[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สอง: 6 เมษายน 2554 (ช่วงบ่าย)
แวดวงบล็อกเกอร์ในเยอรมนี และ carta.info
วิทยากรคนแรกของ Blogger Tour 2011 คือ ดร.โรบิน เมเยอร์-ลุกต์ (Robin Meyer-Lucht) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร CARTA บล็อกการเมืองชั้นนำของเยอรมนี อาชีพของ ดร.โรบิน คือผู้สื่อข่าวด้านสื่อและที่ปรึกษาองค์กรสื่อ เขียนบล็อกเป็นงานอดิเรก
ดร.โรบินเริ่มต้นด้วยการถามว่า พวกเรามีใครบ้างที่มาจากประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงมาก มีคนยกมือ 4-5 คน หรือหนึ่งในสามของคณะ มาจาก สโลวาเกีย อินโดนีเซีย ตูนีเซีย (แน่นอนว่าหมายถึงสถานการณ์หลังปฏิวัติประชาชน) แน่นอนว่าเวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ ต้องพูดกันเรื่อง “อิสรภาพสื่อ” ถึงจะมีความหมาย เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในโลกมีเสรีภาพตามกฎหมาย แต่ “ใช้” เสรีภาพนั้นไม่ค่อยได้ (ขาดอิสรภาพนั่นเอง) ในโลกแห่งความจริง ยกตัวอย่างเช่น องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontières, RSF) ยกให้คาซักสถานเป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมีเสรีภาพต่ำที่สุดในโลก หน้าโปรไฟล์ของประธานาธิบดี บนเว็บ RSF ให้ข้อมูลว่า ในคาซักสถาน “การดูหมิ่นชื่อเสียงและศักดิ์ศรี” ของประธานาธิบดีมีโทษจำคุก นอกจากนี้เขายังแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจการควบคุมสื่อและทำให้ปิดหนังสือพิมพ์ได้ง่ายกว่าเดิม กฎหมายสื่อในคาซักสถานแย่ถึงขั้นแบนนักข่าวที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ยังกำหนดให้ บล็อก ห้องแช็ท และเว็บไซต์อื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตมีสถานภาพทางกฎหมายเท่ากับสื่อ แปลว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งปิดได้อย่างง่ายดาย
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนที่ยกมือว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ “พอจะมีเสรีภาพสื่อบ้าง” ร่วมกับสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะ (เดาว่าหลายคนคงคิดเหมือนกัน คือสื่อมีเสรีภาพบนกระดาษ แต่ในความเป็นจริงยังเซ็นเซอร์ตัวเองค่อนข้างมาก) มีเพียงอาลี บล็อกเกอร์จากอาเซอร์ไบจัน เท่านั้นที่ยกมือว่าประเทศเขาเข้าข่าย “สื่อไร้เสรีภาพ”
หลังจากที่ทุกคนยกมือ ดร.โรบิน ก็เฉลยว่า ที่ถามนั้นเป็นเพราะระดับเสรีภาพสื่อมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับการเติบโตและบทบาทของบล็อกเกอร์ ประเทศไหนสื่อมีเสรีภาพน้อย บล็อกเกอร์ยิ่งมีบทบาทมากในการถกประเด็นสาธารณะ
[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สอง: 6 เมษายน 2554 (ช่วงบ่าย)
แวดวงบล็อกเกอร์ในเยอรมนี และ carta.info
วิทยากรคนแรกของ Blogger Tour 2011 คือ ดร.โรบิน เมเยอร์-ลุกต์ (Robin Meyer-Lucht) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร CARTA บล็อกการเมืองชั้นนำของเยอรมนี อาชีพของ ดร.โรบิน คือผู้สื่อข่าวด้านสื่อและที่ปรึกษาองค์กรสื่อ เขียนบล็อกเป็นงานอดิเรก
ดร.โรบินเริ่มต้นด้วยการถามว่า พวกเรามีใครบ้างที่มาจากประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงมาก มีคนยกมือ 4-5 คน หรือหนึ่งในสามของคณะ มาจาก สโลวาเกีย อินโดนีเซีย ตูนีเซีย (แน่นอนว่าหมายถึงสถานการณ์หลังปฏิวัติประชาชน) แน่นอนว่าเวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ ต้องพูดกันเรื่อง “อิสรภาพสื่อ” ถึงจะมีความหมาย เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในโลกมีเสรีภาพตามกฎหมาย แต่ “ใช้” เสรีภาพนั้นไม่ค่อยได้ (ขาดอิสรภาพนั่นเอง) ในโลกแห่งความจริง ยกตัวอย่างเช่น องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontières, RSF) ยกให้คาซักสถานเป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมีเสรีภาพต่ำที่สุดในโลก หน้าโปรไฟล์ของประธานาธิบดี บนเว็บ RSF ให้ข้อมูลว่า ในคาซักสถาน “การดูหมิ่นชื่อเสียงและศักดิ์ศรี” ของประธานาธิบดีมีโทษจำคุก นอกจากนี้เขายังแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจการควบคุมสื่อและทำให้ปิดหนังสือพิมพ์ได้ง่ายกว่าเดิม กฎหมายสื่อในคาซักสถานแย่ถึงขั้นแบนนักข่าวที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ยังกำหนดให้ บล็อก ห้องแช็ท และเว็บไซต์อื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตมีสถานภาพทางกฎหมายเท่ากับสื่อ แปลว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งปิดได้อย่างง่ายดาย
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนที่ยกมือว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ “พอจะมีเสรีภาพสื่อบ้าง” ร่วมกับสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะ (เดาว่าหลายคนคงคิดเหมือนกัน คือสื่อมีเสรีภาพบนกระดาษ แต่ในความเป็นจริงยังเซ็นเซอร์ตัวเองค่อนข้างมาก) มีเพียงอาลี บล็อกเกอร์จากอาเซอร์ไบจัน เท่านั้นที่ยกมือว่าประเทศเขาเข้าข่าย “สื่อไร้เสรีภาพ”
หลังจากที่ทุกคนยกมือ ดร.โรบิน ก็เฉลยว่า ที่ถามนั้นเป็นเพราะระดับเสรีภาพสื่อมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับการเติบโตและบทบาทของบล็อกเกอร์ ประเทศไหนสื่อมีเสรีภาพน้อย บล็อกเกอร์ยิ่งมีบทบาทมากในการถกประเด็นสาธารณะ
ดร.โรบิน บอกว่าทุกวันนี้บล็อกไม่ได้อยู่โดดๆ อีกต่อไปแล้ว นี่ไม่ใช่ปี 2007 วันนี้บล็อกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครือข่ายขนาดใหญ่ “วงสนทนา” ขนาดใหญ่ที่สื่อกระแสหลัก บล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ อยู่ร่วมกัน บล็อกเกอร์รุ่นจิ๋ว (tiny bloggers) เขียนผ่านทวิตเตอร์ (หลายคนเรียกทวิตเตอร์ว่าเป็นเวที “เขียนบล็อกขนาดจิ๋ว” หรือ microblogging) บล็อกเกอร์รุ่นเล็กเขียนผ่านเฟซบุ๊ก สั้นหน่อยก็ใช้สเตตัส ยาวหน่อยก็ใช้โน้ต และบล็อกเกอร์รุ่นใหญ่เขียนบนเว็บไซต์ส่วนตัว ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับสื่อกระแสหลัก
ในเยอรมนีบล็อกเกอร์ทุกคนเขียนบล็อกเป็นงานอดิเรก ถ้าคุณเขียนบล็อกเต็มเวลา คนจะมองว่าคุณไม่ใช่บล็อกเกอร์ แต่เป็น “สื่อมืออาชีพที่ได้รับค่าตอบแทน” ดร.โรบินบอกว่า เนื่องจากสื่อเยอรมันมีเสรีภาพสูง มีคุณภาพและความหลากหลาย บล็อกเกอร์เยอรมันจึงต้องเขียนดีจริงๆ และหา “เรื่องเฉพาะด้าน” ที่ตัวเองสนใจจริงๆ (niche) ถึงจะได้รับความนิยม
ตอนที่ ดร.โรบิน ก่อตั้ง CARTA ใหม่ๆ เขาเคยทดลองจ่ายค่าตอบแทนคนที่มาเขียนบล็อกให้ (มีประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่ทำงานประจำเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สื่อ และไอที) แต่ไม่นานก็ล้มเลิกไปเพราะมี ต้นทุนธุรกรรมสูง (จ่ายเงินจำนวนทีละไม่มาก แต่ต้องจัดการจ่ายหลายคนและบ่อยครั้ง) และบล็อกเกอร์เหล่านั้นทุกคนก็มีงานประจำอยู่แล้ว ไม่ได้อยากเขียนบล็อกเพราะต้องการค่าตอบแทน
ดร.โรบินบอกว่าเขาไม่รู้สึกว่าการเขียนบล็อกจำเป็นจะต้องมีค่าตอบแทน เพราะคนเขียนได้ประโยชน์อย่างอื่น ตัวเขาเองใช้บล็อกเป็นพื้นที่ทดสอบความคิด พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอ่าน ยิ่งทำอย่างนั้นก็ยิ่งได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ รู้จักคนที่น่าสนใจมากมายจากกลุ่มผู้อ่าน และลับความคิดให้เฉียบคมยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยในงานประจำ (ที่ปรึกษา) ได้มาก นอกจากนี้การเขียนบล็อกยังสร้างรายได้เสริมทางอ้อม เช่น ด้วยการได้รับเชิญไปบรรยายตามอีเวนท์หรืองานสัมมนาต่างๆ
มุมมองของ ดร.โรบิน เรื่องประโยชน์ของการเขียนบล็อกไม่ต่างจากมุมมองของผู้เขียน (และเชื่อว่าเพื่อนร่วมคณะส่วนใหญ่) มากนัก แต่ที่น่าสนใจคือแกบอกว่า ชาวเยอรมันโดยทั่วไปเป็นนัก “อุดมคตินิยม” พอสมควร ดังนั้นจึงรู้สึกต่อต้านความพยายามที่จะหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จากบล็อกอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับในอเมริกาที่บล็อกเกอร์หลายคนมีรายได้จากการเขียนบล็อก (โฆษณาบนบล็อกหรือค่าธรรมเนียมจากผู้อ่าน) จนทำเป็นอาชีพได้
ประโยคเด็ดของ ดร.โรบิน —
“อินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องของแบรนด์ แต่มันเป็นเครือข่ายความคิด ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะพยายามโฆษณาว่าบล็อกของคุณสุดยอดยังไง เพราะถ้ามันไม่เจ๋งจริงคนอื่นก็จะไม่ลิงก์มาหา แต่ถ้าเจ๋งจริงคนอ่านจะพาคนอื่นมาพบกับคุณเอง”
ดร.โรบิน เมเยอร์-ลุกต์ แห่ง CARTA
ดร.โรบิน อธิบายวงการบล็อกเกี่ยวกับการเมืองในเยอรมนีว่าค่อนข้างมีสีสันและหลากหลาย บล็อกแนวการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Netzpolitik ส่วน CARTA อยู่อันดับ 2 หรือ 3 เขาบอกว่าความนิยมของ CARTA มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าสื่อมวลชนในประเทศส่วนใหญ่ทำข่าวเกี่ยวกับการ “เล่นการเมือง” หรือ “นักการเมือง” (โดยเฉพาะการขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว) ไม่ค่อยทำข่าวเกี่ยวกับ “นโยบาย” ของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง ดังนั้น CARTA จึงพยายามเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับนโยบายเป็นหลัก เขาเชื่อว่าบล็อกสามารถเป็นส่วนสำคัญของการถกเถียงสาธารณะที่วงไม่ใหญ่มาก (ไม่แมส) แต่ถกกันเชิงลึกได้ ผู้อ่าน “วงเล็ก” ที่ติดตาม CARTA ไม่ใช่คนทั่วไปก็จริงแต่พบว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ มีอิทธิพลทางความคิด และสร้างผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายได้จริง เช่น คนทั่วไปอาจไม่สนใจนโยบายสื่อ แต่ผู้ดำเนินนโยบายสื่อที่ติดตามบล็อกเกอร์ที่เขียนเรื่องนี้บน CARTA จะอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันบนเว็บ
บล็อกเกอร์ที่เขียนให้ CARTA หลายคนอยากให้ ดร.โรบิน ช่วยเรียบเรียงเนื้อหาและ “พาดหัวข่าว” เพราะเนื้อหาดีที่มีพาดหัวเด่นย่อมดึงดูดความสนใจของคนอ่านมากกว่า และเพิ่มโอกาสที่สื่อกระแสหลักจะหยิบโพสนั้นไปทำข่าว ช่วยกระจายความคิดของบล็อกเกอร์ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง การ “ขยายเครือข่าย” จากบล็อกส่วนตัว สู่บล็อกกลุ่ม สู่เว็บสื่อกระแสหลักและสื่ออื่นๆ ตอนนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ดร.โรบินมองว่า เรากำลังเห็นการอุบัติขึ้นของ “ประชาคมเครือข่าย” (networked public) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ตัวอย่างน่าสนใจที่ชี้ให้เห็นวิธีทำงานของประชาคมเครือข่ายคือ เว็บไซต์ Guttenplag Wiki ซึ่งใช้วิกิ (ให้ทุกคนสร้างและแก้ไขเนื้อหาได้ตามใจชอบ) เป็นเครื่องมือเปิดโปงการขโมยเนื้อหาโดยไม่ให้เครดิต (plagiarism) ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงมากในสายตาคนเยอรมัน เว็บนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะผู้สร้างเว็บไม่เคยเปิดเผยตัวตนว่าคือใคร ในเยอรมนีปกติคนทำเว็บต้องเปิดเผยตัวตนก่อน คนถึงจะเชื่อถือและมาร่วมมือด้วย
โอเล็กจากยูเครนบอกว่าบล็อกเกอร์ทั่วไปไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรอก เป็นแค่คนธรรมดาที่อยากแสดงความคิดเห็น เขาคิดว่า CARTA ไม่น่าจะเรียกว่า “บล็อก” แต่เป็น “วารสารเฉพาะทางบนเว็บ” มากกว่า ดร.โรบินตอบว่านิยามอาจแตกต่างกัน แต่ในเยอรมนีเรา (หมายถึงบล็อกเกอร์) อยู่ในสังคมที่นักข่าวส่วนใหญ่ยังมองว่าบล็อกเป็นเรื่องของมือสมัครเล่นหรือไร้สาระ ดังนั้นบล็อกเกอร์จึงต้องทำงานหนัก ทำการบ้านและพยายามสร้างเครือข่ายตลอดเวลาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
กรรมาธิการศึกษา “อินเทอร์เน็ตกับสังคมดิจิตอล”
หลังจากที่ได้ยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย เราก็พบกับ เอเซล ฟิชเชอร์ (Axel Fischer) ประธานคณะกรรมาธิการซึ่งรัฐสภาเยอรมันแต่งตั้งให้ทำการศึกษาเรื่อง “อินเทอร์เน็ตกับสังคมดิจิตอล” ครอบคลุมหัวข้อมากมายตั้งแต่เรื่อง net neutrality, การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต, การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ เขาสรุปให้ฟังว่าคณะกรรมาธิการนี้มีสมาชิก 34 คน ครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกสภา อีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ซึ่งรวมถึงบล็อกเกอร์บางคนด้วย กำหนดส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ปีหน้า (2012)
การศึกษาเรื่องนี้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเวทีข้อมูลที่เสรีนิยมที่สุดในโลก รัฐสภาอยากรู้ว่าแนวโน้มของอินเทอร์เน็ตจะเป็นอย่างไรในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ท่านประธานเองอยากรู้ว่ามีรัฐสภาประเทศอื่นอีกหรือไม่ที่กำลังทำการศึกษาลักษณะนี้ พวกเราผลัดกันตอบ รายละเอียดต่างกันแต่มีใจความเดียวกันคือ รัฐสภาของประเทศเรานอกจากจะไม่ศึกษาเรื่องอนาคตของอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังปิดกั้นอินเทอร์เน็ตและมองว่ามันเป็น “พื้นที่อันตราย” ที่ต้องควบคุมอีกด้วย
ทาเร็กจากตูนีเซียเล่าอย่างสนุกสนานว่า ประเทศของเขาก่อนการปฏิวัติประชาชนเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตอย่างมโหฬาร หลังจากที่ขับไล่ผู้นำประเทศได้สำเร็จแล้วตอนนี้ก็ไม่เซ็นเซอร์อะไรเลย ตลกร้ายคือรัฐบาลเผด็จการลงทุนมหาศาลกับอินเทอร์เน็ต เพราะอยากนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเองต่อสายตาชาวโลก แต่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศ และประท้วงขับไล่เผด็จการจนสำเร็จในที่สุด
ประธานกรรมาธิการแลกเปลี่ยนว่า รัฐบาลไม่เซ็นเซอร์การแสดงออก (speech) อะไรในอินเทอร์เน็ต นอกจากว่าคุณจะทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ยอมรับว่าเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประณามคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยเจตนาเกลียดชัง (hate speech) หรือปลุกระดมผู้คนให้จับอาวุธก่อความรุนแรง เขาบอกว่าความท้าทายข้อสำคัญสำหรับผู้ดำเนินนโยบายคือ อินเทอร์เน็ตไร้พรมแดนแต่กฎหมายมีขอบเขต ดังนั้นจึงต้องคิดว่าจะประยุกต์ใช้กฎหมายอย่างไรและแค่ไหน เพราะกฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่น องค์กรหัวรุนแรงอย่างนีโอนาซีนั้นผิดกฎหมายเยอรมนี แต่ไม่ผิดกฎหมายอเมริกา รัฐบาลเยอรมันทำอะไรได้หรือไม่ หากนีโอนาซีชาวอเมริกันโพสข้อความที่ผิดกฎหมายเยอรมันบนเว็บไซต์ที่โฮสในอเมริกา เหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดและรับมือให้ได้ในอนาคต
หลังจากที่ฟังพวกเราเล่ากรณีการคุกคามผู้ใช้เน็ตในประเทศของเราแต่ละคน ประธานก็กล่าวว่า “เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลนั้นจำเป็นสำหรับประชาธิปไตยเกิดใหม่ รัฐบาลไม่ควรจับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเข้าคุก” และเสนอว่าพวกเราควรเรียกร้องให้ในสังคมมีสื่อที่หลากหลาย ยิ่งหลากหลายเท่าไรยิ่งดี ในแง่นี้อินเทอร์เน็ตมีศักยภาพสูงมาก (ในฐานะพื้นที่สื่อที่หลากหลายโดยธรรมชาติ) ไม่ควรปล่อยให้เกิดสถานการณ์ที่สื่อทั้งหมดถูกครอบงำโดยคนกลุ่มเดียว ตัวอย่างที่ชัดมากคือ แบร์ลุสโคนี นายกตลอดกาลของอิตาลี ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวอิตาลีจำนวนมากส่วนหนึ่งเพราะปิดกั้นสื่อที่คิดต่าง และใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างภาพให้ตัวเอง ถึงแม้ว่าจะถูกเปิดโปงว่าโกงกินมาแล้วมากเพียงใด
อาหารเที่ยงมื้อนี้อร่อยมาก เดาว่าครัวของรัฐจัดการมื้อนี้เพราะเรามาประชุมที่ตึกราชการทั้งวัน ทำแซนด์วิชเปิดหน้าต่างๆ ให้เลือกรับประทาน หน้าบลูชีสอร่อยเป็นพิเศษ (สงสัยจะติดใจบลูชีสเยอรมันเสียแล้ว) สมาชิกคณะกรรมาธิการบางท่านอยู่รับประทานอาหารกับเราด้วย ผู้เขียนชอบคุณ มานูเอล โฮเฟอร์ลิน (Manuel Höferlin) มาก นอกจากจะเป็นนักการเมืองหนุ่ม (อายุไม่น่าเกิน 40) หัวลิเบอรัลแล้ว ยังชอบเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เพื่อน ส.ส. ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้ไอแพดมา ชอบมันมากเพราะช่วยประหยัดกระดาษไปได้หลายปึก (ปกติเวลาประชุมสภาจะต้องหิ้วกระเป๋าหนักที่เต็มไปด้วยเอกสารประกอบต่างๆ) วันหนึ่งเลยยุให้เพื่อน ส.ส. คนหนึ่งที่ต้องกล่าวสุนทรพจน์ในสภาอ่านสุนทรพจน์ของเขาจากไอแพด ไม่ต้องอ่านจากกระดาษ
ปรากฏว่ากลายเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะรัฐสภาบุนเดสตากมีกฎห้ามไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์ในสภา ก็เลยต้องมาถกเถียงกันว่าตกลงไอแพดเข้าข่าย “คอมพิวเตอร์” หรือไม่ สุดท้ายตกลงกันแก้กฎ ยอมให้ ส.ส. ใช้ “แท็บเล็ตพีซี” ได้ แต่ต้องไม่ต่อแป้นคีย์บอร์ด
สื่อของรัฐสภา และกฎหมายข้อมูลข่าวสารของรัฐ
การบรรยายช่วงบ่ายเริ่มต้นโดย คลอส ฮินเดอร์ไลท์เนอร์ (Claus Hinterleitner) เจ้าหน้าที่สำนักสื่อของรัฐสภา เล่าให้ฟังว่าตอนนี้บุนเดสตากมีทั้งเว็บไซต์ ทั้ง RSS feed ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และตีพิมพ์วารสารซึ่งอัพเดทกิจกรรมทางการของ ส.ส. ทั้งหมด รวมทั้งสรุปบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการต่างๆ (คณะกรรมาธิการประชุมในห้องประชุมลับ ไม่เปิดให้ประชาชนหรือสื่อเข้าฟัง) สื่อเหล่านี้เป็นช่องทางให้นักข่าวและใครก็ตามที่สนใจสามารถติดตามการทำงานของสภาได้
ในปี 2006 สภาเยอรมนีผ่านกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างหลวม คือใครจะขอข้อมูลทางการอะไรก็ได้ที่ไม่ประทับตราว่า “ลับ” ปัญหาหลักตอนนี้อยู่ที่การปฏิบัติมากกว่า ไม่ใช่ตัวกฎหมาย คือเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่แค่งานประจำวันก็ยุ่งมากอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมักจะไม่มีเวลามารวบรวมและนำส่งข้อมูลที่คุณต้องการอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าคุณไม่พอใจกับข้อมูลที่ได้รับ ก็ไปยื่นข้อเรียกร้องกับเจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงได้
กรอบกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการสื่อสารออนไลน์
การบรรยายช่วงสุดท้ายของวันนี้เป็นช่วงที่ผู้เขียนชอบที่สุด เพราะได้เรียนรู้ประเด็นน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับกฎหมายเยอรมันที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่หลักคิดจนถึงวิธีตีความของศาล และความแตกต่างระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐอเมริกาในแง่นี้ ต้องขอขอบคุณคุณ ยาน โมนิคส์ (Jan Mönikes) ทนายความและบล็อกเกอร์ ที่มาให้ความรู้อย่างกระจ่างหลายเรื่อง ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับหลักการบางประเด็นของกฎหมายเยอรมันก็ตาม โดยเฉพาะ หลัก “การทำร้ายบุคคล” (harm to person) ซึ่งมอง “ศักดิ์ศรี” ว่าเป็นส่วนสำคัญของบุคคล ดังนั้นจึงมองว่าการดูหมิ่นศักดิ์ศรีด้วยวาจานั้นคือการ “ทำร้าย” ไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกาย (นี่คงเป็นเหตุผลหลักที่การหมิ่นประมาทในเยอรมนีเป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีแพ่ง)
ยาน โมนิคส์
ผู้เขียนสรุปประเด็นที่น่าสนใจจากการบรรยายของคุณยานได้ดังต่อไปนี้ ใครสนใจสามารถดูสไลด์ทั้งชุดได้ที่ โพสนี้บนบล็อกของคุณยาน
1. เยอรมนีไม่มีกฎหมายอะไรที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” กฏหมายที่เทียบเท่าชื่อ Grundgesetz ประกาศใช้หลังยุคเผด็จการฮิตเลอร์ แนวคิดหลักคือ จะต้องป้องกันไม่ให้ระบอบเผด็จการเกิดในเยอรมนีอีก เพราะระบอบนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนและสูญเสียมหาศาล คนตายหลายสิบล้านคนในสงครามโลก
2. กฎหมายเยอรมันไม่มองสื่อมวลชนว่าเป็น “สถาบัน” เหมือนกับประเทศอื่น การคุ้มครองสื่อในกฏหมายนับเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ฉะนั้นนักข่าวเยอรมันจึงไม่มี “บัตรนักข่าว” ที่เป็นทางการ วันนี้นักข่าวเยอรมันบางคน (ที่ไม่ชอบบล็อกเกอร์เพราะมองว่าไร้สาระหรือเป็นมือสมัครเล่น) อ้างว่าสื่ออาชีพมีสิทธิพิเศษตามกฎหมาย แต่ที่จริงไม่ใช่ ข้ออ้างนี้ไม่มีพื้นทางกฎหมายใดๆ เลย
3. มีกฎหมายอีกหลายตัวที่ใช้กับอินเทอร์เน็ตด้วย เช่น กฎหมายโทรคมนาคม (ซึ่งเป็นกฎหมายระดับชาติ ไม่ใช่ระดับรัฐ บางทีมีปัญหาว่าควรใช้กฎหมายระดับรัฐหรือชาติในการจัดการกับเรื่องผิดกฎหมายในเน็ต) กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว กฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์ กฎหมายสื่อ และกฎหมายการแข่งขัน
4. ทุกคน (รวมทั้งบล็อกเกอร์) ต้องเปิดเผยให้ชัดเจนว่ากำลังทำ “พีอาร์” หรือ “ทำข่าว” ไม่อย่างนั้นอาจละเมิดกฎหมายการแข่งขันได้ เพราะกฎหมายนี้ระบุว่าผู้บริโภคจะต้องตระหนักว่ากำลังดูหรืออ่านโฆษณาอยู่หรือไม่ ดังนั้นวิธีการใหม่ๆ เช่น การตลาดไวรัล (viral marketing หมายถึงการทำการตลาดให้แพร่กระจายในเน็ตโดยผู้ใช้เน็ตปากต่อปาก เช่น ทำคลิปวีดีโอบนยูทูบ) จะต้องบอกอย่างชัดเจนว่าบริษัทเป็นคนทำ (กฎหมายนี้หลักการดี บ้านเราน่าจะเลียนแบบ ;))
5. ธรรมชาติที่ลื่นไหลและยืดหยุ่นมากของเว็บก่อให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทและสิทธิของสื่อ กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ เว็บสื่อกระแสหลักรายหนึ่งของเยอรมนีติดโปรแกรมเรทติ้ง เพื่อให้คนเข้าเว็บให้คะแนนโรงแรม ฯลฯ ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ กลายเป็นทราเวลเอเยนซีขนาดใหญ่ในยุโรป ไม่ใช่ “สำนักข่าว” แบบดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว
6. กฎหมายสื่อของเยอรมนีค่อนข้างซับซ้อน มีทั้งกฏสำหรับสื่อโดยทั่วไป และกฏเฉพาะสำหรับสื่อเฉพาะด้าน จุดหมายหลักคืออยากให้มีความหลากหลายและกำกับดูแลกันเองด้วยการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น สื่อโทรทัศน์แบบ HBO ของอเมริกาเกิดในเยอรมนีไม่ได้ เพราะเป็นเจ้าของทั้งระบบและเนื้อหา กฎหมายเยอรมันบอกว่าสองอย่างนี้ต้องแยกกัน ผู้ผลิตเนื้อหาจะมีเจ้าของเดียวกันกับผู้วางระบบไม่ได้
7. หลักกฎหมายอาญาของเยอรมันมอง “การทำร้ายบุคคล” ว่ารวมถึงการทำร้ายด้วยวาจาด้วย กฎหมายคุ้มครองเฉพาะการทำร้าย “บุคคล” ไม่ห้ามการทำร้าย “รัฐ” ด้วยวาจา ยกเว้นเพียงกรณีเดียวเท่านั้นคือ การปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว (Holocaust denial) เพราะชาวเยอรมันผ่านประสบการณ์เลวร้ายช่วงนั้นมาอย่างเจ็บปวด ไม่อยากฟังคนที่อ้างว่าเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น
ประธานาธิบดีได้รับการคุ้มครองจากการถูกทำร้ายเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์คือฮิตเลอร์เคยโจมตีประธานาธิบดีในช่วงที่ประเทศเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ แต่ประธานาธิบดีตอบโต้ไม่ได้
8. ความแตกต่างระหว่าง “ความเห็น” กับ “หมิ่นประมาท” ไม่ชัดเจนเสมอไป เช่น ประโยค “แกมันไอ้เลว” อาจเป็นทั้งความเห็นและวาจาหมิ่นประมาทก็ได้ ปกติศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าเข้าข่ายไหน
9. กฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์เขียนขึ้นบนหลัก “การทำร้ายบุคคล” เช่นเดียวกัน ดังนั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่วิธีทำระเบิดจึงผิดกฎหมายเยอรมัน (เพราะเด็กเข้าไปอ่านได้) เนื้อหาลามกอนาจารก็ผิดกฎหมายถ้าผู้เยาว์ในเนื้อหานั้น “ดูเหมือนว่า” จะอายุต่ำกว่า 18 ปี – ไม่ต้องพิสูจน์ว่าอายุ 18 จริงหรือไม่ แค่ “ดูเด็ก” ก็ผิดกฎหมายได้แล้ว คุณยานบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้เพราะใครจะไปรู้ว่าคนในรูปอายุเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเด็กสาวจากเอเชียยิ่งดูยากสำหรับคนเยอรมัน
คนเยอรมันไม่ค่อยมีปัญหากับเนื้อหาลามกอนาจาร แต่มีปัญหากับ Holocaust denial กับความรุนแรงที่เกินเลย (เข้าข่าย “เนื้อหาที่ทำร้าย” เด็ก)
10. กฎหมายระบุว่าผู้เผยแพร่เนื้อหา (เช่น เจ้าของเว็บ หรือบรรณาธิการเว็บข่าว) ต้องเปิดเผยตัวตนว่าเป็นใคร แต่ผู้ใช้เน็ตและบล็อกเกอร์ (“ผู้สร้างเนื้อหา”) สามารถโพสแบบนิรนามได้
11. การเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมายอาจผิดกฎหมายเยอรมัน ตรงนี้ต่างจากอเมริกา กฎหมายอเมริกัน (Computer Decency Act) คุ้มครองผู้เผยแพร่เนื้อหา (ไม่ต้องรับผิดด้วย) ก็จริง แต่ข้อเสียคือคนที่กล่าวหาสามารถบังคับให้คุณ (ถ้าคุณเผยแพร่) เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้สร้างเนื้อหานั้นๆ คุณยานบอกว่าเขาชอบระบบเยอรมันมากกว่า
12. ความแตกต่างทางวัฒนธรรมทำให้เนื้อหาที่นับว่า “หมิ่นประมาท” ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น มีคำสองคำในภาษาเยอรมันที่แปลว่า “คุณ” คือ Sie (แบบสุภาพ ทำนอง “ท่าน”) กับ du (แบบสุภาพน้อยกว่า ทำนอง “เธอ” หรือ “แก”) ในเยอรมนีถ้าคุณใช้คำว่า du กับนายกรัฐมนตรี เธออาจฟ้องคุณในข้อหาหมิ่นประมาทได้ (เพราะเป็นคำที่ “ทำร้ายศักดิ์ศรี”) แต่ในฮอลแลนด์ หลายปีก่อนชาวดัทช์ตัดสินใจทิ้ง Sie จากสารบบ ใช้แต่คำว่า du เป็นสรรพนามแทน
13. ด้านการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว กฎหมายเยอรมันไม่ห้ามการแอบถ่ายรูปหรือวีดีโอ (100 ปีก่อนคงไม่คิดว่าใครจะทำได้) ห้ามแต่การแอบอัดเสียง แต่ถ้าแอบถ่ายใน “พื้นที่ส่วนตัว” จะผิดกฎหมาย เช่น ถ้าคุณแอบถ่ายรูปใครในห้องแต่งตัวแล้วเอาไปเผยแพร่ ยกเว้นคุณจะพิสูจน์ได้ว่าการแอบถ่ายนั้นเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ”
หลักการที่ดีมากคือ ประโยชน์สาธารณะอาจไม่ตรงกับความสนใจของคนอ่าน(สื่อ) ก็ได้ เช่น ถ้าคุณแอบถ่ายรูปคนดังอย่างปารีส ฮิลตัน มันอาจเป็นสิ่งที่คนอ่านหนังสือพิมพ์ของคุณอยากได้ แต่มันไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะแน่ๆ
14. คดีแพ่งในเยอรมนีทุกรูปแบบ ฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ต่างจากในอเมริกาที่คนฟ้องอย่างน้อยต้องออกค่าทนายเองอย่างน้อยส่วนหนึ่ง ทำให้คนจำนวนมากไม่อยากฟ้อง ตรงนี้คุณยานมองว่า สะท้อนให้เห็นว่าที่จริงคนเยอรมันมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนอเมริกัน คนทั่วไปมักจะมองว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพที่สุด แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะคนมีอิสรภาพ (ความสามารถที่จะใช้เสรีภาพ) น้อยกว่าคนเยอรมัน
ตอนนี้ในเยอรมนีการถกเถียงเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขอบเขตอำนาจ (jurisdiction) คุณภาพของบล็อกเกอร์ นักการเมืองบางคนมีแนวคิดที่จะทำ “great firewall” แบบจีน (แต่กระทรวงยุติธรรมก็ออกมาพูดแล้วว่าแนวคิดนี้ไม่มีทางออกมาเป็นกฎหมายหรอก)
คุณยานปิดท้ายว่า ตัวเขาเองเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่สนับสนุนให้ลูกความที่เป็นนักการเมืองฟ้องบล็อกเกอร์ในข้อหาหมิ่นประมาทหรือ hate speech เพราะบล็อกเกอร์ควรเข้าใจว่าตัวเองมีบทบาทที่สำคัญ และควรจะเขียนบล็อกอย่างรับผิดชอบ
(เขาแอบกระซิบว่า คดีหมิ่นประมาทในเยอรมนีไม่เลวร้ายอย่างที่คิดหรอก เพราะมีโทษจำคุกก็จริงแต่ส่วนใหญ่สุดท้ายก็รอลงอาญา)
โปรดติดตามตอนต่อไป.