ตอบคำถาม “เอาเวลาจากไหน(วะ)มาอ่านหนังสือ?”

books.png

คำถามที่ตัวเองถูกถามบ่อยมากคำถามหนึ่ง โดยเฉพาะเวลาที่แบกหนังสือหลายสิบเล่มหลังแอ่นกลับมาจากงานสัปดาห์หรือมหกรรมลดราคาหนังสือแห่งชาติ คือ “เอาเวลาจากไหนมาอ่านหนังสือ?” หรือถ้าสนิทกันหน่อยก็จะถามตรงๆ ว่า “ชาติไหน(แก)ถึงจะอ่านจบ(วะนั่น)” พลางทำสายตาเหยียดหยันเยาะเย้ย ประมาณว่า ยุ่งตัวเป็นเกลียวอย่างแกน่ะเรอะจะมีเวลาอ่านหนังสือ โม้แหงๆ

ผู้เขียนเคยทำกราฟวงกลมอธิบายการใช้เวลาของตัวเองใน 1 สัปดาห์ ขึ้นเพจเฟซบุ๊ก จากกราฟนี้จะเห็นว่า ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 6% หรือคิดเป็นวันละ 1.44 ชั่วโมง ซึ่งก็ประมาณนี้จริงๆ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เลยมาคิดๆ ดูว่า ตัวเองอ่านหนังสือ “อย่างไร” เพื่ออธิบายโน้มน้าวให้คนเชื่อว่า หนังสือกองเบ้อเร่อจากงานหนังสือน่ะ อ่านหมดจริงๆ นะ (หรือถ้าไม่หมดก็เหลือไม่กี่เล่ม) ก่อนจะถึงงานครั้งถัดไป
 
ไม่แน่ว่า ‘วิธี’ สามวิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ท่านได้ “อ่าน” หนังสือ ไม่ใช่สักแต่ “ซื้อมากองๆ ไว้” ไม่มากก็น้อย
  1. เจียดเวลาอ่านหนังสือเวลาเดียวกันทุกวัน ให้ติดเป็นนิสัย – ตั้งแต่เด็ก ผู้เขียนติดการอ่านหนังสือทุกคืนก่อนนอน (และส่วนใหญ่ก็มักจะหลับไปกับหนังสือ) จนถ้าวันไหนไม่ทำจะรู้สึกว่ามีอะไรขาดไป จะนอนก็นอนไม่ได้ ต้องหาหนังสืออ่านก่อน ทำให้ทุกวันนี้ไม่ว่าจะยุ่งอย่างไร ก็มีเวลาอ่านหนังสือแน่นอนเพราะติดเป็นนิสัยไปแล้ว
  2. ติดหนังสือไว้ในรถและติดตัว เผื่อทุกกรณีที่มีเวลาอ่าน  – ในกระเป๋าสะพายและรถของผู้เขียนจะมีหนังสือ (หรือเครื่องคินเดิล) ติดอยู่ 2-3 เล่มเสมอ เผื่อจะมีเวลาที่อ่านหนังสือได้ ซึ่งก็มีเวลาแบบนี้มากมาย เช่น ตอนที่นั่งรถไฟฟ้า(ถ้าโชคดีได้นั่ง คือมีที่นั่ง ไม่ต้องโหน)ไปไหนไกลๆ รถติดแหง็กบนถนน อยู่บนเครื่องบิน นั่งรอพบแพทย์ (ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าหมอดูคนไข้แต่ละคนใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง แต่รับนัดห่างกัน 15 นาทีไปทำไม ให้คนไข้มารอเงกจนอาการกำเริบเปล่าๆ) หรือแม้แต่เวลาที่เข้าห้องน้ำ แน่นอนว่าหนังสือที่เราจะเลือกหยิบมาติดตัวและติดรถก็ควรเหมาะกับสถานการณ์ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง ควรเป็นหนังสือที่อ่านง่าย ไม่ต้องใช้สมาธิสูง และไม่ใช่หนังสือที่ต้องละเลียดอ่านช้าๆ อย่างมีความสุข 
  3. ลองอ่านหนังสือหลากหลายแนว และหลากหลายอารมณ์ – ไม่อย่างนั้นอาจจมจ่อมอยู่กับอารมณ์หดหู่ถ้าอ่านแต่นิยายรักคุด ดราม่าเหลือพรรณนา หรือรู้สึกปวดเฮดถ้าอ่านแต่หนังสือปรัชญาหนักๆ การอ่านหนังสือแนวเดียว (และอื่นๆ ที่เข้าข่าย “เดียว” เช่น นักเขียนคนเดียว ความคิดจากสำนักเดียว ธรรมะจากอาจารย์ท่านเดียว ฯลฯ) นอกจากจะทำให้อ่านหลายเล่มติดกันไม่(ค่อย)ได้แล้ว ยังจะทำให้เราโลกแคบ ไม่ได้รับรู้และตื่นเต้นไปกับความกว้างใหญ่และหลากหลายของโลกหนังสืออีกด้วย

แน่นอน วิธีเหล่านี้คงไม่เวิร์กเลยสำหรับคนที่ “ไม่สนใจ” หนังสือเลยตั้งแต่ต้น ไม่เคยรู้สึก “อยากรู้อยากเห็น” ว่าหนังสือมีอะไรดีนักหนา

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน 🙂