(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)
เมื่อมาถึงเรือนออกญาวิชาเยนทร์ ก็ได้เวลาทวนเข็มนาฬิกากลับไป 300 กว่าปี ถึงยุคที่อาคารแห่งนี้ยังสว่างไสวด้วยแสงไฟยามค่ำคืน รุ่งโรจน์เหมือนหน้าที่การงานของเจ้าของตึกนาม คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่พุ่งสู่จุดสูงสุดในราชสำนักสยาม ก่อนที่จะปักหัวตกสู่ดินเหมือนผีพุ่งไต้
ประวัติของฟอลคอนน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะสะท้อนให้เห็นสัจธรรมที่ว่า กงล้อประวัติศาสตร์ไม่เคยหมุนไปไหนไกล เพราะไม่ว่า ‘ความเจริญทางวัตถุ’ ของมนุษย์จะก้าวหน้าไปเพียงใด กิเลสหลักๆ ที่ล่อลวงให้มนุษย์ประพฤติผิดในธรรม ก็ยังคงเป็นกิเลสเดิมๆ คือเงินและอำนาจ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ประวัติของฟอลคอนยังสอนให้รู้ว่า หนึ่งในค่านิยมของคนไทย คือ ‘โกงบ้างไม่เป็นไร ขอให้ทำงานเก่งก็พอ’ นั้น เป็นค่านิยมยอดฮิตมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
ออกญาวิชาเยนทร์ หรือนามเดิม คอนสแตนติโย เยรากี หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2190 ที่เกาะเซฟาโลเนีย ประเทศกรีก ออกเดินทางแสวงโชคในโลกกว้างเมื่ออายุเพียง 13 ปีเท่านั้น ในตำแหน่งเด็กรับใช้ประจำเรือสินค้าของอังกฤษ เด็กชายฟอลคอนเป็นเด็กฉลาด ขยันขันแข็ง และกระตือรือร้นในการหาความรู้ ทำงานในเรือไม่นานก็สามารถพูดภาษาอังกฤษและภาษาโปรตุเกสได้ ต่อมาเมื่อล่วงเข้าวัยหนุ่ม ฟอลคอนได้งานกับบริษัทอินเดียตะวันออก (East India) ของอังกฤษ ที่สาขาเกาะชวา ทำให้เรียนรู้ภาษามลายูอีกภาษาหนึ่ง
ความเชี่ยวชาญในภาษามลายูและโปรตุเกส สอง ‘ภาษาราชการ’ ประจำราชสำนักของพระนารายณ์ เป็น ‘ความบังเอิญที่มีประโยชน์’ ข้อสำคัญที่ช่วยให้ฟอลคอนรุ่งเรืองก้าวหน้าในเวลาต่อมา
ฟอลคอนเดินทางมาประจำสาขาอยุธยาของบริษัทอินเดียตะวันออกในปี พ.ศ. 2221 ต่อมาอีก 2 ปีลาออกจากบริษัท ไปเข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้า ทำงานเป็นที่พอใจของราชการจนได้รับตำแหน่งเป็นออกหลวงสุระสงคราม เริ่มมีโอกาสเข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อกราบทูลเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญของโลกตะวันตก ในปี 2228 ได้เลื่อนยศเป็นออกพระฤทธิกำแหงภักดี
ฟอลคอนไม่ได้เป็น ‘พ่อค้า’ ที่หลักแหลมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น ‘นักฉวยโอกาส’ ตัวยงที่ไม่เคยคิดว่าจรรยาบรรณหรือคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญ (แต่สมัยนั้นปัญหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ด้วย) ดังสะท้อนจากการที่เขาลักลอบทำการค้าส่วนตนตั้งแต่สมัยอยู่บริษัทอินเดียตะวันออก และเมื่อรับราชการแล้วก็แอบแฝงค้าขายกับกรมพระคลังสินค้าจนร่ำรวย สร้างคฤหาสน์หลังใหญ่พร้อมโบสถ์ประจำบ้านตามความนิยมของเศรษฐียุโรปในสมัยนั้น ทั้งที่อยุธยาและลพบุรี
(ขอเชิญอ่าน ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 ก่อน ถ้ายังไม่เคยอ่าน)
เมื่อมาถึงเรือนออกญาวิชาเยนทร์ ก็ได้เวลาทวนเข็มนาฬิกากลับไป 300 กว่าปี ถึงยุคที่อาคารแห่งนี้ยังสว่างไสวด้วยแสงไฟยามค่ำคืน รุ่งโรจน์เหมือนหน้าที่การงานของเจ้าของตึกนาม คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่พุ่งสู่จุดสูงสุดในราชสำนักสยาม ก่อนที่จะปักหัวตกสู่ดินเหมือนผีพุ่งไต้
ประวัติของฟอลคอนน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะสะท้อนให้เห็นสัจธรรมที่ว่า กงล้อประวัติศาสตร์ไม่เคยหมุนไปไหนไกล เพราะไม่ว่า ‘ความเจริญทางวัตถุ’ ของมนุษย์จะก้าวหน้าไปเพียงใด กิเลสหลักๆ ที่ล่อลวงให้มนุษย์ประพฤติผิดในธรรม ก็ยังคงเป็นกิเลสเดิมๆ คือเงินและอำนาจ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ประวัติของฟอลคอนยังสอนให้รู้ว่า หนึ่งในค่านิยมของคนไทย คือ ‘โกงบ้างไม่เป็นไร ขอให้ทำงานเก่งก็พอ’ นั้น เป็นค่านิยมยอดฮิตมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
ออกญาวิชาเยนทร์ หรือนามเดิม คอนสแตนติโย เยรากี หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2190 ที่เกาะเซฟาโลเนีย ประเทศกรีก ออกเดินทางแสวงโชคในโลกกว้างเมื่ออายุเพียง 13 ปีเท่านั้น ในตำแหน่งเด็กรับใช้ประจำเรือสินค้าของอังกฤษ เด็กชายฟอลคอนเป็นเด็กฉลาด ขยันขันแข็ง และกระตือรือร้นในการหาความรู้ ทำงานในเรือไม่นานก็สามารถพูดภาษาอังกฤษและภาษาโปรตุเกสได้ ต่อมาเมื่อล่วงเข้าวัยหนุ่ม ฟอลคอนได้งานกับบริษัทอินเดียตะวันออก (East India) ของอังกฤษ ที่สาขาเกาะชวา ทำให้เรียนรู้ภาษามลายูอีกภาษาหนึ่ง
ความเชี่ยวชาญในภาษามลายูและโปรตุเกส สอง ‘ภาษาราชการ’ ประจำราชสำนักของพระนารายณ์ เป็น ‘ความบังเอิญที่มีประโยชน์’ ข้อสำคัญที่ช่วยให้ฟอลคอนรุ่งเรืองก้าวหน้าในเวลาต่อมา
ฟอลคอนเดินทางมาประจำสาขาอยุธยาของบริษัทอินเดียตะวันออกในปี พ.ศ. 2221 ต่อมาอีก 2 ปีลาออกจากบริษัท ไปเข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้า ทำงานเป็นที่พอใจของราชการจนได้รับตำแหน่งเป็นออกหลวงสุระสงคราม เริ่มมีโอกาสเข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อกราบทูลเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญของโลกตะวันตก ในปี 2228 ได้เลื่อนยศเป็นออกพระฤทธิกำแหงภักดี
ฟอลคอนไม่ได้เป็น ‘พ่อค้า’ ที่หลักแหลมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น ‘นักฉวยโอกาส’ ตัวยงที่ไม่เคยคิดว่าจรรยาบรรณหรือคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญ (แต่สมัยนั้นปัญหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ด้วย) ดังสะท้อนจากการที่เขาลักลอบทำการค้าส่วนตนตั้งแต่สมัยอยู่บริษัทอินเดียตะวันออก และเมื่อรับราชการแล้วก็แอบแฝงค้าขายกับกรมพระคลังสินค้าจนร่ำรวย สร้างคฤหาสน์หลังใหญ่พร้อมโบสถ์ประจำบ้านตามความนิยมของเศรษฐียุโรปในสมัยนั้น ทั้งที่อยุธยาและลพบุรี
ตั้งแต่เริ่มรับราชการ ฟอลคอนได้พิสูจน์ให้ราชสำนักสยามเห็นว่าเล่ห์เหลี่ยมและความเจนจัดด้านการเจรจาทางธุรกิจของเขานั้น เป็นประโยชน์ต่อสยามในการค้าระหว่างประเทศ ฟอลคอนช่วยเจรจาการค้ากับต่างชาติ ส่งผลให้อยุธยาได้รับประโยชน์มากกว่าที่เคยได้ถึงสองเท่า นอกจากนี้ เขาก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งคณะทูตไทยไปเจริญไมตรีกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2227 และหลังจากนั้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งคณะทูตนำโดย เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ มายังอยุธยาในปีถัดมาคือ 2228 ฟอลคอนก็เป็นคนสำคัญในการรับคณะทูตชุดนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักคือ โน้มน้าวให้พระนารายณ์เข้ารีต ให้ฝรั่งเศสมีอิทธิพลในการสอนศาสนา ให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ให้ผูกขาดการค้าดีบุกที่ภูเก็ต ให้ได้รับประโยชน์ทางการค้าเท่าเทียมฮอลันดา และให้ตั้งกองทัพทหารฝรั่งเศสที่เมืองสงขลา
ดังที่ได้เล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า พระนารายณ์ทรงยินดีที่จะผูกมิตรกับฝรั่งเศส เพราะขณะนั้นกำลังมองหาประชาคมต่างชาติที่ไว้ใจได้มาแทนอิหร่าน (แขกมัวร์) และอังกฤษ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้กับสยามกำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยแขกมัวร์ได้ก่อกบฏมักกะสันในปี 2229 และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็เกิดจลาจลซึ่งมีเหตุมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้านการค้าขึ้นในเมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองท่าด้านตะวันตกของอยุธยา อันนำไปสู่การสังหารชาวอังกฤษ 60 คนที่ขัดขวางผลประโยชน์ทางการค้าของพระนารายณ์และฟอลคอน หลังจากนั้นพระนารายณ์ทรงประกาศยกเมืองมะริดให้ฝรั่งเศสไปตั้ง (กล่าวคือมีเจ้าเมืองเป็นคนฝรั่งเศส และให้กองทหารฝรั่งเศสอยู่ประจำได้) เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้อยุธยาอยู่ในสภาพสงครามกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ นายจ้างเดิมของฟอลคอน ไปจนสิ้นสุดรัชกาลพระนารายณ์
ฟอลคอนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการทำหน้าที่เป็น ‘ตัวเชื่อม’ สายสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามและฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ พระนารายณ์สามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านการค้าและการทูตของฟอลคอน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีกำลังก่อกบฏเนื่องจากฟอลคอนเป็นพ่อค้าชาวกรีก ไม่มีฐานอำนาจของตนเอง ด้านฝรั่งเศสเองก็มองว่าสามารถใช้ฟอลคอนเป็น ‘สะพานเชื่อม’ ในการเกลี้ยกล่อมให้พระนารายณ์ยอมเข้ารีตเป็นคริสต์ และแม้กระทั่งช่วยยึดอาณาจักรสยามหากสบโอกาส ฟอลคอนเองก็เหลี่ยมจัดถึงขนาดยอมเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์นิกายคาทอลิก เพื่อให้บาทหลวงฝรั่งเศสไว้วางใจในตัวเขามากขึ้น
เมื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่ายลงตัว การเถลิงอำนาจของฟอลคอนและประชาคมฝรั่งเศสจึงได้เริ่มขึ้นและจบลงพร้อมๆ กัน ทันทีที่พระนารายณ์สิ้นพระชนม์ที่พระตำหนักเย็นในลพบุรีนั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2230 อาชีพการงานของฟอลคอนรุ่งเรืองถึงที่สุด โดยได้รับตำแหน่งราชการสูงสุดฝ่ายพลเรือน คือเป็นถึงที่สมุหนายก ได้รับราชทินนาม “ออกญาวิชาเยนทร์” ฟอลคอนได้รับอำนาจมากเสียจนสามารถลงนามในสนธิสัญญาต่างๆ แทนสยามได้
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้สรุปปัญหาในการเมืองภายในสยาม และอธิบายพฤติกรรม ‘โลภไร้ขีดจำกัด’ และ ‘ลุแก่อำนาจ’ ของฟอลคอน ผนวกกับการ ‘ลำเอียง’ เข้าข้างฟอลคอนของพระนารายณ์ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทั้งพระนารายณ์และฟอลคอนถูก ‘โดดเดี่ยว’ ทางการเมือง จนนำไปสู่ความสำเร็จของออกพระเพทราชาในการทำรัฐประหาร ไว้ในหนังสือเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ดังต่อไปนี้
“…ความหวังของพระนารายณ์ในอันที่จะใช้ฟอลคอนเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างพระองค์กับประชาคมคริสเตียนนั้นเป็นความหวังที่จะสำเร็จได้ยาก สาเหตุส่วนหนึ่งที่จะต้องล้มเหลวก็เพราะมีปัญหาแตกร้าวระหว่างพวกคริสตังเองจนเกินกว่าฟอลคอนหรือบุคคลใดจะสามารถประสานได้ ศาสนาเป็นเพียงด้านเดียวของมนุษย์ มิใช่ทั้งหมดของชีวิต ด้านอื่นๆ นั่นเองที่ทำให้คนในศาสนาเดียวกันไม่กลมเกลียวกันเสมอไป เป็นต้นว่าการอุดหนุนพระฝรั่งเศสเป็นพิเศษ ก็ทำให้พวกโปรตุเกสไม่ชอบฟอลคอน [เพราะ]คริสตจักรในอยุธยาเคยเป็นเขตอิทธิพลของพระโปรตุเกสมาก่อน พระเยซูอิตโปรตุเกสและเยซูอิตฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน …ต่างแข่งดีกันอยู่ในทีทั้งสิ้น อีกประการหนึ่ง ไม่มีมนุษย์คนใดเป็นเครื่องมือให้แก่ใครได้เต็มที่บริบูรณ์ เพราะมนุษย์มีความต้องการส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับแผนการที่เขาเป็นเพียงเครื่องมืออยู่เสมอไป ฟอลคอนก็มีความต้องการ ความหวัง ความโลภซึ่งเป็นส่วนตัวของเขา ไม่เกี่ยวกับบทบาทที่เขาควรจะเป็นตามพระราโชบายเช่นกัน ในกรณีที่บาทหลวงขัดแย้งกันเช่นนี้ เขาก็หาได้พยายามประสานรอยร้าวอย่างเป็นธรรมไม่ เขาได้ตัดสินใจละทิ้งพวกบาทหลวงจากคณะต่างประเทศเกือบทันทีที่บาทหลวงเยซูอิตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามา เพราะบาทหลวงเยซูอิตกำลังเป็นที่โปรดปรานในราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ในช่วงนั้น จึงจะสามารถทำประโยชน์ให้แก่เขาในฝรั่งเศสได้มากกว่า ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
…กรณีอื้อฉาวที่รัฐบาลในสมัยพระนารายณ์ได้นำเอากองทหารฝรั่งเศสเข้ามาตั้งในประเทศนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือลักลอบกระทำการล่วงพระราชอำนาจโดยฟอลคอน กองทหารนั้นเข้ามาอย่างเปิดเผยใน ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230) ไม่มีใครประหลาดใจว่าราชทูตฝรั่งเศสนำกองทหารเข้ามาประจำการในประเทศ …ความคิดเรื่องการนำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามานี้ (และไม่ว่าใครจะเป็นผู้ต้นคิด แต่ก็ไม่ “แหวกแนว” ไปกว่าการที่เคยทรงสัญญาจะยกเมืองให้ฝรั่งเศสมากนัก) ฟอลคอนได้แสดงให้ปรากฏตั้งแต่เมื่อเดอ โชมองต์เข้ามาใน ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) แล้ว และเจาะจงจะให้อยู่ที่บางกอกโดยจะสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นป้อมใหญ่ …ประชากรที่หนาแน่นในบริเวณนี้ซึ่งไม่ไกลจากอยุธยาจะใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างดีในการทำรัฐประหาร …การจัดกองทหารฝรั่งเศสให้เข้าประจำที่บางกอก จึงมีประโยชน์ในการเมืองภายในอยู่อย่างยิ่ง ถ้ากษัตริย์สามารถคุมบางกอกทางใต้ไว้ได้ พร้อมกับคุมลพบุรีทางเหนือ ขุนนางในอยุธยาจะไม่สามารถทำรัฐประหารภายในพระราชวังได้สะดวกอีกต่อไป
เพื่อเสริมความมั่งคั่งแห่งอำนาจทั้งของพระนารายณ์และฟอลคอน แผนการที่จะแทรกซึมชาวฝรั่งเศสเข้าไปคุมระบบราชการอย่างกว้างขวางก็ถูกเสนอให้ฝรั่งเศส ในนามของความพยายามที่จะสถาปนาศาสนาคริสต์ในประเทศไทย เมื่อบาทหลวงตาชารด์เดินทางกลับฝรั่งเศสพร้อมกับทูตเดอ โชมองต์ เขาได้ถือเอาคำสั่งลับของฟอลคอนไปเสนอแผนการนี้แก่บาทหลวงเดอ ลาแชส นั่นได้แก่การส่งลูกผู้ดีชาวฝรั่งเศสสัก 60-70 คนมาเมืองไทย พร้อมทั้งกองทหารฝรั่งเศส ฟอลคอนสัญญาว่าจะช่วยให้พวกเหล่านี้ได้รับตำแหน่งมีหน้ามีตา…
…ความโลภของฟอลคอนบวกกับความเป็นไปไม่ได้ของพระราโชบายนี้ ทำให้ทั้งพระนารายณ์และฟอลคอนยิ่งอยู่โดดเดี่ยวทางการเมืองมากขึ้น พวกโปรตุเกสไม่ชอบฟอลคอน พวกมุสลิมถูกแย่งผลประโยชน์ทางการค้าไปไม่น้อย บางกลุ่มยังหวาดหวั่นต่อการเฟื่องฟูของคริสต์ศาสนาและฝรั่ง พวกกองอาสาทั้งหลายพบว่าความสำคัญของตนด้อยลงถนัดเพราะพระเจ้าแผ่นดินและเสนาบดีคนโปรดเชื่อฝีมือและไว้ใจแต่กองทหารฝรั่ง และแน่นอนขุนนางฝ่ายปกครองซึ่งเสียผลประโยชน์ตลอดมา ก็จ้องคอยโอกาสอันเหมาะเพื่อล้มล้างทั้งพระนารายณ์และฟอลคอนลง
แนวร่วม พระสงฆ์-ขุนนาง-ประชาชน
…เนื่องจากฟอลคอนเป็นผู้มีผลประโยชน์ทางการค้าอย่างมาก และใช้ฐานะหน้าที่ของตนในการค้าอยู่ไม่น้อย เพียงใน ค.ศ. 1682 (พ.ศ. 2225) ก็มีรายงานแล้วว่าเขามีกิจการค้ามากกว่าพ่อค้าทุกคนในสยามรวมกัน เหตุฉะนั้นนโยบายการค้าของรัฐบาลในสมัยของเขาจึงหันกลับมาสู่การผูกขาดการค้าอย่างเด็ดขาดโดยพระคลังหลวงอีก …ผลของการที่[พระคลัง]ได้ผูกขาดการค้ากับต่างประเทศโดยสิ้นเชิงนี้ คือความพินาศของการค้าในประเทศสยาม พ่อค้าต่างชาติจำนวนน้อยลงๆ เดินทางมายังประเทศไทย พระเจ้าปราสาททองก็ทรงเคยใช้นโยบายนี้มาก่อนและก่อให้เกิดผลเสียแก่การค้าต่างประเทศเช่นกัน ในด้านการนำเข้า รัฐบาลสมัยพระนารายณ์ภายใต้ฟอลคอนก็ใช้สิทธิของการเลือกซื้อก่อนของพระคลังสินค้า กดขี่พ่อค้าเพื่อจะทำให้พระคลังได้กำไรมากๆ และยิ่งทำให้พ่อค้าต่างชาติรังเกียจการค้ากับไทยมากขึ้น
…ผลแห่งความพินาศของการค้าต่างประเทศตกหนักแก่ทั้งขุนนางและประชาชนกลุ่มหนึ่ง เพราะมีผลกระทบถึงการค้าภายใน และความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของบุคคลอยู่ด้วย …ความทรุดโทรมด้านการค้านี้มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แม้ว่าเงินตรามิใช่เป็นเครื่องยังชีพของประชาชนในสมัยนั้น แต่ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ทาสราคาตกลงอย่างมาก ยิ่งกิจการค้าขายถูกจำกัดลงเช่นนี้ ความต้องการใช้ทาสยิ่งลดลง ทาสเป็นทางออกให้แก่ประชาชนที่ทนทุกข์ในระบบไพร่ สถาบันทาสเป็นสิ่งจำเป็นในระบบไพร่ เพราะช่วยผ่อนปรนความตึงเครียดในระบบนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่กระทบถึงการขายตัวลงเป็นทาสจึงนับว่าเป็นผลร้ายแก่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นไพร่อยู่ด้วย
นอกจากผลร้ายโดยทางอ้อมเช่นนี้จะตกเป็นของประชาชนแล้ว ฟอลคอนเองก็ยังมีส่วนทำให้ความทุกข์ยากของประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพื่อทำให้ท้องพระคลังมั่งคั่งขึ้น เขาดำเนินการทุกประการเท่าที่จะทำได้เพื่อเพิ่มความโปรดปรานของพระนารายณ์ แม้แต่เรือเล็กๆ ของชาวบ้าน ฟอลคอนก็จัดให้ต้องเสียภาษีตามด่านขนอนต่างๆ …ลาลูแบร์ตั้งข้อสังเกตว่า การเงินของประเทศถูกเรียกเก็บเข้าท้องพระคลังหมด และจ่ายกลับไปสู่ประชาชนน้อยและช้ามาก ซ้ำยังมีวิธีหมุนเอาเงินที่จ่ายไปนั้นกลับมาสู่ท้องพระคลังเสียอีก ผลจากการกระทำเหล่านี้ทำให้ฟอลคอน “เป็นคนที่ชาวสยามทุกคนเกลียดชังมาก” (บันทึกของบาทหลวงเดอ ลิยอน) ในขณะเดียวกันการจะถวายฎีกาก็เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากสามัญสำนึกของคนในสมัยนั้น เนื่องจากมีตัวอย่างหลายครั้งที่ขุนนางได้ทูลฟ้องร้องความผิดของฟอลคอน แต่พระนารายณ์กลับลงราชทัณฑ์แก่ผู้ฟ้องร้อง บางครั้งรุนแรงถึงขนาดประหารชีวิตทีละมากๆ …แม้แต่เมืองลพบุรีที่โปรดเสด็จมาประทับปีละนานเดือนนี้ก็ต้องได้รับความเดือดร้อน …ตามปกติแล้วเมืองลพบุรีก็มีพลเมืองหนาแน่น เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานเช่นนี้ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนประชากรของเมืองขึ้น จนเป็นผลให้ราคาอาหารในลพบุรีแพงกว่าที่อื่น
นอกจากความเดือดร้อนเพราะการปกครองของพระองค์แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องกล่าวอีกด้วยว่า การเข้ามาของทหารต่างชาติและการเฟื่องฟูของพวกคริสเตียนจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ประชาชนสักเพียงใด กองทหารต่างชาติที่ตั้งอยู่บางกอกนั้นได้รับคำสั่งให้ “ยึดครอง” เมืองบางกอกถ้าจำเป็น …กองทหาร “ยึดครอง” ที่ใดสมัยใดก็มีลักษณะเหมือนกัน กล่าวคือไม่มีทางที่จะเป็นมิตรของประชาชนได้ แม้ว่าประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีลัทธิชาตินิยมอยู่เลยก็ตาม ความรู้สึกของทหารที่เห็นชาวพื้นเมืองเป็น “เชลย” ช่วยเพิ่มความยโสแก่กองทหารยึดครองเป็นอันมาก มีรายงานในหลักฐานชั้นต้นอยู่ไม่น้อยที่กล่าวถึงปัญหาของความประพฤติของทหารที่กระทำต่อประชาชนไทย เช่น เมาเหล้าอาละวาด ความไม่เคารพในวัฒนธรรมของเจ้าของบ้าน รวมทั้งทัศนคติที่ยโสของนายทหารฝรั่งเองที่เหยียดหยามทหารชาวพื้นเมือง ตลอดจนถืออำนาจขนาดคิดจะขับไล่ประชาชนเมืองธนบุรีออกไปจากบริเวณใกล้ป้อม และในความขมขื่นที่เกิดจากการกระทำของทหารต่างชาตินี้ ประชาชนไทยได้พบว่าทหารต่างชาติเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ชน เพราะเป็นคนของพระเจ้าแผ่นดิน …ทหารต่างชาติผู้ไม่ได้ถือศักดินา มิได้มีเครื่องยศเช่นคานหามฝีพาย ฯลฯ เพื่อแสดงบารมี ผู้ไม่กราบไหว้พระสงฆ์ จะแสดงความกดขี่ขู่เข็ญตนได้อย่างไร อำนาจที่มีอยู่เหนือประชาชนจึงเป็นอำนาจที่ขาดเหตุผลอธิบาย ตั้งอยู่ได้ด้วยอาวุธปืนคมหอกคมดาบเท่านั้น อำนาจเช่นนี้ในทัศนะของประชาชนไม่น่าจะต่างจากอำนาจของโจรเท่าใดนัก
บัดนี้เห็นได้แล้วว่าพระราโชบายทางการเมืองของพระนารายณ์นั้น เป็นผลให้พระองค์ได้ศัตรูถึง 3 ฝ่าย คือ พระสงฆ์ ขุนนาง และประชาชน ความไม่พอใจของคนทั้ง 3 ฝ่ายนั้นอาจจะมีที่มาต่างกัน แต่เป้าหมายก็ดูเหมือนไม่ไกลกันนัก กล่าวคือกวาดล้างพวกขุนนางต่างชาติฝ่ายผู้ชำนัญการเหล่านี้ออกไป และถ้าจำเป็นก็ขจัดพระนารายณ์ออกจากราชสมบัติด้วย ยกเจ้านายองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์แทน…”
สมาชิกแนวร่วม 3 ฝ่ายคือ พระสงฆ์-ขุนนาง-ประชาชน พบผู้นำที่จะทำให้เป้าหมายของพวกเขาบรรลุผลในตัวออกพระเพทราชา เจ้ากรมช้างและเชื้อพระวงศ์ที่มีอิทธิพลสูงมากในขณะนั้น เมื่อพระนารายณ์ทรงประชวรในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2231 พระเพทราชาได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทน แต่ในขณะที่พระนารายณ์ยังมิทันมอบราชสมบัติให้ผู้ใด พระเพทราชาก็ฉวยโอกาสทำรัฐประหาร ยึดอำนาจได้สำเร็จในวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 ที่เมืองลพบุรี ระดมกำลังทหาร 5,000 นายล้อมจับทหารฝรั่งเศส ส่งทหารอีกจำนวนหนึ่งไปดักจับตัวฟอลคอนที่ใต้ต้นไม้หน้าพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนารายณ์ในบริเวณพระราชวัง นำตัวไปประหารชีวิตที่วัดซาก ข้างทะเลชุบศร ลพบุรี ในวันที่ 5 มิถุนายน เป็นอันปิดฉากชีวิตของนักผจญภัยผู้เลื่องลือไว้เพียง 41 ปี หลังจากที่ได้ไต่เต้าบันไดชีวิตอย่างระหกระเหิน จากเด็กรับใช้ผู้ไร้การศึกษาประจำเรืออังกฤษ จนได้เป็นถึงสมุหนายกแห่งสยาม
เมื่อพระนารายณ์สวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 พระเพทราชาก็ขึ้นครองราชสมบัติ และสำเร็จโทษพระอนุชาของพระนารายณ์ เป็นอันสิ้นราชวงศ์ปราสาททองและเริ่มต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พระเพทราชาเจรจาให้กองทหารฝรั่งเศสถอยออกไปจากเมืองบางกอกในวันที่ 18 ตุลาคม 2231 เป็นอันสิ้นสุดยุคแห่งการ ‘แทรกแซง’ การเมืองภายในประเทศของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยา
น่าสังเกตว่า ความเดือดร้อนของพ่อค้าและประชาชนไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก่อรัฐประหารของพระเพทราชาได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางนั้น มีชนวนมาจากการที่พระนารายณ์ยอมให้ฟอลคอนเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นแบบ ‘ทุนนิยมผูกขาด’ หรือที่นักวิชาการสมัยใหม่บางคนเรียกว่า ‘ทุนนิยมสามานย์’ ซึ่งเป็นรูปแบบของทุนนิยมที่ ‘เลวที่สุด’ ในบรรดารูปแบบต่างๆ เพราะทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในมือคนไม่กี่คน และยอมให้คนเหล่านั้น ‘ค้ากำไรเกินควร’ ไปมากมายมหาศาล ในทางที่เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในตลาด แถมฟอลคอนเองก็เกิดอาการความโลภบังตา เบียดบังเงินตราและผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ เข้าสู่กระเป๋าตัวเองในแทบทุกโอกาสที่ทำได้
ถ้ามองในแง่นี้ เมืองไทยสมัยพระนารายณ์ กับเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 ก็ดูเหมือนจะไม่ต่างกันเท่าไรนัก ทุกชนชั้นและเชื้อชาติมีทั้งคนสุจริตและทุจริตปะปนกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นปกครอง ขุนนาง พ่อค้า ไพร่ และชนต่างชาติ ไม่สามารถเหมารวมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่า ‘เลว’ ได้ทั้งหมด ถ้าฟอลคอนรู้จักยับยั้งชั่งใจ เพลาความโลภของตัวเองลงบ้าง ชะตากรรมของเขา ฝรั่งเศส และพระนารายณ์อาจเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ และประวัติศาสตร์อาจจารึกชื่อของเขาว่าเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติคนแรกๆ ที่สอนชาวไทยให้รู้จักวิธีเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับมหาอำนาจต่างชาติก็เป็นได้
แต่หากมองอีกมุม ถ้าราชสำนักสยามสนใจที่จะวางกลไกป้องกันการแสวงหา ‘กำไรส่วนเกิน’ จาก ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่ากิเลสของฟอลคอน(และอาจจะรวมของพระนารายณ์ด้วย)จะหนาหนักเพียงใด ก็คงจะไม่สามารถแสดงพิษสงทำร้ายสังคมได้ถึงเพียงนี้
ระหว่างการคาดหวังว่าจะมี ‘คนดี’ มาทำงานใน ‘ระบบเลว’ กับการออกแบบ ‘ระบบดี’ ที่ป้องกันไม่ให้ ‘คนเลว’ ทำเลวได้มากนัก ผู้เขียนเชื่อมั่นในอย่างหลังมากกว่า เพราะมีโอกาสเป็นไปได้สูงกว่าหลายเท่า แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะไม่เคยเรียนรู้ข้อนี้จากประวัติศาสตร์จริงๆ
หลังคฤหาสน์ของฟอลคอน อาจารย์ชี้ให้ดูซากห้องใต้ดิน ซึ่งเรารู้ว่าเคยใช้เก็บเหล้าไวน์ เพราะพบเศษขวดแก้วสีเขียวหลายร้อยชิ้น และซากเตาเผาขนม ซึ่งมารี ฟอลคอน (หรือ ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา หรือมารี กีมาร์) ภรรยาของฟอลคอนซึ่งเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นและโปรตุเกส เคยใช้ทำขนมโปรตุเกสนานาชนิดซึ่งได้รับความนิยมจนเป็นที่รู้จักในนาม ‘ขนมไทย’ ในปัจจุบัน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง นอกจากนี้ เธอยังเป็นคนแรกที่สอนคนไทยทำและใช้สบู่อาบน้ำ ซึ่งคำว่า “สบู่” นั้นก็เพี้ยนมาจากคำว่า sabão ในภาษาโปรตุเกส
คนไทยเรียกมารี ฟอลคอน ว่า “ท้าวทองกีบม้า” ชะตากรรมของเธอโชคดีกว่าสามีมาก หลังจากสามีถูกประหาร เธอก็ถูกนำตัวกลับอยุธยาไปขังคุกเกือบ 2 ปี เมื่อพ้นโทษแล้วไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านโปรตุเกส มีหน้าที่ทำของหวานส่งเข้าวัง ทำของหวานเก่งจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าห้องเครื่องในโรงครัวหลวง ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในกรุงอยุธยาจนถึงแก่กรรม
……
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือเรียกย่อๆ ว่า “วัดมหาธาตุ” เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองลพบุรีัตั้งแต่สมัยโบราณสืบมาจนปัจจุบัน พระปรางค์องค์ประธาน (องค์หลักที่บรรจุพระสารีริกธาตุ) และเจดีย์รายหลายองค์สร้างในสมัยก่อนพระนารายณ์ แ่ต่ตัววิหารสร้างใ่นสมัยพระนารายณ์ อาจารย์อธิบายว่า ที่เรารู้ว่าวิหารสร้างในสมัยพระนารายณ์ก็เพราะหน้าต่างเป็นแบบโค้งแหลม สไตล์เดียวกันกับหน้าต่างในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ วัดนี้เป็น ‘วัดหลวง’ ในรัชสมัยพระนารายณ์ มีเนื้อที่พอๆ กับพระราชวัง แต่ซากปรักหักพังอยู่ในสภาพดีกว่า เสียแต่น่าเศร้าที่พระพุทธรูปและลายปูนปั้นต่างๆ ถูกมารศาสนาเลื่อยหรือขูดไปขายเยอะมาก หาพระพุทธรูปที่เหลือครบ 32 ให้ดูไม่ค่อยได้ เห็นแล้วให้นึกสะท้อนใจไม่ต่างจากตอนที่เห็นสภาพของพระพุทธรูปในวัดไลย์
วัดนี้เก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวไทยคนละ 10 บาท ต่างชาติคนละ 30 บาท ผู้เขียนนึกในใจว่า จะให้จ่ายมากกว่านี้หลายสิบเท่าก็ยอม ถ้าจะทำให้รัฐลงทุนจ้างยามหรือตำรวจมาเฝ้าป้องกันมารศาสนาบุกรุก เพราะถ้าปล่อยไปอย่างนี้ อีกไม่ถึง 10-15 ปีอาจไม่มีศิลปวัตถุเหลือให้ดูแล้ว ขนาดวันที่เราไปเยือนเป็นวันสุดสัปดาห์ ยังดูเหมือนวัดร้าง มีคนเก็บเงินค่าตั๋วนั่งทำหน้าเบื่ออยู่คนเดียว อาจารย์เสริมว่า ขนาดต้นไม้สวยๆ ในวัดนี้ยังถูกมือดีโค่นไปขาย หลังจากที่ทางการประกาศเปลี่ยนชื่อต้นไม้จากชื่อไม่เป็นมงคลอย่าง “ลั่นทม” เป็น “ลีลาวดี”
ผู้เขียนถามอาจารย์ว่าทำไมกรมศิลปากรไม่ขนพระพุทธรูปโบราณไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ปั๊มของปลอมมาตั้งโชว์ในวัดแทน จะได้ไม่หาย อาจารย์ยิ้มแล้วตอบว่า “ไม่ดีหรอก ถ้าทำแบบนั้นจิตวิญญาณของวัดจะหาย”
ผู้เขียนนึกแย้งในใจว่า ก็ยังดีกว่าปล่อยให้จิตวิญญาณถูกกะเทาะไปขายทุกๆ 2-3 เดือน แต่ก็พอเข้าใจว่าในสายตาของนักโบราณคดีอย่างอาจารย์ พุทธศิลปะทุกชิ้นก็ควรจะอยู่ในวัด
ของทุกอย่างย่อมมี ‘ที่ทาง’ ที่มันอยู่ได้อย่าง ‘เหมาะสม’ และ ‘ลงตัว’ ที่สุด คนก็คงไม่ต่างกัน
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มนุษย์เรามักจะรู้สึกเครียดน้อยลง สมองและหัวใจปลอดโปร่ง สดชื่นขึ้นอย่างน่าประหลาดเมื่อได้อยู่ท่ามกลางป่าไม้เขียวขจี ต่างจากตอนอุดอู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในป่าคอนกรีต
อาจารย์บอกว่า ในสมัยโบราณเวลาสร้างเมืองใหม่ คนไทยถือคติว่าควรสร้างวัด 3 แห่งให้เป็นศรีแก่เมือง คือวัดมหาธาตุ (ไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามชื่อ), วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์
ซากอาคารผนังสูงที่ตั้งประจันหน้าเราจากทางเข้าวัดพอดีเรียกว่า “วิหารเก้าห้อง” คำว่า “ห้อง” สำหรับคนไทยโบราณนั้นหมายถึงพื้นที่ด้านยาวของอาคารหนึ่งช่วงเสา ไม่ได้หมายถึงห้องที่มีผนังสี่ด้านอย่างในปัจจุบัน ดังนั้น วิหารเก้าห้องจึงหมายถึงวิหารใหญ่ยาวเก้าช่วงเสา ความกว้างและเพดานสูงทำให้อากาศภายในวิหารเย็นสบาย พระประธานถูกขโมยลักไปขายนานแล้ว เหลือแต่พระพุทธรูปทองเหลืองสมัยใหม่องค์เล็กๆ ตั้งพอให้รู้ว่าพระประธานเคยอยู่ตรงไหน
ตรงหน้าวิหารเก้าห้อง อาจารย์ชี้ให้ดูซากตึกที่ตอนนี้เหลือแต่เสา ตึกนี้เรียกว่า “ศาลาเปลื้องเครื่อง” เป็นที่สำหรับให้พระเจ้าแผ่นดินเปลื้องฉลองพระองค์ออก เปลี่ยนเป็นชุดสีขาวก่อนจะเข้าไปทำพิธีทางศาสนาในวิหาร
หลังวิหารเก้าห้องพอดีคือพระมหาธาตุ เจดีย์หลักของวัดนี้ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 สร้างเป็นรูปพระปรางค์องค์ใหญ่ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลางของวัดพอดี ก่อด้วยศิลาแลงตั้งแต่ฐานถึงหน้าบัน เหนือขึ้นไปก่อด้วยอิฐจนถึงยอด ประดับด้วยลายปูนปั้นงดงามตั้งแต่ฐานถึงยอด องค์พระปรางค์มีลักษณะ ‘ย่อมุม’ มากกว่า และสูงชะลูดกว่าปรางค์สามยอดและปรางค์แขก ปรางค์โบราณสองแห่งที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมร ทำให้นักโบราณคดีเห็นพ้องต้องกันว่า ปรางค์องค์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของพระปรางค์ ‘แบบไทย’ ที่หลุดจากกรอบการสร้างปรางค์แบบเขมรเป็นครั้งแรก เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเริ่มมีอิทธิพลเหนือเขมร (คืออาณาจักรขอมในสมัยโบราณ) ในบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 19 หรือ 300 ปีก่อนพระนารายณ์จะทรงประกาศสร้างลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่สอง
การใช้ ‘จุดเปลี่ยน’ ทางศิลปะเป็นหลักฐานประกอบการวิเคราะห์อิทธิพลของอารยธรรมแต่ละแห่ง เป็นประโยชน์อีกข้อหนึ่งของศิลปะ หนึ่งในอาชีพดั้งเดิมของมนุษย์ที่คนปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่เรียนมาทาง ‘สายวิทย์’ มักจะมองไม่ค่อยเห็นความสำคัญ
ผู้เขียนสังเกตว่าพระปรางค์องค์นี้ดูเหมือนจะทรุดตัวลงเรื่อยๆ กรมศิลปากรเอาไม้ไปค้ำยันข้างหนึ่งเอาไว้ แต่ดูเหมือนจะทำแบบ ‘ขอไปที’ มากกว่า ไม่มีความสวยงามหรือแม้แต่มั่นคงเท่าไร เทียบกับฝีมือการซ่อมแซมวัดของชาวตุรกีในเมืองอิสตันบูล หรือชาวฝรั่งเศสในนครวัดของเขมรไม่ได้เลย แถมอิฐใหม่ๆ บนทางเดินที่ปูแทนของโบราณก็ยังสลักชื่อกรมศิลปากรไว้อีก คงกลัวว่าใครจะแงะอิฐไปหลอกขายว่าเป็นของโบราณ แต่เมื่ออิฐแทบทุกก้อนสลักชื่อไว้แบบนี้ ก็ทำให้ดูน่าเกลียดมากกว่าน่าชื่นชม
อาจารย์อธิบายว่า วิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของคนโบราณคือ เอาใส่ผอบเป็นชั้นๆ 6 ชั้น ฝังใส่ปูนปั้นลงไปในดิน ฉะนั้นพระบรมสารีริกธาตุในพระมหาธาตุทุกองค์จะอยู่ลึกมาก
ก่อนออกจากวัด อาจารย์ชี้ให้ดูเจดีย์รายทรงกลีบมะเฟือง นับเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบไทย มีไม่ถึง 10 แห่งในประเทศ ปัจจุบันหาดูได้แต่ที่เมืองลพบุรีและสวรรคโลก (ชัยนาท) เท่านั้น
…….
พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระตำหนักเย็น)
สถานที่โบราณแห่งสุดท้ายที่เราไปเยือน คือพระที่นั่งไกรสรสีหราชหรือพระตำหนักเย็น ตั้งอยู่กลางทะเลสาบชุบศร ห่างจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร พระนารายณ์ทรงใช้เป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถและต้อนรับแขกเมืองส่วนพระองค์ บรรยากาศร่มรื่นและเย็นสบายสมชื่อ
นอกจากจะเป็นสถานที่เสด็จสวรรคตของพระนารายณ์ พระตำหนักเย็นยังมีความสำคัญในแง่เป็นสถานที่ที่พระนารายณ์ทรงใช้ส่องกล้องทอดพระเนตรจันทรุปราคาและสุริยุปราคา ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิต นับเป็นจุดเริ่มต้นของวงการดาราศาสตร์ไทย ในยุคปัจจุบัน ในโอกาสครบรอบ 300 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ก็ทรงเสด็จมาทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ ที่แห่งนี้ด้วย
น้อยหน่าที่ปลูกแถวๆ พระตำหนักนี้มีราคาแพงมาก กิโลละ 300-400 บาท เป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดของเมืองลพบุรี (ปกติน้อยหน่าก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘ของดี’ ของที่นี่อยู่แล้ว)
อาจารย์เล่าว่าพระตำหนักเย็นนี้นอกจากจะเผชิญกับปัญหาโบราณสถานทรุดโทรมลงเรื่อยๆ แล้ว ยังเผชิญกับปัญหาชาวบ้านบริเวณนี้บุกรุกเข้ามาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาการเมืองท้องถิ่น เพราะแทนที่นักการเมืองจะหาเสียงด้วยการหาที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้าน กลับสัญญาว่าจะให้อยู่ต่อ แต่อาจารย์กล่าวปิดท้ายว่า “อย่างน้อย คนลพบุรีก็รักของของตัวเองมากกว่าคนอยุธยา”
ผู้เขียนถามอาจารย์ว่า แล้วเราจะทำอะไรได้เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลสนใจรักษาโบราณสถานให้ดีกว่านี้ อาจารย์ยิ้มเศร้าๆ แล้วตอบว่า “ก็ต้องช่วยกันโฆษณาให้มีคนมาเที่ยวเยอะๆ”
ผู้เขียนหวังว่า บทความเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง แม้เพียงส่วนน้อย ในการช่วยโฆษณาให้คนไทยอยากไปเที่ยวเมืองเก่าในลพบุรีเยอะๆ ไปแล้วก็ขอให้ประทับใจในกลิ่นอายของโลกาภิวัตน์โบราณ และการเมืองอันน่าระทึกใจสมัยอยุธยา เช่นเดียวกันกับผู้เขียน
เพราะเราเรียนรู้จากอดีตได้เสมอ โดยเฉพาะอดีตช่วงที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับปัจจุบัน เช่นกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช.
……
ขอปิดท้ายด้วยบทความน่าสนใจของมอร์กาน สปอร์แตซ ผู้ประพันธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Pour la plus grande gloire de Dieu ซึ่งได้รับการแปลเป็นไทยแล้วในชื่อ รุกสยาม ในพระนามของพระเจ้า โดยกรรณิกา จรรย์แสง สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์
จากสยามประเทศถึงไทยแลนด์ : ความในใจ “มอร์กาน สปอร์แตซ”
กรรณิกา จรรย์แสง แปล
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 หน้า 33
ตุลาคม ปี พ.ศ. 2516
ผมเดินทางถึงเมืองสยามซึ่งมีชื่อเรียกว่าประเทศไทยแล้ว ตอนนั้นอายุได้ 23 ปี กำลังอยู่ในวัยคะนองเหมือนเช่นหนุ่มฝรั่งตะวันตกโดยทั่วไป ผมเข้ามาในสถานะอาสาสมัคร เวลานั้นรัฐบาลฝรั่งเศสมีนโยบายเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ไม่ประสงค์จะถูกเกณฑ์เป็นทหารอาสา ไปทำงานเป็นครูสอนหนังสือในต่างประเทศมีกำหนดสองปี
สำหรับคนหนุ่มฝรั่งเศสในปี 2516 ประเทศไทยเป็นอย่างไรน่ะหรือ คุณต้องเข้าใจนะครับว่าพวกเรานึกภาพไม่ออกหรอกว่าเมืองไทยหน้าตาเป็นอย่างไร บอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตั้งอยู่ ณ ที่ไหนในโลกใบนี้ เหมือนภาพความฝันที่มีต่อดินแดนบูรพาห่างออกไปไกลลิบ คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะอยู่ติดพรมแดนเวียดนามที่เรารู้จักเพราะเรื่องสงคราม เป็นที่รู้กันคร่าวๆ ว่าพวกทหารอเมริกันเข้าไปตั้งฐานทัพไว้ให้เครื่องบินรบ บี 52 ขนระเบิดนาปาล์มเข้าไปปูพรมถล่มมาตุภูมิของโฮจิมินห์ และโง เหวียน เกี๊ยบ
เวลานั้น ที่เมืองไทยยังไม่มีกระแสท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ประเภทขนกันเข้ามาเป็นหมู่เป็นคณะ ยังไม่มีบริษัทหากินกับนักท่องเที่ยว อย่างนูแวล ฟร็องติแยร์ หรือคลับเมด
กว่าผมจะข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึง ต้องใช้เวลาเดินทางยืดยาวจนดูเหมือนจะไม่จบสิ้น จากปารีส ผมต้องเปลี่ยนเครื่องบินหลายครั้งกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ตำแหน่งงานที่รอรับผมอยู่คือ เป็นอาจารย์สอนวรรณคดีฝรั่งเศสที่เชียงใหม่
ประสบการณ์ในดินแดนเขตร้อนที่ประทับใจเมื่อแรกสุด เห็นจะเป็นเรื่องไอ้เจ้ามวลความร้อนชื้นที่เข้ามาปะทะและห่อหุ้มตัวเราไว้ พอหลุดออกมาจากเครื่องบิน
ถัดมา ก็เรื่องการได้พบปะกับผู้คน คนไทยส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัดไม่เคยได้พบเห็นคนตะวันตก ฝรั่งผิวขาวตาน้ำข้าวอย่างพวกเราเลย ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ว่า พอขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปในหมู่บ้านตรงแถบทางทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ เด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อยก็จะคอยวิ่งล้อมหน้าล้อมหลังมารุมดูตัวประหลาด อีที หรือจะเป็นไอ้ตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์ พวกแกพากันจับกลุ่มล้อมวงรอบตัวผม ส่งเสียงหัวเราะหัวใคร่ ร้องเพลงเอะอะมะเทิ่งสนุกกันใหญ่
ลองหวนย้อนไปในอดีตกว่าสามร้อยปีก่อน นึกไปถึงตอนที่ทหารมูสเกอแตร์ในกองทัพพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ พวกสวมหมวกปักขนนกในชุดเครื่องแบบกรุยกรายมาถึงเมืองสยาม คงจะเป็นภาพการ “ปะทะสังสรรค์” ทางวัฒนธรรมประเภท “เหนือจริง” (ก่อนศิลปะแนวเซอร์เรียลิสต์จะเกิด) นั่นทีเดียว
และนี่คือเรื่องราวของทหารเสือจากราชสำนักฝรั่งเศสในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ผมเล่าไว้ในหนังสือ รุกสยามในพระนามของพระเจ้า เป็นการผจญภัยที่งดงามบันเทิงใจอย่างยิ่งเท่าที่มนุษย์เราจะพึงประสบ คือการพบปะ “ปะทะ” กันระหว่างสองโลก ระหว่างสองวัฒนธรรม
นอกไปจากเรื่่องของการแย่งชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกันแล้ว ในยุคนั้น เรื่องที่เกิดขึ้น คือการได้เข้าครอบครองเอาชนะเหนือดินแดนในซีกโลกอเมริกาใต้ คือการล่าอาณานิคมที่ดำเนินไปด้วยหยาดเหงื่อและรอยเลือด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคนจากสองวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็นผู้คนที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง
เป็นเสน่ห์อันเร้นลับที่เผยโฉมให้เราได้สัมผัส แม้ในงานเขียนจากตะวันตกที่ไม่ได้เรื่องที่สุด หรือที่สะท้อนทรรศนะเหยียดเชื้อชาติในยุคล่าอาณานิคม ผมจะพูดอย่างไรดี คุณถึงจะเข้าใจ เอาเป็นว่า แม้ในงานเขียนเรื่อง “Madame Chrysantheme” ผลงานของปิแยร์ โลติ (Pierre Loti) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ซึ่ง Puccini นำมาดัดแปลงเป็นละครโอเปร่าเรื่อง Madame Butterfly) อันเป็นงานที่สะท้อนทัศนคติเหยียดสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นของผู้เขียนอย่างยิ่ง ก็ยังมีอะไรดีอยู่ในตัวมันเอง
ด้วยเหตุที่ว่า แม้ตัวผู้เขียนจะมีอคติจนแสดงความเขลาออกมาในงานมากนักก็ตาม แต่ความลึกซึ้งในตัวเขาก็ยังมิวายจะประทับรับความงามละเมียดละไมของความเป็นญี่ปุ่นจนปรากฏให้เราคนอ่านสัมผัสได้
ในทำนองเดียวกัน เวลาเราศึกษางานเขียนที่ตีพิมพ์แล้ว อีกทั้งเอกสารต้นฉบับลายมือเขียนของพวกนักการทูต พระนักบวช หรือนายทหารฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังสยามในปลายสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 แม้จะสัมผัสถึงอคติทางเชื้อชาติที่มีปรากฏให้เห็นโดยตลอด แต่อะไรดีๆ ที่น่าสนใจนอกไปจากนั้น เห็นจะเป็นชั่วขณะอันดีงามที่มนุษย์จากสองซีกโลกได้สัมผัสสัมพันธ์กัน
เป็นความงามที่ปรากฏให้เห็น ให้ค้นพบ ให้รู้สึกใน “ความเป็นอื่น” คือความแปลกแตกต่างอันชวนดึงดูดใจในตัวผู้คนจาก “วัฒนธรรมอื่น”
พระนักบวชบางรูปบันทึกไว้ว่า ผู้หญิงชาวสยามแลดูอัปลักษณ์เหมือนลิง…
แต่มาถึงเวลานี้ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง
จริงๆ แล้ว เห็นจะต้องตั้งคำถามกันล่ะว่า ความก้าวหน้า หรืออะไรที่เรียกกันว่าความเจริญมีอยู่จริงหรือ
ลองนึกภาพดูสิว่าบรรดานักท่องเที่ยว มนุษย์ยุคสมัยใหม่ผู้น่าสงสารที่มีพื้นเพมาจากคนชั้นกลางระดับล่างจากตะวันตก ถูกเขาจับต้อนไปต้อนมา จากพัทยาไปถึงภูเก็ต อยุธยาไปสุโขทัย มีเวลาเที่ยวเมืองไทยอยู่แค่ 15 วัน เพราะขอลางาน (ที่รายได้น้อยจนน่าตกใจ) มาได้ตามสิทธิที่กฎหมายแรงงานกำหนด ขึ้นรถไฟ นั่งรถทัวร์ ล่องเรือไปที่โน่นที่นี่ ดูละม้ายคล้ายฝูงแกะ เหงื่อไหลไคลย้อย เนื้อตัวส่งกลิ่นสาบ คอย “เบิ่ง” ดูโน่นดูนี่ แต่ไม่ “เห็น” อะไรเลย เหมือนเช่นที่คอยเงี่ยหูฟัง แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย
ผมว่านักท่องเที่ยวในยุคนี้ซึ่งมีโอกาสได้เดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปอีกซีกโลกหนึ่ง ดูไปแล้วไม่เห็นจะแตกต่างไปจากชาวนาตาสีตาสาจากแคว้นโอแว็ญหรือเซแว็ญเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อนที่ไม่เคยมีโอกาสไปไหนๆ ไกลนอกเขตหมู่บ้านของตัวเอง
ผมกลับเห็นว่า บรรดาตัวละครไม่ว่าจะเป็นนักการทูต นักบวช หรือเหล่าทหารหาญที่ปรากฏตัวในเรื่อง รุกสยามในพระนามของพระเจ้า แม้จะดูว่าเป็นคนโหดร้าย คับแคบ ดื้อหัวชนฝา แต่พวกเขานับว่าเป็นนักผจญภัยตัวจริง
ลองคิดดูว่า การเดินทางมาสยามในครั้งกระนั้นเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญยิ่งในชีวิต เพราะนั่นหมายถึงการเลือกที่จะหลุดออกจากโลกที่ตนคุ้นเคย ตัดขาดจากญาติพี่น้อง วัฒนธรรมและบ้านเกิดเมืองนอน เสี่ยงต่อความตายและโรคร้ายสารพัด เป็นเวลานานนับเป็นปีๆ หรืออาจจะชั่วชีวิต
เฉพาะแค่การเดินทางก็กินเวลาถึงหก-เจ็ดเดือน แถมต้องผ่านเส้นทางเมืองกัป-อ้อมแหลมกู๊ดโฮปโน่น กว่าจะมาถึงเมืองสยาม พวกเขาก็พากันล้มตายด้วยโรคลักปิดลักเปิดไปกว่าร้อยชีวิต ที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งตายเมื่อมาถึงจุดหมายด้วยโรคท้องร่วงและไข้ป่า
ผมเองตอนที่มาถึงกรุงเทพฯครั้งแรกเมื่อปี 2516 นั้น ก็เกิดความรู้สึกเทียบเคียงได้กับทหารเสือของพระเจ้าหลุยส์ โดยเฉพาะเมื่อได้พบเห็นมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่นี่ ทั้งป่าดิบ ป่าร้อนชื้นในเขตร้อนอันอุดมไปด้วยสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ และสรรพเสียงอันลี้ลับ สิ่งมีชีวิตทั้งที่เรามองเห็นตัวและที่มองไม่เห็น มีทั้งสัตว์ใหญ่น้อยในป่า ตัวเลื้อยคลาน นก และแมลงนานาชนิด
แน่ล่ะ พวกนักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพฯหรือพัทยาในทุกวันนี้คงแทบจะไม่ได้พบเจอประสบการณ์ทำนองนี้อีกแล้ว
เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ผมได้พบได้เห็นด้วยตัวเองตอนขี่มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะไปตามชนบทที่เชียงใหม่ ยังจำได้แม่นถึงความรู้สึกอัศจรรย์ใจขณะขับขี่โขยกเขยก หัวโยกหัวโคลงไปตามทางลูกรังสีแดงที่เพิ่งจะตัดใหม่ฝ่าเข้าไปในแนวป่า…จู่ ๆ ทางสายนั้นก็จบลงเอาดื้อๆ ตรงโคนต้นไม้ใหญ่ พอมองไปข้างหน้า คุณก็จะเห็นแต่ป่าทึบทะมึนทอดยาวไปไม่จบสิ้น
ทางลูกรังสีแดง เปรียบเสมือนรอยแผลเป็นสีแดงๆ สัญลักษณ์ตัวแทนของ “อารยธรรม” หรือ “วัฒนธรรม” แล้วแต่จะเรียกกันว่าอย่างไร มันหยุดจบลงที่ตรงนั้น เบื้องหน้าคือผืนป่า คือธรรมชาติซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองตัวจริง
เส้นทางขรุขระ บางครั้งก็เฉอะแฉะ เป็นหล่มเป็นโคลน พอผ่านห้วยน้ำลำคลอง ก็เพียงอาศัยท่อนไม้พาดผ่านสักสองสามท่อนพอให้ขี่รถข้ามไปอย่างน่าหวาดเสียว ที่ผมได้พบได้เจอมานั้น มาถึงเวลานี้ ได้กลับกลายเป็นถนนลาดยาง มีหลักกิโล และป้ายบอกทางประดับเรียงรายอยู่สองข้างทาง
นี่คืออะไรที่คนในยุคเรา เรียกกันว่า “ความเจริญ” บ้างก็ว่าคือเครื่องชี้ให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ทั้งถนน ทั้งทางด่วน ทางรถไฟสารพัดที่ผุดขึ้นมาบนผืนดิน เหมือนริ้วรอย(เหี่ยวย่น)ที่โรยตัวลงบนพื้นผิว(หน้า)โลกที่เราอยู่ ขณะที่ตัวมนุษย์เอง ก็แก่ชราไปพร้อมๆ กับโลกใบนี้
เราปรับตัวเอง ร่วงโรย และเปลี่ยนแปลง
สังคมสมัยใหม่ทั่วทุกมุมโลก จากไมอามี่ถึงเซี่ยงไฮ้ กรุงเทพฯไปปารีส จนถึงคาซาบลังกา กำลังผ่องผลิตชนชั้นกลางพันธุ์ใหม่ เป็นคนจำพวกมีรสนิยมเดียวกัน เสพสินค้า (ทั้งวัตถุและปัญญา) ชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่แมทริกซ์ หรืออุลตร้าแมน กินอาหารฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ หรือไก่ทอดจานด่วนเคนตั๊กกี้ อ่านหนังสือและดูหนังยอดฮิตติดอันดับ เรื่องรหัสลับดาวินชี หรือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งใส่เสื้อผ้าแต่งเนื้อตัว และวิธีคิดก็เป็นแบบเดียวกัน
นี่นับเป็นเรื่องที่ดี ที่เจริญหรอกหรือไม่
ผมว่าเราจงมาคารวะนักประวัติศาสตร์ นักชาติพันธุ์วรรณนา นักมานุษยวิทยา และนักเขียนกันเถอะ พวกเขาได้ช่วยให้เรามีโอกาสได้รับรู้และเข้าใจว่ายังมีมนุษย์พันธุ์อื่นๆ ที่ผิดแผกไปจากนี้
ผมเองก็ได้ทำหน้าที่อันน้อยนิดในส่วนของตัว บอกเล่าให้ฟังว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อสามร้อยกว่าปีก่อน ยังมีมนุษย์แปลกๆ อยู่ชุดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า ฝา-หรั่ง-เศษ (ซึ่งแตกต่างไปจากคนฝรั่งเศสที่เราเห็นกันทุกวันนี้) ใส่หมวกปักขนนกฟู่ฟ่าหลากสี สวมรองเท้าบู๊ตขนาดมหึมา หน้าตาท่าทางพึลึกพิลั่น ได้พากันรอนแรมมาถึงเมืองสยาม
ตั้งใจจะหว่านล้อมให้คนสยาม “เจ้าเล่ห์แสนกล” พวก “บูชาพระอิฐพระปูน” เชื่อว่าในโลกนี้ มีพระเจ้าอยู่เพียงหนึ่งเดียว คือพระเยซูคริสโตเจ้าของชาวคริสต์ ถ้าลงใครไม่ยอมหันมาเคารพบูชาพระเจ้าองค์นี้ ก็จะให้มีอันเป็นไป ตกนรกไปพบไฟบรรลัยกัลป์ถึงเจ็ดชั่วโคตร
คุณจอร์ช บุช ประธานาธิบดีอเมริกา ท่านก็ได้แสดงวาทศิลป์ (ซึ่งตัวเองจะเชื่อดังที่พูดหรอกหรือ!) เอากับพวกเราทั่วโลก เพียงแต่ท่านเปลี่ยนชื่อจากในนามแห่งองค์พระเป็นเจ้า มาเป็นในนามแห่งระบอบประชาธิปไตย!
แต่ลูกระเบิดที่ขนไปบอมป์ที่อิรักก็ทำเอาผู้คนล้มตายมากกว่าในสมัยพระเจ้าหลุยส์ องค์ราชันแห่งแสงอาทิตย์นักต่อนัก
ซ้ำร้าย เหล่าทหารจีไอ ซึ่งต้องเดินทางเข้าไปเสี่ยงตายในดินแดนตะวันออกกลาง คงยังไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้ชื่นชมความงามของความเป็นอื่น -เสน่ห์แห่งความลี้ลับอันคนเราอาจพบพานจากการพบปะกับผู้คนจากวัฒนธรรมอื่น จากดินแดนอื่น-
แม้นว่าจุดหมายของการ “ปะทะสังสรรค์” นั้นจะเป็นไปเพื่อเข่นฆ่า.
มอร์กาน สปอร์แตซ
ธันวาคม 2549