โลกาภิวัตน์และการเมืองสมัยโบราณ : ย่ำเยือนเรือนสมเด็จพระนารายณ์ (2)

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

แผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์

ต้นจามจุรี หน้าสิบสองท้องพระคลัง
ต้นจามจุรีสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น ในบริเวณวัง

ทันทีที่เราเข้าเขตวังพระนารายณ์ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงขนานนามให้ใหม่ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ผู้เขียนก็สะดุดตาทันทีกับต้นจามจุรีต้นใหญ่และสวยที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา แผ่กิ่งก้านกว้างใหญ่ไพศาล ให้ร่มเงาปกคลุมพื้นหญ้าตรงข้ามกับลานจอดรถนักท่องเที่ยว และสำนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีคุณลุงแก่ๆ นั่งทำหน้าเบื่ออยู่ข้างใน คอยเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว ในสนนราคาเพียง 10 บาทสำหรับคนไทย และ 30 บาทสำหรับชาวต่างชาติเท่านั้น

พระราชวังที่พระนารายณ์ทรงรักและโปรดปราน ถือเป็น ‘บ้าน’ แท้ๆ ของพระองค์มากกว่าวังหลวงในอยุธยาที่ไว้ใจใครไม่ได้ ที่พึ่งทั้งทางกายและใจที่พระองค์ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2209 หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ 10 ปี ปัจจุบันนี้เหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง อย่าว่าแต่หลังคาเลย กำแพงของอาคารส่วนใหญ่ก็ยังเหลือไม่ครบทั้งสี่ด้าน

สิ่งเดียวที่ยังดูมีชีวิตชีวาในเขตพระราชฐานคือต้นจามจุรี และต้นไม้ใหญ่อีกหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่ใหญ่โตมโหฬาร ขนาดของมันทำให้คิดว่าหลายต้นน่าจะอยู่มาตั้งแต่สมัยพระราชวังแห่งนี้เริ่มสร้างเสร็จใหม่ๆ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นพยานแห่งความยิ่งใหญ่และเสื่อมสลายของพระราชวังแห่งนี้ เพียงปากเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่สืบมาจนปัจจุบัน


พระนารายณ์ราชนิเวศน์

แผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์

ต้นจามจุรี หน้าสิบสองท้องพระคลัง
ต้นจามจุรีสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น ในบริเวณวัง

ทันทีที่เราเข้าเขตวังพระนารายณ์ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงขนานนามให้ใหม่ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ผู้เขียนก็สะดุดตาทันทีกับต้นจามจุรีต้นใหญ่และสวยที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา แผ่กิ่งก้านกว้างใหญ่ไพศาล ให้ร่มเงาปกคลุมพื้นหญ้าตรงข้ามกับลานจอดรถนักท่องเที่ยว และสำนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีคุณลุงแก่ๆ นั่งทำหน้าเบื่ออยู่ข้างใน คอยเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว ในสนนราคาเพียง 10 บาทสำหรับคนไทย และ 30 บาทสำหรับชาวต่างชาติเท่านั้น

พระราชวังที่พระนารายณ์ทรงรักและโปรดปราน ถือเป็น ‘บ้าน’ แท้ๆ ของพระองค์มากกว่าวังหลวงในอยุธยาที่ไว้ใจใครไม่ได้ ที่พึ่งทั้งทางกายและใจที่พระองค์ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2209 หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ 10 ปี ปัจจุบันนี้เหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง อย่าว่าแต่หลังคาเลย กำแพงของอาคารส่วนใหญ่ก็ยังเหลือไม่ครบทั้งสี่ด้าน

สิ่งเดียวที่ยังดูมีชีวิตชีวาในเขตพระราชฐานคือต้นจามจุรี และต้นไม้ใหญ่อีกหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่ใหญ่โตมโหฬาร ขนาดของมันทำให้คิดว่าหลายต้นน่าจะอยู่มาตั้งแต่สมัยพระราชวังแห่งนี้เริ่มสร้างเสร็จใหม่ๆ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นพยานแห่งความยิ่งใหญ่และเสื่อมสลายของพระราชวังแห่งนี้ เพียงปากเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่สืบมาจนปัจจุบัน

ถ้าต้นไม้พูดได้ ความลับคงไม่มีในโลก เว้นแต่เฉพาะคนไม่สนใจธรรมชาติที่ไม่เคยคิดอยากจะทำสวนเอาไว้นั่งมองกิ่งไม้ไหวตามสายลม หรือสูดกลิ่นหอมของดอกไม้ยามเช้า

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ดูเหมือนชาวกรุงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะเลือกปลูกบ้านใหญ่โตจนเต็มพื้นที่ ผนังบ้านห่างจากรั้วไม่ถึงเมตร แทบไม่เหลือที่ให้ปลูกต้นไม้หรือสนามหญ้าเล็กๆ หน้าบ้าน พืชผักสวนครัวยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ก็เข้าใจว่าที่ดินสมัยนี้แพง จะปลูกบ้านทั้งทีก็ควรมีพื้นที่ใช้สอยเยอะๆ แต่เราเหินห่างธรรมชาติถึงขนาดมองไม่เห็นความสำคัญของต้นไม้ใบหญ้าเชียวหรือ?

นักจิตวิทยาหลายคนยืนยันผลจากการทดลองว่า ประสาทสัมผัสของคนเราสมัยนี้ ‘ไว’ ต่อวัตถุที่คนสร้างขึ้น มากกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครทำเหรียญบาทหล่นกระทบพื้นดัง ‘แก๊ง’ เรามักจะได้ยินและหันขวับไปหาต้นตอทันที แต่เรามักไม่ค่อยได้ยิน หรือถึงได้ยินก็ไม่มีปฏิกิริยา ต่อเสียงสั่นไหวของใบไม้ เสียงแมลงบนต้นไม้ และเสียงสวบสาบของฝีตีนสัตว์ในป่า

เศร้าแต่จริง

ในเมื่อต้นไม้พูดไม่ได้ นักประวัติศาสตร์จึงต้องอาศัยบันทึกของคนโบราณ แม้แต่การรำพึงรำพันในไดอารี่ส่วนตัวก็มีค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลัง โชคดีที่ฝรั่งมิชชันนารีชอบจดบันทึกอย่างละเอียดลออ ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนถึงอาหารการกินของชาวสยาม เรื่องราวของยุคพระนารายณ์จึงโลดแล่นผ่านหน้ากระดาษซีดๆ ออกมาให้เราเห็นอย่างเด่นชัด น่าจะมีผู้กำกับมือดีจับประวัติศาสตร์ช่วงนี้มาทำเป็นหนัง รับรองว่าสนุกกว่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลายเท่า และมีโอกาสจะ ‘โกอินเตอร์’ กว่าด้วย เพราะต้องใช้นักแสดงหลากหลายเชื้อชาติมารับบทเป็นพ่อค้า ขุนนาง ทหาร และมิชชันนารีที่รอนแรมมาทำงานในสยาม

ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้สมจริง ก็ต้องใช้ภาษาโปรตุเกส กับภาษามลายูเป็นหลัก เพราะนั่นคือสอง ‘ภาษาราชการ’ ประจำราชสำนักของพระนารายณ์

ทางเดินและประตูวัง พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ทางเดินและประตูวัง

อาจารย์ชี้ให้ดูประตูวังด้านที่ติดถนน บอกว่าหลักในการสร้างคือต้องกว้างพอให้ช้างหนึ่งเชือกเดินผ่านได้ เพราะโรงช้างอยู่ข้างในเขตพระราชฐาน ติดกับประตูทางเข้าพระราชฐานชั้นในซึ่งแคบกว่ากันมาก (เพราะไม่ต้องการให้ช้างผ่านเข้าไปได้)

ยอดแหลมโค้งของประตูวังและช่องหน้าต่างของอาคาร (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า pointed arc) แสดงอิทธิพลของแขกมัวร์ชาวมุสลิมอย่างชัดเจน ไม่ใช่สไตล์บาร็อค (Baroque) ของฝรั่งเศสในยุคนั้น ช่องหน้าต่างในแต่ละอาคารนั้นเป็นยอดแหลมแต่ภายนอกเท่านั้น กรอบหน้าต่างในตัวอาคารยังเป็นทรงสี่เหลี่ยมอยู่ เพื่อให้ช่างใส่บานกระจกสี่เหลี่ยมเข้าไปได้

ทางเดินติดประตูปูอิฐเรียงสลับกันเป็นฟันปลา ฝังเอาสันอิฐขึ้นข้างบนแทนที่จะเอาด้านแบนขึ้นตามปกติ อาจารย์บอกว่านี่ก็เป็นการปูพื้นแบบแขกมัวร์เช่นกัน ปูแบบนี้ทำให้พื้นมีความทนทานมากกว่าเอาด้านแบนขึ้น สามารถรับน้ำหนักช้างได้ ทางเดินอิฐนี้หลายส่วนเห็นชัดว่าเป็นของใหม่ที่กรมศิลปากรมาบูรณะ แต่ของเดิมก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง

ผู้เขียนนึกชมรสนิยมของพระนารายณ์อยู่ในใจ แบบมีอคติเล็กน้อยเพราะตัวเองก็ชอบสถาปัตยกรรมแบบมุสลิมมากกว่าแบบยุโรปตะวันตกหลายเท่า (ถ้าใครนึกไม่ออกว่าสถาปัตยกรรมแบบมุสลิมที่ไม่ใช่สุเหร่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ลองนึกภาพทัชมาฮาล สิ่งปลูกสร้างสไตล์มุสลิมที่โด่งดังที่สุดในโลก)

ประตูวังและกำแพงอิฐถูกเจาะเป็นช่องๆ คนโบราณเรียกช่องเหล่านี้ว่า “ช่องตามประทีป” เอาไว้ใส่ถ้วยตะไลจุดเทียน ยามค่ำคืนเปลวเทียนนับพันคงทอแสงสีนวลสว่างไปค่อนบริเวณ 42 ไร่ของพระราชวังแห่งนี้

ตามแนวกำแพงมีป้อมปืน 7 แห่ง อาจารย์อธิบายว่าที่เรารู้ว่าเป็นป้อมปืนเพราะมีรูเจาะตรงฐาน เอาไว้ใส่ปากกระบอกปืนใหญ่ ป้อมปืนสมัยนั้นจะสร้างเป็นรูปตัว V คว่ำ เพื่อให้หันปากกระบอกปืนไปคนละทิศกันได้ ถ้าไม่สร้างป้อมแบบนี้แต่เจาะกำแพงเป็นรูเฉยๆ ก็จะยิงปืนใหญ่ได้เพียงทิศเดียว คือทิศที่ทำมุมฉากกับกำแพงพอดีเท่านั้น

ท่อส่งน้ำประปาดินเผา
ท่อส่งน้ำประปาดินเผา วางโชว์หน้าอ่างเก็บน้ำ

เนื่องจากอาคารทุกหลังถูกออกแบบและกำกับการก่อสร้างโดยสถาปนิกและวิศวกรชาวอิตาเลียนและฝรั่งเศส โดยใช้ ‘เทคโนโลยี’ ที่ทันสมัยที่สุดของโลกตะวันตกในขณะนั้น หลายสิ่งหลายอย่างในพระนารายณ์ราชนิเวศน์จึงเป็น ‘ของใหม่เอี่ยม’ ที่ไม่เคยมีในสยามมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาคารอิฐ (ก่อนหน้านั้นราชวงศ์นิยมสร้างวังจากไม้ เหมือนบ้านของราษฎร) ที่คนโบราณเรียกว่า “อาคารตึก” และระบบท่อน้ำประปาฝังดินที่แจกจ่ายน้ำจากถังเก็บน้ำไปทั่วเขตพระราชฐาน น้ำในถังนี้ไหลมาตามท่อประปาดินเผาจากอ่างซับเหล็ก อ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่อยู่ห่างออกไปกว่า 10 กิโลเมตร

แต่สิ่งที่น่าตื่นตาที่สุดในเขตพระราชฐานชั้นนอกน่าจะเป็นน้ำพุ 20 แห่ง ในคูน้ำที่รายรอบตึกรับรองแขกเมือง สถานที่เลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมือง รวมทั้งคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230 ตึกนี้อยู่ในสภาพแตกหักทรุดโทรมไม่ต่างจากอาคารอื่นๆ แต่ถ้ามองเค้าโครงของตึกนี้แล้วลองหลับตาวาดภาพตามคำบรรยายของบาทหลวงฝรั่งเศสในบันทึก จะจินตนาการได้ไม่ยากว่าตึกนี้คงดูอลังการไม่น้อยในสมัยโบราณ มีน้ำพุพวยพุ่งอยู่ตลอดเวลา ในสระมีการเลี้ยงปลาทองอวดแขกผู้มาเยือนด้วย

พูดถึงอาหารเลี้ยงแขกทำให้นึกถึงเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับการกินอยู่ของพวกฝรั่งในแผ่นดินพระนารายณ์ โดยเฉพาะเรื่องปลาร้า รศ.ดร.ประจักษ์ สายแสง ผู้เชี่ยวชาญด้านคติชนวิทยา (folklore studies) เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างสนุกสนานในรายการวิทยุของแกชื่อ “วรรณกรรมสองแคว” ตอน “จดหมายเหตุลาลูแบร์ 1 : ปลาร้า” ดังต่อไปนี้: (คัดลอกและเรียบเรียงมาบางตอน)

“…เรื่องที่น่าสนใจมากที่ลาลูแบร์เขียนไว้ และผมนำมากราบเรียนเสนอท่านคือเรื่องที่ว่าด้วย “สำรับกับข้าวของชาวสยาม” ในนั้นบอกว่าชาวสยามบริโภคอาหารน้อย กินข้าวไม่มาก (หัวเราะ) …แล้วก็บอกว่าอาหารหลักของเค้าคือข้าวกับปลา ข้าวแล้วก็ปลาเนี่ย! อาหารหลักของคนสยาม ท้องทะเลก็จะมีหอยนางรมเล็ก ๆ มีรสชาติดีมาก นี่ฝรั่งเศสว่า และก็มีเต่าขนาดย่อมเนื้อรสดี ไอ้พวกนี้ก็กินเต่าเมืองไทย กุ้งทุกขนาด มีปลาเนื้อดีอีกเป็นอันมาก ซึ่งพวกเราไม่สามารถทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร ส่วนในแม่น้ำลำคลองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาไหลตัวงามๆ

แต่ชาวสยามไม่สู้จะนิยมบริโภคปลาสดกันนัก นี่ลาลูแบร์ว่าอย่างนั้น ในเมื่อไม่นิยมบริโภคปลาสดก็มักจะเอาปลาเนี่ยมาทำปลาแห้งทำปลาเค็ม ลาลูแบร์ ก็บอกว่าชาวสยามนั้นหมักเค็มไม่ค่อยจะเป็น …และก็ชอบปลาแห้ง ชอบกินปลาแห้งยิ่งกว่าปลาสด ๆ แม้กระทั่ง “ปลาเน่า” อันนี้พูดเสียหายเลย ปลาเน่าที่จริงก็คือ “ปลาร้า” หลายคนคิดว่าปลาร้าเป็นอาหารของทางประเทศลาว ที่จริงไม่ใช่ ปลาร้าเนี่ยเป็นอาหารของคนไทยแท้ๆ เลย

ปลาร้าต่างจากปลาแดกนะท่านนะ เพราะปลาร้าเนี่ย เค้าทำจากปลา ติ้งต่างว่าเป็นปลากระดี่ก็นำมาขอดเกล็ด ผ่าท้อง เอาไส้ออกล้างให้สะอาด จากนั้นจึงเอาเกลือเคล้าให้ดีแล้วแล้วก็หมักในไหประมาณ 5 เดือน พอห้าเดือนก็นำออกมาใส่กับข้าวซึ่งคั่วเป็นอย่างดี เอาข้าวสารเนี่ยมาคั่วแล้วก็มาโขลกให้ละเอียดเลย ที่เราเรียกว่าข้าวคั่วหรือข้าวเบื่อนั่นแหละ เนี่ยผสมกับปลาที่หมักเอาไว้ ก็จะเป็นปลาร้า เป็นอาหารชั้นดีที่สุด น่าคิดนะครับ

ครั้นปลาเน่าและค่อนข้างจะเป็นน้ำแล้ว น้ำปลาเน่าหรือปลาร้านี้จะนูนฟอดขึ้น และก็ยุบลงตรงกับเวลาที่ระดับกระแสน้ำทะเลขึ้น-ลง เออ! นั่งดูด้วย …เพื่อนของลาลูแบร์คนหนึ่งชื่อ เมอสิเยอแวงซัง ได้ให้ปลาร้าแก่ลาลูแบร์เนี่ย 1 ไห เมื่อกลับมาถึงประเทศฝรั่งเศส ของที่ระลึกนี้น่ารักมากเลย กลับจากอยุธยาไปฝรั่งเศสเนี่ย! สิ่งที่ให้กันเป็นที่ระลึกก็คือปลาร้า 1 ไห แล้วมิหนำซ้ำ เมอสิเยอแวงซังยังยืนยันกับลาลูแบร์ด้วยว่า การที่น้ำปลาร้าในไหขึ้น-ลงตามน้ำทะเลได้นั้นเป็นความจริง โอ้โฮ! ไม่ใช่กินอย่างเดียว นั่งดูน้ำปลาร้าในไหด้วย แปลว่ามีความรักมาก รักปลาร้าเหลือเกิน

ลาลูแบร์ยังบอกว่า ชาวสยามไม่ค่อยชอบบริโภคเนื้อสัตว์และไม่มีโรงฆ่าสัตว์ ฟังดีๆ นะครับ ชาวสยามแต่ก่อนนี้ไม่ค่อยเป็นมะเร็งนะท่านนะ เพราะไม่ค่อยบริโภคอาหารเนื้อ ลาลูแบร์บอกว่าชาวสยามไม่ค่อยนิยมบริโภคเนื้อสัตว์แม้จะมีผู้นำมาให ้แต่ถ้าจะบริโภคบ้างก็พอใจจะบริโภคแต่ลำไส้และเครื่องในทั้งหลาย ซึ่งเป็นของที่พวกทางฝรั่งเศสเค้าไม่บริโภคกัน ไม่ชอบ แต่ชาวสยามชอบ และบอกว่าในตลาดของอยุธยาจะมีตัวแมลงต่างๆ ปิ้งบ้าง ย่างบ้างวางขายแต่ไม่เห็นมีร้านไหนขายเนื้อย่าง และก็ไม่มีโรงฆ่าสัตว์สักแห่ง และบอกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดพระราชทานเป็ดไก่และอื่นๆ ที่ยังเป็นๆ ให้พวกเรา ให้พวกฝรั่งเศสที่มาอยู่ พระราชทานให้เลยเป็นภาระของพวกเรา ที่จะต้องเชือดคอทำอาหารบริโภคกันเอง

จากนั้นบอกว่าคนสยามกินตั๊กแตน กินหนูพุก แย้ งู ตัวด้วง และแมลงอีกหลายชนิด ลาลูแบร์เลยบอกว่าไม่น่าสงสัยเลยว่า ธรรมชาติเนี่ยคงจะทำให้ชาวสยามหันไปบริโภคแต่อาหารประเภทที่ย่อยง่าย และบอกว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะมีรสชาติดีก็ได้…”

เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยที่สถานภาพของปลาร้า ‘อาหารชาววัง’ สมัยอยุธยา จะตกต่ำจนกลายเป็น ‘อาหารบ้านนอก’ ในสายตาของคนกรุงส่วนใหญ่ในปัจจุบันไปได้

นับเป็นตัวอย่างเล็กๆ อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ค่านิยม ทัศนคติ และภาพพจน์ ล้วนเป็น ‘เปลือกนอก’ ที่เปลี่ยนไปไม่หยุดยั้งตามกาลเวลา ซึ่งไม่ได้สะท้อน ‘เนื้อแท้’ ของอะไรทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นของฝากมีระดับสำหรับทูตฝรั่ง หรือกับข้าวยามยากสำหรับคนจน ปลาร้าก็ยังคงรสชาติความอร่อยแบบเค็มปร่าเช่นเดิม ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปกี่พันกี่ร้อยปี

ถ้าจะว่ากันให้ถึงที่สุด ‘รสชาติ’ ของปลาร้าก็ไม่มีอยู่จริง หากแตกต่างกันไปตามต่อมรู้รสของคนแต่ละคน ฉะนั้นปลาร้าจึงเป็นของอร่อยสำหรับผู้เขียน แต่เป็นของน่าขยะแขยงสำหรับเพื่อนที่ไม่ชอบอาหารเค็มเลย

อาจารย์ปรีดีเล่าว่า อาหารสยามที่ชาวฝรั่งเศสโปรดปรานที่สุดคือ “ผลไม้ลูกเล็ก” ซึ่งที่จริงก็คือ ‘ลูกชุบ’ นั่นเอง เพียงแต่ฝรั่งไม่รู้จักชื่อไทย

‘เทคโนโลยีฝรั่ง’ เช่นน้ำพุและระบบน้ำประปา เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระนารายณ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่แนบแน่นเสียจนทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพระนารายณ์ทรงยอมให้พ่อค้าฝรั่งเศสกดขี่และเอาเปรียบราษฎร ซึ่งความไม่พอใจของประชาชนที่ขยายวงกว้างขึ้นนั้นก็กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ออกพระเพทราชาสามารถขับไล่ฝรั่งเศสและโค่นราชบัลลังก์ได้สำเร็จ

รัฐบาลปัจจุบันน่าจะจ้างนักออกแบบหรือศิลปินคอมพิวเตอร์ สร้างแบบจำลองของพระราชวังแห่งนี้เป็นโมเดล 3 มิติ ให้คนเข้าไปเยือนได้ในโลกเสมือนจริง เผยแพร่โมเดลนี้ทางอินเทอร์เน็ตให้คนดาวน์โหลดไปดูฟรีๆ อาจจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของการอนุรักษ์โบราณสถานขึ้นมาได้บ้าง

เพราะตราบใดคนไทยยังไม่สนใจมาเยือน รัฐบาลก็คงไม่มีแรงจูงใจหรือแรงกดดันใดๆ ให้ดูแลรักษาอย่างจริงจัง โบราณสถานอันล้ำค่าแห่งนี้ก็รังแต่จะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

เพราะประวัติศาสตร์ที่ทาบทออยู่บนซากปรักหักพังที่แลดูไร้ชีวิต ไม่มีวัน ‘มีชีวิต’ ขึ้นมาหรือมีความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้เท่ากับชนพื้นเมืองผู้ซึ่งประวัติศาสตร์นั้นไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือด แต่หลายคนไม่เคยล่วงรู้เพราะไม่เคยสนใจ และเมื่อไม่เคยสนใจ ก็ได้แต่ฉงนใจแต่ไม่เคยค้นหาคำตอบที่แท้จริงว่า เหตุใดประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอยอยู่เสมอ และเราจะหาทางป้องกันไม่ให้กงล้อประวัติศาสตร์หมุนวนมาย่ำยีผู้ด้อยโอกาสในสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อย่างไร

สิบสองท้องพระคลัง
สิบสองท้องพระคลัง

ถัดจากตึกรับรองแขกเมือง คือกลุ่มอาคารสิบสองหลังที่เรียงกันเป็นสองแถว แถวละหกหลัง สองข้างทางเดินไปจนสุดเขตพระราชฐานชั้นนอก ตึกเหล่านี้เอาไว้เก็บทรัพย์สมบัติของพระนารายณ์ มีชื่อเรียกตามประเภทของสมบัติ เช่น พระคลังสวน เอาไว้เก็บผลผลิตจากสวนต่างๆ เช่น มะพร้าว มะม่วง ฯลฯ ของบางส่วนคงกันไว้เป็นสินค้าที่ลำเลียงลงเรือเพื่อไปค้าขายกับประเทศอื่นๆ และอีกบางส่วนก็กันไว้เลี้ยงรับรองแขกเมือง

สิบสองท้องพระคลังตอนนี้ดูเล็กกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับศูนย์กระจายสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่น ใช้คอนเทนเนอร์ตู้เดียวก็ใส่ของในตึกเหล่านี้ได้ทั้งหมด

ทางระหว่างพระราชฐานชั้นนอกกับชั้นในเป็นทางลาดขึ้นลงคล้ายคลื่นยามทะเลสงบ แทนที่จะเป็นทางเรียบๆ อาจารย์อธิบายว่าสถาปนิกจงใจออกแบบทางให้ลาดแบบนี้เพื่อทุ่นแรงคนหามเสลี่ยง เพราะขาลงจะหามได้เร็วกว่าขาขึ้น พร้อมกันนั้นก็เป็นเทคนิคในการออกแบบด้วย เพราะทางลาดทำให้ทางเดินดู ‘ลึก’ กว่าความเป็นจริง

ตึกพระเจ้าเหา
ตึกพระเจ้าเหา

ในร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ริมกำแพง มีอาคารตึกอีกหลังหนึ่งแอบอยู่ ตึกนี้มีชื่อว่า “ตึกพระเจ้าเหา” มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง ตึกนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อ พระเจ้าหาว (หาวที่แปลว่าท้องฟ้า) แต่คนเรียกเพี้ยนจนกลายเป็น ‘พระเจ้าเหา’

ต่อไปเวลาได้ยินใครใช้คำว่า ‘พระเจ้าเหา’ ในบทสนทนา เช่น “โฮ้ย ชั้นแต่งตัวแบบนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว” ท่านผู้อ่านก็สามารถตอบเขาว่า “โอ้โห อยู่มากว่า 340 ปีแล้วหรือ” อย่างมั่นใจ ถ้าไม่กลัวอีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าท่านแกล้งกวนอวัยวะเบื้องล่างเล่นๆ

นอกจากจะเป็นที่มาของหนึ่งในสำนวนยอดฮิตแล้ว ตึกพระเจ้าเหายังเป็นที่ซึ่งพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ใช้เป็นสถานที่นัดแนะประชุมขุนนางและทหารเพื่อวางแผนแย่งชิงราชสมบัติ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนัก

พระพุทธรูปในตึกนี้หายไป(คงถูกขโมยไป)นานแล้ว เหลือเพียงห้องโล่งๆ และร่องรอยการประดิษฐานคือฐานรองพระพุทธรูปที่เรียกว่า ‘ฐานชุกชี’ คำว่า ‘ชุกชี’ คือ ‘ที่นั่ง’ ในภาษาแขกมัวร์

โรงช้างหลวง
โรงช้างหลวงข้างประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง

เมื่อพาดูเขตพระราชฐานชั้นนอกจนทั่วแล้ว อาจารย์ก็พาเราเดินเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ผ่านโรงช้างหลวงและประตูที่ช้างเข้าไม่ได้ ตรงดิ่งเข้าไปยังพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ‘ท้องพระโรง’ ประจำพระราชวัง สถานที่ซึ่งพระนารายณ์ทรงเสด็จออกให้คนเข้าเฝ้า ตรงกลางท้องพระโรงมี ‘สีหบัญชร’ สำหรับทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ยกสูงจากพื้นหลายเมตร ตอนนี้ยังพอเห็นเป็นโครงหน้าต่างอยู่ เมื่อเราปีนขึ้นไปชะโงกหน้าดูข้างใน ก็พบแต่ซากอิฐก่อเป็นชั้นๆ เหมือนปิระมิด นึกภาพไม่ออกว่าตรงไหนเป็นบันไดให้พระนารายณ์เดินไปตรงหน้าต่าง เพราะไม่เห็นมีสะพานเชื่อม ถ้ามีก็คงจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ถูกคนขโมยหรือไม่ก็ผุพังไปหมดแล้ว

ซาก ‘ปิระมิด’ ในห้องหลังสีหบัญชร
ซาก ‘ปิระมิด’ ในห้องหลังสีหบัญชร
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท

หน้าสีหบัญชรมีรูปปั้นพระนารายณ์และรูปสลักนูนสูงตั้งอยู่ เต็มไปด้วยทองที่คนไปปิดและธูปเทียนบูชาในกระถาง ป้ายข้างล่างรูปแกะสลักระบุว่า พระนารายณ์เคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศสที่นำโดย เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ณ พระที่นั่งองค์นี้ในปี พ.ศ. 2228 อาจารย์บอกว่าป้ายนี้ให้ข้อมูลผิด เพราะพระนารายณ์ทรงออกรับ เดอ โชมองต์ และคณะทูตอื่นๆ ที่กรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่ที่ลพบุรี นักประวัติศาสตร์หลายคนทักท้วงเรื่องรูปสลักนี้หลายหนแล้ว แต่ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็ไม่เคยสนใจจะแก้ไขให้ถูกต้อง (ผู้เขียนเดาว่า ททท. อาจตั้งใจโกหกเพื่อดึงดูดให้คนมาเที่ยวก็ได้ เพราะขนาดเว็บไซต์ของททท. เอง ยังให้ข้อมูลผิดเลย)

จากพระที่นั่งดุสิตฯ อาจารย์พาเราเดินเลี้ยวซ้ายเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน บรรยากาศร่มรื่นกว่าข้างนอกมาก เพราะบริเวณนี้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระนารายณ์ อากาศเย็นสบายเพราะจงใจสร้างวังนี้ตรงช่องลมพอดี แสดงภูมิปัญญาของคนโบราณอีกตัวอย่างหนึ่ง

ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่า “พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น [พระนารายณ์]ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน” อาจารย์บอกว่า ไม่ได้มีแต่สระอย่างเดียว แต่มีภูเขาไกรลาสจำลองทำจากอิฐ ต่อท่อส่งน้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำข้างนอกมาจำลองเป็นน้ำตกแม่น้ำหลายสาย ไหลลงสระจากทุกทิศทาง

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จุดที่พระปีย์ถูกปลงพระชนม์
โดยออกพระเพทราชา

หลังจากครองราชย์นาน 32 ปี สิริรวมพระชนมายุได้ 56 พรรษา พระนารายณ์ก็ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ด้วยสาเหตุไม่แน่ชัดซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ ว่าสวรรคตด้วยอาการประชวร หรือถูกปลงพระชนม์โดยคณะรัฐประหารที่นำโดยออกพระเพทราชาที่ยึดอำนาจได้สำเร็จในเดือนก่อนหน้า อาจารย์ชี้ให้ดูบริเวณที่พระปีย์ โอรสบุญธรรมที่พระนารายณ์ทรงรักมาก ถูกทหารของพระเพทราชาลอบสังหาร และบริเวณที่คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกซุ่มโจมตีก่อนจะนำตัวไปประหารชีวิต บุคคลใกล้ชิดพระนารายณ์ทั้งสองคนนี้ตายภายในเวลาไล่เลี่ยกัน

สำหรับสาเหตุและปัจจัยแห่งความสำเร็จของการทำรัฐประหารในครั้งนั้น ผู้เขียนจะเก็บไว้เล่าตอนพวกเราไปเยือนบ้านของคอนสแตนติน ฟอลคอน ในช่วงบ่าย เพราะชีวิตของขุนนางชาวกรีกผู้นี้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยนั้นอย่างลึกซึ้ง

ปัจจุบันพระที่นั่งสุทธาสวรรย์แทบไม่เหลือเค้าความอลังการให้เห็น มีเพียงซากผนังเตี้ยๆ หญ้าขึ้นรกรุงรัง เห็นชัดว่าแทบไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางการ อาจารย์บอกว่าอาคารหลังนี้ไม่ได้เสื่อมโทรมเร็วกว่าหลังอื่น แต่เป็นเพราะศิลาแลงของพระที่นั่งจำนวนมากถูกรื้อไปสร้างวัดสระเกศ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ต้นรัตนโกสินทร์ มีใบบอกไปตามหัวเมืองต่างๆ ให้รื้อและลำเลียงอิฐตามแม่น้ำลงไปยังกรุงเทพฯ เพื่อใช้สร้างวัดภูเขาทอง ยังดีที่พระราชวังนี้ไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำ ไม่อย่างนั้นคงเหลือซากให้เราดูน้อยกว่านี้อีก

เดินกลับออกมาเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง เพื่อไปเยือนกลุ่มอาคารค่อนข้างใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ชื่อหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนารายณ์ จัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย มีโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 11 มากมาย ทั้งที่พบในลพบุรี และจากภาคอื่นๆ ของประเทศ เช่น รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหล่อสำริดแบบศรีวิชัยจากสุราษฎร์ธานี พระพุทธรูปแบบสุโขทัย และพระพุทธรูปแบบล้านนาจากเชียงใหม่

ผู้เขียนคิดว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงไม่ค่อยดี ของทุกอย่างดูเคล้าคละปะปนกันไปหมด ทำให้ไม่มีจุดเด่นที่จะดึงความสนใจคน ลำพังโบราณวัตถุที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ก็มีมากมาย สวยๆ ทั้งนั้น น่าจะเอามาจัดแสดงที่นี่ ไม่ต้องไปสนใจศิลปะภาคอื่น

หลังจากสิ้นสมัยพระนารายณ์แล้ว กษัตริย์องใหม่คือพระเพทราชาไม่สนพระทัยที่จะใช้ลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สองอีก เมืองลพบุรีก็ซบเซาลง พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งรกร้าง ราษฎรหลายครัวเรือนเข้าไปจับจองเป็นที่อยู่อาศัย ผ่านไป 300 ปี ก็กลายเป็นซากปรักหักพังอย่างที่เห็น

ก่อนรถจะแล่นออก ผู้เขียนเหลียวมองไปยังประตูวังเป็นครั้งสุดท้าย นึกถึงกลอนสองบทจาก นิราศภูเขาทอง ของท่านสุนทรภู่ขึ้นมาจับใจ…

ทั้งองค์ฐานราญร้าวถึงเก้าแสก
เผลอแยกยอดสุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก
เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น
คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น

(โปรดติดตามตอนต่อไป)