เลิกพูดกันสักทีว่า “นักการเมืองโกงไม่เป็นไร ขอให้เศรษฐกิจดีก็พอ”

แม้ว่าเหตุผลที่หลายฝ่ายยังสนับสนุนรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะมีมากมายหลากหลาย หนึ่งใน “ข้ออ้าง” ที่ฝ่ายสนับสนุนชอบยกขึ้นมาโต้ฝ่ายต่อต้านที่เรียกร้องให้รัฐบาลนี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับคอร์รัปชั่นและการละเมิดกฎหมายต่างๆ ในรัฐบาล ทั้งเรื่องที่มี “ใบเสร็จ” ค่อนข้างชัดเจน (CTX, กล้ายาง, ลำไย, ฯลฯ) และเรื่องที่หน่วยงานรัฐไม่กล้าเอาผิด (กรณีภาษี Ample Rich และการตั้งนอมินีถือหุ้นแทนต่างชาติในดีลขายชินคอร์ป) คือเหตุผลทำนอง “ขึ้นชื่อว่านักการเมืองก็โกงกันทุกคนนั่นแหละ ให้มันโกงมั่งไม่เป็นไร ขอให้เศรษฐกิจดีก็พอ”

ถ้าคนพูดเป็นวัยรุ่นหน่อย เหตุผลนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นคำพูดทำนอง “นักการเมืองโกงกินกันมาทุกยุคทุกสมัย บ้านเมืองก็ยังอยู่มาได้ ตอนนี้จะมาสู้กันทำไมวะ แสดงว่าขัดผลประโยชน์กันแน่ๆ รักชาติจริงก็ต้องสามัคคีกันไว้สิ วัยรุ่นเซ็ง”

ฯลฯ

ตรรกะนี้สำหรับผู้เขียน คิดว่า “ฟังไม่ขึ้น” ในตัวมันเองด้วยเหตุผลหลายประการ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ “ความรับผิด” (accountability) โดยเฉพาะความรับผิดทางกฎหมาย ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ “ความดี” ที่ผู้กระทำผิดสะสมมาก่อนเกิดเหตุ

ขโมยควรถูกศาลตัดสินลงโทษถ้าหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าขโมย ไม่ว่าเขาจะทำความดีมามากแค่ไหน

หนึ่งในประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์อเมริกา บิล คลินตัน เกือบถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) “เพียงเพราะ” พูดโกหกในศาลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงฝึกงานในทำเนียบขาว

ระบบที่ดี กฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ สังคมพลเมืองที่ใช้ปัญญานำหน้าต้องสามารถแยกแยะระหว่าง “คน” กับ “ระบบ” ระหว่าง “ความจริง/สาระ” กับ “ความน่าเชื่อถือของผู้พูด” และระหว่าง “ความผิดในปัจจุบัน” กับ “ความดีในอดีต”

คนไทยเราชินชากับการโกงกินแบบลอยนวล เสียจนคนจำนวนมากอย่างน่าใจหายคิดว่ามันเป็น “เรื่องธรรมดา” ในบ้านเมืองที่ทุกคน “ต้องยอมรับ” เพราะ “ใครๆ ก็ทำกัน”


แม้ว่าเหตุผลที่หลายฝ่ายยังสนับสนุนรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะมีมากมายหลากหลาย หนึ่งใน “ข้ออ้าง” ที่ฝ่ายสนับสนุนชอบยกขึ้นมาโต้ฝ่ายต่อต้านที่เรียกร้องให้รัฐบาลนี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับคอร์รัปชั่นและการละเมิดกฎหมายต่างๆ ในรัฐบาล ทั้งเรื่องที่มี “ใบเสร็จ” ค่อนข้างชัดเจน (CTX, กล้ายาง, ลำไย, ฯลฯ) และเรื่องที่หน่วยงานรัฐไม่กล้าเอาผิด (กรณีภาษี Ample Rich และการตั้งนอมินีถือหุ้นแทนต่างชาติในดีลขายชินคอร์ป) คือเหตุผลทำนอง “ขึ้นชื่อว่านักการเมืองก็โกงกันทุกคนนั่นแหละ ให้มันโกงมั่งไม่เป็นไร ขอให้เศรษฐกิจดีก็พอ”

ถ้าคนพูดเป็นวัยรุ่นหน่อย เหตุผลนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นคำพูดทำนอง “นักการเมืองโกงกินกันมาทุกยุคทุกสมัย บ้านเมืองก็ยังอยู่มาได้ ตอนนี้จะมาสู้กันทำไมวะ แสดงว่าขัดผลประโยชน์กันแน่ๆ รักชาติจริงก็ต้องสามัคคีกันไว้สิ วัยรุ่นเซ็ง”

ฯลฯ

ตรรกะนี้สำหรับผู้เขียน คิดว่า “ฟังไม่ขึ้น” ในตัวมันเองด้วยเหตุผลหลายประการ ข้อที่สำคัญที่สุดคือ “ความรับผิด” (accountability) โดยเฉพาะความรับผิดทางกฎหมาย ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ “ความดี” ที่ผู้กระทำผิดสะสมมาก่อนเกิดเหตุ

ขโมยควรถูกศาลตัดสินลงโทษถ้าหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าขโมย ไม่ว่าเขาจะทำความดีมามากแค่ไหน

หนึ่งในประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์อเมริกา บิล คลินตัน เกือบถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) “เพียงเพราะ” พูดโกหกในศาลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงฝึกงานในทำเนียบขาว

ระบบที่ดี กฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ สังคมพลเมืองที่ใช้ปัญญานำหน้าต้องสามารถแยกแยะระหว่าง “คน” กับ “ระบบ” ระหว่าง “ความจริง/สาระ” กับ “ความน่าเชื่อถือของผู้พูด” และระหว่าง “ความผิดในปัจจุบัน” กับ “ความดีในอดีต”

คนไทยเราชินชากับการโกงกินแบบลอยนวล เสียจนคนจำนวนมากอย่างน่าใจหายคิดว่ามันเป็น “เรื่องธรรมดา” ในบ้านเมืองที่ทุกคน “ต้องยอมรับ” เพราะ “ใครๆ ก็ทำกัน”

แม้กระทั่งกรณีทุจริตที่มีหลักฐานแน่นหนา ปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะหลายข้อ กลับ “เงียบหายเข้ากลีบเมฆ” โดยรัฐบาลนิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ว่าจะเป็น CTX (ซึ่งผู้ให้สินบนสัญชาติอเมริกัน คือบริษัท GE Invision ยอมเสียค่าปรับเป็นเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐให้กับกระทรวงยุติธรรมของอเมริกาไปแล้ว ในข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยพฤติกรรมการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corruption Practices Act หรือ FCPA) แต่ผู้รับสินบนสัญชาติไทยกลับไม่ถูกรัฐบาลไทยเอาผิด?!?) กรณีเงิน “ค่าซื้อถังก๊าซ” ที่ส่อว่าเป็นการไซฟ่อน มูลค่า 3,000 ล้านบาทของบมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNIC) หุ้นที่มีนักการเมืองและญาติๆ ถือหุ้นมากมาย พอ ก.ล.ต. ส่งเรื่องไปถึง DSI สำนวนฟ้องกลับมีแต่ เรื่องตกแต่งบัญชี 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นทุจริตเหมือนกัน แต่ “จิ๊บจ๊อย” กว่าเรื่องไซฟ่อนเงิน 3,000 ล้านบาทมาก และไม่พัวพันนักการเมือง

ฯลฯ อีกมากมาย

ถ้าเรามีกฎหมายแต่ไม่ใช้กฎหมายนั้นลงโทษคนผิด เราจะมีกฎหมายไว้ทำไม?

……

ใช่ คอร์รัปชั่นไม่เคยทำให้ประเทศถึงขนาด “ล่มจม” แต่มันก็ฉุดรั้งความเจริญของประเทศไม่ให้ไปไกลเท่าที่ควร ไม่ให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจทำประโยชน์ให้กับคนหมู่มากของประเทศเท่าที่ควร

และที่สำคัญ ทำให้ “ระบอบอุปถัมภ์” หรือ “ระบอบเส้นสาย” ในเมืองไทยฝังรากลึกลงเรื่อยๆ ไม่เอื้อต่อระบบ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” (meritocracy) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

ต้องขีดเส้นใต้คำสองคำนี้เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมักไม่คิดถึง หรือคิดถึงแต่มองไม่เห็นความสำคัญ

ระหว่างกรณีที่นักการเมืองคนหนึ่งรับเงินใต้โต๊ะจากโครงการสร้างทางด่วนไป 10,000 ล้านบาท กับกรณีที่รัฐบาลเก็บเงิน 10,000 ล้านบาทเดียวกันจากผู้รับเหมา แล้วนำเงินนั้นมาใช้ในโครงการช่วยเหลือคนจน อะไร “เป็นธรรม” กว่ากัน?

ตัวเลข GDP ในทั้งสองกรณีเท่ากัน ดังนั้นข้ออ้างเรื่อง “อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ” จึงไม่ใช่ประเด็น

ถ้ารัฐบาลสามารถกระจายความเจริญของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงได้มากกว่านี้ ด้วยการกำราบนักการเมืองที่โกงกิน เราจะไม่อยากได้หรือ?

เราไม่อยากเห็นคนจนลืมตาอ้าปากได้หรือ?

นักการเมืองไทยอาจโกงกันทุกยุคทุกสมัย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนไทยควร “ทำใจ” นั่งทำตาปริบๆ มองพวกเขาโกงกินกันไปเรื่อยๆ

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ค่านิยม วัฒนธรรม และความเชื่อไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดิม

สังคมจะพัฒนาได้ ก็ต่อเมื่อคนในสังคมเลิกพูดคำเดียวเท่านั้น:

“ช่างหัวมัน”

แต่เราจะเลิกพูดคำนี้ได้จริง ก็ต่อเมื่อเรามองเห็น “ต้นทุน” ของคอร์รัปชั่น ต้นทุนที่ทุกคนในสังคมกำลังแบกไว้ร่วมกัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น

……

“ต้นทุน” ของคอร์รัปชั่นมีอะไรบ้าง?

หลักฐาน ข้อมูล และงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์มากมายชี้ว่า การโกงกินหรือคอร์รัปชั่นนั้นเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศอย่างแน่นอน โดยประเทศที่มีคอร์รัปชั่นสูง จะมีรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) ต่ำกว่าประเทศที่มีคอร์รัปชั่นต่ำ

เมื่อนำสถิติจาก Transparency International มาพล็อตจะเห็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างรายได้ต่อหัว กับดัชนีความเชื่อมั่นในภาครัฐ (ตัวเลขสูงแปลว่าคอร์รัปชั่นต่ำ):

รายได้ต่อหัว  vs. ระดับคอร์รัปชั่น

นอกจากนี้ คอร์รัปชั่นผนวกกับ “ระบอบอุปถัมภ์” ด้านเศรษฐกิจ (crony capitalism) ยังเป็นกลไกหลักที่ “บิดเบือน” การกระจายรายได้ของประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในมือกลุ่มนักธุรกิจผู้มีเส้นสายไม่กี่ราย

งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มากมายระบุว่า คอร์รัปชั่นส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ 6 ทางหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. ลดระดับการลงทุนของภาคเอกชนและบั่นทอนอัตราการเจริญเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ

คอร์รัปชั่นเป็น “ต้นทุนของการพัฒนา” ที่สูงกว่าภาษีที่รัฐบาลเก็บ เพราะมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งด้านอัตราที่เรียกเก็บ และความไม่แน่นอน (สำหรับคนจ่าย) ว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่รับเงินใต้โต๊ะไปจะทำตามคำสัญญาหรือไม่ นอกจากนั้นคอร์รัปชั่นยังลดแรงจูงใจของภาคเอกชนในการลงทุน เพราะต้องเสียเงิน “ต่างหาก” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่คดโกง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจตามปกติ

2. บิดเบือนแรงจูงใจของพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถ

เนื่องจากรายได้จากการคอร์รัปชั่นมีมูลค่าสูง และได้มาง่ายดายกว่างานสุจริตที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงสามารถโน้มน้าวให้พลเมืองที่มีคุณภาพ มีการศึกษาของประเทศส่วนหนึ่งใช้ความเก่งของตนในการหากินแบบ “มักง่าย” อย่างนี้ นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่หมกมุ่นกับการคอร์รัปชั่นก็จะหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาช่องทางคอร์รัปชั่นใหม่ๆ แทนที่จะทำงานรับใช้ชาติ

3. บิดเบือนค่าใช้จ่ายภาครัฐ และลดคุณภาพของบริการสาธารณะ

รายได้จากการคอร์รัปชั่นเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่คดโกง เลือกที่จะจัดสรรทรัพยากรของประเทศตามโอกาสของตัวเองในการคอร์รัปชั่น ไม่ใช่ตามความต้องการของประชาชน งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ Paul Mauro (2541) ชี้ชัดว่า รัฐบาลของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงใช้เงินสร้างโครงการขนาดใหญ่ (megaprojects) และโครงการทางทหาร มากกว่าเงินลงทุนด้านการศึกษาและบริการสาธารณะอื่นๆ นอกจากนี้ ยิ่งคอร์รัปชั่นยิ่งสูง คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะก็ยิ่งตกต่ำลง เพราะเงินที่ควรใช้ไปกับการบำรุงรักษาหรือก่อสร้างในระดับคุณภาพดีต้องหายไปในกระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐแทน

4. ลดประสิทธิผลของเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ

ในประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูง รัฐบาลมักใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างชาติไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สิ้นเปลือง และคอร์รัปชั่นได้ง่าย

5. เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการเงิน

คอร์รัปชั่นบิดเบือนการไหลเข้าออกของทุน และคอร์รัปชั่นในสถาบันการเงินภาครัฐ (เช่น การบังคับให้ธนาคารของรัฐให้เงินกู้ที่ไม่สมเหตุผล ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด) อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสียซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจทั้งระบบ

6. เพิ่มแรงจูงใจให้พลเมืองหลบเลี่ยงภาษี และรัฐขาดดุลงบประมาณ

คอร์รัปชั่นอาจทำให้พลเมืองบางรายหลบเลี่ยงภาษี เพราะถือว่าได้ “เสียภาษี” ไปแล้วเมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐขูดรีด ดังนั้นในระยะยาว รายได้ภาษีที่ลดลง (จากการหลบเลี่ยงนี้) บวกกับค่าใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น (จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่คอร์รัปชั่นได้ง่าย) อาจส่งผลให้รัฐต้องขาดดุลงบประมาณ ส่งผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพทางการคลัง และลดความคล่องตัวของรัฐในการบริหารงบประมาณ

“นักการเมืองโกงไม่เป็นไร ขอให้เศรษฐกิจดีก็พอ”

มารณรงค์ให้คนรอบข้างเราเลิกพูดประโยคนี้กันเถอะ

เพราะถึงเวลาที่เราต้องทบทวนความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจดี” กันใหม่แล้ว.