เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 5

[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]

Blogger Tour 2011
วันที่สี่: 8 เมษายน 2554

ดีใจในที่สุด jet lag ก็หาย เพราะตื่นหกโมงเช้าได้ตามเวลาตื่นปกติแล้ว

หลังจากที่ไปไหนต่อไหนและรับประทานอาหารแทบทุกมื้อร่วมกันตลอดสามวัน พลพรรคในคณะเราก็เริ่มสนิทสนมกัน พูดคุยหยอกล้อ แลกรูปถ่าย ลิงก์คลิปวีดีโอ ข้อมูลต่างๆ บนเฟซบุ๊กอย่างสนุกสนาน หลายคนเริ่มเขียนบล็อกเล่าทริปนี้แล้ว และใช้ Google Translate เพื่อพยายามทำความเข้าใจกับบล็อกของเพื่อนๆ (อิมานจากอินโดนีเซียเดินมาทักว่า เมื่อวานเขาใช้ Google Translate แปลบล็อกของผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ พอรู้เรื่องคร่าวๆ และบอกว่าบล็อกสนุกดี ผู้เขียนคิดว่า โพสของอิมานเกี่ยวกับการมาเยือนเยอรมนีก็สนุกดีเหมือนกัน)

ก่อนที่พวกเราจะออกเดินทาง ลิซ่าบอกว่าวันนี้เคเจป่วย วันนี้ขอพักผ่อน พวกเราบางคนตั้งข้อสังเกตว่าเธออาจถูกรัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้ออกไปประชุมวันนี้ จะได้ไม่ต้องตอบคำถามของกรรมาธิการเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน(ซึ่งแย่มาก)ในจีน (เพราะถ้าเขารู้ว่ามีคนจากประเทศจีน เขาต้องถามแน่เลย) ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของสื่อทั้งหมดในประเทศ ยกเว้นบล็อกต่างๆ ในเน็ต เคเจไม่ได้เป็นบล็อกเกอร์อย่างเดียวแต่ทำงานประจำให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่เธอก็อาจไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจริงๆ ก็ได้ แต่เกรงใจไม่กล้าบอกเจ้าภาพว่าไม่อยาก เลยเลี่ยงไปบอกว่าป่วย

ปรากฏว่าตอนเย็นเรามารู้ความจริงว่าเคเจป่วยเป็นไข้หวัดจริงๆ รู้สึกแย่ไปเลย พวกชอบคิด(มาก)เวลาอยู่ด้วยกันก็จะมีทฤษฎีโน่นนี่นั่นโผล่มาเต็มไปหมด ไม่เกี่ยงว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก 🙂

กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเยอรมัน

ช่วงเช้าวันนี้เราเดินทางไปพบคุณ มาร์คัส โลนิง (Markus Löning) กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของเยอรมนี ที่อาคารสำนักงานของกระทรวงการต่างประเทศ เขาแนะนำตัวว่า รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งเขาก็จริง แต่เขาก็มีอิสรภาพในการทำงาน จะเดินทางไปประเทศไหนเมื่อไรก็ได้


[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]

Blogger Tour 2011
วันที่สี่: 8 เมษายน 2554

ดีใจในที่สุด jet lag ก็หาย เพราะตื่นหกโมงเช้าได้ตามเวลาตื่นปกติแล้ว

หลังจากที่ไปไหนต่อไหนและรับประทานอาหารแทบทุกมื้อร่วมกันตลอดสามวัน พลพรรคในคณะเราก็เริ่มสนิทสนมกัน พูดคุยหยอกล้อ แลกรูปถ่าย ลิงก์คลิปวีดีโอ ข้อมูลต่างๆ บนเฟซบุ๊กอย่างสนุกสนาน หลายคนเริ่มเขียนบล็อกเล่าทริปนี้แล้ว และใช้ Google Translate เพื่อพยายามทำความเข้าใจกับบล็อกของเพื่อนๆ (อิมานจากอินโดนีเซียเดินมาทักว่า เมื่อวานเขาใช้ Google Translate แปลบล็อกของผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ พอรู้เรื่องคร่าวๆ และบอกว่าบล็อกสนุกดี ผู้เขียนคิดว่า โพสของอิมานเกี่ยวกับการมาเยือนเยอรมนีก็สนุกดีเหมือนกัน)

ก่อนที่พวกเราจะออกเดินทาง ลิซ่าบอกว่าวันนี้เคเจป่วย วันนี้ขอพักผ่อน พวกเราบางคนตั้งข้อสังเกตว่าเธออาจถูกรัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้ออกไปประชุมวันนี้ จะได้ไม่ต้องตอบคำถามของกรรมาธิการเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน(ซึ่งแย่มาก)ในจีน (เพราะถ้าเขารู้ว่ามีคนจากประเทศจีน เขาต้องถามแน่เลย) ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของสื่อทั้งหมดในประเทศ ยกเว้นบล็อกต่างๆ ในเน็ต เคเจไม่ได้เป็นบล็อกเกอร์อย่างเดียวแต่ทำงานประจำให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่เธอก็อาจไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจริงๆ ก็ได้ แต่เกรงใจไม่กล้าบอกเจ้าภาพว่าไม่อยาก เลยเลี่ยงไปบอกว่าป่วย

ปรากฏว่าตอนเย็นเรามารู้ความจริงว่าเคเจป่วยเป็นไข้หวัดจริงๆ รู้สึกแย่ไปเลย พวกชอบคิด(มาก)เวลาอยู่ด้วยกันก็จะมีทฤษฎีโน่นนี่นั่นโผล่มาเต็มไปหมด ไม่เกี่ยงว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก 🙂

กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเยอรมัน

ช่วงเช้าวันนี้เราเดินทางไปพบคุณ มาร์คัส โลนิง (Markus Löning) กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของเยอรมนี ที่อาคารสำนักงานของกระทรวงการต่างประเทศ เขาแนะนำตัวว่า รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งเขาก็จริง แต่เขาก็มีอิสรภาพในการทำงาน จะเดินทางไปประเทศไหนเมื่อไรก็ได้

คุณมาร์คัสขอให้เราเล่าเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และขอความเห็นว่าเยอรมนีควรทำอะไร พวกเราแต่ละคนจึงผลัดกันเล่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อหรือผู้ใช้เน็ตในประเทศของตัวเองให้ฟัง (“สื่อ” หรือ “ผู้ใช้เน็ต” แล้วแต่ว่าคนเล่าเป็นนักข่าวหรือบล็อกเกอร์มากกว่ากัน)

แม้ว่าจะมาจากหลายประเทศที่หลากหลาย พวกเราก็มีสิ่งที่เหมือนกันมากมาย ผู้เขียนคิดว่าไม่มีช่วงเวลาใดที่ความเหมือนระหว่างเราปรากฏชัดเท่ากับตอนเข้าพบคุณมาร์คัส

มาร์คัส โลนิง
มาร์คัส โลนิง กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน

วิคเตอร์เล่าว่า ในโรมาเนียมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่นักข่าวอาจถูกเจ้าของสื่อหมายหัวและใส่ชื่อใน “แบล็กลิสต์” ได้ ถ้าเกิดไปทำข่าวที่กระทบต่อผลประโยชน์ของเจ้าของสื่อ (บัลแกเรียยังอยู่ใต้ระบอบ “คณาธิปไตย” ถึงแม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยบนกระดาษก็ตาม นักธุรกิจผูกขาดและกึ่งผูกขาดมีอิทธิพลสูงมาก คล้ายกับในประเทศไทย) ปัญหาคือเจ้าของสื่อ (ซึ่งเป็นนักธุรกิจพันล้าน) มีผลประโยชน์มากมายหลากหลาย นักข่าวไม่มีทางรู้ได้ว่าข่าวที่เขาทำจะไปกระทบหรือไม่ บางครั้งเจ้าของสื่อก็ “ใช้” นักข่าวเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ในการเลือกตั้งปีกลาย เจ้าของสื่อใช้นักข่าวทำข่าวต่อต้านประธานาธิบดี พอพวกเขาแพ้การเลือกตั้งก็ไล่นักข่าวออก

อิวานจากบัลแกเรียเสริมว่า สถานการณ์ของเขาคล้ายกับในโรมาเนีย ประเด็นคือสื่อตอนนี้ประสบปัญหาทางการเงิน จำเป็นจะต้องรับเงินจากใครก็ตามที่ให้เงิน เยอรมนีควรบอกรัฐบาลของประเทศเขาและประเทศอื่นๆ ด้วย ให้ทำตัวตามกฎกติกา ลำพังการ “บอกแบบนักการทูต” (คือไม่พูดตรงๆ) ใช้ไม่ได้ผลเพราะไม่ทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าถูกกดดันแต่อย่างใด

โอเล็ก อดีตวิศวกรผู้ผันตัวมาเป็นบล็อกเกอร์และปัจจุบันเป็นนักข่าวอาชีพไปแล้ว บอกว่าในยูเครนสื่อกว่าร้อยละ 40 เข้าข้างรัฐบาลปัจจุบัน เขาทำงานให้กับสื่อทางเลือกที่ได้ทุนสนับสนุนจากต่างชาติ อย่างน้อยแบบนี้ก็ทำให้เรามีเสรีภาพที่จะเขียนในสิ่งที่อยากเขียน รัฐบาลยูเครนพยายามโฆษณาชวนเชื่อและดิสเครดิตพวกเรา กล่าวหาว่าเป็นพวก “กินเงินให้เปล่า” (เขาใช้คำว่า grant eaters) – คงคล้ายกับในไทยที่หลายครั้งเอ็นจีโอถูกกล่าวหาว่า “รับเงินต่างชาติ” ซึ่งถึงแม้ว่าจะจริง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาทำงานห่วยหรือดีแต่อย่างใด น่าเศร้าที่การดิสเครดิตแบบ “มักง่าย” โดยไม่แตะต้องเนื้อหาสาระยังใช้ได้ผลในเมืองไทย

ซาโบชบอกว่า ในฮังการีสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงคือกฎหมายสื่อฉบับใหม่ ซึ่งให้อำนาจรัฐค่อนข้างมาก ที่กังวลก็เพราะมีเจ้าพ่อสื่อคนสำคัญอยู่เบื้องหลังรัฐบาลปัจจุบัน เกรงว่าเขาอาจใช้กฎหมายฉบับนี้คุกคามคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลได้

แซมมวล บล็อกเกอร์จากสโลวาเกีย บอกว่าตัวเขาเองไม่ค่อยกลัวว่าจะถูกคุกคาม เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเคยขู่ว่าจะฟ้องเขาเมื่อสองปีก่อน แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปัญหาใหญ่ในสโลวาเกียคือรัฐบาลปากว่าตาขยิบ มีกฎหมายสื่อแต่ไม่เคยทำตัวตามนั้นอย่างจริงจัง

คุณมาร์คัสให้ความเห็นว่า ที่จริง Copenhagen Criteria (ชุดหลักเกณฑ์ที่ประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต้องผ่าน ถึงจะเป็นสมาชิกได้) กำหนดเกณฑ์เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนชัดเจน ปัญหาคือเรายังไม่มีกลไกอะไรที่จะบังคับให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้จริงๆ

วลาดาบอกว่า ในมอลโดวามีสถานีโทรทัศน์ระดับชาติ 4 สถานี เราไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ที่จริงก็พอเดาได้ เพราะพรรคการเมืองใหญ่มี 4 พรรค เนื้อหาในแต่ละช่องจะโจมตีพรรคที่ไม่ใช่พรรคเจ้าของ คนดูก็เลยได้รับรู้ข้อมูลจากทุกด้าน เป็นการแข่งขันที่ดี

อาลีบอกว่าอาเซอร์ไบจันมีปัญหามาก โทรทัศน์ทุกช่องพูดเหมือนกันหมดคือเวอร์ชันทางการ ตอนนี้ประชาชนติดเคเบิลกันค่อนข้างมาก จะได้ดูข่าวจากรัสเซีย ตุรกี ฯลฯ แทน บล็อกเกอร์ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนรัฐบาลถูกคุกคามและจับเข้าคุก มาร์คัสบอกว่ารัฐบาลของเขากำลังติดตามสถานการณ์ในอาเซอร์ไบจันอย่างใกล้ชิด และที่จริงก็เคยเตือนรัฐบาลอาเซอร์ไบจันแล้ว แต่รัฐบาลไม่แคร์เพราะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล (รวยง่าย เลยไม่ต้องแคร์สื่อ) การมีทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เหลือเฟือทำให้อาเซอร์ไบจันแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน (ที่แคร์สื่อและสายตานานาชาติมากกว่า) ส่วนตัวเขาคิดว่าอาเซอร์ไบจันควรถูกระงับสมาชิกภาพชั่วคราวจาก Council of Europe

อาลีมองคล้ายกับอิวานว่าเยอรมนีควรเลิกใช้ภาษานักการทูต สื่อสารอย่างตรงไปตรงมากว่าเดิม เช่น ออกแถลงการณ์ เพราะรัฐบาลอาเซอร์ไบจันก็แคร์ภาพลักษณ์ตัวเองเหมือนกัน ใช้เงินสร้างภาพเยอะมาก ถ้าใช้แต่ภาษาทางการทูตก็จะไม่รู้สึก

ทาเร็ก ผู้มาจากตูนีเซีย “บ่อเกิด” ของกระแสการประท้วงจากโลกออนไลน์สู่โลกจริงในอาหรับ บอกว่าตอนนี้ปัญหาหลักในประเทศเขาคือ 1. โครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อ ยกตัวอย่างเช่น เบอร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาวของอิตาลี พยายามจัดตั้งช่องเอกชนในตูนีเซีย แต่กระบวนการขาดความโปร่งใสอย่างสิ้นเชิง และ 2. นักข่าวในตูนีเซียยังถามคำถามโง่ๆ อยู่ เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ทุกอย่างในตูนีเซียถูกเซ็นเซอร์ คุณมาร์คัสตอบว่าคุณต้องสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในวงการสื่อให้ได้ และให้สื่อมีความหลากหลาย บล็อกเกอร์ก็เป็นส่วนสำคัญในแง่นี้ การแข่งขันจะช่วยให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้

อาลิเชอร์เล่าว่าปัญหาในคาซักสถานคล้ายกับอาเซอร์ไบจัน อินเทอร์เน็ตเป็น “หน้าต่างบานเล็กๆ” ที่เปิดให้คนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าอินเทอร์เน็ตสร้าง “ภาพลวงตา” ว่ามีเสรีภาพ แต่มันก็ยังไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง (เพราะผู้ใช้เน็ตยังถูกคุกคามได้ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย)

ผู้เขียนเล่าว่าปัญหาเรื่องเสรีภาพเน็ตในไทยมีรากมาจากปัญหาของตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ การตีความฐานความผิดแบบครอบจักรวาลของเจ้าหน้าที่รัฐ (และการที่ใครจะฟ้องใครก็ได้ว่าละเมิดมาตรา 112 โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิชี้แจงมูลความจริงของสิ่งที่พูด) ส่งผลให้ผู้ใช้เน็ตธรรมดาถูกจับกุมจำนวนมาก และเว็บไซต์ถูกปิดกั้นหลายหมื่นหรืออาจถึงแสนเว็บ ทั้งที่ผู้ใช้เน็ตหลายคนเพียงแต่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตต่อประเด็นสาธารณะ เว็บมาสเตอร์ก็ถูกดำเนินคดีด้วย รวมทั้งในกรณีที่ตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหาบุคคลที่สร้างเนื้อหา (ที่ตำรวจอ้างว่าผิดกฎหมาย) ผิดหลักการสากลของการคุ้มครอง “ตัวกลาง” (จนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่า “สมรู้ร่วมคิด” กับผู้โพส) อย่างชัดเจน

(อ่านสรุปปัญหาของตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายสองฉบับนี้ได้ที่ เว็บไซต์ 112 Awareness และเว็บไซต์ไอลอว์)

คุณมาร์คัสตั้งใจฟังพวกเรามาก และหลายเรื่องก็รู้สึกว่าแกรู้สถานการณ์คร่าวๆ ดีอยู่แล้ว รวมทั้งสถานการณ์ในไทยด้วย ระหว่างการประชุมเราก็อดไม่ได้ที่จะคุยเล่นกันบ้าง ผู้เขียนสะกดชื่อภาษาไทยให้อาลีกับวิคเตอร์ อาลีสะกดเป็นภาษาอารบิกให้ ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่าแต่ดูสวยดี 🙂

ชื่อและนามสกุลในภาษาอารบิก
ชื่อและนามสกุลของผู้เขียนในภาษาอารบิก (ปัจจุบันอาเซอร์ไบจันใช้ตัวอักษรอังกฤษ ก่อนหน้านั้นใช้ตัวอักษรรัสเซีย ตอนที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต)

อาหารกลางวันกับกรรมาธิการการสื่อสาร

วันนี้เราได้รับเกียรติเลี้ยงอาหารกลางวันโดยคุณ จุตตา ฟราช (Jutta Frasch) กรรมาธิการสำนักสื่อสารของกระทรวงการต่างประเทศ (นายใหญ่ของฝ่ายที่เชิญพวกเรามาเยือนเยอรมนี) ลิซ่าพาพวกเราไปผจญภัยเล็กๆ น้อยๆ นั่นคือ การขึ้นลิฟต์ไม้โบราณ

หลายคนคงแปลกใจว่าขึ้นลิฟต์นี่มันผจญภัยตรงไหน คำตอบคือลิฟต์ตัวนี้ไม่มีประตู เคลื่อนที่ขึ้นลงตลอดเวลา เข้าได้ทีละ 2 คน คนใช้ต้องกะจังหวะ เดินเข้าเดินออกเองเมื่อถึงชั้นที่ต้องการ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพดีมากแต่ก็หวาดเสียวพอสมควร

ลิฟต์ไม้ในกระทรวงการต่างประเทศ
ลิฟต์ไม้ในกระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน คุณจุตตาขอให้เราเล่าเรื่องเส้นทางบล็อกเกอร์ให้ฟัง ทำให้ได้รู้ว่าการเป็นบล็อกเกอร์ส่งผลกระทบไม่เหมือนกัน ผู้เขียนกับโอเล็กจัดอยู่ในคนกลุ่มน้อยที่โชคดี การเขียนบล็อกเปิดโอกาสสู่อาชีพใหม่ที่ชอบมากกว่าเดิม คือผู้เขียนกลายเป็นนักเขียน โอเล็กกลายเป็นนักข่าว โอเล็กบอกว่า อาชีพนักข่าวในเมืองหลวงของยูเครนนั้นรายได้ดีกว่าเป็นวิศวกรต่างจังหวัด (ซึ่งเขาเคยเป็น) ถึง 2 เท่า แต่คนอื่นโชคไม่ดีเท่าพวกเรา แซมมวล (สโลวาเกีย) กับอาลี (อาเซอร์ไบจัน) บอกว่าการเขียนบล็อกวิพากษ์วิจารณ์รัฐทำให้เขาไม่มีทางได้งานจากหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนจำนวนมาก (แต่ก็โชคดีที่ยังมีงานทำ)

หลังอาหารกลางวันเราออกไปเดินเล่นที่ระเบียงดาดฟ้าของอาคาร เจอศิลปะแปลกตา (ที่ไม่รู้ว่าทำให้ใครดู) วิคเตอร์ผู้มีอารมณ์ตลกร้ายที่เหลือร้ายตามแบบฉบับยุโรปตะวันออก บอกว่ารูปภาพสามรูปบนยอดเสาคือป้ายบอกจุดที่ควรกระโดดฆ่าตัวตาย พวกเราถ่ายรูปกลุ่มกันอย่างสนุกสนาน ท้าลมหนาวที่หนาวขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วันแรก

ศิลปะบนดาดฟ้า
ศิลปะแปลกตาบนดาดฟ้ากระทรวงต่างประเทศ

ขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อนออกเดินทางต่อ เจอป้ายอธิบายวิธีล้างมืออย่างถูกต้อง ละเอียดลออสมกับเป็นเยอรมัน เลยถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

วิธีล้างมืออย่างถูกต้อง
วิธีล้างมืออย่างถูกต้อง

ดอยช์ เวลล์ และ “สงครามสื่อโทรทัศน์ระดับโลก”

ตอนบ่ายเราไปเยือน ดอยช์ เวลล์ (Deutsche Welle) สื่อสาธารณะของเยอรมนี (คล้ายๆ บีบีซีของอังกฤษ) ได้คุยกับคุณ คริสตอฟ ลานซ์ (Christoph Lanz) ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ใช้ยี่ห้อ DW-TV เขาคุยสนุกดี เล่าความเป็นมาคร่าวๆ ของ “สงครามสื่อโทรทัศน์ระดับโลก” ในปัจจุบันให้ฟัง และอธิบายสรุปว่าสื่อทีวีระดับโลกค่ายต่างๆ ในสายตาของเขาเป็นอย่างไร

คริสตอฟ ลานซ์
คริสตอฟ ลานซ์ ผู้อำนวยการ DW-TV อธิบายภาพ “สงครามสื่อโทรทัศน์ระดับโลก”

คุณคริสตอฟเริ่มต้นด้วยการบอกว่า โลกทุกวันนี้เข้าสู่ยุค “หลายขั้ว” (multipolar) แล้ว ไม่ใช่ยุค “สองขั้ว” (bipolar) สมัยสงครามเย็นที่สื่อเลือกข้าง (ระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์) และโจมตีขั้วตรงข้าม ดังนั้นการทำงานของค่ายทีวีระดับโลกจึงเปลี่ยนไปมากแล้ว มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดันมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง

ที่น่าสนใจคือเขาบอกว่า CCTV ของรัฐบาลจีนเผยแพร่แต่ข่าวเวอร์ชันทางการของรัฐก็จริง (คนดูจะไม่มีทางได้เห็นรายงานเกี่ยวกับทิเบต หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้าขั้นรุนแรงในหลายพื้นที่) แต่อย่างน้อยช่องนี้ก็ไม่จงใจดูถูกหรือบิดเบือนความจริงเพื่อโจมตีประเทศอื่นเหมือนกับสื่อบางสำนัก เช่น Russia Today ของรัสเซีย ซึ่งตั้งใจต่อต้านอเมริกาเป็นหลัก

ช่องที่แย่มากในความเห็นของคุณคริสตอฟคือ PressTV ช่องภาษาอังกฤษของรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งนอกจากจะบิดเบือนความจริงแล้วยังโกหกหน้าตายด้วย เช่น ไม่ยอมรับว่าเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (คงเพราะไม่อยากเพิ่มคะแนนสงสารให้ยิว คู่แค้นตลอดกาลของโลกอาหรับมุสลิม) นอกจากนั้นผู้สื่อข่าวยังไม่เป็นมืออาชีพอย่างรุนแรง ปลุกระดมคนดู ฯลฯ

วิคเตอร์บอกว่ารู้ไหม ซีซีทีวีน่ะย่อมาจาก Close-Circuit TV (กล้องวงจรปิด) นะ เรียกเสียงฮาได้ทั้งห้อง 🙂

วงการสื่อทีวีระดับโลกมีเรื่องสนุกๆ เยอะดี ยกตัวอย่างเช่น ทีวีช่อง อารีรัง ของเกาหลีใต้ มีช่องภาษาอาหรับตั้งแต่ปี 1998! ถ้าใครสงสัยว่าทำไมเกาหลีใต้ถึงทำช่องภาษาอาหรับ คำตอบก็คือ เพราะบริษัทรับเหมาก่อสร้างของเกาหลีใต้แต่ละปีมีรายได้กว่า 12,000 ล้านเหรียญ จากโครงการในโลกอาหรับ ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีเหตุผลทางเศรษฐกิจและการทูตในการทำช่องอาหรับ คืออยากเอาใจคนอาหรับเพื่อช่วยให้บริษัทชาติตัวเองได้งาน

จากการพูดคุยกับคุณคริสตอฟ รู้สึกว่าเขายังไม่ค่อยเข้าใจสังคมอินเทอร์เน็ตเท่าไหร่ เขาถามพวกเราตรงๆ ว่า เคล็ดลับของบล็อกคืออะไรหรือ ช่องของเขาเคยจัดแคมเปญ เรียกร้องให้คนใช้เน็ตส่งคลิปวีดีโอเกี่ยวกับทริคการเดาะบอลสนุกๆ เข้ามา แต่ผลตอบรับไม่ดีเลย เขาถามว่าเป็นเพราะอะไร

พวกเราพยายามช่วยกันตอบว่า คนเล่นเน็ตเดี๋ยวนี้ดูทีวีน้อยลงมาก ใครๆ ก็อัดวีดีโอและอัพขึ้นยูทูบได้ ส่วนด้านคนดู บนเน็ตก็มีอะไรๆ ให้ดูมากมายเต็มไปหมด ดูแค่ยูทูบก็หมดเวลาแล้ว ฉะนั้นถ้าอยากได้เนื้อหาดีๆ ทีวีก็ต้องออกไปหาในเน็ตเอง ไม่ใช่เรียกร้องให้คนในเน็ตสร้างเนื้อหามาส่งให้กับทีวีโดยเฉพาะ ผู้เขียนยกตัวอย่างรายการ ครัวกากๆ โดย เชฟหมี ในไทย คือคนใช้เน็ตสร้างเนื้อหาเอง ถ้าเนื้อหาดี (ปกติแปลว่าฮามาก) พอมีคนมาดูมากๆ เข้า ทีวีก็จะมาเชิญไปออกทีวีเอง

ช่วงเย็นพวกเราเดินฝ่าลมหนาวไปที่ร้าน Habel Weinkultur ตามนัดกินข้าวเย็นและสังสรรค์กับบรรดาบล็อกเกอร์ชาวเยอรมัน แต่มีคนมาไม่กี่คน ส่วนใหญ่พวกเราคุ้นหน้าแล้วจากวันก่อนๆ เจ้าภาพคือลูเชียนขอโทษขอโพยใหญ่ บอกว่าตอนแรกมีคนรับปากเยอะ แต่ผู้เขียนว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคืนวันศุกร์เย็น ใครๆ น่าจะอยากไปสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนสนิทมากกว่าจะมาคุยกับคนแปลกหน้า (แถมยังไม่รู้จักกันบนเน็ตด้วย) แต่คนที่มาก็คุยสนุกดีจนลืมเวลา

คนที่นั่งคุยกับผู้เขียนอยู่นานสองนานชื่อโซเฟีย เป็นแฟนกับเจ้าหน้าที่พีอาร์อีกคนในบริษัทที่ดูแลโครงการนี้ให้รัฐบาล เธอบอกว่าคนเยอรมันเอาจริงเอาจังกับทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่การสนทนาบนโต๊ะอาหาร และทุ่มเทมากๆ กับเพื่อน ไม่เหมือนกับคนอเมริกันที่ไม่จริงจังเลย คนเยอรมันที่ไปอเมริกาหลายคนจะบ่นว่าไม่ได้มี “บทสนทนาที่มีความหมาย” กับใครสักเท่าไหร่ เธอเองต้องปรับตัวเยอะมากตอนไปอเมริกา เพราะไม่คุ้นกับการมีความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยและยืดหยุ่นแบบอเมริกัน นึกว่าตัวเองทำอะไรผิดทุกครั้งที่เจอคนทำเย็นชาปั้นปึ่งเหมือนไม่รู้จักกัน ทั้งที่คืนก่อนคุยกันอย่างถูกคอ

อาหารร้านนี้อร่อยดี โดยเฉพาะลูกอินทผลัมห่อเบคอน เลยถ่ายรูปอาหารเป็นที่ระลึกด้วย

ลูกอินทผลัมห่อเบคอน
ลูกอินทผลัมห่อเบคอน (มุมซ้ายบน)

ผู้เขียนคิดว่าถ้าคนไทยจริงจังแบบเยอรมันกว่านี้น่าจะดี ส่วนคนเยอรมันก็น่าจะทำตัวสบายๆ แบบคนไทยบ้าง แต่โลกเราก็ไม่เคยสมดุลเลยจริงๆ 🙂

ระหว่างทาง
ระหว่างทางไปทานอาหารเย็น ฝีมือฟิลเตอร์ของ Instagram