ข้าพเจ้าเป็นคนชอบขับรถ วันนี้ก็เพิ่งไปขับรถเล่นในพุทธมณฑลมา ไปนั่งอ่านหนังสือสองเล่มใต้ต้นไม้ (ชื่ออะไรก็ไม่รู้ ข้าพเจ้ารู้จักต้นไม้น้อยมากจนน่าละอาย) จบแล้วก็อดรู้สึกชื่นชมไม่ได้ว่าทางการดูแลรักษาบริเวณได้ดี ให้ความรู้สึกสงบเย็นสมชื่อ
ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าสำหรับคนอื่นแล้วคำว่า “ชอบขับรถ” แปลว่าอะไร แต่สำหรับข้าพเจ้า มันเป็นสิ่งทีข้าพเจ้าทำตรงตามตัวอักษรอย่างที่สุด โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เช่น:
…ไม่ต้องรอให้ห้างเปิด เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลาไปช็อปปิ้ง
…ไม่ต้องรอรถคนอื่น เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถแข่งกับชาวบ้าน (เป็นคนขับรถอันตรายจนรถคันอื่นต้องหลีกให้อยู่ดี)
…ไม่ต้องรอให้ใครว่าง เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลามีเพื่อนนั่งไปด้วย
…ไม่ต้องรอให้ถนนว่าง เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลารถไม่ติด (ข้าพเจ้าชอบตุนหนังสือและซีดีเพลงไว้หลายเล่มหลายแผ่นในรถ ก็เลยไม่ค่อยเดือดร้อนกับรถติดเท่าไหร่)
…ไม่ต้องมีแม้แต่จุดหมายปลายทางใดๆ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลามีจุดหมายในใจ (ข้อนี้ต้องนับว่าเป็นโชคดี เพราะตอนเกิดพระเจ้าคงไม่ได้ประทานสมองส่วนที่จำเส้นทางให้ข้าพเจ้ามาด้วย เลยหลงทางอยู่เรื่อย)
ข้าพเจ้าชอบทุกเวลา ทุกโอกาสที่ได้อยู่หลังพวงมาลัย
ข้าพเจ้าเป็นคนชอบขับรถ วันนี้ก็เพิ่งไปขับรถเล่นในพุทธมณฑลมา ไปนั่งอ่านหนังสือสองเล่มใต้ต้นไม้ (ชื่ออะไรก็ไม่รู้ ข้าพเจ้ารู้จักต้นไม้น้อยมากจนน่าละอาย) จบแล้วก็อดรู้สึกชื่นชมไม่ได้ว่าทางการดูแลรักษาบริเวณได้ดี ให้ความรู้สึกสงบเย็นสมชื่อ
ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าสำหรับคนอื่นแล้วคำว่า “ชอบขับรถ” แปลว่าอะไร แต่สำหรับข้าพเจ้า มันเป็นสิ่งทีข้าพเจ้าทำตรงตามตัวอักษรอย่างที่สุด โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เช่น:
…ไม่ต้องรอให้ห้างเปิด เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลาไปช็อปปิ้ง
…ไม่ต้องรอรถคนอื่น เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถแข่งกับชาวบ้าน (เป็นคนขับรถอันตรายจนรถคันอื่นต้องหลีกให้อยู่ดี)
…ไม่ต้องรอให้ใครว่าง เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลามีเพื่อนนั่งไปด้วย
…ไม่ต้องรอให้ถนนว่าง เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลารถไม่ติด (ข้าพเจ้าชอบตุนหนังสือและซีดีเพลงไว้หลายเล่มหลายแผ่นในรถ ก็เลยไม่ค่อยเดือดร้อนกับรถติดเท่าไหร่)
…ไม่ต้องมีแม้แต่จุดหมายปลายทางใดๆ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ชอบขับรถเฉพาะเวลามีจุดหมายในใจ (ข้อนี้ต้องนับว่าเป็นโชคดี เพราะตอนเกิดพระเจ้าคงไม่ได้ประทานสมองส่วนที่จำเส้นทางให้ข้าพเจ้ามาด้วย เลยหลงทางอยู่เรื่อย)
ข้าพเจ้าชอบทุกเวลา ทุกโอกาสที่ได้อยู่หลังพวงมาลัย
พยายามเค้นความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดให้ได้ว่าทำไมตัวเองถึงชอบขับรถขนาดนี้ เหตุผลกว้างๆ ที่ดีที่สุดเท่าที่นึกได้คือ ข้าพเจ้าเป็นคนชอบดูอะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นจึงชอบขับรถ เพราะนอกจากจะเป็นการคลายเครียดแล้ว เวลาขับรถเป็นเวลาที่จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ สองข้างทางเสมอ โดยเฉพาะเวลาไปเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน
แต่ในบรรดาจุดประสงค์ต่างๆ ของการขับรถ (เช่น ขับไปเที่ยว ไปส่งเพื่อน ไปซื้อของ ฯลฯ) ข้าพเจ้าชอบขับรถไปเรื่อยเปื่อยแบบไม่มีจุดหมายที่สุด แค่ขับรถออกจากบ้านตอนเช้าวันสุดสัปดาห์ เลือกว่าจะไปทิศไหนของกรุงเทพฯ แล้วก็ปล่อยให้อารมณ์และคันเร่งพาไป ขอแค่ให้ได้ออกนอกเมืองเท่านั้น อย่างวันนี้ข้าพเจ้าเพียงแค่นึกคร่าวๆ ว่าอยากขับรถไปทิศเหนือ ขับไปขับมาไปเห็นป้ายทางเข้าพุทธมณฑล นึกขึ้นมาได้ว่าไม่ได้ไปมาหลายปีแล้ว เลยเลี้ยวรถเข้าไปดู
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าชอบขับรถออกนอกเมือง คือชอบที่ได้สังเกต “รอยต่อ” ต่างๆ ระหว่างเมืองกับชนบท จะพยายามแจกแจงเป็นอย่างๆ ดังนี้
…ชอบตอนที่ป่าคอนกรีตเริ่มบางตาลง ตึกระฟ้าถูกแทนที่โดยทุ่งนา สลับแซมด้วยกระต๊อบเล็กๆ ปลายทุ่ง ที่ต้องขยี้ตามองเพราะอยู่ไกลจากริมถนนเหลือเกิน
…ชอบตอนที่คลื่น FM วิทยุเพลงลูกกรุง เริ่มขาดเป็นห้วงๆ ตามระยะทางที่ห่างเมืองออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเสียงซ่าจนต้องหมุนไปฟังเพลงลูกทุ่งจากคลื่น AM แทน เพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ส่วนใหญ่ที่ข้าพเจ้าชอบฟัง ก็ได้จากการหมุนฟังคลื่น AM ไปเรื่อยเปื่อยระหว่างขับรถเล่นนี่แหละ
…ชอบตอนที่ท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนสี จากสีฟ้าอมเทาเน่าๆ อาบมลพิษ เป็นสีฟ้าสดใสสีเดียวกับที่บรรพบุรุษต้นคิดคำว่า “ฟ้า” คงต้องการสื่อให้เรารู้ เพราะสมัยโน้นคงมีสีฟ้าเฉดนี้เฉดเดียวเท่านั้น
…ชอบตอนที่ป้ายโฆษณาคอนโดหรูกลางกรุง ลดกระหน่ำ 70% วันเดียวเท่านั้น! (แต่มีทุกสัปดาห์เผื่อใครพลาด) โปรโมชั่นบัตรเครดิต ฯลฯ ค่อยๆ ถูกแทนที่โดยป้ายร้านแม่กิมไล้ แม่กิมลั้ว แม่กิมเล้ง และอีกหลายแม่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าขายของเหมือนกันหมดทั้งเจ็ดชั่วโคตร
…ชอบตอนที่ป้ายแม่ๆ พวกนี้ก็ถูกแทนที่ในที่สุดด้วยเพิงหมาแหงนตามไหล่ถนน ที่ขายของทุกอย่างตั้งแต่ข้าวหมกไก่ เรื่อยไปจนถึงผลไม้นานาชนิด น้ำอ้อย ว่าว ไม้กวาด ต้นกล้วย ฯลฯ แล้วจะไม่ค่อยเจอของอะไรที่ขายอยู่เพิงเดียวในรัศมี 100 เมตร ส่วนใหญ่จะเจอเรียงไปเป็นตับ เว้นระยะระหว่างกันแต่พองาม เช่น ถ้าข้าพเจ้าเจอเพิงขายส้มโอ ก็พนันได้เลยว่าจะเจอเพิงส้มโอไปอีกไม่น้อยกว่า 5 เพิงหลังจากเจ้าแรก เวลาขับรถคนเดียว ข้าพเจ้าชอบเดาในใจว่าจะเจอเพิงแบบเดียวกันไปอีกกี่เพิง ก่อนจะเจอสินค้าใหม่
ทางความคิด ข้าพเจ้าอุปโลกน์พื้นที่ “รอยต่อ” ทางกายภาพเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ข้าพเจ้าขนานนามว่า “พื้นที่สีเทา” ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงรอยต่ออื่นๆ ที่เป็นนามธรรมได้ด้วย อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าคิดว่าตัวเองเป็น “คนชายขอบ” จึงได้ชอบพื้นที่สีเทาเป็นพิเศษ จริงๆ แล้วมีนักมานุษยวิทยาหลายคน ที่ศึกษาพื้นที่สีเทาเป็นอาชีพ เมื่อพูดถึงสถานะทางสังคม นักมานุษยวิทยาเรียกพื้นที่แบบนี้ว่า “liminality” เอาไว้วันหนึ่งจะลองเขียนบทความเกี่ยวกับการวิจัยเรื่อง liminality ดู เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่มาก
จริงอยู่ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่มีแต่ขาวกับดำเท่านั้น แต่เคยคิดเล่นๆ ว่า โลกเราจะดีกว่านี้ไหมถ้าทุกแห่งเปลี่ยนเป็น “พื้นที่สีเทา” ไปหมด ข้าพเจ้าสรุปกับตัวเองว่าไม่ เพราะถ้าทุกแห่งกลายเป็นสีเทา ก็คงไม่มีใครรู้ว่าสีขาวกับดำเป็นยังไง ถึงเวลานั้นคำว่า “ดี” กับ “ชั่ว” ก็อาจหมดความหมายไปด้วย เหลือแต่นามธรรมอะไรก็ตามที่สื่อโดย “พื้นที่สีเทา” เท่านั้น…
…ซึ่งหากนามธรรมนั้นชื่อ “ความไม่ยินดียินร้าย” ละก็ เวลานั้นโลกเราอาจตกอยู่ในอันตรายมากกว่านี้ก็ได้ ดังที่ Edmund Burke ว่าไว้กว่าสองร้อยปีที่แล้ว:
“The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.”
(สิ่งเดียวที่จำเป็นต่อชัยชนะของอธรรมคือ เมื่อคนดีไม่ทำอะไร)