เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดู “แสงศตวรรษ” (ชื่อภาษาอังกฤษ Syndrome and a Century) ที่สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Francais) ถนนสาทร ต้องขอขอบคุณหน่องและหญิงแห่งโอเพ่นที่หาบัตรมาให้ผู้เขียนกับเพื่อน ครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ เพราะ “แสงศตวรรษ” เป็นหนังไทยที่ไปชนะรางวัลนานาชาติมากมาย แต่กลับไม่เคยได้ฉายในประเทศไทยเพราะไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์ และผู้กำกับคือคุณอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ไม่ยอมตัดฉากที่กองเซ็นเซอร์บอกให้ตัด (ถ้าเป็นหนังของผู้เขียน ผู้เขียนก็คงไม่ยอมตัดเหมือนกัน) หนังก็เลยต้องมาฉายในพื้นที่ของสมาคมฝรั่งเศส เพราะบริเวณสถานทูตฝรั่งเศสถือเป็นอธิปไตยของประเทศฝรั่งเศส ไม่ใช่ของประเทศไทย ดังนั้นถ้าว่ากันตามข้อกฎหมายแล้ว “แสงศตวรรษ” จึงฉายในเขตแดนฝรั่งเศส กองเซ็นเซอร์อย่ามายุ่ง!
ต้องขอขอบคุณสมาคมฝรั่งเศสที่เปิดโอกาสให้คนไทยจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสดูหนังไทยดีๆ ที่เพื่อนร่วมชาติกว่าหกสิบล้านคนไม่ได้ดู คุณอภิชาตพงศ์พูดสั้นๆ ก่อนหนังฉายว่า ปีหน้าหนังเรื่องนี้คงวางขายในรูปดีวีดี แต่ดูในจอเล็กๆ ก็ไม่ได้บรรยากาศเหมือนกับดูในโรงร่วมกับคนอื่นๆ อย่างนี้
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดู “แสงศตวรรษ” (ชื่อภาษาอังกฤษ Syndrome and a Century) ที่สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Francais) ถนนสาทร ต้องขอขอบคุณหน่องและหญิงแห่งโอเพ่นที่หาบัตรมาให้ผู้เขียนกับเพื่อน ครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ เพราะ “แสงศตวรรษ” เป็นหนังไทยที่ไปชนะรางวัลนานาชาติมากมาย แต่กลับไม่เคยได้ฉายในประเทศไทยเพราะไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์ และผู้กำกับคือคุณอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ไม่ยอมตัดฉากที่กองเซ็นเซอร์บอกให้ตัด (ถ้าเป็นหนังของผู้เขียน ผู้เขียนก็คงไม่ยอมตัดเหมือนกัน) หนังก็เลยต้องมาฉายในพื้นที่ของสมาคมฝรั่งเศส เพราะบริเวณสถานทูตฝรั่งเศสถือเป็นอธิปไตยของประเทศฝรั่งเศส ไม่ใช่ของประเทศไทย ดังนั้นถ้าว่ากันตามข้อกฎหมายแล้ว “แสงศตวรรษ” จึงฉายในเขตแดนฝรั่งเศส กองเซ็นเซอร์อย่ามายุ่ง!
ต้องขอขอบคุณสมาคมฝรั่งเศสที่เปิดโอกาสให้คนไทยจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสดูหนังไทยดีๆ ที่เพื่อนร่วมชาติกว่าหกสิบล้านคนไม่ได้ดู คุณอภิชาตพงศ์พูดสั้นๆ ก่อนหนังฉายว่า ปีหน้าหนังเรื่องนี้คงวางขายในรูปดีวีดี แต่ดูในจอเล็กๆ ก็ไม่ได้บรรยากาศเหมือนกับดูในโรงร่วมกับคนอื่นๆ อย่างนี้
ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคุณอภิชาตพงษ์จึงพูดเสียงสั่นเครือน้อยๆ ตอนที่บอกว่าดีใจที่ได้ฉายให้คนไทยดู แต่เมื่อดูหนังจบแล้วก็พอจะเข้าใจได้ เพราะ “แสงศตวรรษ” เป็นหนังที่ไม่เพียงแต่ “ดูง่าย” ที่สุดในบรรดาหนังทุกเรื่องที่ผ่านมาของคุณอภิชาตพงษ์เท่านั้น (ผู้เขียนได้ดูทุกเรื่องยกเว้น “หัวใจทระนง”) แต่ยังเป็นหนังที่ถ่ายทอดความงดงามของเมืองไทย ความเชื่อแบบไทยๆ (เช่น เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด) และความจริงใจที่งดงามแบบ “บ้านๆ” ของคนไทย ได้อย่างน่าประทับใจเรื่องหนึ่ง
หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง “15 ค่ำ เดือน 11” สุดยอดหนังไทยอีกเรื่องของคุณจีระ มะลิกุล ที่ดูแล้วทำให้รู้สึกภูมิใจในความเป็นไทย ถึงแม้ว่า “ความเป็นไทย” ที่ผู้เขียนรู้สึกจะไม่เหมือนกับความเป็นไทยฉบับทางการที่กระทรวงวัฒนธรรมชอบยัดเยียดให้ และถึงแม้ว่า “ความเป็นไทย” นั้นจะเป็นความรู้สึกมากกว่าชุดข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ให้นิยามยากก็ตามที ผู้เขียนก็รู้สึกว่าถ้าจะมีหนังไทยเรื่องไหนที่ผู้เขียนอยากให้ฝรั่งได้ดูแทนคำอธิบายว่าเหตุใดจึงรักเมืองไทย “แสงศตวรรษ” คงเป็นหนึ่งในหนังจำนวนนั้น เพราะหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดความจริงใจและความใจกว้างของคนไทยได้อย่างจริงใจและใจกว้างไม่แพ้กัน
แม้กระทั่งฉากธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังได้รับการถ่ายทอดในหนังเรื่องนี้อย่างบรรจง จริงใจ และสวยงามแบบเรียบง่าย (เรียบง่ายจนผู้เขียนผล็อยหลับไปด้วยความจริงใจเหมือนกันประมาณห้านาที เพราะกล้องแช่ที่ภาพทางเดินภายในโรงพยาบาลนานเหลือเกิน) สิ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือการ “แช่กล้อง” โฟกัสที่หน้าตัวละครคนใดคนหนึ่ง ขณะที่ตัวละครคนอื่นๆ คุยกันอยู่ในฉากหลัง ให้ความรู้สึกเหมือนได้ดูจิตรกรรมแบบภาพนิ่งหรือ still life สวยๆ ติดต่อกันทั้งเรื่อง (และก็ทำให้พอเข้าใจสิ่งที่คุณอภิชาตพงษ์เกริ่นก่อนหนังฉายว่า อยากให้ดูหนังเรื่องนี้เหมือนอ่านอัลบั้มรูป)
ก่อนดูหนัง ผู้เขียนเคยอ่านข่าวมาแล้วว่า ฉากในหนังสี่ฉากที่ไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ ได้แก่ 1) ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ 2) ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ 3) ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ก่อนจะต้องจากกันเมื่อฝ่ายหญิงต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัด และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน ….ซึ่งตอนแรกที่อ่านข่าวนี้ ผู้เขียนก็รู้สึกว่ากองเซ็นเซอร์ “งี่เง่า” มากแล้ว เพราะ “ไม่เห็นมีอะไร” อุบาทว์หรืออนาจารจนน่าจะต้องเซ็นเซอร์ แต่พอดูหนังจบ ผู้เขียนก็รู้สึกว่ากองเซ็นเซอร์ไม่เพียงแต่ “งี่เง่า” อย่างเดียว แต่ยัง “ไม่เข้าใจศิลปะ” เอาเสียเลย เพราะไม่มีอะไรใน “แสงศตวรรษ” ที่เยาะเย้ย เหยียดหยาม หรือสะท้อนภาพของพระและหมอ – สองอาชีพที่คนไทยเคารพนับถือมาก – ในทางเสียหายเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม “ความเป็นมนุษย์” ของพระและหมอที่หนังเรื่องนี้ฉายให้เราดูอย่างจริงใจไม่ดัดจริต ผ่านฉากต่างๆ ที่กองเซ็นเซอร์บอกว่า “ไม่เหมาะสม” นั่นเอง ที่เป็นสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้งดงาม และเป็นมากกว่าความบันเทิงชั่วครู่ยามเหมือนหนังไทยส่วนใหญ่
“แสงศตวรรษ” เป็นหนังไทยที่ทำด้วยความรัก เป็นหนังที่ทำให้คนไทยรู้สึกภูมิใจที่เป็นคนไทย และดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่คนไทยทั้งประเทศจะได้ดู จะได้รู้ว่าหนังเรื่องนี้ “มีดี” อย่างไร ถึงได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย ถ้าคนไทยได้ดูหนังเรื่องนี้ หลายคนอาจจะได้รู้จักวิธี “รักชาติ” อย่างสร้างสรรค์เหมือนคุณอภิชาติพงษ์กันบ้าง ไม่ใช่รักชาติแบบใจแคบที่แสดงออกด้วยการด่าทอคนที่ไม่ใส่เสื้อเหลือง หรือไม่ชอบพรรคการเมืองเดียวกับตัวเอง ว่าเป็นพวก “ไม่รักชาติ”
ผู้เขียนคิดว่า กองเซ็นเซอร์เองนั่นแหละที่ “ไม่รักชาติ” เพราะถ้ารักชาติจริง ก็ต้องอยากให้คนไทยทุกคนได้ดูหนังดีที่แสดงความงดงามของเมืองไทยและคนไทยได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดเรื่องนี้
แต่มาคิดดูอีกที สังคมที่พระและประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงจิตรกรรมที่ตีแผ่ความเหลวแหลกของสถาบันสงฆ์ คนส่วนใหญ่นับหน้าถือตาคนมีเงินที่ขี้โกงมากกว่าคนจนที่ซื่อสัตย์ และ “ผู้ใหญ่” จำนวนมากด่าเด็กวัยรุ่นรายวันว่าแต่งตัวโป๊ มั่วเซ็กซ์ ฯลฯ แต่ตัวเองกลับมีกิ๊ก อีหนูและเมียน้อยจำนวนมาก และคนไม่น้อยก็มองว่าเป็น “เรื่องธรรมดา” ของผู้มีอำนาจ – ในสังคมแบบนี้ ก็คงไม่น่าแปลกใจที่หนังดีอย่าง “แสงศตวรรษ” จะถูกเซ็นเซอร์ เพราะมันก็เป็นเพียงอีกหนึ่งพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอก ในสังคมหน้าไหว้หลังหลอกเท่านั้นเอง
เสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ได้ดู “แสงศตวรรษ” – หนังดีที่ทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันที่เรามักจะมองข้ามไป
งานสร้างสรรค์ชิ้นใดก็ตามที่ทำเช่นนั้นได้ ย่อมคู่ควรกับคำว่า “ศิลปะ” ด้วยประการทั้งปวง
นักแสดงฮอลลีวูดคนหนึ่งที่ผู้เขียนจำชื่อไม่ได้แล้ว เคยกล่าววาทะอมตะว่า “Let’s have art, and let’s have entertainment.”
เมืองไทยมีสิ่งบันเทิงมากเกินพอแล้ว เผื่อพื้นที่ให้กับงานศิลปะดีๆ บ้างจะได้ไหม?
จากใจคนไทยคนหนึ่งที่เชื่อว่าศิลปะจำเป็นต่อชีวิต.
หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดการเซ็นเซอร์ได้ในสรุปงานสัมมนาประเด็นนี้, บทความในนิตยสาร TIME, และอ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ชั้นยอดโดยคุณ Filmsick ได้ในโอเพ่นออนไลน์