เงินกับการเมือง : มะเร็งร้ายประชาธิปไตยที่ต้องเร่งรักษา

ยังยุ่งมากๆ ช่วงนี้ จนไ่่ม่มีเวลาอัพบล็อก ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้า เผอิญวันนี้ได้อ่านบทความดีมากชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของ “เงิน” ในระบบการเมืองไทย และข้อเสนอการปฏิรูประบบ เขียนโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอก็อปปี้จากเว็บกรุงเทพธุรกิจมาเผยแพร่ให้อ่านโดยทั่วกัน

เพราะต้องยอมรับว่า “เงิน” ส่วนที่มีความหมายและมีนัยยะสำคัญจริงๆ ในระบบพรรคการเมืองไทย ไม่ใช่เงินส่วนที่ไป “ซื้อเสียง” โดยตรงจากประชาชน (ซึ่งชนชั้นกลางส่วนมากมักมองว่าแสดงถึง “ความโง่” ของคนขายเสียง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีอะไรๆ มากกว่านั้นอีกมาก และควรมองจากมุมมองของวัฒนธรรมอุปถัมภ์ของท้องถิ่น มากกว่ามุมมองแบบอภิสิทธิ์ชนของคนกรุง) แต่เป็นเงินที่คุณอภิสิทธิ์เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายของนักการเมืองที่ไม่ใช่กิจกรรมการเมืองโดยตรง” ซึ่งถ้าใช้ภาษามาร์เก็ตติ้งสมัยใหม่ก็คงต้องเรียกว่า “below-the-line” ซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

เพราะเราต้องมองว่า การใช้เงินของพรรคการเมือง ก็ไม่ต่างจากการใช้เงินของคนในสาขาอาชีพต่างๆ – สิ่งที่ขึ้นชื่อว่า “ถูกกฎหมาย” อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงกว้างขวาง บั่นทอนประเทศกว่าสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” ตรงๆ หลายเท่า

กฎหมายที่ดีในด้านนี้ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ “ห้าม” ใช้เงิน หรือจำกัดเพดานการใช้เงินไว้ต่ำเกินเหตุ ไม่สอดคล้องกับความจริงอย่างที่เป็นมา ยุคที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของกิจกรรมทุกชนิด หากเป็นกฎหมายที่เอื้อให้ “เงินนอกระบบ” เข้ามาอยู่ “ในระบบ” มากขึ้น ลดความเสี่ยงของการที่ประชาชนอาจถูก “ฝ่ายตรงข้าม” พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนใช้อำนาจมืดเล่นงาน ตลอดจนบังคับให้ “งบการเงิน” ของพรรคการเมืองทุกพรรคมีความโปร่งใสตรวจสอบได้

เงินกับการเมือง : มะเร็งร้ายประชาธิปไตยที่ต้องเร่งรักษา
โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, กรุงเทพธุรกิจ 25 กุมภาพันธ์ 2550

ท่ามกลางการถกเถียงในเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ เป็นที่น่าแปลกใจว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกาะเกี่ยวและทำลายระบอบประชาธิปไตยของไทยมาต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปีคือปัญหาเงินกับการเมือง หรือที่มีการพูดถึงในนาม “ธุรกิจการเมือง” บ้าง “ธนกิจการเมือง” บ้าง กลับยังไม่มีข้อเสนอหรือคำตอบใดๆ ที่ชัดเจนนักว่า จะมีหนทางในการแก้ไขที่เป็นระบบชัดเจนอย่างไร ทั้งๆ ที่ปัญหานี้ ถือได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายในระบอบประชาธิปไตย


ยังยุ่งมากๆ ช่วงนี้ จนไ่่ม่มีเวลาอัพบล็อก ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้า เผอิญวันนี้ได้อ่านบทความดีมากชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของ “เงิน” ในระบบการเมืองไทย และข้อเสนอการปฏิรูประบบ เขียนโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอก็อปปี้จากเว็บกรุงเทพธุรกิจมาเผยแพร่ให้อ่านโดยทั่วกัน

เพราะต้องยอมรับว่า “เงิน” ส่วนที่มีความหมายและมีนัยยะสำคัญจริงๆ ในระบบพรรคการเมืองไทย ไม่ใช่เงินส่วนที่ไป “ซื้อเสียง” โดยตรงจากประชาชน (ซึ่งชนชั้นกลางส่วนมากมักมองว่าแสดงถึง “ความโง่” ของคนขายเสียง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีอะไรๆ มากกว่านั้นอีกมาก และควรมองจากมุมมองของวัฒนธรรมอุปถัมภ์ของท้องถิ่น มากกว่ามุมมองแบบอภิสิทธิ์ชนของคนกรุง) แต่เป็นเงินที่คุณอภิสิทธิ์เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายของนักการเมืองที่ไม่ใช่กิจกรรมการเมืองโดยตรง” ซึ่งถ้าใช้ภาษามาร์เก็ตติ้งสมัยใหม่ก็คงต้องเรียกว่า “below-the-line” ซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

เพราะเราต้องมองว่า การใช้เงินของพรรคการเมือง ก็ไม่ต่างจากการใช้เงินของคนในสาขาอาชีพต่างๆ – สิ่งที่ขึ้นชื่อว่า “ถูกกฎหมาย” อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงกว้างขวาง บั่นทอนประเทศกว่าสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” ตรงๆ หลายเท่า

กฎหมายที่ดีในด้านนี้ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ “ห้าม” ใช้เงิน หรือจำกัดเพดานการใช้เงินไว้ต่ำเกินเหตุ ไม่สอดคล้องกับความจริงอย่างที่เป็นมา ยุคที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของกิจกรรมทุกชนิด หากเป็นกฎหมายที่เอื้อให้ “เงินนอกระบบ” เข้ามาอยู่ “ในระบบ” มากขึ้น ลดความเสี่ยงของการที่ประชาชนอาจถูก “ฝ่ายตรงข้าม” พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนใช้อำนาจมืดเล่นงาน ตลอดจนบังคับให้ “งบการเงิน” ของพรรคการเมืองทุกพรรคมีความโปร่งใสตรวจสอบได้

เงินกับการเมือง : มะเร็งร้ายประชาธิปไตยที่ต้องเร่งรักษา
โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, กรุงเทพธุรกิจ 25 กุมภาพันธ์ 2550

ท่ามกลางการถกเถียงในเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ เป็นที่น่าแปลกใจว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกาะเกี่ยวและทำลายระบอบประชาธิปไตยของไทยมาต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปีคือปัญหาเงินกับการเมือง หรือที่มีการพูดถึงในนาม “ธุรกิจการเมือง” บ้าง “ธนกิจการเมือง” บ้าง กลับยังไม่มีข้อเสนอหรือคำตอบใดๆ ที่ชัดเจนนักว่า จะมีหนทางในการแก้ไขที่เป็นระบบชัดเจนอย่างไร ทั้งๆ ที่ปัญหานี้ ถือได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายในระบอบประชาธิปไตย

จริงอยู่ การถกเถียงในเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง มีอยู่พอสมควร เช่นเดียวกับการพูดถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่การพิจารณาเรื่องเหล่านี้มักเป็นการคิดถึงแนวทางการแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ไป เช่น จะมีระบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ จะใช้เขตเลือกตั้งใหญ่หรือเล็ก จะนับคะแนนที่หน่วยหรือรวมกันนับ จะให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แค่ไหน จะปรับปรุงระบบตรวจสอบอย่างไร ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่การไล่แก้ไขบทบัญญัติต่างๆตามประเด็นเหล่านี้ เหมือนกับเป็นการมองข้ามปัญหาในภาพรวม

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ เพราะหลายคนมองปัญหาการซื้อเสียง – ถอนทุน เป็นภาพนิ่งทีละภาพ มองว่าการซื้อเสียงเป็นการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเอาเงินไปแจกผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแลกกับคะแนนเสียงเหมือนการซื้อขายสินค้า และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็มาดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่จะเอื้อให้ตัวเองแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว บทบาทของเงินในระบบการเมืองมีความซับซ้อนกว่าภาพดังกล่าวมาก แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมานาน ก็ต้องมีการคิดค้น ปรับปรุง กลไกต่างๆ ที่จะกำกับบทบาทของเงินในระบบการเมือง

การจะแก้ปัญหานี้ จึงต้องเริ่มต้นที่ข้อเท็จจริงพื้นฐานก่อน

๑. ค่าใช้จ่าย ข้อเท็จจริงพื้นฐานที่สำคัญ ก็คือ พรรคการเมืองและนักการเมือง มีค่าใช้จ่ายมาก โดยอาจจำแนกได้ดังนี้

๑.๑. ค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายในการทำกิจกรรมการเมือง เช่น ในช่วงของการเลือกตั้ง หรือใกล้เลือกตั้ง พรรคการเมือง และ นักการเมือง จะมีค่าใช้จ่าย ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในรูปของแผ่นป้าย โปสเตอร์ รถกระจายเสียง การจัดเวทีปราศรัย รวมไปจนถึงการโฆษณาผ่านวิทยุ และ โทรทัศน์ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถ้ายึดตามที่กฎหมายอนุญาตให้อย่างเคร่งครัด (ซึ่งในหลายพื้นที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง) ก็เป็นเงินสูงถึง ๗๐๐ ล้านบาท (๔๐๐ เขต X ๑.๕ ล้านบาท บวกกับ ๑๐๐ ล้านบาทสำหรับบัญชีรายชื่อ) ในระหว่างที่ไม่มีการเลือกตั้งทั้งพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีกิจกรรมในการประชุม สัมมนา ปราศรัย รวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายในสำนักงาน อีกจำนวนไม่น้อย

๑.๒. ค่าใช้จ่ายของนักการเมืองที่ไม่ใช่กิจกรรมการเมืองโดยตรง ที่เกิดจากภาษีสังคม และการแข่งขันในการสร้างเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ในเขตเลือกตั้ง นักการเมืองจำนวนมากยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากกว่าเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่ง และการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ต้องไปพึ่ง “หัวหน้ามุ้ง” ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการนี้จำนวนมาก หรือต้องไปแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบ แต่ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดก็นำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับท้องถิ่น หรือในระดับชาติทั้งสิ้น การใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ถูกมองว่าเป็นการซื้อเสียง ทั้งๆ ที่อาจจะมีจำนวนมากกว่า และมีผลต่อการเลือกตั้งไม่น้อย บางคนใช้จ่ายตรงนี้มากจนกล้าท้าว่าให้มหาเศรษฐีหิ้วเงินไปซื้อเสียงแข่งก็ไม่กลัว

๑.๓. ค่าใช้จ่ายที่ผิดกฎหมาย คือการใช้เงินทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง (ซื้อเสียง) ซึ่งอาจกระทำโดยผู้สมัครและพรรคการเมือง ที่ทุกครั้งจะมีการประเมินมูลค่าออกมาว่า “มหาศาล” ในช่วงของการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา การต่อสู้กับปัญหาธุรกิจการเมืองจะมุ่งไปที่ข้อ ๑.๓ (การใช้เงินทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง (ซื้อเสียง)) นี้เท่านั้น แม้เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น แต่หากละเลยส่วนอื่นๆก็คงจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้รายจ่ายที่ถูกกำหนดไว้ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้มีเงิน “นอกระบบ” ที่หมุนเวียนอยู่ในการเมืองเป็นจำนวนมาก

๒. รายรับ หากหันมาดูรายรับบ้าง ก็จะพบว่าสภาพที่เป็นอยู่ รายรับที่ถูกต้องจะมาจาก ๒ ทาง คือ

๒.๑. กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง เป็นเงินงบประมาณที่นำมาจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ โดยคำนวณจากสัดส่วนของคะแนนเสียงของพรรคการเมือง จำวนสส. จำนวนสาขาพรรคการเมือง และ จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ปัญหาที่เห็นได้ว่าเกิดขึ้นคือ

– จำนวนเงินที่จัดสรรให้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย แม้แต่เฉพาะในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกกฎหมายในการทำกิจกรรมการเมือง (ในข้อ ๑.๑) พอสมควร เช่น ค่าใช้จ่าย ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในรูปของแผ่นป้าย โปสเตอร์ รถกระจายเสียง ฯลฯ ทั้งในช่วงเลือกตั้ง และ ค่าใช้จ่ายปกติในการบริหารพรรค เช่น ค่าใช้จ่ายในสำนักงาน

– การใช้จ่ายขาดความคล่องตัว บางรายการ (เช่นการบริหารสาขาพรรค) ไม่สามารถใช้เงินในส่วนนี้ได้

– มีความผิดปกติและกระบวนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้ เช่น มีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นและตั้งสาขาโดยไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองเพียงเพื่อจะได้เงินสนับสนุน มีพรรคการเมืองที่ยัดเยียดสมาชิกภาพให้ประชาชนที่ไม่ได้สมัครใจเพื่อเพิ่มยอดสมาชิกให้ได้เงินสนับสนุน ปัญหาในส่วนนี้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำให้เกิดปัญหาสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อน (เป็นสมาชิกหลายพรรค) หลายล้านคน พรรคการเมืองบางพรรคมีสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นหลายล้านคนในเวลาสั้นๆ ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏกิจกรรม หรือการมีผู้สนับสนุนทางการเมืองที่ชัดเจน

๒.๒. เงินบริจาค ปัจจุบันการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองมีปัญหาพอสมควร เช่น

– ไม่มีการกำหนดเพดานการบริจาค ทำให้บุคคล ครอบครัว หรือบริษัทสามารถครอบงำพรรคการเมืองได้ ทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นพรรคของมวลชนและทำให้ สส. ขาดความอิสระในการดำเนินงานทางการเมือง

– มีประชาชนจำนวนมากไม่กล้าบริจาคเงิน ทั้งๆที่เป็นผู้บริจาครายย่อย มีความสุจริตใจ เนื่องจากจำต้องเปิดเผยชื่อ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้มีอำนาจขาดคุณธรรม ผู้ใดแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายตรงกันข้าม ก็จะถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง โดยการใช้กลไกรัฐ

๓. หากเราต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก็ควรจะต้องมีมาตรการดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

๓.๑. จัดระบบรายรับ-รายจ่ายของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องหรือมีนัยสำคัญทางการเมือง โดยควรพิจารณาให้ทั้งพรรคการเมืองและนักการเมือง มีบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานการเมืองโดยเฉพาะ ตรวจสอบได้ และการรับ-จ่ายเงินทั้งหมดจะต้องทำผ่านบัญชีเหล่านี้เท่านั้น หากพบการรับ-จ่ายเงินที่อยู่นอกเหนือบัญชีนี้ ต้องถือเป็นความผิด

๓.๒. ลดการใช้จ่ายเงินของนักการเมือง-พรรคการเมือง การใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับสมาชิก การสื่อสารกับมวลชน เป็นสิ่งที่รัฐให้การสนับสนุนโดยใช้ทรัพยากรของรัฐได้ เช่น ไปรษณียกร การจัดสรรเวลาทางวิทยุ โทรทัศน์ แต่ให้ความยืดหยุ่นในรูปแบบวิธีการให้คงความน่าสนใจการใช้จ่ายบางเรื่อง เช่น แผ่นป้าย โปสเตอร์ ควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีจำนวนที่พอประมาณ แต่ที่สำคัญที่สุด ค่าใช้จ่ายในข้อ ๑.๒ (ค่าใช้จ่ายของนักการเมืองที่ไม่ใช่กิจกรรมการเมืองโดยตรง เกิดจากภาษีสังคม และการแข่งขันในการสร้างเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ในเขตเลือกตั้ง) ต้องถือว่าเป็นการใช้จ่ายทางการเมือง ซึ่งควรจะห้ามควบคุม หรือ กำหนดกติกา เช่น ในหลายประเทศจะห้ามนักการเมืองใช้จ่ายในเรื่องการบริจาค หรือให้กระทำได้แต่ต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ต้องถูกควบคุม

๓.๓ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริจาคเงิน โดยผู้บริจาครายย่อยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน และกำหนดเพดานไม่ให้บุคคลใดบริจาคเงินมากจนเป็นผู้ครอบงำพรรคการเมืองใดได้ นอกจากนี้ควรเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริจาค เช่น อาจแสดงเจตจำนงผ่านกระบวนการเสียภาษีและเปิดช่องทางให้มีการบริจาคให้นักการเมืองเป็นรายบุคคลได้ เป็นต้น

๓.๔ ปรับปรุงการจัดสรรเงินของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง โดยสะสางปัญหาสมาชิก/สาขาปลอม จัดสรรเงินให้ยึดโยงกับภาระค่าใช้จ่ายประจำ กับกิจกรรมของพรรคการเมือง และนักการเมืองอย่างชัดเจน และใช้กลไกนี้จูงใจให้พรรคการเมืองและนักการเมืองทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการเมือง

ในการดำเนินการทั้งหมดนี้ ต้องกำหนดตัวเลขต่างๆ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มิฉะนั้นทุกอย่างก็จะอยู่นอกระบบต่อไป

การเร่งรัดสะสางปัญหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งดวน หากเราตั้งใจที่จะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และหายขาดจากมะเร็งร้ายที่ทำลายโอกาสของประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า