“ศัตรูอันดับหนึ่งของระบบทุนนิยม ไม่ใช่ตัวแทนสหภาพแรงงานเลือดร้อนที่ก่นด่าระบบ หากเป็นนักบริหารใส่สูท ที่ปากพร่ำพรรณนาถึงคุณความดีของระบบตลาดเสรี แต่ในความจริงก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทำลายล้างคุณความดีเหล่านั้นในเวลาเดียวกัน”
– รากุราม ราชันย์ (Raghuram Rajan) และ ลุยจิ ซิงกาเลส (Luigi Zingales) ผู้ประพันธ์ Saving Capitalism from the Capitalists
ตอนที่เขียนเรื่อง “ทุนนิยมเสรีเทียม” ไปเมื่อต้นปี ยังอ่านหนังสือเรื่อง Saving Capitalism from the Capitalists ไม่จบ ตอนนี้พออ่านจบแล้วก็รู้สึกดีใจ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ค่ายเสรีนิยมที่หาญกล้าพอที่จะชี้ให้เห็นปัญหาของตลาดการเงินในปัจจุบัน ที่ไม่เสรีเท่าที่ควรจะเป็นในหลายๆ ประเทศ
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนเป็นการ “ต่อยอด” ความคิดของ William Lewis และ Uriah Kriegel ที่พูดถึงในบทความเรื่อง “ทุนนิยมเสรีเทียม” เข้าไปในภาคการเงิน : ในหลายๆ ประเทศ นักธุรกิจจำนวนมากรุ่งเรืองใหญ่โตได้เพราะพวกเขาสร้างกฎเกณฑ์ที่กีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหม่ ไม่ใช่เพราะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสนอผู้บริโภค ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงตลาดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ซึ่งแปลว่ามี “เสรี” จริงสำหรับทุกคน เพื่อกำจัดพฤติกรรมบิดเบือนกลไกตลาดและใช้กฎเกณฑ์ที่เข้าข้างตัวเองของนักธุรกิจกลุ่มเดิม (คือพฤติกรรมที่คนไทยเราปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”)
“ศัตรูอันดับหนึ่งของระบบทุนนิยม ไม่ใช่ตัวแทนสหภาพแรงงานเลือดร้อนที่ก่นด่าระบบ หากเป็นนักบริหารใส่สูท ที่ปากพร่ำพรรณนาถึงคุณความดีของระบบตลาดเสรี แต่ในความจริงก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทำลายล้างคุณความดีเหล่านั้นในเวลาเดียวกัน”
– รากุราม ราชันย์ (Raghuram Rajan) และ ลุยจิ ซิงกาเลส (Luigi Zingales) ผู้ประพันธ์ Saving Capitalism from the Capitalists
ตอนที่เขียนเรื่อง “ทุนนิยมเสรีเทียม” ไปเมื่อต้นปี ยังอ่านหนังสือเรื่อง Saving Capitalism from the Capitalists ไม่จบ ตอนนี้พออ่านจบแล้วก็รู้สึกดีใจ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ค่ายเสรีนิยมที่หาญกล้าพอที่จะชี้ให้เห็นปัญหาของตลาดการเงินในปัจจุบัน ที่ไม่เสรีเท่าที่ควรจะเป็นในหลายๆ ประเทศ
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนเป็นการ “ต่อยอด” ความคิดของ William Lewis และ Uriah Kriegel ที่พูดถึงในบทความเรื่อง “ทุนนิยมเสรีเทียม” เข้าไปในภาคการเงิน : ในหลายๆ ประเทศ นักธุรกิจจำนวนมากรุ่งเรืองใหญ่โตได้เพราะพวกเขาสร้างกฎเกณฑ์ที่กีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหม่ ไม่ใช่เพราะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสนอผู้บริโภค ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงตลาดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ซึ่งแปลว่ามี “เสรี” จริงสำหรับทุกคน เพื่อกำจัดพฤติกรรมบิดเบือนกลไกตลาดและใช้กฎเกณฑ์ที่เข้าข้างตัวเองของนักธุรกิจกลุ่มเดิม (คือพฤติกรรมที่คนไทยเราปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”)
ข้อสรุปของผู้ประพันธ์ทั้งสองว่า ตลาดการเงินที่ไม่เสรีจริงก่อให้เกิด “ต้นทุน” ที่ไม่พึงประสงค์ต่อสังคมและผู้เล่นรายอื่นในเศรษฐกิจนั้น สอดคล้องกับประเด็นที่ William Lewis ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการผลิต (productivity) ของประเทศที่ตลาดไร้เสรี (เนื่องจากกลุ่มธนกิจการเมืองใช้อำนาจบิดเบือนโครงสร้างการแข่งขัน) ต่ำกว่าประเทศที่ตลาดมีเสรี และประเด็นที่ Uriah Kriegel ชี้ให้เห็นในแง่กฎหมายว่า ประเทศที่กฎหมายให้เสรีภาพอย่างแท้จริง (คือใช้หลักการของ “เสรีภาพทางลบ” ไม่ใช่ “เสรีภาพทางบวก”) ยังประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าประเทศที่กฎหมายจำกัดเสรีภาพของประชาชน
แต่ในขณะเดียวกัน ราชันย์และซิงกาเลสก็ประณามเหยื่อของ “กระบวนการทำลายเชิงสร้างสรรค์” (creative destruction) คือการที่ธุรกิจเก่าแก่คร่ำครึที่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา ต้องพับเสื่อหลีกทางให้ธุรกิจที่ทันสมัยกว่า อันเป็นลักษณะธรรมชาติของระบบตลาดเสรี แทนที่จะยอมรับชะตากรรมในกระบวนการธรรมชาติอันนี้ นักธุรกิจเก่าแก่มักฉุดรั้งความเจริญของทุนนิยม ด้วยการเรียกร้องให้รัฐแทรกแซงตลาดเสรีอย่างเคร่งครัดเกินไป
ราชันย์และซิงกาเลสเสนอให้รัฐเดิน “ทางสายกลาง” ระหว่างแนวคิดสองขั้ว (คือระหว่างให้รัฐแทรกแซงอย่างเข้มงวด และให้รัฐไม่ทำอะไรเลย) โดยใช้หลักการแทรกแซงแบบเลือกปฏิบัติ (selective regulation) เพราะถ้ารัฐแทรกแซงน้อยเกินไป ตลาดเสรีจะไม่มีโครงสร้างกฎเกณฑ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันคอร์รัปชั่นโดยนักธุรกิจและนักการเมือง แต่ถ้ารัฐควบคุมตลาดมากเกินไป ตลาดก็จะถูกลิดรอนเสรีภาพและถูกผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์อย่างหายใจไม่ออก
“ทางสายกลาง” ในความคิดของราชันย์และซิงกาเลส ฟังดูเหมือนทำได้ยากมากในโลกแห่งความจริง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ ถ้านานาประเทศร่วมมือร่วมใจกัน บางข้อเสนอฟังดูน่าสนใจมาก เช่น พวกเขาเสนอให้เลิกการประกันบริษัทต่อภาวะล้มละลาย แต่ให้ส่งเสริมการประกัน คนที่ทำงานในบริษัทเหล่านั้น แทน เพื่อสร้างตาข่ายสังคมไว้รองรับกรณีธุรกิจล้มเหลว ซึ่งเกิดได้ง่ายมากในระบบทุนนิยม เพราะมีความยืดหยุ่นสูง พวกเขายังเสนอให้เก็บภาษีมรดก เพื่อบรรเทาการกระจุกตัวของอำนาจในกลุ่มครอบครัวรวยๆ ไม่กี่ครอบครัว (ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศไทยควรดำเนินการตั้งนานแล้ว แต่คงไม่มีวันได้เห็น ตราบใดที่คนรวยยังบริหารประเทศอยู่)
บทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ชื่อ Visible Hand โดย อิลา พัดนาอิก (Ila Patnaik) สรุปใจความของหนังสือไว้ค่อนข้างดี:
มือที่มองเห็น
ความขัดแย้งทางความคิดขั้นรุนแรงมักทำให้เป็นไปไม่ได้ที่เราจะอภิปรายนโยบายรัฐต่างๆ ที่สำคัญ ตลาดแรงงานของอินเดียเป็นตัวอย่างหนึ่ง คนทำงานต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่จะทำให้นายจ้างเลิกจ้างง่ายขึ้น การต่อต้านแบบนี้ทำให้ตลาดแรงงานไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่แรงงานทั้งปรเทศของอินเดียจำนวน 400 ล้านคนจะได้รับประโยชน์หากพวกเขาสามารถเปลี่ยนงานถี่ขึ้น แต่คนมักมองข้อเสนอที่สนับสนุนนโยบายเลิกจ้างในอุตสาหกรรมบางประเภท และการแก้ไขกฎหมายแรงงานว่า เป็นการต่อต้านคนงาน
ในทำนองเดียวกัน ใครที่ชี้ว่าระบบทุนนิยมและตลาดเสรีถูกบิดเบือนและเอารัดเอาเปรียบโดยนายทุนเอง ก็มักถูกเหมารวมว่าเป็นพวกต่อต้านระบบทุนนิยม (anti-capitalism) ไปโดยปริยาย มีนักเศรษฐศาสตร์น้อยคนที่พยายามวิเคราะห์ว่า ตลาดการเงินที่ไร้เสรี ถูกผู้มีอำนาจและเศรษฐีใช้เป็นเครื่องมืออย่างไรบ้าง การเรียกร้องให้รัฐแทรกแซงตลาด เพื่อให้ตลาดทำงานได้อย่าง “เสรี” จริงนั้น มักถูกมองว่าเป็นข้อเสนอที่มีเหตุผลขัดแย้งกันในตัวเอง (contradictory)
รากุราม ราชันย์ (Raghuram Rajan) และ ลุยจิ ซิงกาเลส (Luigi Zingales) ประสบความสำเร็จในการข้ามเส้นแบ่งนี้ในหนังสือชื่อ “การช่วยระบบทุนนิยมให้รอดพ้นจากนายทุน” (Saving Capitalism from the Capitalists) พวกเขาให้เหตุผลว่า ตลาดต้องมีกฎเกณฑ์ในการทำงานและเติบโต เพราะสภาวะไร้กฎเกณฑ์ก็ดี กฎเกณฑ์ที่เหนี่ยวรั้งหรือยับยั้งการแข่งขันก็ดี ล้วนก่อให้เกิดโอกาสใช้ตลาดในทางที่ผิด ในหลายๆ ประเทศ นักธุรกิจชั้นนำสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้ตลาดไม่เสรีอย่างแท้จริง ประสบการณ์ที่ผ่านมาของอินเดียในการดำเนินนโยบายโทรคมนาคม เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่แข่งขันกันมีอิทธิพลต่อนโยบายรัฐ เป็นตัวอย่างที่ดีของความกังวลข้อนี้
ตลาดเสรีเป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยมในการบรรลุประสิทธิภาพและระบบให้รางวัลคนที่ผลงาน (meritocracy) การกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในตลาดเสรีเป็นการบ่อนทำลายอำนาจของนายทุนที่อยู่ในตลาดนั้นๆ มาก่อน
คนทั่วไปคิดว่า “ตลาดเสรี” คือตลาดที่ถูกปล่อยให้ทำงานโดยลำพังโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ แต่ตลาดที่ “เปิด” เฉพาะสำหรับผู้ประกอบการเดิมเท่านั้น และกีดกันไม่ให้คนนอกเข้ามาแข่งขัน ควรนับเป็นตลาดที่เสรีและมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริงหรือไม่? ราชันย์และซิงกาเลสมองว่า รัฐมีบทบาทในการวิเคราะห์คลับของอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน และบังคับให้ตลาดอภิสิทธิ์เหล่านี้เปิดรับการแข่งขันที่กว้างขวางขึ้น ผู้ประพันธ์ทั้งสองถามว่า เราจะเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างไรบ้าง
เรื่องราวของตลาดหุ้นอินเดีย เป็นตัวอย่างชั้นยอดของปัญหานี้ ในอดีต ตลาดหุ้นในอินเดียดำเนินการโดยคลับในเมืองบอมเบย์ ชื่อตลาดหุ้นบอมเบย์ (Bombay Stock Exchange หรือย่อว่า BSE) BSE ควบคุมการเข้าเป็นสมาชิกตลาดหุ้น และตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการซื้อขายหุ้น นี่ไม่ใช่ตลาดเปิดที่มีการแข่งขันอย่างเสรี คนที่ใช้มุมมองด้านนโยบายแบบตื้นๆ แนว ‘เศรษฐศาสตร์ตลาดเสรี’ จะอ้างว่า BSE เป็นคลับเอกชน ที่รัฐควรปล่อยให้บริหารตลาดหุ้นโดยลำพัง
เมื่อมองย้อนกลับไป เห็นชัดว่าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลังของอินเดียฉลาดพอที่จะไม่ปล่อยให้ BSE ดำเนินการโดยลำพัง แต่ทั้งสององค์กรรัฐผลักดันไอเดียที่ต้องนับว่าแปลกประหลาดมาก นั่นคือ ตลาดหุ้นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน (quasi public-sector stock exchange) ที่เรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ (National Stock Exchange) ความคิดนี้นำไปสู่การปฏิวัติตลาดหุ้นอินเดียครั้งใหญ่ ทำให้ตลาดหุ้นมีความโปร่งใสและเปิดเสรีมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศสามารถมีส่วนร่วม พัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นสมัยใหม่ และกำจัดกำไรส่วนเกินของสมาชิกคลับเดิม
ประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันเห็นได้จากตลาดตราสารหนี้ของอินเดีย ซึ่งเป็นคลับหรูหราแห่งหนึ่งที่ทำงานผ่านสายโทรศัพท์ในกรุงบอมเบย์ คำถามเปิดสำหรับนโยบายรัฐคือ เราต้องทำอย่างไรในการเปลี่ยนคลับนี้ให้เป็นตลาดเปิดที่มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากผู้ประกอบการทุกส่วนของประเทศ นโยบายแบบฉาบฉวยที่ปล่อยให้ตลาดตกเป็นของสมาชิกคลับกลุ่มเดิม ไม่มีทางให้ประโยชน์ของตลาดเสรีที่แท้จริง
นอกจากนี้ ถ้าตลาดทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริง มันอาจนำไปสู่การกระจายรายได้ที่เที่ยงธรรมกว่าเดิม ที่ไม่กระจุกตัวอยู่ในหมู่ครอบครัวไม่กี่ราย นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เถียงว่า ตลาดเสรีนำไปสู่ประสิทธิภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษาว่า ตลาดเสรีจะทำให้การกระจายรายได้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร และที่จริง เนื่องจากตลาดถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ที่เศรษฐีผู้กุมอำนาจทางการเมืองเป็นผู้สร้าง คนส่วนมากมองตลาดว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเหล่านั้นมั่งคั่งขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ราชันย์และซิงกาเลสเสนอว่า ตลาดเสรี โดยเฉพาะตลาดการเงินที่พัฒนาแล้ว ไม่เพียงแต่สร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังกระจายรายได้นั้นอย่างดีกว่าเดิมอีกด้วย ตลาดช่วยหยิบยื่นโอกาสให้กับสามัญชนและบริษัทที่ไม่ได้เป็นชนชั้นสูงมาแต่เดิม ประเทศที่มีระบบการเงินที่พัฒนาแล้วมีเศรษฐีพันล้านที่สร้างตัวเอง (self-made billionaires) ในสัดส่วนต่อประชากรหนึ่งล้านคนมากกว่าประเทศอื่น การขยายตัวของตลาดทุนในฝรั่งเศสจากระดับ 50 เปอร์เซนต์ของ GDP ในปี 2539 เป็นระดับของอเมริกา (140 เปอร์เซนต์ของ GDP) จะช่วยให้จำนวนเศรษฐีพันล้านสร้างตัวเองในฝรั่งเศสเพิ่มจาก 0.07 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน เป็น 0.30 ความแตกต่างระหว่างอัตราเศรษฐีพันล้านของอเมริกา (ซึ่งอยู่ที่ 0.28) และอัตราของฝรั่งเศสนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยระดับการเปิดเสรีของภาคการเงินเพียงปัจจัยเดียว
ถึงกระนั้น ผู้ประพันธ์ทั้งสองก็แย้งว่า สถาบันทางเศรษฐกิจไม่มีทางเกิดขึ้นหรือเจริญรุ่งเรืองได้ หากภาคการเมืองไม่มีความตั้งใจจริงที่จะหนุนหลัง ในแง่ของเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นเรื่องแปลกที่ ก.ล.ต. และกระทรวงการคลังของอินเดียเปิดสงครามกับสมาชิกของ BSE รัฐต้องเสริมสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยลดทอนแรงจูงใจในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลง เพื่อรับรองว่าผู้ประกอบการเดิมจะมีความต้องการที่คล้ายคลึงกับของผู้เล่นคนอื่นๆ
ในเมื่อผู้ประกอบการเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพมักต่อต้านกฎเกณฑ์ที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ผู้ประพันธ์ทั้งสองเสนอให้รัฐใช้นโยบายที่จะส่งเสริมให้สินทรัพย์ที่มีความสามารถในการผลิต ไปตกอยู่ในมือผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ตัวอย่างเช่น รัฐอาจเปลี่ยนโครงสร้างภาษี เปิดพรมแดนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในภาคการผลิตในประเทศ และสร้างตาข่ายสังคมสำหรับประชาชน ไม่ใช่สำหรับบริษัท ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความตื่นตัว (awareness) ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังที่เข้มแข็งที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ระดับความตื่นตัวและความเข้าใจที่สูงขึ้น ว่ารัฐบาลจะช่วยส่งเสริมประโยชน์ส่วนรวมแทนที่ประโยชน์ส่วนบุคคลด้วยการใช้กฎเกณฑ์ที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร จะสามารถสร้างพลังสังคมอันเข้มแข็งที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ตลาดเสรีนั้นทรงคุณค่ายิ่ง แต่บางครั้งรัฐบาลก็ต้องแทรกแซงตลาดเพื่อให้มันมีเสรีอย่างแท้จริง การถอนตัวของภาครัฐจากตลาดในบางคราว อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มเท่านั้น ทางสายกลางระหว่างภาวะไร้กฎเกณฑ์ และกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดเข้มงวด เป็นทางที่แคบและละเอียดอ่อน ถ้าสังคมตื่นตัวพอที่จะรู้ว่าประโยชน์ส่วนรวมอยู่ที่ใด พลังของประชาธิปไตยสามารถทำให้ประโยชน์นั้นเกิดขึ้นจริง.