แนะนำเกม: PeaceMaker

8morethangame.jpg

PeaceMaker

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “มากกว่าเกม” นิตยสาร Happening ฉบับเดือนตุลาคม 2012

มีใครบ้างครับที่อยากเป็นนายกฯ เชิญมาเป็นนายกฯ อิสราเอลได้เลย ผมยินดีสละตำแหน่งให้

รู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่าถ้าได้เป็นนายกฯ ไม่ทางที่จะไม่โดนด่าเลย แต่คิดไม่ถึงจริงๆ ว่าทุกอย่างที่ผมทำจะมีอุปสรรคขวากหนามมากมายขนาดนี้

ผมไม่คิดว่ามีคนยิวคนไหนที่ไม่รู้ว่า ไม่ว่าใครจะเกลียดหรือกลัวปาเลสไตน์อย่างไร ในทางปฏิบัติอิสราเอลก็ต้องหาทางสงบศึกกับปาเลสไตน์ ตกลงแบ่งดินแดนกันให้ได้ คนยิวจะได้เลิกผวากับระเบิดพลีชีพกลางกรุง ส่วนคนปาเลสไตน์ก็จะได้เลิกผวากับรถแทร็กเตอร์ที่ทำลายบ้านเรือนของพวกเขา คนยิวเฮโลเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ทับซ้อนที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าเป็นของใคร

แต่หนทางสู่สันติภาพช่างยากเย็นแสนเข็ญ ทันทีที่ผมออกมาตรการผ่อนปรน ให้โอกาสปาเลสไตน์ได้หายใจ คนยิวสายเหยี่ยวก็ออกมาด่าทันทีว่าผมอ่อนข้อให้กับผู้ก่อการร้าย ครั้นพอผมสั่งทหารให้โจมตีกลุ่มก่อการร้ายอย่างฮามาสกลับคืนบ้าง ผมก็จะโดนประชาคมโลกประณามหยามเหยียด ไม่ต้องพูดถึงว่าคนปาเลสไตน์จะเกลียดอิสราเอลมากกว่าเดิมขนาดไหน

ถ้าผมทำอะไรให้ปาเลสไตน์พอใจ ประชาชนที่เลือกตั้งผมเข้ามาก็มักจะไม่ชอบใจ แต่ถ้าสั่งทหารทิ้งระเบิดตอบโต้เวลาพวกหัวรุนแรงปาเลสไตน์เข้ามาก่อการร้าย ชาวโลกก็จะประณามและไฟแห่งสันติภาพก็ดูจะริบหรี่ลง แต่ก็อย่างว่า การเมืองอิสราเอลเป็นแบบนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็น

บางทีผมก็นึกอยากไปเกิดใหม่เป็นผู้นำปาเลสไตน์ดูบ้าง ผมว่างานเขาง่ายกว่าผมเยอะเลย คือไม่ต้องสนใจเสียงของคนอิสราเอล เพราะมีประชาคมโลกทั้งใบ (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา มหามิตรของยิว) หนุนหลังในฐานะประเทศที่ยากจนกว่าและ ‘เหยื่อ’ ที่พวกเขาชอบสร้างภาพว่าเป็น (ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่ามีส่วนถูกไม่น้อย เพราะเราก็รุกรานเขามามากจริงๆ)

งานของผู้นำปาเลสไตน์ที่หินจริงๆ เห็นจะมีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือพยายามทำให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอย่างฮามาสกับฟาตาห์สงบสติอารมณ์ ไม่ใช่ส่งคนไประเบิดพลีชีพฆ่าชาวยิวรายเดือน ฟาตาห์นี่ทำให้สงบได้ไม่ยาก แค่หา ‘เงินช่วยเหลือ’ ไปช่วย ‘พัฒนา’ ละแวกบ้านของพวกเขาก็เอาอยู่ แต่ฮามาสนี่คนละเรื่อง เพราะหัวรุนแรงด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า เงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้ วิธีเดียวที่จะคุมพวกเขาอยู่หมัดคือต้องมีกองกำลังตำรวจที่เข้มแข็ง รักษาความสงบเรียบร้อยได้จริงๆ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องใช้เงิน และวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการหาเงินก็คือการกล่าวสุนทรพจน์สวยๆ อ้อนองค์การสหประชาชาติ เอาอกเอาใจสหภาพยุโรปเข้าไว้…

PeaceMaker เป็นเกมกลยุทธ์แนว “จำลองรัฐบาล” เกมเดียวที่ให้เราเล่นเป็นผู้นำของอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ ประเทศคู่อาฆาตซึ่งสู้รบปรบมือกันมานานนับศตวรรษจนหลายคนเชื่อว่าไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ แต่ชื่อของเกมนี้คือ “นักสร้างสันติ” ดังนั้นเราจึงต้องบรรลุสันติภาพให้ได้ ไม่ว่าจะเล่นเป็นผู้นำของฝ่ายไหน ไม่มีทางเลือกให้ยิงระเบิดปรมาณูถล่มอีกฝ่าย

ทุกตาในเกมนี้จะเริ่มต้นด้วยข่าวพร้อมภาพและเสียงจากเหตุการณ์จริง ซึ่งมักจะเป็นการประท้วงหรือระเบิดที่ไหนสักแห่ง เสร็จแล้วเราต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างด้านความมั่นคง การก่อสร้าง หรือการเมือง เช่น กล่าวสุนทรพจน์สร้างขวัญและกำลังใจ เจรจาต่อรองกับกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ ในประเทศ หรือสั่งให้กองทัพไปปฏิบัติการทางทหาร ผู้นำอิสราเอลกับผู้นำปาเลสไตน์มีทางเลือกไม่เหมือนกัน เพื่อสะท้อนโลกแห่งความจริง เช่น ผู้นำอิสราเอลมีความมั่งคั่งและแสนยานุภาพทางทหารหนุนหลังอยู่ ดังนั้นจึงไม่ต้องแบมือขอเงินจากประเทศอื่น มีอำนาจสั่งให้กองทัพไปทิ้งระเบิดถล่มปาเลสไตน์ หรือประกาศเคอร์ฟิวได้ ส่วนผู้นำปาเลสไตน์มีทรัพยากรหนุนหลังน้อยกว่ามาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากต่างแดน

เป้าหมายหลักของเกมอยู่ที่การเพิ่ม “คะแนนนิยม” ในตัวเราจากฝ่ายต่างๆ ในสังคมให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงจุดที่อิสราเอลกับปาเลสไตน์ตกลงสงบศึก อยู่ร่วมกันแบบต่างคนต่างอยู่ ร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน ถ้าคะแนนนิยมลดต่ำลงถึงจุดหนึ่งเราจะแพ้ เช่น ถูกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปาเลสไตน์ประกาศทำสงครามขับไล่ชาวยิวทั้งหมดออกจากดินแดน (อินติฟาดา) ถ้าเล่นเป็นนายกฯ อิสราเอล ฉะนั้นความท้าทายและความสนุกของเกมนี้จึงอยู่ที่การต้องหาทางพยุงและเพิ่มเสียงสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศให้ได้ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายขัดแย้งกันเองตั้งแต่ระดับฐานคิด

การเล่นเป็นผู้นำอิสราเอลนั้นยากกว่าปาเลสไตน์ เพราะหนทางสู่สันติภาพแปลว่าคนยิวโดยรวมต้องเห็นอกเห็นใจคนปาเลสไตน์มากกว่าเดิม ซึ่งก็ยากมากเพราะกลุ่มหัวรุนแรงในปาเลสไตน์ก่อการร้ายอยู่เนืองๆ แต่ครั้นจะไม่ตอบโต้ทางทหารเลย แน่นอนว่าชาวยิวจะรุมด่า คะแนนนิยมของนายกฯ จะลดลงอย่างฮวบฮาบ

แอมโบรส เบียร์ส นักเขียนจอมแดกดัน เคยกล่าวติดตลกว่า “การเมือง หมายถึงการปะทะกันระหว่างผลประโยชน์ที่เสแสร้งว่าเป็นการแข่งอุดมการณ์กัน” แต่คำแดกดันนี้เป็นความจริงในแง่ที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ย่อมมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน และคงไม่มีเกมใดที่จะสาธิตความจริงข้อนี้ได้ดีกว่า PeaceMaker – เกมจำลองการเมืองจริงซึ่งทั้งสนุก ท้าทาย ทำให้ทุกคนเข้าใจการเมืองมากขึ้น และมองเห็นเด่นชัดกว่าเดิมว่า เหตุใดสันติภาพในทวีปตะวันออกกลางจึงได้ดูเลือนรางห่างไกลเหลือเกิน

ประเภทเกม: เกมคอมพิวเตอร์ (พีซีหรือแมค) ดาวน์โหลดฟรี

เว็บไซต์: http://www.peacemakergame.com/

ผู้ออกแบบ: อิมแพคเกมส์ นำโดย ทิม สวีนีย์, อีริค บราวน์ และ อาซี บูรัก