และแล้ว…ผลก็ออกมาตาม ‘โผ’ และเป็นไปตาม ‘ธง’

ขอแสดง(ระบาย)ความเห็นส่วนตัวแต่เพียงสั้นๆ เพราะเดี๋ยวจะถูกหาว่าหมิ่นศาลโดยเหล่าผู้ัรักศาลอย่างไม่ลืมหูลืมตา และเพราะตอนนี้รู้สึกเซ็งกับการเมืองอีกรอบ และเป็นห่วงสถานการณ์้บ้านเมืองค่อนข้างมาก… มากกว่าจะรู้สึกดีใจกับผู้ชนะหรือเีสียใจกับผู้แพ้

คำพิพากษาให้ยุบพรรคไทยรักไทยนั้นรุนแรงเกินไป ผู้เขียนคิดว่าเป็นที่ชัดเจนจากคำวินิจฉัยของศาลว่า ความผิดของพรรคประชาธิปัตย์นั้น หากมีจริง (สมมุติว่าสุเทพ เืทือกสุบรรณ มีส่วนในการว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งจริงๆ ซึ่งนี่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุด ในบรรดาข้อกล่าวหาทั้งหมด) ก็ไม่ ‘ร้ายแรง’ เท่ากับความผิดของพรรคไทยรักไทย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดของพรรคไทยรักไทยก็มีพยานหลักฐานพอที่จะพิสูจน์ได้เพียงแค่ว่าอดีตแกนนำของพรรคสองคน คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ กับนายพงษ์ศักดิ์ มีส่วนในการจ้างวานพรรคเล็กและสร้างข้อมูลเท็จ ไม่ได้มีพยานหลักฐานใดๆ ที่จะเชื่อมโยงให้เห็นได้ว่า กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าพรรค คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของแกนนำสองคนดังกล่าว คำพิพากษาให้ยุบพรรคไปเลยทั้งพรรค และตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน จึงเป็นคำตัดสินที่ผู้เขียนเห็นว่า “รุนแรงเกินไป” มากๆ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าพรรคการเมืองเป็น ‘สถาบันทางการเมือง’ ที่สำคัญ ที่ประชาชนกว่า 14 ล้านคนร่วมกันเป็นเจ้าของในฐานะสมาชิกพรรค ในกรณีของพรรคไทยรักไทย (ถึงแม้ว่าสมาชิกไม่น้อยในจำนวนนั้นอาจจำใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพราะถูกกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านข่มขู่ หรืออาจถูกพรรคเอาชื่อและเลขบัตรประชาชนจากฐานข้อมูลลูกค้าเอไอเอสไปอ้างว่าเป็นสมาชิกโดยพลการ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยรู้เห็น) คำตัดสินที่เปรียบเสมือนเป็นการทำลายสถาบันของประชาชน จึงสมควรต้องใช้วิจารณญาณให้มาก และน่าจะทำเฉพาะในกรณีที่มีพยานหลักฐานแน่นหนาพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดเท่านั้น และนอกจากนี้ ความผิดที่จะนำไปสู่การยุบพรรค ก็ควรจะเป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่าข้อหาจ้างวานพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกด้วย เพราะถึงจะจ้างใครลงเลือกตั้ง ประชาชนก็มีสิทธิกาไม่เลือกพรรคที่ถูกจ้างมาลงอยู่ดี ดังนั้นเมื่อมองในแง่นี้ การตัดสิทธิลงเลือกตั้งของนักการเมือง 111 คน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นนักการเมือง ‘คุณภาพดี’ ที่ประชาชนจำนวนมากอยากเลือกให้เป็น ส.ส. อีกรอบ จึงเท่ากับเป็นการ ‘ลดจำนวนตัวเลือก’ ของประชาชน ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตยมากกว่าการจ้างวานพรรคเล็กให้ลงเลือกตั้งเสียอีก

ความรุนแรงของคำำำวินิจฉัยของศาลในกรณีนี้เปรียบได้กับถ้าบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้ถือหุ้น 100,000 คน ถูกศาลพิพากษาว่าให้เลิกกิจการ เพราะกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการทั้งหมด 20 คน ไปทำทุจริตอะไรสักอย่างที่กรรมการคนอื่นๆ และผู้ถือหุ้นไม่มีส่วนเห็นชอบหรือแม้แต่รู้เห็นด้วยเลย ดังนั้นคำถามคือ เหตุใดศาลจึงไม่พิพากษาลงโทษเฉพาะอดีตแกนนำพรรคสองคนที่มีพยานหลักฐานแน่ชัด กฎหมายฉบับนี้เข้มงวดจนไม่สามารถลงโทษเฉพาะรายบุคคลได้เลยหรือ?

การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง ไม่น่าจะถูกหลักกฎหมาย คำพิพากษาข้อนี้ขึ้นอยู่กับการตีความว่า ประกาศคปค. ฉบับที่ 27 มีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้ เพราะตีความว่า ‘โทษ’ หมายถึง ‘โทษทางอาญา’ เท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปที่บอกว่า ถ้ากฎหมายใหม่กำหนดโทษใดๆ ก็ตาม (ไม่ว่าจะทางแพ่งหรืออาญา) ที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ทำความผิดสมัยที่กฎหมายเก่ายังมีผลใช้บังคับ อยู่ในสถานะแย่ลง กฎหมายใหม่ฉบับนั้นก็ไม่ควรมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับผู้ถูกกล่าวหาได้ เพราะถือว่าไม่เป็นธรรม (เปรียบเสมือนถ้าคุณถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี โทษฐานขโมยของคนอื่น แล้วตอนที่อยู่ในคุกมีการแก้กฎหมาย เพิ่มโทษฐานขโมยของเป็น 20 ปี คุณก็ไม่ควรได้รับโทษเพิ่มอีกตามกฎหมายใหม่) ความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อย 3 คน ที่เห็นว่าไม่ควรติดสิทธิกรรมการบริหารของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ก็สะท้อนแนวคิดนี้ โดยรายงานข่าวกล่าวว่า “…เหตุผลที่ 3 เสียงดังกล่าว เห็นว่าไม่ควรนำประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 มาบังคับใช้ เนื่องจากพิจารณาตีความข้อกฏหมายเหมือนหลักคดีอาญาทั่วไป คือ เมื่อมีข้อกำหนดบทลงโทษไว้ภายหลัง ซึ่งไม่เป็นคุณต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ก็ไม่อาจนำมาพิจารณาเป็นบทลงโทษได้ …อีกประการคือ ทั้ง 3 เสียง เห็นว่า หากตุลาการยอมรับนำประกาศคปค. ดังกล่าว ซึ่งไม่มีหลักกฏหมายใดในธรรมเนียมประเพณีการปกครองของไทยมารองรับ ก็จะเป็นการยอมรับประกาศคำสั่งของคปค. ที่ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยในคดี”

ขอบันทึกชื่อตุลาการ 3 เสียงข้างน้อยผู้กล้าหาญไว้ตรงนี้ : นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา และนายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

เรื่องส่วนน้อยในคำพิพากษาที่ชอบคือ ได้ฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท. ทักษิณ นอกสภา เพราะหนึ่งในข้อกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ที่ค่อนข้าง ‘ไร้สาระ’ คือข้อกล่าวหาว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ “…กล่าวหาการบริหารงานของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น ‘ระบอบทักษิณ’ ใส่ร้าย พ.ต.ท. ทักษิณ ด้วยข้อความเท็จว่า ระบอบทักษิณทำลายประชาธิปไตย แทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท. ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย” ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องชี้แจงในศาลว่า การปราศรัยเหล่านั้น ‘มีมูล’ อย่างไรบ้าง ก็เลยเท่ากับว่าได้ยินคุณอภิสิทธิ์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท. ทักษิณ นอกสภาแต่ในศาลเลยทีเดียว (ซึ่งถ้า พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่ชิงยุบสภาหนีการอภิปรายไปก่อนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 49 คงได้ยินการอภิปรายของคุณอภิสิทธิ์ครั้งนี้ในสภา) โดยยกตัวอย่างมากมาย เช่น การที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ตอบข้อซักถามในกระทู้ที่พรรคฝ่ายค้านตั้งเพียงร้อยละ 1 กว่าๆ การใช้วิธี ‘บล็อกโหวต’ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการ ปปช. การส่งคนล็อบบี้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา การล็อบบี้ตุลาการรัฐธรรมนูญให้พ้นผิดในคดีซุกหุ้นภาคแรกเมื่อปี 2544 และตัวอย่างการแทรกแซงสื่อ และทุจริตแบบตรงๆ และทุจริตเชิงนโยบายมากมาย อ่าน ‘คำอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา’ ของพรรคประชาธิปัตย์ฉบับเต็มได้ใน คำพิพากษาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ [PDF, 89 หน้า] – รายละเอียดคำชี้แจงในประเด็นนี้อยู่แถวๆ หน้า 24-32 และหน้า 52-63

ขอแสดงความยินดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ขอแสดงความเสียใจต่อกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคไทยรักไทย ขอไว้อาลัยให้กับนามธรรมชื่อ ‘ความยุติธรรม’ และขอภาวนาว่าจะไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นในบ้านเมือง…

Justice cannot be for one side alone, but must be for both. – Eleanor Roosevelt
(ความยุิติธรรมไม่สามารถเป็นธรรมต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แ่ต่ต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย – อีเลนอร์ รูสเวลท์)