ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมกราคม 2556
กว่าหนึ่งศตวรรษจากวันที่เขาลั่นไกปลิดชีวิตตัวเอง ชีวิตและงานของ แวน โก๊ะฮ์ ศิลปินชาวดัทช์ (ค.ศ. 1853-1890) ยังคงสร้างแรงบันดาลใจไม่เสื่อมคลายแก่ศิลปินและคนเดินดินทั่วโลก
ในบรรดางานนับพันชิ้นที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลัง ภาพท้องฟ้ายามค่ำคืน หรือ Starry Night น่าจะเป็นภาพที่ทำให้ชื่อของเขาติดปากคนที่สุด และเป็นงานที่คนยกขึ้นมายืนยันความเชื่อว่า “แวน โก๊ะฮ์ เป็นบ้า” มากที่สุด
จากหน้าต่างโรงพยาบาลบ้าที่เขาพักรักษาตัวในเมืองซางต์-เรมี ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1889 แวน โก๊ะฮ์ เนรมิตท้องฟ้ายามค่ำคืนอันเจิดจ้าออกมาจากผืนผ้าใบ เขาป้ายดวงดาวพร่างพราย มวลแสงม้วนตัวไหววูบพาดผ่านเวหา แขวนพระจันทร์เสี้ยวสว่างนวลไว้มุมขวาบน ฉายความพิศวงลึกลับของธรรมชาติจนดูเหนือธรรมชาติ หลายคนดูแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า ศิลปินที่สติสตังสมประกอบดีจะวาดภาพนี้ได้หรือ ต่อให้เป็นอัจฉริยะก็เถอะ
แต่ อัลเบิร์ต บอยม์ (Albert Boime) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกัน ยืนยันว่า แวน โก๊ะฮ์ ไม่ได้บ้า และหลักฐานชิ้นสำคัญที่พิสูจน์ว่าเขาไม่ได้บ้า ก็คือภาพ Starry Night เอง
ในบทความเรื่อง “Van Gogh’s Starry Night: A History of Matter and A Matter of History” ตีพิมพ์ปลายปี 1984[i] และการบรรยายของเขาที่สมาคมดาราศาสตร์อเมริกันในปีต่อมา บอยม์ชี้ว่า ภาพ Starry Night หาได้เป็นผลผลิตจากจินตนาการหรืออาการหลอนประสาทไม่ หากแต่เป็นภาพที่ แวน โก๊ะฮ์ วางแผนและบรรจงวาดจากข้อเท็จจริง ทั้งจากการสังเกตท้องฟ้ายามค่ำคืน และจากการเฝ้าติดตามการค้นพบใหม่ๆ ทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามหน้านิตยสาร ดังที่เรารู้จากจดหมายโต้ตอบระหว่างเขากับธีโอ น้องชายสุดที่รัก
บอยม์ขอความร่วมมือจากกลุ่มนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาว กริฟฟิธ พาร์ค ในกรุงลอสแองเจลีส ให้จำลองท้องฟ้าเหนือโรงพยาบาลบ้าซางต์-เรมี ในเวลาตีสี่ วันที่ 19 มิถุนายน 1889 วันที่เขาเขียนบอกธีโอว่าวาดภาพนี้เสร็จแล้ว เมื่อเครื่องฉายดาวเริ่มทำงาน ไฟในท้องฟ้าจำลองดับมืดลง บอยม์ก็พบกับตาตัวเองว่า ท้องฟ้าบนผืนผ้าใบของ แวน โก๊ะฮ์ จำลองตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าจริงอย่างเที่ยงตรงจนไม่อาจเป็นงานของคนสติฟั่นเฟือนได้
วันนั้นกลุ่มดาวราศีเมษหรือแกะ ราศีเกิดของ แวน โก๊ะฮ์ ลอยเด่นอยู่เหนือศีรษะ ดาวที่สว่างที่สุดในท้องฟ้าจริงและในภาพคือดาวศุกร์ ที่คนไทยเรียกว่า “ดาวรุ่ง” หรือ “ดาวประกายพรึก” ถ้าขึ้นตอนย่ำรุ่ง อยู่ใต้เขาซ้ายของแกะ เพิ่งโผล่พ้นเส้นขอบฟ้ามาได้ไม่นาน ตำแหน่งของดาวศุกร์ กลุ่มดาวราษีเมษ และพระจันทร์ในภาพถูกต้องทุกประการ ยกเว้นว่าดวงจันทร์ใน Starry Night อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวและดาวศุกร์มากกว่าความเป็นจริง บอยม์สันนิษฐานว่าข้อนี้อาจเป็นเพราะ แวน โก๊ะฮ์ อยากจัดวางองค์ประกอบของภาพให้ลงตัว เป็น “ศิลปะ” มากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ แวน โก๊ะฮ์ วาดพระจันทร์เสี้ยวแทนที่จะเป็นจันทร์ข้างแรม ดวงกลมรีเหมือนลูกรักบี้ในวันนั้น
บอยม์บอกว่า ถ้าเราเข้าไปดูจันทร์เสี้ยวของ แวน โก๊ะฮ์ ใกล้ๆ เราก็จะเห็นร่องรอยการลบลูกรักบี้ออก ป้ายสีเหลืองนวลกลบให้เป็นจันทร์เสี้ยวในภายหลัง แสดงว่าตอนแรกเขาวาดดวงจันทร์ตามที่ตาเห็นจริงๆ ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนใจ ใช้หัวใจศิลปินวีโต้สมองวิทยาศาสตร์
บางคนอาจถามว่า แล้วม้วนขดขาวๆ กลางภาพล่ะคืออะไร ท้องฟ้าจริงที่ไหนไม่เห็นมี บอยม์อธิบายว่าจุดนี้ แวน โก๊ะฮ์ น่าจะอยากวาดดาวหางหรือเนบิวลา เทหวัตถุบนฟ้าซึ่งคนปลายศตวรรษที่สิบเก้าคุ้นเคยจากการค้นพบทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญๆ ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตามความก้าวหน้าในการประดิษฐ์กล้องดูดาวกำลังสูง แวน โก๊ะฮ์ น่าจะวาดตามภาพประกอบในนิตยสาร Harper’s Weekly ซึ่งเรารู้ว่า แวน โก๊ะฮ์ ชอบอ่านเป็นประจำจากจดหมายที่เขียนถึงธีโอ
ข้อเสนอของบอยม์หักล้างความเชื่อของคนจำนวนมากก่อนหน้านั้นว่า แวน โก๊ะฮ์ วาด Starry Night ขึ้นจากความทรงจำล้วนๆ หรือจากจินตนาการ เป็นไปไม่ได้ที่ แวน โก๊ะฮ์ จะจำลองท้องฟ้าจริงได้อย่างเที่ยงตรงขนาดนี้ ถ้าหากเขาไม่ได้พิจารณาและคำนวณตำแหน่งของดาวต่างๆ อย่างละเอียด ใครก็ตามที่ทำแบบนี้ได้ไม่มีทางเป็นบ้า ไม่ว่าจะป้ายสีหนักขนาดไหนหรืออยากให้ภาพดูเหนือจริงเพียงใดก็ตาม
Starry Night ไม่ใช่หลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่พิสูจน์ว่า แวน โก๊ะฮ์ ไม่ได้บ้า บอยม์บอกว่าถ้าเราดูภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนภาพอื่นๆ ของเขา เราจะพบว่าท้องฟ้าในภาพล้วนแต่บันทึกตำแหน่งของดวงดาวอย่างเที่ยงตรง และอันที่จริง แวน โก๊ะฮ์ เอง ก็เคยเขียนจดหมายถึงธีโอในเดือนพฤษภาคม 1889 เพียงหนึ่งเดือนก่อนที่เขาจะวาด Starry Night ขอให้น้องชายนำภาพอีกภาพหนึ่ง คือ Starry Night on the Rhone ไปจัดแสดงในงาน “นิทรรศการสากล” (Exposition Universelle) ณ กรุงปารีส ปี 1889 อันเป็นงานที่มุ่งสะท้อนความเกรียงไกรก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของฝรั่งเศส
แวน โก๊ะฮ์ ให้เหตุผลว่า ภาพ Starry Night on the Rhone น่าจะเข้ากับธีมงาน เพราะมันสาธิต “ปรากฏการณ์ยามรัตติกาล” ได้ดี
นักวิจารณ์ศิลปะและคนดูศิลปะจำนวนไม่น้อยคล้อยตามข้อเสนอของบอยม์ที่ว่า แวน โก๊ะฮ์ ไม่ได้เป็นบ้า แต่การที่เขาปลิดชีวิตตัวเองและก่อนหน้านั้นก็คลุ้มคลั่งหลายครั้ง ถึงขั้นตัดหูตัวเองก็เคย ย่อมแปลว่าถ้าไม่บ้าเขาก็ต้องป่วยแน่ๆ คำถามคือเขาป่วยเป็นโรคอะไรที่บันดาลอาการเหล่านี้
น่าเสียดายที่ อัลเบิร์ต บอยม์ ล่วงลับไปในปี 1998 นานนับทศวรรษก่อนคำตอบที่ชัดเจนจะปรากฏ
ดร. เอเดรียน สเปราส์ (Adrienne Sprouse) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของโลก ผู้เป็นแฟนผลงานของ แวน โก๊ะฮ์ ตั้งแต่วัยรุ่น ใช้เวลากว่า 30 ปี ศึกษาอาการป่วยของศิลปินโปรดจนได้ข้อสรุป เธอประกาศต่อชาวโลกในปี 2012[ii] ว่า แวน โก๊ะฮ์ ไม่ได้เป็นบ้า ไม่ได้เป็นออทิสติก และไม่ได้เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว แต่เขาป่วยจากการสูดดมโลหะหนักในสีน้ำมันที่เขาใช้วาดภาพ อาทิ ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท อะลูมินัม ติดต่อกันทุกวันทุกคืนเป็นเวลาหลายปี
ภาพวาดสีน้ำมันใช้เวลานานกว่าจะแห้ง บางทีข้ามปีหรือหลายปี การที่ แวน โก๊ะฮ์ ใช้ชีวิตอุดอู้อยู่ในห้องแคบๆ รอบตัวรายล้อมด้วยภาพที่วาดเสร็จหมาดๆ ของตัวเอง ทำให้เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงอาการป่วยจากสารพิษในสีน้ำมันได้เลย แต่โชคร้ายที่ความรู้เรื่องสารเคมีเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์เป็นความรู้ของศตวรรษที่ยี่สิบ ไม่ใช่ศตวรรษที่สิบเก้า ทำให้ แวน โก๊ะฮ์ ต้องทนทรมานในโรงพยาบาลบ้าทั้งที่เขาไม่ได้บ้า ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ความจริงบางครั้งก็โรแมนติกกว่าจินตนาการ แต่การรู้ความจริงก็มิได้ทำให้ภาพวาดชิ้นเอกกระทบใจน้อยลง หรือทำให้ธรรมชาติน่าพิศวงน้อยลงแต่อย่างใด และคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้ดีก็คือ แวน โก๊ะฮ์ เอง
ไม่นานก่อนที่จะวาด Starry Night เขาเขียนบอกธีโอว่า
เมื่อใดที่พี่โหยหา – ควรเอ่ยคำคำนั้นดีไหม – ศาสนา พี่ก็ออกไปวาดดวงดาว
หมายเหตุ: ดูคลิปรายการ De:Science ตอน “Van Gogh ไม่ได้บ้า” ได้จาก:
[i] ดาวน์โหลดบทความได้จาก http://www.albertboime.com/Articles/Dec1984.pdf
[ii] ดูคำอธิบายและตัวอย่างสารคดี “Passion and Poison” ได้ที่เว็บไซต์ http://www.passionandpoison.com/