เกมเกี่ยวกับระบอบเผด็จการที่ดีที่สุดที่เคยเล่น

papersplease.jpg

สืบเนื่องจากกรณีกองเซ็นเซอร์แบนเกม Tropico 5 ในไทย ด้วยเหตุผลโหลยโท่ยที่ฟังไม่ขึ้น ทำให้ได้รู้จักเกมเกี่ยวกับเผด็จการที่ดีมากๆ หนึ่งเกม และเลยพานทำให้นึกถึงเกมเจ๋งๆ เกมอื่นเกี่ยวกับเผด็จการที่เคยเล่น เลยรวบรวมมาแบ่งปัน

ในที่นี้ ผู้เขียนเลือกเฉพาะเกมที่ “สมจริง” ไม่ใช่อิงระบอบเผด็จการในโลกอนาคต (สังคมดิสโทเปียแบบ 1984) หรือโลกแฟนตาซี เนื้อหาทั้งหมดในหน้านี้รวบรวมมาจากรีวิวที่เคยเขียนสมัยทำเว็บเกมชื่อ Home of the Underdogs และบทความที่เคยลงในคอลัมน์ “มากกว่าเกม” นิตยสาร Happening

1. Papers, Please

Papers, Please

ประเภทเกม: “เกมเอกสารระทึกขวัญ” (document thriller)

หาได้จาก: ซื้อจาก Steam หรือเว็บไซต์เกม

เกมดีที่สุดที่ได้เล่นในรอบปี 2013 ให้เราเล่นเป็นข้าราชการต๊อกต๋อยประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศคอมมิวนิสต์สมมุติชื่อ “อาร์ทซ์ต็อทซ์ก้า” ในปี ค.ศ. 1982 หรือสมัยที่กำแพงเบอร์ลินยังไม่พังทลาย โลกจริงยังตกอยู่ในสงครามเย็นระหว่างสองขั้วอำนาจ หน้าที่ของเราคือตรวจสอบหนังสือเดินทางและเอกสารประกอบของผู้มาเยือนตามกฏที่กระทรวงหนังสือเดินทางกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อดูว่าจะประทับตราให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ข้ามแดน กฎเหล่านั้นก็มีตั้งแต่ง่าย เช่น ดูว่าหน้าคนเหมือนรูปในหนังสือเดินทางหรือเปล่า เตรียมเอกสารมาครบหรือไม่ หนังสือเดินทางและวีซ่าหมดอายุแล้วหรือยัง  ไปจนถึงเรื่องที่ยากกว่า เช่น ตรวจสอบน้ำหนักจริงกับตัวเลขน้ำหนักที่ระบุในเอกสารเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ลักลอบขนของผิดกฎหมาย เกมจะค่อยๆ เพิ่มดีกรีความยากไปทีละขั้น เพื่อให้เรามีเวลาฝึกฝน

ความน่าทึ่งของ Papers, Please คือทางเลือกที่มีอยู่มากมายแต่อาจมองไม่เห็น เราจะเล่นโดยไม่สนใจเหตุการณ์ทางการเมืองหรือความเดือดร้อนของผู้มาเยือนที่โอดครวญตรงหน้าเลยก็ได้ ถ้าทำอย่างนั้นเกมนี้ก็จะเป็นเกม “หาที่ผิด” ที่สนุกมากจนเราติดหนึบอยู่หน้าจอ  พอเล่นจบ 31 วันในเวลาเกม (หนึ่ง “วัน” ในเกมใช้เวลาจริงประมาณ 6 นาที) เราก็จะเจอฉากจบที่เหมาะกับการเป็นข้าราชการผู้ภักดีต่อระบอบ แต่ถ้าเราครุ่นคิดให้มากขึ้น เราก็จะได้ฉากจบแบบอื่น ซึ่งอาจจะจบกะทันหันก่อน 31 วันก็ได้

2. Tropico 5

Tropico 5

ประเภทเกม: เกมสร้างเมือง

หาได้จาก: ซื้อและดาวน์โหลดได้จาก Games Planet

เคยเล่นเกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์นี้ คือ Tropico 4 ตอนที่ Tropico 5 ออก ไม่เคยคิดจะเล่นเพราะคิดว่ามันไม่ต่างกันมาก โชคดีที่ถูกกองเซ็นเซอร์ไทยแบนอย่างไร้สาระ เลยทำให้ได้รู้จักกับเกมเกี่ยวกับระบอบเผด็จการที่เจ๋งมากและสอดแทรกอารมณ์ขันได้ดีมากเกมหนึ่ง มีเครื่องมือมากมายให้เราใช้เพื่อรวบอำนาจให้อยู่ในมือของเราและตระกูลเราไปชั่วกัลปาวสาน (เมื่อเราตาย ทายาทจะขึ้นครองอำนาจต่อ) ตั้งแต่การออกกฎหมาย (แจกอาหารฟรี จัดเทศกาลคืนความสุข ออกกฎอัยการศึก ฯลฯ) สั่งดิสเครดิตหรือถึงขั้นลอบสังหารคนที่เราไม่ชอบ โกงเลือกตั้ง โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ แอบโกงเงินประชาชนเข้าบัญชีส่วนตัวที่ธนาคารสวิส ไปจนถึงการเขียนรัฐธรรมนูญ

เจ๋งเพราะชี้ให้เห็น “ต้นทุน” ของเผด็จการทหาร สื่อสารผ่านระบบเกมที่สอดรับเป็นเหตุเป็นผลกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ให้เห็นความเย้ายวนใจของการใช้วิธี “มักง่าย” ต่างๆ นานาในการรักษาอำนาจ

3. KGB

KGB

ประเภทเกม: เกมผจญภัย

หาได้จาก: ดาวน์โหลดฟรีได้จากที่นี่ (ZIP 13.6MB, รวมโปรแกรม DoxBox ให้เล่นบน Windows ได้ – ZIP ไฟล์นี้รวมเกม KGB, Hidden Agenda, และ Floor 13 ในไฟล์เดียว คลิกไฟล์ “Launch” เพื่อโหลดเกม)

เกมผจญภัยที่ถูกมองข้ามอย่างน่าเสียดายจาก Cryo สตูดิโอเกมเมืองน้ำหอมที่เลิกกิจการไปแล้ว เกมเก่าแต่เก๋า (ออกตั้งแต่ปี 1992) เกมนี้ให้เราเล่นเป็นสายลับเคจีบี ถูกมอบหมายให้สืบสวนขบวนการค้าเสพติดในเมือง แต่สืบไปสืบมาเราจะค่อยๆ สาวไปถึงขบวนการสมคบคิดระดับชาติที่คุกคามรัสเซียทั้งประเทศ

จุดเด่นของ KGB คือ ถึงแม้จะมีพล็อตอยู่พล็อตเดียว (เป็นเกมแบบ “เส้นตรง” หรือ linear จบได้แบบเดียว) ปริศนาต่างๆ หลายชิ้นก็มีวิธีแก้หลายแบบ หลายชิ้นไม่จำเป็นต้องแก้ แต่ถ้าทำได้ก็จะเข้าใจเรื่องราวและปูมหลังของตัวละครมากขึ้น สิ่งที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือ การที่เกมมีแอกชั่นหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นสายลับจริงๆ เช่น เราสามารถหาที่ซ่อนตัวในห้องเพื่อแอบฟัง (และแอบบันทึก) บทสนทนาที่เป็นหลักฐานหรือเบาะแสอาชญากรรม ขู่กรรโชกผู้ต้องสงสัยหรือล่อลวงเพื่อหาข้อมูล แอบซุ่มดักโจมตีและยกศพไปซ่อน ฯลฯ

เกมนี้ค่อนข้างยากเพราะนาฬิกาในเกมเดินไปข้างหน้าทุกครั้งที่เราทำแอกชั่นอะไรก็ตาม เหตุการณ์สำคัญๆ อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รับรู้ ทำให้เราอาจ “ติด” ไปต่อไม่ได้ ต้องโหลดเซฟเกมย้อนเวลากลับไปใหม่ ใครเล่นจบแล้วหรือหาทางไปต่อไม่เจอ แนะนำเว็บแฟนเกมนี้ชื่อ The KGB Files

4. Floor 13

Floor 13

ประเภทเกม: เกมผจญภัย+วางแผน

หาได้จาก: ดาวน์โหลดฟรีได้จากที่นี่ (ZIP 13.6MB, รวมโปรแกรม DoxBox ให้เล่นบน Windows ได้ – ZIP ไฟล์นี้รวมเกม KGB, Hidden Agenda, และ Floor 13 ในไฟล์เดียว คลิกไฟล์ “Launch” เพื่อโหลดเกม)

Floor 13 ไม่ใช่เกมเกี่ยวกับระบอบเผด็จการ เพราะฉากคืออังกฤษสมัยใหม่-ปราการของโลกประชาธิปไตย แต่สื่อสารความเป็นเผด็จการหรือ “Big Brother” ของวงการสายลับอย่างแสบสันต์และน่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะหลายฉากในเกมให้เราเลือกว่าจะทรมานคน (เพื่อบีบให้คายข้อมูล) หรือฆ่าคน (เพื่อปิดปาก) หรือเปล่า ในเกมนี้เรารับบทเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานลับเฉพาะไม่มีใครรู้ – ตำแหน่งเราต่อหน้าสาธารณะคือ ผู้อำนวยการการประมงและเกษตรกรรม!

เกมนี้แต่ละวันจะให้เราเจอกับเคสต่างๆ มากมายที่สายลับจริงๆ ต้องเจอ ตั้งแต่การสอดแนม ลอบสังหาร ค้นหาเบาะแส โจมตี หรือสอบปากคำ บางเคสที่เราคิดว่าเป็นเคสเฉพาะหน้าจะเผยโฉมให้เห็นความเชื่อมโยงกับขบวนการระดับโลกในอนาคต ถ้าเราทำงานได้ดี นายกรัฐมนตรีก็จะชื่นชมสรรเสริญ เพิ่มทรัพยากรให้เรา รวมถึงเราอาจได้รับคำเชิญไปทำงานให้กับสมาคมลับระดับโลก

ท้าทายศีลธรรมและความคิดความเชื่อ แถมยังเล่นซ้ำได้หลายรอบเพราะเคสต่างๆ ใช้วิธีสุ่มตัวแปรมาให้เล่น

5. Soviet Unterzoegersdorf 1 & 2

Soviet Unterzoegersdorf Sector 2

ประเภทเกม: เกมผจญภัย

หาได้จาก: ดาวน์โหลดฟรีได้จากเว็บไซต์เกม 

ย้อนไปปี 2001 กลุ่มศิลปินในออสเตรียชื่อ “โมโนโครม” (monochrom) ริเริ่มโครงการ “โซเวียต-อุนธาร์ซีการ์สดอร์ฟ” ขึ้นในโอกาสครบรอบสิบปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ด้วยการจัดศิลปะการแสดงสด ขึ้นที่เมือง อุนธาร์ซีการ์สดอร์ฟ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีอยู่จริงในออสเตรีย

โมโนโครมอุปโลกน์ให้อุนเธอร์โซเกอร์สดอร์ฟเป็น “ป้อมปราการสุดท้าย” ที่เหลืออยู่หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ประกาศตัวเป็นเอกราชและยังคงยึดมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนสวมบทบาทเป็นผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล บางคนก็สวมบทเป็นชาวเมือง จัดฉากสถานที่ต่างๆ ในเมืองนี้อย่างสมจริง ตั้งแต่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง จัดฉากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อ ‘เล่น’ กับอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของคนดู เสียดสีระบอบโซเวียตอย่างแสบสันต์และสนุกสนาน

หลายปีต่อมา โมโนโครมตัดสินใจแปลงโครงการศิลปะแสดงสดเป็นเกมคอมพิวเตอร์แนวผจญภัย โดยใช้ชุดตัวละครชุดเดียวกัน กราฟฟิกสมจริงเพราะถ่ายทำในสถานที่จริง แต่จงใจโค้ดให้ดู “ย้อนยุค” ใครเล่นจะได้อารมณ์เหมือนกำลังเล่นเกมที่ออกสมัยทศวรรษ 1990 (ซึ่งเป็นช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายพอดี) มากกว่าเกมยุคปัจจุบัน เกมแรกในซีรีส์นี้ให้เราเล่นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นาม โกมุลกา ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจสำคัญ คือ ลักลอบเข้าเมืองศัตรูชื่อ ยูเอส-โอบาร์ซีการ์สดอร์ฟ ไปเผาธงชาติอเมริกัน สัญลักษณ์ของโลกทุนนิยม คู่ปรับตลอดกาลของค่ายคอมมิวนิสต์ ตอนจบเกมนี้โกมุลกาถูกพวกอเมริกันจับได้ ส่วนภาคสองให้เราเล่นเป็นผู้ตรวจการชื่อ ครุสซอฟ ถูกพรรคส่งไปช่วยโกมุลกาออกมาจากเงื้อมมือของศัตรู

ทั้งสองเกมเป็นเกมแนวผจญภัย เราเดินไปตามฉากต่างๆ สะสมข้าวของสารพัดชนิดและพูดคุยกับตัวละครต่างๆ ในเกม แก้ปริศนาด้วยการใช้สิ่งของหรือใช้เบาะแสที่เราค้นพบจากบทสนทนา แต่สิ่งที่ทำให้ Soviet Unterzoegersdorf ทั้งสองเกมโดดเด่นคืออารมณ์ขันอันเหลือร้ายของผู้ออกแบบที่สื่อผ่านความตลกขบขันเข้าขั้นเหลวไหลของเหตุการณ์ ปริศนาและบทสนทนาต่างๆ ในเกม ซึ่งตั้งใจเขียนให้ “โอเว่อร์” เกินเหตุ (ตัวละครในเกมนี้พูดเป็นภาษาแผ่นดินแม่คือรัสเซีย แต่มีซับไตเติลภาษาอังกฤษ)

6. Hidden Agenda

Hidden Agenda

ประเภทเกม: เกมจำลองการเมือง (political simulation)

หาได้จาก: ดาวน์โหลดฟรีได้จากที่นี่ (ZIP 13.6MB, รวมโปรแกรม DoxBox ให้เล่นบน Windows ได้ – ZIP ไฟล์นี้รวมเกม KGB, Hidden Agenda, และ Floor 13 ในไฟล์เดียว คลิกไฟล์ “Launch” เพื่อโหลดเกม)

Hidden Agenda จำลองการเมืองเรื่องปวดหัวของประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างสมจริงและเล่นซ้ำได้หลายรอบ เรารับบทเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสมมุตินาม “ชิเมริกา” (Chimerica) ในอเมริกาใต้ ชิเมริกาเพิ่งโค่นเผด็จการนาม ฟาร์ซานเต้ ลงได้ด้วยต้นทุนมหาศาล เศรษฐกิจยับเยินไม่มีชิ้นดี การเมืองไม่มีเอกภาพ ผู้มีอำนาจแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ต่อสู้กันแย่งชิงอำนาจกันอย่างถึงพริกถึงขิง

หน้าที่ของเราในฐานะประธานาธิบดีคือ ฟอร์มคณะรัฐมนตรีและเริ่มฟื้นฟูประเทศ โดยคัดเลือกแคนดิเดทจากพรรคการเมืองหลักสามพรรคในประเทศ แต่ต้องระวังว่าคนที่เราเลือกอาจทำให้กองทัพเขม่นเราได้ เพราะกองทัพก็อยากได้อำนาจ จะพยายามเลื่อยขาเก้าอี้เราหรือทลายการปฏิรูปที่เราพยายามทำ นอกจากนี้ยังต้องคอยระวังการตัดสินใจของประเทศอื่นๆ ที่ต่างก็มีวาระซ่อนเร้นของตัวเองด้วย

การตัดสินใจทั้งหมดในเกมจะส่งผลต่ออนาคตของตัวเราเอง – เราจะชนะเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือไม่ก็ถูกโค่นอำนาจโดยคณะรัฐประหาร

7. Stalin’s Dilemma

Stalin's Dilemma

ประเภทเกม: เกมจำลองประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต

หาได้จาก: ดาวน์โหลดฟรีได้จากที่นี่

เกมจิ๋วแต่แจ๋ว Stalin’s Dilemma ให้เราเล่นเป็นโจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เกมนี้ไม่มีกราฟฟิกสวยงาม ไม่มีดนตรีประกอบ หน้าตาเหมือน spreadsheet น่าเบื่อ เล่นสามตาหรือประมาณสิบห้านาทีก็จบ (ถ้าคิดเร็วก็น้อยกว่านั้นมาก) แต่ภายในสามตานั้นก็ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากโลกจริงได้อย่างน่าทึ่ง

เป้าหมายของเกมนี้สั้นแต่ทำยาก – ปรับเพิ่มและลดตัวแปรต่างๆ ให้โซเวียตมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ และกองทัพมีความพร้อมภายในสามตาหรือ 15 ปี (1928-1942) หรือเท่ากับตาละ 5 ปี (ตาม “แผนห้าปี” ในประวัติศาสตร์จริง) เพื่อให้ประเทศสามารถยันการรุกรานจากกองทัพนาซีเยอรมันเอาไว้ได้ แต่ด้วย “ต้นทุนมนุษย์” น้อยกว่าจำนวนคนที่ต้องตายภายใต้การนำของสตาลินในประวัติศาสตร์จริง (ชาวรัสเซียเสียชีวิตราว 30 ล้านคน จากภาวะอดอยากและการกดขี่โดยรัฐ) โดยสิ่งที่เราจัดสรรได้คือ แรงงาน อาหาร พลังงาน วัตถุดิบ และทรัพยากรในแต่ละภาคส่วนหลักๆ ของประเทศ ตรงตามประวัติศาสตร์สมัยนั้นที่โซเวียตเป็นเศรษฐกิจรวมศูนย์ รัฐจัดการทุกอย่าง เกษตรกรรมจำเป็นต่อการให้คนงานมีอาหารกิน พลังงานผลิตเชื้อเพลิงที่ภาคส่วนอื่นๆ ต้องใช้ เหมืองแร่ผลิตโลหะที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร แท่นขุดเจาะน้ำมัน อาวุธยุทโธปกรณ์ สินค้าอุปโภคบริโภคและโรงงานใหม่ๆ แต่เราก็สามารถเอาอาหาร เชื้อเพลิง และ/หรือโลหะส่วนเกินไปแลกซื้อมาได้จากต่างประเทศเช่นกัน

เมื่อเล่นครบสามตา เกมจะให้คะแนนเราในแต่ละด้าน (เศรษฐกิจ การเมือง และกองทัพ) ว่าดีหรือไม่ดีเพียงใด ประชาชนล้มตายไปกี่คน และจะสรุปว่าประวัติศาสตร์จะจดจำเราว่าอย่างไร เช่น “คุณพิทักษ์รัสเซียและการปฏิวัติ(คอมมิวนิสต์)เอาไว้ได้ แต่ประวัติศาสตร์จะจารึกว่าคุณเป็นเผด็จการผู้เหี้ยมโหด”