนายกฯ คนนี้ที่สุด (คือได้ประโยชน์จากการอยู่ในอำนาจของทักษิณ) คือธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดแบบ “เหมาโหล” อย่างนี้

ไม่ใช่เพราะคิดว่าทฤษฎีนี้ไม่จริง (“จริง” ในแง่ว่ามันอาจอธิบายพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้) แต่เพราะตอนนี้มีหลายๆ คนอ้างทฤษฎีนี้เป็น “เหตุผลเดียว” ในการมองความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางการเมืองปัจจุบัน โดยไม่พยายามเปิดใจให้กว้างกว่านั้น

เป็นที่มาของความคิดเห็นประเภท “ใช่สิ ชนชั้นกลางน่ัะเสียผลประโยชน์เยอะ เลยต้องออกมาต่อต้านนายกฯ คนพวกนี้ไม่เห็นใจคนจนหรอก” และ “คนต่างจังหวัดน่ะ ยังไงๆ ก็ไม่หายโง่ให้เขาซื้อเสียงวันยังค่ำ”

ผู้เขียนรู้สึกว่าความคิดแบบนี้แหละ ที่ทำให้คนไทยเราแตกแยกกัน เลือกที่จะแบ่งพรรคแบ่งพวกตามเส้นแบ่งชนชั้น แทนที่จะใช้สติพิจารณา กลั่นกรองข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เสียก่อน

เพราะเราแต่ละคน ล้วนมีเหตุปัจจัยต่างๆ ที่หลากหลายเกินกว่าที่กรอบนิยามของคำว่า “ชนชั้น” จะครอบคลุมได้หมด

“ในความเหมือน ย่อมมีความแตกต่าง และในความแตกต่าง ย่อมมีความเหมือน”

เป็นสัจธรรมที่เราควรสำเหนียกให้มาก เพราะท่ามกลางสถานการณ์ที่ล่อแหลม มายาคติแบบ “ขาว-ดำ” คือ “อคติสำเร็จรูป” ที่กำลังล่อหลอก ชักจูงให้เราเลือกที่จะ “มักง่าย” ใช้อคติตัดสินใจ แทนที่จะใช้ปัญญาและเหตุผล


(ดัดแปลงชื่อบทความนี้จากวาทะของ Edward Said ด้วยความเคารพนับถือ)

ตอนนี้มีนักวิชาการ นักคิด และผู้สังเกตการณ์มากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งสื่อต่างๆ มองว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ต่อต้านนายกฯ ทักษิณ และกลุ่มผู้สนับสนุน (ซึ่งถูกอุปโลกน์ให้เป็น “ม็อบกู้ชาติ” และ “ม็อบจตุจักร” ไปแล้ว เนื่องจากฝ่ายหนึ่งประกาศกู้ชาติอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งประกาศปักหลักสนับสนุนนายกฯ อยู่ที่สวนจตุจักร ทั้งๆ ที่ลักษณะสงบสันติของทั้งสองฝ่ายนั้น คือลักษณะของ “ผู้ชุมนุม” หรือ “ผู้ประท้วง” (protesters) มากกว่า ไม่ใช่ “ม็อบ”) นั้น ลึกๆ แล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลาง กับชนชั้นล่างผู้ยากไร้ และความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนี้เป็น “บทพิสูจน์” อีกหนึ่งบท ว่าทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” (คนชนบทเลือกรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล) เป็น “ความจริง” ของสังคมการเมืองไทย

ในฐานะสมาชิกชนชั้นกลางคนหนึ่งที่มีโอกาสพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก มาไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง และทำงานในวงการที่มีผลประโยชน์ไปในทางเดียวกับนายกฯ คนนี้ที่สุด (คือได้ประโยชน์จากการอยู่ในอำนาจของทักษิณ) คือธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดแบบ “เหมาโหล” อย่างนี้

ไม่ใช่เพราะคิดว่าทฤษฎีนี้ไม่จริง (“จริง” ในแง่ว่ามันอาจอธิบายพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้) แต่เพราะตอนนี้มีหลายๆ คนอ้างทฤษฎีนี้เป็น “เหตุผลเดียว” ในการมองความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางการเมืองปัจจุบัน โดยไม่พยายามเปิดใจให้กว้างกว่านั้น

เป็นที่มาของความคิดเห็นประเภท “ใช่สิ ชนชั้นกลางน่ัะเสียผลประโยชน์เยอะ เลยต้องออกมาต่อต้านนายกฯ คนพวกนี้ไม่เห็นใจคนจนหรอก” และ “คนต่างจังหวัดน่ะ ยังไงๆ ก็ไม่หายโง่ให้เขาซื้อเสียงวันยังค่ำ”

ผู้เขียนรู้สึกว่าความคิดแบบนี้แหละ ที่ทำให้คนไทยเราแตกแยกกัน เลือกที่จะแบ่งพรรคแบ่งพวกตามเส้นแบ่งชนชั้น แทนที่จะใช้สติพิจารณา กลั่นกรองข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เสียก่อน

เพราะเราแต่ละคน ล้วนมีเหตุปัจจัยต่างๆ ที่หลากหลายเกินกว่าที่กรอบนิยามของคำว่า “ชนชั้น” จะครอบคลุมได้หมด

“ในความเหมือน ย่อมมีความแตกต่าง และในความแตกต่าง ย่อมมีความเหมือน”

เป็นสัจธรรมที่เราควรสำเหนียกให้มาก เพราะท่ามกลางสถานการณ์ที่ล่อแหลม มายาคติแบบ “ขาว-ดำ” คือ “อคติสำเร็จรูป” ที่กำลังล่อหลอก ชักจูงให้เราเลือกที่จะ “มักง่าย” ใช้อคติตัดสินใจ แทนที่จะใช้ปัญญาและเหตุผล

คนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกนั้น มาจากทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ และทุกส่วนของประเทศไทย

มีตั้งแต่เศรษฐีเงินล้าน ที่นั่งจิบกาแฟรอให้ม็อบกู้ชาติเดินมาถึงหน้าห้าง ดิ เอ็มโพเรียม แล้วเดินออกมาตะโกน “ออกไป” ด้วยความสะใจ ร่วมกับคนอื่นๆ

ไปจนถึงพนักงานเสิร์ฟที่ทำงานในร้านอาหารไทยในแอลเอ ที่ยอมใช้เงินเก็บเป็นแสน บินกลับมาร่วมชุมนุมต่อต้านนายกฯ ที่กรุงเทพ เพราะรู้สึกไม่พอใจอย่างแรงที่นายกฯ เลือกยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบไต่สวนเรื่องซุกหุ้น ที่เธอเชื่อว่าจะมีคนเปิดประเด็นอย่างแน่นอนในการประชุมร่วม 2 สภา (ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่าเป็นวันที่ 9 มีนาคม)

ตอนที่คุยกับเธอในคืนวันที่ 13 มีนาคม ก่อนเช้าวันที่เดินขบวนไปหน้าทำเนียบฯ พี่คนนี้บอกว่า เธอเหลือเงินเพียง 50 ดอลลาร์ในกระเป๋าเท่านั้น เพราะไม่คิดว่าการชุมนุมจะยือเยื้อขนาดนี้

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป เธอตอบด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจว่า “ไม่รู้เหมือนกัน พี่อาจไปยืมเงินญาติที่เชียงใหม่ ตอนนี้ไม่อยากคิด ขอร่วมเดินขบวนพรุ่งนี้เช้าก่อน”

ไปจนถึงครอบครัวชาวนา ที่มาเพราะ “ถูกโกงเรื่องโคล้านตัว มีอย่างที่ไหน มันบอกว่าจะให้โค เอาเข้าจริงๆ มันให้แต่น้ำเชื้อ แถมชักหัวคิวไปเลยตัวละ 4-500 บาท” (เมื่อถามว่าเขาเลี้ยงชีพยังไงระหว่างชุมนุม เขาบอกว่าไปรับจ้างตอนกลางวัน ตกเย็นก็มาชุมนุมใหม่)

ถ้าพวกเขาเหล่านี้มี “ผลประโยชน์” อะไรให้สูญเสีย ผลประโยชน์ที่เสียจากการมาร่วมต่อต้านนายกฯ น่าจะมากกว่าผลประโยชน์ที่น่าจะได้จากการเปล่งเสียงสนับสนุน หรืออยู่เฉยๆ ออกตัวว่า “เป็นกลาง” สถานเดียว

ไม่ว่าจะเป็นการเสียเวลาทำงาน เสียเวลานั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ เสียเงินค่าแท็กซี่ (ที่ส่วนใหญ่ไม่ยอมไปส่งถ้าบอกว่าไปทำเนียบฯ) เสียเงินค่าเดินทางมาชุมนุมและค่ากินอยู่ รวมทั้งอาจเสียโอกาสในการทำมาหากินด้วย สำหรับนักธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวพันกับรัฐบาล (ซึ่งเมื่อดูจากความหนาแน่นและหลากหลายของกลุ่มทุนต่างๆ ในรัฐบาลชุดนี้ ก็คิดว่ามีธุรกิจเพียงไม่กี่ประเภท ที่กลุ่มธนกิจการเมืองไม่ยุ่งด้วย)

ในขณะที่หลายๆ คน ปักใจเชื่อไปแล้วว่าชนชั้นกลางส่วนใหญ่ขณะนี้ “ไม่เอา” ทักษิณ ผลสำรวจของโพลล์ต่างๆ ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย (อย่างน้อย 40-50% ของคนกรุงเทพฯ) ก็ยังสนับสนุนให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ต่อไป หรืออย่างน้อยก็พอใจที่จะเป็น “พลังเงียบ” ในสังคม

ตรรกะของชนชั้นกลางเหล่านี้ที่ผู้เขียนได้ยินมามาก คือ “รัฐบาลโกงแล้วเป็นไง ใครๆ ก็โกง อย่างน้อยนายกฯ คนนี้ทำให้หุ้นขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัว ฯลฯ” หรือไม่ก็ “ไม่ชอบนายกฯ แต่ก็ไม่เห็นว่าใครเหมาะสมเท่า”

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เล่นหุ้น ชื่นชมนายกฯ ว่าตัดสินใจรวดเร็ว เข้าใจธุรกิจ และความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ได้ดีกว่านักการเมืองคนอื่นๆ ไม่คิดว่าประเด็นเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม หรือแม้แต่ความยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญ และคิดว่าการชุมนุมของม็อบกู้ชาติ เป็นการ “ก่อความวุ่นวาย” ในสังคม แม้ว่าการชุมนุมที่ผ่านมาจะอยู่ภายใต้กรอบกติกาของระบอบประชาธิปไตยทุกประการก็ตาม (“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เป็นสิทธิของชาวไทยตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ)

พวกเขาคิดแต่เพียงผลประโยชน์ส่วนตัวที่ดีขึ้น เช่น รายได้ดี หุ้นขึ้น ค้าขายคล่อง ฯลฯ ไม่สนใจผลประโยชน์ส่วนรวมที่ตกต่ำลง เช่น คนจนเป็นหนี้มากขึ้นอย่างน่าวิตก กิจการสำคัญด้านความมั่นคงตกอยู่ในมือต่างชาติ เกษตรกรเสียประโยชน์มากมายจากการเจรจา FTA ที่ผ่านมา ฯลฯ

พวกเขามองไม่เห็นว่า การต่อต้านนายกฯ นั้นโดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่การต่อต้านโลกาภิวัตน์ หากเป็นการต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบบ้าระห่ำ ที่เอื้อต่อการฉกฉวยผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มทุนการเมืองเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยไม่สนใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร จากการกระทำของกลุ่มทุนเหล่านี้

พวกเขาไม่เชื่อ เพราะไม่เคยไปร่วมชุมนุม ว่าคนใหม่ๆ ที่ทยอยมาร่วมชุมนุมกับม็อบกู้ชาตินั้น มาเพราะมีความแคลงใจในพฤติกรรมของนายกฯ และมารับข้อมูลจากการปราศรัยบนเวที เพราะทีวีไม่ยอมถ่ายทอดสด ไม่ใช่เพราะสนธิหรือจำลองไป “หลอก” ให้เขามาร่วมชุมนุม

พวกเขาไม่เชื่อว่า นี่ไม่ใช่ “ม็อบรักสนธิ” หรือ “ม็อบรักจำลอง” (เพราะประวัติอันด่างพร้อยของคนทั้งคู่ ตอนนี้ใครๆ ก็รู้กันทั่ว เพราะเหล่า “คนรักทักษิณ” พยายามโปรโมทเหลือเกิน) อีกต่อไป (แม้ว่าหลายเดือนก่อนอาจจะเป็นเช่นนั้น) แต่เป็น “ม็อบเกลียดทักษิณ” ต่างหาก

พวกเขาชื่นชอบระบบเสรีนิยมอเมริกา แต่ในขณะเดียวกันก็ลืมไปว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งในปัจจุบันนั้น คือความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เสรีภาพของประชาชนและสื่อในการแสดงความคิดเห็นและรายงานข้อเท็จจริง และกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

พวกเขาลืมไปว่า ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ล้วนมีการประท้วง ชุมนุม เรียกร้องเดินขบวนอยู่เนืองๆ มีองค์กรภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ประสานงาน จัดการชุมนุมเหล่านี้โดยเฉพาะ ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2549 วันเดียวกับที่ม็อบกู้ชาติชุมนุมคนนับแสนที่สะพานมัฆวาฬ ที่อเมริกามีการชุมนุมประท้วงอย่างสันติในเมืองใหญ่นับสิบเมือง เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายแรงงานอพยพฉบับใหม่ มีคนร่วมชุมนุมกว่า 500,000 คนในแอลเอ รถติดเป็นอัมพาตทั้งเมือง เมื่อถามเพื่อนในแอลเอว่า ชาวเมืองไม่รำคาญคนเหล่านี้หรือ เขาอีเมล์กลับมาว่า รำคาญสิ แต่เขาเชื่อว่าการเคารพสิทธิในการแสดงคิดความเห็นของคนอื่นนั้น สำคัญกว่าความรำคาญเพียงวันเดียวที่ต้องมาเจอรถติด

พวกเขาลืมไปว่า อเมริกาคือประเทศที่ บิล คลินตัน หนึ่งในประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ ถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจ (impeach) โดยรัฐสภา เพียงเพราะพูดเท็จต่อศาล เรื่องการนอกใจภรรยา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว”

ตอนที่คลินตันถูกกล่าวโทษ และลงคะแนนไม่ไว้วางใจในปี 2542 เขากำลังเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนทั่วประเทศกว่า 70% เศรษฐกิจอเมริกากำลังเจริญเติบโต อัตราคนว่างงานต่ำสุดในรอบ 30 ปี รายจ่ายภาครัฐเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติ ต่ำสุดในรอบ 25 ปี

แต่ไม่ว่าคลินตันจะทำคุณประโยชน์ต่อประเทศมาเพียงใด ก็ไม่สามารถนำ “กรรมดี” เหล่านั้นมา “หักล้าง” ความผิดเพียงหนึ่งข้อ ที่เป็นเรื่อง “ร้ายแรง” ทางกฎหมายได้

นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการดูแลตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องมี ก่อนที่เศรษฐกิจเราจะ “แข็งแกร่ง” ได้อย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า เราไม่ได้กำลังเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างชนชั้น หากเป็นความขัดแย้งระหว่าง “คนรู้ทันที่รักความยุติธรรม” กับ “คนรู้ทันที่เห็นแก่ตัว” และ “คนรู้ไม่ทัน” มากกว่า

เมื่อพูดถึงชนชั้นกลางที่สนับสนุนนายกฯ แล้ว ก็ต้องพูดถึงคนจนที่ต่อต้านนายกฯ ด้วย ภาพแห่ง “มายาคติ” เรื่องการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ถึงจะพังครืนลงได้

ในด้านนี้ผู้เขียนคิดว่า จดหมายของสมัชชาคนจน เรื่อง “จากใจคนจนถึงคนจน” สะท้อนความรู้สึก และปัญหาของคนจนได้อย่างดีเยี่ยม

อ่านความคิดของสมัชชาคนจนด้านล่างนี้จบแล้ว อยากให้ท่านผู้อ่านลองตรองดูว่า บัดนี้ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะมาชักชวนกันให้ “ข้ามพ้น” มายาคติแห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เพื่อหาวิธีพัฒนาประเทศไทยอย่างสมดุล นำแนวพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้อย่างจริงจัง ไม่ปิดประเทศแบบพม่า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่หลับหูหลับตาเดินตาม “ทุนนิยมผูกขาด” ที่ปล่อยให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม ละทิ้งมิติด้านศีลธรรม สังคม และคุณภาพชีวิตโดยสิ้นเชิง ปล่อยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องจมปลักอยู่กับความจน ถูกนักการเมือง และอำนาจท้องถิ่นเอารัดเอาเปรียบ หลอกลวง และฉวยโอกาสยิ่งกว่าที่แล้วมาในอดีต.


จากใจคนจนถึงคนจน: จากราชดำเนินถึงสวนจตุจักร

พวกเราก็เป็นคนจนเหมือนกัน ยากจนจากการพัฒนาที่ผิดพลาดมาโดยตลอดของรัฐบาลหลายสมัย รวมทั้งโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจอันเหลื่อมล้ำ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข มีแต่ทำให้กลายเป็นโครงสร้างของความรุนแรงในการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น เราก็เกิดและเติบโตบนแผ่นดินเดียวกับท่าน บนที่ราบสูงที่มีแม่น้ำสีครามไหลผ่าน ยังจำได้เมื่อตอนท่านกับเราพบกันในการชุมนุมของสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า เราต่อสู้ร่วมกันเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจาการสร้างเขื่อน (พวก NGO มองว่าเขื่อนในประเทศไทย หลายพันแห่งทั้งเล็กทั้งใหญ่ ไม่มีเขื่อนไหนที่จ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียสละได้อยู่ดีกินดีเหมือนตอนก่อนสร้างเขื่อน ดูกรณีแม่ไฮ ขันจันทาก็ได้) เราชุมนุมร่วมกันท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง เป็นเวลาหลายเดือน เดินเท้าทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร ทั่วภาคอีสานเพื่อแสดงความเดือดร้อนของเรา แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นใจจากรัฐบาลเลย ทุกรัฐบาลพูดเหมือนกันหมดว่าพวกเราเป็นม็อบรับจ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับปัญหาของพวกเรา ยังพี่น้องที่อยู่ในเขตที่ทางการประกาศทับ ไม่ว่าจะเป็นป้ายยี่ห้ออะไรก็ตาม เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ แต่ไม่เคยทับที่นายทุน พวกเราถูกขับไล่อพยพออกเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะอยู่บนดอย ที่ราบ หรือเกาะกลางทะเล

พวกเราไม่ได้ยากจนเพราะไม่มีเงิน แต่ยากจนเพราะถูกขับไล่ออกจากบ้าน และแหล่งทำมาหากินของพวกเราเอง พวกนายทุนขนไม้ออกจากป่าเป็นคันรถ พวกเราได้แต่ยืนดูตาปริบๆ แต่ถ้าพวกเราจะไปหาฟืน หน่อไม้ ผักบ้านต่างๆ จะถูกจับกุมราวกับเป็นอาชญากรทันที พี่น้องบนดอยถางไร่เพื่อปลูกข้าวพอเลี้ยงครอบครัว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใส่ชุดพรางก็ไล่จับไล่ยิงเหมือนพรานล่าเหยื่อ แต่พวกนายทุนโดยเฉพาะคนที่ใกล้ชิดนักการเมือง สามารถมีที่ดินบนดอยได้เป็นหมื่นๆไร่ สร้างรีสอร์ทหรูหรา อ้างว่าส่งเสริมการท่องเที่ยว พวกเราไม่มีจะกิน ส่งลูกหลานเข้าเมืองไปขายแรงงาน รัฐบาลก็มักจะยอมให้นายทุนหน้าเลือดทั้งหลายขูดรีดอย่างแสนสาหัส ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ร่างกายของพวกเรารับสารพิษเข้าไปมากมาย เราอายุ 30 ปี เหมือนอายุ 50 ปี ร่างกายทรุดโทรมถูกนายจ้างไล่ออก ไม่มีการจ่ายค่าทดแทนใดๆ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องทำอย่างนั้น แรงงาน 1 ในล้านของพวกเราเท่านั้นที่เจอนายจ้างที่ดีเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราในโรงงานจำนวนมากหรือแหล่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับนรกบนดิน นายจ้างเบี้ยวค่าแรง พวกเราถูกโยนออกจากห้องเช่า เสื้อวินมอเตอร์ไซด์ตัวหนึ่งหลายหมื่นบาท ค่าไฟฟ้า น้ำประปาในที่อยู่อาศัยแบบชุมชนแออัดของพวกเรา แพงกว่าพวกที่อยู่บ้านจัดสรร ถ้ามีลูกออกมา เราก็ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงดูเขาเองหรือจะส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายาย ที่ก็ดูแลตัวเองไม่ค่อยไหวแล้ว

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย บอกว่าส่งเสริมเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี แต่เราเห็นแต่บริษัทซีพีใหญ่ขึ้นแตกสาขาไปทั่ว ปู ปลา กุ้ง หอย ในแม่น้ำหมดไป เพราะการสร้างเขื่อนปิดกั้น และให้โรงงานปล่อยน้ำเสียลงไป เหลือแต่กะชังของบริษัทซีพีอยู่ได้ คนหาปลาหลายหมื่นครอบครัว ในลำน้ำ ต้องอพยพเปลี่ยนอาชีพ เหลือเจ้าของปลากะชังไม่เกินร้อยราย เป็นอย่างนี้ทั่วประเทศ ที่เรารู้ก็เพราะเวลาชุมนุมผู้เดือดร้อนจากหลายจังหวัดทั่วประเทศมาเจอกัน ก็พูดอย่างนี้เหมือนกันหมด พี่น้องหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ เลิกปลูกหอม กระเทียม เลิกทำไร่ ทำสวนผลไม้ ไปเป็นจำนวนมากเพราะเจ๊งหมด ราคาพืชผลคนปลูกไม่ได้กำหนด พ่อค้าแม่ค้าเป็นคนกำหนด การต่อรองที่เสียเปรียบแบบนี้มีมานานหลายสิบปี ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนแก้ได้ อ้างราคาตลาดโลก อ้างกระทบการลงทุน อ้างการค้าเสรี กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ สำรองไฟมหาศาล จนเป็นหนี้ท่วมแล้วไปโยนไว้ในค่า FT พวกเราจ่ายจนอ่วม พี่น้องที่เป็นผู้เสียสละให้เขาสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า ผลิตไฟ ไม่มีปัญญาใช้ไฟ เพราะถูกอพยพไปเป็นขอทานในที่ดินคนอื่น แต่พนักงานกฟผ. ใช้ไฟฟ้าฟรีตลอดชีวิต โบนัสเงินเดือนกินกันจนอิ่มหมีพีมัน แล้วยังจะขายกิจการให้ต่างชาติผ่านการแปรรูป เพื่อหวังเพิ่มมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ ทรัพย์สินพวกเราแท้ๆ พวกโจรเสื้อนอกปล้นไปขายกินอย่างหน้าด้าน

ยังอีกหลายเรื่องที่เราคนจนรู้ทันพวกนักการเมือง แต่เราไม่มีอำนาจพอที่จะไปบังคับให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัวมารับใช้พวกเราที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้เพราะพวกเรามักจะถูกทำให้ต้องแบ่งแยกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย เพื่อง่ายแก่การปกครอง ทั้งการมอมเมาจากสื่อต่างๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งในความฝัน ว่าความยากจนของพวกเราเกิดมาจากกรรมเก่า ชาติก่อน เกิดจากความเกียจคร้านของพวกเรา พวกเราไม่มีทางช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากรอให้มีเทวดามาช่วยเป็นครั้งคราวไป หรือไม่ก็ก้มหน้ารับกรรมไป ชดใช้กรรมให้หมดสิ้น ทำบุญเข้าไว้เผื่อว่าชาติหน้าจะได้ไม่เกิดมาจน ท่านนายกทักษิณ มีบางคนบอกว่าเป็นอัศวินควายดำ จะมาจัดการปัญหาความยากจนให้หมดไป พวกเราก็รอแล้วรอเล่า ทะเบียนคนจนก็ลงไว้ตั้งนานแล้ว ค่าชดเชยเขื่อนที่รอมา 30 ปี บ้าง 20 ปีบ้าง ก็ไม่เห็นจ่ายให้ ปัญหาที่ดินทำกินจะแก้ให้ พวกเราก็ไปชี้บอกว่าที่ตรงนี้เป็นของนายทุนต่างชาติมาเช่าไว้ผิดกฎหมาย หมดสัญญาเช่านานแล้ว ก็กลับเอาตำรวจมาจับพวกเราว่าก่อความวุ่นวาย จับพี่น้องเราที่ลำพูน ตัดต้นลำไยที่เขาปลูกไว้ ตั้งข้อหาบุกรุก และข้อหาอื่นๆ 50 ข้อหา กะว่าจะขังจนตาย พี่น้องภาคใต้หาข้อมูลเรื่องที่ดินนายทุนหมดสัญญาเช่าเป็นแสนๆไร่ แทนที่จะยึดที่กลับคืนมาจัดสรรให้คนยากไร้ กลับสลายการชุมนุมจับถอดเสื้อ ไขว้หลังให้นอนราบกับพื้น บางคนถูกท็อบบู๊ตกระทืบปางตาย แกนนำถูกจับดำเนินคดีนับสิบข้อหา พี่น้องบ้านกรูด บ่อนอกต่อต้านโรงไฟฟ้ามหาภัย ถูกไล่ยิงไล่ฆ่า ท่อก๊าซมาเลเซียพลังไทยเพื่อใคร เพื่อความร่ำรวยไม่รู้จักพอของใคร

มาบัดนี้ เราคนจนถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่อยู่สวนจตุจักร กับฝ่ายที่อยู่ถนนราชดำเนิน แม้เราจะจนเงิน ก็ไม่ควรจนปัญญา ขอให้ท่านวิเคราะห์ให้ดี นโยบายและคำสั่งอะไรบ้างของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของเราได้ ให้พวกเราคนจนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีตลอดไป ไม่ใช่เป็นทาสในระบบอุปถัมภ์ ที่จะต้องรอคอยเศษเงินที่จะหล่นลงมาบ้างเป็นบางคราว และชีวิตที่เหลืออยู่ก็ต้องทุกข์ทรมานด้วยโซ่ตรวนของนายทาส ที่จะปลดแอกเมื่อวันสิ้นลมเท่านั้น

พี่น้องคนจนที่สวนจตุจักรที่รัก เราไม่โทษพวกท่านส่วนใหญ่ ที่ถูกความเชื่อผิดๆ และระบบพรรคพวกพากันมา แต่เราขอเตือนบรรดาแกนนำที่เราก็รู้จักกันดี เพราะท่านรู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าท่านจะยังคงสนับสนุนระบอบทักษิณูปถัมภ์ ก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าท่านจะก้าวล้ำเส้น ถึงขั้นพาพี่น้องมาเข่นฆ่ากันเอง ด้วยวิธีการของท่าน ก็จงจำไว้ว่า จะไม่มีคืนไหนเลยที่ท่านจะนอนหลับสบาย โดยไม่มีภาพแห่งความทารุณโหดร้ายที่ท่านก่อขึ้นเองตามมาหลอกหลอนทุกคืน นายทักษิณ ชินวัตร หมดความชอบธรรมที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยหนี้เลือด หนี้ชีวิตที่ก่อขึ้นไว้ กับคนจนอันมหาศาลทั่วประเทศ ไล่นายกฯ ยังไม่หนักเท่าพวกเราคนจนทั้งมวลจะตื่นตัวรู้ทัน เกิดปัญญาที่จะรวมตัว ปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมอันยุติธรรมนี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรคนจนอันไพศาล จะกลายเป็นคลื่นยักษ์โถมซัดชายฝั่ง ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองใหม่ ที่เราผู้ยากไร้ทั้งมวลจะสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้

คนจนที่ถนนราชดำเนิน
สมัชชาคนจน