เศรษฐกิจพอเพียง(จะกลายเป็น) มุสาร่วมสมัย(ในที่สุดหรือไม่?)

ยุ่งมากๆ กับการตัดเกรดนักเรียน ซึ่งต้องเสร็จภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ขออัพเดทบล็อกแบบ “มักง่าย” อีกครั้ง ด้วยการแปะบทความที่ชอบมากๆ ของพี่ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บประชาไท หลังจากวันศุกร์นี้คงมีเวลามาเขียนตามปกติอีกครั้ง ประเดิมด้วยข้อคิดที่ได้จากประสบการณ์เป็นอาจารย์(พิเศษ)มหาวิทยาลัยครั้งแรกในชีวิต 🙂

เหตุผลที่เพิ่มคำในวงเล็บเข้าไปในชื่อบทความ เป็นเพราะความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ “แรง” เท่ากับของพี่ชูวัส โดยเฉพาะถ้ามองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะ “ชุดความคิด” ชุดหนึ่ง (ซึ่งจะพยายามเรียบเรียงเป็นประเด็นๆ ในโอกาสหน้า) แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับพี่ชูวัส ในแง่ของอันตรายจากการเอาชุดความคิดนี้ไปใช้แบบผิดที่ผิดทาง เพราะทุกคนควรตระหนักถึงอันตรายที่เศรษฐกิจพอเพียงจะถูกนำไปใช้ (หรือกำลังถูกใช้อยู่?) เป็น “เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ” (propaganda tool) ของอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่ม ในการเรียกร้องแบบน่าเกลียดและมือถือสากปากถือศีลให้คนที่จนกว่ารู้จัก “พอเพียง” ซะบ้าง ในขณะที่ตัวเองก็ดำเนินวิถีชีวิตที่ฟุ่มเืฟือย สิ้นเปลือง ทำลาย(สิ่งแวดล้อม) และแน่นอนว่า “ไม่พอเพียง” ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้สึกรู้สา

ยังไม่้นับมหาเศรษฐีบางคนที่ ‘อาจจะ’ ลงทุนคาดผ้าขาวม้าลงหนังสือพิมพ์เพื่อโอ้อวดว่าตัวเอง “พอเพียง” ขนาดไหน ในขณะที่บริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ‘อาจจะ’ กำลังวิ่งเต้นฝุ่นตลบเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหาว่าพัวพันกรณีคอร์รัปชั่นที่ส่่วนหนึ่ง ‘อาจจะ’ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากต้องประสบกับความเดือดร้อน หรือถูกเบี้ยวซึ่งๆ หน้า (ใ่ส่ ‘อาจจะ’ ไว้ก่อน เพราะในประเทศที่ยังเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตแบบไร้เหตุผลและใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่เก่าแก่คร่ำครึและบั่นทอนแจงจูงใจในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนไม่อาจให้ความมั่นใจกับท่านผู้อ่านได้่ว่า สิ่งที่เขียนอยู่นั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่)

ในเนื้อหา เศรษฐกิจพอเพียงเป็นชุดความคิดที่มี “พลัง” พอที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ที่ทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นชุดความคิดที่มี “ข้อดี” มากมาย และสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืนด้วย แต่ข้อดีเหล่านั้นจะมองเห็นชัดเจนก็ต่อเมื่อชุดความคิดนี้ได้รับการนิยามอย่างชัดเจน ตีความ อภิปราย ถกเถียง และต่อยอด เพื่อ ‘แปลง’ สถานภาพจากชุดความคิดที่มีความคลุมเครือสูงและยังไม่สะท้อนความหลากหลายในฐานะ มุมมอง และวิถีชีีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในปัจจุบัน ให้กลายเป็น “กระบวนทัศน์” ที่มีความเป็นรูปธรรมพอที่จะใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ ดังเช่นแผนพัฒนาของภูฎาน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จข้อสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง คือความสำเร็จของภาคประชาสังคมในการร่วมนิยาม ตีความ อภิปราย ถกเถียง และต่อยอดชุดความคิดนี้ แต่การร่วมนิยามที่สะท้อนความหลากหลายของคนไทยจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากพอมองเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “องค์ความรู้” ที่เป็นประโยชน์ เป็น “สมบัติร่วม” ของสมาชิกสังคมทุกคน ไม่ใช่ “สมบัติส่วนตัว” ที่ใครจะมาแอบอ้างผูกขาดกรรมสิทธิ์ หรืออำนาจการตีความไว้แต่เีพียงผู้เดียว


ยุ่งมากๆ กับการตัดเกรดนักเรียน ซึ่งต้องเสร็จภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ขออัพเดทบล็อกแบบ “มักง่าย” อีกครั้ง ด้วยการแปะบทความที่ชอบมากๆ ของพี่ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บประชาไท หลังจากวันศุกร์นี้คงมีเวลามาเขียนตามปกติอีกครั้ง ประเดิมด้วยข้อคิดที่ได้จากประสบการณ์เป็นอาจารย์(พิเศษ)มหาวิทยาลัยครั้งแรกในชีวิต 🙂

เหตุผลที่เพิ่มคำในวงเล็บเข้าไปในชื่อบทความ เป็นเพราะความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ “แรง” เท่ากับของพี่ชูวัส โดยเฉพาะถ้ามองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะ “ชุดความคิด” ชุดหนึ่ง (ซึ่งจะพยายามเรียบเรียงเป็นประเด็นๆ ในโอกาสหน้า) แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับพี่ชูวัส ในแง่ของอันตรายจากการเอาชุดความคิดนี้ไปใช้แบบผิดที่ผิดทาง เพราะทุกคนควรตระหนักถึงอันตรายที่เศรษฐกิจพอเพียงจะถูกนำไปใช้ (หรือกำลังถูกใช้อยู่?) เป็น “เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ” (propaganda tool) ของอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่ม ในการเรียกร้องแบบน่าเกลียดและมือถือสากปากถือศีลให้คนที่จนกว่ารู้จัก “พอเพียง” ซะบ้าง ในขณะที่ตัวเองก็ดำเนินวิถีชีวิตที่ฟุ่มเืฟือย สิ้นเปลือง ทำลาย(สิ่งแวดล้อม) และแน่นอนว่า “ไม่พอเพียง” ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้สึกรู้สา

ยังไม่้นับมหาเศรษฐีบางคนที่ ‘อาจจะ’ ลงทุนคาดผ้าขาวม้าลงหนังสือพิมพ์เพื่อโอ้อวดว่าตัวเอง “พอเพียง” ขนาดไหน ในขณะที่บริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ‘อาจจะ’ กำลังวิ่งเต้นฝุ่นตลบเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหาว่าพัวพันกรณีคอร์รัปชั่นที่ส่่วนหนึ่ง ‘อาจจะ’ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากต้องประสบกับความเดือดร้อน หรือถูกเบี้ยวซึ่งๆ หน้า (ใ่ส่ ‘อาจจะ’ ไว้ก่อน เพราะในประเทศที่ยังเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตแบบไร้เหตุผลและใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่เก่าแก่คร่ำครึและบั่นทอนแจงจูงใจในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนไม่อาจให้ความมั่นใจกับท่านผู้อ่านได้่ว่า สิ่งที่เขียนอยู่นั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่)

ในเนื้อหา เศรษฐกิจพอเพียงเป็นชุดความคิดที่มี “พลัง” พอที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ที่ทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นชุดความคิดที่มี “ข้อดี” มากมาย และสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืนด้วย แต่ข้อดีเหล่านั้นจะมองเห็นชัดเจนก็ต่อเมื่อชุดความคิดนี้ได้รับการนิยามอย่างชัดเจน ตีความ อภิปราย ถกเถียง และต่อยอด เพื่อ ‘แปลง’ สถานภาพจากชุดความคิดที่มีความคลุมเครือสูงและยังไม่สะท้อนความหลากหลายในฐานะ มุมมอง และวิถีชีีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในปัจจุบัน ให้กลายเป็น “กระบวนทัศน์” ที่มีความเป็นรูปธรรมพอที่จะใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ ดังเช่นแผนพัฒนาของภูฎาน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จข้อสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง คือความสำเร็จของภาคประชาสังคมในการร่วมนิยาม ตีความ อภิปราย ถกเถียง และต่อยอดชุดความคิดนี้ แต่การร่วมนิยามที่สะท้อนความหลากหลายของคนไทยจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคนจำนวนมากพอมองเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “องค์ความรู้” ที่เป็นประโยชน์ เป็น “สมบัติร่วม” ของสมาชิกสังคมทุกคน ไม่ใช่ “สมบัติส่วนตัว” ที่ใครจะมาแอบอ้างผูกขาดกรรมสิทธิ์ หรืออำนาจการตีความไว้แต่เีพียงผู้เดียว

หากปราศจากกระบวนการ ‘แปลง’ เศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสังคม ให้เป็นกระบวนทัศน์สำหรับการพัฒนาประเทศที่รองรับและสะท้อนความหลากหลายของประชาชนไทย ตลอดจนส่งผลเป็นรูปธรรมได้ ท้ายที่สุด เศรษฐกิจพอเพียงอาจเป็นเพียง propaganda ราคาถูก – ถูกเท่ากับราคาิเสื้อเหลืองหนึ่งตัวหรือสายรัดข้อมือสีเหลืองหนึ่งเส้น – ที่ใช้สร้าง “ความชอบธรรม” จอมปลอมให้กับวิถีชีวิตอันไม่พอเพียงและเอาเปรียบสังคมของคนรวยบางคนเท่านั้นเอง

เพราะสังคมไทยจะเป็น “สังคมพอเพียง” ได้อย่างไร ตราบใดที่เรายังไม่บังคับใช้ “กลไกบังคับความพอเพียง” เช่น ภาษีมรดก ภาษีมลพิษ ภาษีที่ดิน(แบบเอาจริง) และภาษีกำไรจากการขายหุ้นรายการใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์(ที่ปัจจุบันผู้ซื้อผู้ขายไปตกลงกันนอกตลาด แล้วมา “เคาะขาย” กันในตลาดเพื่อเลี่ยงภาษี) และกลไกอื่นๆ อีกมากมาย ที่อารยประเทศทั้งหลายในโลกนี้ใช้กันมาแล้วเป็นสิบๆ ปี ในการ “บังคับ” ให้คนที่ “มีเกินพอ” รู้จัก “ความพอเพียง” ให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็รู้จักกอบโกยให้น้อยลง?

……

เศรษฐกิจพอเพียง มุสาร่วมสมัย
โดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข (บรรณาธิการประชาไท)

บาปร่วมสมัย
(ปลายเดือนพฤศจิกายน)

เรากำลังร้องหา เห่อ โหม ประโคม ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ อย่างที่ไม่เคยมียุคใดสมัยใดเป็นเช่นนี้มาก่อน

สื่อทุกสำนัก ผู้รู้ ปราชญ์ และผู้ใหญ่ ต่างก็อนุโมทนาสาธุ แล้ววาดฝันหนทางที่บ้านเมืองจะเดินไปอย่างหนึ่ง ทว่าคนข้างๆ ต่างวัย ผมต่างสี กลับเข้าใจหนทางที่บ้านที่เมืองจะเดินไปอีกอย่างหนึ่ง

วัยหนุ่มรุ่นสาวในเมืองฟ้าอมรกับเครื่องรางของขลังแบรนด์ดังจากหัวจรดเท้า อาจจะไม่มีคำถามมากนัก เขาอาจจะตอบเพียงว่า “ดี ผู้คนจะได้หายจน”

วัยรุ่นเมืองใต้บาดาล อาจจะมีคำถามมากกว่าเล็กน้อย “แล้วฉันจะมีมอ’ไซค์ขี่ไหม”

คนขับรถแดงที่เชียงใหม่ แสดงสีหน้าสับสน ก่อนจะถามกลับว่า “แล้วจะให้ฉันกลับไปทำสวนหรือไร”

ส่วนพี่ชายผู้กำลังจะขยายร้านกาแฟด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ตั้งใจกวนด้วยคำถามว่า “ฉันกำลังไม่รู้จักพอใช่ไหม”

การออม มัธยัสถ์ เป็นความงามชนิดหนึ่ง เพราะมันเผื่อแผ่ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้คนในโลกอนาคตได้ใช้ แต่การออมและมัธยัสถ์ต้องไม่ใช่กรงขังให้จมจ่อมงมงายอยู่ในความงามนั้น เพียงเพื่อให้ทรัพยากรที่เหลือเป็นอาหารอันโอชะให้กับคนที่มีมากกว่า

พจนานุกรมไทยบอกว่า ‘เพียง’ เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า เท่า, แค่, เสมอ, เหมือน, พอ

เราให้ความหมายของคำว่า เพียง จำกัดอยู่ที่ความว่า “แค่” แต่น้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะก้าวไปให้ถึงความหมายอีกอย่างที่แปลว่า ‘เท่า’

ลองคนเราถ้ามีไม่เท่ากัน แล้วผู้ที่มีมากกว่า พยายามบอกคนที่มีน้อยหรือไม่มีอะไรเลย ให้รู้จักพอ มันก็เท่ากับต้องการรักษาความไม่เท่ากันนั้นให้ดำรงอยู่ต่อไป

ท่ามกลางสิ่งยั่วยวนให้ความมี ความรวย ความมั่งคั่ง การสะสม หรือความฟุ่มเฟือย นั้นดีกว่า มีค่ากว่า ขณะที่โลกที่เราอยู่ใบนี้ก็ทำให้การบริโภคเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีคุณค่า เป็นส่วนที่ใครๆ ก็ใช้วัดชีวิตที่มีศักดิ์ศรี การที่ผู้มีมากกว่า พยายามบอกคนที่มีน้อยหรือไม่มีอะไรเลย ให้รู้จักพอ อีกแง่หนึ่งก็คือการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แน่ละการบริโภคอย่างไม่บันยะบันยังนั้น ก็คือการใช้ชีวิตแบบปล้นชิงทรัพยากรมาจากลูกหลานอนาคต แต่ความพยายามหยุดยั้งการบริโภคเอาไว้เฉพาะกลุ่มคนด้อย คนจน หรือคนที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสอยู่แล้ว โดยหลงลืมไปว่า ขณะที่คนไร้ คนจน บริโภคอยู่นั้น คนมีก็บริโภคอยู่เช่นกัน และด้วยอัตราเร่งที่มากเป็นทวีคูณ นี่ก็คือการแบ่งชนแบ่งชั้นชนิดหนึ่ง

ยิ่งในสมัยของการฟื้นฟูคุณธรรม การกร่นด่าประนามคนจนที่บริโภค สร้างหนี้เกินตัว บริหารค่าใช้จ่ายครัวเรือนแบบหมุนเงินผลัดผ้าขาวม้า ไม่รู้จักประมาณตน ไม่รู้จักพอเพียง ราวกับเป็นความผิดบาป ที่แท้แล้วย่อมไม่มีผลอะไรอื่น นอกจากเพื่อจะบอกว่า คนกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิบริโภค มีแต่ฉันเท่านั้นที่ได้รับสิทธินั้น

เราเริ่มสมัยของการพัฒนา ด้วยการสร้างให้คนตระหนักว่า “ความจนเกิดเพราะคนไม่ขยัน” แต่เรายังจนต่อเนื่องมาอีก 40 ปีต่อจากนั้น

แล้วเรากำลังเริ่มสมัยแห่งการฟื้นฟูคุณธรรม ด้วยการสร้างให้คนตระหนักอีกอย่างว่า “เหตุแห่งความจนนั้นไซร้ ไม่ใช่อื่นใด นั่นเพราะคนไม่รู้จักพอ” ซึ่งน่าสงสัยว่า เราจะจนต่อเนื่องไปอีกกี่ปี

เศรษฐกิจพอเพียง จึงต้องมีความหมายถึงความเท่าเทียม มิใช่กรงขังภายใต้ความรู้จักพอ

เป้าหมายของการรณรงค์เศรษฐกิจพอเพียงในโลกที่คนเราควรเท่ากันจึงควรอยู่ที่คนมี คนรวย ไม่ใช่แค่คนจน

และเศรษฐกิจพอเพียงในโลกที่คนเราควรเท่ากันจึงเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากซึ่งโครงสร้างของการแบ่งปัน

ถ้าเราหยุดยั้งการบริโภคไม่ได้ เราจำเป็นต้องรู้จักการบริโภค แน่ละ เราไม่ควรบริโภคจากบ่อน้ำของลูกหลานอนาคต แต่เราควรบริโภคทรัพยากรจากบ่อเพชรหลอยอันมั่งคั่งของคนมีที่เหลือเฟือพอจะแบ่งปัน

ไม่ยอมสร้างโครงสร้างแห่งการแบ่งปัน แต่ยังคงป่าวร้องประโคมโห่เศรษฐกิจพอเพียงต่อไป ก็เสมือนการมุสา อันเป็นความผิดบาปขั้นพื้นฐาน

เพื่อนอาวุโสไร้ฝักฝ่ายท่านหนึ่ง เอื้อนเอ่ยคำพูดด้วยน้ำเสียงพื้นๆ ในระหว่างการถกเถียงเรื่องของคนอื่นๆ ออกมาว่า “บาปที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือการที่มีคนรวยล้นฟ้า ท่ามกลางผู้คนที่จนยาก”

…..

ผู้อ่านที่รัก มาถึงตรงนี้ ท่านอาจมีทางเลือกไม่กี่ทาง คือเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจพอเพียงที่คนเราเท่าเทียมต่อไป หรือไม่ก็กร่นด่าข้อเขียนชิ้นนี้ว่า ซ้าย…ไร้เดียงสา…เถิด