โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก

โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก
โดย ธงชัย วินิจจะกูล ลิ้งก์ในบทความเพิ่มเติมโดยเจ้าของบล็อก

1. เดินไปไหน?

คนส่วนใหญ่คงกำลังเบื่อการเมืองจนสุดจะทน และคงอยากไปให้พ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดเสียที

โฆษณาอื้อฉาวของ สสร. เป็นการหากินกับความเบื่อหน่ายของประชาชน คือ พยายามสื่อสารว่า “รับซะจะได้เดินหน้าสู่ภาวะปกติ (คือ มีการเลือกตั้ง) ซะที”

แม้แต่ปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ยังบอกว่าจะลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช. ทั้งๆ ที่เห็นว่าเนื้อหาถอยหลัง แต่เพราะอยากไปให้พ้นความน่าอึดอัด อยากเดินหน้าซะที

ปัญหามีอยู่ว่า จะเดินไปทางไหน? การลงมติรับจะไปพ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดได้จริงหรือ?

หลายคนเคยต้อนรับการรัฐประหาร 19 กันยา เพราะเชื่อว่าจะได้พ้นไปจากความตึงเครียดของวิกฤตการเมืองเสียที กว่าปีที่ผ่านมา คงประจักษ์แล้วว่า ความขัดแย้งตึงเครียดมิได้หมดไป อาจแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

ข้อที่ว่าต้องการเดินหน้านั้นก็มีปัญหาว่า เรากำลังหันหน้าไปถูกทางหรือเปล่า หรือกำลังหันกลับไปหายุคทหารครองเมือง เพราะหากเรากำลังหันหลังให้ประชาธิปไตยอยู่ ยิ่งเดินหน้าคือยิ่งผิดทาง

สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ หันหน้าให้ถูกทางเสียก่อน

2. จำยอมถอยหลัง?

ความเสียหายใหญ่หลวงนับจาก 19 กันยาปีก่อน ไม่ได้อยู่ที่ความหน่อมแน้มของรัฐบาล แต่การรัฐประหารและกฎหมายต่างๆ ที่พยายามสถาปนาระบอบทหารนั่นแหละคือความเสียหายที่สุด

คนที่หวังว่ารัฐประหารจะเป็นการกดปุ่มเริ่มประชาธิปไตยกันใหม่นั้น คงเห็นอยู่ตำตาว่า ประชาธิปไตยกำลังผลิบาน หรือการเมืองไทยกลับถอยกรูดสู่ยุคทหารครองเมืองกันแน่

พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กองทัพ จะผลักการเมืองไทยย้อนหลังไปอย่างน้อยๆ 30 ปี รัฐธรรมนูญ คมช. ไม่ไว้ใจประชาชน แต่กลับฝากความหวังสุดๆ ไว้กับตุลาการและวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้ระบบการปกครองที่มีทหารคุมอยู่ทุกจุด การรื้อฟื้นอำนาจอำมาตยาธิปไตยท้องถิ่น การเพิ่มงบลับงบเปิดให้กองทัพมหาศาลเหมือนยุคเผด็จการแต่ก่อน การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของทหารรังแกประชาชน เช่น กรณีปิดเขื่อนปากมูน และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดนี้เป็นการถอยกรูดกลับไปหายุคทหารครองเมืองชัดเจน ไม่มีทางปฏิเสธได้ และอาจต้องสู้กันอีกหลายชีวิตกว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้

การลงมติรับเพื่อเดินหน้าในขณะนี้จึงเป็นการยอมจำนนว่า ยุคทหารครองเมืองคือการถอยหลังที่เราต้องยอมรับอย่างสงบเสงี่ยม


โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก
โดย ธงชัย วินิจจะกูล ลิ้งก์ในบทความเพิ่มเติมโดยเจ้าของบล็อก

1. เดินไปไหน?

คนส่วนใหญ่คงกำลังเบื่อการเมืองจนสุดจะทน และคงอยากไปให้พ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดเสียที

โฆษณาอื้อฉาวของ สสร. เป็นการหากินกับความเบื่อหน่ายของประชาชน คือ พยายามสื่อสารว่า “รับซะจะได้เดินหน้าสู่ภาวะปกติ (คือ มีการเลือกตั้ง) ซะที”

แม้แต่ปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ยังบอกว่าจะลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช. ทั้งๆ ที่เห็นว่าเนื้อหาถอยหลัง แต่เพราะอยากไปให้พ้นความน่าอึดอัด อยากเดินหน้าซะที

ปัญหามีอยู่ว่า จะเดินไปทางไหน? การลงมติรับจะไปพ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดได้จริงหรือ?

หลายคนเคยต้อนรับการรัฐประหาร 19 กันยา เพราะเชื่อว่าจะได้พ้นไปจากความตึงเครียดของวิกฤตการเมืองเสียที กว่าปีที่ผ่านมา คงประจักษ์แล้วว่า ความขัดแย้งตึงเครียดมิได้หมดไป อาจแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

ข้อที่ว่าต้องการเดินหน้านั้นก็มีปัญหาว่า เรากำลังหันหน้าไปถูกทางหรือเปล่า หรือกำลังหันกลับไปหายุคทหารครองเมือง เพราะหากเรากำลังหันหลังให้ประชาธิปไตยอยู่ ยิ่งเดินหน้าคือยิ่งผิดทาง

สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ หันหน้าให้ถูกทางเสียก่อน

2. จำยอมถอยหลัง?

ความเสียหายใหญ่หลวงนับจาก 19 กันยาปีก่อน ไม่ได้อยู่ที่ความหน่อมแน้มของรัฐบาล แต่การรัฐประหารและกฎหมายต่างๆ ที่พยายามสถาปนาระบอบทหารนั่นแหละคือความเสียหายที่สุด

คนที่หวังว่ารัฐประหารจะเป็นการกดปุ่มเริ่มประชาธิปไตยกันใหม่นั้น คงเห็นอยู่ตำตาว่า ประชาธิปไตยกำลังผลิบาน หรือการเมืองไทยกลับถอยกรูดสู่ยุคทหารครองเมืองกันแน่

พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กองทัพ จะผลักการเมืองไทยย้อนหลังไปอย่างน้อยๆ 30 ปี รัฐธรรมนูญ คมช. ไม่ไว้ใจประชาชน แต่กลับฝากความหวังสุดๆ ไว้กับตุลาการและวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้ระบบการปกครองที่มีทหารคุมอยู่ทุกจุด การรื้อฟื้นอำนาจอำมาตยาธิปไตยท้องถิ่น การเพิ่มงบลับงบเปิดให้กองทัพมหาศาลเหมือนยุคเผด็จการแต่ก่อน การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของทหารรังแกประชาชน เช่น กรณีปิดเขื่อนปากมูน และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดนี้เป็นการถอยกรูดกลับไปหายุคทหารครองเมืองชัดเจน ไม่มีทางปฏิเสธได้ และอาจต้องสู้กันอีกหลายชีวิตกว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้

การลงมติรับเพื่อเดินหน้าในขณะนี้จึงเป็นการยอมจำนนว่า ยุคทหารครองเมืองคือการถอยหลังที่เราต้องยอมรับอย่างสงบเสงี่ยม

3. รัฐธรรมนูญ คมช.จะพาประเทศไทยไปทางไหน?

รัฐธรรมนูญของ คมช. เป็นการสถาปนาระบอบทหารหรืออำมาตยาธิปไตยที่ไม่ให้โอกาสแก่สังคมประชาธิปไตย ได้เรียนรู้ปรับตัวแก้ปัญหาตามกระบวนการ ไม่ไว้ใจประชาชนแต่กลับเชื่อถือให้อำนาจแก่อภิชน ขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ เป็น Guided Democracy แบบหนึ่งซึ่งก่อความเสียหายมหาศาลมาแล้วในหลายประเทศ

ระบอบการเมืองถอยหลังแบบนี้จะส่งผลต่อประเทศชาติในระยะยาวอย่างไร?

ผู้เขียนมีข้อคาดการณ์เพื่อการถกเถียงว่า ระบบการเมืองย้อนยุคเช่นนี้ อาจทำให้ไทยอยู่ในภาวะคล้ายฟิลิปปินส์ กล่าวคือ ตกต่ำจากที่เคยเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นแค่ประชาธิปไตยปลอมๆ ในอุ้งมือทหาร การเมืองจะทุลักทุเลไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง จนเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ

เพราะอำมาตยาธิปไตยไม่สามารถรับมือกับความซับซ้อนผันแปรของสังคมสมัยนี้ที่เต็มไปด้วยความคิดและผลประโยชน์ต่างๆ กันมหาศาลได้ เพราะผู้นำทหาร อภิชน ขุนนางราชการผู้ใหญ่หลงตนเองว่าสูงส่งรู้รอบกว่าประชาชน และติดอยู่กับความคิดว่าประเทศชาติคือครอบครัวขนาดใหญ่ที่พวกเขาต้องดูแลแบบพ่อบ้าน

ระบอบการเมืองนี้ยังเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชั่นขนานใหญ่และการใช้อำนาจฉ้อฉลอย่างฝังราก เพราะใช้ความกลัวบวกบารมีปกครองจนประชาชนและสื่อมวลชนยอมจำนน ปิดปากต่อความฉ้อฉลของขุนนางและอภิชนน้อยใหญ่ทั้งหลาย

ต่างกับนักการเมืองซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนจ้องตรวจสอบได้เสมอไม่ว่าจะเกลียดแค่ไหนก็ตาม

ที่สำคัญที่สุด และไม่กล้าพูดถึงกัน ทั้งๆ ที่ซุบซิบกันทุกวี่วันก็คือ ความผันผวนในสังคมไทยกำลังมาถึงแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ ในภาวะเช่นนั้นทหาร อภิชน ขุนนางและหางเครื่องทั้งหลายจะยิ่งเถลิงอำนาจด้วยข้ออ้างความมั่นคง ซึ่งจะยิ่งฉุดการเมืองไทยให้จมปลักลงไปอีก

ระบบการเมืองล้าหลังเช่นนั้นจะเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ไม่ช้าก็เร็ว เพราะเป็นระบบการเมืองที่ฝืนการเปลี่ยนแปลง ความผันผวนไม่แน่นอนจะสะสมรอการระเบิด

ระบบการเมืองล้าหลังบวกความผันผวนไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องคือสูตรของความตกต่ำครั้งใหญ่

ดังนั้นยิ่งปล่อยให้อภิชนอำมาตยาธิปไตยอยู่ในอำนาจนานเท่าไร จะยิ่งกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต

การเดินหน้าขอเพียงให้พ้นความอึดอัดแบบปัจจุบัน จึงเป็นแค่การซื้อเวลาชั่วคราวเท่านั้นเอง

หากมองจากอนาคตย้อนเวลามาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จะพิสูจน์ว่า การถอยหลังถลำลึกคราวนี้เป็นก้าวผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของสังคมไทย

4. โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติ

มีหลายคนออกมาตำหนิฝ่ายปฏิเสธรัฐธรรมนูญ คมช. ว่าไม่ทันดูเนื้อหาก็ปฏิเสธซะก่อนแล้ว

ท่านเหล่านี้มีสติปัญญาพอที่จะรู้อยู่ว่า ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่สาเหตุของการยึดอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลย แต่ต้องร่างใหม่ตามธรรมเนียมให้ดูเหมือนว่า คมช.ต้องการประชาธิปไตย

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ คมช. ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม อ.เสน่ห์ จามริก ยังยอมรับว่าถอยหลังกว่าเดิม แถมยังไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทยเลยสักนิด แม้แต่ผู้หนุน คมช. อย่าง อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังยอมรับว่า การรัฐประหารคงมีอีก และอำนาจทหารคงอยู่ไปอีกนาน

ประเด็นสำคัญขณะนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่เนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญอย่างที่คมช. พยายามตีกรอบ

โจทย์ที่แท้จริงคือ คำถามว่าจะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

ผู้คนที่เบื่อหน่ายกับการเมืองอยู่ในขณะนี้ คงไม่ได้ตัดสินใจรับหรือไม่รับเพราะรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ต่อให้เนื้อหาถอยหลังกว่าเดิมก็อาจจะรับ หากเขาเชื่อว่าเป็นหนทางออกไปให้พ้นภาวะอึดอัดในปัจจุบัน

คนที่หนุนคมช. และเกลียดทักษิณมาก จะลงมติรับโดยไม่ได้สนใจรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะสิ่งที่คนพวกนี้ต้องการ คือการยืนยันว่ารัฐประหารที่ตนสนับสนุนเป็นสิ่งถูกต้อง ยืนยันว่าตนเองไม่ได้คิดผิดทำผิด เชียร์มาแล้วก็ต้องเชียร์ต่อไปให้ตลอดรอดฝั่ง บริกรและหางเครื่องของ คมช. ต้องเกาะระบอบทหารเพราะกลัวโดนคิดปัญชี ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเลย

กระทั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสสร. เองก็ไม่สนใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

โจทย์ที่แท้จริงขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดของรัฐธรรมนูญคมช. แต่อยู่ที่คำถามว่าจะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

เกษียร เตชะพีระ กล่าวได้ถูกต้องว่า อย่าดูเพียงแค่รายละเอียดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องดูทั้ง “แพคเกจ” ว่าระบอบคมช. ได้ผลักดันกฎหมายสำคัญเพื่อสถาปนาอำนาจยุคทหารครองเมืองอีกครั้ง การเลือกตั้ง สภาและประชาธิปไตยหลังจากนี้จะเป็นแค่ไม้ประดับเพื่อให้ระบอบทหารครองเมืองยุคนี้ดูดีขึ้นแค่นั้นเอง

แต่ คมช.และลูกคู่บริกรทั้งหลายต้องป่าวร้องเน้นให้ดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ เพราะ คมช. กลัวการที่ประชาชนจะมองเห็นโจทย์ที่แท้จริงแล้วเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ คมช. ต้องการตีกรอบจำกัดความหมายของการลงประชามติไม่ให้กลายเป็นการประท้วงระบอบทหาร

5. เปลี่ยนประชามติเป็นการต่อสู้กับระบอบทหาร

การลงประชามติที่จะมาถึงเต็มไปด้วยการขู่ขวัญทางการเมือง เช่น

“ไม่รับก็ไม่มีเลือกตั้ง ไม่รับก็ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ถ้าไม่เอาฉบับที่อยู่ตรงหน้า ก็อาจได้ฉบับซ่อนข้างหลังที่เลวกว่า ไม่รับจะยิ่งวุ่นวาย ใครไม่รับคือพวกไม่รักชาติ”

ทั้งหมดนี้คล้ายกับเจ้าพ่อมาเฟียยื่นข้อเสนอที่ห้ามเราปฏิเสธ ทั้งขู่ขวัญว่าหากปฏิเสธอาจเจ็บตัวและสิ่งเลวร้ายอาจเกิดกับเราก็ได้

แถมยังเป็นการลงประชามติโดยที่กว่าครึ่งประเทศยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารคุมหมดทุกอย่าง

นี่มันประชามติแบบมาเฟียชัดๆ ไม่กล้าพอแม้แต่จะสู้กันอย่างแฟร์ๆ

ทำราวกับประชาชนเป็นคนในบังคับเจ้าพ่อ หรือเป็นนักโทษในประเทศตัวเองโดยมีผู้คุมชื่อ คมช.

แทนที่นักวิชาการหรือนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญจะออกมาท้วงติงท่าทีแบบมาเฟียอันน่ารังเกียจเหล่านี้ หลายคนกลับออกมารับอย่างหงอๆ ว่า ควรลงมติรับเพราะไม่อยากให้แย่ไปกว่านี้

แทนที่จะตำหนิการขู่ขวัญ หลายคนกลับทำท่าวางตัวเป็นกลางระหว่างมาเฟียกับผู้ถูกรังแก พวกเขาพากันหดหัวสงบเสงี่ยมกับคำขู่ฟอดๆ ของผู้มีอำนาจ บางคนอวดเบ่งร่วมตะคอกซ้ำใส่ผู้เสียเปรียบ

แทนที่จะเรียกร้องให้เลิกขู่ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกให้หมด และสู้กันอย่างแฟร์ๆ อย่าใช้เงินภาษีโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายเดียว พวกเขากลัวทหารยิ่งกว่ากลัวนักการเมือง แต่ไม่กล้ายอมรับ

ประชามติแบบมาเฟียสะท้อนเป็นอย่างดีถึงอำนาจแบบมาเฟียที่ปกครองคนด้วยความกลัวในขณะนี้

แต่ทว่าในสถานการณ์ที่ไม่มีช่องทางอื่นมากนักในการต่อสู้กับอำนาจทหาร และไม่มีโอกาสลงประชามติว่าจะเอาระบอบทหารหรือไม่ ประชาชนกลับสามารถต่อสู้ด้วยการรณรงค์เปลี่ยนโจทย์เปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ ช่วงชิงให้กลายเป็นการออกเสียงประท้วงปฏิเสธระบอบทหาร

รณรงค์ตรงไปตรงมาว่า ร่วมประท้วงปฏิเสธระบอบทหารด้วยเสียงไม่รับรอง ในทิศทางที่เครือข่าย 19 กันยาทำอยู่นั่นแหละ

การต่อสู้ด้วยการเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ คือการปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในกรอบของคมช. จึงไม่ใช่การยอมรับหรือให้ความชอบธรรมแก่กระบวนการของคมช.แต่อย่างใด

ลูกคู่หน้าใสของ คมช. กลัวการที่ประชามติกำลังถูกเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นการออกเสียงประท้วงปฏิเสธระบอบทหาร ถึงกับต้องออกมายุแยงว่าถ้าค้านการรัฐประหารก็อย่ามาร่วมการลงประชามติ และพยายามตีกรอบว่าประชามติเป็นแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ ห้ามให้ความหมายไกลกว่านั้น

ต่อให้ผลของประชามติออกมาตามคณะทหารจัดแจงไว้ล่วงหน้า ก็มิได้หมายความว่าเสียงปฏิเสธระบอบทหารเหล่านี้ต้องเปลี่ยนความคิดหรือยอมหุบปากหรือยอมรับระบอบทหารปัจจุบันหรือหลังจากนี้ ย่อมมีสิทธิที่จะยืนยันความคิดของตนและต่อสู้ต่อไป

การจัดประชามติแบบมาเฟียทำนองนี้มีมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก กรณีที่ประชาชนช่วงชิงเอามาเป็นการประท้วงคณะทหารจนสำเร็จก็มี อาทิ เช่น ที่ชิลีในปี1988 ซึ่งจอมเผด็จการปิโนเชต์หวังใช้ประชามติสร้างความชอบธรรมแก่การต่ออายุอำนาจของคณะทหาร ฝ่ายต่อต้านเผด็จการขัดแย้งกันในระยะแรกว่าจะร่วมลงประชามติดีหรือไม่ แต่ในที่สุดพวกเขารวมพลังสำเร็จ แม้จะถูกข่มขู่รังแกสารพัด ประชาชนชาวชิลีข้างมากลงประชามติไม่ต้องการให้คณะทหารสืบอำนาจอีกต่อไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอวสานของปิโนเชต์

ประชาชนพม่าที่ลงคะแนนให้พรรค N.L.D. ของอองซานซูจีเมื่อปี 1989 ก็เช่นกัน พวกเขารู้อยู่เต็มอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมและแบบมาเฟีย คือคณะทหารข่มขู่ตลอดเวลาว่าหากเลือกพรรค N.L.D. พม่าจะไม่มีวันกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่แล้วชาวพม่าอาศัยการเลือกตั้งแบบมาเฟียนั่นเองเป็นการออกเสียงประท้วงอำนาจเผด็จการทหาร ด้วยการเลือก N.L.D. จนชนะถล่มทลาย

6. ทางเลือก

การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ ท่านคิดอย่างไรกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย กล่าวคือ

1) หากท่านเห็นว่าระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยเหมาะสมดีกับสังคมไทยต่อไปนานๆ และ/หรือ ท่านเกลียดการเลือกตั้ง เกลียดนักการเมืองเข้ากระดูกดำ ท่านควรลงมติรับรัฐธรรมนูญ คมช. ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของอภิชนและขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายผ่่านทางวุฒิสภาและตุลาการทั้งหลาย

2) หากท่านเชื่อว่าอำนาจเก่าของระบอบทักษิณจะกลับมา และจะพาประเทศสู่ความวิบัติฉิบหาย แถมประชาชนไม่ฉลาดพอจะรับมือได้ ระบบการเมืองอภิชนอำมาตยาธิปไตยพอรับได้มากกว่า ท่านควรลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช.

3) หากท่านไม่ชอบ แต่ไม่ถึงขนาดเกลียดกลัวทั้งระบอบทักษิณและ คมช. แต่ท่านเห็นว่าการปกครองโดยคณะทหารมาไกลพอแล้ว หากมากกว่านี้ นานกว่านี้ อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ ท่านควรส่งเสียงดังให้ คมช. รู้ว่าพอแล้ว ไปได้แล้ว ด้วยการลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ คมช. และร่วมเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540

4) หากท่านปฏิเสธอำนาจเก่าคร่ำครึของระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตย และ/หรือเห็นว่าการรัฐประหาร 19 กันยาและระบอบ คมช. เป็นความผิดพลาด ท่านควรลงมติไม่รับ ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบทักษิณก็ตาม

5) หากท่านยังลังเลระหว่างอำนาจเก่าของทักษิณ กับอำนาจเก่ากว่าของระบอบทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ การตัดสินใจของท่านขึ้นอยู่กับการประเมินของท่านว่า

– ทักษิณน่ากลัวขนาดไหน และมีโอกาสกลับมาอีกมากน้อยแค่ไหน
– ระบอบทหารและข้าราชการผู้ใหญ่จะเป็นทางออกหรือเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยไทยกันแน่แค่ไหน ระบอบนี้กำลังมีอำนาจอยู่และมีโอกาสอยู่ต่อไปอีกนาน ท่านต้องการเช่นนั้นหรือไม่

7. ไม่รับรัฐธรรมนูญคือ การปฏิเสธระบอบทหาร

การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ ท่านคิดอย่างไรกับระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญจึงเป็นการออกเสียงต่อระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

เราท่านส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกขี่หลังเสือจนต้องกลัวโดนคิดบัญชีกลับอย่างผู้มีอำนาจใน คมช. ผู้นำพันธมิตรฯ หรือบริกรทั้งหลายของ คมช. แต่เราท่านส่วนใหญ่คือประชาชนผู้ต้องทนอยู่กับผลกระทบของปัจจุบันไปอีกนานในอนาคต

การลงประชามติที่กำลังจะมาถึง แม้จะเป็นประชามติแบบมาเฟีย แต่ก็เป็นโอกาสที่จะต่อสู้อย่างสันติเพื่อส่งเสียงว่าเราต้องการอนาคตแบบไหน

คิดให้รอบคอบ คิดให้ไกล และกล้าหาญ

อย่าคิดเพียงแค่ว่าการลงมติรับจะเป็นการหลุดพ้นจากความอึดอัดปัจจุบัน เพราะแท้ที่จริงเป็นแค่การซื้อเวลาเพื่อรอการระเบิดในอนาคต

อย่า “หงอ” กับท่าทีแบบมาเฟียที่ขู่เราว่า “ไม่รับอาจเจ็บตัว” หรือมีดาบซ่อนอยู่ข้างหลัง

ขอทุกท่านที่ไม่ต้องการระบอบทหารครองเมือง มาร่วมกันออกเสียง “ไม่รับ” เพื่อบอกทหารว่า

“กลับกรมกองเสียเถิด อย่าให้ประเทศชาติพินาศไปกว่านี้เลย”