เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 9 (จบ)

[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก ตอนที่เจ็ด ตอนที่แปด และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]

Blogger Tour 2011
วันที่แปด: 12 เมษายน 2554

เช้านี้ขึ้นรถไฟจากแฮมบูร์กกลับไปที่เบอร์ลิน ท่ามกลางฝนพรำและอากาศที่หนาวกว่าเมื่อวานมาก นึกในใจว่าโชคดีจริงที่เพิ่งมาฝนตกวันที่เราจะกลับ ถ้าฝนตกเมื่อวานตอนที่เราทัวร์ท่าเรือแฮมบูร์กคงดูไม่จืด

สถานีรถไฟแฮมบูร์กสวยดี ดูไปดูมาข้างในหน้าตาคล้ายกับหัวลำโพง เพียงแต่รถไฟดูล้ำยุคกว่ารถไฟไทยประมาณสองปีแสง

ภายในสถานีรถไฟแฮมบูร์ก
ภายในสถานีรถไฟแฮมบูร์ก

วันนี้ลิซ่าดูอารมณ์ดีมาก คงเป็นเพราะทุกอย่างเป็นไปตามแผน(อันเที่ยงตรงตามแบบฉบับเยอรมัน)เป๊ะ เริ่มตั้งแต่เราไปรอรถไฟก่อนเวลา ไปรอถูกชานชาลา ได้รถไฟขบวนใหม่เอี่ยมที่ลิซ่าบอกว่าเราควรจะได้นั่งตั้งแต่ตอนขามา และตู้รถไฟที่เรามีตั๋วที่นั่งก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าเราพอดิบพอดี เรื่องนี้น่าจะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ เห็นจะมีแต่เยอรมนีกับญี่ปุ่นเท่านั้นที่บ้านเมืองเดินอย่างเป็นระบบขนาดนี้


[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก ตอนที่เจ็ด ตอนที่แปด และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]

Blogger Tour 2011
วันที่แปด: 12 เมษายน 2554

เช้านี้ขึ้นรถไฟจากแฮมบูร์กกลับไปที่เบอร์ลิน ท่ามกลางฝนพรำและอากาศที่หนาวกว่าเมื่อวานมาก นึกในใจว่าโชคดีจริงที่เพิ่งมาฝนตกวันที่เราจะกลับ ถ้าฝนตกเมื่อวานตอนที่เราทัวร์ท่าเรือแฮมบูร์กคงดูไม่จืด

สถานีรถไฟแฮมบูร์กสวยดี ดูไปดูมาข้างในหน้าตาคล้ายกับหัวลำโพง เพียงแต่รถไฟดูล้ำยุคกว่ารถไฟไทยประมาณสองปีแสง

ภายในสถานีรถไฟแฮมบูร์ก
ภายในสถานีรถไฟแฮมบูร์ก

วันนี้ลิซ่าดูอารมณ์ดีมาก คงเป็นเพราะทุกอย่างเป็นไปตามแผน(อันเที่ยงตรงตามแบบฉบับเยอรมัน)เป๊ะ เริ่มตั้งแต่เราไปรอรถไฟก่อนเวลา ไปรอถูกชานชาลา ได้รถไฟขบวนใหม่เอี่ยมที่ลิซ่าบอกว่าเราควรจะได้นั่งตั้งแต่ตอนขามา และตู้รถไฟที่เรามีตั๋วที่นั่งก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าเราพอดิบพอดี เรื่องนี้น่าจะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ เห็นจะมีแต่เยอรมนีกับญี่ปุ่นเท่านั้นที่บ้านเมืองเดินอย่างเป็นระบบขนาดนี้

ไม่น่าเชื่อว่าตรงที่นั่งรอรถไฟ เขาไม่ได้ติดป้ายบอกแค่ตารางเวลาว่ารถไฟขบวนไหนมากี่โมงและอยู่ชานชาลาเบอร์อะไร ทำแค่นั้นคงง่ายไปสำหรับคนเยอรมัน – เขาบอกแม้กระทั่งว่าตู้โบกี้เบอร์อะไรจะมาหยุดอยู่ตรงจุดไหน ทำเป็นแผนผังให้ดูง่าย

แผนผังการจอดตู้โบกี้รถไฟแต่ละขบวน
แผนผังการจอดตู้โบกี้รถไฟแต่ละขบวน (!)

รถไฟขากลับใช้เวลาน้อยกว่าขาไป เดาว่าคงเป็นเพราะมันเป็นขบวนใหม่กว่าจริงๆ ที่นั่งก็นั่งสบายกว่า แถมมีปลั๊กให้เสียบโน้ตบุ๊คระหว่างเบาะที่นั่งทุกคู่ด้วย ทำให้นั่งเขียนหนังสือได้ตลอดทาง เสียดายที่ไม่มีสัญญาณไวไฟ วิคเตอร์ได้ทีก็ข่มลิซ่าทันทีว่า รถไฟในโรมาเนียน่ะมีสัญญาณไวไฟฟรีนะ เยอรมนีล้าหลังกว่าเยอะ ซึ่งที่จริงพูดไปก็ไม่ทำให้ใครตื่นเต้น เพราะพวกเราสังเกตตั้งแต่วันแรกๆ แล้วว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เยอรมนีค่อนข้างช้า และอินเทอร์เน็ตก็ค่อนข้างแพง (เราไม่ต้องออกเงินเองก็จริง แต่ก็เสียดายเงินแทนเจ้าภาพคือกระทรวงการต่างประเทศอยู่ดี)

ในบรรดาพรรคพวกในคณะเท่าที่ได้คุย ประเทศที่อินเทอร์เน็ตค่อนข้างถูกและเร็วมากคือ เกาหลีใต้ สโลวาเกีย ฮังการี ยูเครน และมอลโดวา ทำให้ในแง่หนึ่งไม่น่าแปลกใจที่บล็อกเกอร์และผู้ใช้เน็ตทั่วไปสามารถมีบทบาทค่อนข้างมากในประเทศเหล่านี้ (ดูรายชื่อประเทศที่อินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดและช้าที่สุดในโลกได้ที่หน้านี้)

Session สรุป

หลังจากที่กลับถึงเบอร์ลินและเช็คอินที่โรงแรมเดิม ลิซ่าก็พาเราขึ้นรถเมล์ไปที่ตึกของรัฐบาลรัฐ Baden-Wurttemberg ที่เราเคยไปฟังบรรยายวันที่สาม ที่นี่เราจะได้ฟังบรรยายครั้งสุดท้ายและร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ Blogger Tour เพราะรัฐบาลต้องการจะจัดเป็นประจำทุกปี

อาหารเที่ยงวันนี้อร่อยมาก ได้เวลาถ่ายรูปเก็บไว้อีกแล้ว กินแซนด์วิชเปิดที่มีชีสโปะไปสองอัน (แน่นอนว่าแม้แต่กระดาษเช็ดปากก็จะต้องมีโลโก้ของรัฐบาลรัฐ)

อาหารเที่ยงมื้อสุดท้ายในเบอร์ลิน
อาหารเที่ยงมื้อสุดท้ายในเบอร์ลิน

วิทยากรคนสุดท้ายชื่อ คลอส เฮสเซลลิง (Claus Hesseling) นักข่าวอิสระและนักอบรมการทำข่าวออนไลน์ และทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์สาธารณะในแฮมบูร์ก เขาบอกว่าขึ้นรถไฟมาเบอร์ลินหลังเราแค่ขบวนเดียว เสร็จงานวันนี้แล้วก็จะกลับแฮมบูร์ก

ผู้เขียนชอบคุณคลอสคนนี้มากเพราะเขาอายุใกล้กับพวกเรา ไม่ใช้ภาษาที่มีพิธีรีตองมาก และไม่ได้ “บรรยาย” แต่คอยบอกให้เราทำกิจกรรมสนุกๆ เริ่มจากการให้จับคู่กับคนนั่งติดกัน สัมภาษณ์ว่าเป็นใครมาจากไหน รวมทั้งเรื่องส่วนตัวหรืองานอดิเรกด้วยก็ได้ เสร็จแล้วให้สรุปให้เพื่อนๆ ฟัง แต่ใส่ “เรื่องโกหก” หนึ่งเรื่อง เพื่อนๆ ต้องจับให้ได้ว่าเรื่องโกหกนั้นคืออะไร

ผู้เขียนนั่งติดกับโอเลก เลยได้รู้จักเขามากกว่าที่เคยคุยกันมาก่อนแล้ว เพิ่งรู้ว่าเขาแต่งงานเมื่อปีกลาย (2010) ยังไม่มีลูก ก็เลยโกหกตอนเล่าเรื่องว่าเขามีลูกสองคน แซมมวลจากสโลวาเกียเก่งมากที่เดาถูกอย่างรวดเร็ว น่าเสียดายที่โอเลกโกหกเกี่ยวกับผู้เขียนไม่แนบเนียนเลย บอกว่าเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องบันเทิง เซ็กซ์ ความสนใจของผู้หญิง ฯลฯ เป็นหลัก ใครเชื่อก็บ้าแล้ว ต่อให้รู้จักกันไม่กี่วันก็เหอะ 😛

กิจกรรมต่อไปคลอสให้เราแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มตอบโจทย์หนึ่งในสามโจทย์ต่อไปนี้
1. บทบาทของสังคมดิจิตอล พลเมืองจะควบคุมการเมืองได้หรือไม่ในยุคนี้?
2. นิวมีเดีย (หมายถึงสื่ออย่างอินเทอร์เน็ต) ท้าทายสถานภาพของสื่อเก่าหรือไม่อย่างไร?
3. เราจะเป็นนักข่าวออนไลน์หรือบล็อกเกอร์ “คุณภาพ” ได้อย่างไร?

พวกเราถกเถียงหัวข้อเหล่านี้กันอย่างสนุกสนาน การที่เราสนิทสนมกันพอสมควรแล้วจนหยอกล้อเล่นหัวกันได้ ทำให้งานเดินเร็วและสนุกขึ้น ถ้าคุยกันวันแรกคงน่าเบื่อ คนไม่พูดอะไรมากเพราะยังเกรงใจกันอยู่

เรื่องพลเมืองในสังคมดิจิตอล กลุ่มนี้สรุปว่าเราอาจแบ่งสังคมได้เป็นสี่แบบตามระดับการพัฒนา สังคมแบบแรกและพื้นฐานที่สุดคือ ประชาชนยังไม่ค่อยสนใจหรือตระหนักรู้ (uninformed) ในประเด็นสาธารณะ แบบที่สองคือประชาชนเริ่มตระหนักรู้และ “บ่น” (ว่ารัฐบาลแย่อย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ) ในบล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และสื่ออื่นๆ เมื่อบ่นมากๆ เข้าเราก็จะได้สังคมแบบที่สามถ้าโอกาสอำนวย คือนักการเมืองเริ่มหันมาสนใจเสียงบ่นของผู้คน สังคมแบบสุดท้ายซึ่งเป็นสังคมในอุดมคติคือ นักการเมืองตั้งใจฟังเสียงของประชาชนและปรับปรุงแก้ไขตามที่ประชาชนเรียกร้อง ความท้าทายอยู่ที่การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านสังคมจากแบบแรกไปสู่แบบที่สี่ให้ได้ในทุกประเทศ

เรื่องนิวมีเดีย (ผู้เขียนอยู่กลุ่มนี้) เราสรุปกันว่าสื่อใหม่หรือนิวมีเดียท้าทายสื่อเก่า 3 ทางหลักด้วยกัน แต่ว่าแต่ละทางก็นับเป็น “โอกาส” สำหรับสื่อเก่าด้วย คือ

1. ความเร็ว – นิวมีเดียรวดเร็วทันใจ ไวกว่าสื่อเก่าอย่างทาบกันไม่ติด แต่ตรงนี้โอกาสของสื่อเก่าคือ ควรเน้นการผลิตข่าวเจาะ เบื้องหลังเหตุการณ์ และบทวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ใช่พยายามไล่กวดนิวมีเดียในเรื่องความเร็ว เพราะไล่ยังไงก็ไม่มีทางทัน

2. ฟรี – ไม่มีใครเสียเงินซื้อเนื้อหาในนิวมีเดีย แต่โอกาสของสื่อเก่าคือสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ ที่ผนวกใช้นิวมีเดียอย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน เช่น แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

3. เป็นการสื่อสารสองทาง – ไม่เหมือนกับสื่อเก่าซึ่งวิ่งทางเดียวจากผู้สร้างสู่ผู้เสพ คือจากจอ เครื่องวิทยุ และหน้ากระดาษ สู่คนดู คนฟัง และคนอ่าน โอกาสของสื่อเก่าตรงนี้คือการใช้นิวมีเดียเป็น “ช่องทาง” สื่อสารกับผู้บริโภคข่าวมากขึ้น เป็น customer service และสร้างแบรนด์ไปด้วย ผู้เขียนเล่าตัวอย่างของคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่ทวิตเตอร์มีคนตามแสนกว่าคนว่าเป็นตัวอย่างที่ดี

เรื่องคุณภาพของบล็อกเกอร์ วลาดาสรุปได้ดีมากว่า นิยามของบล็อกเกอร์ “คุณภาพ” แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ถ้าคุณมาจากประเทศที่รัฐบาลยังกดขี่หรือควบคุมมาก คุณก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะเขียน แต่ถ้าคุณมาจากยุโรป ทักษะในการเขียนอาจสำคัญยิ่งกว่า อาลีอุปมาว่าบล็อกเกอร์ “คุณภาพ” นั้นเหมือนกับซุป – ซุปบางประเทศคนบอกว่าอร่อยเพราะใส่เครื่องเทศเยอะ ที่อื่นคนอาจบอกว่าไม่ใช่ ซุปอร่อยเพราะใส่เกลือเยอะต่างหาก แซมมวลเสริมว่านอกจากจะมีความกล้าหาญและทักษะในการเขียนแล้ว ความเต็มใจที่จะเรียนรู้ระหว่างทางก็สำคัญ เขาบอกว่าเขาทนอ่านโพสแรกๆ ของตัวเองไม่ได้แล้วเพราะมันแย่เต็มที แต่มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขายิ่งเขียน ฝีมือเขายิ่งพัฒนา (ผู้เขียนเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์)

คลอสให้เราแต่ละคนเขียนโปสการ์ดถึงตัวเอง เขาจะส่งมาให้ที่บ้านในอีก 1-2 สัปดาห์ ผู้เขียนไม่รู้จะเขียนอะไรดีก็เลยเขียนสั้นๆ ถึงสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในทริปนี้สั้นๆ (ชอบที่สุดคือได้รู้จักเพื่อนใหม่ 15 คน รวมลูเซียนกับลิซ่า ไม่ชอบที่สุดคืออากาศหนาวตอนเย็น เพราะทำให้โรคเข่าเสื่อมกำเริบอย่างน่ารำคาญมาก)

ก่อนจบวงสนทนาพวกเราแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมนี้ ทุกคนพูดตรงกันหมดว่า ขอบคุณลูเซียนกับลิซ่าที่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ผู้เขียนชอบโครงการนี้มากเพราะได้คุยกับคนที่หลากหลาย ไม่ใช่คุยแต่กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ได้คุยกับนักข่าวอาชีพอย่าง Der Spiegel ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ลงมาช่วยภาคสังคมเต็มตัวอย่าง Tactical Tech และโครงการดีๆ ที่ประชาชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเองโดยใช้เน็ตเป็นเครื่องมือ อย่าง ParliamentWatch

ผู้เขียนคิดว่าการได้คุยกับคนที่หลากหลาย รวมทั้งลิซ่ากับลูเซียน ทำให้พวกเราได้มองเยอรมนีจากหลากหลายมุม ไม่ใช่มุม “ทางการ” เพียงมุมเดียว ทำได้ได้รู้ว่าเยอรมนียังมีปัญหามากมาย ทั้งระบบบำนาญที่สุ่มเสี่ยงว่าจะไม่มีเงินจ่ายเมื่อคนแก่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ปัญหาคนว่างงาน ค่าครองชีพสูง ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ฯลฯ ตลอดจนความที่คนเยอรมันหลายคนดูจะยังไม่ “เก็ต” อินเทอร์เน็ตว่ามันเป็นสังคมอลหม่านที่ควมคุม 100% ไม่ได้ ทำได้แต่เลือกสรรสิ่งที่เราต้องการจากมัน และมีกลไกคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิความเป็นส่วนตัว

สิ่งที่พวกเราไม่ชอบในโครงการนี้ก็คล้ายๆ กัน คือไม่ชอบการบรรยายของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสื่อสารของรัฐสภา เพราะประเด็นที่เขาพูดไม่ค่อยเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตหรือสื่อ และเราก็ฟังเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง

ทาเร็กบอกว่าน่าจะเผื่อเวลาช่วงแรกๆ ให้พวกเราได้พูดคุยถกเถียงกันเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการเซ็นเซอร์ ผู้เขียนเสริมว่าอยากให้พวกเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในวง “ทางการ” มากกว่านี้ (คือใส่ไว้ในโปรแกรม) แทนที่จะทำความรู้จักกันนอกรอบอย่างเดียว เพราะพวกเราหลากหลายมาก ทั้งอายุ อาชีพ นิสัย ฯลฯ และประสบการณ์ของแต่ละคนก็น่าสนใจทั้งนั้น

สิ่งที่ทุกคนไม่ชอบที่สุดคืออินเทอร์เน็ตในเยอรมัน แซมมวลถามว่าทำไมเยอรมนีถึงไม่มีไวไฟฟรีใช้ทุกหัวมุมเมือง ทั้งที่เป็นประเทศมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

ห้าโมงเย็นผู้เขียนกับวลาดาขึ้นรถเมล์ไปห้างสรรพสินค้า KaDeWe ด้วยกัน วลาดาซึ่งอายุ 21 เองขอตัวไปเดินช็อปปิ้งในร้าน H&M ใกล้ห้าง แถวนี้เดินสนุกดี มีร้านค้าหลากหลายอยู่ในย่านเดียวกัน ตั้งแต่ดีไซเนอร์แพงๆ ไปจนถึงเสื้อผ้าวัยรุ่นราคาไม่แพง

ตกเย็นลิซ่ากับลูเซียนพาเราไปเลี้ยงส่งที่ร้านอาหารตุรกี ชื่อ Hasir อร่อยมากร้านนี้ ขายดีจนมี 3 สาขาในเบอร์ลินเมืองเดียว ผู้เขียนสั่งแกะย่างกับข้าวอบเนยเป็นจานหลัก แต่นาน (ขนมปังแบบอินเดีย) กับเครื่องเคียงหลายจานที่ทยอยมาก่อนหน้านั้นก็อร่อยหมดเลย โดยเฉพาะมะเขือยาวผัด

พวกเราเฮฮากันถึงสี่ทุ่ม ลิซ่ากับพรรคพวกอีก 5 คนแยกตัวไปดื่มเบียร์กันต่อ พวกเราที่เหลือเดินฝ่าลมหนาวกลับโรงแรม หนาวจนทำให้นึกถึงสมัยเรียนไฮสกูล เพราะไม่ได้รู้สึกหนาวขนาดนี้มาหลายปีแล้ว

ในเมื่อพรุ่งนี้พวกเราจะแยกย้ายกันไปคนละทิศ กลับประเทศใครประเทศมัน บันทึกการเดินทางของผู้เขียนในเยอรมนีก็จบลงเพียงเท่านี้ ขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีที่จัดโปรแกรมอย่างใจกว้างอย่างยิ่ง ขอบคุณลิซ่าและลูเซียนที่ดูแลเอาใจใส่พวกเราเกินหน้าที่ ขอบคุณเพื่อนนักข่าวและบล็อกเกอร์ทุกท่านที่แลกเปลี่ยนทัศนะอย่างตรงไปตรงมา ขอบคุณสถานทูตเยอรมนีในประเทศไทย และมูลนิธิ ไฮน์ริค เบิลล์ ที่เชื้อเชิญและประสานงานอย่างราบรื่น

ถ้ามีเวลา อยากนำบันทึกนี้มาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่เป็นหนังสือ พร้อมทั้งถ่ายทอดโปรไฟล์(และลักษณะนิสัยเท่าที่สังเกต)ของเพื่อนบล็อกเกอร์แต่ละคนที่ไปด้วย หวังว่าจะได้ทำ ระหว่างนี้ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านอย่างทรหดค่ะ

รู้สึกว่าหลงเสน่ห์เยอรมนีเข้าเสียแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็รักเมืองไทยมากกว่า 🙂