โลกนี้ไม่มีใครโง่

Intelligence is something that is happening in your head. Behavior is an optional ingredient.
(ความฉลาดคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของท่าน การแสดงออกถึงความฉลาดเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น)

– Jeff Hawkins, “On Intelligence”

ตั้งชื่อเรื่องแบบนี้คงทำให้หลายๆ คนสงสัย จะเป็นไปได้อย่างไรว่าโลกนี้ไม่มีใครโง่ ในเมื่อเราได้ยินคำนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้กระทั่งจากปากท่านนายกฯ เอง? […]

Intelligence is something that is happening in your head. Behavior is an optional ingredient.
(ความฉลาดคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของท่าน การแสดงออกถึงความฉลาดเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น)

– Jeff Hawkins, “On Intelligence”

ตั้งชื่อเรื่องแบบนี้คงทำให้หลายๆ คนสงสัย จะเป็นไปได้อย่างไรว่าโลกนี้ไม่มีใครโง่ ในเมื่อเราได้ยินคำนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้กระทั่งจากปากท่านนายกฯ เอง? เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าคงกำลังหัวเราะเยาะอยู่ในใจ ก็ไม่ใช่ข้าพเจ้าหรอกหรือที่ชอบด่าใครต่อใครในที่ทำงานว่าโง่อย่างนั้น โง่อย่างนี้? หรือว่ามีอะไรมาดลใจให้ข้าพเจ้ามองโลกในแง่ดีขึ้น?

แต่เวลาเราด่าใครว่า “โง่” นั้น สามารถตีความได้สองอย่าง: เราอาจจะกำลังด่าเขาว่าเป็น “คนโง่” คือคนที่มีความโง่เป็นสันดานติดตัวแต่กำเนิด หรือไม่เราอาจไม่คิดว่าเขาเป็นคนโง่ เพียงแต่เขากำลังทำอะไรสักอย่างทีเรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่โง่ ณ เวลานั้น ในแง่นี้เรากำลังวิพากษ์การกระทำ ไม่ใช่นิสัยหรือสันดานของเขา

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าด่าใครว่าโง่ จริงๆ แล้วข้าพเจ้ากำลังด่าการกระทำของเขา ไม่ใช่ตัวเขา เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีคนโง่ มีแต่คนฉลาดน้อยหรือฉลาดมาก คนรู้มากหรือรู้น้อย ทีทำอะไรโง่ๆ เป็นครั้งคราวเท่านั้น ดังที่คนโบราณกล่าวว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” และไอ้สิ่งโง่ๆ ที่เราทำลงไปนั้นส่วนมากก็ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้ว่ามันโง่ แต่เพราะในห้วงเวลานั้นเรากำลังถูกครอบงำโดยอารมณ์ หรือที่ภาษาพุทธเรียกว่ากิเลส ตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวผสมกัน เช่น รัก โลภ โกรธ หลง ฯลฯ ซึ่งทำให้เราขาดสติ ทำอะไรโง่ๆ ลงไปให้ตัวเองต้องมาเสียใจทีหลัง

นอกจากนี้ ถ้าว่ากันด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ ความฉลาดไม่ได้เป็นคุณสมบัติสัมบูรณ์ (absolute quality) ที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนวัดส่วนสูงหรือชั่งน้ำหนัก หากแต่เป็นคุณสมบัติสัมพัทธ์ (relative quality) ที่แปรเปลี่ยนไปตามทรรศนะ คุณวุฒิ และคุณสมบัติอื่นๆ ของคนมอง เช่น ไอน์สไตน์อาจคิดว่าข้าพเจ้าเป็นคนโง่ดักดาน ในขณะที่เด็กอายุสิบขวบอาจคิดว่าข้าพเจ้าเป็นพหูสูตผู้ช่ำชอง เช่นเดียวกัน อาจารย์หมอผู้มากด้วยประสบการณ์ อาจมองหมอฝึกหัดว่าเป็นคนโง่ ในขณะที่คนไข้อาจมองหมอฝึกหัดคนเดียวกันนี้ว่าเป็นแพทย์ที่ฉลาดหลักแหลมก็เป็นได้

นอกจากนี้ การแสดงออกและองค์ความรู้ที่สังคมใช้เป็น “มาตรวัด” ของความฉลาด ก็ยังแตกต่างกันไปตามวาทกรรม สภาวะ และวิถีชีวิตของแต่ละสังคม เช่น คนอเมริกันอาจเยาะเย้ยคนป่านิวกินี ว่าเป็นคนโง่เพราะไม่รู้จักใช้โทรศัพท์ หรือทีวี แต่คนป่าเหล่านั้นก็อาจคิดว่าคนอเมริกันนั่นแหละที่โง่ เพราะไม่สามารถแยกแยะต้นไม้ที่มีพิษ และต้นที่ไม่มีพิษออกจากกันได้ (คนป่าในปาปัว นิวกินี สามารถจำแนกต้นไม้ในป่าได้เป็นพันๆ ชนิด และจดจำคุณสมบัติหลายสิบอย่างของต้นไม้แต่ละชนิดได้)

นี่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมการคิดค้นวิธีวัดความฉลาด เช่นการทดสอบ IQ จึงเป็นปัญหาโลกแตก เป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ในขณะที่การวัดด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่นการทดสอบ EQ (Emotional Quotient) กลับเป็นที่ยอมรับว่ามีความเป็น “สากล” และมีประโยชน์ต่อการทำงานในโลกสมัยใหม่มากกว่า ใครจะบอกได้บ้างว่าเส้นแบ่งระหว่าง “ความฉลาด” หรือ “ความโง่” ที่ใช้ได้กับมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกนั้น คืออะไร?

ถ้าเราจะตีความหมายของความฉลาดให้ใช้ได้ในระดับสากล อาจลองเทียบมันสมองของมนุษย์กับสัตว์โลกชนิดอื่น ซึ่งจากมุมมองนี้ ดูเผินๆ ก็เหมือนเราจะได้นิยามที่เป็นสากลในที่สุด เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มนุษย์เรานั้นฉลาดกว่าสัตว์อื่นมาก ชนิดเทียบกันไม่เห็นฝุ่น “ความฉลาด” ในแง่นี้สะท้อนให้เห็นจากการที่มนุษย์ใช้เหตุผลกำกับการกระทำของตน ไม่ใช่ทำทุกอย่างตามสัญชาติญาณเหมือนสัตว์ทั่วไป (หรือที่ในภาษาพุทธว่าใช้สติปัญญากำกับ ไม่ใช่ตัณหาอุปาทานกำกับ) แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังต้องจำกัดขอบเขตความหมายของ “ความฉลาด” ให้ครอบคลุมเฉพาะ วิธีการทำงานของสมอง เท่านั้น เพราะถ้าเรารวมมิติอื่นๆ เช่น ผลลัพธ์จากการกระทำ ให้อยู่ในนิยามของ “ความฉลาด” ด้วยแล้ว บางคนอาจแย้งขึ้นมาว่า มนุษย์จะฉลาดกว่าสัตว์อื่นได้อย่างไร ในเมื่อปัจจุบันมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่กำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้ร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว จนวันหนึ่งอาจทำให้สัตว์โลกทั้งหมดสูญพันธุ์ (ถ้ามนุษย์ไม่โง่พอที่จะทำลายล้างกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์เสียก่อน)

ดังนั้นจะเห็นว่า เรื่องของความฉลาดนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นง่ายๆ ที่มีองค์ความรู้เป็นแบบแผนสากล เราจึงต้องจำกัดนิยามให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า กำลังพูดกันเรื่องความฉลาดแบบไหน ถ้าเรานิยามว่าความฉลาดหมายถึง “ความฉลาดของมันสมองมนุษย์” แล้ว เราก็พูดได้ว่า โลกนี้ไม่มีใครโง่ เพราะมีแต่สัตว์เท่านั้นที่โง่ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐที่มีสมองอันชาญฉลาด ฉลาดแค่ไหนก็ลองคิดดู: จนถึงบัดนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ชัดเจนว่า สมองส่วนที่เป็น “ความฉลาด” ของเรานั้นทำงานอย่างไร (ถ้าใครสนใจอ่านทฤษฎีเกี่ยวกับความฉลาดล่าสุด ขอแนะนำหนังสือเรื่อง On Intelligence โดย Jeff Hawkins ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังก่อนหน้านี้ในฐานะผู้ประดิษฐ์ PalmPilot คอมพิวเตอร์มือถือยอดนิยม Hawkins เชื่อมั่นว่า เราจะสามารถเข้าใจการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวกับความฉลาดได้อย่างถ่องแท้ ภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า และภายในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็จะสามารถประดิษฐ์เครื่องจักรกลที่ฉลาด (intelligent machines) ขึ้นมาช่วยทุ่นแรงเราได้อย่างแท้จริง