บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (19)

kingcoffin.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้า, วันที่ยี่สิบ)

วันที่ยี่สิบเอ็ด

แอตแลนต้า : 19/10/2013

วันนี้ไปงานสัมมนา Online News Association 2013 ติดต่อกันเป็นวันที่สามและวันสุดท้าย คืนนี้จะมีการประกาศรางวัลประจำปี 2013 ในงานกาลาดินเนอร์

ถ้าเมื่อวานเป็นวันแห่งการฟัง “วิธีทำเงิน” ของนักข่าวดิจิตอล วันนี้ก็นับว่าเป็นวันแห่งการฟัง “วิธีทำงาน” ของนักข่าว ในยุคที่ทำงานข่าวจริงๆ (ไม่ใช่โฆษณาหรือตั้งใจจะอวยใคร) ยากขึ้นเรื่อยๆ

Session 1: Journalism in the Age of Surveillance

Session แรกที่ผู้เขียนเข้าทั้งสนุกและเร้าใจ ถกกันเรื่องที่ เอ็ดวาร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ลูกจ้างของ National Security Agency (NSA) หน่วยงานสายลับของอเมริกา ออกมาแฉว่า NSA ดักฟังข้อมูลโทรศัพท์และข้อมูลสื่อสารผ่านเน็ต ของทั้งชาวอเมริกันและชาวต่างชาติ

ผู้ร่วมสนทนาได้แก่ จานีน กิ๊บสัน (Janine Gibson) หัวหน้าบรรณาธิการ (Editor-in-Chief) ของหนังสือพิมพ์ The Guardian สำนักสหรัฐอเมริกา (Guardian มาจากอังกฤษ ห้องข่าวที่อเมริกานับเป็น “สำนักงานสาขา” ที่โตเร็วมากของค่าย), ไมคาห์ ลี (Micah Lee) นักเทคโนโลยีจาก Electronic Frontier Foundation (EFF) และ นาบิฮา ไซเยด (Nabiha Syed) ทนายความจากสำนักงาน Levine Sullivan Koch & Schulz ผู้ดำเนินรายการคือ เอมิลี เบล (Emily Bell) นักวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

First session

จานีนจาก The Guardian เล่าเบื้องหลังข่าวช็อคโลกชิ้นนี้ว่า สโนว์เดนเป็นคนมาติดต่อหนังสือพิมพ์เอง เมื่อดูเอกสารที่เขาเอามาให้ ก่อนอื่นต้องประเมินว่า 1) เอกสารนี้เป็นของแท้หรือไม่ และ 2) แหล่งข่าวคือตัวสโนว์เดนน่าเชื่อถือหรือไม่ สองขั้นตอนนี้พิสูจน์อย่างรวดเร็วมาก แต่หลังจากนั้นกองบรรณาธิการใช้เวลาถึง 3 วัน ถกกันว่าจะตีพิมพ์ข่าวหรือเปล่า เพราะมีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องพิจารณามากมาย กอง บ.ก. ติดต่อรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลบอกว่าตีพิมพ์ข่าวนี้ในบริบท “ความมั่นคงของชาติ” ไม่ได้ เราบอกว่าเราจะแค่เขียนข่าวแคบๆ ตีกรอบเฉพาะข้อมูลที่ได้รับว่าหมายความว่าอะไร รัฐบาลไม่มีประเด็นกังวลอะไรเป็นพิเศษ ก็เลยตัดสินใจตีพิมพ์

จานีนบอกว่า สโนว์เดนคารวะนับถือสื่อมืออาชีพมาก เขาแสดงออกอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า บทบาทของเขาคือนำข้อมูลมาเผยแพร่ แต่ไม่เคยสั่งหรือบังคับเลยว่าสื่อต้องลงข่าวอย่างไร

นาบีฮา ทนายความซึ่งทำงานเป็นทนายของ The Guardian ด้วย บอกว่าทุกวันนี้มีสามทางที่เราจะรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรในนามของเราบ้าง นั่นคือ 1) สิ่งที่รัฐบอกเอง 2) สิ่งที่รัฐถูกกดดันให้บอก เช่น ผ่านการขอข้อมูลด้วย พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร และ 3) ข้อมูลที่สื่อและประชาชนแบ่งปันกันเอง การดักฟังของ NSA นั้นกระทบต่อการแบ่งปันข้อมูลในข้อ 3) โดยตรง

ในอดีตที่ผ่านมา การแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประชาชนได้รับการคุ้มครองจากฏหมายและข้อจำกัดเชิงปฏิบัติ – NSA ไม่มีแรงและเวลาที่จะมาเปิดจดหมายทุกคนออกอ่าน แต่โลกออนไลน์มอบโอกาสให้ดักฟังข้อมูลได้ อีกประเด็นที่สำคัญคือ ทุกคนควรตระหนักในอันตรายจากการ “ไหลริน” ของภาระการสอดแนม จากรัฐบาลกลางไปยังรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น กฎหมายระดับมลรัฐมีความสำคัญมากในการต้านทานการสอดแนมของรัฐบาลกลาง น่าจะมีกฎหมายคุ้มครองสื่อระดับรัฐบาลกลางได้แล้ว แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ถึงมีก็คุ้มครองนักข่าวที่ทำข่าวเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงไม่ได้ (เพราะกฎหมายด้านความมั่นคงเข้มมาก)

นาบีฮาเสริมประเด็นน่าสนใจว่า ในโลกแบบนี้ พฤติกรรมที่รักษาความปลอดภัยและความ “สะอาด” ของตัวเองและข้อมูลน่าจะนับเป็น “หน้าที่ทางศีลธรรม” ของนักข่าวต่อแหล่งข่าว เช่น เข้ารหัสอีเมลทุกครั้งที่คุยกับแหล่งข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณตกเป็นเป้าของรัฐบาลกลาง ไม่ว่ามาตรการอะไรก็ช่วยคุณไม่ได้

ไมคาห์จาก EFF บอกว่า รู้สึกแปลกใจที่ NSA ไม่สามารถ “ทลาย” มาตรการรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์หลายตัวได้ อย่างเช่น Tor Project (โปรแกรมรักษาความเป็นส่วนตัวออนไลน์) นักข่าวจำเป็นจะต้องรู้เรื่องนี้และรู้จักเครื่องมือแบบนี้ เพราะสมัยนี้แหล่งข่าวที่มีข่าวใหญ่จะให้ข้อมูลกับเฉพาะนักข่าวที่พวกเขาคิดว่าไว้ใจได้ (สโนว์เดนติดต่อนักข่าวที่เขารู้ว่าเข้ารหัสการสื่อสารตลอดเวลา) เขาแนะนำโปรแกรม SecureDrop ซึ่งเป็นระบบป้องกันผู้ให้เบาะแสชั้นดี

จานีนบอกว่า โปรแกรมที่รักษาความเป็นส่วนตัวของนักข่าวเป็นเรื่องสำคัญมาก บางทีเราอาจต้องมี “ห้องแชททิ้งได้” (disposable chatroom) ที่จะลบข้อความและร่องรอยทั้งหมดของเราหลังจากคุยเรื่องลับกันเสร็จ นาบีฮาเสริมว่า ยุคแห่งการสอดแนมของรัฐวันนี้น่ากลัวจริงๆ ในอดีตความเสี่ยงที่นักข่าวเจอคือ ถูกรัฐข่มขู่ให้เปิดเผยแหล่งข่าว ถ้าคุณไม่ยอมคุณก็ไปเข้าคุก แต่วันนี้รัฐไม่ต้องถามเลยด้วยซ้ำ เรากำลังใช้ชีวิตในรัฐแบบใหม่ซึ่งเมื่อข้อมูลถูกดักถูกสะสมได้แล้ว ก็ยากที่จะปล่อยมันกลับคืนสู่เจ้าของเดิม วันนี้มี “อสมมาตร” ตรงที่รัฐมีข้อมูลของเรา แต่เราไม่รู้ว่ารัฐมีข้อมูลอะไรบ้าง แต่เรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นั่นคือ เรากำลังผลักดันให้รัฐโปร่งใสมากกว่าเดิม เพื่อทำให้เรากับรัฐอยู่บนสนามแข่งที่เท่าเทียมกันกว่าเดิม

จานีนย้ำว่า การทำข่าว Snowden ของ The Guardian ตอกย้ำจุดยืนอย่างชัดเจนว่าค่ายนี้อยาก “เดินทางสายกลาง” นั่นคือ อยากทำข่าว (ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว) ไม่อยากแค่โยนข้อมูลทั้งก้อนใส่อินเทอร์เน็ต (แบบวิกิลีกส์)

ช่วงสุดท้ายเป็นคำถามจากคนฟัง ต่อคำถามว่า ทำไมสื่ออังกฤษโดยรวมถึงได้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อ The Guardian และไม่สนใจข่าว Snowden เลย จานีนตอบว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจที่สื่ออังกฤษโดยรวมยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องชมสื่ออเมริกันที่ติดตามทำข่าวเรื่องนี้ได้ดีมาก

ไมคาห์ปิดท้ายด้วยมุมมองของนักเทคโนโลยีว่า สุดท้ายเราต้องเรียกร้องผลักดันให้ซอฟต์แวร์มีมาตรฐานดีกว่านี้ ถ้าหากช่องทางการสื่อสารแบบปลอดภัยของเรานั้นปลอดภัยจริงๆ จากการสอดแนมของรัฐ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้โปรแกรมอื่นๆ ให้วุ่นวาย (ถึงตรงนี้มีคนตัวอย่างว่า Mailvelope  กับ Skype มีความปลอดภัยค่อนข้างดี)

Session 2: Press Freedom and the Fifth Estate

Session ที่สองที่เลือกเข้านับว่าเข้าธีมต่อเนื่องจาก Session แรก – ว่าด้วยระดับ “เสรีภาพสื่อ” ของสื่อดิจิตอลและความท้าทาย เอมีลี เบล จาก Session แรกเปลี่ยนบทบาทจากผู้ดำเนินรายการมาเป็นผู้ร่วมเสวนา ร่วมกับ จอช ซิงเกอร์ (Josh Singer) คนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Estate ว่าด้วยเรื่องราวของ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) กับวิกิลีกส์

Second session

เอมิลีเริ่มต้นด้วยการประกาศว่า วันนี้ภัยคุกคามเสรีภาพสื่อที่รุนแรงที่สุดมีอยู่สามข้อ ได้แก่ 1) ปัญหาขาดแคลนทรัพยากร 2) กรอบจำกัดการเข้าถึง(แหล่งข่าว)ของนักข่าวซึ่งค่อยๆ ตีกรอบให้ตีบตัน และ 3) “ความไม่ใส่ใจ” (inattentiveness) ทำตัวเฉื่อยแฉะหรือเฉยชาของนักข่าวเอง

จอชแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับอัสซานจ์กับวิกิลีกส์ว่า วิกิลีกส์ตอนแรกทำหลายเรื่องถูกต้อง (เช่น ไม่โยนข้อมูลใส่เน็ตทั้งหมดแต่ปล่อยข้อมูลให้สื่อทำข่าว) แต่การกระทำหลายเรื่องที่ “ไร้ความรับผิดชอบ” อย่างยิ่งของอัสซานจ์เองทำให้สุดท้ายแล้วเป็นผลร้ายต่อวิชาชีพสื่อ และทำให้รัฐบาลตกใจอย่างรุนแรง ทำให้รัฐพูดได้อย่างสบายปากกว่าเดิมว่า การทำข่าวแนวนี้ “แย่”

เอมิลีมองต่างมุมเล็กน้อยว่า ที่จริงไม่มีใครเคยไว้ใจนักข่าวอยู่แล้ว และนักข่าวก็ต้องทำใจยอมรับว่าบางครั้งอาจต้องละเมิดกฎหมายเพื่อเข้าถึงความจริง นักข่าวไม่ได้มีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่มีหน้าที่ผลักดันให้(ผู้รักษา)กฎหมายรับผิดชอบ

จอชชี้ว่า เป้าหมายหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Estate คือ พยายามแยกอุดมการณ์ของวิกิลีกส์ (ซึ่งเขาคิดว่าดี) ออกจากนิสัยส่วนตัวของอัสซานจ์ (ซึ่งเขาคิดว่าไม่ดี) แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จเพราะอัสซานจ์คือวิกิลีกส์ วิกิลีกส์มีความเป็นตัวเขาอยู่ในนั้นมากเกินไป

มีคนถามว่าคณะวารสารศาสตร์ควรมีบทบาทอะไรบ้าง เอมิลีตอบว่า ก่อนอื่นต้องตั้งเป้าก่อนว่า สื่อจะต้องเป็นอิสระทางความคิดจากรัฐ เพราะเรื่องราวจากคำบอกเล่าของประชาชนมักแตกต่างจากประวัติศาสตร์ที่ผู้มีอำนาจเขียนขึ้นเอง คณะวารสารศาสตร์วันนี้ควรมีบทบาทสามอย่าง ได้แก่ 1) นำสิ่งที่เก่าไปแล้วสำหรับวงการคอมพิวเตอร์ แต่ใหม่สำหรับวงการวารสารศาสตร์ อาทิ การประมวลผล วิเคราะห์ขุดคุ้ยข้อมูล (data mining) มาใช้กับวารสารศาสตร์มากขึ้น 2) หาทางลดต้นทุนในการทำงานข่าว อาทิ ค่าที่ปรึกษาทางกฏหมาย และ 3) หาคำตอบว่า จะทำให้ประเด็น 1) กับ 2) เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายได้อย่างไร เพราะวันนี้มีคนจำนวนมากที่ “ทำงานข่าว” โดยที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่า “นักข่าว”

จอชเสริมว่า Freepress.net เพิ่งออกรายงานเรียกร้องให้รัฐคุ้มครอง “กิจกรรมการทำข่าว” ของคนทุกคน ไม่ใช่คุ้มครองแต่เฉพาะนักข่าวอาชีพเท่านั้น นอกจากนี้ การทำข่าวในรูปแบบองค์กรไม่แสวงกำไรก็ยังมีอุปสรรคหลายอย่าง กรมสรรพากรยังไม่มีกฎยอมรับว่าการทำข่าวเป็น “กิจกรรมเพื่อการกุศล” (จำเป็นสำหรับการจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร) ดังนั้นจึงพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป บางค่ายใช้เวลากว่า 3 ปีกว่าจะได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนได้

มีคนถามว่า วันนี้การเปลี่ยนแปลงของสื่อที่เปลี่ยนไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับอดีตคืออะไร เอมิลีตอบว่า ในมุมมองของเธอ วารสารศาสตร์ได้แยกทางกับตลาดเสรี (journalism has parted ways with free market) แล้ว ความคิดที่ว่าคุณต้องมีกำไรถึงจะทำข่าวคุณภาพดีได้นั้นวันนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีโมเดลใดโมเดลหนึ่งที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ซิลิคอนวัลเลย์ (วงการเทคโนโลยี) ควรลงทุนในวงการสื่อมากขึ้นมาก

ปัญหาคือนักข่าวยังเป็น “กบในกะลา” (too inwardly focused) มากเกินไป ยังไม่ค่อยสนใจเวลาที่คนอื่นนอกวงการสื่อถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กรณี Snowden ชี้ให้เห็นว่านักข่าวปัจเจกแต่ละคนมีความสำคัญมาก วันนี้แหล่งข่าวมองหานักข่าวที่ไว้ใจได้มากกว่าติดต่อองค์กรสื่อ Snowden ส่งข้อมูลให้กับ The Guardian เพราะรู้ว่าหนังสือพิมพ์ค่ายนี้มีประสบการณ์กับวิกิลีกส์มาแล้ว และรู้ดีว่าคอลัมนิสต์หรือนักข่าวคนไหนเข้ารหัสการสื่อสารได้เก่ง ถึงได้ไว้ใจว่าข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลที่ปล่อยจะปลอดภัย

(ฟัง Session นี้เพลินเสียจนกระทั่งพอถึงพักเที่ยง ผู้เขียนแว่บไปดาวน์โหลดรายงาน Post-Industrial Journalism: Adapting to the Present ของเอมิลีมานั่งอ่านเลยทีเดียว :))

ตอนบ่ายผู้เขียน “โดด” สัมมนาอีกสอง Session เพื่อไปเยือนบ้านของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนชื่อดัง วันนี้บ้านและโบสถ์เก่าที่เขาเคยเทศน์อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติของอเมริกา ขาไปผู้เขียนนั่งรถเมล์ ขากลับนั่งแท็กซี่ ใช้เวลาทั้งหมดสองชั่วโมงกว่า เข้าไปดูข้างในบ้านไม่ได้เพราะไปช้าเกิน บัตรหมดแล้วสำหรับวันนี้ (บัตรฟรีแต่มีคิวและจำกัดคนดูรอบละไม่เกิน 30 คน เพราะเป็นบ้านไม้ขนาดไม่ใหญ่มาก) แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้มา เพราะโอกาสแบบนี้คงหาไม่ได้ง่ายๆ อีก

Ebenezer Church

Ebenezer Church โบสถ์ที่พ่อของ ดร. ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (ย่อกันว่า MLK) และต่อมาก็ตัวเขาเองขึ้นเทศน์ทุกวันอาทิตย์ ปัจจุบันอนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ 

Inside church

บรรยากาศภายในโบสถ์

Dr. King's coffin

โลงศพ MLK กับภรรยา ตั้งอยู่กลางสระชื่อ “Reflecting Pool”

Freedom March

นิทรรศการในศูนย์นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับ “Walk to Freedom” การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา มีคนมาร่วมเดินขบวนกว่า 200,000-300,000 คน

Funeral wagon

รถลากเทียมลาที่ลำเลียงโลงศพ MLK ไปยังงานศพ หลังจากที่เขาถูกลอบสังหาร สังเกตว่าเป็นรถลากทำจากไม้ถูกๆ เพื่อสะท้อนความเป็นผู้นำที่ชอบช่วยเหลือคนยากไร้

Dr. King's House

บ้านเกิด MLK

พอมาดูนิทรรศการ เดินเล่นในละแวกบ้าน MLK ก็ทำให้ถึงบางอ้อว่าทำไมเขาถึงสามารถรวมพลังคนจำนวนมากให้ออกมาเคลื่อนไหวได้ขนาดนี้ – นอกจาก MLK จะเป็นพระในศาสนาคริสต์ที่เทศน์เก่งมากๆ แล้ว การที่ถนนแถวบ้าน (เชื่อมบ้านกับโบสถ์) เต็มไปด้วยโบสถ์หลายโบสถ์ และองค์กรในภาคประชาสังคมอีกหลายองค์กร ในชุมชนคนผิวดำที่เข้มแข็ง ก็ทำให้สามารถสร้าง “เครือข่าย” สนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ถึงแม้จะถูกคนผิวขาวเหยียดผิว กีดกันสารพัด การที่มี “พรรคพวก” คอยช่วยเหลือเจือจานกัน ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาและรวมพลังกันได้อย่างน่าทึ่ง

Exhibit

นิทรรศการทำได้ดี ดึงดูดคนดูให้รู้สึกมีส่วนร่วมด้วยการยิงคำถามตรงไปที่เรื่องส่วนตัว เช่น ถ้าคุณเป็นเด็กผิวดำที่โตมาในละแวกบ้านของ ดร.คิงในทศวรรษ 1930 คุณจะยืมหนังสือได้ที่ไหน? ไปโรงเรียนที่ไหน? เล่นกับเพื่อนที่ไหน? ดูหนังได้ที่ไหน? โตไปเป็นบุรุษดับเพลิงได้หรือเปล่า?

ขากลับโรงแรม แท็กซี่ซึ่งเป็นคนไฮติ (คนขับแท็กซี่ที่นี่ส่วนใหญ่มาจากไฮติหรือประเทศอื่นในทะเลแคริบเบียน) ถามว่าเคยดูสารคดีเรื่อง The Act of Killing หรือเปล่า ทำไมฆาตกรในเรื่องถึงไม่เคยถูกลงโทษเลย ทั้งที่ก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” แท้ๆ 

ผู้เขียนไม่ตอบอะไรเพราะเขาดูรำพึงกับตัวเอง และก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร