โลกของจุดปลาย: สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเป็น และวิธีเลิกเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างอื่น

วันนี้พักผ่อนด้วยการแปลบทความคลาสสิกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เพราะการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปิดเว็บ โครงการ Cyber Scout ฯลฯ ในปัจจุบันเผยให้เห็นความเข้าใจผิดที่ยังแพร่หลายในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้ทู่ซี้ใช้วิธีที่ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายที่อยากบรรลุ ยังไม่ต้องพูดกันในระดับหลักการว่า “ควรทำ” หรือไม่อย่างไร (ถ้ามีเวลาจะค่อยๆ เรียบเรียงประเด็นนี้ แต่โดยสรุปคือ – การอธิบายให้รัฐเข้าใจว่าสิ่งที่พยายามทำอยู่นั้นเปลืองเงินเปล่าๆ น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการพยายามเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิด ซึ่งยากมาก)

ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น PDF เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ ได้ที่นี่ (12 หน้า)

โลกของจุดปลาย
สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเป็น และวิธีเลิกเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างอื่น

แปลจาก “World of Ends: What the Internet Is and How to Stop Mistaking It for Something Else” โดย Doc Searls and David Weinberger, 10 มีนาคม 2003 แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 31 กรกฏาคม 2553

โลกนี้มีความผิดพลาด มีหลายสิ่งที่คนทำพลาด

เราเรียนรู้จากความผิดพลาดบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่าการขายของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงบนเว็บคือเส้นทางเศรษฐีที่เยี่ยมยอด เราจะไม่คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

แต่ความผิดพลาดอย่างอื่นเราทำซ้ำซาก ยกตัวอย่างเช่น การคิดว่า –

…เว็บเหมือนกับโทรทัศน์ คือเป็นวิธีสะกดลูกตาให้อยู่นิ่งๆ ระหว่างที่นักโฆษณาพ่นสารใส่หน้าคนดู

…เน็ตคือสิ่งที่บริษัทโทรคมนาคมและเคเบิลควรคัดกรอง ควบคุม และ “ปรับปรุง” ด้วยวิธีต่างๆ นานา

…เป็นเรื่องแย่ที่ผู้ใช้สื่อสารข้ามระบบสื่อสารทันควันต่างชนิดบนเน็ต

…เน็ตประสบปัญหาจากการที่ไม่มีกฏเกณฑ์ควบคุม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่รู้สึกว่าถูกมันคุกคาม

เราหลายคนเกิดอาการผิดพลาดซ้ำซากเวลาพูดถึงเน็ต โดยเฉพาะนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน เคเบิลทีวี อุตสาหกรรมดนตรี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมโทรศัพท์ หกสาขานี่แค่ตัวอย่างเท่านั้น


วันนี้พักผ่อนด้วยการแปลบทความคลาสสิกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เพราะการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปิดเว็บ โครงการ Cyber Scout ฯลฯ ในปัจจุบันเผยให้เห็นความเข้าใจผิดที่ยังแพร่หลายในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้ทู่ซี้ใช้วิธีที่ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายที่อยากบรรลุ ยังไม่ต้องพูดกันในระดับหลักการว่า “ควรทำ” หรือไม่อย่างไร (ถ้ามีเวลาจะค่อยๆ เรียบเรียงประเด็นนี้ แต่โดยสรุปคือ – การอธิบายให้รัฐเข้าใจว่าสิ่งที่พยายามทำอยู่นั้นเปลืองเงินเปล่าๆ น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการพยายามเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิด ซึ่งยากมาก)

ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น PDF เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ ได้ที่นี่ (12 หน้า)

โลกของจุดปลาย
สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเป็น และวิธีเลิกเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างอื่น

แปลจาก “World of Ends: What the Internet Is and How to Stop Mistaking It for Something Else” โดย Doc Searls and David Weinberger, 10 มีนาคม 2003 แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 31 กรกฏาคม 2553

โลกนี้มีความผิดพลาด มีหลายสิ่งที่คนทำพลาด

เราเรียนรู้จากความผิดพลาดบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่าการขายของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงบนเว็บคือเส้นทางเศรษฐีที่เยี่ยมยอด เราจะไม่คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

แต่ความผิดพลาดอย่างอื่นเราทำซ้ำซาก ยกตัวอย่างเช่น การคิดว่า –

…เว็บเหมือนกับโทรทัศน์ คือเป็นวิธีสะกดลูกตาให้อยู่นิ่งๆ ระหว่างที่นักโฆษณาพ่นสารใส่หน้าคนดู

…เน็ตคือสิ่งที่บริษัทโทรคมนาคมและเคเบิลควรคัดกรอง ควบคุม และ “ปรับปรุง” ด้วยวิธีต่างๆ นานา

…เป็นเรื่องแย่ที่ผู้ใช้สื่อสารข้ามระบบสื่อสารทันควันต่างชนิดบนเน็ต

…เน็ตประสบปัญหาจากการที่ไม่มีกฏเกณฑ์ควบคุม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่รู้สึกว่าถูกมันคุกคาม

เราหลายคนเกิดอาการผิดพลาดซ้ำซากเวลาพูดถึงเน็ต โดยเฉพาะนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน เคเบิลทีวี อุตสาหกรรมดนตรี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมโทรศัพท์ หกสาขานี่แค่ตัวอย่างเท่านั้น

เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรัฐบาลอย่างใหญ่หลวง เราก็พบว่าอาการผิดพลาดซ้ำซากนั้นระบาดในหมู่ผู้ออกกฏหมาย ผู้กำกับดูแล และแม้กระทั่งศาลสถิตยุติธรรม ในปี 2002 อุตสาหกรรมวิทยุบนอินเทอร์เน็ต อุตสาหกรรมใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งมอบทางเลือกให้กับผู้ฟังอย่างมากมายมหาศาลกว่าคลื่นเอเอ็มและเอฟเอ็มที่มีความหลากหลายน้อยลงเรื่อยๆ (และก็เป็นเต่าล้านปีในแง่เทคโนโลยี) ถูกสกัดดาวรุ่งตั้งแต่อ้อนแต่ออก อุตสาหกรรมดนตรีและกฏหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัลแห่งสหัสวรรษ (Digital Millennium Copyright Act: DMCA) ลำเลียงสรรพกำลังและความสะใจแบบนักเลงลูกทุ่งที่ครอบคลุมความหวาดกลัวทั้งหมดที่ไดโนเสาร์แห่งฮอลลีวูดรู้สึกเมื่อพวกเขาล็อบบี้สภาคองเกรสในปี 1998

จอห์น กิลมอร์ (John Gilmore) กล่าวประโยคอันโด่งดังว่า “อินเทอร์เน็ตตีความการเซ็นเซอร์ว่าเป็นความเสียหายและหาทางหลบเลี่ยงมัน” และสิ่งที่เขาพูดก็เป็นเรื่องจริง ในระยะยาว วิทยุบนอินเทอร์เน็ตจะประสบความสำเร็จ ระบบส่งสารทันควันจะใช้ข้ามระบบกันได้ บริษัทที่ปัญญาอ่อนทั้งหลายจะฉลาดขึ้นหรือไม่ก็ล้มหายตายจากไป กฎหมายที่งี่เง่าทั้งหลายจะถูกฆ่าทิ้งหรือทดแทน แต่ก็อย่างที่ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) เคยกล่าวประโยคที่โด่งดังไม่แพ้กันว่า – “ในระยะยาว เราทุกคนล้วนตายหมด”

สิ่งเดียวที่เราต้องทำคือเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไรจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย เน็ตไม่ใช่วิทยาศาสตร์สร้างจรวด เอาเข้าจริงมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ระดับ ป.6 ด้วยซ้ำไป เราจะกำจัดโศกนาฏกรรมของอาการผิดพลาดซ้ำซากได้ภายในชั่วอายุของเรา และประหยัดค่าโง่หลายล้านล้านเหรียญได้ ถ้าเราแค่จดจำข้อเท็จจริงง่ายๆ ข้อนี้ข้อเดียว – อินเทอร์เน็ตคือโลกแห่งจุดปลาย คุณอยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง คนอื่นและทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ปลายด้านอื่น

แน่นอน การพูดว่าคนทุกคนมีคุณค่าบนเน็ตนั้นเป็นประโยคเลี่ยนๆ ที่ทำให้คนสบายใจ แต่มันก็เป็นความจริงที่หนักแน่นเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางเทคนิคของเน็ต และ คุณค่าของอินเทอร์เน็ตก็ตั้งอยู่บนสถาปัตยกรรมทางเทคนิคของมัน

โชคดีที่ธรรมชาติที่แท้จริงของอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความเข้าใจ อันที่จริง มีประโยคเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่กั้นกลางระหว่างอาการผิดพลาดซ้ำซากกับการตรัสรู้….

พูดง่ายๆ

1. อินเทอร์เน็ตไม่ซับซ้อน
2. อินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งของ มันคือข้อตกลง
3. อินเทอร์เน็ตโง่
4. การเพิ่มมูลค่าให้กับอินเทอร์เน็ตจะลดมูลค่าของมัน
5. มูลค่าทั้งหมดของอินเทอร์เน็ตเติบโตที่ชายขอบของมัน
6. เงินย้ายไปสู่ชานเมือง
7. จุดปลายของโลกเหรอ? ไม่ใช่ โลกของจุดปลายต่างหาก
8. คุณลักษณะสามประการของอินเทอร์เน็ต:
ก. ไม่มีใครเป็นเจ้าของมัน
ข. ทุกคนใช้มันได้
ค. ใครก็ตามปรับปรุงมันได้
9. ถ้าอินเทอร์เน็ตง่ายนัก ทำไมคนจำนวนมากถึงยังทู่ซี้ไม่เข้าใจมัน?
10. ความผิดพลาดบางเรื่องที่เราหยุดทำได้แล้ว


1. อินเทอร์เน็ตไม่ซับซ้อน

ความคิดที่อยู่เบื้องหลังอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรกคือการใช้อานุภาพอันยิ่งใหญ่ของความเรียบง่าย ง่ายเหมือนกับแรงโน้มถ่วงในโลกจริง ต่างกันตรงที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตรึงก้อนหินก้อนเล็กๆ กับหินกลมก้อนใหญ่อย่างแนบแน่น แต่ถูกออกแบบมาให้ตรึงเครือข่ายขนาดเล็กเข้าด้วยกัน ทำให้มันกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่

วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้คือ ทำให้การส่งและรับข้อมูลซึ่งกันและกันของเครือข่ายเป็นเรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วย ด้วยเหตุนี้ อินเทอร์เน็ตจึงถูกออกแบบมาให้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะส่งข้อมูลดิจิทัล (เรียกว่า บิต – bits) จากจุด A ไปยัง B โดยที่ A กับ B จะอยู่ตรงไหนก็ได้

2. อินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งของ มันคือข้อตกลง

เวลาที่เรามองดูเสาไฟ เรามองเห็นเครือข่ายว่าเป็นเส้นลวด และมองว่าเส้นลวดเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์ ระบบไฟฟ้า หรือระบบเคเบิลทีวี

เวลาที่เราฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ เราก็ได้รับการบอกเล่าทุกช่วงพักโฆษณาว่า เครือข่ายคือแหล่งผลิตรายการที่ส่งผ่านอากาศหรือเคเบิลมาถึงเรา

แต่อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ มันไม่ใช่เส้นลวด มันไม่ใช่ระบบ และมันก็ไม่ใช่แหล่งผลิตรายการด้วย

อินเทอร์เน็ตคือวิธีที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าเครือข่ายจะอยู่ร่วมกันได้และทำงานด้วยกันได้ อินเทอร์เน็ตคือตัวเชื่อมเครือข่าย (inter-network) ในความหมายที่ตรงตามตัวอักษร

สิ่งที่ทำให้เน็ตเป็นตัวเชื่อมไม่ได้มีแต่ข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นแค่ชุดข้อตกลง เรียกว่าอินเทอร์เน็ตโปรโตคอลถ้าจะให้ชัด โปรโตคอลคือชุดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานด้วยกันของสิ่งต่างๆ (เปรียบเสมือน “ภาษากลาง” ทางเทคนิค – ผู้แปล)

โปรโตคอลนี้ไม่ได้บอกว่าคนจะทำอะไรกับเครือข่ายได้ ไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะสร้างอะไรที่ชายขอบได้ ไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะพูดอะไรได้ และไม่ได้บอกว่าใครบ้างที่ได้พูด โปรโตคอลแค่บอกว่า ถ้าคุณอยากแลกบิตซึ่งกันและกัน คุณทำแบบนี้สิ ถ้าคุณอยากสร้างคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือตู้เย็น ที่อยู่บนเครือข่าย คุณก็จะต้องร่วมตกลงในข้อตกลงที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต

3. อินเทอร์เน็ตโง่

ระบบโทรศัพท์ ซึ่งไม่ใช่อินเทอร์เน็ต (อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ตอนนี้) เป็นระบบที่ฉลาดมาก มันรู้ว่าใครกำลังโทรฯ ไปหาใคร คนแต่ละคนอยู่ที่ไหน รู้ว่ากำลังส่งเสียงหรือข้อมูลไปตามสาย รู้ว่าสื่อสารกันไกลแค่ไหน รู้ว่าต้องเสียค่าโทรฯ เท่าไร ฯลฯ และมันก็นำส่งบริการที่มีแต่เครือข่ายโทรศัพท์เท่านั้นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นบริการรอสาย แสดงเบอร์ผู้โทร บริการ 1133 และอื่นๆ อีกมากมายที่บริษัทโทรศัพท์ชอบขาย

แต่ในทางกลับกัน อินเทอร์เน็ตนั้นโง่ โดยตั้งใจด้วย คนที่ออกแบบมันทำให้เราแน่ใจได้ว่าเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมที่สุดนั้นโง่เหมือนกับก้อนหินกองหนึ่ง

อินเทอร์เน็ตไม่รู้อะไรๆ หลายเรื่องที่เครือข่ายฉลาดอย่างระบบโทรศัพท์รู้ มันไม่รู้เรื่องตัวตน การอนุญาต ลำดับความสำคัญ ฯลฯ อินเทอร์เน็ตรู้เพียงอย่างเดียวว่า บิตกองนี้ต้องย้ายจากจุดหนึ่งของเน็ตไปยังอีกจุดหนึ่ง

มีเหตุผลทางเทคนิคมากมายที่อธิบายว่าเหตุใดความโง่นี้จึงเป็นการออกแบบที่ดี ความโง่นั้นมีเสถียรภาพ ถ้าอุปกรณ์เชื่อมต่อตัวหนึ่งล้มเหลว กลุ่มข้อมูลก็จะหาหนทางเลี่ยงมันไปทางอื่น แปลว่าเน็ตจะไม่ล่ม ความโง่ของเน็ตทำให้มันยินดีต้อนรับอุปกรณ์ใหม่ๆ และคนใหม่ๆ มันจึงเติบโตได้อย่างรวดเร็วและในทุกทิศทาง นอกจากนี้ก็ทำให้ง่ายสำหรับสถาปนิกที่จะใส่ความสามารถในการเข้าถึงเน็ตเข้าไปในอุปกรณ์ฉลาดนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายวีดีโอ โทรศัพท์ หรือเครื่องฉีดน้ำ ที่อยู่สุดปลายของเน็ต

นั่นเป็นเพราะเหตุผลข้อสำคัญที่สุดที่ความโง่เป็นสิ่งดีนั้นไม่ค่อยเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของมูลค่า…

4. การเพิ่มมูลค่าให้กับอินเทอร์เน็ตจะลดมูลค่าของมัน

ฟังดูเพี้ยนมาก แต่นี่คือเรื่องจริง ถ้าคุณทำให้เครือข่ายใช้การได้ดีที่สุด (optimize) สำหรับการใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง คุณจะทำให้มันใช้การได้ดีน้อยลงสำหรับการใช้ชนิดอื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณปล่อยให้เครือข่ายตัดสินว่าจะให้ความสำคัญกับข้อมูลเสียงหรือข้อมูลภาพเคลื่อนไหว โดยอ้างเหตุผลว่ามันต้องไปถึงปลายทางเร็วกว่าข้อมูลชนิดอื่น ก็เท่ากับคุณกำลังบอกข้อมูลชนิดอื่นว่าต้องรอก่อน ทันทีที่คุณทำอย่างนั้น คุณก็จะเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตจากสิ่งที่ง่ายมากสำหรับทุกคน ให้กลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเพียงเพื่อจุดประสงค์เดียว ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตแล้ว

5. มูลค่าทั้งหมดของอินเทอร์เน็ตเติบโตที่ชายขอบของมัน

ถ้าอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่ฉลาด คนที่ออกแบบมันก็จะพยากรณ์ล่วงหน้าว่าวันหนึ่งเสิร์ชเอนจิน (search engine) ที่ดีจะมีความสำคัญ และเมื่อคิดอย่างนั้นก็จะใส่ฟังก์ชั่นนี้เข้าไปในตัวเครือข่ายเอง แต่เนื่องจากคนที่ออกแบบอินเทอร์เน็ตเป็นคนฉลาด พวกเขาจึงทำให้อินเทอร์เน็ตโง่เกินกว่าที่จะทำแบบนี้เป็น ดังนั้นเสิร์ชจึงเป็นบริการที่คนสามารถสร้างได้ที่จุดปลายของอินเทอร์เน็ต จุดใดจุดหนึ่งในหลายล้านจุด เนื่องจากใครก็ตามสามารถนำเสนอบริการอะไรก็ได้ที่ต้องการจากจุดที่พวกเขาอยู่ เสิร์ชเอนจินหลายตัวจึงถือกำเนิดขึ้นมาแข่งกัน ซึ่งแปลว่าผู้ใช้มีทางเลือกมากมายและได้เห็นนวัตกรรมอันน่าทึ่ง

เสิร์ชเอนจินเป็นแค่ตัวอย่างเดียว เนื่องจากสิ่งเดียวที่อินเทอร์เน็ตทำคือโยนบิตจากจุดปลายจุดหนึ่งไปยังจุดปลายอีกจุดหนึ่ง นักนวัตกรรมจึงสามารถสร้างอะไรก็ได้ที่พวกเขาจินตนาการถึง ปล่อยให้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนย้ายข้อมูลให้ คุณไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของอินเทอร์เน็ตหรือผู้ดูแลระบบหรือรองผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับความสำคัญของบริการ คุณมีความคิดดีๆ เหรอครับ? ลงมือทำเลย ทุกครั้งที่คุณลงมือ มูลค่าของอินเทอร์เน็ตก็จะสูงขึ้นอีก

อินเทอร์เน็ตได้สร้าง ตลาดนวัตกรรมเสรี นี่คือกุญแจของมูลค่าของอินเทอร์เน็ต และด้วยเหตุผลเดียวกัน…

6. เงินย้ายไปสู่ชานเมือง

ถ้ามูลค่าทั้งหมดของอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ชายขอบของมัน ก็แปลว่าการเชื่อมถึงอินเทอร์เน็ตในตัวเองอยากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity หมายถึงสินค้าราคาถูกที่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้ผลิต ผลิตได้ทีละจำนวนมากและแข่งกันด้านราคาเป็นหลัก ไม่เหมือนกับสินค้าพรีเมียม – ผู้แปล) และเราก็ควรจะยอมปล่อยให้มันเป็น

การส่งมอบโภคภัณฑ์นี้เป็นธุรกิจที่ดี แต่เราควรต่อต้านความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับตัวอินเทอร์เน็ตเอง ถ้าจะพูดให้ชัดคือ ถึงจุดหนึ่งใครก็ตามที่ขายบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะอยากขายเนื้อหาและบริการต่างๆ ด้วย เพราะบริการเชื่อมต่อในตัวมันเองจะมีราคาถูกเกินไป ถ้าเรายืนกรานที่จะแยกฟังก์ชั่นทั้งสองนี้ออกจากกัน เราก็จะช่วยให้ตลาดสามารถตั้งราคาที่ทำให้คนเข้าถึงเน็ตได้มากที่สุด และทำให้เกิดเนื้อหาและนวัตกรรมบริการได้มากที่สุด

7. จุดปลายของโลกเหรอ? ไม่ใช่ โลกของจุดปลายต่างหาก

เมื่อ เคร็ก เบอร์ตัน (Craig Burton) อธิบายสถาปัตยกรรมโง่ๆ ของอินเทอร์เน็ตว่าเป็นวัตถุทรงกลมกลวงเปล่าที่ประกอบด้วยจุดปลายทั้งหมด เขาก็วาดภาพที่สะท้อนลักษณะน่าทึ่งที่สุดของสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ต – ถ้าคุณดึงมูลค่าออกจากศูนย์กลาง คุณจะเห็นมูลค่าเบ่งบานมหาศาลตรงจุดปลายที่เชื่อมถึงกัน เพราะแน่นอน เมื่อจุดปลายทุกจุดเชื่อมต่อกัน จุดต่อจุดและจุดต่อจุดอื่นทั้งหมด จุดปลายเหล่านั้นก็ไม่ใช่จุดปลายเลย

จุดปลายเหล่านั้นทำอะไร? อะไรก็ได้โดยใครก็ได้ที่อยากเคลื่อนย้ายบิตไปมา

สังเกตนะครับ – ความภาคภูมิใจในน้ำเสียงเวลาที่เราพูดว่า “อะไรก็ได้” และ “ใครก็ได้” – มันคือผลลัพธ์โดยตรงของสถาปัตยกรรมทางเทคนิคของอินเทอร์เน็ตที่โง่และง่าย

เนื่องจากอินเทอร์เน็ตคือข้อตกลง มันจึงไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของท่อแกน (backbone) ไม่ใช่ผู้ให้บริการ (Internet Service Provider ย่อว่า ISP) ที่ขายบริการเชื่อมต่อให้กับเรา ไม่ใช่บริษัทโฮสที่ให้เราเช่าเซิร์ฟเวอร์ ไม่ใช่สภาอุตสาหกรรมที่เชื่อว่าการดำรงอยู่ของพวกเขาถูกคุกคามจากสิ่งที่พวกเราทำบนเน็ต ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะเชื่อมั่นอย่างจริงใจปานใดว่าเพียงแต่พยายามคุ้มกันให้พลเมืองปลอดภัยและพึงพอใจ

การเชื่อมเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหมายถึงการตกลงว่าจะหล่อเลี้ยงมูลค่าที่ชายขอบของมัน แล้วสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ก็เกิดขึ้น เราทุกคนเชื่อมต่ออย่างเท่าเทียม ระยะทางไม่ใช่ประเด็น อุปสรรคต่างๆ พังทลายลง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเชื่อมต่อสามารถบรรลุได้โดยไม่ต้องมีอุปสรรคแปลกปลอม

อินเทอร์เน็ตมอบวิธีให้เราสามารถเป็นโลกแห่งจุดปลายได้เป็นครั้งแรก

8. คุณลักษณะสามประการของอินเทอร์เน็ต

ที่กล่าวไปนั้นคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เห็นมั้ยครับ เราบอกคุณแล้วว่าง่าย

แต่ข้อเท็จจริงเหล่านั้นแปลว่าอะไรสำหรับพฤติกรรมของเรา …และที่สำคัญกว่านั้นคือ พฤติกรรมของบริษัทยักษ์ใหญ่และรัฐบาลที่ทำตัวเหมือนกับว่าอินเทอร์เน็ตเป็นของพวกเขา?

ต่อไปนี้เป็นกฏพื้นฐานสามข้อของพฤติกรรมที่ผูกโยงโดยตรงกับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต –

– ไม่มีใครเป็นเจ้าของมัน
– ทุกคนใช้มันได้
– ใครก็ตามปรับปรุงมันได้

ลองมาไล่ดูกันทีละข้อ…

8ก. ไม่มีใครเป็นเจ้าของมัน

ไม่มีทางที่ใครจะเป็นเจ้าของอินเทอร์เน็ตได้ กระทั่งบริษัทที่เป็นเจ้าของ “ท่อ” ที่มันวิ่งผ่าน เพราะมันเป็นข้อตกลง ไม่ใช่สิ่งของ อินเทอร์เน็ตไม่ได้เพียงแต่อยู่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น – มัน คือ พื้นที่สาธารณะ

และนี่ก็เป็นเรื่องดี –

  • อินเทอร์เน็ตเป็นทรัพยากรที่ไว้ใจได้ เราก่อร่างสร้างธุรกิจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีบริษัท อินเทอร์เน็ต จำกัด มาบังคับให้เราอัพเกรด ขึ้นราคาสองเท่าทันทีที่เราเชื่อมต่อ หรือถูกคู่แข่งของเราซื้อกิจการไป
  • เราไม่ต้องกลัวว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตจะใช้ได้กับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง อีกส่วนจะใช้ได้แต่เฉพาะกับผู้ให้บริการอีกราย เหมือนกับที่เรากลัวเวลาที่ใช้โทรศัพท์มือถือในอเมริกาวันนี้
  • เราไม่ต้องกลัวว่าฟังก์ชั่นพื้นฐานจะใช้ได้แต่กับ “โปรแกรมยืนพื้น” ของไมโครซอฟท์ แอปเปิล หรือเอโอแอล เพราะมันนั่งอยู่ข้างใต้บริษัทเหล่านั้นทั้งหมด อยู่นอกเหนือขอบเขตที่พวกเขามีสิทธิ
  • ภาระในการดูแลอินเทอร์เน็ตกระจายไปตามผู้ใช้ทั้งหมด ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในมือของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งที่อาจเลิกกิจการ เราทุกคนรวมกันเป็นทรัพยากรที่ยืดหยุ่นกว่าที่เรากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเป็นได้

8ข. ทุกคนใช้มันได้

อินเทอร์เน็ตถูกสร้างมาเพื่อรองรับคนทุกคนบนโลกใบนี้

จริงอยู่ ปัจจุบันมีคนเพียงหนึ่งในสิบบนโลก ประมาณ 600 ล้านคน ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (ตัวเลขนี้ ณ กลางปี 2553 อยู่ที่ 1,966 พันล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโต 2.3 เท่าในระยะเวลา 7 ปีหลังจากที่ผู้เขียนเผยแพร่บทความชิ้นนี้ – ผู้แปล) ดังนั้นคำว่า “ได้” ในประโยค “ทุกคนใช้มันได้” จึงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขความไม่เท่าเทียมทางฐานะที่น่าเศร้า แต่ถ้าคุณโชคดีพอที่จะมีความมั่งคั่งพอสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและมีอุปกรณ์ที่เข้าถึงมันได้ ตัวเครือข่ายเองไม่วางอุปสรรคใดๆ ที่กีดขวางไม่ให้คุณมีส่วนร่วม คุณไม่ต้องรอให้ผู้ดูแลระบบลดตัวลงมาอนุญาต อินเทอร์เน็ตจงใจทิ้งเงื่อนไขอนุญาตต่างๆ ไว้นอกระบบ

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่เราหลายคนรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนทรัพยากรธรรมชาติ เราแห่กันมาใช้มันราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ที่แค่รอวันเกิด เหมือนกับที่เรารู้สึกว่าการพูดและการเขียนตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์

8c. ใครก็ตามปรับปรุงมันได้

ใครก็ตามสามารถทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ดีกว่าเดิมสำหรับการใช้ชีวิต ทำงาน และเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ มีแต่คนหัวทึบที่มีทิฐิมานะสูงมากเท่านั้นที่จะทำให้มันแย่ลงได้

มีสองวิธีที่คุณจะทำให้อินเทอร์เน็ตดีกว่าเดิมได้ วิธีแรกคือคุณสามารถสร้างบริการตรงชายขอบของเน็ตให้ใครก็ตามสามารถใช้ได้ถ้าอยากใช้ ทำให้มันเป็นของฟรี บังคับให้คนจ่าย ขอรับบริจาค หรืออะไรก็แล้วแต่

วิธีที่สองที่สำคัญกว่าคือ ทำให้เกิดชุดบริการจากจุดปลายสู่จุดปลายใหม่ๆ ด้วยการริเริ่มข้อตกลงใหม่ นี่คือวิธีที่อีเมลถือกำเนิด และกลุ่มข่าว (newsgroup, อ่านจากเว็บได้จาก http://groups.google.com/ – ผู้แปล) และแม้แต่เว็บ ผู้สร้างบริการเหล่านี้ไม่ได้แค่ออกแบบโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ที่จุดปลาย และพวกเขาก็ไม่ได้รื้อโปรโตคอลของอินเทอร์เน็ต พวกเขาเพียงแต่เขียนโปรโตคอลใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้ว เหมือนกับตอนที่ข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีแปลงภาพเป็นรหัสบนกระดาษทำให้เครื่องโทรสารสามารถใช้สายโทรศัพท์ได้โดยที่ระบบโทรศัพท์เดิมไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

แต่อย่าลืมว่าถ้าคุณคิดค้นข้อตกลงใหม่ได้ มันก็จะต้องเป็นโค้ดเปิด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และให้ทุกคนใช้ได้ ถ้าคุณอยากให้มันสร้างมูลค่าอย่างรวดเร็วเหมือนกับที่อินเทอร์เน็ตเคยทำ นี่คือสาเหตุที่ระบบส่งสารทันควัน (instant messaging ย่อว่า IM) ล้มเหลวที่จะบรรลุศักยภาพของมัน – ระบบ IM ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น AIM ของเอโอแอล หรือ ICQ หรือ MSN Messenger ของไมโครซอฟท์ ล้วนเป็นพื้นที่ของเอกชนที่อาจวิ่งอยู่บนเน็ต แต่มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเน็ต เมื่อไหร่ก็ตามที่เอโอแอลกับไมโครซอฟท์ตัดสินใจว่าพวกเขาจะเดินระบบ IM ของตัวเองด้วยโปรโตคอลงี่เง่าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของและใครก็ตามสามารถใช้ได้ พวกเขาก็จะปรับปรุงเน็ตอย่างมหาศาล แต่จนกว่าจะถึงวันนั้น พวกเขาก็ยังทำตัวเหมือนคนโง่ ไม่ใช่ในแง่ดีเลยด้วย

9. ถ้าอินเทอร์เน็ตง่ายนัก ทำไมคนจำนวนมากถึงยังทู่ซี้ไม่เข้าใจมัน?

เป็นไปได้หรือเปล่าที่คุณลักษณะสามประการของอินเทอร์เน็ต ล้วนอยู่ตรงข้ามกับวิธีที่รัฐบาลกับธุรกิจมองโลก?

ไม่มีใครเป็นเจ้าของมัน – นิยามของธุรกิจคือสิ่งที่พวกเขาเป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับที่นิยามของรัฐบาลคือสิ่งที่พวกเขาควบคุม

ทุกคนใช้มันได้ – ในธุรกิจ การขายสินค้าหมายถึงการโอนสิทธิ์เฉพาะในการใช้จากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ในรัฐบาล การออกกฎหมายหมายถึงการกำหนดข้อบังคับให้คนทำตาม

ใครก็ตามปรับปรุงมันได้ – ธุรกิจกับรัฐบาลเชิดชูบทบาทที่มีอำนาจทางการ คนบางคนเท่านั้นที่มีหน้าที่ทำอะไรสักอย่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง

ธรรมชาติของธุรกิจกับรัฐบาลทำให้มีแนวโน้มที่จะเข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตผิดอยู่แล้ว

นี่คือเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่อินเทอร์เน็ตอธิบายตัวเองได้ไม่ค่อยดีนัก บริษัทยักษ์ใหญ่อยากตอกย้ำกับเราว่าเน็ตเป็นแค่ทีวีที่ช้ากว่าเท่านั้น

ที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตทำตัวเหมือนกับวอลท์ที่ วอลท์ วิทแมน (Walt Whitman) เขียนถึงในบทกวีเรื่อง “เพลงเกี่ยวกับตัวฉัน” (Song of Myself) มากเกินไป – ผมไม่ยี่หระถ้าคนไม่เข้าใจ กฎธรรมชาติพื้นฐานไม่เคยต้องขอโทษใคร

ปัญหาคือกฎธรรมชาติพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตไม่เคยคิดว่าจะมีคนสร้างอาชีพการงานของตัวเองบนพื้นฐานของความไม่เข้าใจมัน

10. ความผิดพลาดบางเรื่องที่เราหยุดทำได้แล้ว

บริษัทที่มีมูลค่าจากการกระจายเนื้อหาในทางที่ตลาดไม่ต้องการอีกต่อไปแล้ว – คุณได้ยินเราไหมครับ อุตสาหกรรมดนตรี? – ควรจะเลิกคิดได้แล้วว่าบิตก็เหมือนกับสสารที่มีขนาดจิ๋วมากๆ คุณไม่มีวันป้องกันไม่ให้เราก็อปปี้บิตที่เราอยากได้ แทนที่จะทำอย่างนั้น ทำไมไม่สร้างเหตุผลให้เราอยากซื้อดนตรีจากคุณมากกว่าล่ะ? ไม่แน่นา เราอาจจะอยากช่วยคุณขายของของคุณด้วยซ้ำไปถ้าคุณขอเราดีๆ

ข้าราชการทั้งหลายที่สับสนระหว่างมูลค่าของอินเทอร์เน็ตกับมูลค่าของเนื้อหาบนเน็ตควรจะตระหนักได้แล้วว่า การที่พวกเขามายุ่งวุ่นวายกับแก่นของอินเทอร์เน็ตนั้นทำให้มูลค่าของมันลดลง อันที่จริง พวกเขาน่าจะมองเห็นว่าการมีระบบที่ขนส่งบิตทั้งมวลอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเซ็นเซอร์ของรัฐหรืออุตสาหกรรมนั้น คือพลังเกื้อหนุนประชาธิปไตยและตลาดเปิดที่มีอานุภาพสูงสุดในประวัติศาสตร์

บริษัทผู้ครองตลาดที่ขายบริการเครือข่าย – ใบ้นะครับว่าขึ้นต้นด้วย “โทร” และลงท้ายด้วย “คม” – ควรจะยอมรับว่าเครือข่ายโง่จะกลืนกินเครือข่ายฉลาดของพวกเขา พวกเขาน่าจะยอมกลืนเลือดตั้งแต่ตอนนี้ แทนที่จะทุ่มทุนหลายพันล้านเหรียญไปกับการประวิงเวลาและต่อสู้กับสิ่งที่ต้านทานไม่ได้

หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ควรสังเกตว่ามูลค่าของแถบคลื่นความถี่เปิดนั้นเหมือนกันกับมูลค่าที่แท้จริงของอินเทอร์เน็ต

คนที่อยากเซ็นเซอร์ความคิดควรตระหนักว่าอินเทอร์เน็ตแยกแยะไม่ได้ระหว่างบิตที่ดีกับบิตที่แย่หรือบิตที่ลามก ไม่ว่าการเซ็นเซอร์จะเกิดอย่างไร มันจะต้องเกิดที่จุดปลายของเน็ต – และมันจะไม่มีทางใช้การได้ดี

บางที บริษัทที่คิดว่าพวกเขาสามารถบังคับให้เราฟังสารของพวกเขา – พวกแผ่นป้ายโฆษณา กราฟฟิกน่ารำคาญที่คลานผ่านหน้าเว็บที่เราพยายามจะอ่าน – จะตระหนักว่าความสามารถของเราในการโฉบไปมาระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ นั้นถูกสร้างเป็นส่วนสำคัญของสถาปัตยกรรมเว็บ ถ้ายังขืนทำแบบนี้อยู่พวกเขาก็น่าจะเปลี่ยนป้ายเป็น “สวัสดี! เราไม่เข้าใจอินเทอร์เน็ต อ้อ แล้วเราก็เกลียดคุณด้วย” เสียให้รู้แล้วรู้รอด

หยุดทีเถอะครับ หยุดพุ่งชนกำแพงที่เรียกว่า ข้อเท็จจริงของชีวิตอินเทอร์เน็ต

เราไม่มีอะไรจะเสียยกเว้นความโง่ของเราเท่านั้น.