บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (21)

knight.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบ, วันที่ยี่สิบเอ็ด, วันที่ยี่สิบสอง)

วันที่ยี่สิบสาม

ไมอามี : 21/10/2013

Good morning

วันนี้มีนัดสี่นัดในไมอามี วิ่งไปวิ่งมาทั้งเมือง แท็กซี่ก็ไม่ใช่ถูกๆ แต่ก็สนุกดีเพราะเจอคนที่หลากหลายพอสมควร นัดแรกตอนเช้าไปเจอ มารี จิโลต์ (Marie Gilot) เจ้าหน้าที่นวัตกรรมประจำมูลนิธิไนท์ (Knight Foundation) มูลนิธิให้ทุนด้านสื่อซึ่งเปี่ยมนวัตกรรมที่สุดในอเมริกา (และอาจจะในโลก)

สำนักงานใหญ่ของมูลนิธินี้เดินไม่กี่ก้าวจากโรงแรมก็ถึง เพราะอยู่ในตึกสำนักงานติดปากอ่าวเหมือนกัน ที่นี่น่าทำงานมาก วิวสวยกว่ามองจากห้องโรงแรมอีก 🙂

USA in license plates

John and James Knight

ในล็อบบี้มีงานศิลปะแสดงแผนที่สหรัฐอเมริกาด้วยทะเบียนรถ และภาพวาด จอห์น กับ เจมส์ ไนท์ สองพี่น้องเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไนท์เมื่อหลายสิบปีก่อน

วันนี้หนังสือพิมพ์ในเครือไนท์ล้มหายตายจากไปมากแล้ว บางส่วนถูกกลืนเข้าไปอยู่ในเครือ บริษัทแม็คแคลทชี (McClatchy) เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ หลังจากที่แม็คแคลทชีซื้อกิจการของไนท์มา ที่น่าสนใจคือ วันนี้ “มูลนิธิไนท์” โด่งดังกว่า “หนังสือพิมพ์ไนท์” หลายเท่าตัว เพราะมูลนิธิสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ และกระบวนการทำงานให้เข้ากับวารสารศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 มากกว่าหนังสือพิมพ์ของพี่น้องตระกูลไนท์

มารี เจ้าหน้าที่นวัตกรรมของมูลนิธิ เป็นคนฝรั่งเศสที่มาทำงานในอเมริกา เพิ่งมาทำงานกับไนท์ในปี 2012 แต่ก่อนหน้านั้นมีประสบการณ์ทำงานกับสำนักข่าวและองค์กรไม่แสวงกำไร คำถามแรกของผู้เขียนคือ มูลนิธิไนท์วันนี้สปอนเซอร์โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมในวงการสื่อมากมายในอเมริกา มีโครงการไหนบ้างที่เธอคิดว่าประสบความสำเร็จทั้งด้านนวัตกรรมและด้านโมเดลธุรกิจ

มารีตอบว่า หนังสือพิมพ์ Texas Tribune เป็นตัวอย่างที่ดีของหนังสือพิมพ์ที่ปรับตัวเป็นสื่อดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีกำไร หนังสือพิมพ์ค่ายนี้ลงทุนเรื่องวารสารศาสตร์ข้อมูล (data journalism) นานก่อนค่ายอื่น และนำข้อมูลสถิติและพฤติกรรมคนอ่านที่เข้าเว็บ (เรียกว่า “analytics”) มาวิเคราะห์ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา รายได้ส่วนหนึ่งตอนนี้มาจากการผลิตเนื้อหาป้อนลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น จดหมายข่าวติดตามความคืบหน้าของกฏหมายและกฏระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ นักล็อบบี้ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าสมัครสมาชิกเพราะอยากได้ข้อมูล

ถามว่ามีแนวร่วมหรือโครงการที่นักข่าวทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์และดีไซเนอร์ที่ไหนหรือเปล่าที่เน้นการสร้างเครือข่ายหรือทีมทำงานนอกประเทศอเมริกา มารีตอบว่า ส่วนใหญ่ไนท์ยังสนับสนุนสื่อในอเมริกาเป็นหลัก แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เป็นโครงการนานาชาติ สื่อต่างชาติสมัครเข้าร่วมได้ เธอแนะนำกลุ่มที่น่าสนใจ (และแน่นอน ไนท์ให้การสนับสนุน) ให้ผู้เขียนดังต่อไปนี้

  1. “เครือข่ายบรรณาธิการโลก” Global Editors Network (GEN) สำนักงานใหญ่อยู่ปารีส ทุกปีกลุ่มนี้จะจัด “Editors Lab” ให้สมาชิกส่ง 1) นักข่าว 2) โปรแกรมเมอร์ และ 3) ดีไซเนอร์ เข้าร่วม workshop ระยะเวลา 2 วัน ให้ทำโปรเจ็กท์สื่อดิจิตอลร่วมกัน
  2. International Center for Journalists (ICFJ) เป็นกลไกหลักที่ไนท์ให้การสนับสนุนสื่อต่างชาติ (ทางอ้อม) เธอแนะนำให้ผู้เขียนสมัครหรือส่งคนอื่นสมัครเป็น Knight Fellow ของที่นี่

ถามว่าแล้ว Knight-Mozilla OpenNews ล่ะ เธอตอบว่าโครงการนั้นไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างเน็ตเวิร์คหรือสร้าง “สะพาน” เชื่อมระหว่างนักข่าวกับโลกดิจิตอล แต่เน้นการขยายเครือข่ายของโปรแกรมเมอร์ที่ช่วยงานนักข่าวเป็นหลัก

นอกจากจะให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ มากมายเพื่อช่วยให้สื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอล มูลนิธิไนท์ยังสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยในการทำข่าว อาทิ โครงการ ToR (ซอฟต์แวร์พิทักษ์ความเป็นส่วนตัวบนเน็ต) เธอมองว่าหลังจากเกิดกรณี Snowden แฉ NSA คาดว่าในอนาคตไนท์จะสนับสนุนกลุ่มหรือองค์กรที่กำลังโค้ดเครื่องมือแบบนี้มากขึ้น

ผู้เขียนถามว่าสมัยก่อนไนท์เป็นมูลนิธิแบบ “ดั้งเดิม” (หมายถึง “โบราณ” แต่ไม่อยากเรียกเขาว่าโบราณ) คือให้ทุนสนับสนุนคณะวารสารศาสตร์ แจกทุนการศึกษาด้านสื่อ ให้ทุนอุดหนุนชุมชน ฯลฯ เป็นหลัก อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วันนี้ไนท์กลายเป็นผู้ให้ทุนด้านสื่อที่เปี่ยมนวัตกรรมและก้าวหน้าที่สุดในโลก เธอตอบว่าต้องให้เครดิตกับ อัลเบอร์โต อิบาร์กวน (Alberto Ibargüen) ผู้อำนวยการมูลนิธิคนปัจจุบันที่มองการณ์ไกล เขาบอกว่า “วงการสื่อปั่นป่วนอย่างรุนแรง แต่เรายังให้ทุนแบบเดิมๆ ไม่มีเหตุมีผลเลย” เมื่อหว่านล้อมให้คณะกรรมการมูลนิธิเห็นดีเห็นงามด้วยก็ไปจ้าง ไมเคิล มาเนส (Michael Maness) อดีตผู้อำนวยการนวัตกรรมของ Gannett บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกา เจ้าของ USA Today และสื่อสิ่งพิมพ์และทีวีมากมาย ไมเคิลใช้หลักการออกแบบซึ่งมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) เอาเนื้อหาขึ้นโพสออนไลน์ ในยุคที่เขาถูกต่อต้านอย่างหนักจากบรรณาธิการและนักข่าวซึ่งมองไม่เห็นว่าอนาคตของสื่อจะต้องไปทางไหน

ถามว่าเธอตื่นเต้นกับโครงการของไนท์โครงการไหนที่สุด เพราะให้ทุนนวัตกรรมหลากหลายมาก มารีตอบว่าส่วนตัวเธอชอบ “กองทุนสร้างต้นแบบ” (Prototype Fund) ซึ่งให้ทุนไม่เกิน $50,000 กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้หลัก “ล้มเหลวให้ถูกที่สุดและเร็วที่สุด” (fail cheap, fail fast) ที่ผ่านมากองทุนนี้ออกทุนสนับสนุนห้องแล็บวารสารศาสตร์อากาศยานไร้คนขับ (Drone Journalism Lab) ที่ผู้อำนวยการไปขับโชว์ในงาน ONA13 เมื่อวันก่อน โครงการที่มารีชอบเป็นพิเศษคือ “Curious City” ของสถานีวิทยุ WBEZ เมืองชิคาโก โครงการนี้ถามคนฟังว่า อยากให้สำนักข่าวนี้ไปสืบสวนเรื่องอะไรต่อไป? หลังจากนั้นก็ให้คนฟังโหวตเลือกไอเดียที่ชอบบนเว็บไซต์ คนเสนอไอเดียที่ได้รางวัลชนะเลิศ (คนโหวตให้สูงสุด) จะได้รับเชิญไปทำข่าวนั้นๆ ร่วมกับนักข่าว ติดสอยห้อยตามไปสัมภาษณ์ เข้าไปในห้องข่าว และมีส่วนร่วมในการทำข่าว เหมือนกับเป็น “สมาชิก” ทีมข่าว ไม่ใช่แค่ “ผู้ฟัง” เฉยๆ อีกต่อไป

ถามมารีว่าจุดสนใจของมูลนิธิไนท์วันนี้คืออะไร คำตอบคือ ไนท์ไม่ให้ทุนสนับสนุน “เนื้อหา” (content) อีกต่อไปแล้ว แต่สนับสนุนนวัตกรรม, กระบวนการ และเวที (platforms) ใหม่ๆ แทน เงื่อนไขหลักคือ ทุกโครงการที่ไนท์ให้ทุนจะต้องเป็นโค้ดเปิด (open source) อัพโหลดโค้ดที่เขียนบน GitHub ให้คนอื่นเอาโค้ดไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือต่อยอดได้ตามสะดวก

คำถามสุดท้ายของผู้เขียนคือ ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของไนท์วันนี้คืออะไร มารีคิดว่ามีสี่เรื่องใหญ่ด้วยกัน

  1. ไนท์ออกทุนสนับสนุนนวัตกรรมในวงการสื่อได้ แต่นวัตกรรมเหล่านั้นไม่ค่อย “ไหลริน” ลงไปที่ห้องข่าวขนาดกลางและขนาดเล็ก
  2. คนมักจะเชื่อว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของเครื่องมือและเทคโนโลยี แต่มันเป็นเรื่องของทัศนคติของนักข่าวด้วย นักข่าวต้องเปลี่ยนวิธีคิดอย่างสุดขั้วถ้าจะสร้างหรือใช้นวัตกรรม
  3. นักข่าวจำนวนมากถือตัวว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านสื่อ เลยไม่ค่อยกล้าลองอะไรใหม่ๆ แต่คุณต้องเต็มใจที่จะทดลอง การทดลอง (experiment) นั้นแตกต่างจากการได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ (expert) นักทดลองยินดีพูดว่า “ฉันไม่แน่ใจว่าทำแบบนี้จะสำเร็จหรือเปล่า แต่ลองทำกันเถอะ” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมักไม่เต็มใจที่จะทดลองเพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะพลาด (เสี่ยงที่จะสูญเสียป้าย “ผู้เชี่ยวชาญ” ไป) ในโลกยุคใหม่ นักทดลองสำคัญกว่าผู้เชี่ยวชาญมาก
  4. สื่อโดยรวมยังขาดความเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของคนอ่าน และยังขาดการเรียนรู้เรื่องการออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design: HCD) ปกตินักข่าวจะมานั่งสุมหัวกันแล้วก็เสนอข่าวที่ตัวเองคิดเอาเองว่าประชาชนจะสนใจ ไม่เคยถามคนอ่าน ยกตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากใช้โซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ถ้าสื่อจะใช้โซเชียลมีเดียก็ต้องใช้วิธีอื่น ไม่ใช่ใช้แบบเดียวกับที่คนทั่วไปใช้

โครงการอื่นๆ ที่ไนท์ให้การสนับสนุนและมารีคิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้เขียนและไทยพับลิก้าได้แก่ International Symposium of Online Journalism (ISOJ), Churnalism.com (เว็บไซต์ช่วยคนแยกแยะระหว่างข่าวของแท้ (ทำข่าวเอง) กับข่าวก๊อป), และ Sunlight Foundation (ซึ่งโชคดีได้ไปคุยที่วอชิงตัน ดีซี มาแล้ว ปีหน้าอาจมีอะไรทำด้วยกัน)

ก่อนจากกัน มารีให้คำแนะนำส่งท้ายด้วยคำพูดของ เอมิลี เบล (Emily Bell) ฮีโร่ในดวงใจของเธอ (และของผู้เขียนด้วย หลังจากได้ยินเธอพูดในงานสัมมนา ONA13) ว่า “อันดับแรก ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน ไปหาคนอ่านก่อน” นักข่าวต้องไปอยู่ใน “พื้นที่เดียวกัน” กับคนอ่าน (you have to be native in their space)

Marie Gilot

นัดที่สองของผู้เขียนไปหา ไมเคิล ฟรูมคิน (Michael Froomkin) นักกฏหมายผู้เชี่ยวชาญกฏหมายอินเทอร์เน็ต ที่มหาวิทยาลัยไมอามี เป็นมหาวิทยาลัยที่โคตรดูเหมือนรีสอร์ทที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยไปเลยทีเดียว ดังบรรยากาศในรูปถ่ายด้านล่าง (มีคนเล่าว่า มหา’ลัยนี้ช่วงสอบไล่จะเอาใจนักศึกษาด้วยการผูกเปลระหว่างต้นมะพร้าว ให้นักศึกษาพักผ่อนตามสบายอีกต่างหาก!)

U of Miami

U of Miami 2

คุยกับอาจารย์ฟรูมคินเสร็จแล้วรู้สึกหดหู่ไปเป็นวันเลยทีเดียว เพราะแกมองโลกในแง่ร้ายกว่าผู้เขียนอีก! เช่น ถามแกว่าประหลาดใจเรื่อง Snowden ออกมาแฉความแย่ของ NSA ที่ดักฟังและดักข้อมูลประชาชนทั่วโลกหรือเปล่า คิดว่า NSA จะถูกลงโทษเรื่องนี้ไหม แกตอบว่าขนาดอเมริกามีคุกลับที่ทรมานนักโทษ (คงหมายถึง Guantanamo) ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนถูกลงโทษเลย นับประสาอะไรกับการสอดแนมประชาชน แกบอกว่ากรณี NSA/Snowden มีผลกระทบกว้างไกลและยาวนานแน่นอน เพราะการออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ทำให้ “ต้นทุน” ของรัฐในการไล่ล่าคนลดต่ำลง สมัยก่อนรัฐอาจไม่อยากสอดแนมโจรกระจอกเพราะเสียเวลาและเงินทอง แต่วันนี้ในเมื่อมีข้อมูลของทุกคน การไล่ล่าโจรกระจอกก็ไม่ใช่เรื่องที่มีต้นทุนสูงอีกต่อไป

อาจารย์ฟรูมคินให้ความเห็นต่อไปว่า เป็นข่าวดีที่กรณีนี้ทำให้คนตื่นตัวเรื่องความ(ไม่)เป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนต้องเข้าใจคือ “ความปลอดภัย” นั้นมีหลายชั้นหลายมิติ ต่อให้ใช้โปรแกรมเข้ารหัส (crypto program) ที่เจ๋งที่สุดในโลก แต่ถ้าใช้บนระบบคอมพิวเตอร์ห่วยๆ ก็ไร้ประโยชน์ เทคโนโลยีตอนนี้ทำให้รัฐสอดแนมประชาชนได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรามองเห็นการ “วิ่งแข็ง” ระหว่างนักเซ็นเซอร์ กับประชาชนที่อยากหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ อย่าลืมว่ายิ่งโปรแกรมหลบเลี่ยงเซ็นเซอร์เก่งขึ้นแค่ไหน เทคโนโลยีการเซ็นเซอร์ก็วิ่งเร็วไม่แพ้กัน

ถามว่ากรณี NSA จะสามารถฟ้อง NSA ว่าทำผิดรัฐธรรมนูญอเมริกันได้ไหม อาจารย์ตอบว่าตอนนี้ก็มีหลายคณะที่ฟ้องอยู่ ต้องติดตามดูต่อไป ประเด็นนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะขึ้นอยู่กับศาลว่าจะตีความอย่างไร ถ้าศาลตีความว่าไม่ผิด (และอย่าลืมว่า “ความมั่นคงของชาติ” ก็เป็นประเด็นใหญ่ที่ให้อำนาจรัฐค่อนข้างมาก) NSA ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดกฏหมาย ศาลอาจตีความว่ารัฐไม่มีอำนาจสอดแนมประชาชนของตัวเอง (ดักฟังในประเทศ) แต่การดักฟังนอกประเทศไม่ผิดรัฐธรรมนูญก็เป็นได้!

ถามอาจารย์ว่า มีประเทศไหนบ้างที่แกคิดว่าระบบกฏหมายอินเทอร์เน็ตเป็น “แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ” (best practice) แกตอบว่า แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน

ถามเรื่องเวทีถกกลไกการกำกับดูแลเน็ตระดับโลก ซึ่งตอนนี้ดูเหมือน Internet Governance Forum (IGF) เป็นหัวหอกนำในการจัดวงเสวนาจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อาจารย์ฟรูมคินมองว่า IGF “เสียเวลา” เพราะมีความเป็นข้าราชการและเอ็นจีโอหลายกลุ่มไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ วิธีที่ดีกว่าคือ 1) เข้าหาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Human Rights Watch โดยตรง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในบริบทของสิทธิมนุษยชน และ 2) รณรงค์เรียกร้องกับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง คือบริษัทเน็ตและบริษัทโทรคมนาคมทั้งหลาย ให้มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” มากขึ้น รวมถึงบริษัทผลิตชิพอย่าง Intel และ AMD ด้วย

ฟังอาจารย์ฟรูมคินแล้วทำให้นึกถึงความสำคัญของ โค้ด หรือจะให้ชัดกว่านั้นคือ คนโค้ด เพราะโปรแกรมเมอร์จะโค้ดในทางที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ก็ได้ จะไม่ปกป้องก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Bahnhof ไอเอสพีรายใหญ่ของสวีเดน (ซึ่งเป็นโฮสของวิกิลีกส์ด้วย) ตัดสินใจส่ง traffic data ของผู้ใช้ทั้งหมดผ่านบริการ VPN วิธีนี้ทำให้แม้แต่บริษัทเองก็ไม่มีทางรู้ว่าผู้ใช้บริการของตัวเองทำอะไรบ้าง ทำให้ไม่สามารถส่งบันทึก (log) ข้อมูลผู้ใช้ให้กับทางการตามกฏหมายได้เวลาที่ถูกเรียกให้ส่งตามกฏหมาย

อาจารย์ฟรูมคินเคยรวบรวมข้อเสนอเรื่องแนวทาง “การออกแบบกฏการกำกับเน็ตที่ดี” ไว้บนบล็อกของแก สรุปความได้ดังนี้

  • เรียกร้องขอดูหลักฐานที่รัฐอ้างว่าจำเป็นจะต้องบังคับให้ผู้ใช้เน็ตเปิดเผยตัวตนและไอเอสพีต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้ กฏเกณฑ์ที่บัญญัติจะต้องได้ส่วน (proportional) กับความจำเป็น (ไม่ใช่บังคับเกินจำเป็น)
  • หลีกเลี่ยงกฏที่จะ “ล็อก” เทคโนโลยีเป็นกฏหมาย (เพราะเทคโนโลยีวิ่งเร็วกว่าเสมอ)
  • ต้องคำนึงตลอดเวลาว่า กฏการเปิดเผยตัวตนสำหรับเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งนั้น จะกลายเป็นอะไรได้บ้างในมือของเผด็จการ
  • ส่งเสริมเพิ่มพลังให้กับกลไกกำกับดูแลกันเองของผู้ใช้ทุกจุดที่ทำได้ แทนที่จะเน้นการออกกฏกำกับ “จุดคอขวด” (chokepoint regulation) อย่างเช่นไอเอสพี
  • ออกแบบตัวกรอง (filter) และตัวอธิบายข้อมูล (annotators) ก่อนที่จะออกแบบกำแพงและกลไกดึงเนื้อหาออกจากเน็ต
  • บังคับเรื่องความโปร่งใส กำหนดให้เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายถ้าหากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะบันทึกข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยปราศจากการรับรู้ของผู้พูด ผู้อ่าน ผู้ฟัง หรือผู้ชม
  • สร้างเทคโนโลยีและกฏหมายทางเลือก มอบให้คนเลือกเองได้ว่าจะให้คนที่คุยด้วยรับรู้ข้อมูลส่วนตัวเพียงใด ไม่ใช่มีตัวเลือกแบบ ขาว/ดำ เท่านั้น คือถ้าไม่นิรนามร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลล่อนจ้อนร้อยเปอร์เซ็นต์
  • กำหนดว่าการส่งเสริมพิทักษ์ความเป็นส่วนตัวจะต้องถูกโค้ดเข้าไปตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบอุปกรณ์และโปรแกรมต่างๆ

นัดต่อมาของผู้เขียนไปเจอ รีเบคาห์ มอนสัน (Rebekah Monson) สาวหล่อแห่ง Code for Miami เครือข่ายโปรแกรมเมอร์ที่จัดการอบรมฟรีทุกคืนวันจันทร์ เป้าหมายคืออยากให้นักข่าวและคนอื่นโค้ดเป็น เธอบอกว่าอดีตเคยเป็นนักข่าวมาก่อน ศึกษาการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองจนโค้ด (หลักๆ คือเขียน Javascript) เป็น หลังจากมุมานะพยายามงมด้วยตัวเองเป็นปีๆ ตอนนี้โค้ดแอพฟรีไปหลายตัวแล้ว เช่น textmabus แอพดึงข้อมูลกำหนดการรถเมล์จากเว็บรัฐ ส่ง message รายงานทางมือถือว่ารถเมล์สายไหนจะมากี่โมง

เธอบอกว่ามาทำ Code for Miami ฟรีเพราะรู้สึกว่า หลายคนชอบพูดว่านักข่าวต้องใช้เทคโนโลยีเป็น ต้องโค้ดเป็น งั้นงี้ แต่ไม่เห็นมีใคร “สอน” ให้นักข่าวทำเป็นจริงๆ เลย

Rebekah Monson

นัดสุดท้ายของวันนี้ผู้เขียนไปหา ริช เบ็คแมน (Rich Beckman) อาจารย์ด้าน “วารสารศาสตร์วิชวล” (visual journalism) ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามีเช่นกัน แกคุยสะเปะสะปะพอสมควร บางช่วงพึมพำๆ มากกว่าคุยด้วยชัดๆ แต่จับใจความได้ว่า วันนี้ทุกคนต้องลงทุนเรื่อง 1) โซเชียลมีเดีย และ 2) ข้อมูล ถ้าอยากทำสื่อ ไม่ว่าสื่อแบบไหนก็ตาม แกโม้ให้ฟังว่าสมัยที่วิทยุสาธารณะของประเทศนี้ คือ National Public Radio (NPR) ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลหลายปีก่อน แกได้ทุนก้อนโตจากมูลนิธิไนท์ ให้ตระเวนไปทั่วประเทศ ฝึกสอนนักข่าวของ NPR ให้ “เรียนรู้ใหม่” ในการเป็นนักข่าวดิจิตอล ใช้เวลาทั้งหมดหลายเดือนทีเดียว แต่ไม่ยากที่จะสอน

Rich Bechman

ผู้เขียนไม่ค่อย “อิน” เวลาคุยกับแกเท่าไหร่เพราะดู “โบราณ” และไม่ค่อยรู้จักโครงการใหม่ๆ เจ๋งๆ ไม่เหมือนรีเบคาห์กับมารี :p แต่อาจารย์พูดสองเรื่องที่น่าคิด และน่าเก็บไปคิดต่อ

เรื่องแรก วันนี้ค่ายสื่อต่างๆ จ้างเด็กจบใหม่ (ปริญญาตรีหรือโท) ให้ตำแหน่งดีๆ และให้ทำหน้าที่ฝึกสอนนักข่าวในค่ายที่แก่กว่ากันเยอะ เท่ากับเด็กพวกนี้กลายเป็น “ผู้ให้การศึกษา” ไปแล้ว ไม่ใช่มือใหม่รอรับการอบรมจากนักข่าวรุ่นเดอะเหมือนเมื่อก่อน โลกของสื่อทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากแล้วจริงๆ

เรื่องที่สอง แกบอกว่าทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตทำให้ง่ายมากที่จะหาคำตอบของอะไรก็ตาม แต่ยากมากที่จะรู้ว่า คำตอบไหนที่ ถูกต้อง