เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 6

[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]

Blogger Tour 2011
วันที่ห้า: 9 เมษายน 2554

วันนี้เป็นวันแรกที่เราไม่มีฟังบรรยายที่ไหน โปรแกรมช่วงเช้าคือไปทัวร์เมืองเบอร์ลินบนรถบัส กินข้าวเที่ยงเสร็จแล้วลิซ่าจะปล่อยพวกเราเป็นอิสระ แต่ถึงเวลาเธอก็ไม่วายกำชับตามประสาคนเยอรมันผู้รอบคอบแต่จริงจังกับชีวิตไปหน่อยในสายตาของคนไทยผู้ใช้ชีวิต “ช่างหัวมัน” อย่างผู้เขียน (สงสัยเหมือนกันว่าภาษาเยอรมันมีคำคำนี้ไหม เดาว่าไม่มี – ผู้รู้วานตอบที))

วันนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าทำไมเขาถึงจัดโปรแกรมให้ไปทัวร์เมืองเบอร์ลินวันรองสุดท้ายก่อนออกเดินทางไปแฮมบูร์ก แทนที่จะเป็นวันแรกที่เรามาถึง – ผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่รัฐคงไม่อยากมาเป็นวิทยากรหรือเลี้ยงรับรองเราในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็เลยต้องจัดคร่อมวันหยุดแบบนี้แทน

เรื่องนี้ตอกย้ำอีกครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลและผ่านการจัดการทุกกระเบียดนิ้วสำหรับคนเยอรมัน มิน่า พวกเขาถึงได้ยังไม่ค่อย “เก็ต” อินเทอร์เน็ตในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่อึกทึกโกลาหลที่คนเยอรมันเข้าไป “จัดการ” ให้ได้ดั่งใจไม่ได้ อินเทอร์เน็ตเหมือนกับป่าดงดิบ ไม่ใช่โรงงานที่เราออกแบบและควบคุมได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนและใครมีหน้าที่ทำอะไร

เช้าวันนี้เป็นวันแรกที่ลงมากินข้าวแล้วไม่เจอเพื่อนร่วมโต๊ะ (วิสักโซโน อิมาน และอาลิเชอร์) เลย คงเป็นเพราะลิซ่านัดเราเก้าโมงครึ่ง แทนที่จะเป็นแปดโมงครึ่งเหมือนวันก่อนๆ เดาว่าทุกคนคงหลับต่อ หรือไม่ก็รีบลงมากินแล้วกลับขึ้นห้อง

สังเกตมาหลายวันแล้วว่าพฤติกรรมของพวกเราในคณะไม่ค่อยเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปเท่าไหร่ คือคุยกันอยู่ดีๆ เราก็สามารถก้มหน้างุดๆ ไปง่วนอยู่กับการทวีตหรือส่งอีเมลผ่านสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊ค ราวกับว่าวิ่งข้ามไปมาระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงได้ทุกเมื่อ โดยที่คนอื่นก็ไม่รู้สึกว่าเสียมารยาทเพราะตัวเองก็เป็นเหมือนกัน แต่ละวันพอจบโปรแกรม เราก็แยกย้ายกันไปทำธุระหรือท่องเที่ยวตามลำพังได้ ทุกวันก่อนถึงเวลารวมพลเราจะส่งเมสเสจและโพสข้อความคุยกันบนเฟซบุ๊ก (เจ้าภาพใจดีตั้งกลุ่ม Blogger Tour 2011 ให้) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ทำนอง “มีใครรู้บ้างว่าเช้านี้เราต้องเจอกันที่ล็อบบี้กี่โมง” “ช่วยส่งรูปฉันที่เธอถ่ายเมื่อวานมาให้หน่อย” หรือเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น โอเลกเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลยูเครน ประท้วงการจับกุม ฮานา ซิงโควา กวีและนักเคลื่อนไหว เพียงเพราะเธอปิ้งไข่ล้อเลียนรัฐบาลยูเครน ชวนให้พวกเราร่วมลงนามด้วย


[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]

Blogger Tour 2011
วันที่ห้า: 9 เมษายน 2554

วันนี้เป็นวันแรกที่เราไม่มีฟังบรรยายที่ไหน โปรแกรมช่วงเช้าคือไปทัวร์เมืองเบอร์ลินบนรถบัส กินข้าวเที่ยงเสร็จแล้วลิซ่าจะปล่อยพวกเราเป็นอิสระ แต่ถึงเวลาเธอก็ไม่วายกำชับตามประสาคนเยอรมันผู้รอบคอบแต่จริงจังกับชีวิตไปหน่อยในสายตาของคนไทยผู้ใช้ชีวิต “ช่างหัวมัน” อย่างผู้เขียน (สงสัยเหมือนกันว่าภาษาเยอรมันมีคำคำนี้ไหม เดาว่าไม่มี – ผู้รู้วานตอบที))

วันนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าทำไมเขาถึงจัดโปรแกรมให้ไปทัวร์เมืองเบอร์ลินวันรองสุดท้ายก่อนออกเดินทางไปแฮมบูร์ก แทนที่จะเป็นวันแรกที่เรามาถึง – ผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่รัฐคงไม่อยากมาเป็นวิทยากรหรือเลี้ยงรับรองเราในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็เลยต้องจัดคร่อมวันหยุดแบบนี้แทน

เรื่องนี้ตอกย้ำอีกครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลและผ่านการจัดการทุกกระเบียดนิ้วสำหรับคนเยอรมัน มิน่า พวกเขาถึงได้ยังไม่ค่อย “เก็ต” อินเทอร์เน็ตในความรู้สึกของผู้เขียน เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่อึกทึกโกลาหลที่คนเยอรมันเข้าไป “จัดการ” ให้ได้ดั่งใจไม่ได้ อินเทอร์เน็ตเหมือนกับป่าดงดิบ ไม่ใช่โรงงานที่เราออกแบบและควบคุมได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนและใครมีหน้าที่ทำอะไร

เช้าวันนี้เป็นวันแรกที่ลงมากินข้าวแล้วไม่เจอเพื่อนร่วมโต๊ะ (วิสักโซโน อิมาน และอาลิเชอร์) เลย คงเป็นเพราะลิซ่านัดเราเก้าโมงครึ่ง แทนที่จะเป็นแปดโมงครึ่งเหมือนวันก่อนๆ เดาว่าทุกคนคงหลับต่อ หรือไม่ก็รีบลงมากินแล้วกลับขึ้นห้อง

สังเกตมาหลายวันแล้วว่าพฤติกรรมของพวกเราในคณะไม่ค่อยเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปเท่าไหร่ คือคุยกันอยู่ดีๆ เราก็สามารถก้มหน้างุดๆ ไปง่วนอยู่กับการทวีตหรือส่งอีเมลผ่านสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊ค ราวกับว่าวิ่งข้ามไปมาระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงได้ทุกเมื่อ โดยที่คนอื่นก็ไม่รู้สึกว่าเสียมารยาทเพราะตัวเองก็เป็นเหมือนกัน แต่ละวันพอจบโปรแกรม เราก็แยกย้ายกันไปทำธุระหรือท่องเที่ยวตามลำพังได้ ทุกวันก่อนถึงเวลารวมพลเราจะส่งเมสเสจและโพสข้อความคุยกันบนเฟซบุ๊ก (เจ้าภาพใจดีตั้งกลุ่ม Blogger Tour 2011 ให้) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ทำนอง “มีใครรู้บ้างว่าเช้านี้เราต้องเจอกันที่ล็อบบี้กี่โมง” “ช่วยส่งรูปฉันที่เธอถ่ายเมื่อวานมาให้หน่อย” หรือเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น โอเลกเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลยูเครน ประท้วงการจับกุม ฮานา ซิงโควา กวีและนักเคลื่อนไหว เพียงเพราะเธอปิ้งไข่ล้อเลียนรัฐบาลยูเครน ชวนให้พวกเราร่วมลงนามด้วย

พูดถึงโอเลก เขาเป็นคนพูดน้อยและไม่พูดพล่ามทำเพลง แต่เป็นคนที่น่าสนใจมาก เป็นทั้งวิศวกร บล็อกเกอร์ ศิลปิน และนักข่าวในคนคนเดียว ตอนนี้เขายึดอาชีพนักข่าวเป็นหลักแต่ก็ทำอย่างอื่นทั้งหมดด้วย ชอบโพสรูปสวยๆ ที่ใช้เอฟเฟกต์แปลกๆ เข้ามาในกลุ่มเฟซบุ๊กของเรา รูปนี้เป็นตัวอย่าง (ถ่ายข้างในตึกรัฐบาลรัฐที่เราไปฟังบรรยายวันที่สาม) –

The Matrix
“The Matrix” ฝีมือโอเลก จากซ้ายไปขวาคือ วิจักโซโน แซมมวล ทาเร็ก และอิมาน

ทัวร์รอบเมืองเบอร์ลินบนรถบัสช่วงเช้าสนุกดี แต่ถ่ายรูปมาไม่ได้มากเพราะไกด์ไม่ค่อยหยุดรถให้ลง อธิบายตอนขับรถผ่านเฉยๆ ก็เลยถ่ายรูปไม่ค่อยทัน

ไกด์พาเราไปดู “เกาะพิพิธภัณฑ์” ใจกลางเมืองก่อน นี่คือเกาะธรรมชาติที่มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันเป็น World Heritage แห่งหนึ่งของยูเนสโก ซึ่งให้ทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งในโครงการซ่อมแซมและบูรณะพิพิธภัณฑ์ ทั้งโครงการใช้เงินตั้ง 1.5 พันล้านยูโร ที่แพงขนาดนั้นเพราะพิพิธภัณฑ์หลายส่วนต้องซ่อมแซมเยอะมากหลังจากที่ถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (อย่าลืมว่าเบอร์ลินเป็นฐานที่มั่นของพรรคนาซี ยังไงๆ กองทัพสัมพันธมิตรก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะยึดให้ได้ถ้าอยากให้สงครามจบ) ไกด์บอกว่าตอนนี้เงินส่วนใหญ่หมดไปกับการก่อสร้างพระราชวังเดิมซึ่งถูกทำลายจนราบขึ้นมาใหม่ตรงจุดเดิม และสร้างอาคารใหม่ที่จะทำให้คนเดินไปชมคอลเล็กชั่นต่างๆ ได้สะดวกขึ้น พิพิธภัณฑ์ที่อยากไปถ้ามีเวลาชื่อพิพิธภัณฑ์ Pergamon เน้นสถาปัตยกรรมโบราณตั้งแต่ยุคบาบิโลน

เบอร์ลินมีประชากรแค่ 3.4 ล้านคน ซึ่งชาวเบอร์ลินรู้สึกว่าดีแล้วเพราะทำให้ในเมืองไม่มีปัญหารถติด และระบบขนส่งมวลชนในเมืองก็ดีมาก มีสถานีรถเมล์ รถไฟใต้ดิน และรถไฟฟ้าลอยฟ้าทั้งหมด 320 สถานี นอกจากนี้ในเบอร์ลินยังไม่มีตึกระฟ้าเหมือนเมืองใหญ่ที่อื่น อาคารที่สูงที่สุดในเมืองสูงเพียง 115 เมตรเท่านั้น รัฐบาลห้ามสร้างตึกสูงในเขตประวัติศาสตร์ รวมทั้งบนเกาะพิพิธภัณฑ์ด้วย

หน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ Pergamon ไกด์ชี้ให้เราดูบ้าน (ที่จริงต้องเรียกว่า อาคารห้องแถวแบบยุโรป) สีเหลืองนวลตรงข้ามพอดี นี่คือบ้านของ แองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ประเทศนี้แตกต่างจากหลายประเทศตรงที่ไม่มีที่พำนักพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง หลังจากที่ใครได้รับตำแหน่งแล้วก็จะอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองตามเดิม ฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเยือน Pergamon บางครั้งจะเห็นและพูดคุยทักทายเมอร์เคลได้ ไม่มีตำรวจองครักษ์คอยล้อมหน้าล้อมหลังแต่อย่างใด

รถบัสขับผ่านจัตุรัสขนาดใหญ่ใจกลางเกาะพิพิธภัณฑ์ ไกด์บอกว่าบนพื้นมีอนุสรณ์สถานชื่อ “Empty Library” (ห้องสมุดอันว่างเปล่า) ณ จุดที่มีการก่อบอนไฟเผาหนังสือครั้งมโหฬารที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในปี 1933 เมื่อฮิตเลอร์สั่งให้เผาหนังสือทั้งหมดที่เขียนโดยชาวยิวและนักคิดฝ่ายซ้าย เป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างโคตรชาวยิวต่อมา

ผู้เขียนรู้สึกเจ็บแปลบทุกครั้งที่ได้อ่านเรื่องเผาหนังสือ ขนาดตอนเป็นแค่นักอ่านยังรู้สึกแย่ ตอนนี้เป็นนักเขียนแล้วยิ่งเจ็บใจและแค้นใจคนทำ

อนุสรณ์นี้เป็นฝีมือศิลปินชาวอิสราเอล มิสชา อุลแมน (Mischa Ullman) แต่เรามองจากบนรถไม่เห็น อนุสรณ์นี้อยู่ใต้ดิน ตอนกลางวันคนจะไม่ค่อยสังเกตเห็น เห็นแต่หน้าต่างกับป้ายบนพื้นดินที่มีข้อความของ ไฮน์ริช ไฮน์ (Heinrich Heine) ว่า

“Where one burns books, it is only a prelude; in the end one also burns people.”
(เวลาที่ใครเผาหนังสือ นั่นคือแค่อารัมภบท สุดท้ายเขาผู้นั้นจะเผาทำลายผู้คนด้วย”)

ตอนกลางคืนจะมีแสงไฟส่องผ่านกระจกบนพื้นดิน ถ้าคนชะโงกลงไปจะเห็นห้องสมุดที่ผนังทุกด้านเต็มไปด้วยหิ้งสีขาวจากพื้นจรดเพดาน แต่ไม่มีหนังสือสักเล่มอยู่บนหิ้ง

Empty Library
Empty Library

(การเผาทำลายหนังสือปี 1933 พรรคนาซีถ่ายวีดีโอเก็บไว้ ดูบรรยากาศและกองเพลิงได้ที่เว็บ US Holocaust Memorial Museum)

เป็นอนุสรณ์ที่มีพลังมากทีเดียว

เราขับรถเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยสมัยที่เบอร์ลินยังถูกแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเบอร์ลินตะวันตกกับเบอร์ลินตะวันออก ตามอุดมการณ์ที่แตกต่างกันของผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง คือสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต สังเกตว่าอาคารที่พักอาศัยหน้าตาคล้ายกันหมด ไกด์บอกว่าหลายส่วนรัฐบาลเยอรมันตะวันออกจงใจก๊อปปี้สไตล์ของอาคารในรัสเซียยุคสตาลินมา และมีการโฆษณาชวนเชื่อตลกๆ หลายเรื่อง เช่น เปิดร้านอาหารเรียงกันเป็นตับในชั้นล่างของอาคารที่พัก ตั้งชื่อตามเมืองของประเทศในยุโรปตะวันออก ที่อยู่ใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น เช่น วอร์ซอวา (ตามชื่อ วอร์ซอว์ เมืองหลวงของโปแลนด์) ประมาณว่าเป็นการสร้าง “ภราดรภาพ” ระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับยุโรปตะวันออก และโฆษณาว่า ข้าก็มีพรรคพวกเยอะเหมือนกันนะเว้ย

โรงงานหลายแห่งในเขตเบอร์ลินตะวันออกตอนนี้ถูกดัดแปลงกลายเป็นคลับสำหรับดนตรีอินดี้และปาร์ตี้ทางเลือกต่างๆ น่าเสียดายที่เราไม่มีเวลาเข้าไปดูบรรยากาศข้างใน ไกด์บอกว่าค่อนข้างฮิตในกลุ่มวัยรุ่นของเมืองนี้

รถเราขับผ่านอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่ง ตั้งชื่อตรงตัวมากคือ Memorial to the Murdered Jews of Europe ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ ปีเตอร์ ไอเซ็นมันน์ (Peter Eisenmann) เป็นแท่งคอนกรีตสูงต่ำไม่เท่ากันจำนวน 2,711 อัน วางเป็นแนว คนที่เข้าไปดูในนี้มักจะออกมาด้วยความรู้สึกสับสน และบ่นว่า “ไม่เห็นเข้าใจเลย” แต่คำตอบของสถาปนิกคือ ความสับสนและไม่เข้าใจนั่นแหละคือสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ – เราจะ “เข้าใจ” การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนกว่า 6 ล้านคนได้อย่างไร?

นอกจากนี้ การจัดวางแท่งคอนกรีตในตารางที่ดูเหมือนจะเป็นระบบ ยังสื่อให้เห็นว่าความเป็นระบบระเบียบสามารถหลุดออกจากความเป็นเหตุเป็นผลได้ ไม่จำเป็นที่ระบบระเบียบจะเป็นเหตุเป็นผลเสมอไป ชาติที่มีระบบระเบียบมากอย่างเยอรมนีช่วงหนึ่งยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบบเผด็จการที่โหดร้ายทารุณจนอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรเลย

Memorial to the Murdered Jews of Europe
Memorial to the Murdered Jews of Europe

(หน้านี้มีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับอนุสรณ์สถานอีกหลายแห่งในเบอร์ลิน)

หลังจากที่รถวิ่งวนอยู่ในเบอร์ลินตะวันออกสักพักก็มาถึงเวลาที่พวกเราทุกคนรอคอย – การได้ไปเยือนซากที่เหลืออยู่ของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งอันที่จริงไม่ได้มีกำแพงเดียว แต่เป็นกำแพงคู่ พื้นที่ตรงกลางสมัยก่อนไม่ได้เป็นพื้นที่รกชัฏเหมือนกับ DMZ ที่คั่นกลางระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ แต่มีตึกรามบ้านช่องด้วย ไกด์บอกว่าคนที่อาศัยอยู่ติดกำแพงในเบอร์ลินตะวันออกจะต้องคอยรายงานตัวกับตำรวจ ตัวเขาเองก็โตมาในตึกแบบนี้ ตอนเด็กๆ มองจากหน้าต่างออกไปเห็นเบอร์ลินฝั่งตะวันตกทุกวัน แต่ข้ามไปไม่ได้

(ตลกร้ายเกี่ยวกับ DMZ ในเกาหลีเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้จากหนังสือเรื่อง The World Without Us โดย Alan Weisman คือ เนื่องจากมันรกมากเพราะไม่มีใครไปสร้างอะไร มันก็เลยกลายเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มาก มีกระทั่งนกหายากบางชนิด)

ซากกำแพงเบอร์ลินที่ยังหลงเหลืออยู่ในเบอร์ลิน (หลังถูกรื้อในปี 1989) มีอยู่ 6 ที่ แต่จุดที่เราไปดูเป็นซากที่เหลืออยู่เยอะที่สุด คือยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร ดัดแปลงกำแพงเป็นพื้นที่ศิลปะ ตั้งชื่อว่า East Side Gallery เชิญศิลปิน 106 คนจากทั่วโลกให้มาวาดภาพบนกำแพง ตอนนี้เลยกลายเป็นแกลอรีนอกสถานที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผลงานของศิลปินและคนที่ไม่น่าจะใช่ศิลปินแต่ผู้เขียนชอบ บางภาพที่ถ่ายมา –

Berlin Wall Art 1

Berlin Wall Art 2

Berlin Wall Art 3

Berlin Wall Art 4

Berlin Wall Art 5

ก่อนจบรายการทัวร์ช่วงเช้า ไกด์พาเราเดินเข้าไปดู Sony Center ที่ผู้เขียนกับบังจูมุน วลาดา โอเลก กับซาโบช เดิน(ไกล)ไปหาอะไรกินกันเมื่อวันก่อน (แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้กินอะไร เพราะคิดว่าแพงเกินเพราะมีแต่ร้านสำหรับนักท่องเที่ยว เลยเดินกลับมาแถวโรงแรม) อธิบายว่าตึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลิน รัฐบาลเยอรมันอยากให้มีคนมาสร้างอย่างเร่งด่วน เพราะกำแพงเบอร์ลินเคยพาดผ่านใจกลางเมืองพอดี พอถูกรื้อมันก็เลยดูแปลกมากที่ใจกลางเมืองไม่มีอะไรเลย ดังนั้นรัฐบาลจึงเชิญชวนให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ มาก่อสร้างอาคารสำนักงานหรือช็อปปิ้งมอลล์ในพื้นที่นี้

วิธีที่เขาพัฒนาโครงการนี้สะท้อนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในเยอรมนีได้ดีมาก คือพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าได้ “รับฟัง” เสียงจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างรอบด้านแล้วจริงๆ ทั้งนักลงทุน บริษัท ชาวเมือง และนักประวัติศาสตร์ เสร็จแล้วก็หาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ยกตัวอย่างเช่น หน้า Sony Center มีร้านอาหารดั้งเดิมแห่งหนึ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แทนที่จะรื้อทิ้ง เขาอนุรักษ์เอาไว้ในกระจกใส ให้คนข้างนอกมองเข้ามาได้ แล้วสร้างตึกแบบสมัยใหม่ข้างบนอีกที ผลลัพธ์ก็ออกมาอย่างที่เห็นในรูปนี้ ผู้เขียนคิดว่าเก่ากับใหม่อยู่คู่กันได้อย่างกลมกลืนดี –

เก่าในใหม่
เก่าในใหม่

โดมใน Sony Center ตั้งใจจะเลียนแบบภูเขาฟูจิ คนเบอร์ลินเลยเรียกชื่อเล่นว่า “เบอร์ลิน ฟูจิยามา” ตอนกลางคืนเปิดไฟสวยดี (รูปด้านล่างถ่ายวันก่อน)

บังจูมูนบอกว่า เขารู้สึกแปลกใจที่รัฐบาลเยอรมันยอมให้ชาวต่างชาติมาสร้างสัญลักษณ์ของประเทศอื่นไว้ตรงใจกลางเมือง ถ้าโซนี่จะทำแบบนี้ในกรุงโซลที่เกาหลีใต้รับรองว่าทำไม่ได้แน่นอน เพราะคนเกาหลีใต้จะไม่ยอม

เบอร์ลิน ฟูจิยามา
เบอร์ลิน ฟูจิยามา

กว่าจะจบทัวร์ก็เที่ยงพอดี ลิซ่าพาเราไปทานอาหารที่ร้านตรงหัวมุมลาน ตรงหน้าประตู Brandenberg อันโด่งดังพอดี สั่งไส้กรอกใส่ผงกะหรี่ เรียกว่า currywurst บ๋อยบอกว่าเขาพยายามตกแต่งผงกะหรี่ในซอสมะเขือเทศให้เป็นโลโก้ของร้านอาหาร แต่ทำไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ (มันคงยากไปหน่อย)

หลังอาหารเที่ยงเป็นเวลาอิสระของพวกเรา ผู้เขียน อาลี และทาเร็กตัดสินใจไปดูพิพิธภัณฑ์ยิวด้วยกัน เพราะได้ข่าวว่าทำใหม่หมด จากที่เคยเป็นตึกเก่า กลายเป็นตึกทันสมัยที่ได้สถาปนิกระดับโลกมาออกแบบให้

ไม่รู้จะอธิบายประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์ยิวอย่างไร คงต้องไปดูเองถึงจะเข้าใจความรู้สึก แต่บอกได้คำเดียวว่า สถาปนิกคือ แดเนียล ลีเบอร์สไคน์ (Daniel Libeskind) ประสบความสำเร็จในการออกแบบตัวอาคารและพื้นที่จัดแสดงให้คนดูได้เข้าถึงเศษเสี้ยวของความสับสน ความโศกเศร้า ความเจ็บปวด ความกดดัน และความสูญเสียที่ชาวยิวต้องประสบ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าพิพิธภัณฑ์นี้เล่าประวัติศาสตร์ของชาวยิวในเยอรมนีได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญอย่างทัดเทียมกับ “คนสำคัญ” ทั้งหลาย

นับว่าทีนี่นำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมที่มุ่งให้ความรู้ มาผสมผสานกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่สร้าง “อารมณ์ร่วม” ด้วยงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของตัวอาคารเอง ได้อย่างกลมกลืนและน่าทึ่ง ไม่แสดงสำนึกผิดต่อความเลวร้ายในอดีตของตัวเองจน “ฟูมฟาย” เกินพอดีอย่างพิพิธภัณฑ์ Branly ในฝรั่งเศส

100,000 faces
100,000 Faces

Garden of Exiles
Garden of Exiles

Display
ห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์

ในพิพิธภัณฑ์ยิว ฉากนิทรรศการอันหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ ด้านหนึ่งแสดงความคิดและการเคลื่อนไหวของปัญญาชน “ยิวกระแสหลัก” ที่ต้องการให้คนยิวด้วยกันสามัคคี และหลอมรวม (assimilate) เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเยอรมัน (“we are a people, one people”) ส่วนอีกด้านหนึ่งแสดงความคิดและการเคลื่อนไหวของปัญญาชนอีกฝ่ายที่ต้องการ “ปฏิวัติ” สังคม อย่างเช่น คาร์ล มาร์กซ์ เป็นต้น (“we need the revolution”)

Even display
สองด้านของเหรียญ

วันนี้ท่องเมืองเบอร์ลินได้เพียงเสี้ยวเดียว เนื่องด้วยเวลามีจำกัด แต่เสี้ยวนั้นก็ทำให้รู้สึกประทับใจว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่ไม่หลบหนีความจริง อนุรักษ์ทั้งเรื่องดีงามและเรื่องเลวร้ายที่ไม่อยากจดจำ (ยุคนาซี) ของตัวเองเอาไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ นอกจากนั้นยังนำเสนอความจริงจากทุกด้านทุกเวลาที่ทำได้

แน่นอน กว่าเขาจะทำอย่างนี้ได้ สังคมเยอรมันย่อมต้องผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งแบ่งขั้ว และช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดทรมานนานข้ามทศวรรษ แต่ประเด็นสำคัญคือ สังคมสามารถข้ามพ้นจุดนั้นมาได้ ไม่จมปลักอยู่ในวังวนแห่งความเกลียดชังหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเสียจนประวัติศาสตร์ถูกลดสภาพ เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่เขียนโดยฝ่าย “ชนะ” เท่านั้น

หวังว่าวันหนึ่งในอนาคต สังคมไทยจะมีวุฒิภาวะเท่ากับสังคมเยอรมัน พร้อมใจกันอนุรักษ์หน้าที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ และนำเสนอความจริงจากทุกด้านให้ลูกหลานได้เรียนรู้