แวดวงทางเลือก พ่อคำเดื่อง ภาษี และพะตีจอนิ โอ่โดเชา

เพิ่งกลับจากไปบรรยายเกี่ยวกับตัวอย่างโมเดลการ “พึ่งตนเอง” ของชุมชนที่อาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะรัฐและเอ็นจีโอ ในหัวข้อ “ชีวิตในท้องนากับโลกาภิวัตน์” ที่หอศิลปวัฒนธรรม เชียงใหม่ จัดโดยมูลนิธิที่นา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม งานนี้ยังมีไปจนจบเดือน ดูกำหนดการได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิที่นา ทั้งหัวข้อและผู้เข้าร่วมเสวนาน่าสนใจมากๆ ขอเชิญชวนนะคะ (แอบกระซิบว่า เจ้าภาพเลี้ยงข้าวทุกคนทั้งมื้อเที่ยงมื้อเย็น อร่อยด้วย :))

ขอขอบคุณมูลนิธิที่นาที่ให้เกียรติเชิญไปพูด ทั้งๆ ที่ผู้เขียนรู้เรื่องนี้น้อยมากๆ ถ้าจะมีอะไรที่ “รู้” อยู่บ้าง ก็มาจากการอ่านประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ ทั้งสิ้น ดีใจมากที่ได้มีโอกาสเจอตัวจริงเสียงจริงของปราชญ์ชาวบ้านสองท่านที่ผู้เขียนเคยได้ยินแต่ชื่อ คือพ่อคำเดื่อง ภาษี และพะตีจอนิ โอ่โดเชา พ่อคำเดื่องเล่าเส้นทางชีวิตก่อนจะมาทำโมเดล “เกษตรประณีต” ได้สนุกมาก (รวมทั้งประสบการณ์ตรงใน “อาจสามารถเรียลลิตี้โชว์” ของอดีตนายกทักษิณ เรียกเสียงฮาได้ทั้งห้อง :D) ส่วนพะตีจอนิก็เล่าเรื่อง “ภาษาธรรมชาติ” ได้อย่างน่าฟังและลึกซึ้งมาก มูลนิธิที่นาบอกว่าจะถอดเทปการบรรยายในโครงการนี้ออกมารวมเล่มเป็นหนังสือ ต้องคอยติดตามต่อไป ผู้เขียนจะโพสแจ้งที่นี่เมื่อหนังสือเสร็จ

(ถ้าใครไม่เคยได้ยินเรื่อง “เกษตรประณีต” สงสัยว่าคืออะไร มีที่ดินเพียงหนึ่งไร่ก็เลี้ยงครอบครัวได้จริงหรือ ขอเชิญดาวน์โหลดรายงาน “โครงการวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมประณีต ๑ ไร่” [PDF, 49 หน้า] ได้จากที่นี่ – ขอขอบคุณข้อมูลจากบล็อกคุณ Golb)

ถ้าใครสนใจ เชิญดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายที่ใช้ (จริงๆ แล้วแก้ไขปรับปรุงหลังจบงานเล็กน้อย เพื่อรวมบางประเด็นที่พูดปากเปล่า) ได้ที่นี่ (อยู่ในหน้า Writings ของบล็อกนี้แล้ว): สไลด์ประกอบการบรรยาย (PDF version) และ Powerpoint version เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้

ถ้าไม่อยากดาวน์โหลดสไลด์ ลองอ่านออนไลน์จาก Slideshare.net ข้างล่างก็ได้: