โลกาภิวัตน์และการเมืองสมัยโบราณ : ย่ำเยือนเรือนสมเด็จพระนารายณ์ (1)

ต้นลีลาวดีใหญ่ วัดมหาธาตุ ลพบุรี

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2549 ผู้เขียนและเพื่อนอีก 2 คนได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองเก่าในลพบุรีกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยมีอาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพอร์โต โปรตุเกส ซึ่งปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นวิทยากรนำเที่ยว ทริปที่เราไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “วัฒนธรรมสัญจร” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งวันที่เราไปจัดเป็นครั้งที่ 16 แล้ว เนื่องจากผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้รับความประทับใจจากทริปนี้มากมาย ก็ขอโฆษณาตรงนี้ก่อนเลยว่า โครงการนี้เป็นทัวร์ประวัติศาสตร์ที่สนุกสนาน ทั้งสมองและท้องได้เต็มอิ่มกับความรู้อันน่าทึ่งของอาจารย์ ข้าวกลางวันอร่อยๆ และขนมตลอดการเดินทาง ในสนนราคาเพียงคนละ 950 บาทเท่านั้น ใครที่สนใจเชิญติดตามกำหนดการ “วัฒนธรรมสัญจร” ครั้งต่อๆ ไป ได้จากเว็บไซต์ของศูนย์ฯ

ใครที่ชอบดูวัดดูวัง และคิดว่าอยุธยาและสุโขทัยเป็น ‘เมืองโบราณ’ เพียงสองเมืองในประเทศไทยที่น่าเที่ยว ขอแนะนำให้ลองไปเยือนเมืองลพบุรี กำแพงเพชร และพิษณุโลกดู เพราะยังมีของสวยๆ งามๆ ตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยาหลงเหลืออยู่อีกมาก

ใครที่เคยไปลพบุรีแล้วแต่ไม่เคยไปเยือน ‘เมืองเก่า’ ในจังหวัด ขอแนะนำให้ลองไปเที่ยวดูเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ แทนที่จะไปดูลิงที่เขาวัง ถ่ายรูปทุ่งทานตะวัน เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือนมัสการเจ้าพ่อพระกาฬเพียงเท่านั้นแล้วก็กลับ

เพราะถ้าไม่ไปเยือนเมืองเก่าในลพบุรีตอนนี้ อีกไม่เกิน 10 ปีอาจไม่มีอะไรเหลือให้ดูแล้ว เพราะรัฐบาลไทยที่ผ่านมาไม่เคยให้ความสำคัญกับโบราณคดีอย่างจริงจัง กรมศิลปากรไม่เคยมีกำลังคน กำลังทรัพย์ และกำลังความรู้เพียงพอที่จะอนุรักษ์โบราณสถานอันล้ำค่าเหล่านี้ให้เป็นบุญตาลูกหลาน มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด นั่นคือการกระทำย่ำยีของคนไทยด้วยกันที่ไม่รู้คุณค่าของประวัติศาสตร์ส่วนรวม เพราะไม่ว่ากรมศิลปากรและตำรวจจะทำงานหนักเพียงใด ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางตามทัน ‘มารศาสนา’ ทั้งหลาย ที่ชอบตัด ขูด และเลื่อยพุทธศิลปะจากวัดเก่าแก่ไปขายต่อให้กับเศรษฐีนักสะสมทั้งไทยและเทศ รวมทั้งร้านอาหารหรือโรงแรมที่เห็นพุทธศิลปะโบราณเป็นเพียง ‘ของตกแต่ง’ ที่ดูดีมีระดับพอที่จะดึงดูดลูกค้าเท่านั้น


ต้นลีลาวดีใหญ่ วัดมหาธาตุ ลพบุรี

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2549 ผู้เขียนและเพื่อนอีก 2 คนได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองเก่าในลพบุรีกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยมีอาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพอร์โต โปรตุเกส ซึ่งปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นวิทยากรนำเที่ยว ทริปที่เราไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “วัฒนธรรมสัญจร” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งวันที่เราไปจัดเป็นครั้งที่ 16 แล้ว เนื่องจากผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้รับความประทับใจจากทริปนี้มากมาย ก็ขอโฆษณาตรงนี้ก่อนเลยว่า โครงการนี้เป็นทัวร์ประวัติศาสตร์ที่สนุกสนาน ทั้งสมองและท้องได้เต็มอิ่มกับความรู้อันน่าทึ่งของอาจารย์ ข้าวกลางวันอร่อยๆ และขนมตลอดการเดินทาง ในสนนราคาเพียงคนละ 950 บาทเท่านั้น ใครที่สนใจเชิญติดตามกำหนดการ “วัฒนธรรมสัญจร” ครั้งต่อๆ ไป ได้จากเว็บไซต์ของศูนย์ฯ

ใครที่ชอบดูวัดดูวัง และคิดว่าอยุธยาและสุโขทัยเป็น ‘เมืองโบราณ’ เพียงสองเมืองในประเทศไทยที่น่าเที่ยว ขอแนะนำให้ลองไปเยือนเมืองลพบุรี กำแพงเพชร และพิษณุโลกดู เพราะยังมีของสวยๆ งามๆ ตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยาหลงเหลืออยู่อีกมาก

ใครที่เคยไปลพบุรีแล้วแต่ไม่เคยไปเยือน ‘เมืองเก่า’ ในจังหวัด ขอแนะนำให้ลองไปเที่ยวดูเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ แทนที่จะไปดูลิงที่เขาวัง ถ่ายรูปทุ่งทานตะวัน เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือนมัสการเจ้าพ่อพระกาฬเพียงเท่านั้นแล้วก็กลับ

เพราะถ้าไม่ไปเยือนเมืองเก่าในลพบุรีตอนนี้ อีกไม่เกิน 10 ปีอาจไม่มีอะไรเหลือให้ดูแล้ว เพราะรัฐบาลไทยที่ผ่านมาไม่เคยให้ความสำคัญกับโบราณคดีอย่างจริงจัง กรมศิลปากรไม่เคยมีกำลังคน กำลังทรัพย์ และกำลังความรู้เพียงพอที่จะอนุรักษ์โบราณสถานอันล้ำค่าเหล่านี้ให้เป็นบุญตาลูกหลาน มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด นั่นคือการกระทำย่ำยีของคนไทยด้วยกันที่ไม่รู้คุณค่าของประวัติศาสตร์ส่วนรวม เพราะไม่ว่ากรมศิลปากรและตำรวจจะทำงานหนักเพียงใด ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางตามทัน ‘มารศาสนา’ ทั้งหลาย ที่ชอบตัด ขูด และเลื่อยพุทธศิลปะจากวัดเก่าแก่ไปขายต่อให้กับเศรษฐีนักสะสมทั้งไทยและเทศ รวมทั้งร้านอาหารหรือโรงแรมที่เห็นพุทธศิลปะโบราณเป็นเพียง ‘ของตกแต่ง’ ที่ดูดีมีระดับพอที่จะดึงดูดลูกค้าเท่านั้น

สื่อมวลชนและคนทั่วไปมักจะพุ่งเป้าการประณามไปที่แก๊งค์ทำลายพุทธศิลปะ แต่หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานสอนเราว่า ถ้าไม่มีคนซื้อ ก็ย่อมไม่มีคนขาย หรือที่สุภาษิตโบราณเรียกว่า ‘ตบมือข้างเดียวไม่ดัง’

คนจนที่หากินแบบ ‘มักง่าย’ กับพุทธศิลปะโบราณน่าประณามก็จริง แต่เศรษฐีที่เช่าพุทธศิลปะเหล่านั้นไปเพื่อประดับบารมีหรือสนองตัณหาส่วนตัว ก็น่าประณามไม่น้อยไปกว่ากัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เมื่อคำนึงว่าการนำพุทธศิลปะไปประดับบ้านนั้นเป็น ‘ความฟุ่มเฟือย’ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่หัวขโมยบางคนตัดเศียรพระเพียงเพื่อเอาตัวรอด แม้ว่าจะไม่ใช่อาชีพสุจริตก็ตาม

โบราณสถานสำคัญๆ ในลพบุรีที่เราไปเยือนในวันนั้น ล้วนเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของพระพุทธรูปเศียรขาด แขนขาด ขาขาด หลายครั้งกองสุมกันอยู่ในมุมตึกอย่างไร้คนเหลียวแล หญ้ายาวปกคลุมจนมองแทบไม่เห็น ลายปูนปั้นสวยๆ ในวัดวาก็ถูกคนขูดส่วนต่างๆ ไปขาย เห็นทีไรให้อดเศร้าใจไม่ได้

……

ลพบุรีเป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อารยธรรมต่อเนื่องยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมอญและขอมสมัยยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ซึ่งเรียกลพบุรีว่า “ละโว้” จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีบทบาทในลพบุรี

ลพบุรีรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) ซึ่งทรงดำริให้ลพบุรีเป็น ‘ราชธานีแห่งที่สอง’ รองจากอยุธยา จึงทรงบัญชาให้สร้างพระราชวัง ป้อมปราการ และอาคารต่างๆ มากมายทั่วเมือง ด้วยความช่วยเหลือจากช่างและวิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน หลังจากสร้างเสร็จแล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และเสด็จสวรรคตในเมืองนี้ด้วย

ยุคของพระนารายณ์คือยุคคนไทยเริ่มเรียนรู้เทคนิคการต่อรองผลประโยชน์กับนานาประเทศอย่างเข้มข้น ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งยังรับเอาศิลปวัฒนธรรมของชนชาติเหล่านั้นมาผสมผสานในศิลปะไทยอีกด้วย

เนื่องจากสถานที่ส่วนใหญ่ที่เราจะไปเยือนในวันนี้เป็นเพียงซากปรักหักพังธรรมดาๆ ที่แทบไม่เหลือริ้วรอยของความโอ่อ่าและ ‘ลมหายใจ’ ของราชสำนักที่ถือเป็น ‘ยุคทอง’ ยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ผู้เขียนขอสรุปประวัติศาสตร์ช่วงนี้โดยสังเขปก่อน จาก การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนังสือที่วิเคราะห์การเมืองไทยในช่วงนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม เพื่อสร้างราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์ ให้ลอยเด่นแจ่มชัดอยู่ในมโนภาพ ก่อนที่จะไปเยือนพระตำหนักของพระองค์จริงๆ

บางที ท่านอาจจะเห็นว่าปรากฎการณ์ ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ ไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างเดียว แต่ ‘กระแสโลกาภิวัตน์’ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ด้วย หากเป็นปรากฎการณ์โบราณที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายพันปี นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มเดินทางท่องโลกและพบปะผู้คนต่างเผ่าพันธุ์

การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์

การตัดสินใจเลือกลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สองของพระนารายณ์ มีรากมาจากการทำรัฐประหารของพระองค์เพื่อขึ้นครองราชย์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็น ‘รัฐประหารซ้อน’ ด้วยซ้ำ เพราะหลังจากที่พระเจ้าปราสาททองสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าปราสาททองก็ทรงสั่งให้ทหารล้อมวังเอาไว้ และสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

(ถึงตรงนี้ควรกล่าวเสริมว่า รัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยในประวัติราชสำนักอยุธยาช่วงนี้จนเป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ ยิ่งกว่าการทำรัฐประหารหลังระบอบการปกครองไทยกลายเป็นประชาธิปไตยเสียอีก พระเจ้าปราสาททองเองก็ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยการทำรัฐประหารเช่นกัน และกลยุทธ์ของพระองค์ก่อนลงมือนั้นก็ค่อนข้างแยบคาย คือวัดกำลังของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ด้วยการสังเกตดูว่าใครมางานศพพระมารดาบ้าง (ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งออกญากลาโหม) นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อุบายดังกล่าวของพระเจ้าปราสาททอง น่าจะเป็นต้นกำเนิดของประเพณีการ ‘ตบเท้า’ เข้าให้กำลังใจนายในโอกาสต่างๆ ของทหารในปัจจุบัน)

หลังจากเจ้าฟ้าไชยเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระนารายณ์กับพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์เช่นเดียวกัน ก็ร่วมกับเหล่าขุนนางทำการรัฐประหารเจ้าฟ้าไชยเสีย

การทำรัฐประหารในครั้งนั้น ตามหลักฐานปรากฏว่ากำลังพลส่วนใหญ่เป็นของพระนารายณ์ และพระนารายณ์เองก็ทรงเป็นผู้นำอย่างชัดแจ้ง โดยพระสุธรรมราชามีบทบาทไม่มาก แต่ขุนนางส่วนใหญ่ที่ร่วมก่อการในครั้งนั้นไม่อยากให้พระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ เพราะรู้ดีว่าพระนารายณ์ทรงเข้มแข็งกว่าพระสุธรรมราชามาก ขุนนางทั้งหลาย ‘ควบคุม’ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพระนารายณ์ได้เป็นกษัตริย์อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของเหล่าขุนนาง ดังนั้น หลังจากทำรัฐประหารสำเร็จ เหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันยกบัลลังก์ให้กับพระศรีสุธรรมราชา

พระศรีสุธรรมราชาครองบัลลังก์ได้ไม่นาน เพราะพระนารายณ์ที่ทรงผิดหวังจากการเอาใจออกห่างของเหล่าขุนนาง ได้นำทัพทหารชาวต่างชาติซึ่งมีอาวุธทันสมัยและความชำนาญในการรบมากกว่าทหารไพร่พื้นเมือง โดยเฉพาะแขกมัวร์ ที่ลือกันว่ามีถึง 500 นาย ตามด้วยกองกำลังทหารต่างชาติอีกหลายเชื้อชาติ สมทบด้วยไพร่พลของขุนนางบางส่วนที่ยังสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ เข้ายึดอำนาจจากพระศรีสุธรรมราชาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

กองกำลังทหารต่างชาติมีบทบาทสำคัญในการเมืองสมัยอยุธยา เพราะสามารถช่วยกษัตริย์ลดหรือคานอำนาจของเหล่าขุนนางผู้มีอิทธิพล อาจารย์นิธิได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้:

“…มีหลักฐานมานานแล้วถึงการใช้กองทหารจ้างต่างชาติของกษัตริย์ไทย เหตุฉะนั้นพระเจ้าปราสาททองจึงมิใช่กษัตริย์องค์แรกที่ดำเนินนโยบายใช้ทหารจ้างชาวต่างชาติ ทหารจ้างเหล่านี้ หรือผู้อพยพอื่นๆ มักจะถูกจัดเป็นกองอาสา และมักจะถูกใช้เป็นราชองครักษ์ไปด้วยในตัว …ประโยชน์ของทหารองครักษ์ต่างชาติเหล่านี้นอกจากมีความสามารถ หรือความชำนัญพิเศษที่ไม่อาจหาได้ในหมู่คนไทยแล้ว (เช่นการใช้ปืนไฟ) ก็ยังมีข้อดีอยู่ตรงที่มักจะมีความพร้อมเพรียงกว่ากรมกองธรรมดา หลายกรมกองของทหารจ้างมิได้ใช้เกณฑ์การ “เข้าเดือน” เหมือนไพร่ธรรมดา แต่เพราะมีรายได้โดยตรงจากกษัตริย์ จึงเท่ากับเป็นทหารประจำการเพียงหน่วยเดียวท่ามกลางกองทัพชาวนาของอยุธยา ในขณะที่กองกำลังในความควบคุมของขุนนางฝ่ายปกครองนั้นออกจะ “งุ่มง่าม” กว่ากันมาก เนื่องจากการ “เข้าเดือน” และการทุจริตทำให้การระดมกำลังทำโดยเร็ววันไม่ได้ …เหตุฉะนั้นแม้ว่าโดยจำนวนแล้ว ทหารองครักษ์ต่างชาติจะมีกำลังน้อยกว่าไพร่ของขุนนางมากนัก แต่สามารถปฏิบัติการได้เฉียบพลันในลักษณะการเมืองที่การโค่นอำนาจส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเกาะกลุ่มกันอย่างลับๆ และการทำรัฐประหารในพระราชสำนัก กองกำลังองครักษ์จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าในการช่วงชิงชัยชนะ

…ชาวต่างชาติเป็นบุคคลที่น่าไว้วางใจแก่กษัตริย์มากกว่าชาวพื้นเมือง ด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่งด้วยว่า ชาวต่างชาติไม่มีฐานอำนาจที่ฝังลึกในประเทศนี้ ฐานะตำแหน่งในราชการก็ขึ้นอยู่กับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสมบูรณ์ กองอาสาไม่ได้รับอนุญาตให้ได้คุมไพร่ที่เป็นชาวพื้นเมือง ไพร่ในกองอาสาก็คือชนชาติเดียวกับเจ้ากรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือลูกน้องส่วนตัว…

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเสน่ห์แก่กษัตริย์ไทยอยู่แล้วที่จะใช้กองทหารต่างชาติ ยิ่งในสมัยที่กษัตริย์ต้องพยายามลดอำนาจของขุนนางฝ่ายปกครองลง การสั่งสมเพิ่มพูนชาวต่างชาติเข้ามาในราชการฝ่ายผู้ชำนัญการ และในที่สุดแทรกเข้าไปในฝ่ายปกครองด้วยก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ทรงกระทำอย่างตั้งพระทัยขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม กองอาสาต่างชาตินี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้เหมือนกัน เนื่องจากความคล่องตัวของหน่วย ฉะนั้นถ้าในกลุ่มต่างชาติใดมีจำนวนมากเกินไปและมีความกลมเกลียวกันสูง (เพราะเพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ เพราะวัฒนธรรมเดิม หรือเหตุใดก็ตาม) ก็อาจปฏิบัติการทางการเมืองเป็นอิสระจากพระราชประสงค์ได้ ตัวอย่างที่รู้กันดีก็เช่นกองอาสาญี่ปุ่น และชาวมักกะสันซึ่งก่อการกบฏในสมัยพระนารายณ์…”

การจ้างทหารต่างชาติมิได้เป็น ‘แฟชั่น’ แต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในหลายประเทศในยุโรปสมัยนั้น (ซึ่งยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เพราะเหตุผลที่ว่าทหารต่างชาติจะไม่กบฏหรือชิงราชบัลลังก์นั้น เป็นเหตุผล ‘สากล’ ที่ใช้ได้กับทุกประเทศ เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส ก็ทรงนิยมจ้างทหารรับจ้างจากสวิสเซอร์แลนด์ เพราะราชบัลลังก์ไม่มั่นคง ไว้ใจคนฝรั่งเศสด้วยกันไม่ได้

การทำรัฐประหารซ้อนของพระนารายณ์และสถานการณ์การเมืองอันอึมครึม ทำให้พระองค์ทรงตกที่นั่งลำบาก เพราะไม่สามารถวางพระทัยได้ว่าขุนนางและเชื้อพระวงศ์คนใดจะคิดร้ายต่อพระองค์เมื่อใดบ้าง และอยุธยาก็เป็นฐานกำลังของเหล่าขุนนาง ทำให้สามารถก่อการรัฐประหาร หรือลอบปลงพระชนม์อีกเมื่อไรก็ตามที่สบโอกาส ความเสี่ยงในข้อนี้ทำให้พระราชดำริที่จะสร้างพระราชวังที่ลพบุรี และว่าราชการที่นั่น เป็นความคิดที่มีเหตุผล เพราะการที่ลพบุรีเป็น ‘ราชธานีแห่งใหม่’ ที่ไม่เคยเป็นขุมกำลังของใคร ทำให้พระนารายณ์สามารถคัดเลือกแต่ขุนนาง(ทั้งต่างชาติและไทย)ที่ทรงวางใจได้เท่านั้น ให้ตามเสด็จและว่าราชการที่ลพบุรี

เมื่อดำริได้ดังนั้น พระนารายณ์จึงทรงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวัง วัดวาอาราม ป้อมปราการ และกำแพงเมืองขึ้นในลพบุรี ให้ราชธานีแห่งนี้มีความมั่นคงแข็งแรงและเพียบพร้อมไม่ต่างจากอยุธยา สาเหตุที่เลือกลพบุรีส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเป็นเมืองที่มีลักษณะทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม กล่าวคือมีแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสักโอบรอบ และตั้งอยู่ไม่ไกลจากอยุธยามากนัก ใช้ฝีพายแจวเรือล่องแม่น้ำขึ้นมาจากอยุธยาไม่ทันข้ามคืนก็ถึง

เมื่อพระนารายณ์ทรงต้องการทหารและขุนนางต่างชาติเป็นกำลังสนับสนุนราชบัลลังก์ พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ หรือการทำมาค้าขาย ทำให้การค้าระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระนารายณ์ มีชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาพำนักในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส โปรตุเกส ญี่ปุ่น จีน มลายู และแขกมัวร์เชื้อสายต่างๆ โดยเฉพาะอิหร่าน (คำว่า ‘มัวร์’ (Moor) เป็นคำเรียกชาวอาหรับของคนยุโรป หมายถึงชาวอินเดียไปจนถึงตะวันออกกลาง ที่เรียกว่าอาณาจักรเปอร์เซียในสมัยนั้น)

อิทธิพลของฝรั่งเศสในการเมืองสยาม ซึ่งทั้งเริ่มต้นและจบลงภายในรัชกาลของพระนารายณ์เอง เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย (และมีนัยยะเกี่ยวโยงกับอิทธิพลของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิชาเยนทร์ ซึ่งจะกล่าวถึงตอนไปเยือนบ้านของเขา) เรื่องของเรื่องมีชนวนมาจากความขัดแย้งระหว่างพระนารายณ์กับหัวหน้าแขกมัวร์ชาวอิหร่าน เนื่องจากข่าวลือหนาหูว่าพวกอิหร่านกำลังพยายามสนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระนารายณ์ทำรัฐประหารด้วยการลอบสังหารพระนารายณ์

อันตรายข้อนี้ทำให้พระนารายณ์ทรงเริ่มแสวงหาทหารต่างชาติกลุ่มอื่นเข้ามาแทนที่แขกมัวร์ แต่ในขณะนั้นพระองค์ไม่มีตัวเลือกมากนัก เพราะพวกญี่ปุ่นเพิ่งหมดอำนาจลงหลังสิ้นยุคยามาดา ฮอลันดาก็เพึ่งทำสงครามกับไทย (เพราะเอาใจออกห่างไปช่วยสงขลาให้ลุกฮือขึ้นก่อการกบฏต่ออยุธยา) โปรตุเกสก็มีสายสัมพันธ์ค่อนข้างลึกกับขุนนางหลายคนเพราะอยู่ในสยามมานาน ทำให้ไม่น่าไว้วางใจ

รูปสลักบันทึกการเข้าเฝ้าของคณะทูตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
รูปสลักจารึกการเข้าเฝ้าของคณะทูตจาก
ฝรั่งเศส ตั้งโชว์ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่า เดอ
โชมองต์เข้าเฝ้าที่ลพบุรี ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว
เข้าเฝ้าพระนารายณ์ที่อยุธยา

การได้รับพระราชสาส์นตอบรับคำขอเจริญสัมพันธไมตรีจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในช่วงนั้นพอดี จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้พระนารายณ์ทรงหันไปหาฝรั่งเศสในฐานะพันธมิตรใหม่ที่อาจช่วยคุ้มครองราชบัลลังก์ของพระองค์ได้ ด้วยเหตุนั้นจึงทรงแต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสหลายครั้ง ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสแห่กันเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในสยามกันขนานใหญ่ ทั้งพ่อค้า มิชชันนารี และทหารรับจ้าง แต่สุดท้าย แม้กระทั่งทหารฝรั่งเศสก็ไม่สามารถคุ้มครองพระองค์ได้ เมื่อออกพระเพทราชาประสบความสำเร็จในการปลุกระดมประชาชนด้วยความสนับสนุนของพระสงฆ์ และวาทกรรม ‘คลั่งชาติ’ ให้ลุกฮือขึ้นจับอาวุธเพื่อขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ ออกพระเพทราชาบุกเข้ายึดพระราชวังที่ลพบุรี ทำการรัฐประหารพระนารายณ์ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์นามสมเด็จพระเพทราชา ก่อนหน้าที่พระนารายณ์ซึ่งทรงประชวรหนักจะเสด็จสวรรคตเพียง 2 เดือนเท่านั้น

เมื่อสิ้นรัชกาลพระนารายณ์ ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา ไม่มีกษัตริย์ไทยองค์ใดสนใจมาประทับที่เมืองนี้อีก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ในปี พ.ศ. 2406 ทรงมีรับสั่งให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในบริเวณพระราชวังเดิม เพื่อใช้เป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป. พิบูลสงครามได้สั่งให้สร้าง ‘เมืองทหาร’ ขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ (เมืองเก่าอยู่ทางทิศตะวันตกของรางรถไฟ) ลพบุรีจึงกลายเป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารบกที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดจวบจนทุกวันนี้

จนเป็นที่รู้กันดีในหมู่ ‘คอการเมือง’ และนักข่าวว่า คำสั่งจากเบื้องบนให้เคลื่อนกำลังพลจากลพบุรี มุ่งหน้าลงใต้มาสู่กรุงเทพฯ จะเป็นหนึ่งในสัญญาณอันดับต้นๆ ที่ส่อเค้าว่ารัฐประหารกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

แผนที่บริเวณเมืองเก่า ลพบุรี

……

วัดไลย์

หลังจากออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในรถโค้ชปรับอากาศตั้งแต่เช้าตรู่ เราก็มาถึงวัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จุดหมายแรกของโปรแกรม ‘ย่ำเยือนเรือนสมเด็จพระนารายณ์’ เวลาแปดโมงเช้ากว่าๆ แดดออกแล้วแต่ยังไม่จ้าจนเกินไป เป็นใจให้ช่างภาพทั้งหลายเตรียมถ่ายรูปกันสนุกมือ

เมื่อพวกเราเข้าไปในบริเวณวัด อ.ปรีดีก็ชี้ให้ดูอาคารพระอุโบสถ และพระวิหาร แล้วบอกว่าในสมัยอยุธยานั้น พระอุโบสถไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่ เพราะเป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา พระวิหารมีความสำคัญกว่ามาก เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

อาจารย์ยังชี้ให้ดูใบเสมาที่เป็นเครื่องชี้อาณาเขตของวัด แล้วอธิบายว่าสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ใบเสมา แต่เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ข้างล่าง คือลูกนิมิต ใบเสมาเป็นเพียงลูกศรที่ชี้บอกว่ามีลูกนิมิตอยู่ตรงนี้ เนื่องจากคนโบราณถือว่ากษัตริย์เป็นผู้ปกครองที่ดินทั้งหมด (‘อาณาจักร’) การจะสร้างวัดจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตให้พระราชทานที่ดินบางส่วนมาทำเป็น ‘พุทธจักร’ ดังนั้นจึงมีพิธีเรียกว่า “ทักเสมา” เพื่อขานอาณาเขตของวัด ทำด้วยการเดินตามเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันออกจากลูกนิมิตลูกแรก วัดสมัยอยุธยานิยมใช้ลูกนิมิตทั้งหมด 8 ลูก ฝังประจำทิศทั้ง 8 ส่วนการใช้ลูกนิมิตลูกที่ 9 (ปกติฝังบริเวณที่จะประดิษฐานพระประธาน) และการปิดทองลูกนิมิตนั้น เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ทั้งคู่

ลายปูนปั้นภาพทศชาติ วัดไลย์
ลายปูนปั้นภาพทศชาติ ผนังพระวิหารด้านหน้า วัดไลย์

อาจารย์อธิบายว่า วัดไลย์เป็นวัดสมัยอยุธยาที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องลายปูนปั้นตกแต่งพระวิหาร ที่มีความสวยงามและสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังเหลือมาให้เราเห็น และเป็นที่ประดิษฐานรูปพระศรีอาริย์ซึ่งชาวบ้านแถบลพบุรีและสิงห์บุรีนับถือมาก

ผนังด้านหน้าพระวิหารมีลายปูนปั้นละเอียดงดงามสมคำร่ำลือ เป็นลายทศชาติที่จัดองค์ประกอบภาพอย่างชาญฉลาดให้แต่ละพระชาติอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้งหมด 10 ภาพ ด้านละ 5 ภาพ แต่ละกรอบกว้างน้อยกว่าสองไม้บรรทัด แปลว่าศิลปินต้องเลือกเฟ้น ‘ฉากเด่น’ เพียง 1-2 ฉากจากทศชาติแต่ละเรื่องที่ไม่มีในเรื่องอื่น เพื่อให้คนดูมองออกว่าแต่ละกรอบเล่าเรื่องอะไร เช่น กรอบเรื่องพระเวสสันดรเล่าตอนที่บุตรสองคนของพระเวสสันดรซ่อนตัวอยู่ในสระบัว ใครก็ตามที่เคยอ่านทศชาติจะดูออกทันที

อาจารย์บอกว่า ลายทศชาติที่คนโบราณนิยมจารึกตามผนังวัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด 2 ลาย คือ มโหสถชาดก (แสดงปัญญา) และเวสสันดรชาดก (ให้ทาน) สะท้อนให้เห็นว่าปัญญาและทาน เป็นคุณธรรมที่คนโบราณมองว่าสำคัญที่สุด

ลายปูนปั้นตรงกลางผนังที่ล้อมด้วยภาพทศชาติเป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอาทิตย์และพระจันทร์ตามมาส่งเสด็จ มีร่องรอยว่าภาพส่วนนี้ครั้งหนึ่งเคยลงรักปิดทองด้วย

ลายปูนปั้นภาพมารวิชัย(?) วัดไลย์
ลายปูนปั้นภาพมารวิชัย(?) ผนังพระวิหารด้านหลัง วัดไลย์

เมื่อชมผนังด้านหน้าแล้ว อาจารย์ก็พาเรามาชมผนังด้านหลังต่อ ผนังตอนบนมีลายปูนปั้นที่งดงามไม่แพ้กัน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเป็นลายอะไร บ้างก็ว่าเป็นภาพมารวิชัย บ้างก็ว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอนโธนพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ บ้างก็ว่าเป็นฉากหนึ่งในมโหสถชาดก

ลายปูนปั้น วิหารวัดไลย์
ลายปูนปั้นแสดงอิทธิพลมัวร์ วัดไลย์
โดนมารศาสนาขูดส่วนหัวไปขายแล้ว

วัดไลย์หนีไม่พ้นเงื้อมมือของมารศาสนา เช่นเดียวกับวัดโบราณอื่นๆ ในประเทศ ส่วนหัว ลำตัว หรืออวัยวะอื่นๆ ของลายปูนปั้นหลายแห่งเห็นได้ชัดว่าถูกคนกะเทาะออกไป ไม่ได้เสื่อมสภาพลงเองตามกาลเวลา อาจารย์บอกว่าหัวขโมยพวกนี้ขยันมาก ลายปูนปั้นพวกนี้บางทีเห็นอยู่ตำตา พอพานักศึกษามาอีกไม่ถึง 3 เดือน กลับหายไปแล้วเรียบร้อย

นอกจากลายปูนปั้นเหล่านี้จะมีความอ่อนช้อยสวยงามแล้ว ถ้าสังเกตรายละเอียดดีๆ ก็จะพบอิทธิพลของศิลปะจากวัฒนธรรมต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็น ‘กระแสโลกาภิวัตน์’ ที่มีชีวิตชีวาอย่างยิ่งในสมัยพระนารายณ์ อาทิเช่น:

  • เทวดามีหนวด ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวารวดี
  • เทวดา/นางฟ้าใส่กระโปรงมีระบาย ถือร่ม และลาย ‘เซี่ยวกาง’ (ลายค้างคาวตามมุมกรอบสี่เหลี่ยม) ได้จากจีน
  • ลวดลาย สัญลักษณ์ต่างๆ ได้จากอินเดีย
  • การใช้นกยูงเป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์ และกระต่ายเป็นสัญลักษณ์แทนพระจันทร์ ได้จากพม่า
  • ลวดลายเรขาคณิต เช่นลายไขว้สาน ได้จากแขกมัวร์ (เปอร์เซีย)

การผสมผสานศิลปะจากนานาประเทศอย่างกลมกลืนในลายปูนปั้นวัดไลย์ เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันชัดเจนว่า ‘การผสมปนเปทางวัฒนธรรม’ นั้น เกิดขึ้นมานานแล้วและจะเกิดขึ้นอีกตลอดไป ในทุกหนแห่งที่วัฒนธรรมต่างถิ่นได้มีโอกาสมาพบปะสังสรรค์กัน

มีแต่คนใจคับแคบหวงอำนาจเช่นชนชั้นปกครองบางคนเท่านั้น ที่มองเห็นแต่อันตรายของการคบค้าสมาคมกับชาวต่างด้าว ศิลปิน “รู้จัก” กันผ่านงานศิลปะมาช้านานแล้ว

การผสมปนเปทางวัฒนธรรมช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างถิ่น และด้วยเหตุนั้น ศิลปะจึงมีความสำคัญไม่แพ้ศาสตร์อื่นๆ ในโลก

พระประธานศิลา วัดไลย์ พระศรีิิอาริย์ วัดไลย์

พระประธานและพระศรีอาริย์ในพระวิหารมีความสง่างาม พระพักตร์แลดูอ่อนโยนคล้ายคลึงกัน รัศมีรูปเปลวไฟที่รายล้อมพระประธานช่วยขับเน้นให้พระพุทธรูปดูงดงามมากขึ้น อ่านคู่มือที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แจกก่อนขึ้นรถก็ได้ความเพิ่มเติมว่า คนโบราณสมัยพระนารายณ์นิยมทำพระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์รูปไข่ พระโมลี (จุกผม) รูปชามคว่ำ ขมวดพระเกศาเล็กเรียงกันเป็นระเบียบ ต่างจากพระพุทธรูปหน้าแป้นยิ้มเป็นเรียวโค้งสมัยรัตนโกสินทร์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)