บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (23)

me-danny.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบวันที่ยี่สิบเอ็ดวันที่ยี่สิบสอง, วันที่ 23 & 24)

วันที่ยี่สิบห้า

ซาน ฟรานซิสโก : 24/10/2013

วันนี้มีสามนัด ตอนเช้าตรู่ (ก่อนเก้าโมงเช้า) ผู้เขียนไปเจอเพื่อนของพอลในเมืองเบิร์กลีย์ เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน หารือกันถึงแนวทางร่วมมือกับป่าสาละในปีหน้า (เราอาจแปลหนังสือของเขา เชิญเขามาอบรม หรือปาฐกถาในงานสัมมนา ฯลฯ)

สิบโมงกว่านั่งรถไฟเข้าเมืองซานฟราน ไปเจอแดนนีที่สำนักงาน EFF อยู่เลยศาลากลางจังหวัด (เวลาแปล “City Hall” เป็นคำคำนี้แล้วมันดูแปลกๆ มองเห็นศาลาแบบวัดไทยลอยมาในหัวเลย) ไปหน่อย

EFF

แดนนีพาทัวร์สำนักงาน ซึ่งเต็มไปด้วยงานศิลปะแนวเสียดสีเจ๋งๆ มากมาย ส่วนใหญ่แดกดันการเซ็นเซอร์เน็ตหรือการสอดแนมของรัฐ อย่างเช่นผ้าใบดำทั้งผืน ตรงกลางมีตัวอักษรสีขาวเขียนว่า

“This painting is not available in your country” 🙂

Inside EFF

ผู้เขียนคุยกับแดนนีต่อจากเมื่อวาน แต่คุยกันได้ไม่นานก็ต้องไปเข้าห้องประชุม เพราะนักข่าวจาก Guardian US ที่ทำข่าวเรื่อง NSA/Snowden ต่อจาก Glenn Greenwald มาเยือน EFF ส่วนใหญ่เขาแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือกันเรื่องยุทธศาสตร์นับจากนี้ ผู้เขียนเลยไม่เล่าให้ฟังก็แล้วกัน (บางเรื่องก็คุยกันภาษาเทคนิคทางกฏหมาย ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง :p) นักข่าวบอกว่า “ผมทำใจแล้วว่าต้องอยู่กับเรื่องนี้ไปอีกนานหลายปี” เพราะข้อมูลที่ Snowden ขนมาให้สื่อนั้นยังทำข่าวไปได้อีกนาน

ทีมทนายจาก EFF กำลังฟ้อง NSA ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การดักฟังโทรศัพท์ของ NSA ทำให้รู้ว่าใคร “สังกัด” กลุ่มไหนบ้าง ทำให้หลายคนไม่มั่นใจที่จะสังกัดกลุ่มที่กำลังตกเป็นเป้าสายตา เป็นประเด็นร้อนแรงในสังคม ฯลฯ ประเด็นที่น่าสังเกตคือ คดีนี้มีโจทก์ที่หลากหลายมาก ตั้งแต่โบสถ์คริสต์นิกาย Unitarian (เอียงซ้ายทางการเมือง) ไปจนถึงกลุ่มรณรงค์สิทธิการพกอาวุธปืน (เอียงขวาทางการเมือง) แดนนีอธิบายว่าเขาพยายามหาโจทก์ที่มาจากทุกเฉดบนไม้บรรทัดอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อชี้ให้เห็นว่า นี่ “ไม่ใช่เรื่องการเมือง” แต่เป็นเรื่องที่ NSA กำลังละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของชาวอเมริกันทุกคน

ก่อนจากแดนนี เราถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกกับแมวการ์ตูน Free Speech แดนนีบอกว่าตึกนี้ EFF เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ไม่นาน ยังตกแต่งไม่เสร็จ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเมืองนี้ดูจะมีคนรักแมวมากกว่าคนรักหมา

Freedom cat

ขาเดินกลับจาก EFF ไปขึ้นรถไฟไปนัดต่อไป หยุดแวะถ่ายรูปตึกรามบ้านช่อง (ที่จริงบ้านช่องไม่ค่อยมี มีแต่ตึก) ไปเรื่อยๆ เพลินดี วันนี้อากาศไม่เย็นยะเยือกเท่ากับเมื่อวาน

Simon Bolivar

รูปปั้น Simon Bolivar (“บิดาแห่งประชาธิปไตย” ในอเมริกาใต้) มีนกยืนขี้อยู่บนหัว 🙂

SF public library

สถาปัตยกรรมภายในอาคารห้องสมุดสาธารณะประจำเมือง เป็นห้องสมุดที่ดูน่าใช้มาก

  City Hall

ศาลากลางจังหวัด 🙂

Asian Art Museum

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย

ตอนบ่ายผู้เขียนมีนัดกับ สก็อต วอร์เรน (Scott Warren) ที่ร้านกาแฟอร่อยๆ ในเมือง เขาคือผู้ก่อตั้ง Generation Citizen โครงการสร้างวิชา “หน้าที่พลเมือง” ชนิดใหม่ถอดด้ามและ “ลงมือทำจริง” สำหรับเด็กมัธยมต้น (ม.2 เท่ากับเกรดแปดของอเมริกา) เขาได้รางวัลมากมายรวมทั้ง “Top 30 Social Entrepreneurs Under 30” ของนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2012

สก็อตเล่าว่าปัญหาที่เขาสังเกตคือ วิชา “หน้าที่พลเมือง” ถูกปล่อยละเลยหรือไม่ก็ถูกตัดทิ้งไปเลยมากขึ้นเรื่อยๆ ในโรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตรายได้น้อย เด็กนักเรียนก็ไม่ชอบวิชานี้เพราะครูสอนแบบน่าเบื่อจำเจ เอะอะก็ให้ท่องตำราลูกเดียว ไม่ได้ใช้สิทธิพลเมืองในชีวิตจริง เขามองว่าปัญหานี้ทำให้เด็กอเมริกันโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เบื่อการเมือง ไม่อยากไปใช้สิทธิพลเมืองอย่างเช่นการไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส่งผลให้อเมริกาเป็นประเทศที่คนจำนวนมากไม่ออกไปใช้สิทธิ สถิติล่าสุดบอกว่า คนอเมริกันกว่า 80 ล้านคนไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พอคนไม่สนใจ นักการเมืองก็ยิ่งเถลิงอำนาจหรือทำงานแย่ ทำให้คนยิ่งไม่พอใจและถอยห่างจากการเมืองมากกว่าเดิม

Generation Citizen พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการออกแบบวิชา “หน้าที่พลเมือง” ใหม่เอี่ยม เสนอวิชานี้ให้แก่โรงเรียนต่างๆ โดยได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ กลไกสำคัญคือ โครงการจะรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเป็น “โค้ชประชาธิปไตย” ให้กับนักเรียน (ปกติระดับ ม.2) ทั้งห้อง เนื้อหาของวิชาจะเน้นการลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าทฤษฎี ให้เด็กๆ ได้ใช้สิทธิพลเมืองของตัวเอง โดยให้เด็กๆ ระดมสมองว่ามีปัญหาอะไรในชุมชนของตัวเองที่อยากแก้ไข โค้ชและโครงการจะช่วยติดต่อประสานงานกับผู้มีอำนาจในชุมชน ให้เด็กๆ ได้เข้าไปเสนอแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งก็มีหลากหลายตั้งแต่รถโรงเรียนหรือสวนสาธารณะไม่ปลอดภัย เพื่อนร่วมโรงเรียนขาดอาหาร ฯลฯ

สก็อตบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงพลังของตัวเองในฐานะพลเมืองได้ดีเท่ากับการใช้สิทธิพลเมือง ร่วมกันระดมสมองแก้ปัญหาในชุมชน และเรียกร้องให้ผู้แทนตอบสนองความต้องการ โครงการนี้ตั้งมา 5 ปีแต่กำลังโตเร็วมาก วันนี้ทำงานกับเด็กนักเรียนกว่า 9,500 คนในห้องเรียน 380 ห้อง ในเมืองโพรวิเดนซ์, นิวยอร์ก, บอสตัน และซานฟรานซิสโก ฝึกนักศึกษาให้เป็นโค้ชประชาธิปไตยไปแล้ว 500 คน เป้าหมายสูงสุดของเขาคือการทำให้วิชานี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรพื้นฐานของทุกโรงเรียนในอเมริกา

สก็อตอธิบายว่า เขาเน้นทำงานกับโรงเรียนรัฐในเขตยากจนเป็นหลักเพราะเป็นที่ที่เกิด “วงจรอุบาทว์” กล่าวคือ โรงเรียนในเขตยากจนปกติจะให้การศึกษาที่ด้อยคุณภาพกว่าโรงเรียนในเขตรวย วิชาหน้าที่พลเมืองยิ่งแล้วใหญ่ พอเด็กเบื่อ โตไปก็ไม่ไปเลือกตั้ง กลายเป็นว่าคนที่ออกไปใช้สิทธิคือคนที่มีฐานะค่อนข้างดี ยิ่งเป็นแบบนี้คนด้อยโอกาสยิ่งไม่มีปากเสียงในระบบการเมือง ปัญหาของพวกเขายิ่งไม่ได้รับการแก้ไข

ถามว่าความท้าทายของเขาคืออะไร สก็อตตอบว่าการระดมทุนมาสนับสนุนโครงการยังเป็นเรื่องยาก คนส่วนใหญ่อยากบริจาคเงินให้ปรับปรุงวิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่เวลาบอกว่าวิชาหน้าที่พลเมืองก็สำคัญมาก คนส่วนใหญ่จะยังมองไม่เห็นว่าสำคัญอย่างไร

ผู้เขียนถามว่าทีมของเขากับโค้ชไม่รู้สึกเซ็งกับการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในอเมริกาหรือ ทำไมถึงมีแรงบันดาลใจทำงาน เขาตอบว่าเรื่องที่กัดกันนั้นกันกันเรื่องระดับชาติ แต่ถ้ามองระดับท้องถิ่นจริงๆ ทุกคนเอาเข้าจริงก็อยากจะร่วมกันแก้ปัญหาของชุมชนทั้งนั้น รวมทั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นด้วย และใครจะอยากปฏิเสธเด็กตาดำๆ ได้ลงคอ

Scott Warren

ถ่ายกับ สก็อต วอร์เรน รูปไม่ชัดอย่างแรง เพราะกุ๊กที่คาเฟ่รีบถ่ายรีบไป

ตกเย็นผู้เขียนกับเพื่อนๆ ไปร่วมกะลาดินเนอร์ที่คลับเรือยอชท์หรูริมน้ำ เห็นสะพานโกลเด้นเกทชัดแจ๋ว งานนี้จัดโดยเชฟรอน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ สปอนเซอร์รายใหญ่ของ Eisenhower Fellowships อาหารอร่อยดีโดยเฉพาะปลา ก็เลยไม่ได้นินทาสปอนเซอร์กันมากมาย 😉

Pan-seared Seabass