บันทึก EISENHOWER FELLOWSHIP 2013 (25)

taliesin.jpg

(บันทึกก่อนหน้า: ปฏิทินการเดินทางวันที่ 1 & 2วันที่สามวันที่สี่วันที่ห้าวันที่หกวันที่ 7 & 8วันที่เก้าวันที่สิบวันที่สิบเอ็ดวันที่สิบสองวันที่สิบสามวันที่สิบสี่วันที่สิบห้าวันที่สิบหกวันที่สิบเจ็ดวันที่สิบแปดวันที่สิบเก้าวันที่ยี่สิบวันที่ยี่สิบเอ็ดวันที่ยี่สิบสองวันที่ 23 & 24วันที่ยี่สิบห้า, วันที่ยี่สิบหก)

วันที่ยี่สิบเจ็ด

สก็อตส์เดล & เซโดนา : 26/10/2013

วันนี้พวกเราชาว EF จากอาเซียนกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แยกย้ายกันไปตามโปรแกรมส่วนตัว ตอนเช้าเลยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างสนุกสนาน คนที่ผู้เขียนอยากคุยด้วยมากที่สุดคือ ฮาน คนเวียดนามผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการวิจัยเรื่องกลไกคาร์บอนเครดิต ความสนใจของเธอที่มาอเมริกาคราวนี้คือ อาหารออร์แกนิก การเกษตรที่ยั่งยืน เธอกับสามีเลยเดินทางไปเยือนฟาร์มต่างๆ ทั่วประเทศ ขับรถทั้งหมดตั้ง 4,000 กว่ากิโล!

สองสามวันนี้เขาให้พวกเรากลับมาเจอกัน “กลางโปรแกรม” ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปแล้วกลับมาเจอกันในอีกสามสัปดาห์ข้างหน้า ตามประเพณีของที่นี่พวกเราต้องมาเจอกันที่ แกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon) มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติซึ่งโด่งดังที่สุดของอเมริกา แต่เนื่องจากสามสัปดาห์ก่อนเกิดภาวะ “รัฐบาลหยุดงาน” หรือ government shutdown ตอนที่เถียงกันเรื่อง Obamacare ก็เลยทำให้ Eisenhower Fellowships ไม่แน่ใจว่ารัฐจะกลับมาทำงานใหม่ทันเวลาที่พวกเราจะมาเยือนหรือเปล่า (แกรนด์ แคนยอน เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อรัฐบาลกลางหยุดงานก็เลยหยุดเปิดให้เข้าไปด้วย) เขาก็เลยใช้แผนสอง คือจองรีสอร์ทในเมืองเซโดนา (Sedona) ให้ เมืองนี้เป็นเมือง “หินสีแดง” ทางตอนใต้ของ แกรนด์ แคนยอน น่าเที่ยวและมีกิจกรรมให้ทำเยอะ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ค่อยรู้จัก ถ้า แกรนด์ แคนยอน กลับมาเปิดทำการทันเวลา เราก็สามารถนั่งรถบัสไปเที่ยวแบบวันเดียวกลับได้

เมื่อคืนพวกเรามาพักโรงแรม Fairfield Inn ในเครือ Marriott ในเมืองชื่อ สก็อตส์เดล (Scottsdale) มลรัฐแอริโซนา ก่อนเที่ยงเราจะออกเดินทางโดยรถบัสไปเซโดนา แต่ในเมื่อเมืองนี้เป็นที่ตั้งของ “ตาลีเอซิน เวสต์” (Taliesin West) บ้านพักตากอากาศและแคมปัสของ Frank Lloyd Wright School of Architecture ก่อตั้งและออกแบบโดย แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) สถาปนิกเอก บิดาแห่ง “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่” ในอเมริกา ผู้ล่วงลับไปแล้ว พวกเราสี่คน (มีผู้เขียน เอลิซา เวลิน กับผู้เขียนจุ๊ฟ) ก็เลยซื้อตั๋วทัวร์ 90 นาทีจากเน็ตที่นี่ตั้งแต่เช้า กะว่าน่าจะกลับมาทันรถบัสออก

Taliesin West entrance

ไกด์ของเราเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ และรู้เรื่องประวัติของเขาและการออกแบบที่นี่ชนิดทุกซอกทุกมุม ผู้เขียนจดโน้ตมือเป็นระวิง เธอเล่าว่า “ตาลีเอซิน” เป็นภาษาเวลช์ แปลว่า “คิ้วส่องแสง” (shining brow) สะท้อนปรัชญาของ แฟรงค์ ลอย์ ไรท์ (นิยมย่อว่า FLW) ซึ่งสะท้อนในงานของเขาทุกชิ้นว่า มนุษย์ไม่ควรริบังอาจก่อสร้างบนจุดสูงสุดในธรรมชาติ อย่างเช่นบนเนินเขา แต่ควรถ่อมตนสร้างต่ำกว่านั้น

ตาลีเอซิน เวสท์ (มีคำว่า “เวสท์” ต่อท้าย ให้แตกต่างจาก ตาลีเอซิน อีสท์ บ้านจริงๆ ของ FLW) สะท้อนแรงบันดาลใจที่ FLW ได้รับจากสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นตามธรรมชาติอันแห้งแล้งของแอริโซนา ไม่ว่าจะเป็นลายงู ศิลปะสกัดหิน (petroglyph) ของอินเดียนแดงเผ่าโฮโฮคัมและเผ่าอื่นๆ ลายหิน ภาษาภาพของอารยธรรมมายันโบราณ รวมถึง “สามเหลี่ยม” รูปร่างหลักของภูเขา ซึ่งเขานำมาใช้เป็นโมทีฟหลักในการออกแบบ ตาลีเอซิน เวสท์

สัญลักษณ์สีแดงของ ตาลีเอซิน เวสท์ เป็นรูปดวงอาทิตย์ขดเป็นก้นหอย ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสกัดหินของอินเดียนแดงเช่นกัน

Taliesin West

(รูปข้างบนนี้ผู้เขียนไม่ได้ถ่ายเอง เอามาจากวิกิพีเดียให้ดู สีสดเกินจริงไปมาก แต่เขาเลือกมุมถ่ายสวยดี ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/File:TaliesinWest2010GardenRoom.JPG)

ไกด์เล่าว่า ถ้าอยากเข้าใจว่า ตาลีเอซิน เวสท์ ถูกสร้างขึ้นเพราะอะไรและสำคัญอย่างไร ก็จำเป็นจะต้องท้าวความกลับไปถึงสมัยเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ที่เรียกว่า Great Depression ในอเมริกา ตอนต้นทศวรรษ 1930 ตอนนั้น FLW เป็นสถาปนิกที่โด่งดังมานับสิบปีแล้ว แต่เขาอยากช่วยเหลือนักศึกษาที่อยากเป็นสถาปนิกแต่ตกงานหรือไม่มีเงินเรียนหนังสือ เนื่องจากแน่นอนว่าความต้องการสถาปนิกลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีใครมีเงินสร้างอะไร FLW จึงริเริ่มโครงการ “ตาลีเอซิน เฟลโลว์ชิพ” (Taliesin Fellowship) ขึ้น หลังจากที่เขาซื้อที่ดินและตั้งชื่อมันว่า ตาลีเอซิน ก่อนหน้านั้น โดยรับนักศึกษาที่อยากเป็นสถาปนิก 20-30 คน มากินนอนด้วยกันและ “เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ” ซึ่งเป็นปรัชญาที่เขายึดถือมาตลอด

เฟลโลว์เหล่านี้ต้องเดินทางมาที่นี่ทุกฤดูหนาว ตั้งแคมป์และนอนในถุงนอน ช่วย FLW หักร้างถางพง สร้างอาคารตาลีเอซินให้เป็นรูปเป็นร่าง เริ่มจากถนนขึ้นเนิน ตาลีเอซินมีหลายตัวอย่างที่ชี้ว่า FLW หาทางพลิกแพลงวิธีออกแบบหลายเรื่องเพื่อประหยัดเงิน (ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ฐานะเขาก็ตกต่ำตามไปด้วย) เช่น ก่อกำแพงเป็นชั้นๆ จากหินและดินเหนียวในละแวกนี้ ทแยงมุมให้ฐานด้านล่างรับน้ำหนัก ไม่มีการขุดดินเทคอนกรีตหรือเสริมเหล็กใดๆ เพราะเขาเชื่อว่าที่ราบรับน้ำหนักอาคารได้ (และประหยัดเงินได้มาก)

ตอนที่ FLW ซื้อที่ดินผืนนี้ ไม่มีใครรู้ว่ามีน้ำบาดาลหรือเปล่า สองปีแรก (สองฤดูหนาวที่เขากับนักศึกษาเดินทางมา) ต้องไปซื้อน้ำในเมืองและขนน้ำขึ้นเนิน แต่ FLW สั่งให้เจาะหาน้ำบาดาลเพราะเชื่อว่ามี และในที่สุดในปีที่สามก็เจอน้ำ หลังขุดลงไปลึก 485 ฟุต เขาเลยสร้างบ่อน้ำและน้ำพุ แต่จุดประสงค์หลักๆ ของบ่อน้ำเหล่านี้คือการป้องกันไฟไหม้ ไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เพราะไฟป่าเป็นอันตรายร้ายแรงในเขตทะเลทราย

Taliesin West Pond

ยิ่งอยู่ FLW ยิ่งชอบที่นี่ เขาต่อเติมตัวอาคารออกมา เพิ่มห้องครัว สตูดิโอ และห้องรับแขก หลังจากนั้นก็สร้างห้องนอนให้ตัวเองกับภรรยา ทั้งหมดนี้ด้วยการลงแรงของตัวเองและนักศึกษาในโครงการ ตาลีเอซิน เฟลโลว์ชิพ ถึงวันนี้โครงการนี้ยังเปิดรับนักศึกษา นักศึกษายังต้องทำงานในห้องครัวไม่ต่างจากเฟลโลว์ในสมัยของ FLW หลายสิบปีก่อน เขาเคยกล่าวว่า “ถ้าเธอไม่เคยทำงานในครัว เธอก็ไม่มีธุระอะไรจะไปออกแบบห้องครัว”

Porcelain

พวกเราสังเกตเห็นฉากเซรามิกจากจีนหลายชิ้นประดับทางเข้า ไกด์บอกว่า FLW ชอบศิลปะเหล่านี้จากจีนมาก เขาซื้อเหมาโหลในสภาพแตกหักจากพ่อค้า ระดมนักศึกษามาช่วยกันซ่อมให้คืนสภาพเดิม หลายฉากแสดงงิ้วจีนกำลังลงโรง ลวดลายกับสีสันของฉากงิ้วพวกนี้ดูกลมกลืน เข้ากันได้ดีกับตัวอาคารอย่างน่าทึ่ง – ผู้เขียนว่าการที่มันเข้ากันได้ดีก็เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่า งานออกแบบของ FLW นั้น “เป็นธรรมชาติ” จริงๆ

บ่อน้ำอีกบ่อ กับหอเก็บน้ำ:

Ponds

Water Tower

ไกด์บอกว่า สองเรื่องที่ท้าทาย FLW อย่างมากในการออกแบบที่นี่คือหลังคากับการทำความร้อนในฤดูหนาว เราจะสังเกตเห็นว่าเขาสร้างเตาผิงในห้องแทบทุกห้อง ส่วนหลังคาเขาก็ลองผิดลองถูกหลายครั้ง คำถามสำคัญคือ จะออกแบบหลังคาอย่างไรให้ “กรอง” แสงอาทิตย์อันแผดเผาแห่งแอริโซนา (ซึ่งอากาศแห้ง แทบไม่มีเมฆ) เพราะกระดาษเขียนแบบแผ่นยักษ์ของสถาปนิกเป็นสีขาว จะแสบตาจนทำงานไม่ได้ถ้าให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาตรงๆ สุดท้ายเขาก็คิดออกว่าจะทำหลังคาให้เป็นปีก แทยงมุมทำองศากับพื้น และใช้ผ้าใบกรองแสง (วันนี้เปลี่ยนเป็นพลาสติกแทน เพราะผ้าใบทนแสงแดดนานๆ ไม่ไหว) ส่วนในห้องทานข้าวเขาก็ออกแบบให้หลังคายื่นออกไปนอกกำแพง ป้องกันแสงแดดจากด้านบนแต่เปิดให้แสงเข้าจากด้านข้าง ส่งผลให้อาคารมีแสงแบบธรรมชาติ ซึ่งเขาเชื่อว่าเอื้อต่อบรรยากาศในการทำงาน และสอดคล้องกับปรัชญา “ออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ” ของเขา

Inside

ในตัวอาคารเขาห้ามถ่ายรูป ผู้เขียนเลยไปดึงรูปจากเน็ตมาให้ดู จะเห็นว่า FLW ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เองทั้งหมดด้วย (ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/File:TaliesinWest06_gobeirne.jpg)

พวกเราถามว่า ทำไมทางเดินภายในตัวอาคารที่เชื่อมระหว่างห้อง หรือเชื่อมจากห้องไปข้างนอก ถึงได้คับแคบ มืดทึม และมีหลังคาต่ำ ให้ความรู้สึกอุดอู้บอกไม่ถูก ไกด์บอกว่า FLW ตั้งใจออกแบบทางเดินแบบนี้แหละ เพราะเขาเชื่อในการจับคู่ “compression” กับ “release” – “compression” หมายถึงการบีบรัด อย่างเช่นทางเดินแคบ ซึ่งพอเราพ้นมาแล้วก็จะเจอกับห้องโปร่งโล่ง รู้สึกเหมือนถูก “ปลดปล่อย” หรือ release นั่นเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มุมที่ดีที่สุดในการมองงานออกแบบของ FLW คือการมองดูจากมุม “นั่ง” ไม่ใช่มุมยืน FLW อยากให้อาคารที่เขาออกแบบดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ไม่ต่างจากตึกรามบ้านช่องหินของชนเผ่ามายันในอดีต

Sculpture garden

สวนประติมากรรม ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือปั้นของศิลปินหญิงเพียงคนเดียว เธอมาเยือนที่นี่หลายสิบปีก่อนและชอบมาก เลยอาศัยอยู่ที่นี่ กลายเป็นศิลปินประจำสถาบันไปเลย

ห้องที่ผู้เขียนชอบมากคือห้องโรงละคร เมื่อก่อนใช้เป็นสถานที่เต้นระบำคาบาเร่ต์ คือให้นักศึกษานั่นแหละเต้น วัตถุประสงค์นอกจากจะเพื่อความบันเทิง (FLW เป็นนักดูหนังตัวยง) ยังเป็นสถานที่ฝึกสอน “ทักษะในการเข้าสังคมชั้นสูง” ให้กับนักเรียนสถาปนิกทั้งหลาย เพราะเมื่อเรียนจบไปแล้ว ลูกค้าของสถาปนิกก็มักจะเป็นคนรวยในสังคมชั้นสูง ถ้าทำตัวซุ่มซ่ามไร้มารยาทสังคมอาจทำให้ไม่ได้งาน ดังนั้นก็เลยใช้ที่นี่เป็นที่ฝึกอบรม “วัฒนธรรมผู้ดี” เสียเลย

โรงละครนี้ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าเป็นห้องหกเหลี่ยม สร้างจากหินบวกส่วนผสมคอนกรีต(ทำเอง)เหมือนห้องอื่น ความที่มันเป็นหกเหลี่ยมทำให้เสียง “กลิ้ง” ไปรอบๆ ห้องได้ เคยมีผู้เชี่ยวชาญมาวัด ปรากฏว่าห้องนี้ได้คะแนน “ความสมบูรณ์แบบของเสียง” (acoustic perfection) ถึง 95% เลยทีเดียว! คนที่นั่งหลังสุดสามารถได้ยินเสียงกระซิบจากบนเวทีอย่างชัดเจน

Theatre

ไกด์ชี้ให้พวกเราดูไฟส่องทางเดิน FLW เป็นคนที่เอาไฟมาส่องทางเดินเป็นคนแรกในโลก (เท่าที่มีการบันทึกไว้) นานเป็นสิบๆ ปีก่อนที่โรงหนังจะทำตาม

Floor lighting

จบจากทัวร์พวกเราแวะเข้าร้านขายของที่ระลึก มีตัวต่อเลโก้รูปอาคารฝีมือ FLW หลายกล่องทีเดียว เห็นแล้วผู้เขียนก็อยากซื้อเหมือนกัน แต่ต่อเสร็จที่บ้านก็ไม่มีที่เก็บ เลยไม่รู้จะซื้อมาทำไม

FLW Lego

The Boulder

รูปปั้น “The Boulder” เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อของ FLW ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนต้องดิ้นรนที่จะแสดงออกซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง (self-expression)

ก่อนกลับเรามองไปไกลลิบ เห็นเต๊นท์สีขาวซึ่งใช้เป็น “ที่พักนักศึกษา” ในโรงเรียนอยู่รอบบริเวณ ตาลีเอซิน เฟลโลว์ชิพ ยังเปิดรับนักเรียนถึงปัจจุบัน (ระดับปริญญาโท) แต่รับเพียงปีละไม่กี่สิบคน และนักเรียนวันนี้ก็ยังต้อง “อดทน” และ “ถึก” ไม่แพ้เฟลโลว์สมัยที่ FLW ยังมีชีวิตอยู่ คืออาศัยอยู่อย่างเรียบง่ายแต่สร้างสรรค์ (กฏข้อหนึ่งคือ คนที่มาใหม่จะต้องออกแบบต่อเติมที่อยู่บางอย่าง) ช่วยทำงานในโรงเรียน เช่น ทำครัว และ “เรียนรู้จากการกระทำ” ไม่ต่างจากรุ่นผู้เขียนหลายสิบรุ่นก่อนหน้านี้

Student housing

ตาลีเอซิน เวสท์ สวยเสียจนมาเยือนแล้วทำให้เข้าใจประโยคอมตะของ FLW ที่ว่า “Architecture is music frozen in space.”

พวกเรากลับมาถึงโรงแรมก็ได้เวลารถบัสออกเดินทางไปเซโดนาพอดี ใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง โรงแรมที่เราพักชื่อ Poco Diablo Resort อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง มองเห็นเทือกเขาสีแดง สัญลักษณ์ของเมืองนี้ชัดเจนดี หลายคนออกไปเดินป่ากัน แต่ผู้เขียนเขาไม่ดี รู้ตัวว่าถ้าไปคงเดินช้ามากๆ จนทำให้เพื่อนๆ กลับมากินข้าวเย็น(ในโรงแรม)ไม่ทัน เลยขอไปนั่งทำงานในห้องดีกว่า      

Night sky

ท้องฟ้ากลางคืนในเซโดนา (ที่มา: http://cdn.lightgalleries.net/4bd5ec0f44d0a/images/new_things478-1.jpg)

ตอนกลางคืนท้องฟ้าสวยมาก เห็นทางช้างเผือกชัดแจ๋ว ผู้เขียนเลยชวนเพื่อนๆ ออกมานอนดูดาว ทุลักทุเลพอสมควรเพราะผู้เขียนดันไม่พกแว่นติดตัวมา ด้วยความที่ไม่ชอบใส่แว่น แถมแบตมือถือก็หมด ทำให้ใช้โปรแกรมดูดาวที่ตัวเองชอบมากๆ คือ Starwalk ไม่ได้ ก็เลยได้แต่ชี้ให้เพื่อนๆ ดูดาวเฉพาะกลุ่มดาวสว่างๆ ที่ตัวเองจำได้ไม่กี่กลุ่ม เท่านั้น พร้อมกับให้สัญญาว่า พรุ่งนี้จะเตรียมตัวมาดีกว่านี้