เรื่องของคนชายขอบ บนยอดคลื่นของระบอบนายทุน (2)

หลังจากเกริ่นเรื่องความ “เถื่อน” ที่มาจากการแข่งขันอันรุนแรงในวงการ IB ไปบ้างแล้ว ขอยกตัวอย่างความ “ปาหี่” ของวงการนี้บ้าง

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือกระบวนการทำงานของ IB ในการเอาหุ้นของบริษัทลูกค้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ศัพท์ทางการเรียกว่า “การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า IPO (ย่อมาจาก Initial Public Offering)

เพราะ IB มีหน้าที่รับใช้ “ฝ่ายขาย” คือบริษัทที่เสนอขายหุ้น ดังนั้นในการทำ IPO หน้าที่หลักของ IB คือเชิญชวนให้นักลงทุนมาซื้อหุ้นกันเยอะๆ ที่ “ราคาจอง” (คือราคาที่เสนอขาย เรียกอย่างนี้เพราะต้องจองซื้อก่อนที่หุ้นนั้นจะเข้า trade ในตลาด ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอไปซื้อในตลาดเอาเอง)

หน้าที่ของ IB ในการทำ IPO นั้น ส่วนใหญ่นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว ยังเป็น “ผู้รับประกันการจำหน่าย” (underwriter) ด้วย หมายความว่าถ้า IB ขายหุ้นได้ไม่หมด ก็จะต้องรับซื้อหุ้นที่เหลือนั้นจากบริษัทลูกค้า เข้าพอร์ตลงทุนของตัวเอง

ดังนั้น underwriter คนไหนที่ขายหุ้น IPO ไม่หมด นอกจากจะต้อง “เสียชื่อ” ไปไม่น้อย (เหมือนเซลส์แมนที่ “ขายของ” ไม่เข้าเป้า) แล้ว ยังต้องควักเงินซื้อหุ้นที่ขายไม่หมด แถมต้องปวดหัวหาโอกาสขายหุ้นนั้นทิ้งทีหลังอีกต่างหาก

IB จึงต้องพยายามทำทุกวิถีทาง ให้นักลงทุนมาซื้อหุ้น IPO ให้หมดให้ได้

ปัญหาคือ นอกจากจะใช้ศิลปะการขายเหมือนเซลส์แมนทั่วๆ ไปแล้ว IB ยังใช้วิธีการอีกมากมาย ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ และไม่ผิดกฎหมายด้วย (เพราะกลุ่มทุนการเมืองที่ควบคุมภาครัฐย่อมอยากให้กฎหมายกำกับสถาบันการเงิน เปิดเสรีให้มากๆ จะได้เป็นช่องให้ “หากิน” จากตลาดทุนได้) ที่ทำให้ IPO ส่วนใหญ่ กลายเป็น “ปาหี่” โรงใหญ่


หลังจากเกริ่นเรื่องความ “เถื่อน” ที่มาจากการแข่งขันอันรุนแรงในวงการ IB ไปบ้างแล้ว ขอยกตัวอย่างความ “ปาหี่” ของวงการนี้บ้าง

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือกระบวนการทำงานของ IB ในการเอาหุ้นของบริษัทลูกค้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ศัพท์ทางการเรียกว่า “การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า IPO (ย่อมาจาก Initial Public Offering)

เพราะ IB มีหน้าที่รับใช้ “ฝ่ายขาย” คือบริษัทที่เสนอขายหุ้น ดังนั้นในการทำ IPO หน้าที่หลักของ IB คือเชิญชวนให้นักลงทุนมาซื้อหุ้นกันเยอะๆ ที่ “ราคาจอง” (คือราคาที่เสนอขาย เรียกอย่างนี้เพราะต้องจองซื้อก่อนที่หุ้นนั้นจะเข้า trade ในตลาด ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอไปซื้อในตลาดเอาเอง)

หน้าที่ของ IB ในการทำ IPO นั้น ส่วนใหญ่นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว ยังเป็น “ผู้รับประกันการจำหน่าย” (underwriter) ด้วย หมายความว่าถ้า IB ขายหุ้นได้ไม่หมด ก็จะต้องรับซื้อหุ้นที่เหลือนั้นจากบริษัทลูกค้า เข้าพอร์ตลงทุนของตัวเอง

ดังนั้น underwriter คนไหนที่ขายหุ้น IPO ไม่หมด นอกจากจะต้อง “เสียชื่อ” ไปไม่น้อย (เหมือนเซลส์แมนที่ “ขายของ” ไม่เข้าเป้า) แล้ว ยังต้องควักเงินซื้อหุ้นที่ขายไม่หมด แถมต้องปวดหัวหาโอกาสขายหุ้นนั้นทิ้งทีหลังอีกต่างหาก

IB จึงต้องพยายามทำทุกวิถีทาง ให้นักลงทุนมาซื้อหุ้น IPO ให้หมดให้ได้

ปัญหาคือ นอกจากจะใช้ศิลปะการขายเหมือนเซลส์แมนทั่วๆ ไปแล้ว IB ยังใช้วิธีการอีกมากมาย ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ และไม่ผิดกฎหมายด้วย (เพราะกลุ่มทุนการเมืองที่ควบคุมภาครัฐย่อมอยากให้กฎหมายกำกับสถาบันการเงิน เปิดเสรีให้มากๆ จะได้เป็นช่องให้ “หากิน” จากตลาดทุนได้) ที่ทำให้ IPO ส่วนใหญ่ กลายเป็น “ปาหี่” โรงใหญ่

เช่น ให้ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ช่วยเขียน “เชียร์” หุ้นตัวนั้น ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้า trade ในตลาด และเชียร์ต่อไปเรื่อยๆ หลังจากเข้าตลาดไปแล้ว

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้นมักตกเป็น “เบี้ยล่าง” ของฝ่าย IB เสมอ แม้มีหน้าที่เสนอรายงานวิเคราะห์หุ้นอย่าง “เป็นกลาง” ตามกฎหมาย เหตุเพราะรายได้จากธุรกิจ IB ที่ได้รับจากลูกค้าบริษัทแต่ละรายนั้น คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย

ถ้าบริษัท IB มีนักวิเคราะห์เก่งๆ ที่นักลงทุนเชื่อถือ มีหรือจะไม่อยากใช้ทำการตลาด บอกบริษัทลูกค้าว่า ให้เรา underwrite หุ้นของคุณ แล้วนักวิเคราะห์ที่เก่งฉกาจคนนี้จะช่วยเขียนเชียร์หุ้นให้

บริษัท IB ชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น Merrill Lynch, JP Morgan ฯลฯ ต่างก็เคยถูกอัยการของรัฐฟ้องร้องเรื่องบทวิเคราะห์ไม่เป็นกลาง จ่ายค่าปรับเป็นหลักร้อยล้านดอลลาร์มาแล้วทั้งนั้น (กรณีศึกษา เรื่อง Morgan Stanley เป็นตัวอย่างที่ดีเคสหนึ่ง)

แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เงินค่าปรับทั้งหลายนั้น มันเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของรายได้ IB ทั้งหมด ดังนั้น IB ทั้งหลายย่อมจะทำอย่างเดิมต่อไป แค่หาวิธีหลบหลีกไม่ให้ทางการจับได้ง่ายๆ

หลังจากนักวิเคราะห์เขียนเชียร์แล้ว ก็ถึงเวลาขายหุ้นจริงๆ ตรงนี้ IB ก็มีวิธีล็อคเลขอีก

ปกติ IB จะตั้งราคาจองหุ้น IPO ให้ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรเป็น เช่น ถ้าผลการประเมินมูลค่าของบริษัท (company valuation) ออกมาว่า หุ้นของบริษัทนี้ควรมีมูลค่า 10 บาทต่อหุ้น แทนที่ IB จะตั้งราคาหุ้นนั้นที่ 10 บาท จะลดราคาลงมาหน่อย ปกติราวๆ 5-10% คือตั้งราคาที่ 9-9.5 บาทต่อหุ้นแทน

IB จะได้ไปโฆษณาได้ว่า หุ้น IPO นี้ “ดีและถูก” อย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น หุ้นนี้มีค่า P/E ratio ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ฯลฯ) คือลดราคาจูงใจให้คนมาซื้อนั่นเอง

นี่เป็นวิธีที่รู้กันดีในหมู่นักลงทุนที่เล่นหุ้นมานาน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่ถึงอยากได้หุ้น IPO มากๆ เพราะกะว่าพอหุ้นนั้นเข้าตลาด ก็จะสามารถขายทำกำไรได้อย่างน้อย 5-10% ทันทีในวันแรก

ดังนั้นหุ้น IPO ตัวไหนที่ปิดการซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคาจอง ส่วนใหญ่เป็นเพราะหุ้นตัวนั้นเริ่ม trade ผิดจังหวะ เจอภาวะตลาดห่วยกว่าที่ IB คาดคิด หรือไม่อย่างนั้นก็ตั้งราคาจองค่อนข้างสูง โดยไม่มี “ส่วนลด” ให้คนซื้อ เพราะบริษัทผู้ขายอยากได้เงินมากๆ เข้ากระเป๋า

หลังจากหุ้น IPO เริ่มซื้อขายแล้ว IB ก็จะเข้าไปช่วย “พยุงราคา” ของหุ้นนั้นต่อมาอีก 4-5 วัน ด้วยการค่อยๆ ช้อนซื้อหุ้นในกระดาน จะได้ดูไม่น่าเกลียด ไม่อย่างนั้นอาจเป็นที่ครหาว่า เจ้าของบริษัท “ไม่สนใจ” หุ้นตัวเอง

การช่วยช้อนหุ้นแบบนี้ IB เรียกอย่างหน้าตาเฉยว่า “aftermarket support” หรือ “บริการหลังการขาย” นั่นเอง

ปาหี่แบบนี้อาจดูไม่น่าประณามเท่าไหร่ เพราะนักลงทุนที่ซื้อหุ้น IPO ไป ก็น่าจะได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า ในรูปกำไรจากราคาหุ้น ที่พุ่งสูงขึ้นเกินราคาจอง อย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่ IB กำลังทำ “aftermarket support” ให้ลูกค้าอยู่

แต่ปาหี่ก็คือปาหี่ จะมีคนดูหรือไม่มี คนดูจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ มันก็เป็นปาหี่อยู่ดี

เหมือนมวยที่นักมวยทั้งสองข้าง คือ IB กับบริษัทลูกค้า ร่วมกันล้มมวย สร้างภาพหลอกคนนอก

กรรมการก็โง่มองไม่เห็น หรือไม่ก็รับเงินค่าปิดปากให้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องมาวุ่นวายตรวจสอบอะไรมาก

นานๆ ที ถึงจะมีกรรมการดีๆ อย่าง Elliott Spitzer อัยการนิวยอร์คที่ฟ้องร้องเรียกค่าปรับ IB ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในข้อหาหลอกลวงนักลงทุน มาแจกใบแดงใบเหลือง เปิดโปงปาหี่ให้คนนอกสะใจเสียทีหนึ่ง

แต่พอกรรมการหันหลังเมื่อไหร่ นักกีฬาก็พร้อมใจกันกลับไปเล่นปาหี่ใหม่

แถมเงินเดือนบวกโบนัสสูงลิ่วที่ I-bankers ได้รับ ก็ต่างกันอย่างลิบลับกับเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐเช่น กลต. ที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบพวก IB

ปาหี่ในวงการนี้จึงสลับซับซ้อน จับผิดยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนเก่งน้อยคน ที่จะยอมไปอยู่ข้างกรรมการ

นอกจากนี้ ลักษณะการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว และคาดเดาได้ยากด้วยปัจจัยนับร้อยพันของตลาดทุน ก็เป็นสิ่งที่ IB ใช้เป็นข้ออ้างได้ เพื่อปัดความรับผิดชอบในกรณีต่างๆ

ข้ออ้างที่คลาสสิคที่สุดที่ IB ส่วนใหญ่ชอบใช้ คือ “ภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย”

เป็นประโยคที่ใช้อธิบายได้หลายกรณี ตั้งแต่ขายหุ้นไม่หมด หุ้นราคาตก เลื่อนกำหนดการขายหุ้น IPO ออกไป ยกเลิกการจองซื้อ เปลี่ยนราคาขาย ฯลฯ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น IB ไม่เคยผิดหรอก ก็ภาวะตลาดมันไม่ดี แล้วในหนังสือชี้ชวนก็บอกไว้แล้วไง ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ไม่มีใครบังคับให้คุณซื้อหุ้นนี่ ขาดทุนก็ช่วยไม่ได้ เรื่องของคุณเราไม่เกี่ยว

ความที่ “เหตุ” กับ “ผล” มันเชื่อมกันไม่ได้ชัดเจนนัก เนื่องด้วยลักษณะลื่นไหลของตลาดทุน และลิ้นของ I-bankers นี่แหละ ที่เป็นเหตุว่า ทำไมการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายๆ อย่างในตลาดทุน เช่น การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลวงใน (insider trading) การปั่นหุ้น ฯลฯ จึง “จับมือใครดม” ได้ยากเย็นแสนเข็ญมากๆ

ถึงตรงนี้คงมีคนสงสัยว่า ในเมื่อรู้ว่าวงการ IB มันปาหี่ และเถื่อนแบบนี้ ทำไมถึงข้าพเจ้าจึงเลือกอาชีพนี้?

ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ไม่คิดว่ามันจะปาหี่ขนาดนี้ เพราะภาพลักษณ์ภายนอกของธุรกิจนี้ “ดูดี” มากๆ แน่นอน บริษัท IB ทุกรายล้วนทุ่มเงินโฆษณามหาศาล เสนอเงินเดือนบวกโบนัสงามๆ เพื่อดึงดูดเด็กหัวดีที่จบ MBA หรือ PhD Finance เพราะธุรกิจนี้เดินได้ด้วยคนเก่ง –คือพูดเก่ง, present เก่ง, และทำ financial model เก่ง– เป็นหลัก

เงินเดือนงามๆ ของวงการนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักสำหรับข้าพเจ้า เพราะปกติเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ไม่ค่อยชอบเดินห้าง แถมมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง (เพื่อนๆ หลายคนบอกว่าสูงเกินเหตุ) ว่ามีวิชาติดตัว ยังไงๆ ชาตินี้ก็คงไม่อดตาย

และบังเอิญโชคดี ที่เกิดมาในบ้านที่พ่อแม่มีฐานะดี ไม่ต้องพึ่งลูกให้หาเลี้ยงยามแก่เฒ่า

เหตุผลของข้าพเจ้าที่มาเป็น I-banker นอกเหนือจากรายได้ดีแล้ว เป็นเพราะข้าพเจ้าชื่นชอบวิชาการเงิน (finance) โดยเฉพาะการทำ financial model ชอบความแปลกใหม่ไม่จำเจของอาชีพนี้ (เพราะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และคำปรึกษาไปเรื่อยๆ ตามลูกค้าที่เปลี่ยนไป) และคิดว่าตัวเองจะทำได้ดีด้วย เพราะมีนิสัยหลายๆ อย่างที่เป็นคุณสมบัติของ I-banker ที่ดี

เช่น ชอบคิดเลข ชอบการแข่งขัน ชอบเอาชนะ ก้าวร้าว (aggressive) ใจร้อน อึดสุดๆ (ข้อนี้สำคัญมาก เพราะหลายครั้ง I-bankers ต้องทำงานถึงเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้น ติดต่อกันหลายวัน) ชอบทำ present พูดมากถึงขั้นขี้โม้ เป็นต้น

สรุปคือ มาเป็น I-banker ส่วนหนึ่งเพราะเงิน ส่วนหนึ่งเพราะชอบลักษณะงาน และส่วนหนึ่งเพราะนิสัยให้

อันนี้พูดได้เต็มปากว่า แตกต่างจากเพื่อนๆ ในวงการหลายคน ที่มาทำงานนี้เพียงเพราะ “เงินดี” เท่านั้น โดยยังไม่ได้ค้นหาความต้องการของตัวเองจริงๆ

คนเหล่านี้มักประสบปัญหาเครียด เคว้งคว้าง เมื่อทำงานไปแล้วพบว่า มีเงิน แต่ไม่มีเวลาใช้ เวลาส่วนตัวถูกเวลางานกัดกิน หายไปเรื่อยๆ

แต่ก็เหมือนคนขี่หลังเสือ จะลงก็ลงลำบาก เพราะเคยชินกับระดับเงินเดือนนั้นเสียแล้ว

คนเราแต่ละคนมีปัจจัย ข้อจำกัด และความชอบไม่เหมือนกัน I-bankers หลายคนกลายเป็น I-bankers อาชีพ ทำได้เป็นสิบๆ ปี เพราะปัจจัยเหล่านั้นลงตัวกับอาชีพนี้

…บางคนต้องหาเลี้ยงพ่อแม่หรือครอบครัว เงินเดือนดีๆ ของอาชีพนี้ทำให้สบายใจว่า สามารถทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ เขาอาจเครียด แต่ก็ทนเครียดเพื่อให้คนอื่นในบ้านมีความสุข
…บางคนชอบตลาดทุนมากๆ เฝ้ามองกราฟหุ้นทั้งวันไม่รู้เบื่อ ชอบเล่นหุ้นและแนะหุ้นให้ชาวบ้าน

แต่ข้าพเจ้าไม่มีข้อจำกัดด้านฐานะ พันธะ หรือชอบลักษณะงานของ IB (เช่น ทำ present หรือ financial model) มากขนาดที่จะมองข้ามคำถามที่ใหญ่กว่านั้นไปได้:

“ทำไปเพื่ออะไร? ใครบ้างได้ประโยชน์จากงานที่เราำทำ?”

อย่างที่บอก บริษัท “ดี” นั้นหายากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ข้าพเจ้าตอบคำถามข้อนี้กับตัวเองยากขึ้นทุกทีๆ

ดีไม่ดี กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายเดียวที่ได้ประโยชน์คือนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น

กว่า 8 เดือนนับจากต้นปี ข้าพเจ้าไม่ได้เป็น I-banker แล้ว (มาอยู่ฝ่าย “กลยุทธ์องค์กร” แทน) ส่วนหนึ่งเพราะตอบคำถามนี้ให้กับตัวเองได้ไม่เต็มปาก

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าถามตัวเองตลอดเวลา อาจเป็นเพราะความเป็น “คนชายขอบ” ที่สนใจพุทธธรรม และคิดอยู่เนืองๆ ว่าจะ “สลัด” ความยึดติดทางวัตถุได้อย่างไร

จะให้ทิ้งทุกอย่างไปอยู่ป่าแบบคุณวีระศักดิ์ ยอดระบำ “ชายผู้ถอยหลังไปข้างหน้า” ที่รายการ “คนค้นฅน” นำชีวิตมาตีแผ่ ละก็ ข้อจำกัดของความเป็นผู้หญิง ความมุทะลุใจร้อน และความเป็นคนเมืองโง่เง่าของตัวเอง คงทำให้ตายหยังเขียดเหมือน Christopher McCandless หนุ่มอเมริกันจากตระกูลผู้มีอันจะกิน ที่ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปใช้ชีวิตกลางป่าอลาสก้า ก่อนตายอย่างโดดเดี่ยวหลังจากเข้าป่าไปได้เพียง 113 วัน (เรื่องราวของชายผู้นี้ถูกบันทึกอย่างน่าติดตามยิ่ง โดย Jon Krakauer ในหนังสือชื่อ Into The Wild ใครที่ชอบอ่านเรื่องราวผจญภัยในชีวิตจริง ขอแนะนำให้อ่านหนังสือของนาย Krakauer นี่ทุกเรื่อง รับรองไม่ผิดหวัง)

แต่ลึกๆ แล้วใจมันก็ ไม่อยาก เข้าป่าไปอยู่แบบนั้น เพราะเป็น “คนเมือง” แบบทั้งชินและหลงใหล คือชินกับสิ่งอำนวยความสะดวกสบายสมัยใหม่ต่างๆ และหลงใหลในสีสันของกรุงเทพฯ –ในที่นี้หมายถึงสีสันของความขัดแย้งที่ดูกลมกลืน เช่น ห้องแถวขายข้าวต้มโต้รุ่งที่อิงแอบหลังตึกระฟ้า หรือรถเข็นปาท่องโก๋กับกล้วยแขกที่ขายอยู่หน้าปากซอยบ้านคนรวย ไม่ใช่สีสันของไฟนีออนในสถานบันเทิงยามค่ำคืน– ชนิดถอนตัวไม่ขึ้น

หากแก่นพุทธศาสน์ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุสอน เป็นเรื่องของอนัตตา อนิจจัง เรื่องของจิตวิญญาณ โลกุตรธรรมล้วนๆ แล้ว โลกียธรรมหรือธรรมะทางโลก ก็เป็นเรื่องสำคัญรองลงมา ดังนั้นไม่ว่าใครจะอยู่ในเมืองหรือในป่า มั่งมีหรือยากไร้ ก็มีโอกาสบรรลุธรรมเหมือนกัน หากฝึกจิตใจได้สงบ มั่นคงเพียงพอที่จะก่อให้เกิดปัญญา ดังนั้น ความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างการอยู่เมืองกับอยู่ป่า ในแง่ของการปฏิบัติธรรม น่าจะมีเพียง ความยากง่ายในการกระทำ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ประสบการณ์ ความชอบ และสันดานของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่แตกต่างกันหลากหลายเหมือนเม็ดทรายบนชายหาด เกินกว่าที่จะมาสรุปรวมความเหมาโหลว่า “ดวงตาเห็นธรรม” เกิดได้ท่ามกลางธรรมชาติเท่านั้น

คนเมืองอย่างข้าพเจ้าอาจไม่มีวันบรรลุธรรม หรือแม้แต่เดินทางได้กระผีกหนึ่งของคุณวีระศักดิ์ แต่เมื่อประมวลความรู้ ประสบการณ์ และความชอบต่างๆ ของตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่า หนทางแห่งธรรมของข้าพเจ้า คงมีเมือง หรืออย่างน้อยก็ชุมชนในชนบทซักแห่ง เป็นทิวทัศน์สองข้างทาง มากกว่าแมกไม้ในป่าใดๆ

ผิดด้วยหรือ ถ้าใครจะติดใจความหวานหอมของกาแฟตอนเช้า มากกว่ากลิ่นหอมของดอกไม้? หรืออยากได้ยินเสียงข่าวจากวิทยุ มากกว่าเสียงนกร้อง?

อาจเป็นเพราะความเป็น “คนเมืองโดยธรรมชาติและเจตนา” ของข้าพเจ้านี้เอง ที่ทำให้กระโจนลงมาร่วมระบอบทุนนิยมเสรี ได้อย่างไม่ขัดเขินหรือข้องใจนัก ทั้งๆ ที่ใจหนึ่งก็รังเกียจระบอบนี้ไม่น้อยไปกว่าชาว “ชายขอบ” คนอื่นๆ

(พูดถึงเรื่องระบอบเศรษฐกิจการเมือง ก็นึกเสียดายว่ายังไม่มีใครโปรโมทระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย (social democracy) อย่างจริงๆ จังๆ ในบ้านเรา หรืออย่างน้อยๆ ก็พยายามทำให้รัฐเป็น “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) มากขึ้นเหมือนสวีเดนหรือฟินแลนด์ เพราะดูจะเป็น “ทางสายกลาง” ที่สมดุล คือมีระบบตลาดอันทรงประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย)

จะลองพูดถึงข้อดีของ IB บ้าง

นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับธุรกิจการเงิน และบริษัทในธุรกิจต่างๆ (ซึ่งไม่ใช่ “ความรู้ทางวิชาการ” นัก เพราะอาชีพนี้ต้องการเพียงความรู้แบบนักการตลาด หรือนักโฆษณา คือแค่เอาไป “ขายของ” ได้เท่านั้น I-banker คนไหนที่มีความรู้ทางวิชาการมาก แสดงว่าร่ำเรียนมาหรือศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง เพราะในงานมันไม่ต้องใช้ความรู้ลึกๆ เท่าไหร่) อาชีพนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้ “รู้จักคน” มากขึ้น

การที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารของหลายๆ บริษัท ทำให้ข้าพเจ้าได้รับทราบความคิดความอ่านของนักธุรกิจผู้ร่ำรวย และเศรษฐีหลายๆ ท่าน

ความรู้ที่มีค่าที่สุดคือ ความดีความเลว หรือแม้กระทั่งความจนความรวย วัดกันผิวเผินที่ฐานะไม่ได้

เป็นเศรษฐีก็รู้สึกจนได้ ถ้าไม่รู้จักคำว่า “พอ”

เป็นคนจนก็รู้สึกรวยได้ ถ้าไม่รู้จักคำว่า “โลภ”

ดูอย่างปู่เย็นนั่นไง

ทุกอย่างมัน “อยู่ที่ใจ” ล้วนๆ

สรุปว่า อาชีพ IB น่าจะเหมาะกับคนที่ชอบคิดเลข อยากรู้เรื่องธุรกิจแบบเรียนเร็ว และต้องการรายได้ดีภายในระยะเวลาอันสั้น

แต่อยากแนะนำว่า พอเก็บทั้งเงินและความรู้ได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว อย่าทำมันต่อเลย เอาความรู้และเงินของคุณไปใช้ทางอื่นดีกว่า ในทางที่แม้ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติโดยตรง ก็ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ออกมาซะก่อนที่แรงดึงดูดของ “เงิน” อันทรงพลังในวงการนี้ จะทำให้คุณลืมคำว่า “พอ” และ “ศักดิ์ศรีของมนุษย์”

และก่อนที่ทัศนคติแบบบิดเบี้ยวของโลกการเงิน ที่นับวันจะบิดเบี้ยวขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้คุณลืมคำว่า “ความถูกต้อง” ไปหมดสิ้น

เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนชายขอบที่รู้ตัวว่ายืนอยู่บนขอบของอะไร อาจน่าสมเพชน้อยกว่าคนกระแสหลัก ที่ถูกดูดหายเข้าไปในวังวนแห่งความโลภโดยไม่รู้ตัว.